วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ศ.ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ปูชนียาจารย์ ต้นแบบของครูที่ดี

ศ.ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ปูชนียาจารย์ ต้นแบบของครูที่ดี


เรื่อง ชานชาลานักเขียน-มุมดีๆ ของชีวิตในซอกมุมธรรมะของประชาคม ลุนาชัย
ศ.ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ปูชนียาจารย์ ต้นแบบของครูที่ดี

แบบ อย่างของ "ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา" ปูชนียาจารย์แห่งวงการการศึกษาของไทย อันเป็นต้นแบบของความเป็น "ครู" ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง...

"ความรู้ที่ขาดคุณธรรม ความสามารถที่ขาดสติ การประกอบกิจการที่ขาดศรัทธาและอุดมการณ์ การเป็นผู้นำที่ขาดความกล้าอันชอบด้วยหลักการ เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จและการยกย่องของสังคม" คำสั่งสอนที่สะท้อนอุดมการณ์ในการทำงานและการดำเนินชีวิตอันเป็นแบบ อย่างของ "ศาสตราจารย์ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา" ปูชนียาจารย์แห่งวงการการศึกษาของไทย อันเป็นต้นแบบของความเป็น "ครู" ที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง

แม้ชีวิตในวันนี้จะย่างก้าวเข้าสู่หนึ่ง ศตวรรษ โดยเพิ่งฉลองอายุครบ 99 ปีเต็มไปเมื่อ 12 ต.ค.ที่ผ่านมานี้เอง "ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์" ยังใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ และมีความสุขกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนให้มีคุณภาพป้อนสู่สังคม ในฐานะผู้ก่อตั้งคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับตำแหน่งคณบดีคณะครุศาสตร์ นับเป็นคณบดีหญิงคนแรกในประเทศไทย พร้อมทั้งได้ ปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้ติดต่อกันยาวนานถึง 15 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย



ท่าน ผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้สร้างความก้าวหน้าและสร้างบุคลากรด้านการศึกษามากกว่า 5 ทศวรรษ จนเป็นที่เคารพยกย่องและภาคภูมิใจของชาวครุศาสตร์ ในปี 2533 จึงได้รับการสดุดีและประกาศเกียรติคุณเป็น "ปูชนียาจารย์" คนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีนี้ 2552 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชบัณฑิต กิตติมศักดิ์ ประเภทวิชาสังคม ศาสตร์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ อีกทั้งยังได้รับรางวัลสดุดีเกียรติคุณ จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้เป็น "ผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี 2552"

จนถึงวันนี้ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ยังคงยึดมั่นในการให้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม โดยได้น้อมเกล้าฯถวายบ้านและที่ดินในซอยสุขุมวิท 101/1 พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 22.2 ตารางวา แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์และห้องสมุด "บ้านจิรายุ-พูนทรัพย์" เป็นแหล่งค้นหาความรู้ในชุมชน โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 2 พ.ย. ศกนี้

โอกาส นี้ ท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้เปิดบ้านให้ "หน้าสตรีไทยรัฐ" ได้พูดคุยถึงชีวิตอันทรงคุณค่าที่ยาวนานเกือบศตวรรษ พร้อมถ่ายทอดแง่คิดอันเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังให้ได้เจริญรอยตาม โดยท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ ได้ย้อนเล่าถึงอดีตในวัยเยาว์ด้วยแววตาเป็นสุขว่า



"สมัย นั้นผู้หญิงจะได้ร่ำเรียนต้องอยู่ในวัง พ่อแม่ฉัน (นายห้างฮันส ไกเยอร์ พ่อค้าเพชรพลอย ชาวเยอรมัน และคุณนายเจียม ไกรยง ข้าหลวงวังสวนสุนันทา) เลยส่งฉันเข้าไปอยู่ในวังตั้งแต่อายุ 3 ขวบครึ่ง โดยได้ถวายตัวกับสมเด็จพระพันปีหลวง (สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ) พระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อฉันว่า "พูนทรัพย์" และทรงฝากฉันให้สมเด็จฯเจ้าฟ้า วไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรี ราชสิรินธร (พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี) ทรงเลี้ยงดูฉันอย่างใกล้ชิด โดยโปรดให้ฉันนอนหน้าพระแท่นบรรทม ฉันได้รับพระเมตตามาก เลยมีชีวิตในวังที่เป็นสุข ไม่ค่อยได้อยู่กับพ่อแม่ พระองค์ท่านส่งฉันเรียนที่โรงเรียนราชินีจนจบมัธยมสูงสุด และเข้าเรียนต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

คิดแต่แรกไหมคะว่าเรียนจบมาจะเป็นครู

"ใช่ เลย เพราะฉันเรียนครู 1 ปี ที่อักษรฯและได้ประกาศนียบัตรครูมัธยมมาด้วย ไม่เคยคิดจะทำการค้าของพ่อแม่ ฉันได้ไปสอนนักเรียนตามโรงเรียนก่อนได้รับทุนไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ตอนนั้นก็ตื่นเต้นนะ อยู่ในวังไม่ค่อยได้ไปไหน ใครๆ ก็อยากจะไปเมืองนอก จบจากมิชิแกน ฉันได้ไปเรียนการบริหารการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พอจบก็ย้ายไปเรียนด็อกเตอร์ที่ วิสคอนซิน ช่วงนั้นเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 พอดี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าคณะเสรีไทย บอกว่า อย่าเรียนเลย ไปเป็นเสรีไทยเถอะ ตอนนั้นก็ชั่งใจ คิดว่าจะเอาอย่างไร จะเรียนต่อก็ได้ แต่ก็คิดว่าอย่าเห็นแก่ตัวเลย เรียนเมื่อไหร่ก็เรียนได้ นี่เป็นโอกาสที่จะได้รับใช้ชาติ ฉันก็เลยไปซานฟรานซิสโก ไปทำงานวิทยุกระจายเสียงเป็นกระบอกเสียง อ่านข่าวส่งมายังเมืองไทยให้รับรู้ความเคลื่อนไหวของกองทัพ แต่เขาไม่ให้ใช้ชื่อจริงของตัวเอง ต้องมีนามแฝง เพราะกลัวอันตรายมาสู่ครอบครัว"

ท่านผู้หญิงใช้ชื่อว่าอะไรคะ

"ฉัน ใช้ชื่อว่า "สุนทรีย์" ถึงแม้จะใช้ชื่อนี้ แต่พอเพื่อนๆฟังก็มาบอกว่า ฉันจำเสียงเธอได้ เธอไม่ต้อง มาใช้สุนทรีย์หรอก ส่วนอาจารย์จิรายุ (ม.ล.จิรายุ นพวงศ์-สามี) เขาเป็นเสรีไทยในประเทศอังกฤษ"

ท่านผู้หญิงพบ ม.ล.จิรายุ ที่ไหนคะ

"เรา เป็นเพื่อนกันก่อน รู้จักกันตั้งแต่อยู่ เมืองไทย พอสงครามเลิกเรากลับมาไล่ๆ กัน มีความคิดเห็นเข้ากันได้ เลยแต่งงานกัน แล้วก็มาเป็นครูที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯเหมือนกัน อาจารย์จิรายุเขาสนใจ และแตกฉานเรื่องภาษาบาลีสันสกฤต ส่วนฉันสนใจเรื่องบริหารการศึกษา และเห็นว่าการเรียนวิชาครูเพียง 1 ปีที่คณะอักษรฯแล้วไปเป็นครูไม่น่าจะพอ เลยเดินหน้าที่จะตั้งคณะครุศาสตร์ขึ้น"

อุปสรรคเยอะไหมคะ

"อุปสรรค หลากหลายอย่าง ฉันก็สู้ ตอนนั้นก็มีคนไม่เห็นด้วย ฉันก็มองหาช่องทางใดที่จะทำให้สำเร็จ เลยให้ ดร.จิตเกษม ศรีบุญเรือง ที่สนิทกันเป็นตัวกลางพาไปพบคุณหลวงพรหม (พลเอกมังกร พรหมโยธี) ตอนนั้นมีตำแหน่งเหมือนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในตอนนี้ และเป็นบอร์ดที่จุฬาฯ ฉันกล้าไปหาท่าน ไปส่งโครงการให้ท่านดู ตอนนั้นคิดจะพูดกับท่านให้เด็ดขาดว่า ให้หรือไม่ให้ แต่พอท่านดูแล้วก็บอก ดีทีเดียวเท่านั้นเลยฉลุย"

ดูท่านผู้หญิงทำงานลุยนะคะ

ท่าน ผู้หญิงพูนทรัพย์ หัวเราะก่อนเล่าว่า "ลุยแหลก ฉันเป็นคนใจร้อน อาจารย์จิรายุเป็นคนใจเย็น อย่างตอนไปพบคุณหลวงพรหม คนพาไปบอกกล้าไหม ฉันก็บอกว่า กล้าซิ เวลาทำงานมีอุปสรรคก็มีท้อบ้าง แต่ฉันเชื่อว่าถ้าเราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ก็ไม่มีอะไรที่ควรท้อ"

ชีวิตการเป็นครูสนุกไหมคะ

"ไม่ สนุก แต่ถ้าเราทำได้อย่างที่เราคิด เราก็ชื่นใจ การเป็นครูเปรียบเหมือนการชุบชีวิตคน สร้างคน มีลูกศิษย์หลายคนเขาเป็นใหญ่เป็นโต เขาก็ไม่ลืมเรานะ อย่าง วิจิตร ศรีสอ้าน, วันมูหะมัดนอร์ มะทา, ชวน หลีกภัย ก็ลูกศิษย์ฉัน ตอนนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขาดครูมาขอจากทางจุฬาฯ เลยส่งไปหลายคน"



ได้เห็นชีวิตลูกศิษย์ประสบความสำเร็จแล้วรู้สึกอย่างไรคะ

"ลูก ศิษย์ได้ดี เราก็ชื่นใจ ฉันไม่มีลูก พวกเขาก็เหมือนเป็นลูก เขาเป็นคนดีเราก็ดีใจ ใครว่าเขาดีเพราะฉัน ฉันก็จะบอกว่า เธอดีเป็นเพราะเธอเองที่รักดี"

การจะเป็นครูที่ดีนั้นควรทำตัวอย่างไรคะ

"คน เป็นครู ก่อนสอนคนอื่น ต้องสอนตัวเองก่อน เอาชนะตัวเอง ถ้าจะสอนใครเราต้องทำให้ได้ก่อน ทำดีให้เขาเห็น เพราะเราเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก แล้วครูต้องมีคุณธรรม ครูก็ไม่ใช่เรือจ้าง เพราะเรือจ้างเมื่อถึงฝั่งให้สตางค์ก็จบกัน แต่ความเป็นครูเราต้องผูกพัน ทำตัวเป็นมิตร รู้จักอภัยให้กับลูกศิษย์ อย่างเขาสอบตก ตกเพราะเราสอนไม่ดีหรือเปล่า เป็นครูต้องดูที่ตัวเรา ต้องคิดอย่าไปซ้ำเติมเด็ก เราเป็นครูก็เหมือนเป็นครูเขาไปตลอดชีวิต ควรเป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกัน"

อะไรคือความภูมิใจที่สุดในชีวิตคะ

"คือ การได้ทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รักพระองค์ท่านค่ะ รู้สึกว่าพระองค์ท่าน ทรงทำอะไรให้คนไทยทั้งหมด ทรงสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ พระองค์ท่านทรงเป็นตัวอย่างความดี ที่จะให้เราเจริญรอยตาม"

ท่านผู้หญิงยังจำทุกอย่างได้ดีนะคะ

"อะไรที่รู้สึกจับใจ ฉันไม่ลืมหรอก"

ชีวิตในวันนี้เป็นอย่างไรคะ

"ทุก วันนี้ฉันก็ยังคงอ่านหนังสือ ดูทีวี ดูข่าวสาร ฟังวิทยุ แล้วก็ออกงานสังคม ลูกศิษย์เขาจะเชิญไปงานแต่งงานลูกเขาบ้าง งานบวชงานกุศล หรืองานสมาคมองค์กรต่างๆ เชิญมา เขาให้เกียรติเชิญฉัน ฉันก็ไปให้เขาหมด ถ้ามีแรง"



การมีสุขภาพที่ดีอายุยืนยาวจนถึงวันนี้ มีเคล็ดลับอย่างไรคะ

ท่าน ผู้หญิงพูนทรัพย์ ยิ้มสดใส ก่อนบอกว่า "สุขภาพฉันก็ธรรมดา ข้อสำคัญมันอยู่ที่ใจ ทำใจให้สบาย รู้จักการให้อภัยแก่กัน แล้วมีโอกาสก็ทำประโยชน์ให้คนอื่น เท่านี้ก็เป็นสุขแล้ว"

ด้วยแนวคิด นี้ทำให้ชีวิตในวัยเกือบร้อยของท่านผู้หญิงพูนทรัพย์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ในวันนี้เปี่ยมไปด้วยความสุขและเป็นที่ เคารพรักของผู้คนในสังคม พร้อมยกให้ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่ควรเอาแบบอย่าง.

ทีมข่าวหน้าสตรี


ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ
ไทยรัฐ
วันที่โพส : 2009-10-18 10:37:13

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ