วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

นครแห่งนาวา ....

นครแห่งนาวา ....










ในคุ้งโค้งแห่งลำน้ำเจ้าพระยา แผ่นดินหนึ่งยืนหยัดเป็นประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่แห่งราชอาณาจักรสยาม ในนาม "กรุงศรีอยุธยา" มาเนิ่นนานถึง 417 ปี อารยธรรมอันรุ่งเรืองนี้ ไม่เพียงจารึกในหัวใจคนไทยเท่านั้น หากยังประจักษ์เป็นที่ยอมรับต่อชนชาติอื่น จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองในที่ลุ่ม ล้อมรอบด้วยลำน้ำใหญ่น้อยหลายสาย และลำน้ำเหล่านี้เองที่เป็นทางสัญจรเชื่อมโยงผู้คนในพระนคร กระจายความเจริญ นำชาวต่างชาติเข้ามาทำการค้า นำความรุ่งเรือง มั่งคั่ง ตรงเข้าสู่ราชธานี แม้เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาถึง สายน้ำก็ยังคงโอบเอื้อแผ่นดินนี้ไว้ ชาวกรุงศรีอยุธยาเคยผูกพันกับสายน้ำเพียงไร ชาวกรุงเก่าก็ยังคงผูกพันเช่นนั้นเรื่อยมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ครั้งหนึ่ง "เรือ" คือชีวิตของที่นี่ เรือนร้านตามริมฝั่งน้ำจะมีเรือแตกต่างชนิด ตามประโยชน์ใช้สอย เพื่อเดินทาง ประกอบอาชีพ หรือใช้ต่างที่พักอาศัย จนสามารถเรียกได้ว่า วิถีชีวิตของชาวอยุธยาในอดีตล้วนเกี่ยวพันกับเรือทั้งสิ้น

ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของอารยธรรมและวิถีชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้นบนแผ่น ดินอยุธยา และเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของเรือไทย ให้เป็นบันทึกทางศิลปวัฒนธรรมที่ล้ำค่าอีกบทหนึ่งของแผ่นดินไทย จึงขอเสนอเรื่องราว "นครแห่งนาวา"





เรือฉลอม

ไม่เพียงมีแม่น้ำหลาย สาย อยุธยายังมีคลองใหญ่น้อยโยงใยตรงสู่เกาะเมืองอีกเป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่งที่นี่จึงเคยเป็นเมืองท่าค้าขาย มีเรือใหญ่เข้าไปทอดสมอได้ถึงหน้าเมือง "เรือฉลอม" เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น พ่อค้าจากเมืองริมฝั่งทะเลจะบรรทุกสินค้า กางใบ ล่องไกลขึ้นมาถึงตลาดน้ำอยุธยา เพื่อขายสินค้าที่เป็นอาหารทะเลประจำครัวไทยทุกเรือน นั่นคือ น้ำปลา กะปิ ปลาเค็ม และเกลือ






เรือในลำน้ำอยุธยา นอกจากใช้ขึ้นล่องค้าขายแล้ว บางลำยังทำหน้าที่เสมือนเป็นบ้านหลังหนึ่ง เด็ก ๆ เติบโตกลางลำน้ำกว้าง คุ้นเคยกับเครื่องใช้จานชาม ของแห้งที่พ่อแม่บรรทุกไว้ขาย เรือที่ภายในโปร่งอย่าง "เรือข้างกระดาน" รับหน้าที่ใช้สอยนี้มาแต่อดีต และเคยเป็นที่รู้จักกันในชื่อเรือเครื่องเทศ ตามชื่อสินค้าที่ชาวมุสลิมล่องน้ำมาค้าขาย






คำกล่าวที่ว่า อยุธยาเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ มิได้เป็นเพียงคำร่ำลือ เพราะในอดีตไม่ว่าในน้ำตื้นพอพายหยั่งถึง หรือกลางลำน้ำก็ล้วนอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลาชุกชุม ผักบุ้ง สายบัว มีให้เก็บจนลานตา ตกค่ำชาวบ้านจะลงเบ็ดราว วางข่าย ดำกุ้ง บ้างก็เอา "เรือผีหลอก" ลงน้ำให้ด้านกระดานขาวเลาะริมฝั่ง สีขาวกลางความมืด หลอกให้ปลาตกใจ กระโดดข้าม และติดตาข่ายลงไปในท้องเรือ คืนหนึ่ง ๆ ได้ปลาจนเกือบเต็มลำ






ถึงคราวต้องค้าข้าว ชาวบ้านจะบรรทุกข้าวลงเรือ เดินทางไปขายยังต่างเมือง โดยพ่วงต่อกันครั้งละหลายลำ และอาศัย "เรือเมล์" ลากจูงล่องไปตามลำน้ำ ในสมัยก่อนเรือลากจูงเป็นเรือกลไฟที่ใช้ฟืน ครั้นต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ และใช้เป็นเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยา จากกรุงเทพฯ ถึงกรุงเก่า และเส้นทางไกลอื่น ๆ อีกด้วย






เมื่อเข้าหน้าน้ำ เวลาแห่งความสนุกสนานก็มาถึง เสน่ห์น้ำจูงใจคนเมืองไกลให้เข้ามาพายเรือเที่ยวทุ่ง ขณะที่คนพื้นถิ่นจะเตรียมเรือสำหรับว่าเพลงในงานบุญ "เรือมาด" ที่เคยใช้บรรทุกของ ถูกถอดประทุนไว้คอยท่า เพลงเรือจะเริ่มเล่นในยามค่ำ ผู้คนลอยเรือมาฟังกันแน่นขนัด แสงไฟจากตะเกียงสว่างแข่งกับจันทร์เดือนหงาย เสียงเพลงดังก้องท้องทุ่ง จะร้างลาก็ดึกดื่นค่อนคืนทีเดียว





ในฤดูกฐิน เสียงพิณพาทย์ลาดตะโพนจะอึกทึกทั่วลำน้ำ ชาวบ้านต่างลงแรงแต่งเรือ ปักริ้วธง เพื่อตั้งองค์กฐินไปทอดตามวัดที่ศรัทธา เรือใหญ่เปลี่ยนหน้าที่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ บ้างก็ใช้เรือมาดโยงต่อกันเป็นทิว เครื่องดนตรีลำหนึ่ง กฐินลำหนึ่ง หากจะให้ง่ายเข้าก็ใช้ "เรือกระแชง" ลำหนึ่งใหญ่นัก จุได้ทั้งกฐิน ทั้งพิณพาทย์ และคนกว่าครึ่งร้อย วันไหนมีกฐินลงหลายวัด เสียงเพลงสนุกสนานจะดังประชันแข่งกันไปทั้งลำน้ำ



ขอขอบคุณ pioneer.netserv.chula.ac.th - และข่อมูลจากปฏิทินของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประจำปี ๒๕๔๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ