ไฮเทคมาก ๆ ระวังป่วยนะจ๊ะ (Lisa)อย่า มัวแต่เล่นเกมปลูกผักใน Facebook หรือเสิร์ชหาข้อมูลใน Google แถมยังแซวเพื่อนคนนั้นคนนี้ใน Twitter เผลอ ๆ แอบส่งเมสเซจผ่าน BlackBerry จนวัน ๆ แทบไม่ทำอะไร เพราะไลฟ์สไตล์แสนไฮเทคแบบนี้อาจจูงโรคเข้ามาหาเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ สาว Twitter ตัวยงเห็นจะมีตั้งแต่คู่รักอย่าง เดมี่ มัวร์ และ แอชตัน คุทเชอร์ ไปจนถึงนักแสดงสาว มิสชา บาร์ตัน และนักร้องแสบซ่าอย่าง บริตนีย์ สเปียร์ส หรือผู้อำนวยการสร้างชื่อกระฉ่อน จอร์จ ลูคัส นักปั่นแข้งทอง แลนซ์ อาร์มสตรอง รวมถึง ไมเคิล เฟลป์ส นักว่ายน้ำผู้ล่าเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกหลายต่อหลายเหรียญ
แต่ ใช่ว่าจะมีแค่เหล่าคนดังเท่านั้นที่คลั่งไคล้โลกของความไฮเทค เพราะเราเองก็แทบคลั่งกับกระแสการใช้ Facebook Twitter และ BlackBerry โดยหารู้ไม่ว่าความไฮเทคแบบนี้ แอบซ่อนความเสี่ยงเอาไว้อย่างมิดชิด
ป่วยกาย...เพราะไฮเทคมากเกินไป ใครที่วัน ๆ เอาแต่นั่งเสิร์ชข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ไม่ก็เล่นเกมใน Facebook แถมยังต้องก้มคอลงกดปุ่มใน BlackBerry แซวกับเพื่อน ๆ ใน Twitter ทั้งวี่ทั้งวัน เรากำลังจะบอกว่าคุณมีสิทธิ์ป่วยด้วยโรคเหล่านี้...
โรคเส้นเลือดดำตีบตันที่ขา (Deep Vein Chrombosis) ถ้านั่งหน้าจอเพื่อแชตหรือหาข้อมูล รวมทั้งเล่นเกมมากเกินไป อาจทำให้เป็นโรคนี้ได้ ซึ่งโรคนี้ถ้าลิ่มเลือดหลุดเข้าไปในหัวใจจะมีอาการเหนื่อย และอาจหัวใจวายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
โรครูม่านตามีอาการเกร็งผิดปกติ เพราะปกติเวลาเราใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ แสงจะเข้ามาหาตาเราจนต้องหรี่ตา แล้วเกร็งตา ซึ่งถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน เราจะเกร็งตาจนรู้สึกปวดบางคนลามมาถึงปวดหัวไมเกรนด้วย
ไมเกรน คนที่ใช้คอมพิวเตอร์ค้นหาข้อมูลมากเกินไป อาจจะทำให้เกิดความเครียดสะสมและพัฒนาไปสู่อาการปวดหัวไมเกรนได้ อีกอย่างแสงที่ส่องเข้าตาเราขณะพิมพ์งาน ก็เป็นตัวแปรที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนได้
โรคกระดูกคอและกระดูกหลังเสื่อม เพราะนั่งในท่าเดิมนาน ๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ บางคนอาจจะนอนเล่นคอมฯ อยู่บนเตียง ทำให้คอและหลังรับแรงมากกว่าปกติ
โรค Carpal Tunnel Syndrome โรคนี้คนในยุคปัจจุบันเริ่มเป็นมากขึ้น เพราะวัน ๆ ใช้แต่คอมพิวเตอร์ ทำให้ข้อมือมีผังพืดเกิดขึ้น
ป่วยใจ ...เพราะหมกมุ่นน้อย คนนักจะรู้ถึงผลของความไฮเทคที่มีต่อจิตใจ ซึ่งถ้าเราใส่ใจกับสุขภาพทางใจสักนิด ก็อาจจะไม่ต้องเสียใจกับโรคที่เราอาจป่วยอยู่ก็ได้ โรค Internet Addiction ซึ่งอาการของคนเหล่านี้จะมีตั้งแต่เสิร์ชหาข้อมูลใน Google มากเกินไป หรือเล่น Hi5 Facebook Twitter รวมทังแชตจนเลิกไม่ได้ บางคนเสพติดสื่อเหล่านี้ถึงขนาดไม่เป็นอันทำงาน เสียการเรียน เสียเวลาพักผ่อน และถ้าเสพติดถึงขั้นรบกวนวิถีชีวิตประจำวันแล้วละก็ ควรรีบไปปรึกษาจิตแพทย์โดยด่วน
อย่างไรก็ดี โรค Internet Addiction เป็นโรคที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม เพราะคิดว่าวันหนึ่งมีถึง 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนี้ เราจะละเลยสิ่งอื่น ๆ เช่น การออกกำลังกาย การเข้าสังคม และการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว จนเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา อย่างเช่น ป่วยเป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือห่างเหินกับคนในครอบครัว ฉะนั้นเราควรรู้จักแบ่งเวลาว่าเวลานี้ใช้อินเทอร์เน็ต เวลานั้นออกกำลังกายหรือไปทำกิจกรรมอื่น ๆ
โรคอีคิวลดต่ำ (Low EQ) ซึ่งเป็นปัญหาทางจิตใจอย่างหนึ่ง คนสมัยนี้มักชอบใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ ไม่ก็มีโลกส่วนตัวกับกลุ่มเพื่อนใน Social Network อย่าง Facebook, Hi5 หรือ Twitter ทำให้ปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ ไม่มีแม้จะดูเหมือนว่ามีเพื่อนเยอะในโลกไซเบอร์ แต่แท้จริงกลัวไม่รู้จักที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนจริง ๆ ในสังคมเลย เวลาเผชิญหน้ากับปัญหา เช่น เจอคนที่ไม่ชอบหน้าก็ไม่สามารถที่จะทำตัวได้ถูก เพราะเวลาอยู่ในโลกไซเบอร์เขาเหล่านี้ก็แค่บล๊อกไม่ให้คนที่ไม่ชอบหน้าเข้า มาคุยด้วย แต่ในสังคมจริง ๆ เราทำอย่างนั้นไม่ได้
อีกอย่างการอยู่แต่ในโลกไซเบอร์ ยังทำให้คนคนนั้นขาดทักษะทางสังคมหรืออีคิวต่ำ เพราะการมีเพื่อนแชตในโลกไซเบอร์ หาใช่การมีมิตรภาพที่แท้จริงไม่ เพราะเมื่อเราทุกข์ใจ คนในไซเบอร์ไม่สามารถเข้ามาตบบ่า หรือปลอบประโลมเราได้ หรือเมื่อเราสุขใจ เพื่อนเหล่านี้ก็ไม่สามารถเดินเข้ามาจับมือแสดงความยินดีกับเราได้ เพราะเพื่อนในอินเทอร์เน็ตนั้นเรารู้จักกันอย่างผิวเผิน และมิตรภาพที่แท้จริงจำเป็นต้องมีอะไรมากกว่าการแชตออนไลน์ หรือบีบีหากัน ที่สำคัญการหล่อหลอมบุคลิกภาพของคนคนหนึ่งขึ้นมา ต้องอาศัยการปฏิสัมพันธ์กับคนในสังคมมากกว่าการออนไลน์คุยกัน
พฤติกรรมเลือกรับเฉพาะข้อมูลที่ตัวเองสนใจ (Seeking Preferred Information) ทำให้กลายเป็นคนโลกแคบ เพราะจะเสิร์ชหาแต่เฉพาะข้อมูลที่ตัวเองสนใจ และละเลยข้อมูลด้านอื่น ๆ นอกจากจะทำให้เป็นคน "ฉลาดลึกโง่กว้าง" แล้วยังทำให้เป็นคน Information Overload คือรู้แต่เรื่องที่ตัวเองสนใจจนมีข้อมูลมากเกินไป แต่ตัดสินใจไม่ได้ว่าข้อมูลใดถูกต้อง และเมื่อสนใจแต่เรื่องในวงแคบ ๆ ทักษะในการสื่อสารกับคนอื่น ๆ จึงต่ำลงไปด้วย เพราะไม่รู้เรื่องอื่น ๆ ที่คนอื่นสนใจอยู่
คนที่เข้าข่ายมีพฤติกรรมผิดปกติจะมีอาการไม่สู้ตาคน ไม่รู้จักการสื่อสารแบบตัวต่อตัวมีปัญหาเรื่องการเข้าสังคม ถ้าเป็นเด็ก ๆ จะมีปัญหาเรื่องการเรียน ซึ่งพ่อแม่ควรพาเด็กไปพบจิตแพทย์
โรคซึมเศร้า คนที่เล่นอินเทอร์เน็ตมาก ๆ จะเป็นคนเหงาลึก ๆ ทั้ง ๆ ที่ดูภายนอกเหมือนมีเพื่อนเยอะ แต่จริง ๆ เขาอยู่คนเดียว เพราะถ้าวันไหนไม่เปิดคอมฯ เพื่อนโลกไซเบอร์ก็ไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขามีตัวตนอยู่ ฉะนั้นคนที่หมกมุ่นกับโลกไซเบอร์มากเกินไป จะขาดการติดต่อกับโลกภายนอกหรือสังคมรอบข้างจนอาจพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้ ที่สำคัญคนพวกนี้เมื่อไม่มีทักษะการเข้าสังคมจะกลายเป็นคนไม่รู้จักเอื้อ เฟื้อเผื่อแผ่ ไม่รู้จักการให้อภัย ไม่รู้จักรอคอย ฯลฯ บางคนที่มีอาการซึมเศร้ามาก ๆ จะมีภาวะนอนไม่หลับพ่วงเข้ามาด้วย
แม้ โลกจะหมุนไวสักแค่ไหน ความไฮเทคจะมีอิทธิพลต่อเรามากเช่นไร แต่เราก็ควรใส่ใจสักนิดว่า เรากำลังวิ่งตามโลกดิจิตอลใบนี้ จนหลงลืมเรื่องสุขภาพกายและใจไปหรือเปล่า
ขาแชตทั้งหลายฟังทางนี้! มารู้จักโรค Computer Vision Syndrome กันดีกว่า โดยเป็นโรคที่เกิดกับคนที่ใช้คอมพิวเตอร์นาน ๆ ทำให้ปวดกระดูกข้อมือ ซึ่งหากถ้านั่งผิดท่าจะมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ และเกิดอาการปวดตา แสบตา ตามัว บางคนมีอาการปวดหัวร่วมด้วย ยิ่งถ้าจ้องคอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานาน จะยิ่งพัฒนาไปสู่โรค Computer Vision Syndrome ได้
Did You Know ผลสำรวจของฝั่งมะกันออกมาบอกว่า 10% ของคนที่เล่นอินเทอร์เน็ตมากเกินไป มีปัญหาเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของเขา ซึ่งเด็กส่วนใหญ่จะมีปัญหาขาดเรียน เพราะมัวแต่ใช้เวลาอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ผลิตเกมในปัจจุบันเพิ่มฟังก์ชั่นให้เกมสามารถเล่นได้หลายคน และซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ที่เล่นเกมหยุดเล่นไม่ได้ เพราะติดเกมอย่างงอมแงม
Must Know! เชื่อมั้ยว่าการอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานเกินไปอาจพัฒนาไปสู่โรคภูมิแพ้ได้ ทั้งนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระบุว่า สารเคมีจากจอคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า Triphenyl Phosphate ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ ซึ่งสารเคมีนี้จะมีทั้งในจอวิดีโอและจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการคัดจมูก คัน ปวดหัว ยิ่งจอคอมพิวเตอร์ร้อนมากเท่าใด ก็จะยิ่งปล่อยสารเคมีดังกล่าวออกมา และถ้าเราทำงานในห้องอับ ๆ ก็จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้เรามีปัญหาโรคภูมิแพ้ได้
ความคิดเห็นจาก นพ.ดิตถพงษ์ บุญอำพล แพทย์ศูนย์สมองและระบบประสาทโรงพยาบาลปิยะเวท "นอกจากโรคทางกายและโรคทางใจแล้ว คนที่เล่นเกมในอินเทอร์เน็ตมาก ๆ จะเห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ พอออกไปสู่สังคมก็คิดว่าเรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ประกอบกับที่ผ่านมาเขาไม่เคยสัมผัสกับคนอื่น คือเรื่องการสื่อสารระหว่างบุคคลไม่มี เวลาทำอะไรก็นึกถึงตัวเองเป็นใหญ่ คิดจะทำอะไรก็ออกมาในรูปของความก้าวร้าวรุนแรง ซึ่งถ้าคนในสังคมเริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ก็ถือเป็นโรคของสังคมที่รักษาได้ยากกว่าโรคของคนคนเดียว"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ