วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553

"ปฏิทินปกแดง ไทย-จีน"

"ปฏิทินปกแดง ไทย-จีน"
เป็นสิ่งที่คนไทย
ไม่ว่าจะเชื้อสายใดต่างต้องเคยเห็นและคุ้นตากันมากว่าครึ่งศตวรรษ
แต่จะมีสักกี่คนที่ทราบว่าประวัติและกระบวนการทำ "ปฏิทินปกแดงไทย-จีน"
มีความเป็นมาอย่างไร? ข้อความภาษาจีนแต่ละจุดแต่ละส่วนหมายความว่าอย่างไร?
ข้อความเหล่านั้นมีประโยชน์อะไรในชีวิตประจำวัน
ภาพนี้ได้ถูกเปลี่ยนขนาด ขนาดต้นฉบับคือ 500x759 ต้องการดูภาพเต็มขนาดคลิกที่นี่...
        ก่อนอื่นขอเริ่มทำความเข้าใจกับรายละเอียดในแต่ละส่วน
ที่ปรากฏบนปฏิทินปกแดงไทย-จีน เสียก่อน โดยจะพิจารณาแต่ละส่วนออกออกตามภาพประกอบ
ของปฏิทินที่ได้แบ่งเป็นช่องๆ พร้อมแทนด้วยหมายเลข เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถรู้ความหมาย
ในละช่องของปฏิทินได้ชัดเจนขึ้น

ช่องที่ 1 : เดือนและปี พ.ศ. ตามแบบปฏิทินไทย และ ค.ศ.ตามแบบสากล
ช่องที่ 2 : วัน เดือน ปี ข้างขึ้น ข้างแรม ตามจันทรคติของไทย
ช่องที่ 3 : วันที่ตามแบบสากล แต่จะมีรูปภาพปรากฏขึ้นในวันพิเศษ
วันสำคัญทางศาสนา วันหยุดราชการ อาทิ
วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันตรุษจีน
วันวิสาขบูชา วันพืชมงคล วันประสูติพระโพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม
และวันคริสต์มาส เป็นต้น
ช่องที่ 4 : เดือนและวันที่เขียนเป็นภาษาจีน นับตามแบบสากล
ช่องที่ 5 : วันที่ตามปฏิทินสากลแต่เขียนเป็นทั้งภาษาไทย จีนและอังกฤษ
ช่องที่ 6 : วัน เวลา ของการครบรอบการเปลี่ยนแปลงวันสารทของคนจีน
ซึ่งใน 1 ปี จะมี 24 สารท โดยใน 1 เดือนจะมี 2 สารท
คือ สารทเล็กและสารทใหญ่
ช่องที่ 7 : วันที่ตามจันทรคติของจีน
ช่องที่ 8 : ปีและเดือน ตามจันทรคติของประเทศจีน
ซึ่งจะดูตามโหราศาสตร์จีนโบราณ โดยใช้สัญลักษณ์ของราศีบนกับราศีล่างทั้ง 24 ราศี
แทนการเขียนเดือนลงบนปฏิทิน
ช่องที่ 9 : การดูฮวงจุ้ยและทิศที่เหมาะในการสร้างบ้าน
ช่องที่ 10 : ทิศที่ดีประจำวันและกิจกรรมที่ไม่เหมาะที่จะทำในวันนั้น เช่น วันที่ 26 ม.ค.
ไม่ควรไปจับปลาหรือไปล่าสัตว์ ไม่ควรหมักเหล้า เป็นต้น
ช่องที่ 11 : ครึ่งข้างบนจะเป็นการบอกดวงดาวประจำวันนั้นๆ
เพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับการหาฤกษ์มงคล ส่วนครึ่งข้างล่าง
จะเป็นการแนะนำว่าวันนี้เหมาะที่จะทำกิจกรรมใดบ้าง
ช่องที่ 12 : ในปฏิทินจะบอกถึงปีนักษัตรที่ชงกันในวันนั้น เช่น
ในวันที่ 26 ม.ค. คนที่เกิดในปีมะแม ไม่ควรทำกิจกรรมหรือการค้าใดๆ กับ
คนที่เกิดปีฉลู เพราะจะทำให้กิจกรรมที่ทำร่วมกันนั้นมีอุปสรรคและ
ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
ช่องที่ 13 : กำหนดวันที่ดีกับวันที่ไม่ดี เพื่อนำไปหาฤกษ์ในวันที่จะทำพิธีมงคล
ช่องที่ 14 : ลักษณะวัน ที่มีคำทำนายภาษาไทยอธิบายรายละเอียดอยู่
ซึ่งสามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่าหากวันไหนเป็นวันธงไชย วันกาลกินี
และวันอุบาทว์ ในปฏิทินจะมีการเขียนคำทำนายเป็นตัวอักษรเป็นสีแดงทั้งหมด
ซึ่งลักษณะวันที่ปรากฏในส่วนนี้จะเปลี่ยนไปทุกวัน ทุกปี
จะวนกลับมาตรงกันอีกครั้งในทุก 180 ปี ซึ่งนับตามจันทรคติของจีน
       อย่างไรก็ดีสำหรับการนับวัน
ตามแบบปฏิทินปกแดงไทย-จีนนั้น
จะมี 2 เดือน คือเดือนเล็กมี 29 วัน เดือนใหญ่มี 30 วัน
ซึ่งทุกต้นเดือนของทั้งเดือนเล็กและเดือนใหญ่จะถือเป็น
วันพระจีนหรือที่เรียกว่า "ชิวอิก (初一)"
         
เมื่อทราบและเข้าใจถึงความหมายของทุกส่วนที่ปรากฏปฏิทินไทย-จีน แล้ว
ลำดับต่อไปขอพาทุกท่านไปรู้จักความเป็นมา วิธีทำนายและขั้นตอนการผลิตรวมถึงความเห็นต่างๆ
ของผู้ผลิต ผู้รู้ภาษาจีนและผู้ใช้ ที่มีต่อ ปฏิทินไทย-จีน ประวัติศาสตร์ 2,000 ปี
         นายงึ้งหมง แซ่โง้ว หรือ โหราจารย์ โง้ว งึ้งหมง 
ผู้พยากรณ์คำทำนายลงในปฏิทินปกแดงไทย-จีน
โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง เล่าถึงประวัติความเป็นมาของวิธีการพยากรณ์คำทำนายลงบนปฏิทินไทย-จีนว่า
ลุงของตน (นายเฮียง แซ่โง้ว) ได้นำรูปแบบการทำนายบนปฏิทินมาจากเมืองจีน
และนำมาดัดแปลงประยุกต์เป็นปฏิทินไทย-จีน ที่ยึดรูปแบบตามปฏิทินจีนเกือบทุกประการ
ซึ่งการทำปฏิทินไทย-จีน ที่ขายกันตามท้องตลาดนั้น มีมานานแล้วถึง 60 ปี
โดยการพยากรณ์คำทำนายแบบนี้ มีต้นกำเนิดมาจากราชวงศ์ฮั่น เมื่อประมาณ 2,000 ปี
ที่แล้ว ก่อนที่จะมีการนำมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รู้จักอย่างจริงจังในราชวงศ์ซ่ง
(ประมาณพันปีก่อน) ซึ่งการพยากรณ์คำทำนายลงบนปฏิทินไทย-จีนนั้น

ได้ยึดหลักการตามตำราที่ได้รับสืบทอดมาจาก ราชวงศ์ชิง ซึ่งถือว่าเป็นราชวงศ์สุดท้าย
ที่มีการปกครองโดย จักรพรรดิในประเทศจ�
(ภาพ : โหรโง้ว งึ้งหมง" ใช้ตำราที่ได้รับสืบทอดมาจาก
อาจารย์ที่ใช้พยากรณ์ดวงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง)
        โหรโง้ว งึ้งหมง อธิบายต่อว่า
ปฏิทินจีนมีข้อแตกต่างกับปฏิทินไทย-จีนอยู่ตรงที่ปฏิทินจีนจะไม่มีช่องที่บอกใบ้
ตัวเลขในวันที่ 15 30 และ 31 เหมือนกับปฏิทินไทย จีน
ซึ่งการทำนายตัวเลขถือเป็นเอกลักษณ์ของปฏิทินไทย-จีน โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง
ที่ทำตามคำเรียกร้องของลูกค้า ส่วนจะแม่นหรือไม่แม่นนั้น
ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล
            
ส่วนกรณีที่มีการวาดรูปและสัญลักษณ์ในวันสำคัญตามประเพณีไทยและจีน
ลงไปบนปฏิทินไทย-จีน นั้น โหรโง้ว งึ้งหมงให้เหตุผลว่า
"การวาดรูปลงไปในวันสำคัญตามประเพณีไทย ถือว่าเป็นการ
แสดงความเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ซึ่งตนถือว่าคนจีนที่มาอยู่เมืองไทยก็ต้องเคารพรักในหลวง
และต้องเคารพนับถือประเพณีไทย
เพราะถือว่าได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระองค์ท่าน
ซึ่งในประเทศไทยมีคนจีนที่เข้ามาอาศัยอยู่มาก
ดังนั้นการทำปฏิทินไทย-จีน
จึงต้องผสมผสานระหว่างขนบประเพณีประเพณีจีนและไทยเอาไว้ด้วยกัน"
(ในภาพ
รูปบน: ตารางพิเศษที่มีไว้บอกใบ้ตัวเลข ซึ่งจะปรากฎอยู่บนปฏิทินทุกวันที่ 15 และ 31 ของทุกเดือน
รูปล่าง: แสดงภาพ "ในหลวง" ที่ปรากฏบนปฏิทินไทย-จีน ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา)
คุณชาญชัย นำพิทักษ์ชัยกุล  (ศิษย์ศึกษาวัฒนา รุ่น 25 น้องชายคุณธงชัย รุ่น 22)
เจ้าของกิจการปฏิทินไทย-จีน โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง เล่าถึงขั้นตอนในการทำปฏิทินว่า
การทำปฏิทินต้องมีการเตรียมงานล่วงหน้าทั้งปี โดยในช่วงเดือนมกราคม ถึง เมษายน
จะเป็นการคำนวณและทำนายรายละเอียดต่างๆ ของทั้ง 365 วัน ส่วนตั้งแต่เดือน
พฤษภาคมและมิถุนายนจะเป็นขั้นตอนตรวจคำผิดและทำนายซ้ำอีก 1 รอบ เพื่อความแม่นยำ
หลังจากนั้นจะออกแบบรูปเล่มและจัดวางออกประกอบของหน้าปฏิทินก่อนนำไปตีพิมพ์
ในเดือนกรกฎาคม และจะเริ่มวางจำหน่ายในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคม
โดยหลังวันตรุษจีนทางบริษัทจะหยุดขายปฏิทิน ซึ่งกระบวนการทำปฏิทินจะเป็นอย่างนี้ทุกปี
  
เจ้าของกิจการปฏิทินไทย-จีน โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยงกล่าวต่อว่า ปีหนึ่งๆ
ทางบริษัทจะพิมพ์ปฏิทินขนาด เล็ก-กลาง-ใหญ่ออกจำหน่ายรวมประมาณ 1,000,000 เล่ม
และมักจะไม่ตีพิมพ์ซ้ำอีก เนื่องจากหลังจากวันตรุษจีนคนจะซื้อปฏิทินน้อยลง
และเป็นความตั้งใจของบริษัทอยากให้ขายปฏิทินหมดปีต่อปี เพื่อไม่ให้ปฏิทินเหลือตกค้างอยู่ในตลาด
ยกเว้นในกรณีที่ปฏิทินขายหมดก่อนวันตรุษจีน ทางบริษัทจึงจะจัดพิมพ์ใหม่อีกครั้ง
โดยแหล่งจำหน่ายแหล่งใหญ่คือที่ตลาดเยาวราช นอกจากนี้ปฏิทินยังถูกส่งไปขายทั่วประเทศ
และขายในต่างประเทศ อาทิ เขมร ลาว พม่า กัมพูชา สิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซีย
เนื่องจากในประเทศเพื่อนบ้านมีคนจีนที่อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่ไปอาศัยอยู่มาก
ทำให้ความต้องการของปฏิทินไทย-จีน มีเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
    
เมื่อถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ปฏิทินปกแดงไทย-จีน
ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในช่วงตรุษจีน เจ้าของกิจการโหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง
ให้เหตุผลว่า ทางบริษัทจะพยายามใช้คำง่ายๆ รวบรัดแต่ได้ใจความในการทำนาย
เพื่อให้ผู้อ่านแล้วเข้าใจได้เร็ว ซึ่งคิดว่าตรงจุดนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบ และลูกค้ามักโทรศัพท์เข้ามา
บอกว่าคำทำนายบนปฏิทินแม่นและน่าเชื่อถือ ส่วนกรณีที่ปฏิทินขายดีในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้น
เป็นเพราะความตั้งใจเดิมของพ่อ (นายเฮียง แซ่โง้ว) ผู้บุกเบิกทำกิจการมาตั้งแต่แรก
ที่ตั้งใจทำให้ปฏิทินเป็น ส.ค.ส.ในวันปีใหม่จีน อีกทั้งยังถือว่าคำนาย
เป็นการเตือนให้ทำสิ่งที่เป็นมงคลชีวิตในวันตรุษจีน
ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ พิมพ์ปีละล้านเล่ม-สินค้าส่งออก
(ในภาพ: ชาญชัย นำพิทักษ์ชัยกุล" เจ้าของกิจการปฏิทินไทย-จีน โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง)
ความต่างปฏิทินปกแดงไทย-จีน

ทั้งนี้ อ.สันติ ตั้งรพีพากร ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา-วัฒนธรรมจีนและอาจารย์พิเศษประจำคณะสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวอธิบายเกี่ยวกับปฏิทินปกแดงไทย-จีนว่า บนหน้ากระดาษปฏิทินปกแดงไทย-จีน
จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ส่วนข้างบนที่เป็นตัวเลขบอกวัน เดือน ปี ตามแบบปฏิทินสากล
หรือที่คนจีนเรียกว่าสุริยะคติ หรือ "หยางลี่ (阳历)"
2. ส่วนของล่างที่เป็นภาษาจีน มักเป็นคำทำนายเพื่อบอกใบ้ให้รู้ว่าแต่ละวันควรทำอะไร
และคนที่เกิดปีอะไรไม่ควรทำกิจกรรมกับคนที่เกิดในปีที่ชงกัน

"คำทำนายที่ปรากฏบนปฏิทินก็คงเป็นข้อมูลประกอบในการหาฤกษ์ยามดีที่จะประกอบพิธีมงคลเท่านั้น
ซึ่งเนื้อหาก็จะมีการนำไปเปรียบเทียบข้อมูลกับปฏิทิน 100 ปีของประเทศจีน
โดยปฏิทินดั้งเดิมของประเทศจีนนั้นจะเกี่ยวข้องกับการดูดวงกำหนดชะตาชีวิต
ทำนายฤกษ์ยามในการทำเกษตรกรรม เพาะปลูก หว่านและเก็บเกี่ยวนาข้าว
ซึ่งจะต่างกับปฏิทินไทย-จีน ตรงที่มีการใส่ตัวเลขใบ้หวยลงไปด้วย" อ.สันติกล่าว
     เมื่อกล่าวถึง "ปฏิทินเล่มแดง"
ด้านพ่อค้าแม่ขาย ย่านเยาวราช กล่าวแสดงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า ปฏิทินไทย-จีน เล่มแดง
จะขายดีมาก เมื่อใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าขาดตลาด
เนื่องจากประชาชนมักจะมาซื้อปฏิทินเพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญแทน ส.ค.ส.ให้แก่ญาติพี่น้อง
โดยปฏิทินไทย-จีนจะวางจำหน่าย ในช่วงเดือนปลายเดือนตุลาคมของทุกปี
และทุกร้านจะหยุดขายปฏิทินหลังเทศกาลตรุษจีน ซึ่งราคาของปฏิทินจะแพงขึ้นตามปริมาณของสินค้า
เช่น ปกติปฏิทินเล่มเล็ก ราคา 60 บาท เล่มกลาง 120 และเล่มใหญ่ 180 บาท
แต่ในช่วงที่ปฏิทินขาดตลาด ราคาจะขึ้นมาถึงเล่มละ 80 บาท 140 บาท และ 200 บาท
ตามขนาด โดยราคาอาจขยับขึ้นสูงอีกหากสินค้าหมดและไม่มีการพิมพ์เพิ่ม
ซึ่งยี่ห้อปฏิทินที่ครองตลาดอยู่ในปัจจุบัน คือ ปฏิทินไทย-จีน โหราศาสตร์น่ำเอี๊ยง
และ ปฏิทินไทย-จีน-อังกฤษ โหราศาสตร์จูป๋อ

ส่วนคุณภูมิศักดิ์ พิสิฐชัยรักษ์ พ่อบ้านไทยที่สืบเชื้อสายจีน กล่าวว่า
การให้ปฏิทินไทย จีนกับญาติพี่น้องก็เหมือนกับการให้ ส.ค.ส. หรือ การ์ดอวยพร
สวัสดีปีใหม่กันก่อนวันตรุษจีน โดยถือเป็นธรรมเนียมที่คนไทยเชื้อสายจีนมักปฏิบัติกันก่อนช่วงปีใหม่
ทั้งนี้หากสังเกตให้ดี จะพบว่าแทบทุกบ้านในย่านเยาวราชต้องมีปฏิทินไทย-จีนติดบ้าน
เพื่อเอาไว้ดูวันพระของจีน เนื่องจากในปฏิทินธรรมดาจะไม่มีการบอกวันพระจีน
ซึ่งตัวเลขที่บอกวันที่ในปฏิทินมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย และช่วยป้องกันไม่ให้จำวันวันผิด
เพราะต้องฉีกปฏิทินเพื่อเปลี่ยนวันที่ทุกวัน

"หากวันไหนในปฏิทินทำนายว่าเป็นวันอุบาทว์ก็จะพับขึ้นและไม่อ่าน
แต่ถ้าวันไหนในปฏิทินทำนายว่าเป็นวันดีก็ดีไป อย่างวันที่ 15 ม.ค. ลูกสาวผมคลอดลูก
ผมก็จะฉีกวันที่หลานเกิดเก็บไว้ เพื่อเอาไว้ดูคำทายและข้อห้ามที่บอกไว้ในปฏิทิน
แต่คงไม่เชื่อคำนายทุกคำที่ปรากฏในปฏิทิน เพราะคำทำนายเป็นแค่แนวทางในการดูฤกษ์ดูยามเฉยๆ
แต่ในทางปฏิบัติถ้าวันไหนที่บ้านจะจัดงานมงคล ก็จะไปหาซินแสเพื่อให้ช่วงดูฤกษ์
ยามในวันประกอบพิธีให้" พ่อบ้านชาวไทยเชื้อสายจีน
กล่าวพร้อมอธิบายความคิดเห็นเกี่ยวกับการดูฤกษ์ ยาม ในปฏิทินไทย-จีน

เมื่อทำความรู้จักกับปฏิทินไทย-จีน เรียบร้อยแล้ว ท่านผู้อ่านคงจะสามารถเข้าใจ
และตีความหมายบนปฏิทินได้อย่างถูกต้องและไม่ว่าคำทำนายบนปฏิทินจะเป็นอย่างไรก็ตาม
ขอให้ทุกคนพิจารณาคำทำนายควบคู่กับความเป็นเหตุเป็นผลที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันด้วย
สุดท้ายนี้ขอให้ผู้อ่านมีความสุข สมหวังกับวันตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้
เพื่อความ "เฮง เฮง เฮง"กันอย่างถ้วนทั่วทุกคน


http://apichoke.com/index.php?topic=14578.0



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ