ผวา โรคกิแลงแบเร ... ผลข้างเคียง วัคซีนหวัด
ผวาโรค กิแลงแบเร ผลข้างเคียง วัคซีนหวัดใหญ่ 2009 (คมชัดลึก)
สืบเนื่องจากปลายเดือนพฤศจิกายน 2552 มีรายงานข่าวไปทั่วโลกเกี่ยวกับบริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ขอให้แพทย์ในแคนาดาหยุดฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ของบริษัทชุดหนึ่ง ที่มีอยู่ประมาณ 1.7 แสนชุด หลังพบอาการข้างเคียงรุนแรงในคนไข้ 6 ราย บางคนหายใจติดขัด หัวใจเต้นเร็ว และ เป็นผื่นตามผิวหนัง เช่นเดียวกับในประเทศจีน ที่พบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย หลังฉีดวัคซีนของรัฐบาลจีน แม้รัฐบาลจีนจะออกมายืนยันว่าไม่เกี่ยวกันก็ตาม
การฉีดวัคซีนทุกชนิดมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงได้...แต่ที่ควรระวังคือกระบวน การผลิตวัคซีนต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย เนื่องจาก 30 กว่าปีที่แล้วมีบทเรียนจากอเมริกา ซึ่งรีบร้อนผลิตวัคซีนไข้หวัดหมู (Swine flu) เมื่อปี 2519 แล้วฉีดให้ชาวอเมริกันทันที ปรากฏว่า รัฐบาลอเมริกาถูกประชาชน 1,571 ราย เรียกร้องค่าเสียหายถึง 3.5 หมื่นล้านบาท เพราะชาวบ้าน 33 คนเสียชีวิต และ อีก 500 คนป่วยเป็นอัมพาต จากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ "โรคกิแลงแบเร" (Gullain-Barre Syndrome) ที่ยืนยันชัดเจนว่าเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนตัวนี้
โรคกิแลงแบเร หรือเรียกย่อว่า "GBS" เป็นโรคที่เกี่ยวกับเส้นประสาทส่วนปลายทำงานผิดปกติ สาเหตุเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลาย เมื่อเส้นประสาททำงานผิดปกติ ร่างกายเกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง อวัยวะแขนขาจะรู้สึกชา หรือเดินเซ ฯลฯ จนถึงวันนี้บริษัทผู้ผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญทั่วโลกก็ยังไม่พบเหตุผลที่ชัด แจ้งว่า ทำไมจึงเกิดอาการของโรคกิแลงแบเรขึ้นมาได้
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข ยอมรับว่า หลังฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่สั่งซื้อมาจากฝรั่งเศสในกลุ่มเสี่ยงไปประมาณ 3 หมื่นกว่าคน ได้รับรายงานผู้เกิดอาการข้างเคียงแล้ว 12 ราย อาการหนัก 4 ราย รายที่ 1 มีอาการไตวาย รายที่ 2 คลอดบุตรแล้วบุตรเสียชีวิต รายที่ 3 มีอาการหน้าเบี้ยว และรายที่ 4 เกิดภาวะหายใจติดขัด จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า 3 รายแรกอาจไม่เกี่ยวกับวัคซีน แต่รายที่ 4 เป็นอาการข้างเคียงปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น จึงขอให้แพทย์ทุกโรงพยาบาลตรวจสุขภาพผู้ต้องการฉีดก่อน หากไม่มีสิ่งผิดปกติจึงค่อยฉีดวัคซีน และให้พักที่โรงพยาบาล 30 นาที เพื่อดูภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นก่อนอนุญาตให้กลับบ้าน
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ หนึ่งในคณะทำงาน "ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ 2009" วิเคราะห์ให้ฟังว่า รายที่มีอาการไตวายถือเป็นโรคเจ็บป่วยดั้งเดิมของคนไข้อยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับวัคซีนที่ฉีดเข้าไป ส่วนผู้ที่คลอดบุตรแล้วบุตรเสียชีวิตก็เป็นปัญหาการคลอดบุตรของคนไข้ ไม่เกี่ยวกับวัคซีนเช่นกัน แต่ที่ยืนยันว่าเป็นผลข้างเคียงหรือไซด์เอฟเฟคของวัคซีนตัวนี้ คือ ผู้ที่มีอาการหายใจติดขัด ที่เกิดอาการหลังฉีดวัคซีนได้เพียง 30 นาที ซึ่งทีมแพทย์ช่วยรักษาเยียวยาจนอาการดีขึ้นเรียบร้อยแล้ว
"อาการฉีดแล้วหายใจติดขัดถือเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ในผู้ฉีดวัคซีนประมาณ 1 ต่อแสนคน ไม่ใช่อาการที่ร้ายแรงอะไร บางคนก็เป็นผื่นคันแดง สักพักก็จะหายไป แต่รายที่น่าเป็นห่วงคือ คนไข้ที่หน้าเบี้ยวหลังฉีดวัคซีนได้เพียง 4 ชั่วโมง ขอยืนยันว่าไม่ใช่โรคกิแลงแบเรอย่างแน่นอน เพราะอาการข้างเคียงของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะไม่เกิดรวดเร็วภายในไม่กี่ชั่วโมง ตอนนี้ตรวจสอบได้แล้วว่าคนไข้มีอาการของโรคหน้าเบี้ยว หรือที่เรียกว่าเบลล์พัลซี่ (Bell's palsy) หรือมีอาการอักเสบที่เส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ตอนนี้อยู่ในการดูแลรักษาของแพทย์แล้ว"
นพ.คำนวณ กล่าวถึงผลการทำงานที่ผ่านมาว่า รัฐบาลตั้งเป้าให้ฉีดวัคซีนในคนไทยกลุ่มเสี่ยง 2 ล้านคน ปรากฏว่า มารับการฉีดเพียง 3 หมื่นกว่าคน เนื่องจาก
1.คนไทยเริ่มรู้สึกว่าการระบาดของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จบลงแล้วหรือไม่อันตรายอีกต่อไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาฉีดวัคซีนก็ได้
2.มีความกังวลว่าวัคซีนที่ฉีดให้จะไม่ปลอดภัย เพราะได้ยินข่าวตามสื่อมวลชนว่า หลายประเทศส่งวัคซีนคืนให้บริษัทผู้ผลิต จึงขอยืนยันอีกครั้งว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังระบาดในเมืองไทย ถือเป็นการระบาดระลอก 2
ดังนั้น กลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อควรมาฉีด ส่วนเรื่องความปลอดภัยของวัคซีนนั้นไม่ควรเป็นกังวล เพราะมีเพียงอเมริกาและแคนาดาที่ส่งวัคซีนคืนให้บริษัทผู้ผลิต สาเหตุที่ส่งคืนก็เพราะจำนวนเชื้อในวัคซีนต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด ไม่ได้เกิดจากผลข้างเคียงของโรคกิแลงแบเรหรือโรคอื่นๆ
ด้าน ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ที่ปรึกษางานวิจัยวัคซีนไข้หวัดข้ามสายพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายเพิ่มเติมว่า อาการข้างเคียงของการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่มี 3 ระดับ คือ
1. มีอาการเจ็บคัน บวมแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีน บางรายมีไข้ต่ำหรืออาเจียน ใช้เวลาประมาณ 1-2 วันร่างกายจะกลับเป็นปกติ
2. ผู้ที่ฉีดวัคซีนเข้าไปสักระยะแล้วมีอาการคล้ายผู้ป่วยหอบหืด คือ หายใจติดขัด เพราะหลอดลมบีบตัว บางรายดูอาการสักพักก็หาย บางรายต้องฉีดยาขยายหลอดลม ส่วนระดับสุดท้ายเป็นระดับที่รุนแรง คือ ผู้ฉีดมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือที่เรียกว่าโรคกิแลงแบเร ต้องใช้วิธีทำกายภาพบำบัดเพื่อรักษา
"วัคซีนทุกชนิดมีโอกาสทำให้ร่างกายแพ้หรือเกิดผลข้างเคียงได้ และผู้ที่ฉีดวัคซีนเข้าไปก็ไม่ได้ยืนยันว่า ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันทุกคน มีการรับรองผลเพียงร้อยละ 90 เท่านั้น หมายความว่าฉีด 100 คน จะมีประมาณ 10 คนที่วัคซีนไม่ได้ผล ที่ผ่านมาเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ตัวนี้ทำให้คนเสียชีวิตมาก และไม่เคยมีวัคซีนมาก่อน การฉีดในคนทั่วโลกถือเป็นการทดลองของวงการแพทย์ครั้งใหญ่ วัคซีนที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของเมืองไทยก็น่าจะปลอดภัยในระดับหนึ่ง อาจพบคนเกิดอาการข้างเคียงบ้าง เพราะฉะนั้นแต่ละคนต้องใช้วิจารณญาณเองว่าอยากฉีดหรือไม่ มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน" ศ.ดร.วันเพ็ญ กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท ซาโนฟี่ ปาสเตอร์ จำกัด ที่ขายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 2 ล้านโดส โดสละประมาณ 200 บาทให้แก่รัฐบาลไทย ได้ระบุรายละเอียดในสัญญาสั่งซื้อ ว่า บริษัทจะไม่รับผิดชอบกรณีที่เกิดผลข้างเคียงในการใช้วัคซีนนี้
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ