วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

มรดกเจ็งกิสข่าน.....





Genghis Khan ถือกำเนิดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 1710 บิดา ชื่อ Yusugei Baghutur เป็นหัวหน้าของชนกลุ่มน้อยเผ่า Kiyad ในประเทศมองโกเลีย เมื่อเจ็งกิสข่านเกิด บิดาทำสงครามชนะพวก Tatar (Tatar เป็นคำที่คนรัสเซียเรียกมองโกล แต่คนยุโรปเรียกคนเผ่านี้ว่า Tartar ซึ่งแปลมาจากคำ Tartarus ในภาษาละตินที่แปลว่า นรก อีกทอดหนึ่ง) และจับหัวหน้าเผ่า Tatar ชื่อ Temujin ได้ (เตมูจิน แปลว่า ช่างตีเหล็ก) เพราะประเพณีมองโกลถือว่า เมื่อจับแม่ทัพหัวหน้าข้าศึกได้ จะต้องนำชื่อของเชลยมาตั้งเป็นชื่อของบุตรชาย เพื่อให้ความกล้าหาญ และความแข็งแรงของศัตรูที่ตนจะฆ่า ได้ถ่ายทอดสู่บุตรของตน เจ็งกิสข่านในวัยเด็กจึงมีชื่อว่า เตมูจิน

เมื่อเตมูจินอายุ 8 ขวบ เขาได้สมรสกับ Borte ผู้เป็นบุตรสาวของหัวหน้าเผ่า Onggirad Borte มีอายุมากกว่าเตมูจิน เพราะประเพณีมองโกลถือว่า การมีภรรยาที่มีอายุมากกว่า นอกจากจะให้กำเนิดบุตรได้ในเวลารวดเร็วแล้ว ภรรยายังสามารถให้คำแนะนำดี ๆ แก่สามี เด็กของนางได้ด้วย ซึ่ง Borte ก็ได้ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี จนเตมูจินหลงรักนางมาก และเมื่อนางถูกศัตรูลักพาตัวไป เตมูจินกับเพื่อนได้กรีธาทัพเข้าโจมตียึดตัวนางคืน

เมื่อเตมูจินมีอายุพอสมควร เขาก็ได้รับตำแหน่งหัวหน้าเผ่า จึงได้ระดมนักรบในเผ่าต่างๆ ที่มีบรรพบุรุษร่วมกันมาเป็นพันธมิตรร่วมน้ำสาบาน และให้ชนเผ่าที่แข็งแรงกว่าช่วยเหลือ และปกครองชนเผ่าที่อ่อนแอกว่า ส่วนเผ่าที่ทำสงครามแพ้ก็มักอนุญาตให้เข้ามาเป็นพวก เมื่อกองทัพของเตมูจินมีกำลังมากขึ้นๆ จึงได้ทำสงครามชนะในการสู้รบกับชนเผ่าอื่นๆ เช่น เผ่า Tatar ในมองโกเลียตะวันตก เผ่า Turk ในเอเชียกลาง เผ่า Tanghud ในจีนตะวันตกเฉียงเหนือ และเผ่า Chin ในจีนเหนือ

การสู้รบเช่นนี้ทำให้โลกรู้สึกว่าเตมูจินเป็นนักรบที่ป่าเถื่อน ดุร้าย และชอบปล้นสะดม ซึ่งก็จริงเพราะ Rashid al-Din ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ชาวเปอร์เซียในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ที่รู้ภาษามองโกลดี ได้เคยบันทึกคำพูดของเตมูจินว่า สิ่งที่ดีที่สุดในการทำสงครามใดๆ คือ การรบชนะ การได้ขี่ม้าที่ดีที่สุด และได้ครอบครองภรรยาของแม่ทัพข้าศึก

ในปี พ.ศ. 1749 หลังจากทำสงครามชนะศึกไปทั่วสารทิศ เตมูจินสถาปนาตนขึ้นเป็นเจ็งกิสข่าน (Genghis Khan) ปกครองเผ่ามองโกลทั้งหมด (Khan แปลว่า หัวหน้า ตรงกับคำเปอร์เซียว่า shah ส่วนคำ Genghis นั้น ตรงกับคำตุรกีว่า tengiz ซึ่งแปลว่า มหาสมุทรหรือทะเล) ทั้งนี้เพราะในสมัยนั้น ผู้คนยังเชื่อว่าโลกแบนราบ และแผ่นดินมีมหาสมุทรล้อมรอบ ดังนั้นคำว่า Genghis Khan จึงหมายถึงกษัตริย์ผู้ปกครองโลกทั้งโลก

หลังจากที่ได้สถาปนาตนขึ้นเป็นเจ็งกิสข่านแล้ว พระองค์ได้ทรงปฏิรูปการทหาร โดยกำหนดให้ทหารมีความแข็งแกร่งในการทำสงคราม และให้มีความซื่อสัตย์ รวมทั้งความจงรักภักดีต่อพระองค์ ทรงจัดระบบรักษาความปลอดภัยให้มีทหารคุ้มกันภัย ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน นายทัพใดที่มีผลงานดีก็จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดตามหัว เมืองทันที

ในด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ พระองค์ได้ทรงเปิดประตูสัมพันธภาพกับหลายประเทศ เพราะพระองค์ทรงรู้ว่าจีนเป็นชาติที่มีอารยธรรมสูง และตุรกีที่ตั้งอยู่ใกล้มองโกเลียในมีการประดิษฐ์อักษร Uighur-Nestorian เพื่อใช้ในการสื่อสาร พระองค์จึงทรงให้พระราชบุตรเรียนภาษาตุรกี เพื่อจะได้ติดต่อกับอาณาจักรตุรกีในอนาคต

นักประวัติศาสตร์หลายคนคิดว่า จักรพรรดิเจ็งกิสข่านทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่า Alexander, Hannibal Caesar, Attila และ Napoleon ดังจะเห็นได้จากยุทธวิธีการทำสงครามของพระองค์ ซึ่งใช้ทหารม้าที่มีอาวุธคือ ธนูสำหรับยิงโจมตีข้าศึก โดยเจ็งกิสข่านจะทรงสั่งให้กองทัพม้าแสร้งทำเป็นแพ้ถอยหนี เพื่อให้ทหารข้าศึกควบม้าไล่ตามอย่างไม่เป็นขบวน แล้วกองทหารม้าของเจ็งกิสข่านก็รวมตัวกันใหม่อย่างเป็นระเบียบ เพื่อโจมตีกองทัพม้าข้าศึกที่ไล่ตาม การมีทักษะในการควบและบังคับม้าสูง ทำให้ทหารเจ็งกิสข่านมีชัยอย่างง่ายดาย จนเจ็งกิสข่านสามารถครอบครองดินแดนที่มีอาณาบริเวณกว้างขวางตั้งแต่ ทะเลดำ (Black Sea) จนถึงทะเลเหลือง (Yellow Sea) และทุกหนแห่งที่กองทัพมองโกลเดินทางถึง กองทัพก็ได้นำอารยธรรมของถิ่นนั้นมาผสมกับอารยธรรมตนเช่น นำอารยธรรมและเทคโนโลยีของจีน และอิหร่านมาใช้ มีการสร้างปืนใหญ่ให้มีประสิทธิภาพในการยิงสูงขึ้น และเมื่อกองทัพเจ็งกิสข่านพิชิตเอเชียกลาง การติดต่อค้าขาย และแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกรรมที่เกิดขึ้นทำให้เจ็งกิสข่านสามารถนำชาวนาจีน มาช่วยทำชลประทานของชาวมองโกลได้หลายโครงการ

นักประวัติศาสตร์ยอมรับว่า เจ็งกิสข่านเป็นจักรพรรดิอัจฉริยะพระองค์หนึ่ง ถึงแม้พระองค์จะทรงไม่ได้รับการศึกษา แต่พระองค์ก็ทรงเฉลียวฉลาด เพราะในยุคสมัยของพระองค์มีประเพณีที่ถือว่าในการสู้รบแม่ทัพต้องรอบรู้ด้าน การเมืองด้วย และการมีเศรษฐกิจดีคือ อำนาจชนิดหนึ่งของประเทศ

นอกจากนี้ เจ็งกิสข่านยังทรงมีความเข้าใจในโครงสร้างของระบบอำนาจในสมัยนั้นดีด้วยว่า ขึ้นตรงกับระบบเครือญาติ ไม่ว่าจะเป็นญาติกันโดยการสมรส การสาบานหรือญาติตรง การมีญาติเยอะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการทำสงครามแก้แค้น ซึ่งถ้าชนะเผ่าของตนก็จะสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้เผ่าตนก็ต้องตกเป็นเชลย ดังนั้น ในความเห็นของเจ็งกิสข่าน สงครามคือกระบวนการหนึ่งที่สามารถทำให้นโยบายของชาติบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น ในการรวบรวมอาณาจักรมองโกลให้เป็นหนึ่งเดียว เจ็งกิสข่านจึงเปิดสนามรบสี่ทิศ โดยการโจมตีจีนทั้งเหนือและใต้ และนำทัพมองโกลบุกรุกถึงแม่น้ำ Dnieper ในรัสเซียใต้ และเมือง Khwarlzm ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเปอร์เซีย

ในการทำสงครามนั้น Matthew Paris นักบวชแห่งเมือง St. Albans ในประเทศอังกฤษ ได้บันทึกในหนังสือ Chronica Majorca เมื่อปี พ.ศ. 1783 ว่าชาวยุโรปกลัวความป่าเถื่อนของกองทัพมองโกลมาก เพราะม้ามองโกลสูงใหญ่ และทหารม้าดุร้ายสุด ๆ สำหรับเหตุผลในการแสวงหาดินแดนของกองทัพมองโกลนั้น Arnold Toynbce ได้เคยเขียนหนังสือ A Study of History ว่า เพราะคนมองโกลมีความผูกพันกับม้ามาก ดังนั้น เมื่ออากาศแห้งแล้ง หญ้าจะขาดแคลน ทำให้ม้าไม่มีอาหารจะบริโภคจนอาจล้มตายได้ ดังนั้น ชนชาวมองโกลจึงต้องอพยพย้ายถิ่น การอพยพทำให้มีการล่วงล้ำอาณาเขตการยึดครองของชนเผ่าต่างๆ และนี่ก็คือที่มาของสงครามเผ่า และถึงแม้กองทัพมองโกลจะได้ครอบครองโปแลนด์ รัสเซีย ฮังการี แหลมบอลข่าน แต่ในที่สุดกองทัพก็ต้องถอยกลับหมด เมื่อทายาทของเจ็งกิสข่านแพ้สงครามบ้าง และเสด็จสวรรคตบ้าง และเมื่อถึงปี พ.ศ. 1803 Qubilai Khan ได้ทรงย้ายนครหลวงได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมือง Kharakhorum ในมองโกเลียไปอยู่ที่เมืองปักกิ่งในประเทศจีน การทำนุบำรุงส่งเสริมอารยธรรมจีน ทำให้อารยธรรมมองโกลเสื่อมลงๆ จนแตกสลายในที่สุด

ในวารสาร American Journal of Human Genetics ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2546 Chris Tyler-Smith แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ในประเทศอังกฤษ ได้รายงานว่า ชายเอเชีย 1 คนในทุก 12 คน มีเชื้อมองโกล

สืบเนื่องมาจากการที่เจ็งกิสข่านได้เคยเข้ามาครอบครองดินแดนที่กว้างใหญ่ ไพศาล ตั้งแต่ทะเล Aral ในอัฟกานิสถาน จนถึงทะเลเหลืองในจีน การสมรสระหว่างทหารกับสาวพื้นเมืองในประเทศต่างๆ ทำให้ลูกหลานมีโครโมโซมชนิด Y ของชาวมองโกล โดย Tyler-Smith ได้ศึกษา Y Chromosome ของชายเอเชีย 2,100 คน ดู DNA ว่ามีส่วนใดที่เหมือนกัน หรือซ้ำกันบ้าง การปรากฏของ DNA ที่เหมือนกันสามารถใช้เป็นตัวบอกความเป็นพ่อลูกของบุคคลได้ และ Tyler-Smith ก็ได้พบว่า 8% ของผู้ชายเหล่านี้มี Y Chromosome ที่คล้ายกันหรือเหมือนกัน ซึ่ง Tyler-Smith ได้แสดงให้เห็นว่า การที่เป็นเช่นนี้ เพราะทหารมองโกลมักฆ่าทหารที่พ่ายแพ้แล้วมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาของทหารที่ เสียชีวิต และนี่ก็คือเหตุผลที่แสดงให้เห็นว่า เหตุใดคนปากีสถานเผ่า Hazara จึงมียีน (gene) ของชาวมองโกล แต่การที่จะฟันธงลงไปว่า คนเอเชีย 12% เป็นทายาทห่างๆ ของเจ็งกิสข่านนั้น ไม่สมควร
ดังนั้น P. Underhill แห่งมหาวิทยาลัย Stanford ในสหรัฐฯ จึงได้เสนอแนะให้ขุดหาที่ฝังศพของเจ็งกิสข่านให้พบ เพื่อจะได้เปรียบเทียบโครโมโซมของจักรพรรดิแห่งจักรพรรดิผู้นี้ กับชายเอเชียว่าเป็นญาติกันเพียงใดหรือไม่ครับ


ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : www.ipst.ac.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ