วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

“ชั่งหัวมัน”


“ชั่งหัวมัน”


ได้กลับบ้านเกิดในวันหยุดยาววันพ่อ คุณพ่อก็ชวนขับรถเที่ยว
อำเภอ เล็กๆ ในจังหวัดเพชรบุรี อย่างอำเภอท่ายาง ไม่ได้มีที่เที่ยวน่าสนใจไปกว่า ชะอำ หัวหิน จึงนึกไม่ออกว่าจะขับรถไปเที่ยวที่ไหนได้อีกนอกจากสองที่นั้น

คำเชิญชวนต่อมาของพ่อชวนให้รู้สึกสนใจขึ้นไปอีก เพราะพ่อบอกว่า "ไปดูไร่ที่ในหลวงซื้อเอาไว้ไหม"
พ่อเล่าต่อว่า ไร่นั้นอยู่ห่างไกลความเจริญ ถนนราดยางยังเข้าไม่ถึง ไฟฟ้าไม่มี แต่พระองค์ท่านทรงปลูกบ้านอยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว

บ้านมีสองหลัง หลังแรกของในหลวง หลังที่สองของพระเทพฯ ราชการทูลเกล้าถวายเลขที่บ้าน เลขที่ 1 กับเลขที่ 2 ให้

ฟัง ทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าพระองค์ท่านจะไปซื้อที่ดินในที่ธุรกันดาร แถมยังปลูกบ้านไว้ที่นั่นทำไม ในเมื่อปัจจุบันพระองค์ท่านก็อาศัยอยู่ที่หัวหินเป็นกิจลักษณะแล้ว

แถม พ่อยังบอกอีกว่า ขับรถเข้าไปในที่ดินได้เลยนะ ทหารเขาให้เข้า ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าเราจะเข้าไปขับรถเล่นในเขตพระราชฐานกันได้ยังไง ด้วยความอยากรู้ อันนี้ก็ต้องพิสูจน์ ไปกันดู

จากตัวอำเภอท่ายาง ขับเลี้ยวเข้าไปทางตำบลเขากระปุก ถนนเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยไร่นา

นั่ง มองต้นไม้ไปได้สักครู่ สองข้างถนนก็เริ่มมีธงชาติ ธงเหลือง ธงฟ้า และธงม่วง พร้อมตราสัญลักษณ์ของแต่ละพระองค์ (ราชาศัพท์เรียกอะไร??) ติดเต็มไปตลอดทาง

ดูจากเสาธงก็รู้ว่าเป็นธงที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้น อย่างตั้งใจเพื่อรับเสด็จ ข้างๆ ธงมีร่องรอยตะเกียงน้ำมันอย่างง่าย (หรืออาจเรียกได้ว่าคบไฟ) เพื่อรอรับเสด็จในเวลากลางคืน ทั้งธงและคบไฟบ่งบอกได้ว่าข่าวของพ่อไม่ผิด เรากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ไร่ของในหลวงเข้าไปทุกขณะ

ในขณะที่นั่งชม ทิวธงและคบไฟไปได้จนเริ่มง่วง ถนนราดยางก็เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งตลบ แต่เราคงมาไม่ผิดทางแน่ เพราะทิวธงยังคงอยู่

มองไปแต่ ไกลเห็นภูเขาขนาดย่อมอยู่ตรงหน้า กังหันผลิตไฟฟ้าประมาณสิบกว่าต้น สูงเด่น มีรถทะเบียนกรุงเทพฯ วิ่งสวนมาเป็นระยะ ฝุ่นฟุ้งกระจายเต็มถนนแคบ

รั้ว ลวดหนามทอดตัวยาวไกล ต้นไม้หลากหลายชนิดเรียงตัวเป็นระเบียบอยู่ในนั้น เขื่อนดินขนาดใหญ่ พร้อมศาลาเก้าเหลี่ยมสูงเด่น เราเดินทางมาถึงไร่ของในหลวงกันแล้ว

เมื่อแลกบัตรที่ป้อมทหาร และเลี้ยวรถเข้าไป ก็เพิ่งถึงบางอ้อ
ที่ดิน จากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ว่า ไม่ใช่ไร่ที่ซื้อเอาไว้หลบหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง หรือใช้ตากอากาศ แต่มันคือที่ดินเพื่อใช้เป็น โครงการในพระราชดำริ ที่มีชื่อมันๆ ว่า "โครงการชั่งหัวมัน"


ดูจากวันที่ตั้งโครงการ คาดว่าน่าจะเป็นโครงการล่าสุดเลยทีเดียว

พอ ได้เดินเข้าไปในโครงการก็เกิดอาการซาบซึ้ง เพราะไม่นึกว่าในหลวงที่เราเห็นในทีวีที่แทบไม่มีแรงยกมือ กลับยังมีใจ + มีไฟ ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ในถิ่นที่อยู่ห่างไกลความเจริญอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด

ดูจากบอร์ดภายในโครงการ อธิบายว่า โครงการนี้เป็นเสมือนแปลงทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่น อันได้แก่ มะนาว มะพร้าว ชมพู่เพชร และพืชไร่ พืชสวน อะไรอีกจิปาถะมากมายที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีความรู้พอจะเขียนถึง

มี การขุดบ่อ (หรือในโครงการคือเขื่อน) เพื่อเก็บกักน้ำ มีกังหันและโซล่าเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เหมือนจะเป็นแบบทดลองตัวอย่างแก่เกษตรกรโดยรอบ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต แบบพึ่งพาตัวเอง

และเหนือสิ่งอื่นใด พอมีข่าวในหลวงเสด็จมาตั้งโครงการปั๊บ ชาวบ้านแถวนั้นก็ดีใจกันยกใหญ่ หลายคนถวายแรงกายแรงใจ เข้ามาช่วยงานในโครงการฟรี ชาวบ้านบางคนที่ทำงานอยู่ในนั้น พูดอวดใครต่อใครที่มาเยือนว่าได้ก้มลงกราบฝ่าพระบาทถวายตัวรับใช้งาน พูดไปน้ำตาไหลไป มีความภาคภูมิใจในถิ่นที่เกิดและอาชีพของตัวเอง

นี่คือเรื่องราวๆ ดีๆ เพียงไม่กี่เรื่องในรอบปีที่ได้รู้แล้วก็อยากเอามาเล่าต่อ

ใน ขณะที่กลุ่มแอนตี้รอยัลลิสต์ ที่เขียนโจมตีโครงการในพระราชดำริในเว็บบอร์ดของตัวเองว่าเป็นโครงการที่ไม่ เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย

วันนี้อยาก พูดกรอกหูคนเหล่านั้นว่า อย่างน้อยโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีประโยชน์เพื่อการพัฒนารากเหง้าของชาวบ้านที่แท้จริง ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานฝรั่ง แต่เอารากที่เมืองไทยมี คือการเกษตร มาพัฒนา ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ไม่ต้องตามตลาดโลก ไม่ต้องป่าวประกาศ ไม่ต้องออกข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ทำอย่างเงียบๆ ทำดีอย่างที่ในหลวงบอกคนไทยเสมอว่าเป็นการ "ปิดทองหลังพระ" อย่างแท้จริง และงานแบบนี้ ถ้าในหลวงไม่ทำ ก็อย่าหวังว่ารัฐบาลชุดไหนจะมาทำให้คนไทย รับรองได้ว่าไม่มีแน่ๆ

แถมท้าย

หลังจากกลับมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ในอินเตอร์เน็ต ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อที่มาของโครงการว่า
ตอน ที่ในหลวงเสด็จมาที่ที่ดินนี้ครั้งแรกๆ มีชาวบ้านเอาหัวมันมาถวาย แต่ยังไงไม่รู้ ในหลวงทรงลืมเอาหัวมันกลับไปด้วย พอกลับมาที่ที่ดินนี้อีกที หัวมันนั้นก็เริ่มงอกขึ้นมาเป็นต้น เมื่อถึงเวลา ก็พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า "โครงการชั่งหัวมัน"

ถ้า ใครได้ติดตามผลงานของในหลวงมาตลอด ก็จะรู้ว่า ในหลวงท่านทรงมีเอกลักษณ์ในการตั้งชื่อแบบนี้ ชื่อไทย+จำง่าย+ มีอารมณ์ขัน (ต่างจาก to be number one จริงๆ)

หลายคนต่างก็ตีความคำว่า ชั่งหัวมัน ไปต่างๆ นานา แต่การตีความไปได้ต่างๆ ก็เป็นเสน่ห์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งของการตั้งชื่อ ดังนั้น แล้วแต่ใครจะไปคิดเป็นอะไรก็แล้วกัน

แต่ส่วนตัวของกระผม คิดว่าพระองค์ท่านน่าจะมีความสุขทีเดียวที่ได้ทำงานนี้ การได้เลี้ยวรถจากหัวหินมาแวะที่โครงการชั่งหัวมัน ถ้ามันสร้างความสุขให้พระองค์ท่านได้ สร้างความสุขให้กับชาวบ้านแถวนี้ได้ ผลผลิตทางการเกษตรก็ถือเป็นของแถมไปแล้ว

โครงการชั่งมัน ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ภาพข้างล่างคือ บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง บ้านเลขที่ 1 เด่นเป็นสง่าภายในโครงการ



พลิกฟื้นความแห้งแล้งเป็นโอกาส

“ครั้ง พระเจ้าอยู่หัวทรงประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์ทรงพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ซึ่งพอพระองค์พระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่า มันเทศที่วางไว้บนตาชั่งมีใบงอกออกมา พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งให้นำหัวมันต้นนั้นไปแยกกระถางปลูกไว้ในวังไกล กังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ”

จาก ป่ายูคาลิปตัสรกร้าง มะนาวแป้นยืนต้นแห้งเหี่ยว ไร้คนดูแลเพราะอ่างเก็บน้ำหนองเสือแห้งขอดมาแรมปี ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ต้องกุมขมับเกือบทุกครั้งเมื่อฤดูแล้งมาถึง...แล้ววันหนึ่งผืนดินแห้งแล้งก็ ถูกพลิกฟื้นด้วยน้ำพระทัยพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์มีพระราชประสงค์ซื้อที่บริเวณดังกล่าว 250 ไร่ ด้วยทรัพย์สินส่วนพระองค์ เพื่อดำเนิน โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ ซึ่งเริ่มต้นโครงการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552

“…คน ที่ไปดูได้เห็นว่า เริ่มต้นด้วยไม่มีอะไรเลย แต่ว่าต่อมาภายในวันเดียว ทุกคนที่อยู่ในท้องที่นั้นก็เข้าใจว่าต้องช่วยกัน และยิ่งในสมัยนี้ ในระยะนี้ เราต้องร่วมมือกันทำ เพราะถ้าไม่มีการร่วมมือกันก็ไม่ก้าวหน้า ไม่มีความก้าวหน้า ฉะนั้นการที่ท่านได้ทำแล้วมีความก้าวหน้านี้เป็นสิ่งที่ดีมาก หลักการก็อยู่ที่ทุกคนต้องช่วยกันเสียสละ เพื่อให้กิจการในท้องที่ก้าวหน้าไปด้วยดี ก้าวหน้าได้อย่างไรก็ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ก่อนนั้นเคยเห็นว่ากิจการที่ทำมีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งทำแล้วก็ทำให้ก้าวหน้า แต่อันนี้มันไม่ใช่ กลุ่มหนึ่ง มันทั้งหมดรวมกันทำ และมีความก้าวหน้าแน่นอน อันนี้ก็เป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และเป็นสิ่งที่ทำให้มีความหวัง มีความหวังว่าประเทศชาติจะก้าวหน้า ประเทศไทยจะมีความสำเร็จ...” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2552 ครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปยังโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ด้วยความร่วมแรง ร่วมใจกันของชาวบ้านและทุกภาคส่วนทำให้การปรับปรุงพื้นที่ในโครงการชั่งหัว มัน ระยะที่ 1 แล้วเสร็จก่อนกำหนดที่วางไว้ โดย คุณดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง เล่าถึงที่มาของโครงการว่า ครั้งพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวาย วางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ แล้วพระองค์ทรงพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯ ซึ่งพอพระองค์พระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวล จึงพบว่า มันเทศที่วางไว้บนตาชั่งมีใบงอกออกมา พระเจ้าอยู่หัวจึงรับสั่งให้นำหัวมันต้นนั้นไปแยกกระถางปลูกไว้ในวังไกล กังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ

โครงการ ชั่งหัวมัน ตาม พระราชดำริ เป้าหมายต้องการให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยเลือกพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ดีที่สุดเข้ามาปลูกโดยให้ภาครัฐกับชาวบ้านร่วม ดูแลด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด เช่น กรมที่ดินได้ให้หมอดินที่มีความชำนาญมาสำรวจพื้นที่เพื่อปรับปรุงดิน ขณะที่ชาวบ้านซึ่งมีความรู้ในการปลูกหน่อไม้ฝรั่งก็เข้ามาร่วมคิดกับทาง เกษตรจังหวัดฯ

ขณะเดียวกันยังใช้วิกฤติเป็นโอกาสด้วยการติดตั้ง กังหันลม 10 ตัว เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฯ เพราะพื้นที่บริเวณนี้เป็นช่องเขามีลมพัดผ่าน แม้จะมีความแห้งแล้ง โดยปลายปีนี้จะติดตั้งกังหันลมเพิ่มอีกเป็น 20 ตัว โดยจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน 20% ต่อปี ตลอดจนทำให้ที่แห่งนี้มีกังหันลมมากที่สุดในประเทศ ขณะเดียวกันสิ่งที่ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้คือ ไฟฟ้าจะไม่ตกเพราะพลังงานสะอาดที่ได้จากกังหันลมส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ใกล้กับ ทะเลที่เป็นต้นทางทำให้เวลาจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังชาวบ้านที่ห่างไกลกำลังไฟจะ ต่ำลง แต่หากมีการตั้งกังหันลมการผลิตไฟฟ้าบริเวณปลายทางจะทำให้กระแสไฟฟ้ามีกำลัง สูงกว่า

“โครงการ ชั่งหัวมันเป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส โดยคาดว่าอนาคตจะเป็นอีกแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้เข้าชม” ดิสธร กล่าวทิ้งท้าย

“ที่ นี่คือไร่ของพ่อเป็นการดำเนินการส่วนพระองค์ ที่ทั้งชาวบ้านและหน่วยงานราชการต่างร่วมมือร่วมใจถวายงานแก่พระองค์ ด้วยการนำความรู้เฉพาะด้านที่ตนมีมาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการพัฒนา เพราะบางอย่างที่ชาวบ้านรู้ แต่นักวิชา การไม่รู้ ไร่แห่งนี้จึงเหมือนแปลงทดลองร่วมกันเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุด” ชนินทร์ ทิพย์โภชนา พนักงานพิเศษ กองงานส่วนพระองค์ สำนักพระ ราชวัง ในฐานะผู้ร่วมทำงานเล่าถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

ชนินทร์ กล่าวว่า ทำการสำรวจพื้นที่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ซึ่ง พื้นที่บริเวณนี้มีความแห้งแล้ง เพราะอ่างเก็บน้ำหนองเสือที่มีอยู่ก็ไม่ได้รับการดูแลมาหลายปี แต่ด้วยพระราชดำริของพระเจ้าอยู่หัวต้องการให้โครงการพระราชดำริแห่งนี้ เป็นที่รวบรวมพืชเศรษฐกิจของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ชาวบ้านจึงร่วมแรงร่วมใจพลิกฟื้นผืนดินแห่งนี้ ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ก่อนที่จะปลูกพืชหรือเก็บผลผลิต ต้องมีการวางแผนร่วมกับ “โกลเด้นเพลซ” ซึ่งเป็นผู้รับผักไปขายก่อนทุกครั้งเพื่อวางแผนการปลูกที่เหมาะสมกับความ ต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ผลผลิตที่ออกมาไม่ตกค้างอยู่ในตลาด โดยพืชเศรษฐกิจที่ปลูกคือ ชมพู่เพชร ข้าวเจ้าพันธุ์ข้าวขาว ข้าวเจ้าพันธุ์ลีซอ ข้าวหอม ข้าวเหนียวพันธุ์ซิวแม่จันยางนา ยางพารา หน่อไม้ฝรั่ง มันต่อเผือก อ้อยโรงงาน และพืชผักสวนครัวต่าง ๆ

เดือน พฤศจิกายนที่ผ่านมา พระเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรจึงไม่สามารถพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการเกี่ยว ข้าวของชาวบ้านแบบโบราณได้ จึงทำการถ่ายทอดสดการเกี่ยวข้าวในวันนั้นเพื่อให้พระองค์ทรงทอดพระเนตรที่ โรงพยาบาลศิริราช ซึ่งล่าสุดพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสให้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งเพิ่มเพราะช่วงปีใหม่ จะได้รับความนิยม

“ตอน นี้เพิ่งเก็บเกี่ยวผลผลิตรุ่นแรกออกสู่ตลาด ซึ่งชาวบ้านละแวกใกล้เคียงที่มีส่วนช่วยเหลือกำลังเรียนรู้ไปพร้อมกันในไร่ ของพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งอนาคตหากมีแนวทางการสร้างผลผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ชาวบ้านจะได้นำ วิทยาการความรู้เหล่านั้นไปใช้ในไร่ของตนเอง” ชนินทร์ กล่าวสรุป
ศร ราม ต๋องาม สมาชิก อบต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และผู้เชี่ยวชาญการปลูกหน่อไม้ฝรั่งกล่าวว่า รู้สึกดีใจที่พ่อหลวงมีพระประสงค์ตั้งพื้นที่โครงการใกล้ชิดกับชาวบ้าน ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจใช้ความรู้ที่แต่ละคนมีช่วยเหลือเพื่อให้พระเจ้าอยู่ หัวมีความสุข โดยทุกวันพฤหัสบดีชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อดูแลไร่ของพ่อหลวงด้วยความสมัคร ใจ นอกจากนี้ยังช่วยกันปรับปรุงพื้นที่บริเวณพลับพลาและเรือนรับรอง

ขณะ เดียวกันยังให้ยุวเกษตรซึ่งเป็นเด็กนักเรียนในชุมชนดูแลแปลงผักสวนครัว เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เกิดการเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้กับการทำการเกษตรที่บ้าน โดยทุกขั้นตอนในการทำงานพระองค์ทรงเน้นย้ำในการทำเกษตรอินทรีย์

เดิม ชาวบ้านหลายครอบครัวใช้สารเคมี แต่พอเข้ามาดูในไร่พระเจ้าอยู่หัวแล้วจึงเห็นการทำเกษตรอินทรีย์และการให้ น้ำหยด ทำให้เริ่มปรับเปลี่ยน พฤติกรรม โดยอนาคตเมื่อการทดลองต่าง ๆ ที่ได้จากนักวิชาการและชาวบ้านประสบความสำเร็จในไร่พระเจ้าอยู่หัว ชาวบ้านในละแวกนี้ก็จะได้รับประโยชน์ไปด้วย

ถึงแล้งนี้อ่างเก็บน้ำหนองเสือ แห้งขอดก้นบ่อ แต่หัวใจชาวบ้านกลับชุ่มฉ่ำด้วยน้ำพระทัยพระเจ้าอยู่หัว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ