วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

12 วิธีวางแผนใช้เงินอย่างฉลาด....


12 วิธีวางแผนใช้เงินอย่างฉลาด....


ราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด สินค้าอุปโภคบริโภคก็พากันขึ้นราคา ภาวะแบบนี้ไม่ว่ามนุษย์เงินเดือน พ่อค้า-แม่ขาย หรือนักธุรกิจรายใหญ่ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนการเงินให้รอบคอบ ทั้งการใช้เงินในชีวิตประจำวัน การลงทุน และการเก็บออม จึงอยากให้ข้อคิดแนะนำ “12 วิธีสู่การวางแผนรวยตลอดปี” เพื่อให้คนไทยได้นำไปใช้และปฏิบัติ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่พอเพียง ...


1.การวางแผนการ เงิน

การวางแผนการเงิน ถือเป็นข้อพึงปฏิบัติแรกที่ทุกคนจะต้องทำ ทั้งวางแผนการเงินของตัวเองและครอบครัวให้เหมาะสม ซึ่งเชื่อมโยงถึงรายได้ รายจ่าย การออม การลงทุน ภาษี การจัดการ หนี้สิน และการเตรียมตัวป้องกันความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยขั้นตอนการวางแผน ประกอบด้วย

1) การสำรวจตัวเอง เพื่อให้รู้จักอุปนิสัยทางการเงิน รู้เงื่อนไขข้อจำกัดของตนเอง เพื่อจะได้นำมาปรับใช้ในการวางแผนทางการเงิน

2) กำหนดเป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการ และระยะเวลาโดยแบ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว (5, 15, 20 ปี) และเป้าหมายระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี)

3) จัดสัดส่วนการใช้เงินให้เหมาะสม ควรกันเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อน แล้วนำเงินที่เหลือมาออมหรือลงทุนด้วยวิธีต่างๆ โดยคะเนว่า จะได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับเงินที่ต้องการ

4) ลองนำแผนมาปฏิบัติ ถ้าตัวเลขที่วางไว้ยังห่างไกล ให้ปรับแผนเสียใหม่ เช่น ตัดค่าใช้จ่าย หรือลดเงินเป้าหมาย

2.จัดงบดุลคุม ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

แผนการเงินจะสำเร็จไปไม่ได้ หากขาดการจัดงบประมาณหรืองบดุล ซึ่งเป็นตัวช่วยควบคุมการใช้เงินไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เริ่มจาก

1) รวมตัวเลขรายได้ ของคุณทั้งหมด เช่น เงินเดือน ค่าจ้างพิเศษ ค่าเช่า ค่าโอที ฯลฯ

2) รวบรวมและจดบันทึกรายจ่าย โดยหมั่นรวบรวมและจดบันทึกรายจ่ายว่าแต่ละเดือนคุณจ่ายเงินไปกับเรื่องใด บ้าง

3) คาดคะเนรายจ่ายในอนาคต โดยปกติจะดูจากรายจ่ายปัจจุบันที่เรารวบรวมมาเป็นพื้นฐาน แล้วบวกอัตราเงินเฟ้อเข้าไป

4) ทำสรุปงบประมาณ แล้วตั้งงบดุลเงินสด โดยทำตารางแบ่งช่องรายรับ-รายจ่าย แล้วแบ่งระยะเวลาเป็นช่วงๆ เช่น ต่อสัปดาห์ ต่อเดือน ต่อปี รวมยอดของทั้งรายรับและรายจ่าย แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน หากผลรายรับมากกว่า แสดงว่า ควบคุมค่าใช้จ่ายสำเร็จ ถ้าติดลบ ให้กลับมาดูที่รายจ่ายว่าจะตัดส่วนใดออกไปได้

5) ติดตามการใช้จ่ายและปรับปรุงงบประมาณ

3.ออมเพลิน เมินจน

การเก็บออมควรแยกบัญชีเงินฝากเป็น 3 บัญชี ได้แก่ บัญชีใช้จ่ายเผื่อฉุกเฉิน บัญชีเงินออม และบัญชีเพื่อการลงทุน ซึ่งเคล็ดลับการออมนั้น มี 2 วิธี ได้แก่

ออมแบบลบสิบ โดยหักเงิน 10% ของรายได้ทุกเดือนมาเป็นเงินออม วิธีเหมาะกับคนที่มีวินัยในการออม

ส่วนวิธีที่ 2 คือ ออมแบบเพิ่มสิบ สำหรับคนที่ชอบซื้อ เมื่อซื้อของสิ่งใดก็ตามให้เพิ่มเงินอีก 10% ของมูลค่ามาเป็นเงินออม

4.บริหารหนี้ หนีกับดักทางการเงิน

การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ซึ่งหนี้นั้น มีทั้ง “หนี้ดี” และ “หนี้ฟุ่มเฟือย” ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์ของการก่อหนี้ สำหรับหนี้ดี คือ หนี้ที่นำไปซื้อสิ่งของจำเป็น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ เช่น บ้าน การศึกษาของลูก ส่วนหนี้ฟุ่มเฟือย คือ หนี้ที่เกิดจากเรื่องที่ไม่จำเป็น สุรุ่ยสุร่าย เช่น กู้เงินเพื่อซื้อฮาร์เลย์ไว้อวดสาว ทั้งนี้วิธีการที่ดีที่สุดในการลดหนี้ คือ พยายามใส่เงินจำนวนมากที่สุดโดยไม่กระทบกับรายจ่ายประจำที่จำเป็นเพื่อชำระ หนี้สินที่ถูกคิดดอกเบี้ยแพงที่สุด เช่น บัตรเครดิต และหนี้นอกระบบ


5.วางแผน ประหยัดภาษี

วิธีง่ายๆ คือ สรรหาค่าลดหย่อน ประกอบด้วย ดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน เงินบริจาค ค่าเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงดูบิดา-มารดาที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เบี้ยประกันชีวิต และเงินลงทุนในกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือเพื่อสนับสนุนการออม และหากคุณรับงานนอก ควรวางแผนให้ดีว่า จะรับเงินเพื่อคำนวณเป็นเงินเดือน (ภงด.91) หรือรับเป็นงานเหมา ซึ่งต้องไปเสียภาษีเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจทั่วไป (ภงด.90) ลองคำนวณดูว่าวิธีการเสียภาษีแบบใดจะประหยัดเงินคุณมากกว่า


6.ก่อนจูงมือไป แต่งงาน

คู่สมรสควรวางแผนอนาคตทางการเงินระยะยาวถึง 10 ปี และให้จัดแยกเงินออกเป็นหลายๆ บัญชี ตามวัตถุประสงค์ของการใช้เงินแต่ละประเภท จากผลการสำรวจพบว่า งานแต่งงานต้องใช้เงินถึงหลักแสนทีเดียว ค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ ค่าจัดเลี้ยงในโรงแรม ค่าของชำร่วย ค่าการ์ดเชิญ และค่าถ่ายภาพคู่ในสตูดิโอ ทั้งนี้มีเคล็ดลับในการประหยัดค่าใช้จ่ายแต่งงาน ดังนี้

1) แต่งงานตอนกลางวัน โรงแรมส่วนใหญ่จะคิดราคาในการจัดเลี้ยงได้ถูกลง

2) แบ่งปันข้าวของกับคู่บ่าวสาวรายอื่น

3) ลดขนาดเค้กแต่งงานเหลือแค่ 2 ชั้นพอ

4) พยายามตกแต่งบรรยากาศในงานด้วยใบไม้และใช้ดอกไม้ให้น้อยลง

5) เลือกชุดแต่งงานเรียบง่าย หรือเช่าชุดแต่งงานเพื่อประหยัดงบ และ

6) คำนวณจำนวนแขกให้พอเหมาะพอดี

7.แผนการเงิน เพื่อซื้อรถยนต์

ค่าใช้จ่ายในการซื้อรถ ไม่ควรเกินอัตรา 15% ของรายได้ครอบครัว เพื่อไม่ให้เกิดภาระผ่อนส่งเกินตัว เมื่อคิดซื้อรถให้เลือกรถที่พอคุ้มค่ากับการใช้งาน ถ้าคุณวางแผนที่จะกู้เงินซื้อรถ ควรเลือกธนาคารหรือไฟแนนซ์ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือเงื่อนไขที่ดีกว่า สูตรการคิดอัตราดอกเบี้ย ระหว่างธนาคารและบริษัทไฟแนนซ์จะแตกต่างกัน โดยธนาคารจะคิดแบบ “ลดต้นลดดอก” ในขณะที่ไฟแนนซ์จะคิดแบบ “ดอกเบี้ยรวมเงินต้น” ซึ่งมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ทางที่ดีควรคุยกับทั้ง 2 ฝ่าย แล้วเปรียบเทียบว่าตัวเองเหมาะกับสิ่งใด

8.แผนการเงิน เพื่อซื้อบ้าน

ควรประเมินกำลังซื้อก่อนจะซื้อบ้าน ราคาบ้านที่จะซื้อไม่ควรเกิน 30 เท่าของรายได้ต่อเดือนของครอบครัว และค่าใช้จ่ายในการผ่อนบ้านรายเดือนก็ไม่ควรเกิน 25-30% ของรายได้ต่อเดือน หลักสำคัญในการขอสินเชื่อบ้าน คือ “เลือกโครงการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด กู้เงินให้น้อยที่สุด และผ่อนชำระให้เร็วที่สุด” โดยต้องมั่นใจว่ามีเงินสดมากพอที่จะวางดาวน์ เพราะโดยทั่วไป โครงการบ้านจัดสรรมักจะให้ผู้ซื้อจ่ายเงินดาวน์ซื้อบ้านประมาณ 20% และสามารถกู้ได้แค่ 80% ของราคาบ้าน

9.แผนการเงิน เพื่อเจ้าตัวน้อย

จากการสำรวจค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการคลอดบุตรขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ 38,500 บาท และค่าเลี้ยงดูบุตรต่อเดือนอีกประมาณ 3 พันบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวนี้สามารถจัดการได้ 2 ทางคือ

1) พอเริ่มตั้งครรภ์ก็เริ่มเก็บเงิน และบริหารเงินให้ดี โดยลองคิดดูว่าคุณต้องมีค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรเท่าใด แล้วคำนวณว่าคุณต้องเก็บเงินต่อเดือนเท่าใด จึงจะได้ตามยอดเงินที่ตั้งไว้

2) เป็นการใช้เงินอนาคตสำหรับการคลอดลูก เช่น รูดบัตรเครดิต หรือกู้เงินสด แล้วค่อยๆ ทยอยจ่ายหลังจากคลอดแล้ว แต่วิธีนี้คุณจะต้องชำระเงินมากขึ้น เนื่องจากดอกเบี้ยจากบัตรเครดิตหรือเงินกู้นั่นเอง

10.แผนการเงิน เพื่อการศึกษาลูก

ในการคำนวณหาค่าเล่าเรียนต้องคิดจากค่าเงินในปัจจุบันและอนาคตโดยให้รวมค่า อัตราการเพิ่มของค่าเทอมหรือเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปี (ประมาณ 5%) เข้าไปด้วย จากนั้นให้วางแผนว่าจะทำอย่างไรให้ได้เงินตามเป้าหมายดังกล่าว วิธีการคือ ถามตัวเองก่อนว่าต้องการเก็บเงินเป็นรายเดือนหรือรายปี แล้วจึงนำไปลงทุนต่อเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้น หรือเพื่อให้ได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ ต่อมาจึงมาหาตัวเลขเงินทุนในแต่ละปีว่าเป็นจำนวนเท่าใด เพื่อให้ได้จำนวนเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

11.แผนการเงิน ยามเกษียณ

ก่อนอื่น คุณต้องถามตัวเองก่อนว่าจะเกษียณตอนอายุเท่าไร และถึงเวลานั้นอยากมีเงินเดือนใช้เดือนละเท่าไร สำหรับคนทำงานกินเงินเดือน แนะนำให้คุณประมาณการเงินเดือนสุดท้าย ณ วันที่จะเกษียณอายุแล้วหารด้วย 2 ตัวเลขนั้นจะเป็นค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยที่คุณต้องใช้หลังเกษียณ ในการดูว่าเงินออมก้อนที่มีในปัจจุบันพอเพียงสำหรับการดำรงชีพในอนาคตหรือ ไม่ ให้คุณคำนวณเงินที่คุณควรมีเมื่อตอนเกษียณ โดยเอา 1 หาร 10 คูณอายุปัจจุบันและคูณรายได้ทั้งปี หากคุณมีเงินออมน้อยกว่าที่คำนวณได้ คุณควรต้องเก็บเงินในสัดส่วนที่มากขึ้นจึงจะพอใช้จ่ายในอนาคต

12.การลงทุนและ การจัดสำหรับลงทุน

ก่อนที่คุณจะลงทุน คุณควรคำนวณเสียก่อนว่า คุณได้แบ่งเงินไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน และกันไว้สำหรับสร้างหลักประกันเรียบร้อยแล้ว เงินที่เหลือจะเป็นเงินที่คุณนำมาลงทุนได้ ซึ่งประเภทของการลงทุน มีตั้งแต่ หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม และเงินฝาก เหล่านี้ผู้ลงทุนจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด


ทั้ง หมดนี้เป็นวิธีบริหารเงินที่จะทำให้ทุกคนมีกินมีใช้แบบไม่จน ตลอดปีและตลอดไป

ขอบคุณที่มาข้อมูล bloggang.com:rungsoda

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ