วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

ฤทธิ์เดชของพาราเซตามอลไม่ใช่เรื่องขี้ปะติ๋ว

ฤทธิ์เดชของพาราเซตามอลไม่ใช่เรื่องขี้ปะติ๋ว


ฤทธิ์เดชของพาราเซตามอลไม่ใช่เรื่องขี้ปะติ๋ว


พาราเซตมอล ที่เรียกกันง่ายๆ ว่า พาราบ้าง พาราเซตบ้าง
เป็นยาประจำบ้านสำหรับลดไข้แก้ปวดที่รู้จักกันดี หยิบฉวยใช้กันอย่างแพร่หลาย

ก่อนยุคพาราเซตมอล ยาประจำบ้านที่ใช้แก้ไข้แก้ปวด ได้แก่ แอสไพริน เป็นยาที่ซื้อง่ายขายคล่อง มีทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำเชื่อมและชนิดผงบรรจุซอง แม้แต่ที่เป็นยาตำราหลวงก็มี สมัยก่อนนี้ใครเป็นไข้ปวดหัวตัวร้อน ปวดฟันก็หาแอสไพรินมากินไว้ก่อน
ต่อมามียาเม็ดสีชมพูออกจำหน่าย เรียกว่า เอ.พี.ซี ว่ากันว่าฤทธิ์แรงกว่าแอสไพรินอย่างเดียว เพราะใส่ตัวยาเพิ่มอีก 2 ตัว เฟนาซีติน และคาเฟอีน ชาวบ้านร้านตลาดใช้เอ.พี.ซี. อยู่นับสิบปี กว่าจะมีรายงานออกมาว่าเฟนาซีตีนกดไขกระดูก และคาเฟอีนก็เป็นสารอันตรายที่อาจมีผลร้าย ต่อหัวใจและอาจเสพติดได้ สูตรเอ.พี.ซี.จึงถูกยกเลิกไป แม้ตัวยาแอสไพรินเองก็มีผลระคายเคือง ต่อเยื่อบุกระเพาะอาหาร และมีผลข้างเคียงอื่น เช่น ทำให้เลือดออกง่าย ความนิยมในการใช้ แอสไพรินลดไข้แก้ปวดจึงเสื่อมลงไป

ยาตัวใหม่ที่มาแทนที่แอสไพรินสำหรับลดไข้แก้ปวดได้แก่ พาราเซตมอล (มีชื่อเรียก อีกอย่างหนึ่งว่า อะเซตามิโนเฟน) จากการศึกษาวิจัยพบว่า เป็นยาที่มีผลเสียน้อยกว่า ปลอดภัยในการใช้ จนได้รับการยินยอมให้ซื้อใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ แต่ยาตัวนี้ ก็ดีเพียงลดไข้แก้ปวดเท่านั้น ไม่มีคุณสมบัติด้านอื่นเหมือนแอสไพริน

พาราเซตมอลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางรวดเร็ว หลายต่อหลายคนเข้าใจว่า พาราเซตมอลบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยได้สารพัดอย่าง ไม่สบายเป็นอะไรก็หาพาราเซตมอล มากินไว้ก่อน คนเราส่วนใหญ่ที่ไม่สบายก็มักเป็นแค่ปวดหัวตัวร้อนหรือไข้หวัดธรรมดาๆ เมื่อได้พาราเซตมอลก็ทุเลาขึ้น พาราเซตมอลก็เลยกลายเป็นยาประจำบ้านที่ขายดิบขายดี กันเป็นว่าเล่น ปวดหัว ไข้หวัด ก็กินพาราเซตมอล ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ก็กินพาราเซตมอล แล้วเลยเถิดไปถึงขั้นปวดท้อง เวียนศีรษะ ก็กินพาราเซตมอล ซึ่งคงช่วยแก้อะไรไม่ได้ แต่ก็ทำให้สบายใจว่าได้กินยาแล้ว บางคนมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่งกว่าจะไปหาหมอรักษา อย่างเป็นกิจลักษณะ โรคก็ลุกลามต้องรักษากันอยู่นานเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ

จึงอยากบอกกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า พาราเซตมอลไม่ใช่ยาเทวดา ที่รักษาได้สารพัดโรค นอกจากนั้นถ้ากินมากเกินขนาดยังอาจเป็นผลร้ายต่อร่างกายได้

ในบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการควบคุมการใช้ยาอย่างรัดกุม ได้ศึกษาวิจัย ถึงผลเสียของยาต่างๆ อย่างถี่ถ้วนพบว่าพาราเซตามอล ยาที่คิดกันว่าไม่เป็นพิษเป็นภัย หากไม่กินจนเกินขนาดและยาวนานติดต่อกันนั้น ตามความเป็นจริงยังมีอันตราย ที่ต้องพึงระวังอีกหลายอย่าง

อันตรายที่พบได้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ คือ พิษต่อตับ จากการสำรวจพบว่า พาราเซตามอลเป็นตัวการทำให้ตับวายได้บ่อยกว่ายาแก้โรคเบาหวานตัวใหม่ชื่อ เรซูลิน ที่ถูกห้ามใช้ไปแล้วด้วยซ้ำไป

ดร.วิลเลียม ลี แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัสเซาท์เวสเทิร์น ติดตามศึกษาผู้ป่วย ด้วยโรคตับวายเฉียบพลันจำนวนกว่า 300 ราย ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 22 แห่ง พบว่ามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับพาราเซตามอลถึง 38% เปรียบเทียบกับที่เกิดจากยาอื่นที่มีเพียง 18% นอกจากนั้นในการสำรวจกลุ่มผู้ป่วยผู้ใหญ่อีก 307 ราย ที่มีอาการตับอย่างร้ายแรงในโรงพยาบาล อีก 6 แห่ง ก็พบว่ามีพาราเซตามอลเป็นตัวการร่วม 35% ดร.ลี กล่าวว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะล้วนแต่เป็นกรณีที่อาจป้องกันได้

ดร.ลี มิได้หยุดแค่นั้น เขาได้สอบถามไปทางประเทศอังกฤษ ถึงอันตรายจากพาราเซตามอล ที่ตรวจพบ ก็ได้ทราบว่าที่นั่นผู้คนที่พยายามฆ่าตัวตายโดยใช้พาราเซตามอลมีมากจนน่า ตกใจ จนทางการสาธารณสุขต้องจำกัดการซื้อยาตัวนี้ แต่ละครั้งมิให้มากเกินจำนวนที่กำหนด

การใช้พาราเซตามอลเกินขนาดจนถึงขีดอันตราย ส่วนมากเกิดโดยไม่ตั้งใจ เมื่อแรกออกสู่ตลาด พาราเซตามอลชนิดเม็ดมี 2 ขนาด คือ 325 มก. ก็ไม่เท่าไหร่ ถ้าเป็นขนาด 500 มก. กินเป็นครั้งคราววันละไม่เกิน 8 เม็ด เพียงวันสองวันก็ยังพอไหว แต่ถ้ากินเป็นเวลายาวนานก็จะเกิดอันตรายโดยเฉพาะต่อตับ

สาเหตุที่ทำให้ได้ยาเกินขนาดอีกอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นเนื่องจากพาราเซตามอล มีอยู่ในยาผสมหลายอย่าง เช่น ยาแก้หวัดและยาคลายกล้ามเนื้อ บางคนกินยาแก้หวัดแล้ว อาการหายไม่ทันใจ หรือยังปวดเมื่อยมาก เลยซื้อพาราเซตามอลมากินเพิ่ม จึงได้รับยาเกินขนาด โดยไม่รู้ตัว ครั้งสองครั้งพอทำเนา บ่อยนักก็ไม่ไหว

การเอาพาราเซตามอลต่างชนิดผสมกันก็อาจเกิดอันตรายได้ พาราเซตามอลมีหลายรูปแบบ มีความเข้มข้นของยาต่างกัน เช่น ชนิดไซรัปหรือน้ำเชื่อมสำหรับเด็ก ขนาดกินเป็นขนาดช้อนชา และชนิดหยดสำหรับทารก กินกันแค่หยดๆ บางคนเอาทั้งแบบน้ำเชื่อมและชนิดผสมกันแล้ว ตวงให้เด็กกินเป็นช้อนชา ถ้าเป็นทารกก็จะได้ยาเกินขนาด

เรื่องที่ควรระวังอีกเรื่องหนึ่ง คือ กินพาราเซตามอลควบกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น ไวน์หรือเหล้าผสม เพราะสุราเมื่อรวมกับพาราเซตามอลจะเป็นอันตรายต่อตับรุนแรงขึ้น กองควบคุมอาหารและยาของสหรัฐออกกฎบังคับให้ติดคำเตือนไว้ที่ฉลากยาพาราเซตา มอล ห้ามกินร่วมกับเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เพราะมีคดีความที่ชาวเวอร์จิเนียผู้หนึ่งฟ้องร้องต่อศาลว่า หลังจากกินพาราเซตามอลยี่ห้อหนึ่งไม่เกินขนาดที่กำหนดพร้อมกับดื่มเหล้าไวน์ อย่างที่เคยดื่ม เป็นอาจิณหลังอาหารแล้ว เลยเกิดอาการทางตับอย่างรุนแรง ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลปลูกเปลี่ยนตับ ศาลพิพากษาให้ทางบริษัทผู้ผลิตยาแพ้คดี ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ถึง 8 ล้านดอลล่าร์ (ร่วม 400 ล้านบาท)

ผู้ปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหลายรายต้องการให้ติดป้ายเตือนถึง เรื่องพิษของพาราเซตามอลต่อตับให้เห็นได้ชัดเจน พวกเขามีความเห็นว่าผู้บริโภคส่วนมาก ไม่ค่อยคำนึงว่า การกินยาตัวนี้เกินขนาดเป็นไปได้โดยง่ายจากความพลั้งเผลอ บางคนกินติดต่อกันนานวันเกินไป บ้างก็กินยาขณะท้องว่าง หรือซื้อมาเพิ่มเสริมฤทธิ์ยาอื่น ที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งคือ บางคนมีความไวต่อยาสูง กินเพียงไม่มากก็มีผลร้ายต่อตับได้

พาราเซตามอล เป็นยาที่ติดอันดับขายดีและซื้อได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ในสหรัฐอเมริกาเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไทลินอล ซึ่งเป็นชื่อการค้าของพาราเซตามอลผลิตโดย บริษัทยาในสหรัฐติดตลาดมากจนมีคนจิตทรามเอายาพิษ (ดูเหมือนจะเป็นสตรี๊กนิน) ผสมเม็ดยาใส่ปนลงไป ผู้คนกินไทลินอลหลายคนเกิดอาการเป็นพิษ บางคนถึงแก่ชีวิต บริษัทผู้ผลิตต้องเก็บยาออกจากตลาดจนหมด แล้วทำภาชนะบรรจุแบบใหม่ที่ปลอดภัย และแน่ใจว่าไม่มีผู้ใดแตะต้องเม็ดยาได้จนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคหลายราย ก็กลัวยาตัวนี้ไปแล้ว ทำความเสียหายแก่บริษัทผู้ผลิตอย่างมหาศาล

ยาทุกชนิดเปรียบเสมือนมีดสองคม มีคุณอนันต์ แต่ก็อาจมีโทษมหันต์
ถ้าใช้ผิดวิธีหรือไม่ระวังรอบคอบในการใช้

ขอบคุณ ข้อมูลจาก sanook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ