วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ชมพิพิธภัณฑ์กระบอกเสียง ย้อนอดีตการดนตรีสมัยร.5

ชมพิพิธภัณฑ์กระบอกเสียง ย้อนอดีตการดนตรีสมัยร.5



เครื่องเล่น กระบอกเสียง ผลิตโดย โทมัส เอวา เอดิสัน



หลายคนคงเคยได้ยินคำเปรียบเปรยว่า "หนังสือพิมพ์เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน" แต่จะมีสักกี่คนที่จะล่วงรู้ที่มาของคำเปรียบเปรยนี้ ด้วยน้อยคนนักที่จะประจักษ์ว่า 'เครื่องเล่นกระบอกเสียง' คือเครื่องเล่นดนตรีในยุคก่อนหน้าที่จะมีแผ่นเสียงจำหน่าย

'พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย' ได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อบอกเล่าความเป็นมาและกระบวนการบันทึกเสียงในสมัยพระ พุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ยุคแรกที่เครื่องเล่นกระบอกเสียงและเครื่องเล่นจานเสียง ความบันเทิงจากเมืองฝรั่งได้ย่างกรายเข้ามาในสยามประทศ



เครื่องเล่น กระบอกเสียง(ซ้าย) เครื่องกรอเสียง (ขวา)

แม้แรกๆผู้คนจะหวาดกลัวเพราะเห็นเครื่องเล่น ดนตรีชนิดนี้เป็นของประหลาด จนเรียกกันติดปากว่า 'เครื่องผีพูด' แต่ภายหลังเมื่อเริ่มคุ้นชินจึงเกิดความนิยมไปทั่ว และกลายเป็นของโก้หรูที่บรรดาขุนน้ำขุนนางต้องมีไว้ประดับเรือน

'พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและ หีบเสียงไทย' เกิดจากปณิธานของ 'อาจารย์ พฤฒิพล ประชุมผล' นายกสมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย ที่ต้องการบอกเล่าถึงวิถีแห่งดนตรีอันทรงคุณค่าให้ลูกหลานไทยได้รู้จัก

นับเป็นโชคดีอย่างยิ่งที่เราได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อน ที่จะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ในวันอังคารที่ 30 สิงหาคมที่จะถึงนี้ อาจารย์พฤฒิพลได้พาเราทัศนาพร้อมกับบรรยายถึงความเป็นมาของเครื่องดนตรีแต่ ละชิ้นโดยละเอียด



อาจารย์พฤฒิพล ประชุมผล นายกสมาคมนักอนุรักษ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย


" ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรากเหง้าทางอารยธรรมมายาวนาน แต่น่าอดสูว่าพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาและบอกเล่าประวัติศาสตร์ ความเป็นมาของประเทศในแต่ละด้านกลับมีน้อยกว่าอเมริกา ทั้งที่เขาเป็นประเทศเกิดใหม่ มีอายุเพียง 200 ปี เรื่องราวเกี่ยวกับกระบอกเสียงและแผ่นเสียงต่างๆ รวมถึงเนื้อเพลงที่บันทึกไว้ในเครื่องเล่นเหล่านี้ทำให้เราทราบถึงวัฒนธรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนเมื่อเกือบ 100 ปีที่ผ่านมา" อาจารย์พฤฒิพล เล่าถึงแรงบันดาลใจในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบ เสียงไทย

เสียงเครื่องสายดนตรีไทยอันพลิ้วไหวเคล้าไปกับเสียงเอื้อนแสนเสนาะของแม่ ปุ่น แม่แป้น นักร้องเสียงดีในราชสำนักของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะขับร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีในทำนองไทยเดิม ซึ่งอาจารย์พฤฒิพลเปิดให้เราฟังจากซีดีที่ก๊อบปี้จากแผ่นเสียงฉบับดั้งเดิม นั้นทำให้เรารู้สึกทั้งอิ่มเอมและตื้นตัน ด้วยสัมผัสได้ถึงพลังแห่งความจงรักภักดีที่พสกนิกรชาวสยามมีต่อพระพุทธเจ้า หลวงในครั้งกระนั้น ซึ่งคงมิต่างจากความจงรักภักดีที่ชาวไทยทั้งแผ่นดินมีต่อองค์ภูมิพล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งรัชกาลปัจจุบัน

แผ่นเสียงเพลงสรรเสริญพระบารมี ฉบับแม่ปุ่น แม่แป้น หนึ่งในแผ่นเสียงหายากที่พิพิธภัณฑ์นำมาจัดแสดงนั้นได้มีการบันทึกเสียงไว้ เมื่อประมาณปี 2450 โดยบริษัทปาเต๊ะ บริษัทแผ่นเสียงของฝรั่งเศส ซึ่งเพลงนี้นับเป็นต้นฉบับของเพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน แต่เนื้อร้องจะแตกต่างไปบ้างและมีการร้องเอื้อนแบบเพลงไทยเดิม ซึ่งแผ่นเสียงที่ใช้บันทึกเพลงสรรเสริญพระบารมีดังกล่าวเป็นแผ่นที่มีคุณภาพ ดีกว่าแผ่นเสียงทั่วไปในสมัยนั้นและต้องใช้เข็มเพชรหัวมนเวลาเล่น ต่างจากแผ่นทั่วไปที่ใช้เข็มเหล็กปลายแหลมซึ่งเป็นเข็มที่มีราคาถูกกว่า



ตัวกระบอกเสียง พร้อมกล่องบรรจุ


ภายในพิพิธภัณฑ์ฯยังได้มีการจัดแสดงกระบอกเสียงและ แผ่นเสียงหายากที่มีความเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ชาติไทยอีกหลายชิ้น อาทิ กระบอกเสียงที่บันทึกเพลง Siamese Patrol เพลงทหารกองเกียรติยศ ชาวสยาม ซึ่ง พอล ลิงเก (Mr.Paul Lincke) ชาวเยอรมนี ประพันธ์ขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรปเป็นคราแรก ณ ประเทศเยอรมัน โดยได้มีการบรรเลงเพลงนี้ขณะที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการสวน สนาม และได้บันทึกลงกระบอกเสียงของ โทมัส เอวา เอดิสัน ชนิดไขผึ้งสีดำ


ลำโพงของเครื่องเล่น กระบอกเสียง


อีกทั้งการแสดงภาพจำลองการบันทึกเสียงตั้งแต่เมื่อครั้งคณะละครนาย บุศย์ มหินทร์ เดินทางไปบันทึกเสียงครั้งแรกที่เยอรมนี เมื่อปี พ.ศ.2443 หรือเมื่อ 105 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเพลงไทยที่ได้รับการบันทึกเสียงเป็นครั้งแรก ด้วยความประทับใจในดนตรีไทยซึ่งคณะนายบุศย์ได้บรรเลงแบบครบเครื่อง ทั้ง ปี่พาทย์ ระนาด กลอง ทำให้ Prof. Carl Stumpf และ Dr.Otto Abraham ได้บันทึกเพลงไทยที่บรรเลงในครั้งนั้นลงกระบอกเสียงหลายต่อหลายเพลง ไม่ว่าจะเป็น เพลงทยอยนอก เพลงทยอยใน และเพลงที่ชาวสยามเทิดไว้เหนือเกล้า อย่าง เพลงสรรเสริญพระบารมี (ผู้ที่สนใจสามารถฟังเพลงต้นฉบับได้จากเว็บไซต์ของสมาคมฯ www.talkingmachine.org)


โฆษณาขายเครื่อง เล่นหีบเสียง

หากจะพูดถึง 'เครื่องเล่นกระบอกเสียง' คงต้องอรรถาธิบายถึงกระบวนการบันทึกเสียงและการเล่นเพลงจึงจะเห็นภาพการ ดนตรีเมื่อครั้งกระโน้น กระบอกเสียงที่ประดิษฐ์โดย โทมัส เอวา เอดิสัน นั้นผลิตจากกระบอกปูนปาสเตอร์หุ้มด้วยแผ่นดีบุก บันทึกเสียงโดยสลักปลายเข็มลงบนกระบอก เวลาเล่นจะนำกระบอกเสียงเสียบลงไปในแกนของเครื่องเล่นกระบอกเสียง แล้วจึงใช้มือหมุนแกนดังกล่าวเพื่อตั้งลาน(ลักษณะการทำงานคล้ายการเคลื่อน ไหวของตุ๊กตาไขลาน) กระบอกเสียงแต่ละกระบอกมีความยาวในการบันทึกเสียงและเล่นเพลงได้ประมาณ 2 นาที ภายหลังจึงพัฒนาเป็นกระบอกที่ผลิตจากไขขี้ผึ้ง ซึ่งสามารถอัดเสียงและเล่นเพลงได้นานถึง 4 นาที

นอกจากกระบอกเสียง แผ่นเสียง เครื่องเล่นกระบอกเสียง และเครื่องเล่นแผ่นเสียงนานาชนิดแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ฯยังได้จัดแสดง หีบเสียง ตุ๊กตาสยามสู (Siam Soo) หรือตุ๊กตานางรำไทยที่ผลิตจากไม้เคลื่อนไหวได้คล้ายหุ่นชักใย ใช้เล่นกับเครื่องเล่นหีบเสียงไขลาน ซึ่งนับเป็นตุ๊กตาหีบเพลงตัวแรกของโลก รวมทั้งลำโพงแบบต่างๆ และเครื่องเล่นแผ่นเสียงจำลองอันเล็กจิ๋ว ของสะสมจากนานาประเทศ



ลำโพงแบบต่างๆ


ซึ่งกว่าจะเกิดเป็น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ 'อาจารย์พฤฒิพล' ต้องใช้เวลาศึกษาและเก็บรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ถึง 20 ปี ต้องเดินทางไปหลายต่อหลายประเทศเพื่อเสาะแสวงหาเครื่องเล่นเสียงที่เคยปรากฏ ในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วยหวังเพียงให้ 'พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย' เป็นตัวเชื่อมแห่งรอยต่อทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น

" ผมชอบเครื่องเล่นแผ่นเสียงสมัยโบราณมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นมัธยมก็เลยศึกษา และเก็บสะสมมาเรื่อย จนวันหนึ่งคิดว่าน่าจะตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนรุ่นหลังมีโอกาสได้ชื่น ชม ของพวกนี้ไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว ปัจจุบันเครื่องเล่นแผ่นเสียงในประเทศไทยยังพอหาดูได้บ้าง แต่เครื่องเล่นกระบอกเสียงไม่มีแล้ว ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะคนไทยมักทิ้งข้าวของที่ล้าสมัยหรือไม่ใช้งานแล้ว วัฒนธรรรมต่างๆก็เลยสูญหายไปกับของเหล่านั้นด้วย"

เราก็ต้องเสาะแสวงหาโดยใช้ connection กับเพื่อนชาวต่างชาติที่ทำงานในพิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงในประเทศ ต่างๆ เช่น เยอรมัน สหรัฐอเมริกา เราเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย บางทีก็ขอซื้อเครื่องเสียงบางชิ้นที่เคยอยู่ในประเทศไทยกลับคืนมา ผมเองไม่ใช่คนร่ำรวยอะไร รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้มาก็เอามาลงในพิพิธภัณฑ์ ก็อยากให้ทุกๆคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนมีโอกาสเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ทางดนตรี" อาจารย์พฤฒิพล เล่าถึงความยากลำบากในการก่อร่างสร้างพิพิธภัณฑ์

สำหรับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 โดยจะเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ วันละ 2 รอบ ซึ่งแต่ละรอบจะให้รับผู้เข้าชมไม่เกิน 10 คน ที่สำคัญอาจารย์พฤฒิพลจะเป็นผู้นำชมพิพิธภัณฑ์และเป็นผู้บรรยายรายละเอียด ของเครื่องเล่นแต่ละชิ้น รวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ด้วยตนเองทุกรอบ



ปกแผ่นเสียง ยี่ห้อเก่าแก่ของไทย

อีกทั้งผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับบรรยากาศการดนตรีในในสมัยพระ พุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ด้วยการฉายวิดีทัศน์เกี่ยวกับความเป็นมาของเครื่องเล่นกระบอกเสียงและ เครื่องเล่นแผ่นเสียงของไทยในสมัยนั้น มีการเปิดเพลงสรรเสริญพระบารมีฉบับแม่ปุ่น แม่แป้น , เพลง Siamese Patrol รวมทั้งสาธิตการใช้เครื่องเล่นกระบอกเสียงให้ผู้เข้าชมย้อนระลึกถึงภาพใน อดีตอย่างแจ่มชัด

"ที่เราต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชมเพราะผมอยากให้เข้ามาแล้วได้รับความรู้กลับ ไปด้วย ถ้ารับเยอะเกินไปเราจะให้ข้อมูลไม่ทั่วถึง คือถ้าดูเครื่องเล่นดนตรีอย่างเดียวเนี่ยจะไม่เข้าใจแน่ว่าตัวไหนคืออะไร เพราะเครื่องเล่นเหล่านี้เป็นของในสมัยก่อนที่สูญหายไปหมดแล้ว ผมก็เลยเป็นวิทยากรบรรยายด้วย เด็กๆเขามาเห็นของจริง ดูการสาธิตวิธีการเล่น ได้ฟังเพลงไทยในสมัยก่อน เขาก็จะรู้สึกสนุกกับการเข้าพิพิธภัณฑ์ มุมมองของเขาที่มีต่อพิพิธภัณฑ์ต่างๆก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ก็ขอความกรุณาว่าให้คนที่จะเข้าชมโทร.จองล่วงหน้าก่อน จะได้ไม่มาเสียเที่ยว" อาจารย์พฤฒิพล กล่าวตบท้าย

'พิพิธภัณฑ์เครื่องเล่นกระบอกเสียงและหีบเสียงไทย ' อยู่ในซอยลาดพร้าว 43 เข้าไปประมาณ 400 เมตร ที่นี่เก็บบัตรเข้าชมด้วยใน ราคา 100 บาท แต่ดูจะเทียบไม่ได้เลยกับคุณค่าของประวัติศาสตร์การดนตรีเมื่อ 100 ปีก่อน และเชื่อได้ว่ารากเหง้าทางวัฒนธรรมของคนไทยจะสามารถหยั่งรากอย่างมั่นคงหาก เราไม่ละเลยที่จะเรียนรู้และศึกษา 'อดีต' แห่งบรรพชน สอบถามได้ที่ 02-9399920



ที่มา โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 17 สิงหาคม 2548

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ