วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2553

ลูกอีสาน ฉบับการ์ตูนยุค 2010

ลูกอีสาน ฉบับการ์ตูนยุค 2010

ลูกอีสาน  ฉบับการ์ตูนยุค 2010

ธรรมชาติของเด็กไม่ได้ชอบรูป ภาพที่เหมือนจริงเท่าไหร่ แต่จะชอบรูปภาพที่ดูง่ายๆ อย่างเช่นสัตว์ในอดีต ควาย แย้ จะทำอย่างไรให้ดูน่ารักให้เด็กชอบ

หากเอ่ยถึงนวนิยายเรื่อง 'ลูกอีสาน' ผลงานของ คำพูน บุญทวี น้อยคนนักจะไม่เคยได้ยินชื่อเสียง และส่วนใหญ่คงนึกถึงความเป็นอีสานแท้ๆ วิถีชีวิตดั้งเดิม โดยมีตัวละครเด่นอย่าง 'บักคูณ' และท้องทุ่งนาเป็นฉากสำคัญ

'ลูกอีสาน' เป็นนวนิยายเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอา เซียน (ซีไรต์) เมื่อปี 2522 และนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2525 รวมทั้งยังได้รับการจัดให้เป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านอีกด้วย
แต่ ใครจะรู้ว่ามาถึงปี 2553 หรือ ค.ศ. 2010 นี้ วรรณกรรมเยาวชนจากดินแดนที่ราบสูงกำลังถูกนำกลับมานำเสนอในรูปแบบใหม่อีก ครั้ง!

จากนวนิยายสู่การ์ตูน

จากนวนิยายที่เล่าเรื่องวิถีชีวิต ความเชื่อ และประเพณีของชาวอีสานผ่านตัวหนังสือ ในวันนี้ 'ลูกอีสาน' ถูกนำมาสร้างเป็นฉบับการ์ตูนสำหรับเด็ก อันเกิดจากความร่วมมือของ สำนักพิมพ์โป๊ยเซียน และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อร่วมสร้างสรรค์เรื่องราวผ่านลายเส้น

ย้อนกลับไปจากการออกบูธผลงานของนิสิต สาขาสื่อนฤมิต มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่เมืองทองธานี กรุงเทพมหานคร ในปี 2550 ทำให้ได้รับความสนใจจากสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน จึงเกิดโครงการหนังสือสำหรับเด็กเรื่อง 'ลูกอีสาน' ซึ่งเป็นการแปลงนวนิยายบทประพันธ์ของ 'คำพูน บุญทวี' นักเขียนซีไรต์คนแรกของเมืองไทย โดยจะผลิตออกมาสองภาษา ผ่านปลายดินสอของนิสิตจากคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.)

ลูกอีสาน ฉบับการ์ตูนยุค  2010

ลันนา บุญทวี เจ้าของสำนักพิมพ์โป๊ยเซียน เล่าว่า ด้วยความที่ลูกอีสานเป็นวรรณกรรมเยาวชน มีวัฒนธรรมเกี่ยวกับภาคอีสาน บวกกับเวลานี้มีหนังสือการ์ตูนที่ออกใหม่หลายเล่ม แต่ไม่ต่อเนื่องและไม่ได้เล่าเรื่องมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการ์ตูนต่างประเทศ จึงเกิดความคิดว่าลูกอีสานก็น่าจะนำมาทำเป็นการ์ตูนได้

"น่าจะทำได้นะ เลยปรึกษากับอาจารย์ที่ มมส.คุยกัน 3-4 ปี ไม่ลงตัวสักที เพิ่งลงตัวเมื่อไม่นานมานี้เอง ช่วงแรกๆ ตัวการ์ตูนไม่ลงตัว คือเราไม่ต้องการแบบการ์ตูนญี่ปุ่นหรือฝรั่ง แต่ต้องการแบบไทยและต้องดูว่าถ้าทำออกมาแล้วเด็กจะชอบหรือเปล่า จนถึงขั้นที่ว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยมหาสารคามทำวิจัยเรื่อง การ์ตูนลักษณะไหนที่เด็กชอบ ทางนั้นส่งแบบร่างตัวการ์ตูนมาเยอะ กว่าจะตัดสินใจได้ก็นานเหมือนกัน เพราะเขาต้องหาข้อมูลพอสมควร"

ภาพเล่าเรื่องคือความต้องการของเธอ เพราะง่ายแก่การอ่านและทำความเข้าใจ เหมาะกับทุกวัย หากเป็นเด็กสามารถดูรูปและหัดอ่านได้ เพื่อปลูกฝังให้เกิดความรักในการอ่านที่สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่วัยเยาว์ และมีถึงสองภาษาทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

"เราได้ทำหนังสือสำหรับเด็กด้วย เลยคิดว่าควรจะเสริมตรงจุดนี้ เด็กจะได้รับรู้วัฒนธรรมของอีสานซึ่งเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติตาม คงมีประโยชน์บ้าง ไม่มากก็น้อย และอยากให้เด็กๆ ที่อยู่ในวัยศึกษาได้อ่าน หวังว่าจะเป็นหนังสือประจำห้องสมุดของหลายๆ โรงเรียน เพราะคุณภาพของฉบับการ์ตูนก็ไม่ต่างจากฉบับอ่านนอกเวลา ก่อนตายขอให้ได้ทำฉบับการ์ตูนนี้ออกมาให้ได้ เพราะหวังว่าเด็กรุ่นหลังๆ หรือคนรุ่นหลังๆ จะได้รู้จัก หมดตัวก็ยอม เพราะเราอยากให้ออกมาจริงๆ" ลันนา เล่าถึงความตั้งใจ

กว่าจะเป็นลายเส้น 'ลูกอีสาน'

วรรณกรรมเยาวชนเรื่อง 'ลูกอีสาน' เป็นบทประพันธ์ที่ก่อเกิดจากการใช้จินตนาการบนพื้นฐานของความเป็นจริง ความโดดเด่นอยู่ที่การสะท้อนภาพสังคมวัฒนธรรมของชาวอีสานเมื่อแปดสิบปีที่ แล้ว โดยเขียนบรรยายเป็นตัวอักษร เมื่อจะทำเป็นหนังสือการ์ตูนจึงต้องมีการแปลงตัวอักษรเหล่านั้นให้เป็นภาพ เพื่อที่จะสื่อจินตนาการออกมาให้ตรงกับบทประพันธ์มากที่สุด

สุชาติ แสนพิช อาจารย์ประจำสาขาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ให้คำปรึกษา เล่าว่า "เรื่องของภาพคือเราตีความหมายตามรูปประโยคของบทประพันธ์ ให้อาจารย์ในสาขาและนิสิตมาร่วมตีความ มานึก จินตนาการว่าเรารู้สึกยังไง แล้วพยายามวาดออกมาเป็นภาพ เพื่อให้สื่อความหมายตามประโยคแต่ละเรื่อง แต่ละตอน เช่น บ้านอีสานในสมัยก่อนเป็นยังไง การใช้ชีวิต การทำปลาร้า หรือการกินไข่ที่หมกอยู่ในทราย ในบทประพันธ์ถ่ายทอดมาว่าต้องนำไข่ไปหมกในทรายและให้แดดมันระอุเข้าไป ซึ่งปัจจุบันไม่มี เราก็รู้ว่าสังคมอีสานเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีในวัด ในหมู่บ้าน เมื่อแปดสิบปีเป็นยังไง ในบทประพันธ์อธิบายไว้อย่างชัดเจน เราต้องแปลงตรงนั้นให้เป็นภาพอย่างชัดเจนด้วย"

อาจารย์สุชาติ ยกตัวอย่างคำว่า 'เกวียน' ก็ต้องไปดูเกวียนจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร เมื่อก่อนการตำข้าวเป็นแบบไหนก็ต้องลงพื้นที่หาข้อมูล เพื่อจูนภาพให้ตรงกันว่าเข้าใจตรงกันไหม แล้วจึงเป็นหน้าที่ของนิสิตไปสเกตช์ภาพเพื่อให้อาจารย์ที่ปรึกษาตรวจสอบอีก ครั้ง แล้วจึงลงสีในคอมพิวเตอร์ต่อไป

"ไม่ได้วาดให้เหมือนจริง แต่เป็นการวาดให้เหมือนเด็ก คาแรคเตอร์ของตัวละครจึงเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจ เพื่อให้เด็กเข้าใจง่าย เพราะโดยธรรมชาติของเด็กไม่ได้ชอบรูปภาพที่เหมือนจริงเท่าไหร่ แต่จะชอบรูปภาพที่ดูง่ายๆ อย่างเช่น สัตว์ในอดีต ควาย แย้ จะทำอย่างไรให้ดูน่ารักให้เด็กชอบ" อ.สุชาติ เล่า

เมื่อถามถึงความยากง่ายในการทำลูกอีสานเวอร์ชั่นการ์ตูน อาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า.. "การคงไว้ซึ่งบทประพันธ์เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ" หรือการทำให้บทประพันธ์ลูกอีสานยังคงความขลังของบทประพันธ์ซีไรต์อยู่ได้ เป็นโจทย์ที่ยากของทีมงานซึ่งต้องอาศัยความสามารถของนิสิตแต่ละคนและการทำ งานเป็นทีมนั่นเอง

งานวาดสร้างประสบการณ์

เนื่องจากเป็นวรรณกรรมมาก่อน การทำให้ตัวหนังสือกลายเป็นรูปวาดการ์ตูนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครก็สามารถ ทำได้ อีกทั้งผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการวาด มีถึงสองคนคือ พชร โหสุวรรณ และชุตินันท์ วรุณศรี นิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาสื่อนฤมิต คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

"ส่วนใหญ่งานที่เป็นภาพประกอบจะมีคน วาดคนเดียว แต่นี่เป็นการทำงานร่วมกับคนอื่นครั้งแรก ถ้าเป็นงานคำนวณจะมีตัวเลขกำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา ถ้าเป็นงานครีเอทบางทีความคิดไม่ตรงกันก็ต้องปรับตัวเข้าหากันพอสมควร" พชร กล่าว

เขาออกตัวด้วยว่า "ความที่เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรีทำให้อาจจะมีปัญหากับการทำความเข้าใจบท ประพันธ์ในช่วงแรก แต่ด้วยความที่บทประพันธ์บรรยายภาพได้ชัดเจน ทำให้ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก ก่อนจะถ่ายทอดออกเป็นลายเส้น ส่วนเรื่องการออกแบบต่างๆ ต้องปรึกษาอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมอีสาน"

ทั้งนี้ หนังสือการ์ตูนลูกอีสานนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต โดยสามารถออกแบบตัวละคร ฉาก และรูปแบบการนำเสนอได้แล้ว ผลงานทั้งหมด 6 เล่ม เล่มละ 6 ตอน ตอนละ 20 แผ่น รวมทั้งหมด 720 แผ่น ซึ่งแต่ละแผ่นนั้นต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะออกมาสมบูรณ์แบบ โดยมีบรรณาธิการพิเศษคือ กุดจี่-พรชัย แสนยะมูล จากสำนักพิมพ์ไม้ยมก เข้ามาช่วยดูแลในส่วนของเนื้อหา

รวมทั้งได้อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และ สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เข้ามาให้คำปรึกษา ในเรื่องการใช้ประโยค ข้อความ ว่าเหมาะสมกับเด็กหรือไม่ ทำให้บางคราวการตัดทอนเนื้อหาบางส่วนก็เกิดขึ้นได้ หากเกิดความไม่เหมาะสม

เจ้าของลายเส้นบอกว่าต้องให้ความใส่ใจ ในขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดและรอบคอบ โดยมีอาจารย์เข้าไปร่วมพูดคุย นำบทประพันธ์มาแล้วดูว่าเนื้อส่วนไหนจะแบ่งเป็นหนึ่งหน้า มีความยาวเท่าใด เพราะต้องแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน และร่วมปรึกษาคำบางคำที่ต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรือต้องเห็นภาพจริงจากสถานการณ์จริง

นอกเหนือจากการทำงานเป็นทีมร่วมกัน แล้ว สิ่งที่ได้จากการทำงานชิ้นนี้สามารถเปลี่ยนทัศนคติของทีมงานคนรุ่นใหม่ที่มี ต่อภาคอีสานไปได้อย่างสิ้นเชิง

"ชนบทมันไม่ค่อยต่างกันจากที่รู้ ในหนังสือกับสภาพความเป็นจริงก็คล้ายกันบ้าง แต่ก่อนเคยได้ยินเพื่อนเล่าว่าอีสานแห้งแล้งมากในหนังสือผมก็เข้าใจประมาณ นั้น แต่ของจริงไม่ใช่ ไม่ได้แห้งแล้งขนาดนั้น คืออีสานค่อนข้างสมบูรณ์ขึ้น การละเล่น วิถีชีวิตเก่าๆ มันเป็นเสน่ห์ของอีสาน เลยอยากเสนอความรู้สึกนี้ผ่านภาพไปด้วย อะไรเก่าๆ ที่แม้กระทั่งผู้ใหญ่เองก็มองข้าม

อย่างเช่นบ้านที่ใช้ใบไม้มาขึงตรงผนัง มันคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ถ้ามองผ่านๆ มันก็คือความกันดาร แต่ถ้ามองลึกๆ ลงไป มันคือวิถีชีวิตที่สวยงามที่ควรอนุรักษ์ไว้ เราจึงอยากถ่ายทอดตรงนั้น การทำงานภาพบางครั้งเราต้องมองสิ่งที่ตรงกันข้าม" เขากล่าว

ขณะเดียวกันการได้เข้าใจสภาพสังคม วัฒนธรรมอีสานมากขึ้น ทำให้ทีมงานต่างได้ตระหนักถึงการปรับตัวให้กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม อย่างที่อาจารย์สุชาติ เห็นว่า บางสิ่งยังเป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สำคัญก็ยังคงอยู่ในปัจจุบัน จึงอยากให้เยาวชนได้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับความเป็นตัวตนของ เราอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันเราอาจจะเห็นภาพวัฒนธรรมไม่ชัดเจน หนังสือการ์ตูนเล่มนี้จึงจะบอกเล่าเรื่องเมื่อแปดสิบปีที่แล้วผ่านมุมมองของ คนรุ่นใหม่ หนังสือการ์ตูนเล่มนี้จึงจะบอกเล่าเรื่องเมื่อแปดสิบปีที่แล้วผ่านมุมมองของ คนรุ่นใหม่

ทางด้าน รศ.วิรัตน์ พงษ์ศิริ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มองว่า "การผลิตหนังสือการ์ตูนลูกอีสานเป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความ รู้ มีเทคนิค และวิธีการที่จะนำเสนอสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ ร่วมกับสื่อเอกชนที่มีเนื้อหาสาระดี แต่ทำอย่างไรที่จะสื่อออกไปสู่ผู้อื่น หรือผู้ที่ต้องการได้อย่างสมบูรณ์ แต่ที่สุดแล้วการร่วมมือในครั้งนี้ทำให้ได้จัดการเชื่อมโยงองค์ความรู้เข้า กับองค์กร สังคม บริษัท หรือแม้แต่ภาครัฐ หรือเอกชน เป็นไปตามพันธกิจที่วางไว้

นั่นคือการที่นักศึกษาของเราได้สร้าง ประโยชน์ให้แก่สังคม ที่สำคัญผลประโยชน์นั้นนักศึกษาจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมอีสานผ่านการทำงานใน ครั้งนี้ด้วย"

การกลับมาของวรรณกรรมอมตะ เรื่อง 'ลูกอีสาน' ในยุคปี 2010 นี้ น่าจะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่และวัฒนธรรมความเป็น อีสานในสมัยก่อนได้อย่างดี

อย่างน้อยที่สุดก็ได้เห็น ภูมิปัญญาการใช้ชีวิตฝ่าฟันความแห้งแล้งกันดารกว่าจะมีผืนดินอีสานอย่างทุก วันนี้

****************

กตัญญู บุญเดช : เรื่อง
สุ รีรัตน์ ตั้งจิตเจริญกิจ : ภาพ



ข้อมูลจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ