วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

สัตว์เลี้ยง..แสนรักช่วยบำบัดโรค


การบำบัดด้วยสัตว์

Animal Therapy


นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

มีการนำสัตว์มาร่วมในโปรแกรมการบำบัด รักษาผู้ป่วยอยู่หลายแบบ สัตว์ที่นิยมนำมาใช้กันมาก ได้แก่ โลมา ม้า สุนัข และแมว เป็นต้น โดยต้องมีการคัดเลือกและฝึกฝนสัตว์มาเป็นอย่างดี พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

สัตว์เลี้ยงบำบัด (pet therapy) นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการบำบัดด้วยสัตว์ (animal therapy) ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมากพอสมควรว่าได้ผลดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ช่วยเยียวยาด้านจิตใจเป็นอย่างดี

สำหรับในเด็กที่ถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรม ก็พบว่าสัตว์เลี้ยงสามารถช่วยเยียวยาจิตใจได้ดีมาก ให้ทั้งความรู้สึกที่ปลอดภัยขึ้น ได้รับความรักโดยไม่มีเงื่อนไข และเด็กยังสามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้อีกด้วย

แนวคิดของการบำบัดด้วยสัตว์

พบว่าสัตว์สามารถช่วยในเรื่อง การรับรู้สัมผัส เสริมสร้างสมาธิ เพิ่มความไว้วางใจผู้อื่น ให้สัมผัสที่อบอุ่น ปลอดภัย และเป็นมิตร เพิ่มแรงจูงใจในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังช่วยให้เด็กเรียนรู้ในเรื่องสัมพันธภาพ และการตอบสนองทางอารมณ์ได้ดีขึ้นด้วย

สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดส่วนใหญ่มัก เป็นสัตว์เลี้ยง ซึ่งมนุษย์คุ้นเคยเป็นอย่างดี เช่น สุนัข แมว กระต่าย นก ปลา เป็นต้น หรือเป็นสัตว์ใหญ่ที่เป็นมิตรกับมนุษย์เสมอในความรู้สึก เช่น โลมา ม้า ช้าง เป็นต้น

สัตว์ที่นำมาใช้ในการบำบัดมักเป็นสัตว์ เลี้ยงตัวเล็กๆ มากกว่า เนื่องจากสามารถอุ้มได้ง่าย และเหมาะสมกับบ้านพักอาศัยที่มีพื้นที่ไม่มากนัก แต่สุนัขตัวใหญ่ๆ ก็เหมาะสมสำหรับผู้ที่นั่งอยู่บนรถเข็นเช่นกัน และสัตว์บางชนิดก็จำเป็นต้องใช้ในการบำบัดนอกสถานที่พักอาศัย เช่น โลมาบำบัด อาชาบำบัด เป็นต้น

เพื่อที่จะสร้างความผูกพันกับสัตว์ได้ เราจำเป็นที่จะต้องก้าวออกจากโลกของตัวเอง และพยายามที่จะสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบำบัดรักษา ในขณะที่สัตว์เองก็มีความสามารถในการกระตุ้นให้เกิดสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่ทำให้เราสนใจสิ่งอื่นนอกจากตัวเราเอง จึงเป็นส่วนผสมที่ลงตัวยิ่งในการบำบัดด้วยสัตว์



ประโยชน์ของการบำบัดด้วยสัตว์

สัตว์แต่ละชนิดมีคุณสมบัติและเงื่อนไข ที่แตกต่างกันในการนำมาบำบัดรักษาผู้ป่วย ซึ่งจะต้องพิจารณาตามสภาพปัญหา และความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

พบว่าสามารถนำสัตว์มาใช้ประโยชน์ในการ บำบัดรักษาทางการแพทย์ได้หลากหลาย ดังนี้

สัตว์สามารถนำผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์กลับ มาสู่ปัจจุบันขณะได้เป็นอย่างดี เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มักหลงพะวงและระแวงเป็นส่วนใหญ่ ลูกสุนัขที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดี สามารถช่วยกระตุ้นให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์หลุดออกมาจากภาวะเหล่านั้น

สัตว์เลี้ยงสามารถช่วยกระตุ้นการสื่อสาร พูดคุยได้เป็นอย่างดี เป็นเพื่อนคุย สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องในการสื่อสาร หรือเพิ่งเริ่มหัดพูดใหม่อีกครั้งหลังจากเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

เด็กสมาธิสั้นสามารถจดจ่ออยู่กับสัตว์ เลี้ยงได้นานขึ้น ซึ่งช่วยให้เรียนรู้สภาวะที่มีสมาธิดี

ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ก็สามารถนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร และเสริมสร้างความผูกพันที่ดีได้ ช่วยให้ลดมุมมองในเชิงลบหรือเลวร้ายที่มีต่อโลกหรือคนรอบข้าง

ผู้ป่วยซึมเศร้า สามารถอาการดีขึ้นได้ด้วยสัตว์เลี้ยงเช่นกัน เนื่องจากช่วยลดความซ้ำซากจำเจในชีวิตประจำวัน และเพิ่มความสนใจ ใส่ใจ ในโลกนอกตัวที่กว้างขึ้น

สัตว์เลี้ยงช่วยเสริมสร้างปฎิสัมพันธ์ ทางสังคมได้เป็นอย่างดี กระตุ้นให้ออกมาจากห้อง และมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับสัตว์และผู้อื่นมากขึ้น

สัตว์เลี้ยงสามารถให้สัมผัสที่อบอุ่นได้ เป็นอย่างดี จากการลูบ กอด ซึ่งเป็นเสมือนสัมผัสแห่งรักมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป

สัตว์เลี้ยงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของ ความหวังอีกครั้ง จากการได้เรียกหาแล้วได้รับการสนองตอบ จากการรอคอยเวลาแล้วได้กลับมาพบกันอีกครั้ง เป็นการสร้างความหวังที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป

การนำสัตว์มาใช้ร่วมในการบำบัดเด็กพิเศษ หรือเด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรัง อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้ชีวิตดูง่ายขึ้น และมีสีสัน ความสนุกสนานมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดรักษาในแนวทางหลักได้ดียิ่งขึ้น

โดยสรุปแล้วการบำบัดด้วยสัตว์มีประโยชน์ มากมาย ถ้าสามารถเลือกนำมาใช้ได้เหมาะสม อย่างน้อย 3 ประการ คือ

1) ผลทางด้านจิตวิทยา คือ ช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย สร้างเสริมแรงจูงใจ

2) ผลทางด้านชีววิทยา คือ การเพิ่มสัญญาณชีพ

3) ผลทางด้านสังคม คือ กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแล



กระบวนการและรูปแบบการบำบัด ด้วยสัตว์

ในการบำบัดด้วยสัตว์ ไม่มีกระบวนการและรูปแบบที่ตายตัวเช่นกัน แต่มีการออกแบบการบำบัดรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล สัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัดได้แก่


สุนัขบำบัด

Dog Therapy

สุนัขบำบัด หรือการนำสุนัขมาช่วยในการบำบัด สามารถช่วยได้ทั้งเรื่องของร่างกายและจิตใจ

การบำบัดทางร่างกาย สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยหลักการทั่วไปของกายภาพบำบัด จำเป็นต้องมีการบริหารกล้ามเนื้อ ซึ่งการมีสุนัขร่วมทำกิจกรรมด้วย จะทำให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเบื่อหน่ายและสามารถออกกำลังได้นานขึ้น

สุนัขสามารถเข้ามาช่วยให้มีการขยับแขน หรือขาเพิ่มขึ้น โดยการโยนของไปแล้วให้สุนัขวิ่งไปคาบกลับมา การลูบคลำ หรือการแปรงขนสุนัขก็เป็นการออกกำลังกายแขนอย่างหนึ่ง

การบำบัดทางจิตใจ โดยการนำสุนัขไปแสดงโชว์ความน่ารักให้ผู้สูงอายุหรือเด็กดู เพื่อช่วยให้คลายความเหงาลงได้ และการเลี้ยงสุนัขยังช่วยลดอาการซึมเศร้าลงได้อีกด้วย

นอกจากนี้ยังสามารถจัดเป็นโปรแกรมการ บำบัดโดยตรง โดยมีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่มีต่อตนเอง และคนรอบข้าง ให้เป็นเชิงบวกมากขึ้น

สุนัขที่นำมาบำบัดควรเลือกพันธุ์ที่มี ความคล่องตัว มีการตอบสนองต่อคนค่อนข้างดี เช่น สุนัขพันธุ์ “ลาบราดอร์” หรือ “โกลเด้นท์รีทรีฟเวอร์” ซึ่งจะพบว่าในต่างประเทศนิยมนำสุนัข 2 พันธุ์นี้มาช่วยในการบำบัดผู้ป่วยมากที่สุด

สุนัขพันธุ์ “ลาบราดอร์”
สุนัขพันธุ์ “โกลเด้นท์รีทรีฟเวอร์”

อย่างไรก็ตาม สุนัขที่จะนำมาช่วยในการบำบัดจะต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี เชื่อฟังคำสั่ง ไม่มีโรค และไม่ดุร้าย

สำหรับในประเทศไทยเอง เริ่มมีสถานพยาบาลบางแห่งนำเอาสุนัขมาช่วยในการบำบัดผู้ป่วย อาทิ การบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์-อัมพาต และคนชรา

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

_______ . Pet therapy: healing, recovery and love. Pawprints and Purrs, Inc. [Online] 2005; Available from: URL: http://www.sniksnak.com/therapy.html [Accessed: 2006, Dec 2]




อาชาบำบัด

Hippotherapy


อาชาบำบัด หรือการนำม้ามาช่วยในการบำบัด เรียกว่า Hippotherapy ซึ่งคำว่า Hippo มาจากภาษากรีก แปลว่า “ม้า” ส่วนคำว่า therapy แปลว่า “การบำบัด”

มีงานวิจัยที่สนับสนุนให้เห็นถึงผลดีของ อาชาบำบัดมากพอสมควร โดยมักได้ผลดีกับเด็กพิเศษกลุ่มที่มีความผิดปกติ ด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ซีพี (C.P. ย่อมาจาก cerebral palsy)

นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ในการบำบัด กลุ่มเด็กออทิสติกที่มีปัญหาทางด้านการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน

การอยู่บนหลังม้าได้ดี จะต้องมีการทรงตัวที่ดี มีสัมผัสที่แนบแน่นกับตัวม้า คือขาต้องหนีบไว้ข้างลำตัวม้าตลอด และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการขี่ม้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นทักษะที่ได้เพิ่มขึ้นจากการขี่ม้าโดยอัตโนมัติ

จังหวะการก้าวย่างของม้าใกล้เคียงกับ จังหวะการก้าวเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กพิเศษได้มีโอกาสนั่งบนหลังม้า ก็เปรียบเสมือนกับการได้ฝึกเดินด้วยตัวเอง นอกจากนี้การนั่งบนหลังม้า ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ให้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะ เพราะต้องขยับอิริยาบถตลอดเวลา ซึ่งสามารถช่วยลดอาการเกร็งต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เสมือนการทำกายภาพบำบัดรูปแบบหนึ่ง

นอกจากนี้เด็กยังได้ฝึกฝนการปรับตัวของ สภาพร่างกายให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ได้รับจากการประคองตัวให้สามารถนั่งอยู่บนหลังม้าได้ นั่นเอง โดยร่างกายจะมีการปรับตัวเองเป็นเสมือนกลไกอัตโนมัติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณความอยู่รอดของมนุษย์ที่พยายามจะรักษาสมดุล ของร่างกายไม่ให้ตกลงมาจากหลังม้านั่นเอง

อาชาบำบัด เราจำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย ในเด็กบางรายที่มีอาการกระตุกมากๆ ก็ไม่ควรใช้วิธีการนี้ในการบำบัด เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ขณะทำการขี่ม้า

ม้าที่นำมาใช้ในการบำบัดมักเป็นม้าลูก ผสม (pony) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ตัวไม่ใหญ่มากนัก ความสูงไม่เกิน 14 แฮนด์ (1 แฮนด์ สูงประมาณ 10 เซนติเมต ) เหมาะสำหรับเด็กเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องมีการฝึกฝนม้าเป็นอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญด้วย

รูปม้า pony

อาชาบำบัด เริ่มมีการนำมาใช้ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ โดยการขี่อยู่บนหลังม้าเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และลดความกลัว และเริ่มแพร่หลายในยุโรป และอเมริกาเหนือตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 โดยเน้นในเชิงของกายภาพบำบัดเป็นส่วนใหญ่

สำหรับในประเทศไทยเอง เริ่มมีการนำม้ามาช่วยในการบำบัดกลุ่มเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยกองกำกับการตำรวจม้า ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากที่เคยดำเนินการสอนคุณ พุ่ม เจนเซ่น ขี่ม้าและบำบัด ตามรับสั่งของทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. คู่ มือออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548.

วาทตะวัน สุพรรณเภษัช. อาชา บำบัด เพื่อเด็กออติสติก. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. [Online] 2007; Available from: URL: http://www.thaiday.com [Accessed: 2006, Dec 2]

_______. อาชาบำบัด สัญชาตญาณอยู่รอดบนหลังม้า. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.blogth.com [Accessed: 2006, Dec 2]





โลมาบำบัด

Dolphin Therapy


โลมาบำบัด หรือการนำโลมามาช่วยในการบำบัด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการบำบัดด้วยสัตว์ แต่มีความยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถนำมาบำบัดที่บ้านเองได้

ถ้าเป็นการนำเฉพาะเสียงของโลมา มาช่วยในการบำบัด จะเรียกว่า การบำบัดด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic therapy)

โลมาเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความ ใกล้ชิดผูกพันกับมนุษย์ มีเสน่ห์ เป็นมิตร และมีสติปัญญามาก สามารถแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างลึกซึ้ง เป็นสัตว์ที่พยายามเข้ามาใกล้ชิดกับมนุษย์ และมนุษย์สามารถสัมผัสความรู้สึกนั้นได้เช่นกัน เวลาที่โลมาส่งเสียงออกมาเสมือนมีคลื่นพิเศษ เรียกว่า คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasonic) เข้าไปจูนหรือปรับสมดุลคลื่นสมองของมนุษย์ เสียงของโลมานั้นมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งคือ ให้ความรู้สึกดีและให้ความสุข นับว่าเป็นเสียงบำบัดใจ ที่มีพลังในการเยียวยา (healing power) สูง

รูปโลมา

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเลสเทอร์ ประเทศอังกฤษ พบว่า การเล่นกับปลาโลมาอย่างใกล้ชิดสามารถบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าได้ดีกว่าการหยุด พักผ่อนหรือผ่อนคลายอย่างเต็มที่

งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาอาสาสมัครผู้ ป่วยโรคซึมเศร้าระดับเล็กน้อยและปานกลาง 30 คนในประเทศฮอนดูรัส โดยแบ่งให้ครึ่งหนึ่งว่ายน้ำและเล่นกับโลมาปากขวดอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ที่เหลืออีกครึ่งให้ใช้เวลาพักผ่อนเต็มที่ ท่ามกลางท้องทะเลและแสงแดด แต่ไม่มีโลมาเป็นเพื่อน ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้น แต่กลุ่มที่อยู่กับโลมามีอาการดีขึ้นเป็น 2 เท่า เมื่อเวลาผ่านไป 3 เดือน ผู้ป่วยทุกคนก็ยังคงรู้สึกดี

ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู มีคอร์ส "โลมาบำบัด" จากโลมาที่ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ให้ว่ายเข้าหาหญิงมีครรภ์ สัมผัสหรือดุนท้องโย้ๆ ของว่าที่คุณแม่ และพูดคุยกับทารกในครรภ์ด้วยเสียงหวีดแหลมของพวกมัน ซึ่งเอลิซาเบธ ยาลัน คณบดีของอ็อบสเตทริเซียนคอลเลจ กล่าวว่า เสียงหวีดแหลมความถี่สูงของโลมาช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางสมองและระบบประสาทของ ทารกในครรภ์มารดาได้ แต่ยังต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมอีกเพื่อพิสูจน์ให้แน่ชัดถึงประสิทธิผลของการ บำบัดด้วยวิธีนี้

นอกจากนี้ยังพบว่าโลมาบำบัดมีประโยชน์ใน เด็กสมาธิสั้น ออทิสติก ดาวน์ซินโดรม วัยรุ่นติดยาเสพติด กระทั่งผู้ใหญ่ที่นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ฯลฯ

โปรแกรมโลมาบำบัด ไม่ใช่แค่ไปว่ายน้ำเล่นกับโลมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตโลมาในชั้นเรียนศิลปะ กระตุ้นความสนใจเกี่ยวกับโลมาก่อนลงสัมผัสจริง

เมื่อลงน้ำไปเล่นกับโลมา ต้องพยายามประคองตัว รักษาสมดุลของร่างกายขณะอยู่ในน้ำให้ได้ ทำให้ได้ฝึกออกแรงกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ อย่างเต็มที่ โดยมีโลมาเป็นแรงจูงใจ เพราะถ้าทำไม่ได้ก็จะไม่ได้เล่นกับโลมาน่ารัก ซึ่งโลมาช่วยทั้งในเรื่องของการเสริมสร้างแรงจูงใจ และเสริมแรงเมื่อมีพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการเกิดขึ้น

นอกจากนี้โลมายังสามารถช่วยพัฒนาความ รู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตัวเอง การยอมรับตัวเอง ลดความตึงเครียด และทำให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ดีขึ้น

โปรแกรมโลมาบำบัด เริ่มมีการนำมาใช้ในการบำบัดเด็กพิเศษ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในมลรัฐฟลอริดาทางใต้ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย Dave Nathanson นักจิตวิทยาคลินิก หลังจากนั้นก็เริ่มมีงานวิจัยสนับสนุนผลดีของโปรแกรมนี้มากขึ้น มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้โปรแกรมในหลายประเทศ

สำหรับในประเทศไทยเอง ยังไม่มีโปรแกรมโลมาบำบัด แต่ก็พบว่ามีเด็กพิเศษบางรายไปเข้าโปรแกรมในต่างประเทศ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจเช่นกัน แต่ค่าใช้จ่ายสูงมาก

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. คู่ มือออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548.

_______. โลมาบำบัด. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.powerlifecenter.com [Accessed: 2006, Dec 2]

Barna B. Animal therapy boosts kids' health and hope. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.southflorida.com [Accessed: 2006, Dec 2]

Island dolphin care center. Dolphin time out 5-day therapy program. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.islanddolphincare.org [Accessed: 2006, Dec 2]



มัจฉาบำบัด

Fish Therapy

มัจฉาบำบัด (Fish Therapy) หรือการนำปลามาช่วยในการบำบัด ซึ่งดูเหมือนจะไม่คุ้นหูนัก แต่ก็มีการนำมาใช้ในการบำบัดกันพอสมควร

นอกจากการเลี้ยงปลาจะช่วยคลายเหงาได้ แล้ว ยังมีการเลือกใช้ปลาสวยงาม เช่น ปลาเงิน ปลาทอง มาช่วยคลายเครียดในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคความดันโลหิต

รูปมัจฉาบำบัด

ในประเทศตรุกี มีการทดลองนำเอาปลา "สไตรเกอร์" และ "ลิกเกอร์" ซึ่งพบเฉพาะในตุรกีเท่านั้น มาช่วยบำบัดรักษาอาการโรคผิวหนังสะเก็ดเงิน (psoriasis) โดยให้ผู้ป่วยลงไปแช่น้ำแร่กลางแจ้งที่มีคุณสมบัติของธาตุเซเลเนียมราว 13 ppm มีความเป็นกรด-ด่าง 7.2 มีอุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส วันละ 2 ครั้ง รวม 8 ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นปล่อยให้ปลาลงแทะบริเวณที่เป็นผื่นให้ค่อยๆ หลุดออกไป ซึ่งวิธีการรักษาดังกล่าวต้องควบคุมอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ และยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.




แมวบำบัด

Cat Therapy

แมวบำบัด (Cat Therapy) หรือการนำแมวมาช่วยในการบำบัด ดูเหมือนจะยิ่งไม่คุ้นหูเลย แต่ก็มีการนำมาใช้ในการบำบัดเช่นกัน สามารถช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดได้เป็นอย่างดี

แมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่มีความอยากรู้อยาก เห็นสูงมาก และยังเป็นสัตว์ที่มีจิตวิทยาสูงอีกด้วย รับรู้สัมผัสอารมณ์ความรู้สึกของคนได้ดี รู้ว่าเจ้าของต้องการขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ สามารถเตือนภัยแผนดินไหวและภัยธรรมชาติต่างๆ และกล่าวกันว่าสามารถเตือนภัยให้กับเจ้าของได้อีกด้วย

แมวที่นำมาใช้บำบัดต้องคัดเลือกกันพอ สมควร ควรเป็นแมวที่น่ารัก ขนสวย มีเสน่ห์ดึงดูดได้ดี เชื่อง เลี้ยงง่าย มีลักษณะนิสัยที่สงบ ไม่ตกใจง่าย ทนต่อสิ่งกระตุ้นที่ผิดแปลกได้ดีทั้งสิ่งที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน



รูปแมวบำบัด

มีการนำแมวมาช่วยนวดในเด็กพิเศษกลุ่มที่ มีความผิดปกติด้านระบบการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ เช่น โรคสมองพิการ เช่นกัน แต่ยังไม่มีงานวิจัยสนับสนุนในเรื่องนี้

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

Palika L. Your cat's mind: feline relationships the special love of therapy cats. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.catsplay.com [Accessed: 2006, Dec 2]

_______ . Pet therapy: healing, recovery and love. Pawprints and Purrs, Inc. [Online] 2005; Available from: URL: http://www.sniksnak.com/therapy.html [Accessed: 2006, Dec 2]





ข้อควรคำนึงในการบำบัดด้วยสัตว์

สัตว์ชนิดใดที่มีความเหมาะสมในการบำบัด นอกจากพิจารณาจากจุดมุ่งหมายที่ต้องการในการบำบัดแล้ว ยังต้องพิจารณาดูว่าผู้รับการบำบัดชอบหรือไม่ชอบด้วย และเมื่อเริ่มการบำบัดแล้วก็ต้องติดตามการตอบสนองของเด็กด้วยว่าดีหรือไม่

ข้อพึงระวังที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้ คือ ความกลัวและอาการภูมิแพ้จากขนสัตว์ ซึ่งต้องสอบถามประวัติเหล่านี้ก่อนว่ามีหรือไม่ ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบำบัดก็เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ด้วยเช่นกัน เนื่องจากการบำบัดด้วยสัตว์หลายชนิดมีค่าใช้จ่ายสูงมาก

เอกสารอ้างอิง

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. การ บำบัดทางเลือก ในเด็กพิเศษ. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2550.

ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา. คู่ มือออทิสติก สำหรับผู้ปกครอง. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2548.

วาทตะวัน สุพรรณเภษัช. อาชา บำบัด เพื่อเด็กออติสติก. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์. [Online] 2007; Available from: URL: http://www.thaiday.com [Accessed: 2006, Dec 2]

_______. สัตว์เลี้ยงแสนรักช่วย บำบัดโรค. หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.matichon.co.th/khaosod [Accessed: 2006, Dec 2]

_______. อาชาบำบัด สัญชาตญาณอยู่รอดบนหลังม้า. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.blogth.com [Accessed: 2006, Dec 2]

_______. โลมาบำบัด. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.powerlifecenter.com [Accessed: 2006, Dec 2]

Barna B. Animal therapy boosts kids' health and hope. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.southflorida.com [Accessed: 2006, Dec 2]

Island dolphin care center. Dolphin time out 5-day therapy program. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.islanddolphincare.org [Accessed: 2006, Dec 2]

Palika L. Your cat's mind: feline relationships the special love of therapy cats. [Online] 2006; Available from: URL: http://www.catsplay.com [Accessed: 2006, Dec 2]

_______ . Pet therapy: healing, recovery and love. Pawprints and Purrs, Inc. [Online] 2005; Available from: URL: http://www.sniksnak.com/therapy.html [Accessed: 2006, Dec 2]



หมาเหงา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ