วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตามเส้นทางเสด็จประพาส ประวัติศาสตร์จากภาพโบราณ


ตามเส้นทางเสด็จ ประพาส ประวัติศาสตร์จากภาพโบราณ


“เที่ยวเมืองพระร่วง” จัดได้ว่าเป็นงานศึกษาโบราณคดีเล่มแรกของประเทศไทย เพราะเกิดขึ้นจาก "ความตั้งพระทัย" ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ในครั้งเดินทางเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือของสยาม ในเขตอุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัยและพิษณุโลก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2450 หรือราว 100 ปีที่แล้วพอดี

หลังจากเดินทางท่องเที่ยวและสำรวจอารยธรรมโบราณมานานกว่า 2 เดือน เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร พระองค์ได้ทรงจัดให้พิมพ์หนังสือเผยแพร่การค้นคว้าของพระองค์ อธิบายถึงความเป็นมาเกี่ยวกับโบราณสถานของเมืองที่ทรงไปเยือนลงในชื่อเรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ในปีถัดมา

ทรงมีพระราชประสงค์อย่างหนักแน่นว่า “ หวังจะให้เป็นหนทางที่ผู้ชำนาญในโบราณคดีจะได้มีโอกาสพิจารณา และสันนิษฐานข้อความเกี่ยวข้องด้วยเมืองสุโขทัย สวรรคตโลกและกำแพงเพชร ”

และทรงมีพระราชปรารถว่า “ข้าพเจ้า ไม่มีความประสงค์ที่ยกหนังสือนี้เปนตำรับตำราอย่างใด เลยประสงค์แต่จะตั้งโครงพอเปนรูปไว้ทีหนึ่ง เพื่อผู้ที่มีความรู้และพอใจในการตรวจค้นโบราณคดีต่าง ๆ จะได้ตกแต่งแต้มให้เปนรูปอันงดงามดีขึ้นเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้าแม้ผู้ที่อ่านจะมีความเห็นไม่ตรงกับข้าพเจ้า ๆ จะไม่รู้สึกเสียใจเลย แต่ตรงกันข้าม ถ้าแม้ท่านผู้ใดมีความเห็นไม่ตรงกับข้าพเจ้าในข้อใด บอกชี้แจงให้ข้าพเจ้าทราบจะมีความยินดีและขอบคุณเปนอันมาก แลข้าพเจ้าจะรู้สึกว่าได้รับความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีก”

ด้วยสมเด็จพระบรม ฯ เจ้าฟ้าวชิราวุธ (ในเวลานั้น) ทรงถือพระองค์เป็นนักวิชาการแบบโลกตะวัน ด้วยทรงได้รับการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จึงทรงมีความภาคภูมิพระทัยในการสร้างสรรค์ค์งานค้นคว้า “เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระองค์ ซึ่งหลายครั้งพระองค์ก็ได้ใช้งานค้นคว้านี้อบรมราษฎรที่ไปเยือนเมืองโบราณ ว่า

“ บางคนถึงกับเปล่งอุทานวาจาว่าเมืองเก่านั้นจะไปดูอะไรป่านนี้ จนปรักหักพังเสียหมดแล้ว เพราะคนเรามีความคิดเช่นนี้ เรื่องราวของชาติจึงได้สูญเร็วนัก ชาวเราไม่รู้สึกลอายแก่ชาติอื่น ๆ เขาบ้างเลย น่าจะประสงค์ที่จะอวดว่าเราเปนชาติที่แก่กลับอาจจะลืมความแก่ของชาติเสีย อยากแต่จะตั้งหนึ่งใหม่ เริ่มด้วยสมัยที่รู้สึกว่าเดินไปสู่ทางจำเริญอย่างแบบยุโรปแล้วเท่านั้น ข้อที่ประสงค์เช่นนี้เพราะประสงค์จะให้ชาวยุโรปนิยมว่าชาติไทยไม่เคยเป็น ชาติ "ป่า" เลย พอเกิดขึ้นก็จำเริญเทียมหน้าเพื่อนทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดโดยแท้ ชาวยุโรปไม่นับถือของใหม่ทั้งชาติใหม่ นิยมในของโบราณและชาติที่โบราณมากกว่าทั้งนั้น ในหมู่เมืองในประเทศยุโรปเองแข่งกันอยู่เสมอว่าชาติไหนจะค้นคว้าเรื่องราว ของชาติได้นานไปกว่ากัน”

ทรงมุ่งหวังพระทัยอย่างแน่วแน่ว่า “จะ ทำให้คนไทยรู้สึกขึ้นมาบ้างว่า ชาติไทยเราไม่ใช่ชาติใหม่และไม่ใช่ชาติที่เปนคนป่า ฤาที่เรียกตามภาษาอังกฤษว่า “อันซิวิไลซ์” ชาติไทยเราได้จำเริญรุ่งเรืองมานานแล้ว”

ความตั้งพระทัยในการสร้าง "อารยธรรม" ให้กับชาวไทย จนเป็นที่มาของงานพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วง จึงถือเป็น"ต้นแบบ" การศึกษาประวัติศาสตร์โบราณคดี และมานุษยวิทยาของประเทศไทยในยุคแรก


ถึงแม้ว่าหลักฐานและข้อมูลที่พระองค์ใช้ในการศึกษา อ้างอิงนั้น เชื่อกันในปัจจุบันว่า อาจจะมี "ปัญหา" เพราะทรงใช้คำแปลของ "ศิลา จารึกหลักต่าง ๆ " ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศ วริยาลงกรณ์ เป็นแม่แบบในการคิดวาง "โครง เรื่อง" ของ พระองค์เกือบทั้งหมด เป็นแผนที่ในการเดินทางไปสู่เมืองสุโขทัย รวมทั้งพระราชวินิจฉัย ทั้งที่เห็นตามและขัดแย้ง ซึ่งล้วนเกิดจากการสอบถามผู้คนและข้าราชการที่เข้าไปอยู่ในยุคหลัง รวมทั้งยังทรงหยิบยืมเรื่องราวในพงศาวดารเหนือที่พระองค์ไม่เชื่อถือเพราะ เป็นนิทานกึ่งตำนานมากกว่าข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์มาร่วมใช้ในงาน”เที่ยว เมืองพระร่วง” ด้วย

“ปัญหา” ที่กล่าวถึง ก็คือ ปัญหาของการกำหนดอายุ ทั้งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน และรูปแบบศิลปะที่ "อาจจะ" มีการลักหลั่น สับเวลา สลับที่ทางกัน และ"อาจจะ" ไม่ใช่ "สุโขทัย" ในความรู้สึกรับรู้ของเราในปัจจุบัน

และด้วยเพราะงานศึกษาค้นคว้าในยุคต่อ ๆ มา ทั้งของเสด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยอร์ช เซเดส์ และผู้อวุโสอีกมากมายในช่วง 80 ปีที่ผ่านมา ต่างก็ยังใช่งานพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงเป็น "โครงร่าง" สำคัญ ในการศึกษา สรุปและวินิจฉัยยุคสมัย อายุและศิลปะของสุโขทัยและศิลปะที่คล้ายคลึงกันตลอดมา

จึงกลายเป็นการตอกย้ำ ผลิตซ้ำและยึดติดประวัติศาสตร์ของสุโขทัยให้อยู่กับที่ เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ให้ประวัติศาสตร์สุโขทัยสวยงามจากพ่อขุนรามคำแหงผู้ยิ่งใหญ่ของชาวไทยต่อ เนื่องมาสู่ "ชาติไทย" อันยิ่งใหญ่เท่านั้น

จนเกิดคำถามว่า ประวัติศาสตร์ไทย จำเป็นต้องเริ่มต้นจาก “เที่ยวเมืองพระร่วง”เสมอไปหรือไม่ เราใช้งานศึกษาของพระองค์ถูกต้องหรือเปล่า หรือ เรามีสิทธิโต้แย้งงานศึกษาของพระองค์ได้หรือไม่?

ทุกคนทำได้ครับ เพราะพระองค์ได้ให้คำตอบไว้นานแล้ว แต่ก็อย่าลืมชี้แจงให้พระองค์ทราบในความคิดเห็นของท่านด้วย!!!

ข้อสังเกตของนักวิชาการรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งในปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดกระแสความขัดแย้งในสังคมประวัติศาสตร์สุโขทัยอย่างรุนแรงใน ช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เช่นกรณี สุโขทัยไม่ใช่เมืองหลวงแห่งแรกของไทย, พ่อขุนรามไม่เคยไปเมืองจีน, ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมบูรณ์ แบบเกินไปหรือเปล่า, ลอยกระทงและนางนพมาศ ไตรภูมิพระร่วงพญาลิไทแต่งจริงหรือ, พระแท่นมนังคศิลาและศิลาจารึก พบที่ไหนกันแน่ ไม่ใช่ที่เนินปราสาทอย่างที่รู้กันอยู่, กำแพงตรีบูรวงนอกของเมืองสุโขทัยที่วัดได้ตามจารึก 3,400 วา นั้น ขุดตรวจสอบแล้วสร้างในสมัยอยุธยา แล้วตรีบูรในจารึกคืออะไร, พระพุทธรูปปางลีลาศิลปะคลาสลิคสุโขทัยที่คนไทยปัจจุบันภาคภูมิใจนักหนา อาจจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลางลงมาแล้ว, เครื่องถ้วย “สังโลก” คือถ้วยชามที่ผลิตที่เมืองสังฆโลก รุ่งเรืองในสมัยอยุธยาถึงตอนปลายไม่ใช่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ,ชื่อของ”ศรีสัชนาลัย”เป็น ชื่อในตำนานพงศาวดารเหนือ ชื่อจริงของเมืองศรีสัชนาลัยคือเมืองสวรรคโลกหรือสงฆโลก โลกแห่งพระสงฆ์ แล้วทำไมไปเอาชื่อมาสวมเมือง, พระสงฆ์เป็นผู้ผลิตเครื่องถ้วยสังฆโลก, เจดีย์สถูปสถานและศาสนสถาน ในศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรและสุโขทัย ส่วนใหญ่มาสร้างในสมัยที่อยุธยาเป็นราชธานีแล้ว และอีกมากมายหลายคำถาม

"ปุจฉา" ทั้งหลายนี้เกิดขึ้นจากการสงสัย คำถามและความพยายามในการย้อนอดีตการศึกษาค้นคว้าหรือ "ระเบียบวิธีวิจัย" ของพระองค์ ซึ่งก็ได้ทรงเปิดกว้างเอาไว้ แต่ก็มี "นักวิชาการ" ที่ใช้งานของพระองค์ก่อนหน้า กลับไม่ใจกว้างพอเท่ากับงานของพระองค์

การศึกษาค้นคว้าของสมเด็จพระบรม ฯ ถึงแม้จะทรงใช้ศิลาจารึกเป็นแผนที่ จนก่อให้เกิดชื่อใหม่ตามจารึกไปใส่ให้กับโบราณสถานที่รกร้างในสุโขทัย ศรีสัชนาลัย(สวรรคโลก) พระองค์ก็ยังมีพระราชวินิจฉัยเชิงวิทยาศาสตร์ เช่นการวิเคราะห์โบราณสถานที่น่าจะเก่าใหม่ตามสภาพธรรมชาติ เพราะโบราณสถานในเขตร้อน ถ้าปล่อยทิ้งรกร้างไว้ไม่ดูแลก็จะเสื่อมโทรมเร็วกว่าโบราณสถานที่อยู่ในเขต หนาว ถ้าโบราณสถานถูกละทิ้ง ธรรมชาติก็จะเข้ามาควบคุมและวัชพืชก็จะปกคลุมทันที ในช่วงฤดูร้อนโบราณสถานจะถูกไฟป่าเผาไหม้ซึ่งทำให้ไม้ที่พยุงหลังคาไหม้และ ทำให้เครื่องบนพังลงมาพร้อมทั้งล้มทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ข้างใต้ลง ในประเทศไทยการทำลายทางธรรมชาติยังเบากว่าการทำลายโดยมนุษย์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงพระราชทานเหตุผลว่า “เป็นเพราะความโลภและความหลง 2 ประการ ที่ทำให้คนลืมทั้งชาติและศาสนาได้ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของไทยเมื่อมีการฝังทรัพย์สินไว้ในกรุพระเจดีย์ หรือใต้ฐานพระประธานในวิหารหรืออุโบสถ ก็จะมีพวกขโมยเริ่มขุดทรัพย์สินทันทีที่อาคารนั้นถูกละทิ้ง”

ถึงแม้ในสมัยสุโขทัยเอง ก็มีหลักฐานจากจารึกหลักที่ 2 กล่าวถึงการขุดหาทอง ในพระเจดีย์ใหญ่ที่มีภาพชาดกพระเจ้า 500 พระชาติประดับอยู่ ซึ่งน่าจะถูกย้ายมาไว้ที่อุโมงค์วัดศรีชุมในเวลาต่อมา

นอกจากทอง ขโมยยังมองหาเครื่องรางของขลัง ซึ่งผู้ที่ได้ครอบครองจะมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยป้องกันอันตราย และนำความโชคดีมาสู่เจ้าของ พระวิเชียรปราการได้ทูล สมเด็จพระบรม ฯ ว่า พวกขโมยเหล่านี้รู้ดีทีเดียวถึงตำแหน่งที่ตั้งของกรุในเจดีย์แต่ละแบบ ดังนั้นพวกขโมยจึงไม่ต้องเสียเวลาค้นหา พระวิเชียรปราการได้เล่าถึงวิธีการอันชาญฉลาดที่ทำให้พระเจดีย์พังลงมา ก็คือเอาหวายผูกโยงยอดพระเจดีย์ไปผูกติดกับยอดไม้ พอพังต้นไม้ล้ม พระเจดีย์ก็โค่นพังไปด้วย

ก็เล่าเรื่องปูพื้นที่มาของเรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มาให้เพื่อน ๆ รับรู้ในระดับหนึ่งแล้วนะครับ ขออนุญาตนำภาพเก่าในครั้งเสด็จประพาสคราวนั้นมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ จากภาพโบราณ โดยนำพระวินิจฉัยของพระองค์มาสรุปและใช้คำอธิบายใหม่บางส่วนเพื่อความเข้าใจ ในปัจจุบันครับ

ภาพถ่ายทั้งหมดนี้ ผมปรับปรุงจากภาพประกอบในหนังสือ “ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง” ของอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ 2545 ครับ ซึ่งบางภาพอาจจะไม่ใช่ภาพในคราวเสด็จ ก็จะนำมาใช้ประกอบเรื่องด้วย


ภาพแรกเป็นภาพ "นักเลง โบราณคดี" ผู้กำลัง "สืบ สวนของบุราณ" ในสไตล์นักสืบผู้โด่งดังในอังกฤษ “เชอร์ลอคโฮมส์” ( Sherlock Holmes) ภาพนี้ถ่ายในปี 2451 หลังจากการเสด็จกลับจาก "เที่ยวเมืองพระร่วง" มีโบราณวัตถุ ร่วมเข้าฉาก เป็นมกรตสังคโลกวางอยู่บนโต๊ะและบัวดินเผาวางอยู่บนพื้น


ภาพนี้ ผมตั้งชื่อเองว่า “นี่ แน่ะเจ้าขอมดำดิน” เป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ในวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มาของแรงบันดาลในการพระราชนิพนธ์นิทานโบราณคดีเรื่อง “พระร่วงกับขอมดำดิน” ซึ่งรูปขอมศิลาแลงนี้ก็ถูกชาวบ้านกะเทาะจนเกือบหมด เพราะเชื่อว่ารักษาโรคได้ดี มีร่องรอยการสร้างวิหารขนาดเล็กครอบไว้ในช่วง 100 ปีที่แล้ว ทางข้างซ้ายของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุ


ภาพ วัดใหม่ อยู่ด้านหน้าสุดของถนนเข้าเมืองสุโขทัยเก่าตามเส้นทางปัจจุบัน ทรงสันนิษฐานว่า “พอแลเห็นน่าต่าง ก็เดาว่าเปนชิ้นใหม่” วัดนี้สร้างในสมัยหลังอยุธยาตอนกลาง มีพระปรางค์ขนาดเล็กตรงมุขตะวันตกและทำฐานเป็นแข้งสิงห์ ดูภาพแล้วเหมือนวัดเก่าแก่อยู่ในป่าไหมครับ แต่วัดร้างแค่ 30 – 40 ปี ก็มีสภาพแบบนี้ได้แล้ว




“ศาลตาผาแดง” ทรงวินิจฉัยว่าเป็นศาลเทพารักษ์ ซึ่งต้องเป็นที่นับถือในกรุงสุโขทัยโบราณ เพราะฝีมือการก่อสร้างปราณีต ทรงพระราชทานนามว่า "ศาลพระเสื้อเมือง" แต่กรมศิลปากรตั้งตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกตาผ้าแดง ครับ ภายหลังมีการขุดพบเทวรูปเทพเจ้าในศิลปะแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับที่พระองค์สันนิษฐานไว้


จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ได้เสด็จไปที่วัดร้างอีกแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าวัดใหญ่หรือวัดมหาธาตุ ทรงฉายพระรูปคู่กับเจดีย์ประธาน ซึ่ง “ทำเป็นยอดปรางค์ชะลูดเรียวงามดีและแปลกไน ยตานักหนา” ในสมัยนั้นยังไม่มีรู้จักชื่อเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เอามา ใช้เรียกกันในปัจจุบันเลยครับ พระองค์เชื่อว่า "พระศากยมุนี" พระประธานในวัดสุทัศนเทพวนาราม ที่กรุงเทพ ฯ ที่ถูกอัญเชิญไปในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมก็คือพระประธานของวิหารหลวงวัดมหาธาตุนี้เอง


ภาพ พระอัฐฐารศยืน สูง 18 ศอก ในวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่ถูกกล่าวถึงในจารึกหลักที่ 1
“กลาง เมืองศุโขทัยนี้มีพิหารมีพระพุทธรุปทอง มีพระอฐฐารศ มีพระพุทธรุป มีพระพุทธรูปอนนใหญ่ มีพระพุทธรูปอนนราม มีพิหารอนนใหญ่ มีพิหารอนนราม”
จึงทรงมีพระวินิจฉัยตามคำแปลของจารึกกำหนดให้วัดมหาธาตุมีอายุในสมัยพ่อขุน รามคำแหง ซึ่งก็
"อาจจะ"
ไม่ ใช่ทั้งหมด !!!


ปูนปั้นที่วัดมหาธาตุ สุโขทัย เป็น รูปของพระพุทธรูปปางลีลาในซุ้มมกรยอดเกียรติมุข หน้าบันเป็นเรื่องพุทธประวัติ ทุกสถูปทรงปราสาทประจำทิศ 4 มุม รอบพระมหาธาตุสุโขทัย ในสมัยนั้นยังมีความสมบูรณ์อยู่มากครับ แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน กลับถูกลักลอบทำลายทั้งจากการร่วงหล่นตามธรรมชาติและการกะเทาะออกไปสะสมเป็น ศิลปะ


วัดศรีสวาย ทรงมีรับสั่งว่าน่าชมมาก เพราะเหมือนกับปรางค์สามยอดที่ลพบุรี ทรงเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า ด้วยทรงพบซากของเสาไม้คู่ในปรางค์ และ ทรงพบแผ่นศิลารูปพระอิศวรจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า วัดศรีสวายครั้งหนึ่งเคยเป็นโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งในภายหลังมีการขุดค้นพบทับหลังในศิลปะแบบเขมรรูปนารายณ์บรรทมสินทธุ์ และพบรูปเคารพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเชื่อได้ตามพระวินิจฉัยว่า วัดศรีสวายเคยเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ก่อนแปลงมาเป็นลัทธิวัชรยานและเถรวาทในเวลาต่อมา



วัดพระบาทน้อย เป็น วัดที่พระองค์แนะนำให้ควรไปชมเป็นอย่างมาก ทรงเชื่อว่าเป็นวัดสำคัญของพ่อขุนรามคำแหง ชาวบ้านในย่านเมืองเก่าก็ยังคงขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท ให้เห็นในช่วงการเสด็จประพาส บนเขา พระบาทน้อยมีเจดีย์ทรง"จอมแห" มีมุข 4 ด้าน ใกล้เคียงกันมีฐานของพระเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงพระราชทานเหตุผลต่อการพังทลายของพระเจดีย์ใหญ่นี้ว่า เป็นความโลภของมนุษย์ที่มีการขโมยและค้นหาทรัพย์สินมีค่าที่บรรจุไว้ใน เจดีย์

“ถ้า คนเหล่านั้นได้ใช้ความเพียรพยายามและกำลังกายที่ได้ใช้ทำลายโบราณวัตถุนั้น ในทางที่ดีที่ควรแล้ว บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองหาน้อยไม่”


วัดสะพานหิน ทรงฉายพระรูปคู่ด้วยกับพระอัฐฐารศยืน
ซึ่งพระองค์ตั้งชื่อวัดให้ใหม่ตามศิลาจารึกที่กล่าวว่า
" ทางทิศตะวันตกของศุโขทัยเป็นอรญญิก ...ในกลางอรญญิกมีพิหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามนัก มีพระอัฐฐารศอนนหนึ่งลุกยืน"


ที่วัดศรีชุม ใน สมัยการเสด็จประพาส ยังมีโครงสร้างหลังคาไม้ และเครื่องบนหลังคาไม้ตกหล่นกองอยู่ที่พื้น เป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นว่า สุโขทัยเพิ่งร้างไปได้ไม่นานนี้เองครับ ไม่ใช่ร้างไปตั้งแต่มีกรุงศรีอยุธยาตามที่เข้าใจกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงปืนขึ้นไปด้านบานสุดของผนังมณฑปตามอุโมงค์ ทรงพบหลุมเสาขนาดใหญ่ ทั้ง 4 มุม จึงทรงเชื่อว่า หลังคาด้านบนของมณฑปวัดศรีชุมน่าจะเป็นหลังคาไม้ มีหน้าบัน หน้าจั่ว มุมด้วยกระเบื้อง


พระอัจนะก็ อยู่ในสภาพพังทลาย ไม่มีเค้าหน้าเดิม ก่อนที่จะมีการบูรณะทั้งองค์พระขึ้นมาใหม่ในปี 2510 อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน


ทรงพบฐานศิวลึงค์ทำด้วยศิลาแลงที่ วัดพระพายหลวง จึง ทรงมีพระวินิจฉัยว่าวัดพระพายหลวงควรเป็นโบสถ์พราหมณ์มาก่อนแล้วจึงค่อย เปลี่ยนมาเป็นวัดในพุทธศาสนา ทรงประทับใจกับลายปูนปั้นที่ประดับปรางค์ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งองค์ จึงทรงถ่ายภาพมาลงในหนังสือเพื่อ
"เป็น พยานว่าลวดลายงามเพียงไร"
เป็นภาพของพุทธประวัติพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้

วัดพระพายหลวง สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 ในศิลปะแบบนครวัด ก่อนจะมาแปลงเป็นสุคตาลัยประจำอโรคยศาลา ในพุทธศตวรรษที่ 18 ในลัทธิวัชรยานบายน ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในภายหลัง

จากเมืองเก่าสุโขทัย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จมายังเมืองสวรรคโลกทางถนนพระร่วงที่ยังเหลืออยู่มากทั้งถนนและคลองขนาน ถนนแต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้วนะ !!!

วัดแรกที่ทรงประพาสคือ วัดช้างล้อม เมืองสวรรคโลก
หรือจะเรียกว่าเมืองศรีสัชนาลัยเช่นในปัจจุบันก็ได้



หนึ่งใน 20 พระพุทธรูปปางมาวิชัยปูนปั้น

อิทธิพลแบบลังกาในซุ้มรอบฐานประ ทักษิณของเจดีย์วัดช้างล้อม



วัดต่อมาคือ “วัดเจดีย์เจ็ดแถว” ที่ทรงวินิจฉัยตามความในจารึก " 1209 ศก ปีกุร ให้ขุดพระธาตุออกทงงหลายเห็นกทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหาวนน จึงเอาลงฝงงในกลางเมืองศรีสชนาไลย ก่อพรเจดีย์เหนือหกจึงแล้วตั้งงวยงมาล้อมพระธาตุสามเข้าจึ่งแล้ว " เป็น วัดคู่แฝดกับวัดมหาธาตุที่สุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามเช่นเดียวกัน ชื่อของวัดมาจากผู้นำทางแต่งชื่อถวายในครั้งนั้น และได้กลายมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกวัดเจดีย์เจ็ดแถวในปัจจุบัน


เจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถวในป่ารก


เจดีย์ทรงปราสาท 11 ยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว สรางในคติเขาพระสุเมรุ

น่าจะสร้างต่อเติมในสมัยอยุธยาตอนปลายมาแล้ว


ทรงมีพระวินิจฉัยให้เจดีย์มุมหนึ่งของวัด เป็น "หลักเมือง" สวรรคโลก เพราะรูปแบบเป็นพระปรางค์ที่แตกต่างไปจากพระเจดีย์องค์อื่น ๆ ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว


เมื่อทรงพบเศียรพระศิวะที่ วัดเจ้าจันทน์ ทรงมีพระวินิจฉัยว่าปรางค์วัดเจ้าจันทน์ก็คือโบสถ์พราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์ เช่นเดียวกับที่วัดพระพายหลวงและวัดศรีสวายที่สุโขทัย ในภาพถ่ายเก่าปี 2510 ของกรมศิลปากร ปรางค์วัดเจ้าจันทน์ถล่มลงมาทั้งองค์ ต่างจากภาพนี้มาก อาจจะเพราะเหตุ "แผ่นดินไหว" หรือ "การรื้อหาขโมยของเก่า" ก็ได้


ทรงฉายพระรูปคู่กับวัดช้างรอบ เขตอรัญญิกาวาสของเมืองกำแพงเพชร ทรงสันนิษฐานว่า วัดช้างรอบน่าจะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุเช่นเดียวกับที่วัดอาวาสใหญ่ ใกล้เคียงกัน เพราะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่





ภาพโบราณสุดท้ายที่คัดมา เป็นภาพเหล่าข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย กำลังมะลุมมะตุ้มกับการขุดหาเครื่องสังคโลก เพื่อนำกลับไปพระนครด้วยในคราวเดียวกัน โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ กำลังทรงก้มลงจับเครื่องสังคโลกขนาดใหญ่ที่ข้าราชบริพารส่งให้

เป็นภาพถ่ายประเภท Show Action แสดงการขุดค้นทางโบราณคดีของประเทศสยาม ซึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นภาพ"การ ศึกษาทางโบราณคดี" เป็นภาพแรกของประเทศไทยก็ได้



ขอขอบคุณบทความจากคุณ ศุภศรุต www.oknation.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ