วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ตำนานเบียร์เมืองไทย
ในบ้านเรา เบียร์นำเข้าครั้งแรก ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230 สมัยอยุธยา)
จนมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการขอตั้งโรงเบียร์ในเชิงอุตสาหกรรมขึ้น เมื่อปี ค.ศ. 1930
(ประมาณวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2473) พระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร)
ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์ต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ที่มีพระยาโกมารกุลมนตรี
เป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติอยู่ในขณะนั้น พร้อมทั้งทูลเกล้าฯ
ถวายฎีกาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยเห็นว่า "เบียร์เป็นสินค้าที่ชาวชาติ
ได้ส่งเข้ามาจำหน่ายในสยามประเทศมาช้านานแล้ว ทำให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก
ถ้าเราสามารถผลิตเบียร์ขึ้นได้เองก็จะป้องกันเงินที่สูญเสียไป และประหยัด
รวมทั้งจะได้ประโยชน์ในเรื่องราคาขาย ที่ถูกลง และการผลิตเบียร์ยังสามารถใช้ปลายข้าว
มาแทนข้าวมอล์ต ช่วยให้คนไทยมีงานทำด้วย" ความคิดดังกล่าวนี้เองพระยาภิรมย์ภักดี
จึงขอตั้งโรงกลั่นเบียร์ขึ้น ที่ปัจจุบันเรารู้จักกันในนาม "เบียร์สิงห์" (Singha Beer)
พระยาภิรมย์ภักดีไม่ได้มีความรู้เรื่องการผลิตเบียร์มาก่อน จึงพยายามศึกษา
ค้นคว้าจนแน่ใจว่าสามารถผลิตเบียร์ในสภาพอากาศและน้ำอย่างในประเทศไทยได้
จึงดำเนินการขออนุญาต และตั้งโรงงานผลิตเบียร์ แต่อุปสรรคในการสร้างโรงเบียร์มีนานัปการ
ด้วยความอุตสาหะฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ นานา จนทำได้สำเร็จ และเมื่อ
วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย
พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน มาทอดพระเนตรการลงเสาเข็ม
คอนกรีตตึกโรงเบียร์แห่งแรก ด้วยเครื่องจักร ทรงซักถามถึงกิจการต่างๆ จนทั่วถึงแล้วจึงเสด็จฯ กลับ
เดิมทีพระยาภิรมย์ภักดี ทำกิจการเดินเรือเมล์ระหว่างตลาดพลูกับท่าเรือราชวงศ์
โดยใช้ชื่อว่า บริษัทบางหลวง จำกัด ต่อมาทางรัฐบาลเริ่มโครงการสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า
และตัดถนนเชื่อมตลาดพลู กับประตูน้ำภาษีเจริญ ซึ่งเป็นเส้นทางเดียวกับที่บริษัทบางหลวง
ทำกิจการเดินเรืออยู่ ทำให้ไม่สามารถเดินเรือได้ต่อ จึงเริ่มมีการเปลี่ยนกิจการ โดยหันไป
ทำการค้าอย่างอื่นแทน ซึ่งก็คือธุรกิจการผลิตเบียร์ และการศึกษาแล้ว พบว่าเบียร์สามารถ
ผลิตขึ้นเองในประเทศไทยที่อยู่ในเขตร้อนได้
จึงเริ่มโครงการตั้งโรงงานผลิตเบียร์ขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
เมื่อยื่นเรื่องขออนุญาตต่อกระทรวงพระคลังมหาสมบัติแล้ว
มีการพิจารณากันอย่างมาก เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีนโยบายเรื่องนี้มาก่อน
โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาเรียกเก็บภาษีเบียร์ ซึ่งในครั้งแรกจะกำหนดให้เสียภาษีลิตรละ 63 สตางค์
ในระหว่างที่รอการอนุญาต พระยาภิรมย์ภักดีได้เดินทางไปเมืองไซ่ง่อน ประเทศอินโดจีน (เวียดนาม)
ในปีพ.ศ. 2474 เพื่อศึกษาแบบแปลนเครื่องจักร ตลอดจนวิธีการผลิตเบียร์ หลังจากมีการพิจารณา
อนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์ได้ และเรียกเก็บภาษีเบียร์ผ่านไปได้ 1 ปี จึงอนุญาตให้พระยาภิรมย์ภักดี
ผลิตเบียร์ได้ แต่ห้ามผูกขาด และคิดภาษีเบียร์ในปีแรก ลิตรละ 1 สตางค์ ในปีที่สองลิตรละ 3 สตางค์
ปีที่สามลิตรละ 5 สตางค์ ส่วนปีต่อๆ ให้พิจารณาตามที่เห็นสมควร ต่อมาช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2475
กระทรวงมุรธาธร โดยพระองค์เจ้าศุภโยคเกษม ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลละอองธุลีพระบาท ความว่า
ได้รับรายงานจากกรมสรรพสามิตว่า นายลัก และนายเปกคัง ชาวจีน ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเบียร์
(ยี่ห้อทีเคียว) ขึ้นจำหน่ายในประเทศ โดยรับรองว่า จะผลิตเบียร์ชนิดเดียวกับเบียร์จากต่างประเทศ
ที่ทำจากดอกฮ็อพ และมอลต์ โดยขอผลิตประมาณ 10,000 เฮกโตลิตรต่อปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7
จึงทรงมีพระราชกระแสว่า "เป็นเรื่องแย่งกับพระยาภิรมย์ภักดี และถ้าให้ทำก็คงทำสำเร็จก่อน
พระยาภิรมย์ภักดีแน่ เพราะฉะนั้นคนที่เริ่มคิดก่อน และเป็นพ่อค้าคนไทยกลับจะต้องฉิบหาย
และทำไม่สำเร็จ" จึงทรงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต
"พระยาภิรมย์ภักดีขอทำก่อน ได้รับอนุญาตแล้ว ในเวลานี้ยังไม่ควรอนุญาต
ให้ใครได้ทำอีก เพราะจะมีผล 2 ประการ คือ หนึ่งคนไทยกินเบียร์กันท้องแตกตาย
หมดเพราะจะแย่งกันขายลดราคา เกิดการแข่งขันกัน และสองคงมีใครฉิบหายคนหนึ่ง
ถ้าหากไม่ฉิบหายกันหลายคน" สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์
กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ได้กราบบังคมทูลสนับสนุนว่า "ไม่ควรอนุญาตให้ผลิตในเวลานี้
ควรรอดูว่า พระยาภิรมย์ภักดีจะทำสำเร็จหรือไม่ และคอยสังเกตเรื่องการบริโภคก่อน
นอกจากนั้นผู้ขออนุญาตรายนี้เป็นคนต่างด้าว จึงสามารถที่จะอ้างได้ว่า ต้องอุดหนุนคนไทย
และอุตสาหกรรมที่มีทุนไทยก่อน" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังตอบว่า"
ยังไม่อนุญาตให้ เพราะได้อนุญาตให้ไปรายหนึ่งแล้ว ต้องรอดูก่อนว่าจะได้ผลอย่างไร
เพราะเรื่องนี้สำคัญสำหรับความสุขของราษฎร์ และฝ่ายพระยาภิรมย์ภักดีจะใช้ข้าว
และผลพลอยได้ของข้าว ด้วยฝ่ายรายที่ขออนุญาตใหม่ไม่ใช้ข้าวเลย"
เมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานผลิตเบียร์แล้ว เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2476
พระยาภิรมย์ภักดีจึงเดินทางไปยุโรปเพื่อซื้อเครื่องจักรในการผลิตเบียร์ แต่เมื่อกลับมา
เมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ โดยมีพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นหัวหน้ารัฐบาล
ทางรัฐบาลไทยไม่ยอมให้เสียภาษีตามพิกัดเดิมที่ตกลงกันไว้กับรัฐบาลเก่า จึงเกิดข้อข้อตกลงกันใหม่
โดยให้เสียภาษีในอัตราลิตรละ 10 สตางค์ หลังจากนั้นจึงได้เริ่มสร้างโรงงานผลิตเบียร์ขึ้น
ที่บริเวณที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยา ย่านบางกระบือ (ที่ตั้งโรงงานในปัจจุบัน) โดยขอเช่า
ที่จากเจ้าพระยารามราฆพ ต่อมาภายหลังได้ขอซื้อดินที่ดังกล่าวมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโดรงงาน
ขณะทำการก่อสร้างนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาเสด็จฯ
มาชมการก่อสร้างโรงงานถึงสองครั้ง พระยาภิรมย์ภักดีตั้งใจว่า จะตั้งชื่อบริษัทขณะที่จัดรูป
แบบของบริษัทอยู่นั้นว่าบริษัทเบียร์สยาม แต่ถูกทักท้วงว่า "ในบ้านเมืองนี้ อะไรๆ ก็ใช้ชื่อสยามกันทั้งนั้น"
พระยาภรมย์ภักดีจึงตัดสินใจเอาชื่อของตนเองมาตั้งเป็นชื่อบริษัท นั่นก็คือ "บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด"
เบียร์ของคนไทย ที่ผลิตออกมาครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2477 โดยได้ทดลองนำไปดื่มกันในงาน
สโมสรคณะราษฎร์เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2477 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ทรงเปิดป้ายบริษัทเมื่อ
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 เบียร์รุ่นแรกที่ผลิตออกมาวางจำหน่ายในราคาขวดละ 32 สตางค์
(ประมาณ บาท) โลโก้บนฉลากขวดเบียร์มีวิวัฒนาการตามนี้ โลโก้ตราหมี ตามด้วยโลโก้ตราสิงห์แดง
ตราสิงห์ขาว ตราแหม่ม ตราพระปรางค์ทอง ตราว่าวปักเป้า ตรากุญแจ ตรารถไฟ และโกโก้ในปัจจุบันก็
คือ โลโก้ตราสิงห์ ในสมัยนั้นไม่ว่าจะใช้โลโก้ตราอะไรก็ตาม ชาวบ้านมักเรียกติดปากกันว่า "เบียร์เจ้าคุณ"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2504 เกิดโรงเบียร์แห่งที่สองขึ้น ในชื่อ
"บริษัทบางกอกเบียร์ จำกัด" ผลิตเบียร์ยี่ห้อตราหนุมาน ตราแผนที่ และตรากระทิง
แต่ไม่ได้รับความนิยมจากผู้ดื่ม จนต้องเลิกกิจการไป ภายหลังต่อมาในปี พ.ศ. 2509
จึงเปลี่ยนเจ้าของกิจการ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "บริษัทไทยอมฤต บริวเวอรี่ จำกัด"
ผลิตเบียร์ยี่ห้ออมฤต และซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากต่างประเทศมาด้วย คือ
เบียร์คลอสเตอร์ มาผลิตเองเมื่อปี พ.ศ. 2521 ปัจจุบันมียี่ห้อ เอ็นบี และรับ
ผลิตเบียร์บัดไวเซอร์ ลิขสิทธิ์จากสหรัฐอเมริกา ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี
แต่ ณ ปัจจุบันถูกซื้อกิจการไปแล้วโดย นายซาน มิเกล ชาวฟิลิปปินส์ เมื่อปี พ.ศ. 2547
หลังจากนั้นภาครัฐก็ไม่ได้มีการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานผลิตเบียร์เพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากเห็นว่า เบียร์เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย จึงตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ผลิตในประเทศ
จนกระทั่งปี พ.ศ. 2535 ภาครัฐมีนโยบายเปิดเสรีทางการค้า โดยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของ
ผู้ผลิตเบียร์ จากที่กำหนดว่า ให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นนิติบุคคล
สัญชาติไทยเท่านั้น เพื่อจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ ที่สนใจเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตเบียร์ภายในประเทศ
เมื่อปี พ.ศ. 2534 เกิด "บริษัท เบียร์ไทย (1991) จำกัด" ผู้ผลิตเบียร์ช้าง ของกลุ่ม
นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดกำแพงเพชร และต่อมาในปี พ.ศ. 2536 เกิด
"บริษัท คาร์ลสเบอร์ก บริวเวอรี่ จำกัด" ผลิตเบียร์คาร์ลสเบอร์ก ลิขสิทธิ์จาก
ประเทศเดนมาร์ก โรงงานอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เช่นกัน
และสุดท้ายในปี พ.ศ. 2538 มี "บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด"
เป็นผู้ผลิตเบียร์ไฮเนเก้น ลิขสิทธิ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ตั้งโรงงานอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี
เบียร์จากจีน ชิงเต่าเบียร์ (Tsingtao Beer) ของเมืองชิงเต่า
อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซานตง ทิศทางตะวันออกของประเทศจีน เป็นเบียร์ยี่ห้อเก่าแก่
ผลิตมากว่า 100 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นของโรงผลิตเบียร์ยี่ห้อนี้ เกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1903
เป็นการร่วมทุนกับพ่อค้าชาวอังกฤษ ใช้ชื่อเริ่มแรกว่า "บริษัท เบียร์เจอมานิสเชส แห่งเมืองซิงเต่า จำกัด
(Germanisches)" และใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบบเดียวกับเบียร์จากเยอรมัน เมื่อดำเนินกิจการ
ไปได้เพียง 13 ปี เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 โรงผลิตเบียร์แห่งนี้จึงถูกเปลี่ยนมือไปเป็นของทหารญี่ปุ่น
อีก 29 ปี และเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงผลิตเบียร์ไดนิปปอน คอร์เปอเรชั่น (Dainipon)"
จนกระทั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม โรงผลิตเบียร์แห่งนี้
ก็ตกอยู่ในมือของพรรคก๊กมินตั๋ง ช่วงนั้นด้วยสถานการณ์ทางการเมืองทำให้การดำเนินกิจการ
เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1949 เมื่อทหารกองทัพปลดปล่อยแห่งพรรค
คอมมิวนิสต์มีชัยชนะเหนือพรรคก๊กมินตั๋งในเมืองชิงเต่า ได้เข้ายึดโรงผลิตเบียร์แห่งนี้
และจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจอย่างเต็มรูปแบบ ก็ดำเนินกิจการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง มีสถิติว่า
ในปี ค.ศ. 1959 มีศักยภาพในการผลิตทะลุ 10,000 ตัน ต่อมาในปี ค.ศ. 1963
ได้รับยกย่องให้เป็นเบียร์แห่งชาติยี่ห้อเดียวภายในประเทศจีน และเมื่อปี ค.ศ. 1993
ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บริษัท เบียร์ชิงเต่า จำกัด (Tsingtao)" และเข้าจดทะเบียนใน
ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกงด้วย และเมื่อจีนได้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO)
เบียร์ชิงเต่าก็ได้ใช้โอกาสนี้ เป็นพันธมิตรกับ อันเฮาเซอร์ บุช ผู้ผลิตเบียร์ "บัดไวเซอร์"
จากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ถือได้ว่าเบียร์ซิงเต่าเป็นต้นแบบของอุตสาหกรรมเบียร์
ในประเทศจีนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ที่เป็นที่นิยมดื่มกันมากทั่วโลก
โดยเฉพาะคนเยอรมัน ที่มีความเชื่อว่าการดื่มเบียร์นั้น มีความบริสุทธิ์สะอาด
ว่าการดื่มน้ำเปล่าธรรมดาเสียอีก ดังนั้นเราจะเห็นคนเยอรมันมักจะดื่มเบียร์กัน
แทนน้ำเลยก็ว่าได้ ปริมาณแอลกอฮอล์ในเบียร์ จะมีอยู่ต่ำมากประมาณ 3.5-6.0 ดีกรี
และส่วนใหญ่อายุของเบียร์จะสั้นเก็บได้ไม่นาน โดยเฉพาะเบียร์สด ส่วนวัตถุดิบหลัก
ที่นำมาใช้ผลิตเบียร์ ก็คือข้าวบาร์เล่ย์ เรียกวิธีการผลิตนี้ว่า “Brewing”
โดยจะนำข้าวบาร์เล่ย์มาเพาะ และอบแห้งทำเป็น มอลต์เกรน ที่เรียกว่า “Barley Malt Grain”
แล้วนำมาผสมกับน้ำ จากนั้นจะปรุงแต่งรสชาดและกลิ่นด้วยดอกฮ็อพ ( Hops )
ที่ทำให้เกิดรสขม แล้วหมักรวมกับยีสต์ จะได้ของเหลวที่มีแอลกอฮอล์ แล้วมากรอง
ก็จะได้เบียร์ ในประเทศเยอรมันเองมีการทำเบียร์ โดยจะใช้ข้าวสาลี “Wheat”
มาทำเป็นมอลต์แทน ได้แก่ การทำเบียร์ Weizembier (ไว้-เซ่น-เบียร์) หรือ Wheat Beer
การรินเบียร์ Wheat Beer จากขวด ควรจะรินแบบให้มีฟองอยู่ 1 ใน 5
ส่วนของแก้ว ซึ่งหากใครรินไม่เป็น ก็อาจจะได้ฟองเต็มแก้ว หรือถ้ารินสไตล์คนไทย
ก็จะ “ไม่เอาฟอง” รินแบบนี้ ไม่ถูกวิธีเท่าไร ที่ถูก ควรจะรินให้มีฟอง 1/5 ของแก้ว
Plisner Beer ทรงกระบอกสูง ปากบานออกเล็กน้อย อุณหภูมิของเบียร์ที่ดื่มให้ได้
รสชาติอร่อยจะต้องอยู่ที่ 4 องศาเซลเซียส ส่วนการเอาน้ำแข็งใส่ลงไปเพื่อให้เบียร์เย็นฉ่ำ
ตามแบบฉบับนิสัยของคนไทยนั้น ไม่ควรอย่างยิ่ง เป็นการดื่มแบบผิดๆ ทำให้รสชาติของ
เบียร์เปลี่ยนไป และการแช่เบียร์ให้เย็นเจี้ยบจนเป็นวุ้นก็เช่นกัน อาจจะทำให้เป็นโรคกระเพาะได้
หากเบียร์เย็นมากจนขึ้นสมองก็อาจจะเป็นอันตราย มีผลต่อหัวใจ แต่เบียร์ ในยุโรป
มีความเชื่อว่าการดื่มกินเบียร์ จะมีความสะอาดบริสุทธิ์กว่าดื่มน้ำธรรมดาเสียอีก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://toy17pattaya.spaces.live.com
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ