วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ไขปริศนาหมัด น็อก

ไขปริศนาหมัด น็อก


ไขปริศนาหมัดน็อก

หากเป็นแฟนฟุตบอลแล้ว สุดยอดของเกมก็คือการพังประตู แต่สำหรับแฟนหมัดมวย สุดยอดของการต่อสู้ก็คือการ “น็อกเอ๊าท์”

ระยะ หลังๆ บ้านเราห่างเหินจากการถ่ายทอดสดการชกไฟต์สำคัญๆ เนื่องด้วยเพราะจัดทีไรก็ขาดทุนกันเห็นๆ อีกทั้งการเข้ามาตีตลาดของระบบเคเบิลทีวี ที่จับจองการถ่ายทอดไฟต์ใหญ่ๆ ไว้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญ วงการมวยบ้านเรากำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างเห็นได้ชัด จากที่เคยมีแชมป์โลก (ของจริง) ประดับประเทศอยู่เสมอๆ แต่เดี๋ยวนี้คนที่เรียกตัวเองว่าแชมป์โลก กลับไม่ได้แสดงฝีมือให้สมกับตำแหน่งนั้นเลยซักนิด ท่านอาจจะเคยมีโอกาสได้ชม การชกที่มีการน็อกเอ๊าท์เกิดขึ้นมาบ้าง บางครั้งเต้นไปเต้นมา 2-3 ที โดนหมัดเข้าไปเปรี้ยงเดียว ก็ลงไปนอนนับสิบตั้งแต่ยกแรก บาง คู่กอดปล้ำกันไปมา เผลอแผล็บเดียวโดนเข้าเต็มคางก็หลับกลางอากาศได้เช่นกัน และมีบ้างเหมือนกันที่โดนยำเละบนเวที แต่กลับไม่น็อก มาวูบเอาตอนที่ลงจากเวทีแล้ว บางรายถึงขั้นช็อก เสียชีวิตไปเลยก็มี

คำ ถามก็คือว่า พวกเขาน็อก และโดนน็อกกันได้อย่างไร?

ไมค์ ไทสัน” ราชาน็อกเอ๊าท์คนสุดท้ายแห่งศตวรรษที่ 20

มฤตยู ดำ ไมค์ ไทสัน อดีต แชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวท 3 สถาบัน เจ้าของสถิติเป็นแชมป์โลกรุ่นยักษ์ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก ด้วยวัยเพียง 21 ปี เป็นนักมวยที่จัดได้ว่าเป็นราชาแห่งการน็อกเอ๊าท์ ในสมัยที่ยังรุ่งๆ การน็อกคู่ต่อสู้ในยกแรก จัดเป็นเรื่องธรรมดามากสำหรับเขา ไฟต์ แห่งความทรงจำที่แฟนมวยไม่มีวันลืม ในปี 1988 เมื่อ ไทสัน ขึ้นป้องกันตำแหน่งกับอดีตแชมป์ ไมเคิล สปิงค์ส ในครั้งนั้นบรรดาเกจิอาจารย์ทั้งหลายต่างชี้ไปที่ สปิงค์ส ว่าเขานี่แหละคือผู้ที่จะมาหยุดความอหังการของ ไทสัน

แต่ เอาเข้าจริง ซูเปอร์ไฟต์ที่ทุกคนตั้งตารอกลับจบลงเพียงแค่ 91 วินาทีของยกแรก เมื่อ สปิงค์ส รับหมัดของ ไทสัน เข้าไปเต็มๆ ชุดใหญ่ จนร่วงลงไปนอนคาเชือกให้กรรมการนับสิบ

k1
หมัดสวิงหรือหมัดขว้าง อาวุธเด็ดของไทสัน เห็นได้ชัดว่าเป็นการทิ้งทั้งไหล่ เหมือนการขว้าง

ไมค์ ไทสัน ในช่วงที่เขาครองตำแหน่งแชมป์โลกรุ่นเฮฟวี่เวทของสามสถาบันหลักของโลก (สมาคมมวยโลก / WBA, สภามวยโลก / WBC และ สหพันธ์มวยนานาชาติ / IBF) ได้รับการยกย่องให้เป็นนักมวยที่แข็ง แกร่งที่สุดในโลก ด้วยสถิติการน็อกเอ๊าท์กว่าร้อยละ 90 ของการชกอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเก็บคู่ต่อสู้ก่อนยกที่ 6 แทบทั้งสิ้น (มวยสากลอาชีพระดับนานาชาติจะชก 12 ยก) แต่หากพิจารณาในอีกมุมมองหนึ่ง ไทสัน อาจจะไม่แกร่งอย่างที่คิด เพียงแค่เขาจัดการคู่ต่อสู้ได้รวดเร็ว ก่อนที่คู่ต่อสู้จะทำอะไรเขาได้ต่างหาก พิสูจน์ได้จากการพ่ายแพ้อย่างหมดรูปเป็นครั้งแรก ต่อคู่ชกโนเนม เจมส์ บัตเตอร์ ดักลาส ในปี 1990 หรือการโดน อีแวนเดอร์ โฮลิฟิลด์ สอนมวยในปี 1996

เคล็ด ลับและเทคนิคสุดยอดของ ไทสัน นั่นก็คือ การน็อกคู่ต่อสู้ให้เร็วที่สุด!

k2
การออกหมัดแบบทุ่มทั้งตัวของ ไทสัน สังเกตที่เท้า จะเห็นว่าตัวของ ไทสัน ลอยอยู่เหนือพื้นเวที

ชกถูก ตรงไหน และจังหวะไหน”

เรย์ อาร์เซล (Ray Arcel : 1899-1994) เทรนเนอร์ ผู้ปลุกปั้นแชมป์โลกอย่าง โรแบร์โต้ ดูรัน หรือ ลาร์รี่ โฮล์มส์ เคยให้ทัศนะไว้ว่า เขาเคยเห็นนักมวยถูกน็อกด้วยหมัดที่แทบจะไม่มีพิษสง แต่เขาเชื่อว่าหมัดทุกหมัดที่ปล่อยออกไปมีพลังแฝงอยู่ในนั้น จุดสำคัญคือ ชก ถูกที่ตรงไหน และในจังหวะไหนมากกว่า

จิมมี่ แบร๊ดด็อก (เจ้าของฉายา The Cinderella Man ที่ ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันนี้ ในปี 2005) นักมวยที่ อาร์เซล เคยเทรนมากับมือ มีโอกาสขึ้นชกกับ ไอ้ลูกระเบิดสีน้ำตาล โจ หลุยส์ ในช่วงปลายอาชีพค้ากำปั้น สามารถส่งยอดมวยอย่าง โจ ลงไปนอนนับแปดในยกแรก ทั้งๆ ที่ แบร๊ดด็อก ไม่ใช่นักมวยหมัดหนักอะไรเลย (ผลการชก ปรากฏว่า โจ ไล่ถลุง แบร๊ดด็อก พ่ายน็อกในยกที่ 8 ) ซึ่ง อาร์เซล อธิบายว่า หมัดที่ส่ง โจ ลงไปนอนนับแปดนั้น พุ่งเข้าใส่ปลายคางอย่างพอเหมาะพอเจาะต่างหาก

ยอดมวยอย่าง เดอะ ฮิตแมน โทมัส เฮิร์นส์ ก็เคยถูกคู่ต่อสู้น็อกตาตั้งมาแล้ว เฮิร์นส์ ได้ชื่อว่าเป็นนักมวยที่ คางเปราะ มากที่สุดคนหนึ่ง ไฟต์ที่เขาพบกับ ไอ้โล้นซ่า มาร์วิน แฮกเลอร์ ใน ศึกชิงแชมป์มิดเดิ้ลเวท 3 สถาบัน ในปี 1985 เฮิรนส์ เป็นฝ่ายครองเกมได้ตลอดใน 2 ยกแรก เมื่อเขาอาศัยความรวดเร็วและช่วงชกที่ยาวกว่า ดักต่อยวงนอกอยู่ตลอด แต่พอเข้าสู่กลางยกที่ 3 หมัดของ แฮกเลอร์ ที่โดนเพียงปลายหมัดจำเพาะเข้าที่คางของ เฮิร์นส์ อย่างจัง ทำเอาเขาเป๋ไปติดเชือก แน่นอนว่า แฮกเลอร์ ไม่ปล่อยโอกาสทอง และศึกครั้งนั้นก็จบลงที่ยกที่ 3 เท่านั้นเอง

จากกำปั้นสู่ สมอง

ทางด้านการแพทย์นั้นอธิบายไว้ว่า การหมดสติของนักมวยนั้น เกิดจากการที่สมองได้รับการกระทบกระเทือนจากแรงภายนอก จนทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของสมองอย่างฉับพลัน อธิบาย ง่ายๆ ก็คือ สมองของคนเราอยู่ภายใต้การปกป้องของกะโหลกศีรษะ โดยมีเยื่อหุ้มสมองเป็นเสมือนผ้าบางๆ รองไว้ชั้นหนึ่ง ลองนึก ถึงผลส้มก็ได้ ให้จินตนาการว่าเปลือกส้มก็คือกะโหลกศีรษะ ใยของเปลือกภายในก็คือเยื่อหุ้มสมอง และเนื้อส้มก็คือก้อนสมอง

เมื่อ ศีรษะของนักมวยรับแรงจากการชกของคู่ต่อสู้ กะโหลกศีรษะจะหมุนตามแรงหมัด ในขณะที่สมองซึ่งเคลื่อนตัวช้ากว่า จึงเป็นเหตุให้ร่างกายขาดสมดุล ในกรณีที่โดนเข้าอย่างจัง เยื่อหุ้มสมองอาจจะยืดตัวออก และก้อนสมองไปกระทบกับผิวกะโหลกศีรษะ จนทำให้สมองได้รับความเสียหายในที่สุด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์แบร์รี่ ดี. จอร์แดน (Barry D. Jordan) อดีตผู้อำนวยการแพทย์ คณะกรรมการการกีฬาแห่งนิวยอร์ก ผู้เขียนหนังสือ Medical Aspect of Boxing ได้แบ่งสภาพการน็อก เอ๊าท์ไว้ 4 ประเภท

1. นักมวยอยู่ในอาการมึนงง ไม่สามารถปกป้องตัวเองจากคู่ต่อสู้ได้อีกต่อไป แต่ยังไม่ถึงกับหมดสติ ซึ่งในวงการมวยเรียกว่า แพ้แบบ TKO (Technical Knockout) ตัวอย่าง เช่น เมื่อครั้งที่ เขาทราย แกแล็คซี่ ไล่ถลุง เคนจิ มัตสึมูระ ผู้ท้าชิงชาวญี่ปุ่นจนเลือดกลบปาก และกรรมการต้องเข้าไปยุติการชกในยกที่ 12 เพราะเห็นว่า เขาทราย เลือกต่อยอยู่ฝ่ายเดียว โดยที่ มัตสึมูระ ไม่มีโอกาสปัดป้อง

k3k4
ภาพแรกเป็นศีรษะของนักมวยในสภาพปรกติ ภาพต่อมาคือ ศีรษะของนักมวยเมื่อถูกแรง หมัดทำให้ กะโหลกเบนออกจากตำแหน่งปรกติ

2. นักมวยถูกชกลงไปนอนให้กรรมการนับสิบ โดยไม่สามารถลุกขึ้นมายืนได้ทั้งที่ยังคงมีสติ อย่างเช่นกรณีของ ไมค์ ไทสัน ที่ถูก เลนน็อกซ์ ลูอิส ถลุงพ่ายน็อกในยกที่ 8 ไท สัน พยายามลุกขึ้นขอสู้ต่อแต่ก็ทรงตัวไม่ได้ ขนาดที่เก็บฟันยางใส่เข้าปากไม่ถูกด้วยซ้ำ

k5
ศีรษะของนักมวยเมื่อถูกหมัดเข้าอย่างเต็มที่กะโหลก ศีรษะจะเคลื่อนที่อย่างฉับพลันในขณะที่สมองเคลื่อนที่ได้ ช้ากว่า ทำให้ไปกระแทกกับ ด้านในของกะโหลก

k6
สภาพของ ไมค์ ไทสัน ที่ถูกหมัดของ ลูอิส ประเคนเข้าใส่ ไทสัน ยังไม่หมดสติ แต่ไม่สามารถทรงตัวขึ้นได้

3. เป็นการน็อกโดยที่นักมวยถูกหมัดเข้าอย่างแรงทำให้หมดสติลงฉับพลัน แต่ก็สามารถคืนสติกลับมาได้ในเวลาไม่นาน อย่างเช่นในศึกชิงแชมป์เฮฟวี่เวท ปี 2001 ที่ ฮะซิม ราห์มาน โดนหมัดของ เลนน็อกซ์ ลูอิส จนหลับกลางอากาศในยกที่ 5 ก่อนจะฟื้นขึ้นมาแบบงงๆ ว่าโดนอะไรเข้าไป

k7
ฮะ ซิม ราห์มาน ถูกหมัดฮุคของ เลนน็อกซ์ ลูอิส เข้าอย่างจัง จนหลับกลางอากาศ สังเกตบริเวณกรามของ ราห์มาน ที่บิดเบี้ยวผิดรูปอย่างชัดเจนและดูการออกหมัดของ ลูอิส ที่มีแรงส่งจากสะโพก

4. คือการน็อกเอ๊าท์แบบที่นักมวยหมดสติเป็นเวลานาน ซึ่งหากถึงมือแพทย์ช้าเกินไปก็อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ หรือในบางครั้งจะฟื้นสติกลับมาได้ แต่ก็อาการทรุดลงในภายหลัง เช่นกรณีของ เร ย์ บูมบูม มันชินี่ แชมป์โลกรุ่นไลท์เวท ชาวอเมริกัน ที่สอย คิม ดุ๊ก คู จากเกาหลีใต้ลงไปนอนในยกที่ 14 หลังจากนั้น คิม ก็ไม่ฟื้นอีกเลยและเสียชีวิตในอีก 4 วันถัดมา จากการชกไฟต์นี้เอง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงกติกาในการชกอาชีพ จาก 15 ยก เหลือ 12 ยก จนถึงปัจจุบัน

k8
ไฟต์ ประวัติศาสตร์ ระหว่าง เรย์ บูมบูม มันชินี่ กับ คิม ดุ๊ก คู

ศ. จอร์แดน ยังอธิบายอีกว่า การน็อกเอ๊าท์นั้น เกิดขึ้นจากการที่สมองไหวตัวอย่างฉับพลัน ในขณะที่แกนสมองไม่ได้ขยับตามไปด้วย นั่นจึงอธิบายได้ว่า นักชกที่ใส่เฮดการ์ดแต่ทำไมถึงยังถูกน็อกได้ ก็เพราะเฮดการ์ดนั้นไม่ได้ช่วยปกป้องการไหวตัวของสมองนั่นเอง

พลัง หมัด มาจากไหน

นักมวยที่เก่งๆ จะต้องให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อม และรักษาสภาพร่างกายอยู่เสมอ การซ้อมที่สำคัญมากประการหนึ่งก็คือ การวิ่ง

การวิ่ง นับเป็นพื้นฐานของการฝึกซ้อมมวย นอกจากจะเป็นการฝึกระบบการหายใจของนักมวยแล้ว ยังเป็นการสร้างเสริมกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของช่วงล่าง ตั้งแต่เอวลงมา มีคำถามตามมาว่า ถ้าเราไม่ได้ฝึกมวยไทยล่ะ กำลังขาจำเป็นมากแค่ไหน

พลังของหมัดที่ปล่อยออกมานั้น มีความสัมพันธ์กับกลไกการถ่ายน้ำหนัก ตั้งแต่เท้าไล่ขึ้นมาจนถึงสะโพก ลำตัว หัวไหล่ กล้ามเนื้อแขน จนมาสุดที่กำปั้น นั่นหมายถึงว่าการออกหมัดที่ถูกวิธีเพื่อให้ได้แรงมหาศาลนั้น เริ่มที่เท้าเป็นจุดแรก คงเคยได้ยิน คำว่า ทิ้ง ทั้งไหล่ การออกหมัดประเภทนี้ก็เหมือนกับการโถมน้ำหนักตัวของนักมวยมารวมไว้ที่กำปั้น ก่อนจะปล่อยออกไปยังเป้าหมาย นั่นหมายถึงว่านักมวยต้องมีพลังขาที่แข็งแรง มั่นคง ความแข็งแกร่งของช่วงล่างจึงมีความสำคัญมาก ดังนั้น เราจึงเห็นเทรนเนอร์ทั้งหลายเคี่ยวเข็ญให้นักมวยวิ่งทั้งเช้าทั้งเย็นอยู่ เป็นประจำ

หมัดน็อกของ เขาทราย แกแล็คซี่ แชมป์โลกขวัญใจชาวไทย เป็นตัวอย่างการออกหมัดแบบทิ้งทั้งไหล่ เขาทราย น้ำหนักตัวเพียงแค่ 54.5 กิโลกรัม (รุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวท) แต่ว่ากันว่าเขาสามารถน็อกนักมวยในรุ่นเวลเตอร์เวท (63.5 กิโลกรัม) ได้อย่างสบายๆ จะเห็นได้ว่า เขาทราย จะออกหมัดในลักษณะคล้ายกับการขว้างลูกบอล น้ำหนักทั้งหมดส่งขึ้นมาจากสะโพกจนมาถึงแขนที่ทำหน้าที่คล้ายสปริง ปล่อยออกไปโดนเป้าหมาย

k9
หมัดที่ปล่อยออกมา อย่างถูกวิธีและตรงเป้าหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมองของคู่ชกได้ จากภาพจะเห็นศีรษะของฝ่ายที่โดนหมัด สะบัดอย่างรุนแรงพร้อมกับกรามที่บิดเบี้ยวจากตำแหน่งปรกติ

ในขณะที่ ความหวังของคนขาว : The Great White Hope” เจอร์รี่ย์ คลูนี่ย์ เป็นจอมน็อกเอ๊าท์ของรุ่นยักษ์อีกคนหนึ่ง แต่หมัดน็อกของ คลูนี่ย์ เป็นหมัดที่เกิดจากกำลังแขนอย่างเดียว ไม่ได้ทุ่มทั้งไหล่อย่างของ เขาทราย แต่ถึงกระนั้น ด้วยความใหญ่โตของร่างกาย ทำให้พลังหมัดของ คลูนี่ย์ เก็บคู่ต่อสู้ได้อย่างไม่ยากเย็น

เรายังสามารถอธิบายถึงพลังหมัดโดยอาศัยหลักของ ไอ แซค นิวตัน ที่ว่าด้วยเรื่องของแรง ข้อสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือ แรง = มวล x ความเร็ว แต่อีกอย่างหนึ่งที่จะลืมไปไม่ได้ นั่นคือเมื่อมีแรงกับแรงมาปะทะกัน หรือที่เรียกกันว่า หมัดบวก นึกอย่างง่ายๆ ก็คือ ลองคิดถึงรถที่วิ่งมาชนรถอีกคันที่จอดอยู่เฉย ๆ กับรถสองคันที่ต่างฝ่ายต่างวิ่งมาประสานงากัน สภาพหลังการชน แบบไหนจะยับเยินกว่ากันคงจะพอเดาออก

k10


กลเม็ดหยุดหมัดน็อก




ในภาพยนตร์ เรื่อง “Rocky” ตัวละคร ร็อคกี้ บัลบัว กล่าวประโยคเด็ดเอาไว้ว่า ไม่ สำคัญว่าหมัดจะหนักแค่ไหน สำคัญที่ว่าเราจะยืนรับหมัดได้แค่ไหนต่างหากแต่ ร็อคกี้ คงจะไม่รู้หรอกว่าร่างกายคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับแรงปะทะแบบบ้าดี เดือดเหมือนอย่างที่เขาทำในภาพยนตร์ นักมวยจริงๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้การป้องกันตัวเอง ต่อให้ตัวเองจะหมัดหนักแค่ไหนก็ตาม ไม่ใช่ยืนลอยหน้าท้าให้คู่ต่อสู้ซัดเปรี้ยงๆ

นอกเหนือจาก การตั้งการ์ดและการหลบหลีกหมัดคู่ต่อสู้แล้ว ในกรณีที่หลบไม่ทันจริงๆ นักมวยเก่งๆ ก็สามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ นั่นคือการโยกศีรษะตามวิถีหมัดที่พุ่งเข้ามา เป็นการผ่อนน้ำหนักหมัดของคู่ต่อสู้ให้กระจายออกไป ไม่ให้รวมเข้าที่จุดโฟกัสเพียงจุดเดียว

นักมวยระดับ ยอดฝีมืออย่าง ชูการ์ เรย์ เลนนาร์ด, โมฮัมหมัด อาลี, ออสการ์ เดอ ลา โฮยา หรือ โม้ อมตะ สมรักษ์ คำสิงห์ ของไทยเรา ก็นับเป็นหนึ่งในเรื่องการลดแรงปะทะของหมัดที่พุ่งเข้าใส่ บางครั้งที่เราชมการถ่ายทอด จะเห็น สมรักษ์ โดนต่อยแล้วหน้าสะบัด อันที่จริงนั่นเป็นเทคนิคการผ่อนน้ำหนักหมัดของคู่ต่อสู้ โดยการสะบัดศีรษะไปตามแรงหมัด ไม่ฝืนรับหมัดแบบตรงๆ ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้น้ำหนักหมัดที่รับลดลงครึ่งต่อครึ่งเลยทีเดียว ทำให้ลดการสั่นไหวของสมอง และอัตราการถูกน็อกก็จะลดลงด้วย

k11
เทคนิค การเก็บคางและผ่อนน้ำหนักหมัด ของ เรย์ เลนนาร์ด ในไฟต์ที่พบกับ เทอร์รี่ นอริส

นัก มวยที่ใช้วิธีการข้างต้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีสายตาและปฏิกิริยาตอบสนองที่เป็นเลิศ ทันทีที่หมัดคู่ต่อสู้พุ่งเข้ามา สมองจะต้องสั่งการว่าจะให้ศีรษะขยับไปทางไหน หากนักมวยมีประสาทสัมผัสช้าก็ไม่มีทางจะจัดการกับหมัดที่พุ่งเข้ามาได้อย่าง ทันการณ์

เครื่องมือ ป้องกันการถูกน็อก

ได้แก่ นวม และ เฮดการ์ด ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการถูกน็อกเสียทีเดียว เรียกว่าเป็นการลดอัตราการถูกน็อกเสียมากกว่า

ใน ยุคแรกๆ นวมของนักมวยเป็นเพียงถุงมือหนังที่รัดอย่างแน่นหนา ซึ่งจุดประสงค์จริงๆ ก็เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่มือของนักมวยและช่วยป้องกันการเกิดแผลแตก ต่อมามีการเพิ่มรองพื้นที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เพื่อลดแรงกระแทกและป้องกันอันตรายมากยิ่งขึ้น

ใน ปัจจุบัน สำหรับมวยสากลอาชีพ จะใช้นวมขนาด 12 ออนซ์ ซึ่งมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันในวัสดุสังเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูงๆ มาใช้เพื่อช่วยลดอันตรายแก่นักมวย ในขณะที่มวยไทยในบ้านเรา ใช้นวมขนาดแค่ 4 ออนซ์ ซึ่งบางเฉียบจนแทบจะเป็นการใช้หมัดเพียวๆ เสียมากกว่า จึงไม่น่าแปลกใจที่นักมวยไทยถึงได้อึดกันเหลือเกิน

สำหรับ เฮดการ์ด ออกแบบมาโดยใช้วัสดุสังเคราะห์หนาถึง 3 ชั้น ปกปิด บริเวณศีรษะโดยรอบ ซึ่งเป็นจุดที่มีโอกาสโดนหมัดได้ อย่างไรก็ตาม เฮดการ์ด นั้นมิได้ช่วยให้นักมวยรอดพ้นจากการโดนน็อกไปได้ หากแต่เพียงป้องกันหรือลดความบอบช้ำที่เกิดจากแรงหมัด ดังจะเห็นได้จากการชกที่แม้นักมวยจะใส่เฮดการ์ด แต่ก็ยังไม่วายถูกน็อกเข้าจนได้

hg

บทสรุป

นับแต่อดีต ตั้งแต่การชกโดยใช้หมัดแปล่า ๆ พัฒนามาจนถึงใช้นวมในปัจจุบัน การน็อกเอ๊าท์คู่ต่อสู้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะเป็นการชกในระดับใดล้วนแต่มีความเสี่ยงทั้งสิ้น ข่าวการเสียชีวิตของนักมวยยังคงมีให้เห็นกันอยู่แม้ว่าจะมีการออกกฎเกณฑ์ หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกัน แต่ก็ยังไม่สามารถต้านทานการพัฒนาทางร่างกายของมนุษย์ได้ กติกาของกีฬามวยในยุคปัจจุบัน จึงเน้นให้ผู้ชี้ขาดบนเวทีให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตของนักมวยให้ มากที่สุด หากนักมวยแสดงอาการที่ไม่น่าไว้วางใจ ผู้ตัดสินก็สามารถสั่งยุติการชกได้ในทันที เพื่อป้องกันมิให้เกิดโศกนาฏกรรมบนเวทีนั่นเอง

ที่มา

1. Bledsoe, G.H., Li, G., Levy, F. Injury risk in professional boxing. Southern Medical Journal. 2005;98(10):994-998.

2. Hochswender, W.J. The mechanics of a knockout punch. Popular Mechanics. 1988;165(6):74-77.

3. Zetterberg, H., Hietala, M.A., Jonsson, M., Andreasen, N., Styrud, E., Karlsson, I., Edman, Ä., Wallin, A. Neurochemical aftermath of amateur boxing. Archives of Neurology. 2006;63(9):1277-1280.

4. The boxer’s statistics. [Online]. Available : www.boxrec.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ