วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

รถโรงเรียนของนายธนาคาร บัณฑูร ล่ำซำ

รถโรงเรียนของนายธนาคาร บัณฑูร ล่ำซำ





ในยุคน้ำมันแพง ค่าแรงถูก คนที่ห้อยโหนรถเมล์ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการปรับขึ้นค่าโดยสาร ยังไม่นับรวมค่ามอเตอร์ไซด์รับจ้าง เรือด่วนเจ้าพระยา เรือโดยสารข้ามฟาก เรือด่วนคลองแสนแสบ เลยไปถึงเรือบินที่ทยอยปรับขึ้นราคาให้คนไทยหน้าเที่ยวเล่น

ไม่รู้ว่าป่านนี้สารพัดรถขนส่ง อย่างรถมูลนิธิต่างๆ รถโรงพยาบาล หรือรถโรงเรียน จะเกาะกระแสขอขึ้นราคาด้วยหรือเปล่า อืม... น่าคิดเหมือนกันแฮะ

แต่รถอะไรจะแข่งกันปรับราคาอย่างน้อยก็ยังมีรถนักเรียน ที่ใช้ชื่อ "โครงการรถนักเรียนไทย" ของ "คุณปั้น-บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ที่ไม่เคยเก็บค่าน้ำมันกับน้องๆ หนูๆ สักวันเดียว

ไม่ใช่เจ้าของโครงการและเจ้าของเงินอย่างคุณปั้น เพิ่งจะใจดีออกแพ็กเกจเอาใจผู้ปกครองช่วงค่าครองชีพสูง แต่นี่เป็นโครงการที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2543 สมัยที่เจ้าตัวยังหนุ่มๆ ค่าน้ำมันลิตรละ 20 กว่าบาท

บัณฑูรเคยเล่าให้ทีมงานฟังว่า เช้าวันหนึ่งขณะที่เดินทางไปทำงาน สายฝนกระหน่ำลงมาอย่างหนัก และติดไฟแดงอยู่ในรถเมื่อเหลียวมองออกไปนอกหน้าต่าง คนที่รอไฟเขียวข้างๆ กลับเป็นเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ ที่นั่งเปียกปอนหลังอานมอเตอร์ไซด์รับจ้าง

"ประเทศไทยไม่เคยให้ความสำคัญด้านการการศึกษา ทุกวันเด็กต้องไปโรงเรียนและตื่นแต่เช้า แต่ปรากฏว่าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้รับการดูแลแม้แต่การเดินทางที่ปลอดภัยไป โรงเรียน ทำไมไม่มีรัฐบาลใดสนใจเรื่องเด็กและการศึกษา เด็กต้องนั่งมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ตากแดด ตากฝน ไปโรงเรียน มอเตอร์ไซด์กี่เป็นมอเตอร์ไซด์รับจ้าง คนขับเป็นใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่พ่อแม่ด้วยซ้ำ" บัณฑูร ระบุ

คำถามก็คือ ผู้ใหญ่แต่ละคนที่ดูแลนโยบาย นั่งในรถเบนซ์คันงามจะตระหนักหรือไม่ เคยตื่นเช้ามาเห็นภาพเด็กต้องเร่งรีบไปโรงเรียน ไม่ได้รับประทานอาหารเช้าอย่างเต็มที่ ทั้งที่เป็นอนาคตของสังคมไทย

"ผมได้เห็น และสิ่งที่ผมทำไม่ได้ต้องการอะไร ผมทำรถโรงเรียนของผมให้เด็กนักเรียนเพื่อให้เขาตื่นมา เดินทางปลอดภัยมีสภาพชีวิตที่ดีในแต่ละวันตอนเช้า" บัณฑูร กล่าว

จากภาพเด็กตากสายฝน จึงกลายเป็นโครงการรถนักเรียนไทย ที่ใช้เงินส่วนตัวของคุณปั้น ซึ่งทุกขั้นตอนเจ้าตัวจะดูรายละเอียดซ้ำอีกครั้ง หลังจากผ่านมันสมองและสองมือของทีมงาน ซึ่งเป็นพนักงานธนาคารที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือแม้ตอนนี้พนักงานบาง คนก็ได้ลาออกไปแล้ว บางคนก็เกษียณ ออกไปทำงานองค์กรพัฒนาชุมชน (เอ็นจิโอ) อย่างจริงจัง แต่โครงการนี้ก็ยังอยู่

ปี้น ปี้น...รถนักเรียนไทยมาแล้ว น้ำมันแพงก็ขึ้นฟรีคร้าบบ

ทีมงานโครงการรถนักเรียนไทย กล่าวว่า พนักงานธนาคารเหล่านี้ไม่ได้รายได้เพิ่ม ล้วนทำด้วยหัวใจที่ผู้ใหญ่กลุ่มก้อนหนึ่งพอจะให้เด็กๆ ได้ เพราะจุดประสงค์ของการจัดทำรถโรงเรียนครั้งนี้ก็เพื่อเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสเดินทางไปโรงเรียนอย่างสะดวกเหมือนลูกหลานบ้านอื่น ที่มีผู้ปกครองขับรถคันโก้ราคางามไปส่งถึงหน้าประตูโรงเรียน

ฉะนั้น เด็กที่มีสิทธิจะขึ้นรถโรงเรียนโครงการนี้จึงถูกคัดเฉพาะเด็กที่ครอบครัวมีปัญหา ผู้ปกครองอาจมีรายได้น้อย ไม่ได้อยู่กับลูกฝากไว้กับญาติและไม่สามารถเดินทางไปส่งที่โรงเรียนได้ ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซด์รับจ้างเท่านั้น

"คำถามหนึ่งซึ่งเป็น จุดประสงค์หลักของเจ้าของโครงการ ที่ไม่เคยรอคำตอบจากรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม นั่นก็คือ เหตุใดเด็กนักเรียนไทยตัวเล็กๆ ต้องตื่นเช้าผจญกับอันตรายบนห้องถนน ซ้ำคนที่พาเด็กไปส่งจุดหมายปลายทางยังโรงเรียน กลับเป็นคนขับมอเตอร์ไซด์เสื้อส้ม ใครที่ไหนก็ไม่รู้" พนักงานในโครงการนี้กล่าว

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงความปลอดภัยรายทางจากการไม่สวมหมวกนิรภัยให้กับเด็ก

ฉะนั้น คนที่พอมีเงินเหลือแบ่งปันให้กับสังคมจึงอาจรอคอยความหวังจากรัฐบาลในประเทศ นี้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยสิ่งที่จะทำให้หัวใจผู้ให้ชุ่มชื่น จากการได้ทำดีให้กับสังคมคือ การลงมือทำอย่างตั้งใจจริง โดยมองข้ามผลตอบแทน อย่างทีมงานโครงการรถนักเรียนไทยก็ขอสงวนชื่อ เพราะอยากมีความสุขอย่างสมถะ


ย้อนรอยแรงบันดาลใจ

ระหว่างพูดคุย ทีมงานคนนี้ได้นำอัลบั้มรูปโครงการรถนักเรียนไทย ที่ถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2543 มาปัดฝุ่นนระลึกความหลังอีกครั้ง

หลายครั้งเราแอบเห็น รอยยิ้มของผู้ร่วมขบวนการส่งความสุขให้กับเด็กๆ ระหว่างชี้รูปนู้น พลิกไปรูปนี้ เพราะรูปทุกภาพมีความหมายตั้งแต่การ เปิดประมูลซื้อรถ ผู้ผลิตนำรถมาส่งมอบให้กับทีมงาน ยังมีรูปคุณปั้นอยู่ระหว่างตรวจสอบสภาพภายในรถ หรือกระทั่งรูปเด็กๆ ที่กำลังขึ้นรถ

กระทั่งรูป โลโก้รถโรงเรียน ที่เป็นรูปเครื่องบินตัวอ้วนสีฟ้ายิ้มแฉ่ง มีชื่อโครงการรถนักเรียนไทยล้อมอยู่ด้านบน ก็มาจากไอเดียของทีมงานทุกคนที่ช่วยกับคิดช่วยกันทำ

ที่ทีมงานต้องเก็บรายละเอียดมากขนาดนี้เพราะ กว่าจะได้รถนักเรียน 1 คัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถแต่ละคันต้องดัดแปลงพิเศษรองรับ 20 ที่นั่ง เก้าอี้ต้องขนาดสำหรับก้นเด็ก เพื่อให้สายรัดเข็มขัดนิรภัยโอบรัดตัวเด็กได้พอดี อุปกรณ์ภายในรถต้องมีตู้ยา ค้อนทุบกระจกกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและเบอร์โทรศัพท์โรงพยาบาลละแวกใกล้เคียง





กว่ารถโรงเรียนจะผ่านมือทีมงานก็ต้องผ่านการปรับแก้หลายรอบ ยังไม่รวมขั้นตอนทางราชการปรับแก้หลายรอบที่กฏหมายไม่อนุญาติให้เอกชนจัด สร้างรถโรงเรียน สนนราคาเบ็ดเสร็จกว่าจะได้รถหนึ่งคันคิดเป็นค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาท

ปัจจุบันรถนักเรียนไทยมีอยู่ 4 คัน คันแรกรับผิดชอบโรงเรียนวัดแจงร้อน ส่วนอีกคันจะรับส่งเด็กโรงเรียนวัดสน บ้านของเด็กๆ กลุ่มนี้จะอยู่บริเวณรอบนอก ถนนราษฏร์บูรณะออกไปอีกหน่อย ที่เหลืออีก 2 คัน รถคันหนึ่งถูกจัดเตรีมสำรองกรณีรถเสีย ส่วนอีกคันธนาคารเอาไปไว้รับ-ส่ง เด็กในมูลนิธิคุ้มครองเด็ก ที่อยู่ในการดูแลของครูยุ่น "มนตรี สินทวิชัย" จังหวัดสมุทรสงคราม

ยิ่งช่วงน้ำมันแพง ค่าใช้จ่ายรถ 4 คันปัจจุบันต่อเตือนก็เฉียด 1 แสนบาท จากปี 2543 ที่ตอนนั้นเพิ่งมีรถ 2 คัน ค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,705 บาท ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายในการดูแลรถจิปาถะอื่นๆ แต่ก็ยังไม่ได้ยินเสียบ่นจากเจ้าของโครงการ


สร้างบรรยากาศสนุกสนานยามเช้า



เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสย้อนวัย งานนี้เรายอมขยี้ตาพยุงความงัวเงียขอขึ้นรถโรงเรียนไปกับน้องๆ ก่อนล้อหมุนเวลา 07.00 น. จุดเริ่มต้นของเรา และรถอยู่ที่ ธนาคารกสิกรไทยราษฏร์บูรณะ เพื่อมุ่งหน้าไปยังโรงเรียนวัดแจงร้อน

เรากลายเป็นแขกกิตติมศักดิ์ ไม่มีที่นั่งรองรับ ต้องนั่งเบาะชนหลังกับคนขับ เด็กทุกคนจึงต้องเผชิญหน้ากับเรา แต่กลายเป็นว่าหลังจากขาเล็กๆ ของเด็กตัวน้อยก้าวขึ้นบนรถ แต่ละคนก็ไม่มีใครสนใจผู้ใหญ่แปลกหน้าอย่างเรา เพราะสายตาใสๆ แต่ละคู่พลันหย่อนก้นลงเบาะ ต่างก็จับจ้องไปที่จอทีวีด้านหน้า นั่นไง... เจ้าตัวการ์ตูนช้างน้อยกำลังเริงร่า เหมือนรู้ภารกิจสร้างความสุขประจำวันผ่านจอตู้ให้กับเด็กๆ

วันนี้การ์ตูนช้าง น้อย พรุ่งนี้อาจเป็นเจ้ากุ๊กไก่หรือเจ้าผีน้อย แล้วแต่ว่าพี่คนขับรถ และพี่เลี้ยงคุมเด็กจะสลับสับเปลี่ยนหาแผ่นซีดีมาให้น้องๆ หนูๆ ได้ดูกัน

นอกจากทีวีจอใหญ่ การตกแต่งภายในรถ ก็จะมีตัวหนังสือ ก.เอ๋ย ก.ไก่ ตัวหนังสือ A, B, C พร้อมภาพการ์ตูนประกอบแปะอยู่ขอบผนังรถ งานนี้รับประกันไม่มีโลโก้ธนาคารแอบประชาสัมพันธ์ช่อนไว้ในตัวการ์ตูน
รถคันที่เรานั่งเป็นรถรับ-ส่งโรงเรียนวัดแจงร้อนจะวิ่งรอบบริเวณ ธนาคาร ละแวกราษฏร์บูรณะซึ่งผู้ปกครองของหนูๆ จะรู้ว่าต้องพาเด็กมาขึ้นรถประจำจุดตรงไหน เวลาอะไร

จุดริ่มแรกหลังจากล้อเคลื่อน คือ ป้ายรถเมล์หน้าสำนักงานใหญ่ธนาคาร เพื่อรับน้องเอมอร หลานคุณป้าวาสนา แม่ค้าขายน้ำแผงลอยที่อยู่ระหว่างง่วนกับการจัดร้านพี่เลี้ยงคุมรถใจดี เล่าให้เราฟังคร่าวๆ ว่า น้องชายของป้าวาสนา ได้ทิ้งน้องเอมอรไว้ให้พี่สาวเลี้ยง แต่ลำพังป้าต้องขายของหาเช้ากันค่ำ ไม่มีเวลาไปส่งน้องเอมอรที่โรงเรียน ทำให้ต้องพึ่งพามอเตอร์ไซด์รับจ้างไปส่งเป็นประจำ จนครูประจำชั้นเห็นว่า น้องเอมอรเข้าข่ายน่าจะได้ขึ้นรถโรงเรียนไทย จึงใส่ชื่อของน้องเอมอรให้ผู้อำนวยการโรงเรียนพิจารณาและได้ขึ้นรถโรงเรียน ในที่สุด

รถเคลื่อนตัวไปช้าๆ จากจุดแรกไปยังจุดที่สองปลายทางอยู่หน้าปากซอยถนนราษฏร์บูรณะฝั่งตรงข้าม ธนาคาร จุดนี้ถือว่าเรียกความสนใจคนขับรถผ่านไปมาได้ไม่น้อย เพราะน้องๆ หนูๆ ยืนต่อแถว รอขึ้นรถอย่างเป็นระเบียบ จำได้ว่าบริเวณนั้นเป็นซอยชุมชนอะไรสักอย่าง

ความรู้สึกของเราเหมือนรถกำลังประคองเด็กน้อยใช้ความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจนมาถึงปลายทาง "โรงเรียนวัดแจงร้อน" เด็กทุกคนมาทันเคารพธงชาติ ทำให้เรามีโอกาสพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน "คนอง คชานาวีน" และคุณครูผู้คัดเลือกเด็ก "ครูจตุพร เกตุสิงห์สร้อย" จึงรู้ว่า ยังมีเด็กนักเรียนจำนวนมากที่ต้องการขึ้นรถนักเรียนไทย แต่ไม่ผ่านเกณฑ์


มีกรณีที่ผู้ปกครองบางรายไม่เข้าใจ ต่อว่าครูคัดเลือกเด็กลำเอียง ถึงขั้นขู่จะร้องเรียนลงหนังสือพิมพ์หัวสี
ใช่ว่าเด็กต้องยากจนถึงจะได้ขึ้นรถนักเรียนไทยเพราะหากจะวัดความยา กน เด็กโรงเรียนนี้คงเข้าข่าย 80% แต่เนื่องจากการพิจารณาจากโรงเรียนต้องลงรายละเอียดเป็นเด็กเล็กที่ไม่ สามารถดูแลตัวเองได้ แล้วยังมาโรงเรียนกับคนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง ส่วนใหญ่ก็จะเป็นชั้นอนุบาล 1 หรือประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งถ้าเด็กคนนี้ได้ขึ้นรถโรงเรียนจนโตถึงระดับหนึ่ง ก็ต้องผลัดเปลี่ยนให้น้องใหม่ที่เล็กกว่าเข้ามาแทนที่

หลายครั้งที่ครูจตุพรต้องเผชิญความลำบากใจเพราะผู้ปกครองก็อยากให้ลูกขึ้นรถ นักเรียนฟรี งานเล็กของคนหัวใจโตจึงมีอุปสรรคบ้างในบางครั้งยิ่งภาวะค่าครองชีพปรับตัว สูงขึ้น จึงเป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง อย่างป้าวาสนา ก็บอกเราว่า ถ้าน้องเอมอรไม่ได้ขึ้นรถนักเรียนไทย ก็ต้องฝากมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้ไปส่ง ค่ารถไปกลับวันละ 30 บาท ซึ่งตอนนี้ก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้

แต่จนป่านนี้ป้าวาสนา ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า รถนักเรียนมีชื่อโครงการอะไร แล้วเจ้าของโครงการแท้จริงที่ออกค่าใช้จ่ายชื่อเสียงเรียงนาม หน้าตาเป็นแบบไหน

ที่ป้ารู้คือ หลานนั่งรถของธนาคาร "ถ้าเจ้าของเขาได้อ่าน ก็ฝากบอกเขาด้วยว่าขอบคุณมาก ขอให้มีรถนักเรียนตลอดไป ช่วยคนจน" ถึงบรรทัดนี้หากคนรวยจากภาษีชาวบ้านในรัฐบาล ได้ยินได้ฟังบ้างก็คงดี...



ข้อมูลและภาพประกอบจาก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ