พระพุทธรูปคันธาระ (หรือคันธารราฐ)
พระพุทธรูปที่สวยที่สุดในโลก
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ เก่าแก่ที่สุด ที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี เกี่ยวกับการสร้างรูปเคารพ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีการทำเหรียญทองคำ เป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืนมีอักษร Bactrian สลักคำว่า " Boddo " ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้ากนิษกะ (CE100) ซึ่งอาจเป็นการเริ่มต้นสู่การพัฒนาเป็นภาพจำหลักหิน เล่าเรื่องพุทธประวัติ และพัฒนาจนเป็นพระพุทธรูปขึ้น เมื่อพุทธฝ่ายมหายานเจริญรุ่งเรืองต่อมา ในครั้งนั้น การสร้างรูปพระพุทธประวัติแบบนูนต่ำและนูนสูงที่นิยมกัน จะมุ่งเน้นให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา หรือถ่ายทอดพุทธจริยาวัตรมากกว่าที่จะสร้างขึ้นเพื่อเป็นรูปเคารพ
ปางสมาธิ
การสร้างรูปพระพุทธองค์ (ที่เป็นรูปมนุษย์) เกิดขึ้นครั้งแรก โดยฝีมือของช่างแคว้นคันธารราฐ เกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ.๓๗๐ ที่ได้รับอิทธิพลจากกรีกและโรมัน เพราะเคยอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ ซึ่งเคยกรีฑาทัพมา ตั้งแต่ในราว ๒ ศตวรรษก่อนคริสตกาล พวกเขาได้ถือรูปแบบเคารพเดิมที่เป็นเทพเจ้าของตนที่เคยทำมา ประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้น เมื่อพวกเขาหันมานับถือศาสนาพุทธ การสร้างพระพุทธรูปที่นี่จึงเป็นการผสมผสานระหว่างกรีกโรมัน (อิทธิพล Grego-Roman) และอินเดียโบราณ ที่สัมพันธ์กับมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ ของพระพุทธเจ้า อย่างลงตัว พระพุทธรูปคันธาระจึงได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีพุทธศิลปงามที่สุด และเก่าแก่ที่สุด มีอายุราว ๒๐๐๐ ปี จนได้รับความนิยมเป็นสากลจากนักสะสมและพิพิธภัณฑ์นานาชาติ
ปางปฐมเทศนา
ครั้นเมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชโปรดให้มีการสังคายนาพระ ไตรปิฎก ครั้งที่3 ขึ้นแล้วเสร็จ ทรงโปรดให้สร้างศาสนสถานศึกษาขึ้นหลายแห่ง เพื่อศึกษาพระศาสนา แต่ยังคงไม่นิยมการสร้างรูปพระพุทธเจ้าเป็นรูปเคารพ ทำแต่รูปอย่างอื่นเป็นเพียงสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้า ดังเข่นที่ปรากฏอยู่ที่สถูปสาญจิ มีการสร้างรูปเคารพจากรากฐานของวัฒนธรรมอินเดียเช่น รอยพระพุทธบาทซึ่งแสดงถึงการเคารพอย่างสูงสุด เปรียบเทียบกับพระมหากษัตริย์ หรือการสร้างต้นโพธิ์เป็นสัญลักษณ์แทนการตรัสรู้ เป็นต้น วัฒนธรรมการสร้างพระพุทธรูป เพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจในทางรูปธรรมนั้น เริ่มแรกในช่วงก่อนสมัยคริสต์กาลเล็กน้อย โดยพระเจ้ามิลินท (Menander) กษัตริย์อินเดีย เชื้อสาย กรีก แห่งนครสาคละ แคว้นคันธารราฐ อาณาจักรบัคเตรีย (บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถานและตะวันออกของอัฟกานิสถานในปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเทศอินเดียในอดีต)
ปางประทานพร
พระเจ้ามิลินท์ ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนาและทำนุบำรุงให้รุ่งเรืองอย่างมาก หลังการล่มสลายของวงศ์เมาริยะ เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูป จำหลักหินขึ้นอย่างมากมาย เป็นศิลปกรรมแบบกรีกผสมอินเดีย เรียกตามเมืองที่ตั้งว่า ศิลปคันธารราฐ (อิทธิพล Grego-Roman) ท่านได้ทรงสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ขึ้นมามากมาย ส่วนใหญ่สลักจากหินเทาอมเขียว (Schist stone) โดยยึดรูปแบบศิลปกรีกและเฮเลนนิค ซึ่งมีความสวยงามไม่แพ้ศิลปะใดๆ ในยุคหลังต่อมาจึงได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 4 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 13 ที่มีอิทธิพลต่อศิลปของมถุรา ในแคว้นอุตรประเทศ
พระ พุทธรูปที่มีชื่อเสียงและมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ที่สร้างในยุคนี้คือ พระพุทธรูปยืนแห่งบามิยัน ซึ่งเพิ่งมาถูกทำลายลง พร้อมๆกับพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน โดยรัฐบาลตาลีบันที่เป็นมุสลิม เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยที่น่าเจ็บปวดสำหรับชาวพุทธทั่วโลก
ปางมหาปาฏิหาริย์
พระพุทธรูปสมัยคันธาระ มีการสร้างหลายปาง ที่นิยมกัน เช่น ปางสมาธิ ปางปฐมเทศนา ปางประทานพร ปางมหาปาฏิหาริย์ ปางลีลา(หมายถึงตอนที่เสด็จลงจากดาวดึงส์) และปางทุกรกิริยา ส่วนปางอื่นๆ ในตำราบางเล่มจะมีมากกว่านี้ แต่ยังค้นหาภาพไม่พบ
ปาง ลีลา
ศิลปแบบคันธาระ
ลักษณะสำคัญทางศิลป์ของพระคันธาระ คือ พระพักตร์คล้ายเทพอพอลโล มีเส้นพระเกศาหยิกสลวย ( ยังไม่เป็นก้นหอยเหมือนในยุคหลัง ) มีรัศมี ( Halo ) อยู่หลังพระเศียร ตามความเชื่อของกรีกที่ทำรูปปั้นเทพต่างๆ ห่มผ้าคลุมแบบริ้วธรรมชาติ มีอุณาโลมระหว่างคิ้ว มีอุษณีษะศีรษะ ( มวยผมโป่งตอนบน ) พระกรรณยาว พระพุทธรูปคันธารราฐ มีทั้งที่ทำด้วยปูนปั้น ( Stucco ) หินเขียว และหินดำ ( Schist )
TraveLArounD
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&group=21
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ