มนต์"ขนมปังขิง" เสน่ห์คลาสสิคกลางกรุง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 มีนาคม 2553 17:33 น.
โดย หนุ่มลูกทุ่ง
พระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พูดถึงขนมปังขิงขึ้นมา หลายๆคนคงอาจจะนึกว่าฉันจะพาเปลี่ยนแนวจากเดินเที่ยวเป็นไปชิมขนมอร่อยๆ แต่เสียใจด้วย เพราะขนมปังขิงที่ว่านี้ ไม่ใช่ขนมปังขิงที่กินได้ แต่หมายถึงบ้านสไตล์หนึ่งที่มีการประดับตกแต่งบ้านด้วยไม้ฉลุลวดลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ชายคา ช่องลม หรือราวระเบียง หรือที่เรียกว่า "บ้านขนมปังขิง" (Ginger Bread Style) ซึ่งต้นแบบนั้นมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศของเราหลังจากที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามี บทบาทในประเทศช่วงราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา และได้สร้างบ้านเรือนตามแบบที่ตนคุ้นเคยไว้ในประเทศไทย ชาวไทยเองก็ชื่นชอบความงดงามของลวดลายไม้แกะสลักจนเกิดเป็นกระแสนิยมนำเอา ลวดลายขนมปังขิงมาประดับที่บ้านเรือนของเราบ้าง โดยความนิยมนั้นก็เริ่มต้นขึ้นจากพระราชวัง บ้านขุนนาง เศรษฐี คหบดี และตามวัดวาอารามต่างๆ
แม้จะนำแบบมาจากบ้านสไตล์ต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าบ้านแบบขนมปังขิงนี้จะไม่เข้ากับประเทศไทย เพราะลวดลายแกะสลักนั้นทำหน้าที่เป็นช่องลมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความอ่อนช้อยงดงามเหมาะกับความประณีตละเอียดอ่อนของคนไทยอีก ด้วย ซึ่งบางคนก็ได้ดัดแปลงลวดลายแกะสลักเป็นลายไทยเพิ่มความงดงามขึ้นไปอีก
ระเบียงบ้านดูงดงามขึ้นเมื่อประดับด้วย ลวดลายไม้ฉลุ
ส่วนเหตุที่เรียกการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักเหล่านี้ว่าขนมปังขิงก็เพราะ ชาวตะวันตกนิยมเอาคุกกี้ขนมปังขิงมาสร้างเป็นบ้านตุ๊กตาเล็กๆประดับตกแต่ง ด้วยขนมอมยิ้มหลากหลายชนิดในวันคริสต์มาส อีกทั้งลวดลายแกะสลักเหล่านั้นยังมีลักษณะหงิกงอเป็นแง่งๆคล้ายขิงอีกด้วย
ในปัจจุบัน บ้านขนมปังขิงในกรุงเทพฯส่วนมากก็เริ่มมีให้เห็นน้อยลง อาจเพราะส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเก่าที่ต้องบูรณะซ่อมแซมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปถ้าอยากจะชม เพราะในกรุงเทพฯก็ยังมีบ้านขนมปังขิงอีกหลายหลังที่น่าสนใจกันที่ฉันจะพาไป ชมกันวันนี้
สถานที่แห่งแรกที่น่าจะถือเป็นสุดยอดบ้านขนมปังขิงก็คือภายใน "พระราชวังดุสิต" ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งที่เรารู้จักกันดีเช่นพระที่นั่งอนันตสมาคม และพระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นต้น
ลวดลายฉลุไม้งดงามที่พระที่นั่งอภิเศก ดุสิต
ฉันจะพาไปชมลวดลายขนมปังขิงกันที่ "พระที่นั่งวิมานเมฆ" กันก่อน พระที่นั่งแห่งนี้เป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างขึ้นในพระราชวังดุสิต และยังเป็นอาคารแบบวิคตอเรีย ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรปผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็นรูปอักษรตัวแอล สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง จึงถือเป็นพระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีลวดลายฉลุที่เรียกว่าขนมปังขิงให้ชมตามหน้าต่างและช่องลมซึ่งฉลุเป็นลวด ลายอ่อนช้อยสวยงาม ภายในพระที่นั่งวิมานเมฆยังเป็นสถานที่จัดแสดงศิลปวัตถุต่างๆ เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกด้วย
นอกจากนั้น ที่นี่ก็ยังมีอาคารแบบขนมปังขิงให้ชมกันอีกที่ "พระที่นั่งอภิเศกดุสิต" พระที่นั่งชั้นเดียวที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นท้องพระโรงและสถานที่พระราชทานเลี้ยงใน พระราชวังดุสิต และใช้เป็นสถานที่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการในงานประจำปีสวนดุสิต พระที่นั่งองค์นี้เป็นอาคารไม้ที่ได้รับอิทธิพลการก่อสร้างแบบตะวันตกเช่น เดียวกับพระที่นั่งวิมานเมฆ อีกทั้งยังมีลวดลายฉลุไม้แบบขนมปังขิงประดับอยู่ตามชายคาอย่างงดงาม ลวดลายฉลุไม้เรียกว่าลายบุหงา มีการประดับกระจกสี เป็นศิลปะแบบมัวร์ที่มีความงดงามมากเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีตราแผ่นดินที่ มุขหน้า และมุขหลังของพระที่นั่งอีกด้วย
บ้านเอกะนาค ที่ภายในเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา
บ้านขนมปังขิงหลังที่สอง ก็เป็นบ้านเก่าแก่อีกเช่นเดียวกัน นั่นก็คือ "บ้านเอกะนาค" บ้านสองชั้นครึ่งไม้ครึ่งปูนที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 มีอายุนับได้ 91 ปีแล้ว แม้จะเก่าแก่แต่ก็ได้รับการดูแลรักษาอย่างดี ปัจจุบันบ้านเอกะนาคได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยานั่นเอง
บ้านเอกะนาคนี้แม้จะมีขนาดไม่ใหญ่โตนักแต่ก็ดูอบอุ่นสมเป็นบ้าน เราสามารถชมลวดลายไม้ฉลุขนมปังขิงอันละเอียดงดงามที่ตกแต่งอยู่ได้ตามช่องลม เหนือประตูห้องต่างๆ และตามชายคา ซึ่งเป็นของที่มีมาแต่เดิมในบ้านหลังนี้ รวมไปถึงกระเบื้องปูพื้นและผนังห้องลวดลายต่างๆที่ส่วนใหญ่เป็นของเก่า และส่วนหนึ่งทำขึ้นให้เหมือนของเดิม ก็ทำให้ตัวบ้านมีสีสันน่ารักมากยิ่งขึ้นไปอีก
ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศ
ผู้ที่มาชมยังบ้านเอกะนาค นอกจากจะได้ชมบ้านขนมปังขิงน่ารักๆ แล้ว ก็ยังจะได้ชมพิพิธภัณฑ์กรุงธนบุรีศึกษาที่อยู่ด้านในบ้านอีกด้วย โดยจะมีทั้งเรื่องราวของบ้านหลังนี้ เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินผู้ทรงก่อตั้งกรุงธนบุรี รวมไปถึงวิถีชีวิตและอาชีพของชาวธนบุรีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนอีกด้วย
คราวนี้มาดูตึกขนมปังขิงภายในวัดกันบ้างที่ "ตำหนักเพ็ชร" ในวัดบวรนิเวศวิหาร พระตำหนักหลังสำคัญของวัดบวรฯหลังหนึ่ง โดยเป็นตำหนักที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยพระองค์ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรงของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ในสมัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
ตำหนักเพ็ชร ตำหนักแบบฝรั่งผสมไทย
ตำหนักเพ็ชรหลังนี้มีความสำคัญตรงที่ใช้เป็นสถานที่ประชุมมหาเถรสมาคม อีกทั้งยังเคยใช้เป็นที่ประชุมคณะธรรมยุติวินิจฉัยกรณีพิพาทระหว่างพระมหา นิกายและธรรมยุติ ตัวตำหนักเป็นสองชั้นแบบฝรั่งผสมไทย มุขด้านหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุขนมปังขิงดูงดงามมากทีเดียว
หมู่กุฏิขนมปังขิงที่วัดสวนพลู
ที่วัดอีกแห่งหนึ่งก็เป็นแหล่งชมงานศิลปะขนมปังขิงได้ชัดเจน นั่นก็คือที่ "วัดสวนพลู" วัดเล็กๆบนถนนเจริญกรุง ใกล้กับโรงแรมแชงกรีลา ที่หมู่กุฏิของพระสงฆ์ในวัดแห่งนี้มีความโดดเด่นสวยงามด้วยลวดลายไม้ฉลุขนม ปังขิงที่ประดับตกแต่งอยู่บนเรือนไม้สองชั้นทาด้วยสีเหลืองครีมคาดน้ำตาล เข้ม ฝาไม้ตีซ้อนเกล็ด โดยบริเวณชายคาก็ประดับด้วยไม้ฉลุที่แผงกันแดดเหนือทางเข้า ราวลูกกรงระเบียงชั้นบน และแผงกันแดดระหว่างเสาระเบียง โดยความสวยงามของหมู่กุฏินี้ยังได้รับการการันตีด้วยรางวัลอนุรักษ์ดีเด่น มรดกสถาปัตยกรรมในประเทศไทยจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี พ.ศ.2545 อีกด้วย
หมู่กุฏิขนมปังขิงที่ได้รับรางวัลอาคาร อนุรักษ์ดีเด่น
มาปิดท้ายการชมบ้านขนมปังขิงกันที่ "โรงละครปรีดาลัย" ในแพร่งนรา ไม่ไกลจากเสาชิงช้าเท่าไรนัก โรงละครปรีดาลัยนี้ตั้งอยู่ในบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของวังวรวรรณ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ผู้ทรงมีความสนใจในเรื่องของการนิพนธ์และศิลปะการละคร โดยได้ทรงแต่งบทละครร้อง "สาวเครือฟ้า" ขึ้นโดยใช้เค้าโครงจากละครโอเปร่าเรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย ดังนั้นพระองค์จึงได้ทรงก่อตั้งโรงละครร้องขึ้นในบริเวณตำหนักที่ประทับชื่อ ว่าโรงละครปรีดาลัยขึ้นเป็นโรงละครร้องแห่งแรกในสยาม ซึ่งรัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาทอดพระเนตรละครร้องที่โรงละครแห่งนี้ด้วย
แต่ต่อมาได้มีการสร้างถนนขึ้นตัดผ่านวัง จึงเหลือเพียงตำหนักไม้ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของวังเท่านั้นที่ยังเหลือให้ เห็น และต่อมาพื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกเช่าไปเพื่อเปิดเป็นโรงเรียนตะละภัฏศึกษา ก่อนจะปิดทำการไปเมื่อ พ.ศ.2538 ปัจจุบันเป็นสำนักงานกฎหมาย แต่ตัวตำหนักก็ยังคงตั้งตระหง่านให้เราได้ชมความงามกันจนทุกวันนี้
อดีตวังและโรงละครปรีดาลัย ที่แพร่งนรา
ตัวอาคารที่ยังมีให้เราเห็นอยู่นี้ได้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นตึกผสมไม้สามชั้น ประดับลวดลายฉลุไม้สวยงาม หลังคาทรงปั้นหยา มีหน้าบันรูปครึ่งวงกลม มีเฉลียงหันออกถนนแพร่งนรา ส่วนที่เป็นไม้ฉลุลายสวยงามตามชายคาและเท้าแขนค้ำยันเฉลียงด้านติดถนน ด้านหน้าอาคารถูกต่อเติมภายหลังด้วยอาคารเครื่องไม้ ลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 6 และใช้หน้าต่างบานเกล็ดไม้ ขณะที่หน้าต่างประตูของตัวตึกส่วนใหญ่เป็นบานทึบลูกฟักไม้กระดาน ถือเป็นอีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่ามากทีเดียว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ