วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่ เปลี่ยนแปลง







ในโลกของสงครามมีแต่ความไร้สาระ ผู้คนมากมายต้องมาห้ำหั่นฆ่าฟันกันโดยที่ไม่ได้เคืองแค้นหรือรู้จักกันมา ก่อนด้วยซ้ำ คำถามง่ายๆ ที่ว่า รบกันไปเพื่ออะไร ไม่เคยได้รับคำตอบไม่ว่าจะเป็นเมื่ออดีตหรือในปัจจุบันก็ตาม

…ข้าพเจ้า ยังหนุ่ม อายุเพียงยี่สิบปี แต่กระนั้นข้าพเจ้าไม่รู้จักชีวิตอย่างอื่นเลย นอกจากความเศร้า ความตาย ความกลัว และเครื่องประดับที่ใช้โรยหน้าอบายแห่งความทุกข์ ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าคนเราได้ถูกยุให้เกลียดกันเองอย่างไร และโดยเงียบๆ โดยความเขลา โดยความบ้า โดยคำสั่ง ตามคำสั่ง และอย่างไม่เดียงสา ฆ่ากันเอง ทำลายกันเอง…
ส่วนหนึ่งจากห้วงคำนึงของ พล ทหาร เพาล์ บอยเมอร์ เด็กหนุ่มที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 วัยหนุ่มที่สดใสถูกทำลายลงวัยสงคราม เพาล์ สมัครเข้าเป็นทหารอย่างไม่ใคร่เต็มใจนัก เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มอีกหลายคน เยอรมันในขณะนั้นกำลังเข้าสู่สงครามครั้งใหญ่ ชายฉกรรจ์ทั่วประเทศถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหาร ไม่เว้นเด็กที่เพิ่งจบเพียงชั้นมัธยมอย่างพวกเขา

แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง (All Quiet on the Western Front) เป็นผลงานชิ้น เอกของ เอริช มาเรีย เรอมาร์ค (Erich Maria Remarque) เป็นนามปากกาของ เอริช เพาล์ เรอมาร์ค (Erich Paul Remarque) นัก เขียนชาวเยอรมันที่ผ่านสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ ๑ มาแล้ว ซึ่งเขาได้เอาชีวิตจริงมาเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้ มันถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ๑๙๒๘ ที่เยอรมัน และได้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับ สงคราม จนกลายเป็นหนังสือขายดี จำหน่ายได้มากกว่า ๑ ล้านเล่มเฉพาะในเยอรมันที่เดียว และถูกแปลเผยแพร่ไปทั่วโลกกว่า ๔๕ ภาษา ฉบับภาษาไทยนั้น ทรงแปลโดย หม่อมเจ้า ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ตีพิมพ์ครั้งแรกปี พ.ศ. ๒๔๗๒

เอริช มาเรีย เรอมาร์ค เจ้าของบทประพันธ์ และ มจ.ขจรจบกิตติคุณ กิติยากร ผู้ทรงแปล

เมื่อหนังสือแนวรบด้านตะวันตกฯ ถูกเผยแพร่ในเยอรมัน มันได้จุดชนวนความขัดแย้งในสังคมเยอรมันถึงเรื่องของสงครามขึ้นมา ทั่วโลกในขณะนั้นไม่มีใครอยากจะรื้อฟื้นถึงสงครามอีก โดยเฉพาะเยอรมันที่เป็นฝ่ายพ่ายสงคราม ประเด็นนี้บอบบางยิ่งนัก จริงอยู่ที่สงครามนั้นโหดร้าย ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ลึกๆ ในใจของชาวเยอรมันที่ไม่อยากรำลึกถึงมันเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความโหดร้ายของมันหรือเป็นเพราะพวกเขาแพ้สงครามกันแน่
เมื่อ พรรคนาซีขึ้นมามีอำนาจ หนังสือเล่มนี้ถูกทำลายทิ้งอย่างราบคาบ เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าพลเมืองเยอรมันได้รับรู้ถึงความโหดร้ายที่แท้จริงของ สงครามผ่านตัวหนังสือของเรอมาร์ค



เรอมาร์ค เปิดเรื่องด้วยถ้อยแถลงที่ดูเหมือนจะบอกว่า เขาไม่ได้โทษหรือตำหนิใครแต่เนื้อเรื่องข้างในนั้น ถึงจะไม่ได้บอกอย่างตรงๆ แต่ผู้อ่านก็สัมผัสได้ถึงความบัดซบของระบบสังคม การเมือง ความงี่เง่าของกลุ่มคนไม่กี่คนที่ก่อให้เกิดหายนะอย่างร้ายกาจนี้ ซึ่งตัวละครต่างๆ ในเรื่องก็เป็นเสมือนตัวแทนของความชั่วช้าเหล่านี้

คัน ทอเรค ครูที่พร่ำสอนนักเรียนถึงแต่เรื่องรักชาติ อีกทั้งยุยงให้นักเรียนสมัครเป็นทหาร ใครที่ปฏิเสธก็จะถูกเหน็บแนมถูกเย้ยหยันว่าขลาดเขลา ไม่รักชาติ หรือครูฝึกทหารใหม่ สิบโทฮิมเมิลสโตสส์ ที่ชอบแกล้งฝึกทหารใหม่และวางก้ามองอาจเสียเต็มประดา แต่พอไปถึงแนวหน้ากลับซุกตัวสั่นอยู่ในโพรงอย่างกลัวตาย หรือพวกแพทย์ทหารที่คอยจ้องจะตัดแขนตัดขาพวกทหารที่บาดเจ็บร่ำไป เพราะนั่นคือการรักษาที่รวดเร็วที่สุด

แนวรบด้านตะวันตกฯ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ ผลงานการกำกับของ ลิวอิส ไมล์สโตน (Lewis Milestone)ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สงครามเรื่องเยี่ยมของโลก ตัวภาพยนตร์นำเสนอเรื่องราวในนิยายได้อย่างครบถ้วนและมีชั้นเชิง ตัดสลับกันระหว่างเหตุการณ์ในสงครามและเรื่องราวก่อนที่เด็กหนุ่มเหล่านี้จะ เดินหน้าเข้าสู่สมรภูมิได้อย่างไหลลื่น แม้จะไม่มีฉากโหดๆ เหมือนหนังสงครามในยุคนี้ แต่มันก็สะท้อนความเลวร้ายของสงครามผ่านเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมีพลัง

ากเด็ด ตอนหนึ่งที่แสนเศร้าคือตอนที่ เพาล์ แทงทหารฝรั่งเศสนายหนึ่ง แต่ทั้งคู่ก็ต้องติดอยู่ในสนามเพลาะ เพาล์ ต้องผจญกับความสับสนในตัวเอง เขาเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้องของสงครามขณะที่จ้องมองร่างไร้วิญญาณ ของอีกฝ่าย

…เพื่อนเอ๋ย กันไม่อยากจะฆ่าแกเลยทีเดียว ถ้าแกกระโดดลงมาในหลุมนี้อีกสักครั้ง กันจะไม่ทำอะไรแกเลย … ขอโทษเถอะเพื่อนเอ๋ย เราทุกคนมองเห็นความจริงเอาเมื่อสายเสียแล้ว ทำไมเขาไม่บอกเราเสียก่อนนะว่าก็เป็นมนุษย์ที่น่าสงสารอย่างเดียวกับเรา และมารดาของแกก็มีความวิตกทุกข์ร้อนอย่างเดียวกับมารดาของเรา … ขอโทษเถอะเพื่อนเอ๋ย แกจะมาเป็นข้าศึกกับกันได้อย่างไร ถ้าเราต่างทิ้งปืนเสีย ทิ้งเครื่องแบบเสีย แกก็อาจมาเป็นพี่น้องของกันได้ …

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการนำ ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกวางจำหน่ายอีกครั้งในรูปแบบ VCD และ DVD สามารถหาซื้อมาชมได้










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ