คมชัดลึก : นายตำรวจร่างเล็กแต่หัวใจยิ่งใหญ่...พ.ต.อ.ภาสกร สถิตยุทธการ ผกก.อารักขา 2 บก.อคฝ.บชน. กับภารกิจอารักขาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ยามเสด็จพระราชดำเนินออกนอกเขตพระราชฐาน ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตลอดเส้นทางอารักขา มีบทบาทหน้าที่อย่างไร ?
ถาม : ภารกิจหลักของกองอารักขา 2 มีหน้าที่อย่างไร
พ.ต.อ.ภาสกร : กองกำกับการ 2 มีหน้าที่ความรับผิดชอบ 5 งานหลัก คือ อันดับแรกในการดูแลขบวนเสด็จทั้งหมด และดูแลเรื่องพลับพลาที่ประทับ พระองค์ใดเสด็จฯ ออกนอกเขตพระราชฐานพวกผมจะไปวางกำลัง เช่น ในหลวงประทับอยู่ที่ รพ.ศิริราช ก็มีกำลังผมไปวาง หรือเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ยังเยาวราช ก็มีกำลังผมอยู่ชุดหนึ่ง นอกเหนือจากราชองครักษ์และนายตำรวจราชสำนักประจำ (นรป.)
งานที่ 2 เป็นชุดจักรยานยนต์นำขบวนเทิดพระเกียรติ จะเห็นได้ว่า เมื่อมีขบวนเสด็จของในหลวงจะมีมอเตอร์ไซค์นำขบวน แต่เดิมจะใช้รถฮาร์เลย์ เดวิดสัน ตอนนี้เปลี่ยนเป็นบีเอ็มดับเบิลยู 1,200 ซีซี งานที่ 3 รถปิดท้ายขานจุด เวลามีขบวนผ่านที่ไหน อย่างไร จะแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ งานที่ 4 เป็นรถอาวุธพิเศษ พร้อมปฏิบัติหน้าที่ดูแลอารักขารองมาจากราชองครักษ์ และ นรป. ส่วนงานที่ 5 การอารักขาบุคคลสำคัญ และจัดกำลังดูแลความเรียบร้อยรอบๆ กองบัญชากาการตำรวจนครบาล (บช.น.)
ถาม : รถอาวุธพิเศษในขบวนเสด็จประกอบด้วยอะไรบ้าง
พ.ต.อ.ภาสกร : มีปืนเอชเค 53 ซึ่งพับฐานได้ ปืนไฟฟ้า และแก๊สน้ำตา พร้อมในการช่วยเหลือและชาร์จป้องกัน ในขบวนแต่ละครั้งจะมีองค์ประกอบครบตามพระราชประสงค์ ระเบียบกรมราชองครักษ์ และระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ที่สำคัญต้องทำตามพระราชประสงค์ ยกตัวอย่าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านไม่มีพระราชประสงค์จะใช้มอเตอร์ไซค์เราก็เอามอเตอร์ไซค์ออก
ถาม : การปฏิบัติหน้าที่ในขบวนเสด็จ
พ.ต.อ.ภาสกร : ส่วนของการอารักขาตำรวจมีวินัย มีระเบียบ หากไม่มีนายตำรวจเลย เขาก็ทำงานกันได้ เขาทำงานด้วยใจ ถวายชีวิตแด่พระองค์ท่าน ไม่จำเป็นต้องมีนายตำรวจ เพียงแค่มาดูแลให้ขวัญและกำลังใจ คอยช่วยเหลือในสิ่งที่ขาด คอยช่วยแก้ปัญหา ในการปฏิบัติเขาทำด้วยใจ ไม่ต้องสั่งอะไรมากมาย บางคนทำหน้าที่ตรงส่วนนี้ตั้งแต่พลตำรวจ นายตำรวจบางคนก็ไม่ขอย้ายไปไหน เพราะมีความสุขแล้วได้รับใช้พระองค์ท่าน
ถาม : ตำรวจที่อยู่หน่วยนี้ต้องมีคุณสมบัติพิเศษอย่างไร
พ.ต.อ.ภาสกร : คุณสมบัติพิเศษ มีแค่งานมอเตอร์ไซค์ที่ต้องตัวสูง ตัวใหญ่ เพราะรถคันใหญ่ ต้องสูงกว่าผม 168-170 ขึ้นไป
ถาม : ผกก.ต้องขี่รถมอเตอร์ไซค์นำขบวนไหม
พ.ต.อ.ภาสกร : ไม่จำเป็นต้องขี่ ให้ดูจากภารกิจ (ชี้ให้ดูตารางทำงาน) "สีแดง" ขบวนหมายกำหนดการ ไปแทนพระองค์ ไปแทนในหลวง หรือในหลวงเสด็จฯ "สีน้ำเงิน" จะเป็นส่วนพระองค์ "สีเขียว" การประชุม ยกตัวอย่าง หมายสีแดง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ ยังสวนอัมพร ภารกิจของหน่วยผมจะต้องมีพลับพลาที่ประทับ รถปิดท้ายขานจุด และรถอาวุธพิเศษ กรณีผมต้องขึ้นรถขบวน รถนำหน้าพระองค์ท่าน นั่งคู่กับนายตำรวจประจำพระราชสำนักของวังศุโขทัย นี่คือหน้าที่ผม
ถ้า เป็นขบวนในหลวงเสด็จฯ หากผมไม่ขึ้นมอเตอร์ไซค์ก็จะไปอยู่ที่หมาย ดูแลการวางกำลังว่าเรียบร้อยไหม ถ้าจะให้ผมขี่มอเตอร์ไซค์นำขบวนผมทำได้นะ แต่ต้องปาดเบาะ ทำอะไรอีกหลายอย่าง (ฮา) เพราะผมสูงแค่ 163 เตี้ยไปหน่อย (ฮ่า ฮ่า) แต่ก็ขี่ได้ และตั้งใจว่า หากในหลวงเสด็จฯ กลับวังสวนจิตรลดา ผมจะขี่มอเตอร์ไซค์นำขบวน เพื่อเทิดพระเกียรติ
ถาม : คุณประโยชน์ของการใช้รถมอเตอร์ไซค์ในขบวนเสด็จ
พ.ต.อ.ภาสกร : เมื่อราว 2-3 ปี ในหลวงเสด็จฯ มาตามถนนราชดำเนิน มีคนสติไม่ดีวิ่งเข้ามาหาพระองค์ท่าน เพื่อจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เคยใช้มอเตอร์ไซค์กันเอาไว้ เหตุการณ์ครั้งนั้นมีการปิดการจราจร แต่ขณะนี้มีพระราชประสงค์ในการเสด็จส่วนพระองค์ให้ปล่อยการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจร บางทีคนขายพวงมาลัยมาเคาะกระจกรถสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็มี แถมชะโงกหน้ามาดูว่าเป็นใคร พระองค์ท่านก็ทรงพระสรวญ เราก็ต้องรีบไปกันออกมา หรือต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์คอยบังรถของพระองค์ท่านอย่างเนียนๆ
นอกจากภารกิจถวายการอารักขาและรักษาความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์แล้ว พ.ต.อ.ภาสกรยังเป็นแชมป์ยิงปืนมือรางวัลเหรียญทองสูงสุดมาทุกสนามแล้ว รับหน้าที่ครูฝึกยิงปืน สอนยุทธวิธีและอารักขาบุคคลสำคัญ แก่ตำรวจทั่วประเทศ กว่าจะมาถึงขั้นนี้จะต้องผ่านการเคี่ยวกรำประสบการณ์โชกโชนเพียงใดลองมาฟัง ดู ?
พ.ต.อ.ภาสกร : ผมคิดว่าการใช้อาวุธและยุทธวิธีตำรวจ เป็นวิชาชีพของตำรวจ ผมชอบงานด้านบู๊มาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ผมเป็นคนเอาหลักสูตรการยิงปืนกึ่งอัตโนมัติไปสอนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากปัจจุบันตำรวจใช้ปืนออโตเมติกกันเยอะ จึงไปลงเรียนคอร์สสั้นๆ จ่ายตังค์เอง ที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษของอเมริกา อิสราเอล แล้วเอามาประยุกต์เขียนตำราได้ 4-5 เล่ม และรวบรวมประสบการณ์การแข่งขันยิงปืน ผมได้เหรียญสูงสุดมาครบหมดแล้ว และเป็นตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปแข่งยิงปืนที่ต่างประเทศด้วย
ถาม : เห็นว่ากำลังจะรื้อฟื้นให้ตำรวจหันมาใช้ปืนลูกซอง
พ.ต.อ.ภาสกร : ปกติตำรวจใช้ปืนพก อัตราการใช้ไม่อเนกประสงค์ แต่พกพาสะดวก ทว่ามันไม่สะดวกเวลาเจอคนร้ายที่มีอาวุธร้ายแรง หากเป็นปืนลูกซองสามารถใช้กระสุนได้หลายแบบ ใช้ยิงประตู ยิงแก๊สน้ำตา ยิงนกก็ได้ เวลาเจอคนร้ายวิกลจริตก็ใช้บรรจุกระสุนยางยิงแทน ตำรวจสหรัฐอเมริกายังมีปืนลูกซองประจำรถอยู่ เคยใช้ตอนมีโจรปล้นแบงก์เมื่อไม่นานมานี้ จึงอยากให้ทุกหน่วยมีปืนลูกซองประจำหน่วย
ถาม : ในฐานะเคยเป็นรองหัวหน้าชุดอรินทราช 26 เมื่อเจอวิกฤติการณ์บริหารอย่างไร
พ.ต.อ.ภาสกร : การบริหารวิกฤติการณ์เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการใช้อาวุธปืน เป็นภาวะบีบคั้นให้เราต้องแก้ปัญหาผ่านตัวเองให้ได้ก่อนว่า ความเหนื่อย ความยาก ความลำบาก การอดหลับอดนอน สมองเราคิดแก้ปัญหาได้ไหม ตอนมีม็อบครั้งแรกไม่ได้นอน 7 วัน ได้นอน 12-13 ชั่วโมง มีปัญหาเข้ามาตลอด เราอยู่ได้ เราแก้ปัญหาได้เพราะเกิดจากการฝึกฝนมาเป็น 100 วัน เพื่อให้ทำงานแค่วันเดียว
ถาม : ผกก.ให้ความสนใจปืนไฟฟ้าเป็นพิเศษ ขนาดทดสอบการถูกยิงด้วยตนเอง จนสติดับวูบไปชั่วขณะ
พ.ต.อ.ภาสกร : ตอนนี้ยาบ้าเยอะ คนคลุ้มคลั่งอาละวาดเพิ่มขึ้น หากใช้แก๊สน้ำตากับคนคลุ้มคลั่งจะยิ่งอาละวาดมากขึ้น หน่วยงานอื่นๆ น่าจะมีปืนไฟฟ้าใช้ แม้ราคาจะแพง ขนาดลูกกระสุนยัง 5,000 บาท แต่ชีวิตคนมันคุ้ม !
หากตำรวจมีความชำนาญฝึกฝนยุทธวิธีและใช้อาวุธ ปืนอย่างมีประสิทธิภาพ โศกนาฏกรรมคงไม่เกิดกับตำรวจ คนร้าย และเหยื่อ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า...
ทีมข่าวรายงานพิเศษ : เรื่อง
ชุติมา มั่นอ่วม : ภาพ
หนังสือพิมพ์ คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ