วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ดำ หัวแพร จอมโจรคนดียวในแผ่นดินที่มีอนุสาวรีย์

ดำ หัวแพร จอมโจรคนดียวในแผ่นดินที่มีอนุสาวรีย์


ภาพวาดรูป ตัวขุนโจรชื่อดัง "ดำ หัวแพร"
จากคำบอกกล่าวของคนแก่ๆ ที่จำหน้าตาขุนโจรได้ชัดเจน


เมื่อเห็นว่ารัฐปฏิบัติกับคนจนอย่างไม่ เป็นธรรม ชุมโจรเมืองพัทลุงจึงลุกขึ้นต่อต้านทางการ กลายเป็นที่มาและตำนานจอมโจรชื่อก้อง "ดำ หัวแพร" ผู้ไม่ก้มหัวให้อำนาจรัฐ แม้วาระสุดท้ายของชีวิต

86 ปีกับความทรงจำอันลางเลือนของใครบางคน ทว่า กับคนพัทลุงส่วนใหญ่ยังจดจำวีรกรรมในอดีตของจอมโจรชื่อก้อง นาม "ดำ หัวแพร" ได้อย่างแจ่มชัดทุกครั้งที่เห็นรูปปั้นเหมือนจริง อนุสรณ์ชิ้นเดียวที่หลงเหลืออยู่จนถึงปัจจุบันของจอมโจรแดนใต้ผู้นี้


พลิก แฟ้มคดีดังฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านไปพบกับชีวิตของ ดำ หัวแพร ที่โลดแล่นอยู่เมื่อ 86 ปีก่อน จากคำบอกเล่าของ "สมคิด ทองสง" ผู้อำนวยการ ร.ร.วัชรธรรมสถิต อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งอีกบทบาทหนึ่ง คือ นักวิชาการท้องถิ่นที่พยายามเก็บรวบรวมและศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ให้ เลือนหายไปกับกาลเวลา


ผอ.สมคิด เล่าให้ฟังว่า ราวปี 2439 ประเทศไทยปฏิรูปการปกครองประเทศเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล รัฐจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการพัฒนาประเทศในมณฑลนครศรีธรรมราช เช่น เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา และเมืองพัทลุง จึงออกกฎหมายจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ ขึ้นหลายฉบับ และการจัดเก็บเงินค่ารัชชูปการจากชายฉกรรจ์คนละ 3 บาท หากใครไม่มีเงินจ่ายก็จะต้องไปใช้แรงงานให้ครบกำหนดเงินที่รัฐเรียกเก็บ


ภาษี รัชชูปการ คือ เงินช่วยราชการตามที่กำหนดเรียกเก็บจากราษฎรชายที่มิได้รับราชการทหารเป็น รายบุคคล! ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนกันถ้วนหน้า จึงเริ่มมีการต่อต้านการจัดเก็บภาษีอย่างเงียบๆ บางคนปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีนี้ บ้างก็หลบเลี่ยง จนเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นชุม จัดการดูแลกันเอง


หนึ่งในจังหวัดที่มีการต่อต้านอย่าง รุนแรง คือ พัทลุง ไม่นานนักจากการรวมกลุ่มก็กลายเป็น "ชุมโจร" ไปในที่สุด จุดประสงค์หลักของคนกลุ่มนี้ คือ ปฏิเสธการเสียภาษีไปพร้อมๆ กับการไม่ยอมก้มหัวให้แก่อำนาจรัฐ ชุมโจรส่วนใหญ่ยังเป็นแบบฐานลอย คือ เคลื่อนย้ายไปเรื่อยๆ ไม่มีหลักแหล่งชัดเจน ตั้งแต่พัทลุงไปจนถึงนครศรีธรรมราช หากถูกปราบปรามหนักๆ อาจจะหลบเข้าไปถึงเมืองตรัง


"เท่าที่ทราบตอนนั้นมีชุมโจรหลายสิบ แห่ง เรียกชื่อตามพื้นที่อาศัย สมัยนั้นทุกหมู่บ้านต้องมีโจรคอยปกป้องดูแลรักษาลูกบ้าน ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ โจรมีหน้าที่ปกป้องหมู่บ้านและลูกบ้านไม่ให้ถูกรังแก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐและชุมโจรแห่งอื่น" สมคิด เล่า


ในจำนวน ชุมโจรที่มีอยู่กลาดเกลื่อนดูเหมือนชุมโจร "ขุนพัท" หรือ "รุ้ง ดอนทราย" จะกินอาณาเขตกว้างใหญ่และชื่อเสียงขจรขจายกว่าชุมโจรอื่นๆ ด้วยมีลูกสมุนมือดีมากมาย ไล่ตั้งแต่ ขุนอัสดงไพรวัน หรือเจ้าของฉายา "ดำ หัวแพร" ควบตำแหน่งรองหัวหน้าชุมโจร ขุนอรัญไพรี ฉายา "ดำ ปากคลอง" ขุนประจบดำ แพรศรี หรือ "นายวันพาชี" จากบ้านม่วงลูกดำ ต.นาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง และขุนคเนศวร์พยอมหาญ หรือ "ดำ บ้านพร้าว"


ชุมโจรขุนพัทมีกฎเหล็ก 5 ข้อ ให้ลูกสมุนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีความชอบธรรมในการอยู่ร่วมกัน ได้แก่


1.ก่อนเข้าปล้นต้อง "ปักกำ" หรือบอกให้เจ้าทรัพย์รู้ตัวล่วงหน้า หากใครมีคาถาอาคม หรือมีของดีติดตัวจะได้เอาออกมาป้องกันตัว


2.จะปล้นเฉพาะบ้านคน รวย และถือเอาทรัพย์สินเฉพาะที่เก็บสะสมไว้เท่านั้น จะไม่เอาทรัพย์สินที่ติดตัวอยู่


3.หากเคยไปพักพิง พึ่งข้าวน้ำ หรือหลบแดดฝนชายคาบ้านใด นอกจากจะไม่ปล้นไม่รังแกแล้ว ยังต้องให้ความคุ้มครองป้องกันภัยแก่บ้านนั้นด้วย


4.หากเจ้า ทรัพย์ไม่ต่อสู้ หรือต่อต้าน ขัดขืน ห้ามทำร้าย


5.ห้ามทำร้าย เด็กและผู้หญิง





ชุมโจรของรุ้ง ดอนทราย ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับทางการอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็ไม่ให้ชาวบ้านติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยพวกพ้องของเขาจะให้ความคุ้มครองแทน ไม่นานพวกเขาก็ตกเป็นเป้าสายตา และเป้าหมายปราบปรามของทางการ ราวปี 2462 รุ้ง ดอนทราย เสียชีวิต บ้างก็ว่าถูกฆ่าตาย บางกระแสก็ว่าเป็นไข้ตาย จะอย่างไรก็ตามแต่ เจ้าหน้าที่ได้นำศพรุ้ง ดอนทราย มัดติดกับต้นตาลที่วัดกุฏ หรือวัดสุวรรณวิชัย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ในปัจจุบัน


สิ้นหัวหน้า ชุมโจรไม่นาน ดำ หัวแพร ก็ขึ้นสืบทอดตำแหน่งแทน เขาแผ่อิทธิพลไปทั่วหมู่บ้านร้านตลาดในอำเภอสู่ตัวเมือง และข้ามไปจังหวัดใกล้เคียง ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวโพกผ้าแพรสีดำอย่างดีตลอดเวลา จึงกลายเป็นที่มาของฉายา "ดำ หัวแพร" ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ ผิวขาว ตรงข้ามกับชื่อ ผมหยิกยาวเป็นลอนดำขลับ ทำให้เขามีเมียมากถึง 3 คน

อาวุธ ประจำตัวดำ หัวแพร คือ "พร้าลืมงอ" จากปลายถึงด้ามยาวประมาณ 120 เซนติเมตร ตัวพร้าเป็นเหล็กกล้าคมกริบ มีชื่อเรียกว่า "อ้ายใจดำ" เนื่องจากจอมโจรชื่อก้องคนนี้ จะใช้มันเชือดคอศัตรูที่กล้ามาต่อกรและทำร้ายคนของเขา ดำ หัวแพร มีท่าแบกพร้าที่ไม่เหมือนใคร โดยจะเอากลางด้ามวางบนบ่า ปลายด้ามแนบชิดลำตัว คมพร้าจะบังมิดหูพอดี ไม่มีใครในเมืองลุงที่แบกพร้าทำนองนี้ ด้วยกลัวว่าจะถูกทางการเหมาว่าเป็นพวกโจรดำ หัวแพร


"เขามักจะ ตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่น ฆ่าคนที่ให้ความช่วยเหลือทางการ เชือดคอด้วยพร้าลืมงอ ใช้ตะปูตอกตรึงมือ อย่างไรก็ตาม เขายึดถือหลักปฏิบัติ 5 ข้อ ของชุมโจรอย่างเคร่งครัด" ผอ.สมคิด บอก


คำบอกเล่าที่ อาจารย์สมคิดได้ฟังมาจากคนยุคเก่าก่อน คือ ครั้งหนึ่งที่ดำ หัวแพร ต้องการแก้แค้นให้รุ้ง ดอนทราย มีสายตำรวจคนหนึ่งเป็นผู้หญิงเขาก็ปล่อยตัวไป โดยไม่ทำอันตรายใดๆ แม้แต่น้อย ครั้นเข้าปล้นบ้านเศรษฐีคนหนึ่ง เมื่อป่าวประกาศบอกเจ้าของบ้านให้รู้ตัวแล้ว เจ้าของบ้านก็เตรียมข้าวปลาอาหารไว้ต้อนรับขับสู้ เมื่อดำ หัวแพร พร้อมสมุนไปถึงเศรษฐีก็เชื้อเชินให้กินข้าวก่อน ด้วยชื่นชมในวิถีที่เขาดำเนินมาตลอด ครั้นกินอิ่มจอมโจรก็เดินทางกลับ เพราะถือว่าเศรษฐีนี้มีบุญคุณให้ข้าวให้น้ำกิน


ปี 2462-2464 เป็นช่วงที่ทางการเมืองพัทลุงออกปราบปรามชุมโจรอย่างจริงจัง พ.ต.ท.พระวิชัยประชาบาล หรือ บุญโกย เอโกบล ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ถูกส่งตัวมาปราบดำ หัวแพร มีการตั้งกองอำนวยการขึ้นที่วัดกุฏิ อ.ควนขนุน วัดนาท่อม อ.เมือง จ.พัทลุง และวัดหนองจิก อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช


วันหนึ่ง พ.ต..พระวิชัยประชาบาล สืบทราบว่า ดำ หัวแพร กับสมัครพรรคพวกกำลังกินหวาก (กระแช่) ที่บ้านหนองคลอด หรือหนองช้างตลอด ทุ่งหัวคด ต.โตนดด้วน อ.ควนขนุน จึงมอบหมายให้ ส.ต.ต.สิริ แสงอุไร ส.ต.ต.นำ นาคะวิโรจน์ และ พลตำรวจร่วง สามารถ พร้อมอาวุธครบมือไปล้อมจับ ทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างดุเดือด ไม่มีใครยอมใคร จนล่วงเข้าพลบค่ำ ส.ต.ต.สิริ เหลือกระสุนติดตัวอยู่เพียงนัดเดียว จึงออกอุบายแกล้งทำเป็นถูกกระสุนล้มลง


เมื่อ เห็นเช่นนั้น ดำ หัวแพร ถึงกับลิงโลดใจ ลืมกฎของความระมัดระวังไปสิ้นเชิง เขาตรงดิ่งเข้าไปหมายใช้ "อ้ายใจดำ" เชือดคอเหมือนที่เคยทำกับศัตรูอย่างที่แล้วๆ มา อนิจจา! เขากลับตกเป็นเหยื่อเสียเอง เมื่อกระสุนนัดสุดท้ายของ ส.ต.ต.สิริ พุ่งตรงเข้าใส่ร่างดำ หัวแพร ถึงกับทรุดกองลงกับพื้น ท่ามกลางความตื่นตกใจของบรรดาสมุนโจร ที่ต่างกรูเข้านำร่างหัวหน้าออกมาจากจุดปะทะ


ดำ หัวแพร ยังคงเป็นจอมโจรใจเด็ดผู้ไม่ยอมก้มหัวให้ทางการฉันใดก็ฉันนั้น ถึงแม้จะถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสเพียงใด เขาก็ไม่ยอมทิ้งลายเสือ ตัดสินใจใช้เชือกแขวนคอตายใต้ต้นไม้ เพียงเพื่อไม่ต้องการให้ทุกคนกล่าวขานว่า จอมโจรชื่อก้องจบชีวิตด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐ


แม้วิญญาณจะละ จากร่างไปแล้ว แต่ตำรวจก็นำศพมามัดประจานไว้ที่หน้าวัดกุฏิเฉกเช่นเดียวกับรุ้ง ดอนทราย ไม่ให้ผู้ใดเอาเยี่ยงอย่าง แต่ชื่อของ "ดำ หัวแพร" ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนพัทลุง แม้จะเป็นด้านตรงข้ามกับความดีงาม แต่วิถีแห่งโจรใต้เมืองลุงนี้ก็เป็นที่เล่าขานเป็นตำนานเหมือนกับเป็นลม หายใจของคนที่นี่


หลังมรณกรรมมาเยือน "ดำ หัวแพร" ผู้คนใน จ.พัทลุง มีความรู้สึกแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองมองว่าดำเป็นโจรชั่ว เป็นศัตรู ส่วนคนที่รู้จักบ้างก็นับถือว่า ดำชอบช่วยเหลือคนจน กตัญญูรู้คุณต่อคนที่มีบุญคุณ จนชาวบ้านส่วนหนึ่งได้สร้างรูปปั้นเหมือนจริงไว้เป็นที่ระลึกที่เขาวังเนียง ปัจจุบันเป็นสวนสาธารณะของเทศบาล บริเวณฐานมีป้ายระบุชื่อ "ดำ หัวแพร"


อาจารย์ สมคิด ทองสง บอกว่า การที่รูปปั้นจอมโจรมาตั้งอยู่หน้าเทศบาล ทำให้เป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมว่า เหตุใดชาวพัทลุงถึงบูชาโจร เกิดกระแสต่อต้านจากคนบางกลุ่ม แต่บางคนก็สนับสนุนให้คงรูปปั้นไว้ ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงมีคำสั่งให้ทุบทิ้ง เขาจึงเป็นแกนนนำชาวบ้านนำหุ่นมาตั้งไว้หลัง ร.ร.ปัญญาวุธ แทน
ถึงแม้ ดำ หัวแพร จะเป็นจอมโจรชื่อก้อง ทว่า น่าแปลกอยู่เหมือนกันที่ทุกวันนี้ยังมีผู้คนแวะเวียนมากราบไหว้อยู่ไม่ขาด โดยเฉพาะวันอังคารกับวันเสาร์


นอกจากรูปปั้นนี้แล้ว ยังมีลูกสาว ปัจจุบันอายุ 71 ปี อาศัยอยู่ที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช อีกคน ที่ทำให้ ดำ หัวแพร มีตัวตนมากกว่าจอมโจรในตำนานคนอื่นๆ ทว่า ลูกสาวคนนี้ไม่เคยรู้ประวัติของพ่อผู้ให้กำเนิดเลย ด้วยเหตุที่ดำเสียชีวิตตอนเธออายุได้ 2 ขวบเท่านั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ