วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

ฮีตสิบสอง-ครองสิบสี่


ฮีตสิบสอง-ครองสิบสี่


เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น และมีส่วนช่วยให้ชาติดำรงความเป็นชาติของตนอยู่ตลอดไป

ฮีตสิบสอง มาจากคำสองคำ คือ ฮีต และ สิบสอง
ฮีต มาจากคำว่า จารีต ซึ่งหมายถึง ความประพฤติ ธรรมเนียม ประเพณี ความประพฤติที่ดี
สิบสอง มาจาคำว่า สิบสองเดือน
ดังนั้นคำว่า ฮีตสิบสอง หมายถึง ประเพณีที่ประชาชนในภาคอีสานปฏิบัติกันมาในโอกาสต่าง ๆ ทั้งสิบสองเดือนของแต่ละปี

ฮีตแต่ละอย่างกำหนดให้ปฏิบัติในแต่ละเดือนครบทั้ง 12 เดือน เดือนใดมีจารีตประเพณีอะไรประจำเดือน นักปราชญ์โบราณได้วางฮีต 12 ไว้ ดังนี้





1. เดือนเจียง(เดือนอ้าย) บุญเข้ากรรม

บุญเข้ากรรมเป็นกิจกรรมของสงฆ์ เรียกว่า เข้าปริวาสกรรม โดยให้พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอาบัติ (กระทำผิด) สังฆาทิเสสได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่อง ของตน แล้วปรับตัวประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมกำหนดไว้ 9 ราตรี กำหนดให้พักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีคนพลุกพล่าน (อาจเป็นบริเวณวัดก็ได้) โดยมีกุฎิชั่วคราวเป็นหลัง ๆ พระภิกษุสงฆ์เข้าปริวาสกรรมคราวหนึ่ง ๆ จะมีจำนวนเท่าใดก็ตาม แต่ต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปไว้ก่อนว่าตนเองจะเข้ากรรม และเมื่อถึงเวลาออกกรรมจะมีพระสงฆ์ 20 รูป มารับออกกรรม เรียกว่า สวดอัพภาณ แปลว่า รับกลับเข้าพวก พิธีทำบุญเข้ากรรมไม่ถือว่าเป็นการล้างบาป แต่เป็นการวารณาตนว่าจะไม่กระทำผิดอีก ส่วนกิจของชาวพุทธในบุญเข้ากรรมน ี้คือ การหาข้าวของเครื่องอุปโภค บริโภคถวายพระ เชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป



2. เดือนยี่ บุญคูณลาน การทำบุญคูณลาน

จะทำเมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว ในพิธีนี้จะมีการทำบุญตักบาตร เลี้ยงพระ ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แก่ชาวบ้าน ลานข้าว ที่นาและตอข้าวบริเวณใกล้ลานข้าวถือว่าเป็นศิริมงคล ทำให้ข้าวในนาอุดมสมบูรณ์ เจ้าของนาจะอยู่เป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าจะงอกงามและได้ผลดีในปีต่อไป เมื่อเสร็จพิธีทำบุญคูณลานข้าวแล้ว ชาวบ้านจึงจะขนข้าวใส่ยุ้งและเชิญขวัญข้าว คือ พระแม่โพสพไปยังยุ้งข้าวและทำพิธีสู่ขวัญกับสู่ข้าวเล้า (ยุ้ง) ข้าวเพื่อเป็นสิริมงคลต่อไป




3. เดือนสาม บุญข้าวจี่

เป็นการทำบุญในช่วงเทศกาลวันมาฆบูชา ชาวบ้านจะมาร่วมกันทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ตอนค่ำจะมีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวจี่แล้วนำไปถวายพระภิกษุสามเณรที่วัด เมื่อพระฉันเสร็จแล้วมีการฝังเทศน์ฉลองข้าวจี่และรับพร มูลเหตุที่มีการทำบุญข้าวจี่ ซึ่งเป็นอาหารที่คนยากจนกินเป็นประจำ ไปถวายพระพุทธเจ้า พลางคิดว่า ขนมแป้งข้าวจี่เป็นเพียงขนมของทาสที่ต่ำต้อยพระพุทธองค์คงไม่ฉัน ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้จิตใจของนาง จึงทรงฉันแป้งข้าวจี่ต่อหน้านาทำให้เกิดความปีติดีใจ ครั้นตายไปก็จะได้ขึ้นสวรรค์ ชาวอีสานจึงได้แบบอย่างในการทำแป้งข้าวจี่ ทำบุญข้าวจี่ถวายพระมาโดยตลอดจวบจนปัจจุบัน




4. เดือนสี่ บุญพระเวส

(บุญพระเวสสันดรหรือบุญมหาชาติ) คำนี้ออกเสียงว่า ผะเหวด เป็นสำเนียงของชาวอีสานที่มาจากคำว่า พระเวส ซึ่งหมายถึงพระเวสสันดร การทำบุญผะเหวด เป็นการทำบุญและฟังเทศน์เรื่องพระเวสสันดรชาดก หรือเทศน์มหาชาติ ซึ่งมีจำนวน 13 กัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระเวสสันดร ผู้ซึ่งบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ด้วยการให้ทานหรือทานบารมีในชาติสุดท้าย ก่อนที่จะมาเสวยชาติและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บุญพระเวสเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ของชาวอีสาน นิยมทำกันทุกหมู่บ้าน ด้วยความเชื่อว่าหากได้ฝังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียว อานิสสงส์จะดลบันดาลให้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอาริยเมตไตรย ซึ่งเป็นยุคแห่งความสุข ความสมบูรณ์ตามพุทธคติที่มีมาแต่ครั้งพุทธกาล




5. เดือนห้า บุญสงกรานต์


(บุญสรงน้ำ) เป็นการทำบุญวันขึ้นปีใหม่ของไทยแต่โบราณ นิยมทำในเดือนห้าเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 เมษายนถึงวันที่ 15 เมษายน คำว่า สงกรานต์ เป็นคำสันสกฤต แปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไป ในที่นี้ หมายถึง พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายเข้าไปในจักรราศรีหนึ่ง เป็นเดือนที่เริ่มต้นปีใหม่ การทำบุญสงกรานต์จะมีพิธีสรงน้ำพระพุทธรูป พระสงฆ์ ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตรก่อพระเจดีย์ทรายและมีการละเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุก สนานนานตลอดทั้ง 3 วัน




6. เดือนหก บุญบั้งไฟ

บุญบั้งไฟเป็นงานสำคัญของชาวอีสานก่อนลงมือทำนา ด้วยความเชื่อว่าเป็นการขอฝนเพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าในนาอุดมสมบูรณ์ ประชาชนอยู่อย่างมีความสุข ในงานจะมีการแห่บั้งไฟ และจุดบั้งไฟ เพราะเชื่อว่า เป็นการส่งสัญญาณขึ้นไปบอกพญาแถน ให้ส่งน้ำฝนลงมา ระหว่างที่มีการจุดบั้งไฟชาวบ้านจะมีการเซิ้งอย่างสนุกสนาน การทำบุญบั้งไฟนับเป็นการชุมนุมที่สำคัญของคนในท้องถิ่น ที่มาร่วมงานบุญกันอย่างสนุกสนานเต็มที่ มีการนำสัญลักษณ์ทางเพศมาล้อเลียนในขบวนแห่บั้งไฟ โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องหยาบคาย การทำบุญบั้งไฟนี้ บางทีจะตรงกับประเพณีบุญวันวิสาขบูชาด้วย





7. เดือนเจ็ด บุญซำฮะ (บุญชำระ)

เป็นการทำบุญเพื่อชำระล้างสิ่งที่ไม่ดีเป็นเสนียดจัญไรอันจะทำให้เกิดความ เดือดร้อนแก่บ้านเมือง เป็นการปัดเป่าความชั่วร้ายให้ออกจากหมู่บ้าน ชาวบ้านจะพากันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เรียบร้อยเป็นการทำความสะอาดครั้งใหญ่ใน รอบปี สิ่งที่ไม่ ดีทั้งหลายให้ขจัดออกไป เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคนในหมู่บ้าน มูลเหตุที่มีการทำบุญซำฮะ เนื่องมาจากสมัยพุทธกาลมีโรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดมีผู้คนล้มตายกันเป็นจำนวนมากที่เมืองไพศาลี พระพุทธเจ้าจึงได้เสด็จมาโปรดทำให้เกิดฝนห่าใหญ่มาชำระบ้านเมือง มีการสวดปัดรังควานและประพรมน้ำมนต์ตามหมู่บ้านและแก่ชาวบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลนอกจากทำบุญซำฮะแล้วยังมีการทำพิธีบูชาผีบรรพบุรุษ ผีบ้าน ผีเมือง ผีปู่ตา ผีตาแฮก (ผีประจำไร่นา) และเซ่นสรวงหลักเมืองเพื่อเป็นการระลึกถึงผู้มีพระคุณเพื่อให้บ้านเมืองสงบ สุข





8. เดือนแปด บุญเข้าพรรษา

การเข้าพรรษเป็นกิจของภิกษุสามเณรที่จะต้องอยู่เป็นประจำในวัดใดวัดหนึ่ง ตลอด 3 เดือน กำหนดเอาตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรไปพักแรมคืนที่อื่น การทำบุญเข้าพรรษาเป็นประเพณีทางศาสนาโดยตรง จึงคล้ายกับภาคอื่นๆ ในประเทศไทย ในพิธีจะมีการทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณร มีการฟังธรรมเทศนา ชาวบ้านจะหล่อเทียนขนาดใหญ่ถวายวัดเป็นพุทธบูชาและเก็บไว้ตลอดพรรษา การทำเทียนถวายวัดในช่วงเทศกาลเข้าพรรา มีความเชื่อแต่โบราณว่า หากใครทำเทียนไปถวายวัด เมื่อเกิดชาติใหม่ ผู้นั้นจะได้เสวยสุข หากมิได้ขึ้นสวรรค์ แต่เกิดบนโลกมนุษย์ผู้นั้นจะมีความเฉลียวฉลาด มีสติปัญญาไหวพริบเป็นเลิศ ประดุจแสงเทียนอันสว่างไสว




9. เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน


เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ชาวบ้านจากันทำข้าวปลาอาหารคาวหวานพร้อมหมากพลูตั้งแต่เช้ามืดห่อใส่ใบตอง เรียกว่า ข้าวประดับดิน นำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ในบริเวณวัด เพื่อให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นมากิน เพราะเชื่อว่าในช่วงเดือนเก้าผู้ที่ล่วงลับแล้วจะได้รับการปลดปล่อยให้ออกมา ท่องเที่ยวได้ ในพิธีบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะวางข้าวประดับดินไว้ พร้อมจุดเทียนบอกกล่าวให้มารับเอาอาหารและส่วนบุญนี้ จากนั้นชาวบ้านจะเอาอาหารไปทำบุญตักบาตรถวายทานแด่พระภิกษุสามเณร สมาทานศีล ฟังเทศน์และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว





10. เดือนสิบ บุญข้าวสาก

เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยมีการทำสลากให้พระจับ เพื่อที่จะได้ถวายของตามสลากนั้น เป็นการทำบุญที่ต่อเนื่องจากพิธีในเดือนเก้า เพราะถือว่าเป็นการทำบุญส่งล่วงลับไปแล้วที่ได้ออกมาท่องเที่ยว ให้กลับสู่แดนของตน ในเดือนสิบนี้ชาวบ้านจะนำห่อข้าวสากไปวางไว้บริเวณวัด พร้อมจุดเทียนและบอกให้ญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้ว มารับอาหารและผลบุญที่อุทิศให้




11. เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา

จัดทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการทำบุญที่สืบเนื่องมาจากบุญเข้าพรรษาในเดือนแปด ที่พระภิกษุสามเณรได้เข้าพรรษาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน ดังนั้น ในวันที่ครบกำหนด พระภิกษุสามเณรเหล่านั้นจะมารวมกันทำพิธีออกวัสสาปวารณา วันนี้เป็นวันที่ภิกษุสามเณรมีโอกาสมาชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงกันที่วัด ชาวบ้านถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นระยะที่ชาวบ้านหมดภาระในการทำนาไร่ อากาศในช่วงนี้จะเย็นสบายจึงถือโอกาสมาร่วมกันทำบุญ มีการตักบาตรถวายภัตตาคารแด่พระภิกษุ สามเณร มีการกวนข้าวทิพย์ถวาย รับศีลสวดมนต์ฟังเทศน์และถวายผ้าจำนำพรรษา ตอนค่ำจะมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน บางท้องถิ่นอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำจะมีการไหลเรือไฟ (ล่องเฮือไฟ) เพื่อเป็นการบูชาคารวะแม่คงคา บางแห่งมีการแข่งเรือยาวเพื่อความสนุกสนานและสามัคคีร่วมกันในงานอีกด้วย




12. เดือนสิบสอง บุญกฐิน


เป็นการถวายผ้าจีวรแด่พระสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน งานบุญนี้มีระยะเวลาทำตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 มูลเหตุที่มีการทำบุญกฐินนั้น มีเรื่องเล่าว่า มีพระภิกษุจำนวนหนึ่งได้เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ระหว่างการเดินทางนั้นยังเป็นช่วงหน้าฝน และระยะทางไกลจึงนำให้ผ้าจีวรของพระภิกษุเหล่านั้นเปียกน้ำเปรอะเปื้อนโคลน ไม่สามารถหาผ้าผลัดเปลี่ยนได้ พระพุทธเจ้าได้เห็นถึงความยากลำบากนั้น จึงมีพุทธบัญญัติให้ภิกษุแสวงหาผ้าและรับผ้ากฐินได้ เป็นเวลาหนึ่งเดือนหลังออกพรรษา ชาวบ้านจึงได้จัดผ้าจีวรนำมาถวายพระภิกษุในช่วงเวลาดังกล่าว จนกลายเป็นประเพณีทำบุญกฐินมาจวบจนปัจจุบัน ก่อนการทำกฐินเจ้าภาพจะต้องจองวัดและกำหนดวันทอดกฐินล่วงหน้า เตรียมผ้าไตรจีวรพร้อมอัฐบริขารและเครื่องไทยทาน มีการบอกบุญแก่ญาติมิตร ตอนเช้าในพิธีจะแห่ขบวนกฐินเพื่อนำไปทอดที่วัด และแห่กฐินเวียนประทักษิณรอบอุโบสถ 3 รอบ จึงทำพิธีถวายผ้ากฐินจากปุยฝ้ายจนสามารถนำไปทอดให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมงนับแต่เวลาเริ่มทำเชื่อว่าจะได้บุญมากกว่าอย่างอื่น


ครองสิบสี่

ครองสิบสี่ คือ ครองธรรม 14 อย่าง เป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติระหว่างผู้ปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครอง หรือระหว่างคนธรรมดาปฏิบัติต่อกัน ได้แก่

1. ฮีตเจ้าครองขุน คือ การปฏิบัติระหว่างพระเจ้าแผ่นดินและขุนนาง

2. ฮีตท้าวครองเพีย คือการปฏิบัติระหว่างเจ้านายชั้นผู้ใหญ่กับเหล่าขุนนาง

3. ฮีตไพร่ครองนาย ไพร่ ได้แก่ราษฎรที่ต้องปฏิบัติต่อนายของตน

4. ฮีตบ้านครองเมือง หมายถึง กฎระเบียบของบ้านเมือง

5. ฮีตปู่ครองย่า

6. ฮีตพ่อครองแม

7. ฮีตสะใภ้ครองเขย

8. ฮีตป้าครองลุง

9. ฮีตลูกครองหลาน จากข้อ 5.-9. เป็นธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติระหว่างคนในครอบครัว

10. ฮีตเฒ่าครองแก่ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของผู้เฒ่าผู้แก่

11. ฮีตปีครองเดือน หมายถึงการปฏิบัติตามฮีตสิบสอง

12. ฮีตไร่ครองนา เป็นธรรมเนียมที่ต้องปฏิบัติในการทำไร่ทำนา

13. ฮีตวัดครองสงฆ์ เป็นหลักสำหรับบุคคลที่ต้องปฏิบัติต่อพระศาสนา

14. ฮีตเจ้าครองเมือง เป็นแบบแผนสำหรับผู้ปกครอง



ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก : www.phibun.com








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ