วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553

เที่ยวจนยิ่งใหญ่ “วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร” ศิลปินแห่งชาติด้านภาพถ่าย ฝีมือระดับโลก

เที่ยวจนยิ่งใหญ่ “วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร” ศิลปินแห่งชาติด้านภาพถ่าย ฝีมือระดับโลก




วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร ศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย



รู้สึกว่าเป็น เกียรติ ภูมิใจ และก็ดีใจ ไม่คิดว่าทางผู้ใหญ่ยังเห็นความสำคัญของการถ่ายภาพ เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล และเป็นเกียรติแก่วงการถ่ายภาพของเรา เพราะว่าทางสาขาถ่ายภาพเขาให้น้อยมาก เพิ่งจะเป็นคนที่ 5 ตั้งแต่ปี 2528 ถือว่าเราอายุยังน้อย ก็คิดว่าผมก็ยังมีส่วนจะช่วยผลักดันคนรุ่นใหม่ๆ ให้สนใจถ่ายภาพได้ยิ่งขึ้น”

เป็นประโยคคำพูดที่ออกมาจากความรู้สึกจากใจของ “วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร” ช่างภาพมืออาชีพวัย 56 ปี ที่เพิ่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2552 สาขาทัศนศิลป์ด้านภาพถ่าย ไปสดๆร้อนๆ

วรนันทน์ คือหนึ่งในสุดยอดช่างภาพของเมืองไทย มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่า 30 ปีของการเป็นช่างภาพมืออาชีพ เขาสามารถกวาดรางวัลด้านภาพถ่ายมามากมายกว่า 1,000 รางวัล สามารถคว้ารางวัลนักถ่ายภาพอันดับ 1 ของโลก ประเภทภาพท่องเที่ยว จากสมาคมถ่ายภาพแห่งอเมริกา (P.S.A.) มาถึง 17 ปี และติดอันดับท็อปเท็นของโลกมาโดยตลอดตั้งแต่ปีค.ศ. 1987 ถึงปี 2009





ภาพถ่ายวันพ่อ แห่งชาติที่วรนันทน์ประทับใจมาก



ในขณะที่เส้นทางการเป็นช่างภาพของวรนันทน์นั้นก็มี ความน่าสนใจไม่น้อย เพราะจากความที่ต้องทำงานตั้งแต่เด็ก ต้องเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทำให้ได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงาม และคิดอยากจะเก็บเป็นภาพถ่าย จึงได้เริ่มคิดถ่ายภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“เมื่อตอนเด็กๆ เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ปี เป็นเซลขายเสื้อผ้าวิ่งตามต่างจังหวัด ไปสุดเหนือสุดใต้ พอระหว่างทางที่เดินทางไปแต่ละจังหวัดของประเทศไทย ได้เห็นทั้งภูมิทัศน์ บรรยากาศต่างๆ ในระหว่างที่เราไป มันสวยงาม เลยคิดว่า อยากจะฝึกถ่ายภาพและเก็บรูปต่างๆมาเป็นเจ้าของ ก็เลยเริ่มฝึกถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก”

วรนันทน์ ย้อนรำลึกความหลังเพิ่มเติมว่า ในราวปี 2523 เห็นประกาศในหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่ามีการอบรมการถ่ายภาพของวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯจึงเข้ามาสมัครเรียน ได้เรียนกับ อ.พูน เกษจำรัส (ศิลปินแห่งชาติด้านภาพถ่ายท่านแรก ปี พ.ศ. 2531) รวมถึง อ.สุมิตรา อ.อาภรณ์ และ อ.สุรพงษ์ เรียนถึง 4 คอสต์ จากนั้นจึงสมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ ในปี 2525 และได้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 3 สมาคม ช่วงแรกส่งผลงานเข้าประกวด แพ้บ้าง ชนะบ้าง แต่ก็อาศัยความขยัน อดทน จนสามารถเข้าสู่ขั้นแนวหน้าของทั้ง 3 สมาคม โดยแนวทางที่ถนัดของวรนันทน์ คือภาพแนวท่องเที่ยวเพราะเป็นคนชอบเดินทาง




ภาพยามเช้าริมฝั่ง โขงนครพนม



“จริงๆ แล้วผมเป็นคนเที่ยวเก่ง เลยถ่ายภาพท่องเที่ยวเยอะหน่อย แต่ทุกวันนี้ก็ยังถ่ายทุกแบบ คือ ภาพภูมิทัศน์ ภาพดอกไม้ ถ่ายหลายแนว ยกเว้นใต้น้ำไม่ได้ถ่าย แต่ตอนนี้สนใจถ่ายดอกบัวเยอะ และภาพนก เพราะคิดว่าภาพภูมิทัศน์หรืออะไรต่างๆ ที่ถ่ายมาเกิน 30 ปี มันเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ไม่ค่อยจะหลงเหลือความสวยงามเหมือนเมื่อก่อน เลยมาสนใจดอกบัว เพราะว่าเราได้ร่วมช่วยจัดประกวดในงานบัวโลกที่สวนหลวง ร.9 เลยสนใจว่าบัวไม่ว่าจะเป็นบัวหลวง บัวสาย มันมีสิ่งที่สวยงามและชวนให้ถ่ายรูป บ้านเราก็มีบัวเยอะมาก พอถ่ายแล้วก็สนุก” วรนันทน์ บอก

และเมื่อถามถึงว่าในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง วรนันทน์ เล่าว่า มีหลักการง่ายๆคือการใช้แสงธรรมชาติ และเน้นหนักไปที่การใช้ขาตั้งกล้อง จะต้องรู้ว่าแสงช่วงไหนดีที่สุด และก็จะต้องไปเผื่อเวลา ควรมีการเตรียมตัว ศึกษาสถานที่ที่จะไปถ่ายภาพว่าช่วงเวลาไหนดีที่สุด




ภาพสัญจรเหนือวารี



“เอกลักษณ์งานของผม เวลาส่งไปประกวดต่างชาติ ส่วนมากผมจะใช้รูปโบราณสถาน พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ประเพณี วัฒนธรรมของไทย เพื่อส่งไปเผยแพร่ที่เมืองนอก ตอนนี้ที่ส่งภาพไปประกวดแล้วได้รับรางวัลมาก็คิดว่า 1,000 กว่ารางวัล ได้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ”

วรนันทน์ กล่าวถึงผลงาน พร้อมเล่าเพิ่มเติมถึงผลงานประกวดสุดแสนประทับใจจำได้ไม่ลืมว่า “เป็นรางวัลที่ไปแข่งในนามอาเซียน แข่งกับชาติอาเซียนที่ฮ่องกง เป็นตัวแทนประเทศไทย ให้เวลาช่างภาพวันครึ่ง แล้วให้ฟิล์ม คนละ 10 ม้วน คนละ 2 หัวข้อ แล้วช่างภาพจะต้องถ่ายภาพ ถ่ายเสร็จแล้วจะต้องส่งฟิลม์ล้างแล้วเลือกรูปประกวด แล้วตัดสินเลย เป็นงานที่ตื่นเต้น เพราะว่าไปถ่ายของจริงไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เวลาเท่ากัน ฟิล์มเท่ากัน เพียงแต่ว่าไอเดียความนึกคิดของช่างภาพแต่ละคนแล้วแต่ประสบการณ์ แล้วก็ตัดสินโดยกรรมการที่เป็นกลาง ที่เป็นชาวฮ่องกงเกือบทั้งหมดซึ่งเป็นช่างภาพอาชีพ การประกวดนี้ก็ได้รับรางวัลชนะเลิศ แล้วได้ไปออกรายการโทรทัศน์ที่ฮ่องกงด้วย(นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรางวัล)”

ส่วนภาพถ่ายที่ประทับใจวรนันท์มากที่สุด เขาบอกว่า มีมากมาย แต่ที่จำได้แม่นก็คือ ภาพถ่ายวันพ่อแห่งชาติที่ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ประมาณเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยได้มีโอกาสขึ้นรถยกของดับเพลิง ถ่ายให้กับกรมประชาสัมพันธ์




ภาพสุดฝีเท้า



“พอรถยกขึ้นไป กลางสนามหลวง เมื่อเราอยู่พื้นล่างเรายังไม่รู้หรอกว่าคนจุดเทียนมันจะดูสวย พอรถยกยกขึ้นไปแล้วมองลงมามันตื่นเต้นมาก ดวงเทียนที่จุดถวายพระพรเป็นหมื่นดวงแล้วฉากหลังเป็นวัดพระแก้วกับพระบรม มหาราชวัง มันจะสวยมาก แล้วเราอยู่ข้างบนถ่ายมันจะตื่นเต้น และสมัยนั้นยังไม่มีกล้องดิจิตอลต้องใช้สไลด์ 400 SA ซึ่งมันจะยากนิดนึงในการถ่าย แต่ก็ทำให้ได้ภาพที่ประทับใจมาก”

ในส่วนของการใช้อุปกรณณ์นั้น วรนันท์บอกว่า เขาใช้กล้องอยู่ทั้งหมด 3 แบบ คือกล้องฟิล์ม กล้องดิจิตอล และกล้องดิจิตอลที่นำมาแปลงเป็นถ่ายอินฟาเรด(โดยไม่ต้องไปล้างฟิล์ม) ซึ่งวรนันท์ได้เล่าถึงความแตกต่างของการใช้กล้องฟิล์มและกล้องดิจิตอล ว่า




ภาพสวดพระปาติโมกข์



“มีความแตกต่างคือ กล้องฟิล์มสมัยก่อนไม่ว่าจะเป็นขาวดำ สี สไลด์สี ช่างภาพจะต้องมีความเชี่ยวชาญในการวัดแสง ในการมองมุม ในการจัดองค์ประกอบ และคือรูปที่ถ่ายมาถ้าเป็นสไลด์สี จะผิดพลาดในการวัดแสงไม่ได้ มุมกล้องจะต้องเป๊ะ การวัดแสงต้องแม่น ถ่ายเสร็จแล้วจะไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ล้างเสร็จแล้วต้องส่งเลย แต่ถ้าเป็นภาพขาวดำ หรือสี เราก็สามารถนำมาแก้ไขในห้องมืดตอนอัดขยายได้ แต่ถ้าปัจจุบันเป็นกล้องดิจิตอล ความดีของกล้องดิจิตอลทำให้คนสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเปิดโหมดออโต้ไวท์บาลานส์ โหมดเดย์ไลท์นีออน ทุกอย่างได้หมด ความละเอียดต่างๆ หรือความหยาบของภาพตอนนี้ดิจิตอลละเอียดมาก ซึ่งจะได้เปรียบ แล้วก็ข้อดีของดิจิตอลของคนที่รู้ก็สามารถมาปรับแต่งแก้ไขในคอมพิวเตอร์ได้” วรนันทน์ บอกพร้อมทั้งยังได้พูดถึงการที่ช่างภาพต้องมีการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี ของกล้องที่พัฒนาไปเรื่อยๆ อีกด้วยว่า

“ช่างภาพเองอยากจะให้เรียนขั้นพื้นฐาน เพิ่มพื้นฐานว่าลักษณะของอุปกรณ์กล้องในตัวนี้ที่ซื้อมา บางครั้งซื้อมาแพงๆ แต่สั่งงานไม่ค่อยเป็น ซื้อมาแล้วไม่รู้ว่าจุดไหนมันใช้อย่างไร ต้องมีการศึกษารายละเอียด และถ้ามีพื้นฐานดี การวัดแสงแม่น การที่จะต้องมาแก้ในคอมพิวเตอร์มันจะน้อย ยิ่งถ้าเป็นโลกของดิจิตอลจะต้องถ่ายให้เยอะ แล้วก็ดูภาพให้เยอะ เรียนรู้เรื่องข้อดีข้อเสีย และการแก้ไข”




ภาพน้ำใสไหลเย็น



ในขณะที่ภาพถ่ายที่ดีใน ความคิดของวรนันท์นั้น คือ ภาพที่ให้เรื่องราวต่างๆ ให้คนดูแล้วเข้าใจง่าย มีองค์ประกอบภาพสมบูรณ์ มีความสวย และสามารถเก็บเหตุการณ์ที่สำคัญ และเล่าเรื่องราวเป็นภาพที่แทนคำพูดได้ ทำให้คนดูประทับใจ

“การถ่ายภาพทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น ได้ออกไปพักผ่อน ไปท่องเที่ยว ได้ไปเห็นสถานที่ที่สวยงาม ได้เห็นภาพที่ประทับใจ ซึ่งคนส่วนมากที่ไม่ได้ถ่ายภาพจะไม่มีโอกาสได้เห็น แล้วก็ยังได้ไปเจอสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ในโลกอันกว้างซึ่งมันมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ แล้วยังได้รู้จักเพื่อนต่างชาติ ได้เห็นวัฒนธรรมสิ่งต่างๆ ที่คิดว่าคนที่ไม่ได้ถ่ายภาพจะไม่ค่อยได้ไป” วรนันท์พูดถึงความประทับใจที่ได้จากการเดินทางถ่ายภาพ พร้อมฝากข้อคิดไปถึงผู้ที่อยากเดินตามรอยของเขาว่า




ภาพทำความสะอาด



“ช่างภาพที่จะประสบความ สำเร็จมีข้อง่ายๆ คือ จะต้องมีใจรักและสนใจก่อนในข้อแรก ข้อที่สองคือ ค่อยๆ ศึกษาหาความรู้ ไม่ว่าจากในหนังสือ ในอินเตอร์เน็ตซึ่งเราสามารถเข้าไปท่องในเว็บต่างๆ ซึ่งมีความรู้การถ่ายภาพมากมาย แล้วก็ไปเรียนครอส์สั้นต่างๆ หรือเข้าไปอบรมตามที่เขามีสอนอย่างที่ว่าเราอยากรู้เรื่องอะไร พอได้ศึกษามีความรู้แล้วก็หากล้องอุปกรณ์ที่ใช้งานได้ดี ไม่จำเป็นต้องแพงมาก และศึกษาแต่ละจุดว่ามันใช้งานอย่างไร

หลังจากนั้นข้อสำคัญคือต้องมีโอกาสและเวลา คือถ้าคุณมีความรู้ มีใจรัก แต่ถ้าคุณไม่มีเวลา มีโอกาสออกถ่ายรูปเลย โอกาสที่คุณจะได้รูปยาก พอคุณมีโอกาสและเวลาออกถ่ายรูป สิ่งสำคัญคือรูปที่เราถ่ายมาอย่าเก็บไว้ดูคนเดียว จะต้องให้ผู้ที่รู้ช่วยชี้แนะและวิจารณ์ว่ารูปนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร หลังจากชี้แนะแล้ววิจารณ์แล้ว เราก็ต้องสร้างสรรค์งานของเราและนำเสนอ ประกวดภาพบ้าง สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันก็คือจะทำให้ช่างภาพสนุกและเป็นการมีโอกาสที่จะเป็นช่างภาพดี ขึ้น เพราะว่ามันจะต้องทำงานแข่งกับตัวเอง ต้องฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ” วรนันทน์ แนะนำจากใจ





ภาพยิ้มพิมพ์ใจ



และสำหรับ ใครที่อยากจะชื่นชมผลงานภาพถ่ายของคุณวรนันทน์ ก็สามารถติดตามชมผลงานได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ของชมรมถ่ายภาพต่างๆ รวมถึงเว็บไซด์ส่วนตัวของคุณวรนันทน์ ชื่อว่า www.hobby555.comและ ตอนนี้นอกจากคุณวรนันท์จะเป็นช่างภาพอิสระช่วยบันทึกประวัติศาสตร์แล้ว ยังได้ออกหนังสือพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง เผยแพร่ประวัติศาสตร์ของไทย และหนังสือP็HOTO HOBBY เพื่อเผยแพร่เรื่องมุมกล้อง เรื่องการถ่ายต่างๆ มีรายละเอียดการถ่ายทำ และถึงแม้จะได้เป็นศิลปินแห่งชาติแล้วเขาก็ยังจะทำงานด้านการถ่ายภาพต่อไป เรื่อยๆ พร้อมทั้งยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงผู้ที่สนใจการถ่ายภาพไว้ด้วยว่า

“ ปัจจุบันนี้กล้องให้ความสะดวกแก่เรามาก ถ้าชอบถ่ายภาพมีกล้องอยู่ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ มีเหตุการณ์อะไรที่อยากบันทึกอยากจะถ่ายก็ให้ถ่ายเก็บไว้ก่อน เพราะภาพต่างๆ เหล่านั้นคุณอาจจะดูไม่มีค่าสำหรับวันนี้ แต่อาจจะมีค่าอีกสัก 10 หรือ 20 ปี จะมีค่าสำหรับคนอื่นมากในอนาคต และก็ช่วยกันเก็บบันทึกประวัติศาตร์ให้คนรุ่นหลังต่อไป ได้มีโอกาสชื่นชมผลงาน แล้วก็ถ้ามีโอกาสก็มอบให้กับกองจดหมายเหตุถ้าเราไม่อยากเก็บ ให้เขาช่วยเก็บให้คนรุ่นหลังได้มีโอกาสไปค้นคว้า”

หมายเหตุ : ภาพถ่ายทั้งหมด(ยกเว้นภาพวรนันทน์) ถ่ายโดย วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร




ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 8 กุมภาพันธ์ 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ