วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

มิ่งมงคลเมืองเพชร ไหว้พระธาตุลงลิฟต์-พระ 11 นิ้ว

มิ่งมงคลเมืองเพชร ไหว้พระธาตุลงลิฟต์-พระ 11 นิ้ว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์






พระพุทธบาททอง ถ้ำเขาย้อย



วันหยุดนี้มีที่ หมายกันหรือยัง? ถ้ายังล่ะก็ "ตะลอนเที่ยว" ขอแนะนำเมืองเพชร(บุรี) เพราะนอกจากจะไม่ไกลจากรุงเทพฯมากนัก ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 2 ชั่วโมงแล้ว ยังมีสถานที่ให้ท่องเที่ยวมากมายอีกด้วย

สำหรับทริปเที่ยวเมืองเพชรนี้เราเริ่มจากการเอาฤกษ์เอาชัยด้วยการเวียนไหว้ "นมัสการ 9 มิ่งมงคลเมืองเพชร" กันก่อน โดย "ตะลอนเที่ยว"เริ่มต้นความเป็นมิ่งมงคลกันที่ "พระพุทธบาททอง ถ้ำเขาย้อย" เพื่อนมัสการพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานอยู่ในมณฑปที่สวยงามบริเวณกลางถ้ำ ผู้มีจิตศรัทธามักจะนำทองคำเปลวมาติดบนรอยพระพุทธบาทจนมีสีทองอร่ามราวพระ พุทธบาททองคำ และยังนิยมนำเหรียญที่มีสีทองมาโปรยเพื่อเป็นพุทธบูชาโดยเชื่อว่า อานิสงส์ผลบุญจะนำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย







พระธาตุจอมเพชร พระนครคีรี



มิ่งมงคลสิ่งที่ 2 ก็คือ "พระธาตุจอมเพชร พระนครคีรี" โดยพระธาตุจอมเพชรนี้ ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเพชร ประดิษฐานอยู่บนชัยภูมิที่โดดเด่นบนยอดเขาลูกกลางบนเขาวังที่มองเห็นเด่นชัด แต่ไกล พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้บูรณะเจดีย์เก่าที่มีอยู่ ก่อนแล้ว และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามว่า พระธาตุจอมเพชร เป็นเจดีย์สีขาวทรงลังกา สูงจากฐาน 40 เมตร ภายในฐานกลวงเป็นหอกลมกลางฐาน ตรงกลางมีเสาใหญ่รับน้ำหนักองค์พระเจดีย์ รอบพระเจดีย์มีทางเข้าไปยังหอกลมสี่ทาง เชื่อกันว่าผู้ที่มานมัสการด้วยจิตอันบริสุทธิ์จะมีอานิสงส์ส่งผลให้มีชื่อ เสียงขจรขจายกว้างไกลดังที่ตั้งของพระธาตุจอมเพชร อันแวดล้อมด้วยหมู่มวลพระที่นั่งในพระราชวังพระนครคีรีอีกด้วย

พระนครคีรี เป็นพระราชวังที่รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ.2402 บนเขาสมณ ซึ่งเป็นภูเขาที่มียอดใหญ่ 3 ยอด เมื่อสร้างพระราชวังแล้วจึงพระราชทานนามว่า ยอดเขามหาสวรรค์ หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า เขาวัง และยังโปรดเกล้าฯให้เรียกสิ่งก่อสร้างต่างๆบนเขาทั้ง 3 ยอดว่า พระนครคีรี ประกอบด้วยพระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ พระที่นั่งปราโมทย์มไหสวรรย์ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท พระที่นั่งราชธรรมสภา พระตำหนักสันถาคารสถาน หอพิมานเพชรมเหศวร หอจตุเวทปริตพงษ์ และหอชัชวาลเวียงชัย







มงคล 108 วัดพระพุทธไสยาสน์ บริเวณฝ่าพระบาทของพระนอน




ถัดมาพวกเราไปต่อยังมิ่งมงคลที่ 3 ได้แก่ "มงคล 108 วัดพระพุทธไสยาสน์" หรือที่เรียกกันว่าวัดพระนอน อันเป็นวัดเก่าแก่แต่ครั้งสมัยอยุธยา ภายในวิหารมีพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนขนาดยาว 21 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ ก่อด้วยอิฐลงรักปิดทอง เชื่อกันว่าเป็นฝีมือสกุลช่างสมัยอยุธยา ส่วนมงคล 108 ที่ว่านั้น ถือเป็นมหามิ่งมงคลที่ควรแก่การปฏิบัติและเคารพอย่างยิ่งซึ่งได้ปรากฏลวดลาย มงคลนี้บริเวณฝ่าพระบาทของพระนอน

แม้ในปัจจุบันจะมีบางส่วนที่เลือนรางหายไปบ้างแต่ส่วนที่ยังคงอยู่ก็มีความ สวยงามและชัดเจน และการได้นมัสการมงคล 108 ก็นับเป็นการเปิดรับสิ่งอันเป็นมงคล 108 สิ่งเพื่อเป็นมหามงคลแก่ตนเอง และยังเชื่อกันว่าจะเป็นการปัดเสนียดรังควาญ สิ่งเลวร้าย สิ่งอัปมงคลทั้งปวงออกไป






หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ เกจิชื่อดังแห่งเมืองเพชร



จากนั้นไปยังมิ่งมงคลที่ 4 "หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุวรวิหาร" ซึ่งหลวงพ่อชิต หรือพระครูสุวรรณมุนีนี้เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงของเมืองเพชรบุรี มีพุทธคุณทางด้านคงกระพันชาตรีและแคล้วคลาด ผู้ที่มีเคราะห์มีปัญหาอุปสรรคในชีวิต และในหน้าที่การงานสามารถที่จะทำพิธีสะเดาะเคราะห์ได้เช่นกัน

โดยรูปหล่อหลวงพ่อชิตอยู่ภายในวิหารหลวง และยังมีพระพุทธรูปประธานทรงราชาภรณ์ มีพุทธลักษณ์งดงามมาก นอกจากนี้ยังมีหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์วัดมหาธาตุ เป็นพุทธรูปปรางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 8 นิ้ว หัตถ์ซ้ายถือพัด ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อวัดมหาธาตุ ภายในพระวิหารหลวงผนังทุกด้านมีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงาม ทั้งภาพชาดก และเทพชุมนุม ที่หน้าบันประดับด้วยลาย ปูนปั้น รูปพระนารายณ์ทรงครุฑยุดนาค มีพญาวานรแบกครุฑ อยู่อีกชั้นหนึ่ง พื้นหลังเป็นลายกนก ก้านขดออกช่อลายหางโต เป็นรูปครุฑ นาค ยักษ์ ฯลฯ วิจิตรงดงามมาก






ภายในวิหารวัดมหาธาตุมี สิ่งน่าสนใจให้ชมอย่างหลากหลาย



นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระปรางค์ห้ายอดเป็นปรางค์ก่ออิฐฉาบปูนสร้างตามคติ มหายานถวายแด่พระธยานิพุทธทั้งห้า ซึ่งทำรูปจำลองประดิษฐานอยู่บนยอดปรางค์แต่ละองค์ และยังมีภาพปูนปั้นต่างๆในวิหารหลวง และพระอุโบสถ ฝีมือช่างเมืองเพชรซึ่งหาดูได้ยากอีกด้วย

มิ่งมงคลที่ 5 คือ "พระ 11 นิ้ว วัดใหญ่สุวรรณาราม" โดยวัดแห่งนี้น่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และได้รับการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าเสือ โดยพระสุวรรณมุนี (สังฆราชแตงโม) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้โปรดเกล้าฯให้ยกวัดใหญ่ขึ้นเป็นพระอารามหลวง และเสด็จทอดพระเนตรหลายครั้งพร้อมพระราชทานเงินสำหรับปฏิสังขรณ์ด้วย





พระพุทธรูปนิ้วพระบาท 11 นิ้ว วัดใหญ่สุวรรณาราม



โบราณสถานในวัดแห่งนี้มีคุณค่าเป็นอย่างมาก ภายในพระอุโบสถหลังพระประธานเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 11 นิ้ว ซึ่ง 11 นิ้วนั้นคือนิ้วพระบาท ไม่มีผู้ใดทราบที่มา แต่มีความเชื่อกันว่าการได้นมัสการพระพุทธรูป 11 นิ้วเป็นสิ่งมงคลที่จะนำมาซึ่งโภคทรัพย์ โชคชัยและความอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้ในวัดใหญ่ยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากหลายให้เที่ยวชม อาทิ ศาลาการเปรียญ เรือนไทยขนาดใหญ่ไม่สักทั้งหลัง สร้างอย่างงดงามสมส่วน หอไตรกลางน้ำ 3 เสาที่หาชมยากมาก จิตรกรรมในโบสถ์จากช่างเมืองเพชรฝีมือชั้นครู แม้ปัจจุบันจะเลือนรางไปมากแต่ว่าก็ยังคงความวิจิตรงดงามอยู่






พระธาตุลงลิฟท์ ในบุษบก สามารยกตัวขึ้นไปเก็บบนเพดานได้อย่างมิดชิด



จากวัดใหญ่ เราเดินทางไปสักการะมิ่งมงคลที่ 6 อันได้แก่ "พระธาตุลงลิฟท์ วัดเพชรพลี" วัดเพชรพลีหรือเดิมชื่อวัดพริบพรีมีพระบรมสารีริกธาตุ จำนวนถึง 5 องค์ภายในอาคารวชิรปราสาท ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น ยอดทรงเจดีย์ มีมุข 12 มุข หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้นสวยงาม ได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุฉัพพัณรังสี พระบรมธาตุทันตธาตุ หรือที่รู้จักกันว่าพระเขี้ยวแก้ว พระเสมธาตุ พระบรมสารีริกธาตุขนาดต่างๆ และพระธาตุของพระอรหันต์ โดยทั้งหมดประดิษฐานในบุษบกซึ่งสามารยกตัวขึ้นไปเก็บซ่อนบนเพดานได้อย่าง มิดชิดภายใต้แผ่นไม้จำหลักที่งดงาม

เมื่อมีผู้มาสักการบูชา เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้กดปุ่มเพื่อให้บุษบกค่อยๆเลื่อนลงมาจากเพดานจน ประดิษฐานอย่างสมบูรณ์ในบริเวณแท่นบูชา ซึ่งการบูชาพระบรมสารีริกธาตุถือเป็นมหามงคลประหนึ่งได้กราบไหว้องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง







หลวงพ่อเพชร วัดกำแพงแลง




ภายในวัดเพชรพลี ยังมีชื่อเสียงของสิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ เสาชิงช้า และเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งเคยปรากฏหลักฐานจากนิราศเมืองเพชร ของสุนทรภู่ด้วย อีกหนึ่งสิ่งที่สวยงามได้แก่ สุวรรณเจดีย์ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง น่าจะสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ต่อมาได้ต่อเติมโดยเสริมปล้องไฉนปลียอด และยกพื้นชานเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสรอบองค์เจดีย์

มิ่งมงคลต่อไปก็คือ "หลวง พ่อเพชร วัดกำแพงแลง" ศาสนสถานเป็นแบบพุทธศาสนานิกายมหายานซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 สิ่งก่อสร้างแสดงให้เห็นถึงศิลปะขอมแบบบายนซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัย วรมันที่ 7 ก่อด้วยศิลาแลงประดับลวดลายปูนปั้นประกอบปรางค์ประธาน 1 องค์ และปรางค์ทิศ 4 องค์






หนุมานหลวงพ่อแล วัดพระทรง



ภายในปรางค์พระประธานประดิษฐานหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปหินทรายแดง ปางมารวิชัยสมัยอยุธยา เชื่อกันว่าอานิสงส์แห่งการนมัสการหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปโบราณ จะนำมาซึ่งความสงบร่มเย็นและหายจากโรคภัยไข้เจ็บทั้งปวง

มิ่งมงคลที่ 8 ได้แก่ "หนุ มานหลวงพ่อแล วัดพระทรง" หลวงพ่อแลเป็นพระเกจิชื่อดังรูปหนึ่ง ท่านมีชื่อเสียงด้านการสักยันต์หนุมาน และปลุกเสกเครื่องรางของขลังรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะรูปแบบของหนุมาน โดยเชื่อว่ามีพุทธคุณทางด้านแคล้วคลาด และเมตตามหานิยม

และมิ่งมงคลสุดท้ายมิ่งมงคลที่ 9 คือ "หลวง พ่อโต วัดถ้ำเขาหลวง" วัดถ้ำแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 วิจิตงดงามด้วยหินงอกหินย้อย ภายในยังมีช่องกว้างให้แสงอาทิตย์ได้สาดส่องเข้ามากระทบแนวหินก่อให้เกิด ความหลากหลายของสีสันภายในถ้ำ







หลวงพ่อโต วัดถ้ำเขาหลวง



ซึ่งภายในถ้ำนี้เองประดิษฐานพระพุทธรูปพระประธานซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อถวายรัชกาลที่ 4 ชาวบ้านนิยมเรียกว่าหลวงพ่อโต คนในท้องถิ่นนิยมมานมัสการเพื่อขอพรทางด้านโชคลาภ ตัวเลข อักขระต่างๆ

และนั่นก็คือ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองเพชร ที่เมื่อไปสักการบูชาแล้ว ยังได้ชมในความงามของงานพุทธศิลป์ถิ่นเมืองเพชร หนึ่งในสกุลช่างยอดเยี่ยมแห่งสยามประเทศที่ยังมีลมหายใจ

เรียกได้ว่าเมื่อเที่ยวทริปนี้แล้ว ได้ทั้ง อิ่มบุญ(ในสิ่งศักดิสิทธิ์) อิ่มตา(ในความของศิลปะเมืองเพชร) และอิ่มใจ(ที่ได้เที่ยวเมืองเพชร) กลับบ้านไปอย่างสบายอุรา

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โครงการ "นมัสการ 9 มิ่งมงคลเมืองเพชร" ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานเพชรบุรี โทร.0-3247-1005-6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ