"โม่ตาลา " กับชะตากรรมช้าง 9 เชือก
ใน วันที่เรามีหมวยน้อย "หลินปิง" และทุ่มความสนใจให้แก่ครอบครัวแพนด้า ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมอดตระหนักไม่ได้ว่า เรากำลังละทิ้ง "ช้าง" สัตว์ประจำชาติที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน เหมือนกับครั้งหนึ่งที่เราหันไปกินแฮมเบอร์เกอร์แล้วปล่อยให้ต้มยำกุ้งบูด เน่าอยู่ในชาม แม้ในความเป็นจริงจะโหดร้ายน้อยกว่าก็ตาม
ทั้งนี้ข้อมูลจากมูลนิธิเพื่อน ช้าง อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง พบว่าในแต่ละปีหน่วยเฉพาะกิจต้องออกไปช่วยเหลือช้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือ เจ็บป่วยมากถึง 200-300 เชือก โดยปีที่ผ่านมาออกไปช่วยเหลือช้างเฉลี่ยวันละ 1 เชือก ยังไม่รวมช้างป่วยหนักที่ต้องเข้ามารักษาตัวในโรงพยาบาลช้างกว่า 60 เชือกต่อปี โดยโรคที่เกิดกับช้าง 80 เปอร์เซ็นต์ เกิดจากการกระทำของมนุษย์
นสพ.ปรีชา พวงคำ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ มูลนิธิเพื่อนช้าง อธิบายว่า ช้างยังคงถูกทรมานจากมนุษย์ ด้วยการนำไปเร่ร่อนหากินในพื้นที่เมือง แล้วถูกรถชน ตกท่อระบายน้ำ หรือตกมันอาละวาดทำร้ายผู้คน เป็นต้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนมือของผู้เป็นเจ้าของ เมื่อก่อนช้างจะกระจายอยู่ในความดูแลของคนหมู่มาก ครอบครัวหนึ่งจะมีช้างในกรรมสิทธิ์ 2-3 เชือก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปอยู่ในมือกลุ่มนายทุน แล้วให้เช่ารายเดือน พาออกหากินตามเมืองใหญ่ ตามปางช้าง หรือชักลากไม้ในป่าตามแนวชายแดน
จาก เดิมช้างเยอะเจ้าของมากเปลี่ยนเป็นช้างมากเจ้าของน้อยเลยมีปัญหาเกิดขึ้น เพราะนายทุนส่วนใหญ่ไม่ได้รักช้าง ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องช้าง คิดเพียงอย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ประกอบกับควาญช้างส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่คนไทย แต่จะว่าจ้างชาวพม่ามาทำหน้าที่แทน เมื่อไม่ใช่เจ้าของช้างเลยไม่มีความรักความผูกพัน จึงมักจะเห็นภาพช้างถูกทำร้าย บังคับให้ทำงานอยู่ตลอดเวลา
"ช้างตกมันเพราะอากาศร้อนอบอ้าว ตาเจ็บจากแสงแดด เพราะช้างจะไม่หลับตา ควาญช้างเอาสะดวกเข้าว่าเก็บหญ้าริมทางให้ จึงมีสารพิษตกค้างในร่างกาย เกิดจากสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงที่ชาวเขาใช้ฉีดพืชไร่ แล้วไหลมารวมกันที่เชิงเขา เวลากินเข้าไปจะทำให้ท้องอืด กินอาหารไม่ได้ หรือเจ็บหลังเพราะให้บริการนักท่องเที่ยวจำนวนมากในฤดูท่องเที่ยว"
ปัจจุบันราคาซื้อขายลูกช้างไทยจะ อยู่ที่ 5-6 แสนบาท ถ้าเป็นลูกช้างป่าจากประเทศเพื่อนบ้านจะถูกกว่าแค่ 1 แสนบาทเท่านั้น ส่วนค่าเช่าช้างรายเดือนตกอยู่ที่ 8,000 บาท นสพ.ปรีชาเปรียบเทียบว่าหากมีช้าง 10 เชือก หนึ่งเดือนจะมีเงินเข้ากระเป๋านายทุน 8 หมื่นบาท ไม่กี่ปีก็คุ้มทุน เพราะช้างจะมีอายุใช้งานได้ราวๆ 60 ปี ส่วนผู้ที่นำช้างมาเร่ร่อนจะมีรายได้จากการขายอ้อย กล้วย ตกเดือนละประมาณ 4 หมื่นบาท หักค่าเช่าและค่าอาหารที่ขาย 1 หมื่นบาท แล้วยังเหลือพอแบ่งให้ทีมงาน 5 คนสบายๆ ได้แก่ ควาญบนหลังช้าง คนขายอ้อย 2 คน และคนหั่นอ้อยอีก 2 คน โดยจุดที่คนกลุ่มนี้ต้องการเข้าไปหากินมากที่สุดคือ พัทยาและพัฒนพงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ มูลนิธิเพื่อนช้าง อธิบายว่า นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังมีหญิงบริการจำนวนมาก ซึ่งลึกๆ ในใจมีความเชื่อว่าชาตินี้มีกรรม ต้องทำบุญกับสัตว์ใหญ่ เผื่อชาติหน้าเกิดมาจะได้ไม่ลำบาก
สำหรับ การแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนนั้น นสพ.ปรีชา แนะนำให้แก้ที่กฎหมายเกี่ยวกับผู้ครอบครองช้างว่าเป็นใคร มีความรู้ หรือจะเอาช้างไปใช้ประโยชน์อย่างไร ดีกว่าการไล่ช้างออกนอกเมืองซึ่งเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ เมื่อมีกฎหมายแล้วก็บังคับใช้ให้มีความศักดิ์สิทธิ์ ดูได้จากเมื่อ 10 ปีก่อน จ.สุรินทร์ มีช้างจดทะเบียน 600 เชือก แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวหมายความว่าอย่างไร การระดมทุนซื้อช้างเร่ร่อนไปปลดปล่อยไม่ได้ผล เพราะเงินที่เราซื้อเขาไปจะกลายเป็นเงินก้อนใหม่ เพื่อไปซื้อช้างเชือกใหม่กลับมาในวงจรเดิมๆ
...นอกจากโรงพยาบาลช้างจะออกไปให้การ รักษาช้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยนอกสถานที่แล้ว ยังมีช้างที่บาดเจ็บรุนแรงและอาการสาหัสมากรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลด้วย โดยมีทั้งสิ้น 9 เชือก และหนึ่งในนั้นคือ "พังโม่ตาลา" ที่คนไทยล้วนคุ้นหน้าคุ้นชื่อกันเป็นอย่างดี !?!
เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2542 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน โม่ตาลาประสบอุบัติเหตุเหยียบกับระเบิดจนขาหน้าซ้ายขาดรุ่งริ่ง จึงถูกนำตัวมารักษาที่โรงพยาบาลช้าง ล่าสุดมูลนิธิขาเทียมแห่งประเทศไทยในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้จัดทำขาเทียมให้พังโม่ตาลา โดยใช้นวัตกรรมใหม่ทำตากถุงเม็ดโฟมขึ้นรูปเบ้าขา แล้วนำมาหล่อขึ้นรูปด้วยปูนปลาสเตอร์ ก่อนจะตกแต่งให้ได้ขนาด ภายในหุ้มด้วยพลาสติกนิ่ม ส่วนชั้นนอกหุ้มด้วยพลาสติกแข็ง มีเข็มขัดล็อกให้แน่นกระชับกับขา ถือเป็นการใส่ขาเทียมให้ช้างครั้งแรกของโลก
ทุกๆ วันระหว่างเวลาห้าโมงเช้าถึงบ่ายโมง เจ้าหน้าที่และควาญช้างจะนำขาเทียมมาใส่ให้พังโม่ตาลา เพื่อให้ได้เรียนรู้และคุ้นเคยจะได้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ถึงแม้จะมีการเตรียมพร้อมรองรับการใส่ขาเทียมมานานกว่า 2 ปี ทว่าพังโม่ตาลาก็ยังไม่สามารถใช้ขาเทียมได้อย่างสมดุล โดยไม่สามารถทิ้งน้ำหนักลงบนขาหน้าซ้ายได้อย่างเต็มที่ จึงต้องถ่ายน้ำหนักไปอยู่ที่ขาหลังทั้งสองข้าง จนก้นห้อยระพื้นแล้วใช้งวงดันพื้นด้านหน้า ก่อนจะก้าวเท้าขวาดูเหมือนกระเถิบไปมากกว่าเดิน เพียงระยะไม่กี่เมตรโม่ตาลาต้องเสียเวลาไปกับการเดินค่อนข้างมาก หรืออาจเป็นชั่วโมงกว่าจะถึงจุดหมาย หลายครั้งเหนื่อยจนต้องหยุดพัก โดยใช้งวงดันกับเสาโรงเรือน แล้วยกขาหน้าขึ้น ทำเอาคนที่เห็นถึงกับน้ำตาซึมด้วยความสงสาร
"พัง โม่ตาลายังไม่สามารถลงน้ำหนักข้างที่ใส่ขาเทียมได้ เขาไม่คุ้นเคย เหมือนคนเราไม่เคยใส่รองเท้าผ้าใบมาก่อน แล้วต้องมาใส่จึงต้องปรับตัว ขณะนี้ทีมสัตวแพทย์กำลังทำขาเทียมให้พังโม่ชะลูกช้างที่ขาขาดเหมือนกัน ซึ่งถือเป็นเชือกที่ 2 ของโลก ล่าสุดมีมูลนิธิช้างในกัมพูชาและอินเดียติดต่อเข้ามา ให้เราใส่ขาเทียมให้ประเทศเขาที่ประสบปัญหาเดียวกัน" นสพ.ปรีชา กล่าว
จะ ว่าสถานการณ์ช้างไทยย่ำแย่ลงก็คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ก็ไม่กระเตื้องขึ้นเลยทั้งที่ปัญหาที่พบในวันนี้กับเมื่อวันวานแทบจะไม่ ต่างกันเลย ดังนั้นคงต้องหันมาทบทวนแล้วว่าเราอันหมายถึงคนไทย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับช้างในระดับไหน เฉยๆ รับฟังผ่านๆ หรือถึงขั้นสนใจใคร่รู้และลงมือทำ อนาคตของช้างไทยอยู่ในมือของทุกคน ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง ?!?
เรื่อง : บัก หุ่งซ่ำจ๊อย
ภาพ : วัชร ชัย คล้ายพงษ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ