วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

สามล้อไทย






สายทางสามล้อไทย


หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2520 ได้ลงบทสักวาสี่บทไว้ดังนี้

ใครเอ่ย

เมื่อ ยามยาก เราเคย ได้ใช้สอย ไม่เคยขาด ค่ำเช้า ก็เฝ้าคอย

แม้ฝนปรอย เลนเปรอะ เลอะมรรคา

ถึงบัดนี้ ได้ดี มีรถนั่ง ลืมเพื่อนยาก ครั้งหลัง กระมังหนา

ทุกถนน ดั้นด้น ด้วยกันมา แม้นราคา ติดเอาไว้ ยังได้เคย

ใครเล่า

ที่พาเจ้า นั่งแอบ แนบสนิท สองต่อสอง ประลองลม ชื่นชมชิด

แขนโอบติด กระชับหลัง นั่งชมวิว

ยามยากจน ไร้รถยนต์ จะพาชื่น ขึ้นสามล้อ พอระรื่น รับลมลิ่ว

ด้วยฤทธิ์รัก รถน้อย เหมือนลอยปลิว ไม่บิดพริ้ว ถีบถึงไหน ก็ได้เอย

ใครกัน

เคยรับส่ง ลูกทุกวัน จะหาไหน ฝากชีวิต ลูกยา กล้าไว้ใจ

เช้ารับไป เย็นรับ เจ้ากลับมา

เด็กจะเล่น ซุกซน ก็ทนได้ เด็กร้องไห้ ปลอบพลัน ให้หรรษา

ถึงรับจ้าง ก็ไม่ห่าง ทางเมตตา คิดแล้วน่า เห็นใจ ไม่ลืมเลย

ใครนี่

ถีบรถเลี้ยง ชีวี น่าสงสาร

เหตุเพราะความ ยากจน พ้นประมาณ วางสังขาร เดิมพัน พนันชีวิต

ใครจะว่า อาชีพ นั้นต่ำช้า ไม่ถือสา ยึดความ สุจริต

เป็นพาหน คนยาก อยู่เป็นนิจ โปรดช่วยคิด สำคัญ กันบ้างเอย

สักวา ทั้งสี่บทนี้ แต่งโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไว้อาลัยในการที่ ทางการสั่งเลิกรถสามล้อ ซึ่งขณะนั้น ในกรุงเทพฯ มีอยู่ประมาณ 15,000 คัน ข้อรำพันนี้เป็นที่จับใจผู้อ่านอยู่ไม่น้อย





รถสามล้อ หรือถ้าจะเรียกกันให้เต็มความ ก็คือรถจักรยานสามล้อซึ่งใช้คนถีบ นั่นมีในเมืองไทย ตั้งแต่ราวปลายปี พ.ศ.2476 หรือต้นปี 2477 ผู้ประดิษฐ์คือ นายดาบ(ยศขณะนั้น)เลื่อน พงษ์โสภณ

รถจักรยานสามล้อในยุคแรก มีตัวถังอันเป็นที่นั่งของผู้โดยสารอยู่ทางด้านซ้ายมือของผู้ขี่ ตัวรถนั้นเป็นจักรยานสองล้อ ที่นั่งของผู้โดยสารเป็นคล้ายๆตะกร้าหรือกระเช้า มีล้ออีกล้อหนึ่งติดทางด้านซ้ายของที่นั่ง มีประทุนสำหรับบังแดดบังฝน ลักษณะเหมือนรถสามล้อในต่างจังหวัด หรือที่ในเขมรเรียกว่าละเมาะ กิจการสามล้อค่อยๆเจริญขึ้นเป็นลำดับพร้อมๆกับที่กิจการรถเจ๊กหรือรถลาก ค่อยๆเสื่อมลง เพราะมีผู้นิยมว่า สามล้อไม่ใคร่ทรมานสารถีเหมือนรถลาก คนที่ประกอบอาชีพทางลากรถก็หันมาถีบรถสามล้อแทน แม้ว่าในระยะวันสองวันแรกที่เริ่มถีบรถจะปวดน่องปวดขาอย่างเหลือหลายก็ตามที แต่พอฝืนถีบซ้ำไปอีกวันสองวัน แบบเอาหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง ความปวดก็อยู่ตัว แล้วก็ถีบต่อไปได้ตามแบบสะดวก สบายบรื้อไปเลย

เมื่อรถสามล้อเป็นที่นิยมมากขึ้น บรรดา “ เถ้าเก๋ ” รถ ลากก็ดัดแปลงรถลากที่มีอยู่ให้เป็นรถสามล้อ โดยใช้ตัวถังรถลากเป็นตัวถังรถสามล้อ ใส่ล้อเข้าที่ด้านข้างตัวถังข้างละล้อ แล้วต่อตัวถังเข้ากับจักรยานสองล้อแต่เอาล้อหลังออก ก็กลายเป็นสามล้อแบบที่ใช้กันต่อมา จนถึงสมัยที่ทางการสั่งเลิก ส่วนรถสามล้อตามแบบดั้งเดิมนั้นก็ออกไปเป็นรถตามต่างจังหวัด ซึ่งก็ได้รับความนิยมจากชาวบ้านมากพอดู





กิจการ รถสามล้อนี่เรียกว่ามีส่วนช่วยเศรษฐกิจอยู่ไม่น้อย คนหนุ่มๆที่ไม่มีงานทำก็หันมาถีบสามล้อรับจ้าง ค่าเช่าวันหนึ่งก็ราวๆ50-60 สตางค์ เช่ากันเป็นกะแบบแท็กซี่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเป็นสามล้อประเภทมีเครื่องตกแต่งมากๆเช่นมีบังโกลนชุบโครเมี่ยมเป็นมัน วาว มีตุ๊กตาติดตรงแฮนเดิลเป็นโครเมี่ยม มีริบบิ้นสีต่างๆติดแพรวพราย ดวงโคมประจำรถซึ่งติดอยู่ข้างๆตัวถังซ้ายขวาเป็นโคมไฟฟ้า แทนที่จะเป็นตะเกียงกระป๋องอย่างที่รถอื่นใช้กัน แถมยังมีไฟราวระยิบระยับอยู่ด้านหลัง ค่าเช่าก็แพงขึ้น แต่ค่าโดยสารรถจำพวกนี้ก็แพงขึ้นตามตัว ค่าเช่าอาจถึงคันละบาท และค่าโดยสารซึ่งรถสามล้อธรรมดาคิดชั่วโมงละ 40 สตางค์นั้น รถประเภทนี้อาจคิดถึงชั่วโมงละ 60-75 สตางค์ ผู้โดยสารรถประเภทนี้มักเป็นผู้ที่ชอบความหรูหราเฟี้ยวฟ้าวและแสงสีของยาม ราตรี มีทั้งหญิงและชาย

ถ้าหญิงก็เป็นประเภทที่ต้องตามเขาโบยบินไปเพื่อค้าสินในกาย ถ้าเป็นชายก็เป็นเชื้อสายชาวลุ่มแม่น้ำเหลือง ส่วนสารถีผู้ขี่รถประเภทนี้มักมีอยู่แบบเดียวคือเป็นหนุ่มวัยไม่เกินยี่สิบ ห้า มักจะตัดผมเป็นลอนข้างหน้าสองสามลอน ชะโลมน้ำมันเยิ้ม เลี่ยมฟันทองที่เขี้ยวซ้ายหรือเขี้ยวขวา นุ่งกางเกงแพรกระโจมอก เวลาไม่มีผู้โดยสารก็จะถีบรถไปเอื่อยๆพร้อมกับร้องเพลงสากลที่มีทำนองโห่ (Todling ) อยู่ในตอนท้าย เช่นเพลงที่มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “ เดือนตกจากฟ้าดาราพราว” หรือ “ น้ำตกโกรกซ่ากระเซ็นฝอย ” ร้อง ไปพลาง ก็ดีดกระดิ่ง กิ๋ง-ก๋อง ให้เข้าจังหวะ

โดยที่การนุ่งกางเกงแพร ไม่สะดวกต่อการถีบรถ สารถีหนุ่มๆจึงนุ่งกางเกงขาสั้นสีขาวกลีบโง้งแทน พอสงครามเอเซียบูรพาเริ่มขึ้นในปลายปี 2485 สิ่งต่างๆแพงขึ้นเรื่อยๆ ความโอ่อ่าฟุ่มเฟือยต่างก็ค่อยๆลดลง บ้านเมืองอยู่ในระยะต้องพรางไฟ ชีวิตราตรีต้องยุติหมด สามล้อประเภทนี้ก็ค่อยๆหายไป คงมีเหลือแต่สามล้อประเภทธรรมดา ซึ่งคนนิยมโดยสารมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะรถรางก็ไม่มี ค่าที่โรงไฟฟ้าถูกบอมบ์ รถแท็กซี่หายเหี้ยน เพราะน้ำมันเบ็นซิลนอกจากจะแพงจนจดไม่ติดแล้วยังหาซื้อไม่ได้ง่ายๆอีกด้วย ระยะนี้คนหนุ่มจากอีสานมาหากินทางขี่สามล้อในกรุงเทพฯอย่างมากมาย เพราะหาเงินได้สะดวกและได้มาก แหล่งที่อยู่ของชาวสามล้อที่มาจากอีสานนั้นส่วนใหญ่อยู่แถบซอยกิ่งเพชร วัดพระยายัง และยมราชตอนริมทางรถไฟ ส่วนแหล่งบริโภค ก็บริเวณโคนต้นโพธิ์วัดสระเกศ ซึ่งมีอาหารพื้นบ้านของชาวอีสานจำหน่ายอยู่มากมายหลายเจ้า





ในบรรดารถโดยสารสาธารณะหรือที่เรียกกันว่ารถรับจ้างนี้ รถสามล้อดูจะมีคนมองต่ำต้อยกว่าอื่น ยิ่งผู้ขับขี่ด้วยยิ่งแล้วใหญ่ แต่ทว่า รถสามล้อนี่แหล่ะ ได้เป็นยานพาหนะ ที่ประทับของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินมาแล้ว นายกรัฐมนตรีก็เคยนั่ง

ผู้แทนราษฎรก็เคยถีบสามล้อ และผู้แทนราษฎรบางคน ก่อนที่จะได้มาเป็นผู้แทนราษฎรก็เคยถีบสามล้อไปส่งนักเรียนที่มหาวิทยาลัย เคยเอามือลูบอักษรชื่อมหาวิทยาลัยนั้นด้วยความรักที่จะเรียนที่นั่นและต่อมา ก็มุมานะจนกระทั่งได้มาเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย นั้นด้วยซ้ำไป



เมื่อพระบาทสม เด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดลเสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกในปี พ.ศ.2481 ได้เสด็จทอดพระเนตรงานฉลองรัฐธรรมนูญโดยประทับบนรถสามล้อมีผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนครในขณะนั้นจูงรถพระที่นั่งถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันซึ่งในขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสริ ยศเป็นสมเด็จพระราชอนุชาประทับรถสามล้อพระที่นั่งอีกคันหนึ่ง คู่ไปกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ในคืนวันที่ 7 พฤศจิกายน 2490 ที่ สวนอัมพรได้มีงานของสมาคมศิษย์เก่าสายปัญญา เพื่อเก็บเงินบำรุงการกุศล ดูเหมือนเรียกว่างานเมตตาบันเทิง ดร.โชติ คุ้มพันธุ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้แทนราษฎร ได้แต่งกายแบบกรรมกรสามล้อ ถีบสามล้อไปรอบๆเวทีลีลาศ ผู้ใดจะโดยสารก็ได้แต่ต้องจ่ายค่าโดยสารซึ่งจะสบทบทุนการกุศลนั้น ผู้โดยสารในคืนนั้นคือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีนั่งคู่กับ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนได้เปิดอภิปรายโจมตีรัฐบาลหลวงธำรงฯชนิดไม่ เลี้ยงเป็นเวลาถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน ตัว ดร.โชติ ผู้ขี่สามล้อเองก็เป็นผู้ตีหนักในเรื่องเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ตามปรกติในฤดูร้อน พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมักจะเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่หัวหิน เล่ากันว่า วันหนึ่ง ขณะที่ทรงพระดำเนินอยู่แถวตลาด ได้มีจักรยานสามล้อคันหนึ่งแล่นเข้ามาใกล้ และคนขี่สามล้อซึ่งไม่รู้จักพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ “ กราบบังคมทูล” เชิญชวนให้ประทับรถของเขาด้วยคำพูดว่า

ไปไหมเสี่ย ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ เสด็จขึ้นประทับรถสามล้อนั้น และมีพระราชดำรัสสั่งให้นายสารถีสามล้อ ถีบไปส่งที่พระราชวังไกลกังวล



ในกรุงเทพมหา นครและธนบุรี มีอยู่จุดหนึ่งซึ่งสารถีสามล้อไม่ชอบผ่านคือสะพานกษัตริย์ศึก อันเป็นสะพานลอยแห่งแรกของเมืองไทย ถ้าสามล้อคันใดถูกเรียกให้ไปส่งยังจุดที่ต้องข้ามสะพานนั่นแล้วละก้อ เป็นต้องคิดค่าโดยสารแพงกว่าไปเส้นทางอื่นในระยะทางเท่ากันทีเดียว ทีนี้ก็มีเรื่องๆหนึ่งเกิดขึ้นระหว่างคนขี่สามล้อกับคุณโชติ “ยาขอบ” แพร่พันธุ์ คือ วันหนึ่ง ยาขอบ เรียกสามล้อที่วัดช่างแสง (ใกล้วงเวียนเจริญผล)ให้ไปส่งยัง “สำนักงานนายเมตตา” ที่ถนนเฟื่องนคร และถามคนขี่สามล้อว่าจะคิดราคาเท่าไร

“หกสลึง” สามล้อบอกราคา

“บาทเดียวเท่านั้น” ยาขอบต่อ

สามล้อมองไปยังสะพานกษัตริย์ศึก ซึ่งเห็นสูงชันอยู่ข้างหน้า แล้วก็ ต่อรองว่า “ขอค่าขึ้นสะพานสักสลึงเถอะครับ”


“ยาขอบ” ขึ้นนั่งบนรถ ทันที เมื่อถึงปลายทาง ก็หยิบเงินส่งให้หนึ่งบาท

“ไหนผมขอค่าขึ้น สะพานสลึงหนึ่งไงละครับ” สามล้อท้วง

“ก็ให้แล้วนี่ ขาขึ้นให้เพิ่มสลึงหนึ่ง ขาลงก็หักสลึงหนึ่งก็เหลือบาทหนึ่งพอดีๆไงล่ะ”




เวลานี้ไม่มีแล้ว สามล้อในกรุงเทพฯ ยังมีบ้างเป็นกระเส้นกระสายก็แต่ในต่างจังหวัดบางแห่ง คนกรุงยุคปัจจุบันที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี คงจะไม่รู้จักสามล้อเลยเป็นแน่แท้ เว้นเสียแต่ว่าจะได้ไปเห็นที่ต่างจังหวัดเท่านั้น

อ้างอิงจาก บทความ รถสามล้อในเมืองไทย

เรียบเรียงโดย ลาวัณย์ โชตามระ( ได้รับความร่วมมือจาก คุณประจวบ ปานบำรุง)

ตีพิมพ์ในหนังสือ ที่ระลึก การแข่งขันเกตุมแรลลี่ ครั้งที่ 2 30 ตุลาคม 2520


สายทางสามล้อไทย
บนสายทางของการเดินทาง หลากหลายพาหนะที่นำไปสู่จุดหมาย "สามล้อ" เป็นวิถีหนึ่งของสายทาง ซึ่งแม้เวลาจะหมุนเวียนเปลี่ยนไป หากสายทางของสามล้อยังคงผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย ภาพลักษณ์ของความภูมิใจ ในความสามารถแห่งการประดิษฐ์ของคนไทย ที่นำไปประยุกต์ เข้ากับวิชาชีพได้อย่างกลมกลืน



กำเนิดสามล้อ
พ.ศ. 2476 รถสามล้อได้ถือกำเนิดขึ้นในประเทศไทย เป็นครั้งแรกที่จังหวัด นครราชสีมา โดยนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ นำรถลาก หรือรถเจ็ก มาดัดแปลงร่วมกับจักรยาน รถสามล้อแบบนี้ ถือเป็นต้นแบบของรถสามล้อ ที่ใช้รับผู้โดยสาร แพร่หลายไปทั่วประเทศจนถึงปัจจุบัน



สามล้อพ่วงข้าง
ในระยะเวลาต่อมา ได้มีผู้นำรถจักรยานมาดัดแปลง โดยเพิ่มล้อและกระบะพ่วงเข้าที่ด้านข้าง ติดตั้งเก้าอี้หวายยึดแน่นกับกระบะ ออกวิ่งรับจ้างโดยสาร รถสามล้อประเภทนี้จัดว่าเป็นรถต้นแบบ ของสามล้อพ่วงข้าง ปัจจุบันสามล้อพ่วงข้างตามแบบที่ปรากฎนี้ ยังคงใช้กันอย่างแพร่หลาย ในจังหวัดทางภาคใต้



สามล้อเครื่อง
เพื่อเป็นการทุ่นแรง และสามารถรับส่งผู้โดยสารได้ในระยะที่ไกลขึ้น นักประดิษฐ์ชาวไทยได้ดัดแปลง นำเครื่องจักรยานยนต์มาติดกับรถสามล้อ แบบที่ใช้คนถีบ ปรากฎว่าได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะนอกจากไปได้ ในระยะทางที่ไกลกว่าแล้ว ความรวดเร็วก็เป็นส่วนสำคัญ ปัจจุบันสามล้อเครื่องสามารถพบเห็น ได้ทุกภาคของประเทศ



ซาเล้ง
ซาเล้ง หรือสามล้อแดง เป็นรถสามล้ออีกประเภทหนึ่ง ที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยวัตถุประสงค์สำคัญ เพื่อใช้ส่งสินค้าที่มีนำหนักไม่มากและระยะทางไม่ไกลนัก คุณลักษณะเป็นสามล้อใช้แรงถีบ ผู้ขับขี่อยู่ด้านหลังกระบะบรรทุก เมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงมีการนำเครื่องยนต์ขนาดเล็กมา ดัดแปลงติดตั้งกับซาเล้ง วิ่งรับจ้างโดยสารตามตรอกซอยต่างๆ



ตุ๊ก-ตุ๊ก
รถตุ๊ก-ตุ๊ก มีกำเนิดมาจากการนำสามล้อเครื่องกระบะบรรทุกจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาดัดแปลงเป็นรถนั่งโดยสาร เมื่อปี พ.ศ. 2503 เพื่อทดแทนรถสามล้อถีบ ซึ่งถูกห้ามวิ่งในเขตกรุงเทพฯ ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตได้เอง และส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ ในนาม "TUK-TUK" สามล้อตุ๊ก-ตุ๊ก มีบริการทั่วไปทุกจังหวัด และเป็นที่นิยมเป็นอย่างยิ่งของนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ



ตุ๊ก-ตุ๊กสองแถว
รถตุ๊ก-ตุ๊กสองแถว เป็นรถที่มีวิวัฒนาการมาจาก รถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา โดยดัดแปลงเบาะนั่งด้านหลังเป็นที่นั่งสองแถว ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับผู้โดยสารได้จำนวนมากขึ้น และเก็บค่าโดยสารเป็นรายคน ไม่ได้เหมาทั้งคัน เช่น รถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา สามารถพบเห็นได้ตามแหล่งชุมชนใหญ่ๆ เช่น ตามท่ารถโดยสาร ท่าเรือข้ามฟาก หรือตลาดสด



ตุ๊ก-ตุ๊กเดอลุกซ์
ด้วยสายเลือดของนักประดิษฐ์ไทย ได้มีการนำรถตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา มาดัดแปลงและประดับตกแต่งเพื่อความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นตัวถัง วงล้อ เบาะนั่ง แผงหน้าปัด กระจังหนา รวมทั้งเครื่องยนต์ ที่เปลี่ยนจากเครื่องยนต์ 2 จังหวะ มาเป็น 4 จังหวะ จากตุ๊ก-ตุ๊กธรรมดา ก็กลายเป็นตุ๊ก-ตุ๊กเดอลุกซ์ ซึ่งมีวิ่งบริการในหลายจังหวัดของภาคตะวันออก



สามล้อเครื่องยนต์
ในยุคที่เครื่องยนต์ใช้แล้วราคาถูกจากต่างประเทศ หลั่งไหลเข้ามาแทบล้นตลาด ตามชื่อที่รู้จักกันว่า "เครื่องเก่าเซียงกง" นักประดิษฐ์ไทยแถบจังหวัดภาคตะวันออกก็นำเครื่องยนต์เหล่านี้ ไปดัดแปลงออกติดตั้งในสามล้อเครื่อง เพื่อเพิ่มสมรรถนะ ทั้งด้านกำลังเครื่องยนต์ ความเร็ว ความกว้างของที่นั่งโดยสาร และพื้นที่สำหรับบรรทุกสิ่งของ



สกายแล็บ
เมื่อครั้งสถานีอวกาศ "สกายแล็บ" กำลังเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก คนไทยในขณะนั้นได้ประดิษฐ์สามล้อขึ้น และเรียกชื่อตามสมัยนิยมว่า "สามล้อสกายแล็บ" โดยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดอุดรธานี แล้วแพร่กระจายไปทุกจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลักษณธเป็นสามล้อที่ใช้กำลังเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์ ที่นั่งโดยสารตอนหลังเป็นสองแถว จุดเด่นของสกายแล็บ ก็คือสีสันที่สดใส และช่วงหน้าจะมีลักษณะเชิดสูงขึ้น



ไก่นา

เมื่อมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ถือกำเนิดและแพร่หลายไปทุกท้องถิ่นทั่วประเทศ ก็มีแนวความคิดว่าจะทำอย่างไร จึงจะรับผู้โดยสารได้ครั้งละหลายๆคน รถสามล้อแบบมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างจึงถูกประดิษฐ์ขึ้น เมื่อไม่ต้องการออกรับจ้าง ผู้โดยสารก็สามารถถอดเฉพาะตัวรถ ขับขี่ไปทำธุระกิจได้ ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกสามล้อแบบบนี้ว่า "ไก่นา"



มีขวดมาขาย
อาชีพรับซื้อของเก่าประเภท ขวดเปล่า กระด่ษหนังสือพิมพ์ หรือเศษโลหะ ซึ่งแต่เดิมเรามักจะเห็นภาพขอวชาวจีนชรา พร้อมด้วยหาบเข่งคู่บนบ่าเดินร้องประกาศไปตามบ้าน แต่ปัจจุบัน จากการนำเอาซาเล้ง หรือสามล้อแดงมาดัดแปลงต่อกระบะให้ยาวขึ้น นำบางส่วนของรถมอเตอร์ไซค์ขนาดเล็ก มาเชื่อต่อเข้า ก็เกิดสามล้ออีกประเภทหนึ่งเข้ามาแทนหาบเข่งคู่



สัมมาอาชีพ
จากจุดกำเนิดเมื่อ พ.ศ. 2476 สายทางสามล้อไทย ได้ดำเนินและมีวิวัฒนาการ ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี่มาโดยลำดับ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นสามล้อประเภทที่ยังใช้แรงคน หรือกำลังเครื่องยนต์ ก็ได้ถูกดัดแปลงมาใช้เพื่อการประกอบสัมมาอาชีพ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นขนมถาด ไอศครีม ผลไม้ดอง หรือลูกชิ้น-ไส้กรอก

ที่ มา..baanjomyut.com





























www.tourthai.com









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ