วันจันทร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ภาพของเด็ก เล่นกล้อง



คำ สาระ-ภาพ ของเด็กเล่นกล้อง

นิทรรศการ "คำสาระ-ภาพ ของเด็กเล่นกล้อง" ที่จัดขึ้นร่วมกับงานนิทรรศการการประกวดภาพทั่วประเทศ ครั้งที่ 6 ของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 19 - 26 เมษายน 2552 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ทรงเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีประทานรางวัลและเปิดนิทรรศการประกวดภาพทั่ว ประเทศครั้งที่ 6

ด.ช.ธนวิช คำโสภา หรือ น้องซี อายุ 14 ปี เป็นเด็กชายคนแรกที่สามารถสอบเกียรตินิยมทางการถ่ายภาพของสมาคมถ่าย ภาพกรุงเทพ และได้รับรางวัลถ้วยประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ





รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน นักศึกษา ปี 2551
ถ้วยประทานพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
หัวข้อ “เด็กไทยมุ่งมั่น สานฝันเรียนรู้”
ชื่อ ภาพ : เรียนรู้เพื่ออนาคต


ชื่อ งาน "คำสาระ-ภาพ ของเด็กเล่นกล้อง" หมายความว่าอย่างไร

คุณ พ่อเป็นคนตั้งครับ คำสาระ-ภาพ คือ แนว ทางของภาพที่ต้องมีสาระในภาพนั้นๆ


น้องซีเรียนอยู่โรงเรียนไหนคะ
เรียนอยู่ที่ โรงเรียน สาธิต “พิบูลบำเพ็ญ” มหาวิทยาลัยบูรพา มัธยมศึกษาปีที่ 3/7

ได้รับรางวัลของ สสวท.ด้วยใช่ไหมคะ

ครับ ได้รับรางวัลที่ 3 ของ สสวท. ครั้งที่ 2 “วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง” พ.ศ. 2550 และปีต่อมา ได้รางวัลที่ 2 ของ สสวท. ครั้งที่ 3 “มองผ่านมุมกล้อง ส่องโลกวิทย์-คณิต” พ.ศ. 2551




รางวัลที่ 3 ชื่อภาพ "จัดเรียง"
วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง


คุณพ่อของน้องซี คือ คุณแมนสรวง คำโสภา คุณพ่อนักเล่นกล้องมือรางวัล เป็นคุณพ่อแสนมหัศจรรย์ ที่มีแนวคิดและมุมมองที่กล้า แปลกและน่าสนใจ

คุณพ่อเริ่มสอนน้องซีเล่นกล้องเมื่อไรคะ

ตอนน้องซีอายุ 7 ขวบ ซึ่งผู้ปกครองทั่วไป จะไม่ค่อยให้เด็กเล็กจับกล้อง เพราะกลัวกล้องตก กล้องจะเสียหาย แต่ผมไม่กลัว ผมสอนวิธีน้องซีจับกล้องให้มั่นคง สายคล้องกล้องต้องคล้องอยู่ที่มือ ถ้าไม่งั้นจะตีมือ เมื่อน้องเริ่มสนใจการถ่ายภาพ ผมจึงมอบกล้อง Compact เล็กๆ แบบใช้ฟิลม์ ให้ทดลองใช้ไปก่อนว่า ลูกสามารถถ่ายภาพได้หรือไม่ ปรากฏว่าน้องซี สามารถจัดองค์ประกอบของภาพได้ แต่กล้องที่ใช้อยู่ไม่มีเลนส์ซูม จึงถามว่า อยากได้กล้องที่มีลูกเล่นมากกว่าเดิมหรือไม่ แต่มีน้ำหนักมากกว่า ลูกจะสามารถถือกล้องไหวหรือไม่ น้องซีบอกว่าอยากได้ คุณพ่อจึงมอบกล้องที่คุณพ่อได้รับรางวัล คือ กล้อง Canon EOS 500 เป็นกล้องฟิลม์ให้ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2547 รวมทั้งเริ่มซื้อเลนส์ให้ ขนาด 28-300 mm. ต่อมา 14 กุมภาพันธ์ 2550 คุณพ่อได้มอบกล้อง รุ่น kiss เป็นกล้องดิจิตอล EOS 400 D ส่วนปัจจุบัน น้องซีใช้กล้อง EOS 40 D ซึ่งมีคุณภาพที่ดีกว่า และใช้ขาตั้งกล้องด้วย เนื่องจากกล้องหนัก จะทำให้มือเราล้า น้องจึงติดการใช้ขาตั้งกล้องมาตลอด



กล้องที่ใช้ต้องเป็นกล้องที่มี ลักษณะอย่างไร ราคาแพงหรือไม่คะ จึงจะได้รับรางวัล


คุณพ่อบอกว่า ไม่จำเป็น กล้องดิจิตอลธรรมดาก็สามารถได้รับรางวัล เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเล่นกล้องราคาแพงๆ เพียงแต่ต้องมีเทคนิค รูปแบบที่น่าสนใจ


คุณพ่อสอนน้องซีเรื่องถ่ายภาพบ้างหรือไม่ คะ

ไม่เลย ไม่ค่อยได้สอน สอนตอนแรกๆ เรื่องการจัดองค์ประกอบภาพเท่านั้น ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพอื่นๆ น้องซีจะได้จากอาจารย์ในสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพและเพื่อนๆ ในสมาคมฯ





การพัฒนาการถ่ายภาพของ น้องซี


จากการที่คุณพ่อเป็นนัก เล่นกล้อง และเป็นกรรมการบริหารสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ จึงพาน้องซีมาที่สมาคมถ่ายภาพด้วยทุกครั้ง เมื่อผลงานเริ่มใช้ได้ คุณพ่อชักชวนให้ส่งประกวด ในปี 2548 โดยส่งประกวดงานของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ ส่งไปจำนวนหลายภาพมาก แต่ตกรอบหมดทุกภาพ น้องซีอยากทราบว่าแต่ละภาพมีข้อบกพร่องตรงไหน จึงให้คุณพ่อพาไปเรียนถามอาจารย์ผู้เป็นคณะกรรมการ น้องซีจึงได้รับข้อมูลทำให้น้องซีสามารถพัฒนางานได้ดีขึ้น จนปีต่อมา 2549 เริ่มได้รางวัล


แรงบันดาลใจของน้องซี

รางวัลที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ คือ การประกวดภาพถ่ายในงานราชพฤกษ์ 2549 ในวันนั้นน้องซี ได้รับรางวัลชมเชย ได้รับประทานรางวัลจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ แต่พระองค์ยังไม่ตรัสถามน้องซี น้องซีจึงถามคุณพ่อว่าทำอย่างไรจึงจะได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดมากกว่านี้ คุณพ่อตอบว่า "น้องซีต้องได้รางวัล ที่ 1"

คำตอบของคุณพ่อนั่นเองที่จุดประกายให้น้องซีมุ่งมั่น จนได้รับรางวัลที่ 1 ในปีถัดมา นั่น คือ รางวัลอันดับที่หนึ่ง ระดับนิสิตนักศึกษาจากการประกวดภาพถ่าย “มรดกสยาม” 2550 และ ได้รับรางวัล Grand Prix Prize of the Chairperson of the Japanese national Commission for UNESCO ACCU Asia-Pacific ESD Photo Message Contest "Letters to Tomorrow 2007" ในระดับนานาชาติอีกด้วย

ความรู้สึกตอนรับถ้วยรางวัล

รู้สึก ตื่นเต้นที่ได้รับถ้วยประทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกภูมิใจที่พระองค์ท่านรับสั่งถาม ซึ่งได้กราบทูลตอบ และที่สำคัญอยู่ห่างกับพระองค์ท่านไม่ถึงเมตร ตอนถือถ้วยยังสั่นๆ อยู่เลย



ชื่อภาพ "ตระหง่าน" ชมเชยรางวัลราชพฤกษ์ 2549
รางวัลที่ 1 ระดับนิสิตนักศึกษา ประกวดถ่ายภาพ “ มรดกสยาม ” 2550



การถ่ายภาพ สร้างสังคมและพัฒนาชิ้นงาน

น้องซีถือว่านอกจากคุณ พ่อจะปูพื้นฐานในการถ่ายภาพให้แล้ว สมาคมถ่ายภาพมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ผลงานของน้องพัฒนารวดเร็วขึ้น เพราะเมื่อน้องมีจุดบกพร่องหรือ พลาดรางวัล จะนำภาพไปปรึกษาอาจารย์ในสมาคมทุกครั้ง ทำให้ได้พัฒนาตรงจุด และข้อดีของการเป็นสมาชิกในสมาคมถ่ายภาพคือ น้องซีได้มีสังคม มีเพื่อนฝูงที่ชอบการถ่ายภาพเช่นเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น พูดคุยกันในเรื่องเดียวกัน เข้าใจกัน เอื้อเฟื้อกัน แก้ไขจุดบกพร่องให้กันและกัน การมีเพื่อนรุ่นใหญ่บ้าง รุ่นเดียวกันบ้าง ทำให้น้องซีมีเพื่อน ไม่ทิ้งการถ่ายภาพ เพราะคุณพ่อแนะนำว่าหากเราต้องการ ให้ลูกสนใจเรื่องใด ควรให้ลูกมีสังคมในเรื่องดังกล่าวด้วย การมีเพื่อนจะทำให้ประคับประคองกันไป ไม่ทิ้งงานนั้นๆ เพราะเราไม่แน่ใจว่าลูกจะเบื่อเมื่อไร


งาน อดิเรกหรือกิจกรรมอื่นๆ

นอกจากการถ่ายภาพแล้ว น้องซีชอบจะเล่น รูบิค และ โกะ (หมากล้อม) ด้วย มีบ้างในบางครั้งที่น้องซีสนใจกิจกรรมผาดโผน คุณพ่อจะไม่ห้าม เพราะคุณพ่อบอกน้องว่า อย่าทำใน สิ่งที่ทุกคนบอกว่าสิ่งนั้นผิดเท่านั้นเอง เช่น ยาเสพติด ทุกคนบอกว่าการเสพยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิด เป็นต้น เราไม่ควรทำในสิ่งที่ทุกคนบอกว่า ผิด ถึงแม้จะเป็นกิจกรรมที่ผาดโผน หรือ พ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงอันตราย แต่ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ก็สามารถทำได้ แต่คุณพ่อจะชี้แจงว่า ครอบครัวเป็นห่วงอย่างไร หากเกิดความผิดพลาดจะเป็นอย่างไร แล้วให้น้องตัดสินใจเองว่าจะทำกิจกรรมดังกล่าวหรือไม่ และคุณพ่อจะเข้าไปดูกิจกรรมที่น้องต้องการจะ ทำก่อน เพื่อดูสังคม สิ่งแวดล้อม คนรอบข้าง เพื่อเลือกเพื่อนให้น้องในการคบหาสมาคมด้วย หากบางกิจกรรม คนในกลุ่มนั้นๆ นิยมการสูบบุหรี่ คุณพ่อจะไม่เห็นด้วยที่น้องจะทำกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งน้องจะเชื่อฟังดี

ถ้อยคำคม


คุณ พ่อสอนน้องซีว่า "จงภูมิใจในรางวัล ที่ได้ แต่อย่าหลงระเริงกับรางวัลที่ได้ เพราะรางวัลเกียรติยศไม่จีรังยั่งยืน จงถ่ายภาพด้วยความสนุก"
แต่ แนวคิดที่คุณพ่อประทับใจและสอนน้องเสมอ คือ คำกล่าวของ ศจ.พูน เกษจำรัส ศิลปินแห่งชาติ 2531 ที่ว่า "งานศิลปะมิใช่มีไว้เพื่อความงามแต่อย่างเดียวก็หาไม่ หากแต่มีไว้เพื่อนำไปใช้จรรโลงสังคมและประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าได้เป็น อย่างดีด้วย"


คุณพ่อนักวางแผน

คุณ พ่อแนะนำให้น้องซีทำหนังสือออกมา 1 เล่ม เนื่องจากปีหน้าน้องซีจะอายุ 15 แล้ว เปลี่ยนไปใช้คำนำหน้าว่า 'นาย' แล้ว ควรจะรวบรวมประวัติและผลงานของตัวเองไว้เป็นที่ระลึก จะได้ไม่ลืม หรือสูญหายไป เป็นความภูมิใจในชีวิต และหากต้องการมีอาชีพด้านถ่ายภาพควรจะมีผลงานของตนเองรวบรวมไว้ด้วย น้องซีจึงนำเงินรางวัลที่ได้รับ มาทำหนังสือ โดยจะนำไปแจกให้ห้องสมุดโรงเรียนต่างๆ ด้วย


วันเสาร์-อาทิตย์ น้องซีเรียนพิเศษอะไรบ้างคะ

วัน เสาร์จะเป็นวันของครอบครัว ส่วนวันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนคี่ น้องซีจะไปที่สมาคมถ่ายภาพ และวันอาทิตย์ที่ 3 จะเป็นการทัศนาจร เรียกว่า เป็นทัวร์ถ่ายภาพ ของสมาคมฯ

คุณพ่อแสนมหัศจรรย์ บอกว่า ลูกผมไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษอะไรเลย ผมว่าการที่เราเรียนรู้จากชีวิตจริง จะเป็นประสบการณ์ที่ดีกว่า เมื่อเห็นว่าเขาสนใจการถ่ายภาพ ผมจึงพาเขาไปที่สมาคมด้วยทุกครั้ง ทำให้เขาได้เทคนิคการถ่ายภาพมากขึ้น สามารถแก้ไขจุดบกพร่องต่างๆ ได้ จนได้รับรางวัลต่างๆ


ทำไมตั้งชื่อว่าน้องซี sea ละคะ

ผมเป็นคนชลบุรี และชอบทะเล ส่วนน้องซียังมีน้องสาวอีก 1 คน ชื่อน้องบลาย Brine ซึ่ง = Sea ซึ่งชอบเล่นกล้องเช่นกัน คุณพ่อเลี้ยงลูกแบบอิสระ และโชคดีที่น้องซีไม่ดื้อ เคารพและเชื่อฟังพ่อแม่


ต้องมีจรรยาบรรณในการถ่ายภาพ

เรื่อง การถ่ายภาพของน้องซี คุณพ่อสอนว่าคนเราอย่าไปคิดว่าเราจะเก่งเสมอไป เราจะต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ และสอนให้ถ่ายภาพแนวบวก ช่างภาพที่ดีจะมีจรรยาบรรณ ไม่ควรถ่ายภาพแนวลบ เพราะการถ่ายภาพถือเป็นการโปรโม ทประเทศชาติ การถ่ายภาพเป็นการจารึกประเทศชาติในช่วงเวลานั้นๆ ด้วย


ส่วนเทคนิคการถ่ายภาพที่อาจารย์ของ คุณพ่อสอนมาคือ สมมุติว่าเราจะถ่าย ภาพกองขยะ เราจะถ่ายกองขยะนั้นอย่างไรให้ดูสวยงาม น่าไปเที่ยว ไม่ใช่ถ่ายรูปให้เป็นขยะ


การเรียน

การ เล่นกล้องของน้องซีไม่มีผลกับการเรียนของน้องซี เพราะน้องซีแบ่งเวลาให้กับการเรียนและงานอดิเรกได้ ปัจจุบันน้องซีได้เกรด 3.8 และอยู่ในห้องคิง

น้องซีบอกว่าเน้นการเรียนเป็นหลัก ส่วนงานถ่ายภาพเป็นงานอดิเรกที่ชอบ ล่าสุดน้องซีรับงานถ่ายภาพรับปริญญาด้วย

คุณพ่อฝึกสมาธิน้องซีโดย ให้น้องซีอ่านหนังสือเรียนไปด้วย เปิดเพลงฟังไปด้วย เป็นการฝึกการแยกประสาทสัมผัส เพราะคุณพ่อบอกว่าในความเป็นจริง ยากที่จะหาสถานที่อ่านหนังสือที่ไม่มีเสียง ดังนั้น เมื่อน้องซีอ่านหนังสือในสถานที่ที่มีเสียงรบกวน น้องซีสามารถอ่านหนังสือรู้เรื่อง จับใจความได้ มีสมาธิดี


ประโยชน์ ของการถ่ายภาพ

น้องซีบอกว่าประโยชน์ของการถ่ายภาพมี มากมาย
ได้แก่ เป็นงานอดิเรกที่เพลิด เพลิน เป็นการฝึกสมาธิ (ขณะถ่ายภาพ) ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ได้มีสังคม ได้สอบถามเทคนิคการถ่ายภาพจากสมาชิกของสมาคมด้วยกัน ได้ใช้จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ว่าเราจะถ่ายรูปออกมาอย่างไร ใช้เทคนิคใด



น้องซีชอบถ่ายรูปประเภทใดเป็น พิเศษ

น้องซีชอบถ่ายรูปทุกแนว ทั้งแนวธรรมชาติ วิถีชีวิต แต่ถ้าชอบเป็นพิเศษ คือ เทคนิค การระเบิดซูม
น้องซีเล่าว่า การระเบิดซูมเป็นเทคนิคที่ผมมักจะใช้บ่อยๆ เพราะจะทำให้ภาพดูมีพลังขึ้น แต่มีสิ่งที่ควรดูก่อน เช่น ความชัดของภาพ คือ ล็อคจุดโฟกัส ไว้ที่กลางภาพ เพื่อให้ตรงกลางชัด เป็นต้น
ในการถ่ายภาพโดยใช้เทคนิคระเบิดซูม ต้องคำนึงถึงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชัด คือ ต้องโฟกัสกลางภาพให้ดี การซูมเลนส์เข้าออก ห้ามหมุนแรง เพราะจะทำให้ภาพออกมาไม่ชัด และถ้าจะให้ภาพออกมาชัดยิ่งขึ้น มีวิธีคือ สมมุติว่าเรากำหนดความเร็วชัตเตอร์ 1/30 วินาที เมื่อเรากดชัตเตอร์ให้หยุดไว้ ยังไม่ซูมเข้าหรือออก เพื่อให้กล้องเปิดรับภาพสักพัก ประมาณ 1/60 วินาที แล้วจึงซูมตามปกติ

การ ถ่ายภาพแบบนี้จะต้องฝึกฝนและลองถ่ายของหลายๆ อย่าง เพื่อให้มีทักษะและความสามารถ เมื่อฝึกมากๆ จะเกิดความชำนาญขึ้นเอง

คติพจน์ของน้องซี
ความสำเร็จได้มาจากพรสวรรค์ 1% ที่เหลือคือ ความพยายาม และความตั้งใจ

ทีม งานวิชาการดอทคอมหวังไว้เป็นอย่างยิ่งว่า บทสัมภาษณ์คุณพ่อและน้องซีในครั้งนี้ จะจุดประกายให้เยาวชนไทย ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ งานอดิเรกให้ทำอย่างสนุก พยายามและตั้งใจที่ทำให้ผลงานออกมาดี เราก็มีความสุขแล้ว ส่วนรางวัลที่ได้คือ รางวัลของชีวิต..


รางวัลและผลงานที่ได้รับ

เริ่มต้นการถ่ายรูปเกิดขึ้นติดตามพ่อเข้า สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ โดยเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่ 2545 จากการที่ใช้กล้องคอมแพคเล็กๆ ถ่ายรูป จน 10 ธ.ค. 47 ได้กล้องฟิล์มใช้เป็นคัวแรก สามารถสอบเกียรตินิยมทางการถ่ายภาพของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ (A.BPS) ปี 2550 และมีผลงานดังนี้

ระดับ ในประเทศ

พ.ศ. 2551
- รางวัลชนะเลิศ ประเภทนักเรียน นักศึกษา
ถ้วยประทานจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ
หัวข้อ “เด็กไทยมุ่งมั่น สานฝันเรียนรู้” พ.ศ. 2551
- 2 เหรียญทอง ประเภทภาพไฟล์ดิจิตอล สำหรับนักเรียน และนักศึกษา หัวข้อ “เศรษฐกิจพอเพียง” ประกวดภาพทั่วประเทศ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2551 ของ สมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ
- รางวัลที่ 2 สสวท. ครั้งที่ 3 “มองผ่านมุมกล้อง ส่องโลกวิทย์-คณิต” พ.ศ. 2551
- รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 โครงการ ประกวดภาพถ่าย “สาธิตปทุมวันโฟโตคอนเทสต์” ครั้งที่ 1
- รางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายตามโครงการประกวดภาพถ่าย “ฉัน(หลง)รักอัมพวา” ประจำปี พ.ศ.2551
- 2 รางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่าย ปี 2551 “เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน”
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง จาก การประกวดภาพกิจกรรมสังสรรค์ของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ สะสมคะแนนประจำปี 2551

พ.ศ. 2550
- รางวัลอันดับที่หนึ่ง ระดับนิสิตนักศึกษาจากการประกวดภาพถ่าย “มรดกสยาม” 2550
- Canon Photo Marathon Thailand 2007 Merit Award 1 ใน Theme 3 Spirit/น้ำใจ
- รางวัลที่ 3 สสวท. ครั้งที่ 2 “วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีในวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง” พ.ศ. 2550
- บ้านเมืองของเรา ครั้งที่ 7 (2550) จากโครงการประกวดภาพถ่ายของมูลนิธิ ฌอง เอมีล การ์โรซ รางวัลที่ 3 ประจำภาคภาคละ 1 รางวัล (ที่ 2 ของภาค) รางวัลชมเชยทั้ง 2 รางวัล (ภาคละ 2 รางวัล)
- รางวัลชนะเลิศ จาก การประกวดภาพกิจกรรมทัศนาจรของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ สะสมคะแนนประจำปี 2550

พ.ศ. 2549
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และ รางวัลชมเชย ประเภทนักเรียน นิสิต นักศึกษา การประกวดภาพถ่าย “ตลาดคลองสวน ๑๐๐ ปี อดีตที่สัมผัสได้” ปี 2549
- รางวัลชนะเลิศอันดับสอง ประเภทงานเทศกาล ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่นในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองชะอำ การประกวดภาพถ่ายหลากมุมมองความงามของเมืองชะอำ ปี 2549
- รางวัลชมเชย การประกวดภาพถ่ายในงานราชพฤกษ์ 2549
- รางวัลชมเชย ประเภทนักเรียน ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา ประกวดภาพถ่ายพลุเฉลิมพระเกียรติ “ดวงใจประทีปแห่งความรักและความจงรักภักดี” ปี 2549
- รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จาก การประกวดภาพกิจกรรมสังสรรค์ของสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ สะสมคะแนนประจำปี 2549

ระดับนานาชาติ
- Grand Prix Prize of the Chairperson of the Japanese national Commission for UNESCO ACCU Asia-Pacific ESD Photo Message Contest "Letters to Tomorrow 2007"
- PSA RIBBON จาก 17th Siam Colour Slide
- CERTIFICATE OF MERIT จาก 9th Siam Photo Travel Slide International Exhibition 2007
ยังส่งภาพเข้าประกวดหลายรายการ เข้ารอบแสดงนิทรรศการบ้าง ตกรอบก็หลายรายการ และร่วมจัดแสดงภาพ
-“วิถี ไทย...ในสุวรรณภูมิ” ซึ่งผลงานของสมาชิกสมาคมถ่ายภาพกรุงเทพ กรกฎาคม ปี 2549
- นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ในส่วนที่ฮอลล์ 9 มีการจัดงาน “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ปวงประชาเป็นสุขศานติ์” จัดโดยสำนักงานพิเศษเพื่อประสานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)


ขอขอบคุณ
น้องซี ด.ช.ธนวิช คำโสภา http://thanasea.multiply.com
คุณพ่อน้องซี คุณแมนสรวง คำโสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ