วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2553

"ไม้ตะพด" อาวุธของชายไทยโบราณ

"ไม้ตะพด" อาวุธของชายไทยโบราณ





เมื่อเอ่ย ถึง "ไม้ตะพด" คนรุ่นใหม่อาจจะคิดว่าก็คือ สิ่งเดียวกับ "ไม้เท้า" ที่คนแก่ถือไว้ยันตัวเวลาเดิน ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว แม้ไม้ทั้งสองจะมีรูปร่างคล้ายๆ กัน แต่ประดิษฐ์ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์การใช้สอยที่ต่างกันมาก ดังนี้

ในสมัยโบราณ "ไม้ตะพด" จัดเป็นเครื่องป้องกันตัวชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ชายโดยทั่วไป ด้วยสมัยก่อนถือว่าดาบเป็นอาวุธร้ายแรง ชาวบ้านจะถือดาบออกไปนอกบ้าน หรือจะพกดาบเปลือยฝักไปในที่สาธารณะ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรไม่ได้ เนื่องจากมีพระราชกำหนดห้ามไว้ ยกเว้นบรรดาพวกทหาร ตำรวจ และกรมการเมืองที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย แต่คนเหล่านี้ หากถอดดาบออกจากฝักโดยบันดาลโทสะ เมาสุรา หรือโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ก็จะต้องได้รับโทษเช่นกัน และด้วยข้อห้ามมิให้พกดาบในที่สาธารณะดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้ผู้ชายสมัยก่อนเลี่ยงมาใช้ "ไม้ตะพด" เป็นอาวุธแทนดาบ และมักมีไม้ตะพดถือไว้ประจำมือทุกคน โดยนิยมถือเมื่อจะลงจากเรือนไปยังที่ต่างๆ เช่น ไปช่วยงานบวช งานแต่งงาน เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะไม้ตะพดสามารถใช้เป็นสิ่งป้องกันอันตราย มิให้กล้ำกรายมาถึงตัวได้โดยง่าย อย่างเช่น เมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่นยามค่ำคืน ก็ใช้ระพุ่มไม้ให้เกิดเสียงดังเพื่อให้สัตว์ตกใจหนีไปก่อน นอกจากนี้ ผู้ชายชาวบ้านสมัยก่อน ยังนิยมถือไม้ตะพดเพื่อแสดงศักดิ์ศรีของลูกผู้ชายด้วย กล่าวคือ หากผู้ใดไม่ถือไม้ตะพดติดมือไปยังต่างถิ่น ผู้คนในถิ่นนั้นๆ จะถือว่าผู้ชายที่มามือเปล่าที่มาเหยียบถึงถิ่นตนจะมาลองดี

คำ ว่า "ไม้ตะพด" มีผู้รู้และเชี่ยวชาญทางภาษาศาสตร์ ได้บอกว่ามิใช่เป็นคำไทย แต่เป็นคำมาจากภาษามอญ โดยคำว่า "ไม้ตะพด" มาจากคำว่าว่า "เละอะพด"

ไม้ ตะพดที่นิยมใช้กันเมื่อก่อน ส่วนมากจะทำมาจากไม้ไผ่ ที่เรียกว่า "ไม้ไผ่เปร็ง" โดยเลือกไม้ที่แก่จัด มีข้อดี เนื้อแน่นตัน เพราะต้องการให้มีน้ำหนัก เมื่อตัดไม้ไผ่มาแล้วจะต้องนำมาตากให้แห้งสนิท จึงค่อยนำมาตัดแต่งลำให้ตรง ด้วยการลนไฟอ่อนๆ จนลำไม้ตรงตามต้องการ แล้วใช้กาบมะพร้าวชุบทรายละเอียด เคล้ากับขี้เถ้าและน้ำ ขัดถูไม้ตะพดจนสะอาดหมดจดและผิวเกลี้ยงเรียบ แล้วล้างด้วยน้ำอีกครั้งเป็นอันเสร็จการขัดผิวไม้ หรือบางคนก็อาจจะมีการตกแต่งผิวไม้ให้สวยงาม ด้วยการทำให้เป็นลวดลายต่างๆ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น ใช้วิธีเทตะกั่ว นาบด้วยโลหะเผาไฟ หรือวิธียอมสี เป็นต้น

ในสมัยก่อนผู้ที่นิยมไม้ตะพด สามารถเลือกซื้อเลือกหาไม้ตะพดที่ทำสำเร็จรูปแล้ว ได้ตามงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานไหว้พระพุทธบาทสระบุรี หรืองานไหว้พระประจำปีของบางวัด อย่างไรก็ดี ต่อมาภายหลังคนส่วนใหญ่ตั้งข้อรังเกียจว่า พวกผู้ชายที่ถือไม้ตะพดเป็นพวกนักเลงหัวไม้ เกกมะเหรกเกเร ผู้ชายในเมืองหลวง หรือหัวเมืองใหญ่จึงเปลี่ยนไปนิยมถือ "ไม้ถือ" แทน ซึ่งก็คือ "ไม้เท้า" ที่สั่งจากต่างประเทศ หรือทำขึ้นเอง โดยใช้ไม้ที่มีเนื้อไม้เป็นลายต่างๆ ในตัว ด้วยเหตุนี้ ไม้ถือจึงได้รับความนิยมให้เป็นเครื่องประดับส่งเสริมบุคลิกภาพ ฐานะ และหน้าตาของผู้ถือตามคุณค่า และราคาของไม้ถือนั้นๆ ส่วนไม้ตะพดก็กลายมาเป็นเพียงไม้ถือติดมือ เพื่อป้องกันสุนัขหรือคนร้ายมิให้มาทำอันตรายได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนไทยส่วนมาก มีประเพณีนิยมที่จะใช้สอยแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคล โดยมักกำหนดเป็นตัวเลขบ้าง จำนวนบ้าง สัดส่วนบ้าง ซึ่งข้อกำหนดอย่างใดอย่างหนึ่งที่กล่าวนี้ เรียกกันว่า "โฉลก" (ตามพจนานุกรม คำนี้ หมายถึง โชค โอกาส หรือลักษณะที่มีทั้งส่วนดีและไม่ดี มักกำหนดด้วยการดูลักษณะ วัดขนาดหรือนับจำนวนของคน สัตว์ สิ่งของว่าเป็นมงคลหรือไม่เป็นมงคล) ซึ่งในเรื่อง "ไม้ตะพด" นี้ โบราณเขาก็มีการบัญญัติโฉลกเอาไว้ให้เลือกไม้ตะพดที่เป็นสิริมงคลได้หลาย วิธี เช่น

โฉลกที่ 1 มีว่า "กูตีมึง" และ "มึงตีกู" โฉลกนี้ใช้สำหรับนับข้อบนไม้ตะพด โดยให้ขึ้นต้นที่หัวไม้ตะพดข้อแรกว่า "กูตีมึง" ข้อที่สองว่า "มึงตีกู" แล้วว่าสลับกันไปจนหมดข้อสุดท้ายที่ปลายไม้ หากตกที่ "กูตีมึง" จัดว่าเป็นไม้ตะพดดี แต่ถ้าตกที่ "มึงตีกู" แบบนี้ถือว่าไม่ดี

โฉลก ที่ 2 มีคำว่า "คุก ตะราง ขุนนาง เจ้าพระยา" โฉลกนี้ใช้นับขนาดความยาวของไม้ตะพด โดยกำมือให้รอบส่วนหัวไม้แล้วจึงว่า "คุก" คำแรก แล้วเอามืออีกข้างกำต่อลงมาพูดคำว่า "ตะราง" จากนั้นเปลี่ยนมือแรกมากำต่อลงไป เป็นลำดับที่สามแล้วว่า "ขุนนาง" แล้วเปลี่ยนมือที่กำอันดับสองมากำต่อไปเป็นอันดับ 4 แล้วว่า "เจ้าพระยา" เอามือกำสลับกันไปเรื่อย พร้อมทั้งท่องทั้งสี่คำสลับกันไป จนสุดปลายไม้ หากสุดปลายไม้ตกคำว่า คุกและตะราง ถือว่าเป็นไม้ตะพดไม่ดี หากตกคำว่า "ขุนนาง" เสมอตัว แต่ถ้าตกคำว่า เจ้าพระยา ถือว่าดีเลิศ ถึงแม้จะมีเรื่องโฉลกมาเกี่ยวข้อง แต่โดยทั่วไปแล้ว ความยาวของไม้ตะพดที่ชาวบ้านใช้ส่วนมาก จะกำหนดให้ยาวประมาณ 8 กำ กับเศษอีก 4 นิ้ว หรือประมาณ 1 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นขนาดที่พอเหมาะพอดีกับกำลังมือ

ปัจจุบัน สภาพสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย แม้การดำรงชีวิตจะยังต้องเผชิญกับภยันตรายต่างๆ รอบตัวเมื่อออกนอกบ้านอยู่เช่นเดิม แต่ลักษณะของไม้ตะพดก็ไม่เอื้อให้นำติดตัวไปใช้ได้ดังสมัยก่อน อีกทั้งคนรุ่นใหม่อาจจะเห็นว่าไม้ตะพด มีลักษณะเดียวกับไม้เท้าที่คนแก่ใช้ ไม้ตะพดจึงค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมในที่สุด จะเหลือก็คงเพียงเรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตหนุ่มไทยในอดีตที่ ผ่านมาเท่านั้น



เรียบเรียงจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง ของมูลนิธิสารนุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์
เรื่องไม้ตะพด ของ อาจารย์จุลทัศน์ พยัคฆรานนท์

ที่มา https://www.myfirstbrain.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ