แต่ครั้งโบราณกาล เสมามีความสำคัญต่อพุทธสถานอย่างยิ่ง การที่จะเรียกว่าวัดนั้นเป็นวัดได้ จะต้องมีหลักแบ่งเขตชัดเจนสำหรับการทำพิธีกรรมทางศาสนา และหลักที่ปักเพื่อแบ่งเขตที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “ใบเสมา”
เสมา หรือที่มีนักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สีมา” ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ หมายถึง เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำ สังฆกรรมร่วมกัน
เสมา แบ่งเป็น ๒ ประเภทคือ ๑. พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่พระสงฆ์กำหนดขึ้นเอง ๒. อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด และสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้น โดยไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่
ความสำคัญของการมีเสมานี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ ๒ ครั้ง จึงเกิดหลักแดนในการที่สงฆ์จะร่วมกันกระทำสังฆกรรม โดยมีหลักบ่งชี้คือใบเสมา
ใบเสมามีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมาก ในประเทศไทยสามารถสืบย้อนไปไกลถึงยุคสมัยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ นั่นคือ อารยธรรมทวารวดี
เป็นที่ทราบกันแล้วว่าอารยธรรมทวารวดีเป็นอารยธรรม เก่าแก่ มีเมืองสำคัญอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทยในปัจจุบัน และเป็นอารยธรรมที่นับถือพระพุทธศาสนาไปพร้อมๆ กับศาสนาพราหมณ์ แต่ศาสนาพุทธรุ่งเรืองกว่ามาก ทั้งนี้เนื่องด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นจารึกหรือศิลปกรรมต่างๆ เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอารยธรรมทวารวดีนี้ได้เป็น อย่างดี
บริเวณภาคอีสานของไทย ในปัจจุบัน พบว่ามีร่องรอยของอารยธรรมทวารวดีที่เผยแพร่มาจากภาคกลาง แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ กลุ่มใบเสมาที่บริเวณภาคอีสานนี้มีความโดดเด่นกว่าภาคอื่น ในขณะที่ภาคกลางมีความโดดเด่นในเรื่องของการสร้างพระธรรมจักรขนาดใหญ่ ซึ่งใบเสมาที่ว่านี้ มีความแตกต่างจากรูปแบบของใบเสมาที่พบในปัจจุบันมาก นับว่าเป็นพัฒนาการของใบเสมาก็ว่าได้ ข้อสรุปเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องใบเสมาภาคอีสาน ซึ่ง รศ.ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เรียบเรียงไว้ ดังนี้
รูปแบบของใบเสมาทั่วไปจะเป็นลักษณะ กลีบบัว มีขนาดสูงตั้งแต่ ๑ เมตรไปจนถึง ๒ เมตร รองลงมาได้แก่รูปเสาสี่เหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ซึ่งพบเป็นจำนวนน้อยมาก ส่วนคติในการสร้างสันนิษฐานไว้ ๓ ประการ คือ
๑. ใช้ปักใบเดียวกลางลานในฐานะของเจดีย์องค์หนึ่ง เพราะโดยทั่วไปที่กลางใบเสมาจะมีรูปหรือสัญลักษณ์ของสถูปปรากฏอยู่ด้วยเสมอ
๒. ใช้ปักล้อมรอบสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อแสดงขอบเขต ได้พบตัวอย่างเป็นจำนวนมากบนภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี อาจเป็นการแสดงขอบเขตที่สืบทอดมาจากวัฒนธรรมหินตั้ง ที่พบแล้วตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคอีสาน เช่นที่เมืองเสมา จังหวัดนครราชสีมา
๓. ใช้ปักแปดทิศรอบฐานอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจมีตำแหน่งละ ๑ ใบ ๒ ใบ หรือ ๓ ใบ น่าจะเป็นคติการแสดงขอบเขตสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนสถานลักษณะเดียวกับ โบสถ์ในปัจจุบัน
ด้วยขนาดของเสมาที่มีขนาดใหญ่ จึงเกิดภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาขึ้น ซึ่งเรื่องราวที่นิยมสร้างขึ้นนั้น มักเป็นภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชาดก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการตกแต่งใบเสมาด้วยรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะ ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า การปักใบเสมาแบบใบเดียวที่กลางลานนั้น อาจหมายถึงเครื่องหมายแทนสถูป โดยสังเกตจากรูปแบบของใบเสมาที่มีการสลักรูปสถูปหรือหม้อปูรณฆฏะไว้
หม้อปูรณฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัญลักษณ์ที่พบมาก่อนแล้วตั้งแต่ศิลปะอินเดียโบราณ และยังพบอีกในศิลปะลังกาสมัยอนุราธปุระ ในราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๐ ก็นิยมปักหินตั้งรูปปูรณฆฏะไว้บริเวณหน้าประตูทางเข้า
เนื่องจากปูรณ ฆฏะ เป็นเครื่องหมายของความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นสัญลักษณ์ในการอวยพรผู้มาศาสนสถานให้มีความสุขไปด้วย และด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันการรับสืบทอดวัฒนธรรมศาสนา และศิลปกรรมมาจากอินเดีย และลังกาด้วยเช่นกัน
สำหรับภาพเล่าเรื่อง พุทธประวัติ ส่วนมากเป็นตอนที่พระพุทธเจ้ากำลังแสดงธรรมโปรดเหล่าบุคคล และภาพสลักบนใบเสมาที่เชื่อว่ามีความงดงามและสำคัญอย่างที่สุดชิ้นหนึ่งนั้น คือ ภาพตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์ พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดขอนแก่น เป็นฉากที่สำคัญคือพระนางพิมพาสยายผมรองรับพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นท่าแสดงความเคารพอย่างสูงสุด การแสดงความเคารพในลักษณะเช่นนี้ โดยมากพบในศิลปะมอญและพม่า สะท้อนมุมมองการแผ่ขยายความนิยมของศิลปะในประเทศใกล้เคียงในเวลานั้น
การสลักภาพ เล่าเรื่องชาดกนั้น พบว่ามีความนิยมอย่างมาก สันนิษฐานว่าน่าจะมีการสร้าง ครบทั้งสิบพระชาติ แต่ที่พบหลักฐานมากที่สุด เป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะเสวยพระชาติเป็นพระพุทธเจ้า นั่นคือ เวสสันดรชาดก ในตอน พระราชทานกัณหา-ชาลีให้กับชูชก หรือจะเป็นตอนที่ พระอินทร์ปลอมตัวมาขอพระราชทานนางมัทรี ส่วนชาดกในเรื่องอื่นที่พบก็มี สุวรรณสาม วิฑูรบัณฑิต มหาชนก เป็นต้น
การสลักเรื่องราวเกี่ยวกับ ชาดกและพุทธประวัติไว้บนใบเสมานี้ คงจะมีคติการสร้างเดียวกันกับจิตรกรรมฝาผนัง คือมีความมุ่งหมายที่จะเป็นการให้ความรู้ โดยแฝงวัฒนธรรมการแต่งกาย รูปแบบเฉพาะของศิลปกรรมในภูมิภาค ทำให้กลุ่มใบเสมาที่ภาคอีสานมีความโดดเด่น มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งในสมัยต่อมาด้วยขนาดของใบเสมาที่เล็กลง ประกอบกับความนิยมในการสลักภาพเล่าเรื่องบนใบเสมาไม่ได้รับความนิยมแล้ว เราจึงไม่พบหลักฐานของใบเสมาในลักษณะดังกล่าวอีกเลย
ใบเสมาวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย
เสมา ๓ สมัย
ในครั้งก่อน ได้กล่าวถึงใบเสมาโบราณของอารยธรรมทวารวดีภาคอีสาน ซึ่งมีความโดดเด่นที่ขนาด และการสลักภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติ และชาดกต่างๆ อันเป็นงานศิลปกรรมที่สะท้อนความศรัทธาและการให้ความรู้พุทธประวัติควบคู่ กัน
ฉบับนี้ขอนำเรื่อง ใบเสมาที่สะท้อนเอกลักษณ์ของยุคสมัยสุโขทัย ล้านนา และอยุธยา ซึ่งทั้งสามสมัยนี้มีความชัดเจนในวัฒนธรรมการนับถือพุทธศาสนาเถรวาท มีการสร้างวัดวาอาราม การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ใบเสมาในสมัยสุโขทัย นั้น ใช้เสมาลักษณะเป็นแผ่นใหญ่ทำด้วยหินชนวน ดังที่ปรากฏหลักฐานตามวัดโบราณต่างๆ ทั้งที่ค้นพบในตัวเมืองเก่าสุโขทัย และที่อำเภอศรีสัชนาลัย สวรรคโลก รวมไปถึงเมืองกำแพงเพชร พิษณุโลก พบว่า แผ่นศิลาที่สันนิษฐานว่าเป็นใบเสมา นี้มีรูปแบบที่ไม่ต่างกันมากนัก โดยสามารถจำแนกได้เป็น ๓ แบบคือ
๑. แบบแผ่นศิลารูปสี่เหลี่ยม ขอบปากมนยอดทั้งสองด้านไปบรรจบเป็นยอดแหลมตรงกลาง ตรงกลางใบเสมาสลักเป็นสันตรงตลอดคล้ายใบเสมาในสมัยทวารวดี
๒. แบบแผ่นศิลาปาดขอบกลมยอดแหลมแล้วคอดเล็กน้อย ส่วนล่างผายออกยกมุมแหลมเล็กน้อย ตัวใบเสมาสลักเป็นแนวสันเล็กๆ ลงมาถึงกึ่งกลาง แล้วสลักแยกออกเป็น ๒ ส่วนดูคล้ายรูปสามเหลี่ยม
๓. แบบแผ่นศิลาเรียบไม่มีลวดลาย ปาดขอบทั้งสองด้านเกิดเป็นสันแหลมตรงกลาง
ใบเสมาวัดมหาโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่
ใบเสมาในสมัยล้านนา เป็นรูปแบบที่ไม่เน้นการประดับตกแต่งมากนัก จากหลักฐานที่ค้นพบตามวัดวาอารามในเขตเมืองเชียงใหม่และเมืองโดยรอบที่เคย อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรล้านนาพบว่า ใบเสมามีรูปแบบที่เรียบง่าย พอจำแนกได้เป็น ๓ แบบคือ
๑. แบบแท่งศิลากลมยาว ปลายปาดมน รูปแบบในลักษณะนี้ น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรหริภุญไชย ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เติบโตมาก่อนล้านนา เป็นช่วงปลายของอาณาจักรทวารวดีแล้ว
๒. แบบศิลาเรียบไม่มีลวดลาย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากอาณาจักรสุโขทัยในรัชสมัยพระยาลิไท เมื่อครั้งรับพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์
๓. ใช้ก้อนหินธรรมดาเป็นใบเสมา สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ ในสมัยล้านนานี้เป็นช่วงเวลาที่ศาสนาพุทธมีความเจริญรุ่งเรือง อย่างมาก ทว่าใบเสมากลับไม่ได้รับการตกแต่งให้มีความวิจิตรงดงามมากนัก ซึ่งต่างกับใน ยุคก่อนหน้านั้นที่มีการสลักลวดลายเต็มพื้นที่ นั่นอาจเป็นไปได้ว่าในสมัยนี้ เสมาเริ่มลดบทบาทลง แต่มีความโดดเด่นที่พระพุทธรูปและพุทธสถานแทน
ใบเสมาในสมัยอยุธยา มีรูปแบบที่เชื่อมโยงกับอิทธิพลของอาณาจักรที่เกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุง เล็กน้อย นั่นคือ เมืองอู่ทอง ซึ่งทำจากหินทรายแดงและทรายขาวขนาดใหญ่ โดย เริ่มมีการสลักลวดลายแล้ว รูปแบบของใบเสมานี้มีลักษณะที่ผสมผสานระหว่างสุโขทัยและอู่ทองเข้าไว้ด้วย กัน รูปแบบที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้มีความเรียบง่าย และตกแต่งด้วยลวดลายเล็กน้อย ข้อสันนิษฐานประการหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับใบเสมาในสมัยอยุธยานี้คือ
ใบเสมาที่มีอายุเก่าที่สุดจะมีลักษณะใหญ่ตัน ทำจากหินชนวนขนาดใหญ่ มีความหนาและไม่สูงชลูด ผิดกับใบเสมาที่พบในสมัยอยุธยาตอนกลางและตอนปลายที่พบว่ามีขนาดไม่ใหญ่ มีความบางและสูงชลูดมากกว่าเดิม หินชนวนก็ยังคงเป็นวัสดุหลักที่ใช้อยู่ แต่เริ่มมีขนาดเล็กลง มีการใช้หินทรายเนื้อละเอียดร่วมด้วย
ใบเสมาวัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในช่วงอยุธยาตอนปลายนี้เอง ที่มีการสร้างฐานหรือแท่นสูงสำหรับปักเสมา หรือเรียกโดยรวมว่า “เสมานั่งแท่น” และให้ความสำคัญกับแท่นหรือฐานนี้ด้วยการประดับตกแต่งมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเรือนหรือซุ้มครอบแผ่นเสมาไว้ เรียกว่า “ซุ้มเสมา” ซึ่งส่งอิทธิพลอย่างมากในสมัยรัตนโกสินทร์ ด้วยระยะเวลาอันยาวนานของราชธานีกรุงศรีอยุธยา นักวิชาการจึงได้จำแนกรูปแบบของใบเสมาอยุธยาไว้ดังนี้
๑. เป็นใบเสมาศิลาเรียบ ตรงกลางสกัดเป็นสันแถบยาวตลอด และมีลายประจำยามอยู่ตรงกลาง
๒. เป็นใบเสมาศิลาเรียบนั่งแท่น แต่ตรงกลางสกัดเป็นสันแถบยาว และมีลายประจำยามอยู่ตรงกลางเป็นรูปคล้ายทับทรวง บ้างสลักเป็นรูปเทวดา หรือครุฑยุดนาค
๓. เป็นใบเสมาศิลาเรียบนั่งแท่นเช่นกัน แต่สกัดให้มีความเรียวมากขึ้น (อยุธยาปลาย) สลักลายที่ดูแข็งกระด้าง และบางแห่งเป็นเสมาเรียบไม่มีลวดลาย และเน้นความงดงามที่ซุ้มเสมา
จากที่กล่าวมาโดยสรุปทั้งหมด พอจะทำให้เห็นทิศทางของรูปแบบในเชิงศิลปกรรมของ ใบเสมาแล้วว่า มีความแตกต่างจากใบเสมารุ่นเก่าอย่างในสมัยทวารวดีมาก ด้วยขนาดที่เล็กลง พื้นที่ในการสลักลวดลายจึงมีอยู่อย่างจำกัด จากที่เคยเป็นภาพเล่าเรื่องจึงเป็นเพียงลายกระหนก ลายประจำยาม และลวดลายของพันธุ์พฤกษา แต่ความสำคัญที่ว่า ใบเสมาคือ เครื่องกำหนดเขตชุมนุมของสงฆ์ ยังคงทำหน้าที่เช่นเดิม
ใบเสมาวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
เสมาแนบผนัง ยุครัตนโกสินทร์
เสมาในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการสืบทอดรูปแบบมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกันกับรูปแบบของศิลปกรรมแขนงอื่นๆ กล่าวคือในช่วงอยุธยาตอนปลาย มีการประดับลวดลายที่ซุ้มเสมาแล้ว มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ การตกแต่งลวดลายจึงไม่ใช่เพียงที่ซุ้มเสมาเท่านั้น หากแต่ยังปรากฏความหลากหลายของรูปทรงและลวดลายที่ประดับอยู่ที่ใบเสมาด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงลักษณะและแบบแผนของ ผังเสมาโดยสังเขป แบ่งออกเป็น ๔ ลักษณะคือ
๑. เสมาลอย คือการปักใบเสมาบนฐานที่ตั้งบนพื้นโดยตรง และตั้งอยู่โดดๆ รอบพระอุโบสถ
๒. เสมาบนกำแพงแก้ว คือเสมานั่งแท่นที่มีกำแพงแก้วชักถึงกันทั้ง ๘ แท่น
๓. เสมาแนบผนัง คือเสมาที่ตั้งหรือประดับเข้ากับส่วนของผนังพระอุโบสถ
๔. เสมาแบบพิเศษ คือการใช้แบบอย่างเสมาลักษณะพิเศษต่างจากแบบแผนทั่วไป
ซึ่ง จะพบความ หลากหลายของแผนผังการวางเสมาในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง
ในสมัย พระ บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ รูปแบบของใบเสมาได้รับ อิทธิพลมาจากสมัยอยุธยาตอนปลายอยู่มาก แต่ว่ามีการตกแต่งส่วนยอดของใบเสมาด้วยการให้มียอดเรียวสูงขึ้นควั่นเป็นสาย ปล้อง และประดับส่วนไหล่ของใบเสมาด้วยลวดลายคล้ายบัวคอเสื้อ ขอบใบเสมายกเป็นขอบสองชั้น ลายทับทรวงที่ประดับอยู่ตรงกึ่งกลางเป็นรูปรีคล้ายใบโพธิ์สองชั้น เชิงล่างบริเวณมุมทั้งสองสลักเป็นรูปนาค
จวบจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงที่พระพุทธศาสนารุ่งเรืองขึ้นมาก มีการสร้างวัดวาอารามไม่ว่าจะเป็นที่เมืองหลวงหรือปริมณฑล รูปแบบของเสมาในรัชสมัยนี้มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายที่ตรงกลางใบเสมา มากกว่าเดิม และเพิ่มลวดลายริ้บบิ้นผูกประดับกับลายทับทรวงที่อยู่ตรงกลางนั้น
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ความหลากหลายของรูปแบบใบเสมาก็ถือกำเนิดขึ้น มีการคิดประดิษฐ์รูปทรงของใบเสมาให้แตกต่างจากแบบเดิมๆ โดยอาศัยรูปแบบของเสานางเรียงที่มีมาก่อนแล้วในสมัยโบราณ ซึ่งจะประดับรอบทางเดินของปราสาทหินต่างๆ โดยทำเป็นทรงหม้อ หรือหัวเม็ดทรงมัณฑ์คอดกิ่ววางอยู่เหนือแท่น ตรงมุมทั้งสี่สลักเป็นรูปเศียรนาค บางครั้งมีการทำเป็นรูปดอกบัวในส่วนตัวหัวเม็ด
ในสมัยนี้เองที่พบว่า มีการสลักใบเสมาด้วยลายพระธรรมจักร โดยยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน สิ่งที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงลวดลายที่มีความงดงามและรูปทรงที่ต่างจากยุคโบราณ หากแต่เป็นเรื่องของการประดิษฐานใบเสมาที่พบว่ามีความน่าสนใจไม่แพ้กัน
ใบเสมาวัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ
กล่าวคือ ในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากจะพบว่าการปักใบเสมารายล้อมรอบพระอุโบสถอันเป็นการบ่งบอกถึงเขตบริเวณ ให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ยังพบว่า นอกจากบริเวณรอบๆ พระอุโบสถแล้ว ยังพบการประดิษฐานใบเสมาแนบผนังของพระอุโบสถด้วย อาทิ
ใบเสมาวัด มหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเสมาที่มีการสร้างได้วิจิตรงดงาม คือมีการสลักลวดลายตรงกลางใบเสมาด้วยรูปครุฑยุดนาค และขอบรอบใบเสมาคือตัวนาค นอกจากนี้ยังพบใบเสมาแนบผนังภายในพระอุโบสถ โดยสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอีกด้วย
ใบเสมาวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ที่มีการเพิ่มเติมลวดลายด้วยริ้บบิ้นผูกกับทับทรวงที่กลางใบเสมา รอบขอบเป็นรูปกนกนาค รองรับด้วยฐานบัวเหนือฐานสิงห์
ใบเสมาวัดปทุม วนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ เป็นใบเสมาหินทรายแกะเป็นรูปดอกบัว ตามชื่อของวัด กรอบเป็นแนวสองชั้น รองรับด้วยกลีบบัว และรองรับด้วยฐานสิงห์ ๑ ฐาน
นอกจากนี้ ยังพบ ใบเสมาวัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม เป็นเสมาสลักด้วยหินอ่อนติดอยู่ที่มุมทั้งสี่ทิศ ซึ่งสลักรูปท้าวจตุโลกบาลประจำทิศทั้งสี่ คือ ท้าวธตรส ท้าววิรูปักษ์ ท้าววิรุฬหก และท้าวเวสสุวรรณ
ใบเสมาวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
จากตัวอย่างข้างต้น ทำให้ทราบว่าเสมาแนบผนังพระอุโบสถได้รับความนิยมอยู่ไม่น้อยทีเดียว หากแต่ในช่วงนี้ความสำคัญของซุ้มเสมาก็มีเพิ่มเข้ามาด้วย ทำให้เสมาที่ปักรายรอบพระอุโบสถมีความนิยมมากกว่า
มหาเสมาวัดบรมนิวาส
มหาเสมา กรอบสังฆกรรมที่ใหญ่ขึ้น
ดังที่ได้กล่าวมาในฉบับก่อนหน้านี้แล้วว่า ‘เสมา’ หรือ ‘สีมา’ คือหลักกำหนดเขตพุทธาวาส เพื่อให้พระภิกษุได้ทำสังฆกรรมร่วมกัน โดยที่ผ่านมาเสมามีรูปแบบและการประดับตกแต่งแตกต่างกันไปตามยุคสมัย ซึ่งนั่นเป็นเหตุให้เกิดความหลากหลายในเชิงช่าง
นอกจากนี้ยังพบว่ามี เสมาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่มีความแปลกและความสำคัญในเรื่องของแนวความคิด คติในการสร้าง เสมาที่ว่านี้ เรียกว่า ‘มหาเสมา’
พิทยา บุนนาค ได้อธิบายเรื่องมหาเสมา ไว้ในบทความ “เรื่องของเราสีมา” โดยอ้างถึง ‘กัลยาณีสีมา’ ซึ่งมีจารึกภาษามอญ และภาษาบาลี พอเป็นหลักฐานว่า สีมากัลยาณีได้พื้นฐานมาจากอรรถกถา ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นของพระอรรถกถาจารย์ชื่อ พระมหาสุมันตเถระ และพระมหาปทุมเถระ อรรถกถาดังกล่าวอธิบายถึงวิธีผูกมหาสีมา วิธีผูกขัณฑสีมา และวิธีผูกสีมา ๒ ชั้น
ในการผูกพัทธเสมา ๒ ชั้นนี้ สามารถเรียกแยกได้ว่า ‘มหาเสมา’ คือ พัทธเสมาใหญ่ และ ‘ขัณฑเสมา’ คือ พัทธเสมาที่อยู่ภายใน มีความหมายถึงเขตที่ย่อยลงไป ซึ่งอยู่ในมหาเสมาอีกต่อหนึ่ง
มหาเสมาวัดโสมนัสวิหาร
เมื่อมีเสมาสองชั้นเช่นนี้แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างสิ่งซึ่งคั่นเสมาทั้งสองไว้ไม่ให้ปนกันนั่น คือ ‘สีมันตริก’ สีมันตริก คือ ระยะของช่องว่างที่จะต้องเว้นไว้ระหว่างมหาเสมาและขัณฑเสมา โดย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ) ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เพื่อมิให้เขตของสีมาทั้งสองระคน (สังกระ) กัน” ในครั้งพุทธกาล มีเรื่องเกี่ยวกับสีมันตริกนี้ กล่าวคือ เมื่อพระฉัพพัคคีย์ได้สมมติเขตเสมาทับซ้อนเสมาที่มีอยู่แล้ว ภิกษุทั้งหลายจึงไปร้องต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงได้ห้ามไม่ให้มีเขตเสมาทับกัน และให้เว้นที่ (สีมันตริก) ระหว่างเขตพัทธเสมาไว้
การประดิษฐานมหาเสมาหรือมหาสีมา เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยทรงเห็นว่าหากเกิดการทำสังฆกรรมต่างลักษณะขึ้นพร้อมๆ กันในเวลาเดียวกัน ย่อมไม่สามารถใช้พระอุโบสถที่มีอยู่แห่งเดียวร่วมกระทำได้ ต่อเมื่อมีมหาเสมาล้อมรอบแล้ว ทุกพื้นที่ภายในเขตมหาเสมาสามารถเลือกทำสังฆกรรมได้ เช่น พระวิหาร ศาลาราย ศาลาการเปรียญ หรือแม้แต่กุฏิสงฆ์
โดยวัดซึ่งรัชกาล ที่ ๔ ทรงสร้างนั้นล้วนมีมหาเสมาทั้งสิ้น ได้แก่ วัดบรมนิวาส วัดโสมนัสวิหาร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม วัดมกุฏกษัตริยาราม และวัดปทุมวนาราม (มหาเสมาของวัดปทุมวนารามไม่สามารถสืบค้นลักษณะแบบอย่างและตำแหน่งได้ ทั้งนี้อาจถูกเคลื่อนย้ายหรือรื้อถอนไปครั้งมีการถมสระหรือขยายถนนหน้าวัด)
มหาเสมาวัดราชประดิษฐ์ฯ
สมคิด จิระทัศนกุล ได้ทำการจำแนกรูปแบบของมหาเสมาไว้ ๔ ลักษณะ คือ
๑. มหาเสมาแบบก้อนศิลา เป็นมหาเสมาที่ทำด้วยศิลาขนาดย่อม ไม่มีการตกแต่งลวดลายแต่ประการใด เพียงแต่ถากผิวให้มีสัณฐานเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยมมนหยาบๆ เท่านั้น รูปแบบนี้พบเพียงวัดเดียวที่ มหาเสมาวัดบรมนิวาส เท่านั้น
๒. มหาเสมาแบบยอดบัวตูม เป็นมหาเสมารูปแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำด้วยหินแกรนิต ส่วนปลายยาวรวบเข้าหากันทั้งสี่ด้านคล้ายรูปดอกบัวตูม พบที่ มหาเสมาวัดโสมนัสวิหาร ซึ่งมีส่วนครอบอีกชั้นหนึ่ง โดยสร้างซุ้มเป็นลักษณะคูหากลม มีทางเดินด้านในเพียงช่องเดียว หลังคาทำทรงสูงรูปโค้งอย่างจีน
๓. มหาเสมาแบบแท่งเสมา เป็นมหาเสมาที่ทำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวละเลียดขึ้นไปตามแนวความสูงของ กำแพง ส่วนปลายสลักด้วยหินแกรนิตเป็นรูปแท่งสี่เหลี่ยม บริเวณตัวแท่งนั้นสลักจารึกการประดิษฐานและตำแหน่งของทิศ พบที่ มหาเสมาวัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม (การสร้างมหาเสมาโดยแบบที่ไม่ปรากฏขัณฑเสมาและสีมันตริก เป็นเพียงมหาเสมาเพียงอย่างเดียว พบที่วัดราชประดิษฐ์ฯ เท่านั้น)
๔. มหาเสมาแบบเสมาโปร่ง เป็นมหาเสมาที่ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมจัตุรัสยาวแนบไปตลอดแนวความสูงของกำแพง เช่นกัน ส่วนปลายทำรูปทรงล้อเสมาแท่ง แต่ทำในลักษณะของเสมาโปร่ง คือแต่ละด้านเป็นซุ้มคูหาทะลุถึงกันทั้งสี่ด้าน พบที่ มหาเสมาวัดมกุฏกษัตริยาราม
จากที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้ทราบถึงแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีพระราชประสงค์ให้เขตของการทำสังฆกรรมครอบคลุมพื้นที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งนับว่าสร้างความพิเศษให้เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีเพียงวัดที่พระองค์ทรงสร้างเพียง ๕ วัดเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ควรค่ากับการศึกษา ในเรื่องของการทำตามพระอรรถกถาว่าด้วยการสร้างมหาเสมาในสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งยังส่งอิทธิพลในการสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยพระองค์มีพระราชดำริให้สร้าง วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม เป็นวัดประจำรัชกาล มีมหาเสมาเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร ๘ เสา ประดิษฐานไว้ที่กำแพงวัดทั้ง ๘ ทิศด้วยเช่นกัน
มหาเสมาวัดมกุฏกษัตริยาราม
ซุ้มเสมาวัดสุทัศน์ฯ กทม.
หลากซุ้มคลุมเสมา
องค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งซึ่งส่งผลให้เสมามีความโดดเด่นและมีความงดงามมาก ยิ่ง ขึ้น นั่นคือ ‘ซุ้มเสมา’ ซุ้มเสมาเป็นอีกรูปแบบสถาปัตยกรรมหนึ่งที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม โดยสืบทอดแบบอย่างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เป็นแบบแผนที่ยังคงมีให้ศึกษามาจวบจนปัจจุบัน ซุ้มเสมาที่พบสามารถจำแนกได้ดังนี้ คือ
ซุ้มเสมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กทม.
๑. ซุ้มเสมายอดเจดีย์ คือ ซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปสี่เหลี่ยม ยอดซุ้มทำเป็นรูปทรงอย่างเจดีย์ เช่น ซุ้มเสมาวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม, วัดสุทัศนเทพวราราม กทม. เป็นต้น โดยซุ้มเสมายอดเจดีย์นี้ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ กล่าวคือ มีการสร้างเป็นซุ้มเสมายอดเจดีย์ห้ายอด โดยทำเรือนซุ้มอย่างปราสาท มีมุขซ้อนและมุขลดทั้ง ๔ ด้านเทินรับเครื่องยอดทรงเจดีย์ ที่สันของมุขซ้อนแต่ละด้านเทินเจดีย์จำลองขนาดเล็กอีกด้านละองค์ รวมเป็นยอดเจดีย์แบบห้ายอด รูปแบบของซุ้มเสมาแบบนี้มีตัวอย่างที่ ซุ้มเสมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว), วัดระฆังโฆษิตาราม กทม. เป็นต้น
ซุ้มเสมาวัดอรุณฯ กทม.
๒. ซุ้มเสมายอดมณฑป คือ ซุ้มเสมาที่ทำส่วนยอดซุ้มให้มีลักษณะคล้ายอย่างเรือนยอดมณฑปหรือบุษบก เช่น ซุ้มเสมาวัดอรุณราชวราราม, วัดราชนัดดาราม กทม. และวัดขนอน จ.ราชบุรี เป็นต้น
ซุ้มเสมาวัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี
๓. ซุ้มเสมาทรงกูบ คือ ซุ้มเสมาที่ทำเรือนซุ้มเป็นรูปหลังคาโค้งอย่าง “กูบ” (ที่ใช้ประกอบสำหรับนั่งบนหลังช้าง) ส่วนยอดทำเป็นหัวเม็ดหรือปลีประดับ เช่น ซุ้มเสมาวัดดุสิตาราม, วัดช่องนนทรี กทม. วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี เป็นต้น
ซุ้มเสมาวัดราชโอรส กทม.
๔. ซุ้มเสมาทรงเกี้ยว คือ ซุ้มเสมาที่ทำรูปแบบลักษณะซุ้มคล้ายอย่าง “เรือนเกี้ยว” (พาหนะที่ตั้งบนคานใช้คนแบกหามของจีน) เป็นแบบแผนซุ้มเสมาที่เริ่มนิยมมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นต้นมา เช่น ซุ้มเสมาวัดราชโอรสาราม (วัดราชโอรส), วัดราชสิทธาราม กทม. และวัดเฉลิมพระเกียรติ จ.นนทบุรี เป็นต้น
ซุ้มเสมาวัดพิชัยญาติ กทม.
๕. ซุ้มเสมาทรงปรางค์ คือ ซุ้มเสมาที่นำรูปทรงลักษณะของพระปรางค์มาใช้ ซึ่งรูปแบบของพระปรางค์นี้มีความนิยมสร้างเป็นเจดีย์ประธานในสมัยอยุธยา เมื่อสร้างเป็นยอดของซุ้มเสมาจึงลดทอนรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้ได้ยอดเจดีย์ที่มีทรงสูง โดยสร้างให้ส่วนของเรือนธาตุเปิดเป็นช่องโปร่งใช้เป็นที่ตั้งเสมา ซุ้มเสมาในลักษณะเช่นนี้พบที่ ซุ้มเสมาวัดพิชยญาติการาม (วัดพิชัยญาติ), วัดปทุมคงคา, วัดอัปสรสวรรค์ กทม. เป็นต้น
ซุ้มเสมาวัดพุทไธสวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา
๖. ซุ้มเสมาทรงคฤห์ คือ ซุ้มเสมาที่สร้างเป็นเรือนหรืออาคารอย่างทรงคฤห์ (อาคารที่อยู่อาศัยของบุคคล) หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แบบประเพณีทุกประการ ทำให้เครื่องยอดของซุ้มเสมานี้ดูคล้ายกับบ้านเรือนแบบไทยตามแนวประเพณีเช่น เดียวกับพระราชวัง ตัวอย่างที่มีความชัดเจนมากคือ ซุ้มเสมาวัดพุทไธสวรรค์ จ.พระนครศรีอยุธยา
ในการสร้างซุ้มเสมานั้น นอกจากจะเป็นการทำนุรักษาเสมาให้มีความสมบูรณ์แล้ว ยังมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย โดยสามารถบอกถึงรสนิยมของผู้สร้างในสมัยต่างๆ โดยรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น ล้วนแต่เป็นการจำลองอาคารชั้นสูงมาแทบทั้งสิ้น โดยแฝงความหมายอันลึกซึ้งถึงเรือนเครื่องสูงอันเป็นที่ประดิษฐานเครื่องบูชา อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของเครื่องหมายที่บ่งบอกถึงเขตพุทธาวาสได้เป็นอย่าง ดี
ขอขอบคุณหนังสือ ธรรมลีลา โดย นฤมล สารากรบริรักษ์ คัดลอกมาจาก...หนังสือพิมพ์ผู้จัดการอ อนไลน์
ลิงค์ หัวข้อ: http://www.trytodream.com/topic/12685
เยี่ยมมาก ๆครับ สงสัยแต่ว่า ใบเสมาของวัดบวรนิเวศคู่หน้าพระอุโบสถที่ว่าเอามาจากวัดวังเก่า เมืองเพชรบุรีนั้น เอามาแต่ครั้งไหน แล้วเมื่อถอนใบเสมาคู้นี้มาแล้วอีกหกชิ้นไปอยู่ที่ไหน
ตอบลบ