วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ใช้มือถือแทนหมอ ความแตกต่างของการใช้นวัตกรรมข้ามซีกโลก




ดังที่ “มาร์ติน คูเปอร์” ผู้คิดค้นมือถือคนแรกของโลก ซึ่งปัจจุบันมีอายุกว่า 80 ปีกล่าวว่า
มือถือจะเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่สุดก็ต่อเมื่อมันกลายเป็นเครื่องมือไฮเทคใกล้ตัว
เพื่อดูแลสุขภาพของมนุษย์ให้ยืนยาวขึ้น


และที่งานประชุม Mobile health 2010 ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด
เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคมที่ผ่านมา ช่วยตอกย้ำแนวคิดนี้ให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
โดยผลงานที่ผ่านมาของการใช้มือถือกับการสร้างเสริมสุขภาพส่วนใหญ่แล้ว
ไม่ได้เป็นอะไรที่ไฮเทคเกินกว่าคนทั่วไปจะรู้จัก และกว่า 80% ก็ทำงานบนระบบการส่งข้อความสั้น (SMS) นั่นเอง
และข้อสรุปที่สำคัญของการประชุมนี้ก็คือ โทรศัพท์มือถือได้ขยายศักยภาพของตัวเองให้กลาย
เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ราคาถูก ที่สามารถเข้าถึงในวงกว้าง และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพไปเสียแล้ว


บทความเจาะลึกความเคลื่อนไหวในวงการมือถืออย่าง CSI (Cellphone Scoop Inside)
ฉบับนี้จะพาคุณมาเข้าถึงความสามารถอีกด้านของมือถือ ตั้งแต่จอขาวดำไปจนสมาร์ทโฟน
ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ชีวิตมนุษย์ยืนยาวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี เราจะขอข้ามเรื่องผลการวิจัยเบสิกๆ อย่างอันตรายของคลื่นมือถือที่มีต่อสมองของคนเรา
เพราะถึงตอนนี้ยิ่งมีหลายสำนักวิจัย แต่ก็ยังไม่ได้ผลสรุปแบบฟันธงเสียที ตรงกันข้าม เราขอกลับมา
โฟกัสถึงสารพัดกรณีศึกษาในการใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อการดูแลสุขภาพ จากผู้คนใน 3 ซีกโลกกันก่อน
อันได้แก่ ผู้ที่อยู่ในถิ่นทุระกันดาร ณ ประเทศด้อยพัฒนา อาทิ ประเทศแถบอัฟริกา
ต่อมาเป็นผู้ที่อยู่ในที่ที่ขีดความเจริญด้านเทคโนโลยีที่สูงมากอย่าง อเมริกา, ญี่ปุ่น
และปิดท้ายด้วยประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีประชากรอายุยืนอันดับต้นๆ ของโลก
อย่างประเทศในแถบตะวันตก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนคุ้นเคยกับการใช้มือถือเพื่อสำรวจปัจจัยทางสุขภาวะเหมือนๆ กัน
แต่มีเป้าหมายที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

กาฬทวีฟ ใช้มือถือกันตาย








ผู้เขียนเชื่อว่ากรณีศึกษาเหล่านี้จะเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า มือถือช่วยรั้งชีวิตพวกเขาจากมัจุราชได้อย่างไร?

ที่อัฟริกา นอกจากได้นำการใช้ SMS มาช่วยเช็กราคาสินค้า โอนเงินข้ามหมู่บ้านแล้ว
ที่สำคัญและได้ยอมรับกันอย่างกว้างขวางมากก็คือ การส่ง SMS เพื่อเตือนให้ผู้ป่วยเอดส์
เข้ามาฉีดวัคซีนตามเวลาที่กำหนด รวมถึงทำระบบเช็กยาปลอม โดยการส่ง SMS
รหัสของกล่องยาต้านมาลาเรีย เพื่อไปตรวจเช็กกับระบบว่ายานั้นปลอมหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาปัญหา
ยาต้านโรคมาลาเรียปลอมนั้นคร่าชีวิตชาวแอฟริกันไปถึง 900,000 คน/ปีเลยทีเดียว

ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้เพียงโนเกีย 3310 จอขาวดำ ก็ได้ข้อมูลที่ต้องการแล้ว แต่นอกจากนี้ยังมี
การอัปเทคโนโลยีมือถือมาเป็นจอสี และเพิ่มฟีเจอร์ไฮเทคให้กับมันด้วยการแปลงมือถือเป็นกล้องจุลทรรศน์
โดยทีมงานวิจัยด้านชีวภาพของอเมริกาออกแบบ CellScope หรือ กล้องจุลทัศน์ให้มีความไฮเทคขึ้นโดย
ไปเชื่อมต่อกับมือถือติดกล้อง เพื่อใช้ในการวินิจฉัยโรคที่ร้ายแรงถึงขั้นเอาชีวิต ซึ่งอยู่ในเลือด หรือ เสมหะ
โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อโรคมาลาเรีย และโรควัณโรคในปอด หลังจากที่ส่องกล้องดูแล้ว
หากพบสิ่งใดผิดปกติก็สามารถที่จะถ่ายภาพ และส่งภาพนั้นผ่าน MMS เพื่อไปให้หมอท่านอื่น
ที่อยู่ประเทศอื่นที่เชี่ยวชาญกว่าวินิจฉัยในเชิงลึกต่อไป และหลังจากลองถ่ายภาพเซลล์ต้นตอ
ของเชื้อมาลาเรียด้วยมือถือ ก็พบว่าคุณภาพของ ภาพชัดเป็นที่หน้าพอใจ และสามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคได้

และผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การใช้มือถือเป็นเครื่องเอ็กซ์เรย์เคลื่อนที่
โดย “วิลเลียม ริชาร์ด และ เดวิด ซาร์” สองอาจารย์คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และออกแบบ เครื่องอัตราซาวน์แบบพกพา ที่ทำงานควบคู่กับ
โปรแกรมบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน โดยเมื่อเชื่อมต่อเครื่องอัลตร้าซาวด์แบบพกพาผ่านสายยูเอสบี
เข้ากับมือถือระบบวินโดว์ โมบาย ที่มีการติดตั้งโปรแกรมเฉพาะเอาไว้แล้ว แพทย์อาสาสมัครฉุกเฉิน
หรือหมอตำแยไฮเทค ก็สามารถทำการอัลตร้าซาวด์อวัยวะภายนอก และในต่างๆ ในร่างกายได้ทันที อาทิ
ไต ปอด ตา กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก มดลูก เนื้อเยื้อ ทางเดินโลหิต เส้นเลือด และหลอดเลือดได้

มะกันและยุ่นใช้มือถือ เพื่อความฟิตและสร้างความสุข





คนอเมริกันที่เห่อไอโฟนก็จะพบว่ามันมีสารพัดแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีขึ้น
ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อชีวิตในปัจจุบันที่มีสุขที่สุด อาทิ แอปฯช่วยในการหลับสบายอย่าง iRelax
แอปฯเทรนเนอร์ซิตอัพส่วนตัวอย่าง Crunchfu หรือจะเป็นแอปฯติดตามการออกกำลังกาย
ของเราตลอดสัปดาห์อย่าง Runkeeper หรือแม้กระทั่งแอปพลิเคชั่นติดตามปริมาณแคลอรี่
จากอาหารที่ทานในแต่ละมื้อ เป็นต้น

นอกจากปัญหาทางกายแล้ว ปัญหาทางจิตถือว่าใหญ่ และน่ากลัวกว่าในสังคมอเมริกัน
จึงได้มีการคิดค้นแอปพลิเคชั่น “มือถือบำบัด (Mobile Therapy)” ขึ้น โดยดร. มาการ์เร็ต มอร์ริส จิตแพทย์
เจ้าของโครงการนี้ เล็งเห็นว่าหากคนไข้ที่มีปัญหาทางจิต ได้มีเครื่องมือที่ช่วยให้เขาติดตาม
ภาวะทางอารมณ์ของตัวเองได้อยู่ตลอดเวลา และดูแลมันอย่างต่อเนื่อง จะมีส่วนช่วยในการบำบัดโรคได้อย่างได้ผล
จึงเป็นสาเหตุให้ทีมของเธอพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนมือถือจอสัมผัสรูปแบบต่างๆ
เช่น จิ้มตำแหน่งสีของจอเพื่อสะท้อนอารมณ์ในปัจจุบัน เพื่อใช้คนได้ใช้งานในการดูแล
และตรวจสอบสภาวะจิตใจของตัวเอง หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน ก็นำเครื่องมือถือนี้กลับมาพบกับหมอ
เพื่อดึงข้อมูลที่คนไข้มีปฏิสัมพันธ์กับแอปฯ ออกมาดูในรูปแบบของกราฟ
ซึ่งก็จะช่วยวิเคราะห์สภาวะจิตใจตลอดเวลาที่บำบัดได้

ส่วนญี่ปุ่น สถาบันที่เชี่ยวชาญด้านการใช้ริงโทนบำบัดโรค (Japan Ringing Tone Laboratory (JRTL)
ก็ผลิตริงโทนเพลง “Haba Sukkiri Melody” เพื่อกระตุ้นการจาม สำหรับคนเป็นไซนัสโดยเฉพาะ

ชาวยุโรปหวังเป็นอมตะ ด้วยการพกหมอมือถือไว้ใกล้ๆ ตัว
















ทางด้านประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วอย่างสิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ
ก็หันไปพุ่งเป้าพัฒนาเทคโนโลยีมือถือเพื่อทำให้ชีวิตคนสูงอายุได้ยืนยาวอย่างเป็นอมตะ อาทิ

แอปพลิเคชั่นสแกนบาร์โค้ดของแพคเกจอาหารก่อนตัดสินใจซื้อ
เพื่อดูส่วนผสมทั้งหมด ป้องกันการแพ้อาหารที่อาจจะเกิดขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว


EPI Life มือถือวัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต รวมไปถึงระดับน้ำตาล
และคลอเรสโตรอลในเลือด ที่เพียงใช้นิ้วมือแตะที่ด้านท้ายของตัวเครื่องที่เป็นไมค์เป็นเวลา 30 วินาที
เพื่อให้เครื่องดักจับอัตราการเต้นหัวใจ จากนั้นก็จะแสดงผลออกมาเป็นกราฟ
และวิเคราะห์ผลการสแกนทันทีผ่าน SMS

บทสรุปที่สั้นๆง่าย คงจะบอกได้ว่า มือถือนั้นเหมาะที่สุดที่จะนำมาเป็นเครื่องมือ
ดูแลสุขภาพสำหรับมนุษย์ทุกคนบนโลก เพราะเหตุผลง่ายๆ ก็คือ มันติดตัวเราไปทุกที่
มันพร้อมใช้งานตลอดเวลา และมันเป็นยิ่งกว่าคอมพิวเตอร์เคลื่อนที่


เครดิต
whatphone.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ