วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2553

ในหลวงกับพระราชอัจฉริยภาพทางด้านการถ่ายภาพ



ศิลปะวิชาการมากมายหลายสาขาที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงมีพระปรีชาสามารถยิ่งนัก เป็นต้นว่า ศิลปะการดนตรี งานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ วรรณศิลป์ ฯลฯ กับงานที่ทรงเชี่ยวชาญพอพระหฤทัยเป็นพิเศษ ได้แก่ ศิลปะการถ่ายภาพ ทรงใช้ในพระราชกรณียกิจต่าง ๆ ติดต่อกันมาตั้งแต่ครั้งเยาว์พระชันษาจนกระทั่งตราบเท่าทุกวันนี้
เป็น ที่ทราบกันทั่วไปว่าในสมัยก่อนนั้น อุปกรณ์การถ่ายภาพต่างๆ ยังไม่ทันสมัยอย่างในปัจจุบันนี้ แต่พระองค์ก็ทรงศึกษา และฝึกด้วยพระองค์เอง จนทรงเป็นนักถ่ายรูปผู้มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น กล้องธรรมดาหรือกล้องถ่ายภาพยนตร์ ได้เริ่มทรงกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ และ ทรงใช้ฟิล์มตั้งแต่ขนาด ๑๓๕ จนถึงขนาด ๑๒๐ และขนาดพิเศษ กล้องถ่ายภาพที่ทรงใช้ในระยะเริ่มแรกเป็นกล้องที่ไม่มีเครื่องวัดแสงในตัว จึงต้องใช้พระราชวิจารณญาณอย่างรอบคอบละเอียดถี่ถ้วน พร้อมทั้งพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ จึงทรงถ่ายภาพได้อย่างเชี่ยวชาญมั่นพระราชหฤทัย แม้ในปัจจุบันกล้องถ่ายภาพ จะมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อน ก็มิทรงใช้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรง ใช้แต่กล้องคู่พระหัตถ์แบบมาตราฐานอย่างที่นักเล่นกล้องทั้งหลายใช้กัน
จาก ภูมิทัศน์อันสวยสดงดงามรวมทั้งความสงบสุขของเมืองโลซาน ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่พระองค์ทรงประทับที่นั่นในช่วงทรงพระเยาว์ งานศิลปะหลากหลายแขนงจึงได้เริ่มขึ้น ณ ที่แห่งนี้ รวมทั้งการบันทึกความงามของธรรมชาติเหล่านี้ผ่านแผ่นเซลูลอยด์





พระองค์ทรงมีกล้องถ่ายภาพเล็กๆ คู่พระหัตถ์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 8 พระชันษา(ราวปี พ.ศ.2479) โดยสมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานกล้องถ่ายรูป Coronet Midget สีเขียวปะดำ ของฝรั่งเศส ราคาเพียง ๒ ฟรังก์สวิส แก่พระองค์ ด้วยกล้องนี้ใช้ฟิล์มราคา ๒๕ เซนต์ซึ่งมีราคาถูก ในระยะแรกแม้จะทรงไม่ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพนัก แต่ก็ไม่ทรงย่อท้อ ทรงศึกษาและฝึกด้วยพระองค์เองจนเป็นนักถ่ายภาพที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทั้งกล้องถ่ายภาพนิ่ง และกล้องถ่ายภาพยนตร์ ซึ่งภาพที่พระองค์ทรงบันทึกไว้นั้น นับว่ามีคุณค่าทางศิลปะและประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งทุกครั้งที่พระองค์เสด็จฯ ไปในสถานที่ต่างๆ จะทรงนำภาพถ่ายฝีพระหัตถ์มาใช้ประกอบการทรงงานของพระองค์อยู่เสมอหลังจาก นั้นไม่นาน ทรงใช้กล้องอีกหนึ่งกล้อง ชื่อ Kodak Vest Pocket Montreux ลักษณะคล้ายสี่เหลี่ยม ฝรั่งเรียกว่า Minibox ใช้ฟิล์มถ่ายได้ม้วนละ 6 ภาพ



ในปี พ.ศ.2481 พระองค์ทรงมีกล้อง Elax Lumie’re ซึ่งผลิตในฝรั่งเศส อีกหนึ่งกล้อง ทรงใช้จนเชี่ยวชาญกับกล้องนี้เป็นอย่างดีเพราะเหมาะกับพระหัตถ์มาก หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็น Elax Lumie’re อีกกล้องหนึ่ง ซึ่งในการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดลกลับเมืองไทย พระองค์ทรงใช้กล้อง Elax Lumie’re บันทึกภาพระหว่างตามเสด็จโดยตลอด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ท่านทรงสนพระทัยทางการถ่ายภาพเป็นอันมาก




เข้าสู่ ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้ผลิตกล้องยี่ห้อดีๆ ต่างก็ปรับปรุงคุณภาพเพื่อแข่งขันกัน Linhof เป็นอีกยี่ห้อที่มาจากเยอรมัน พระองค์ทรงทดลองใช้ แต่ไม่เหมาะกับพระหัตถ์ของพระองค์ จึงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้อีกต่อไป
Hasselblad เป็นกล้องที่ผลิตจากสวีเดน ที่ครองตลาดมาทุกยุคทุกสมัย เป็นกล้อง SLR(single lens Reflex) ใช้ฟิล์ม 3 นิ้ว หรือ เบอร์120 ที่มีจุดเด่นก็คือ สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ มีแมกกาซีนใส่ฟิล์มได้หลายชนิดและหลายขนาด พระองค์ทรงทดลองใช้กล้องยี่ห้อนี้อยู่หลายปี จนกระทั่งเกิดแสงรั่วเข้าแมกกาซีน ช่างไทยสมัยนั้นไม่สามารถแก้ไขได้ต้องส่งกลับไปซ่อมที่บริษัทต่างประเทศ พระองค์จึงทรงเลิกใช้
บริษัท Zeiss ikon ได้ออกกล้องเป็นของตัวเองบ้างชื่อว่า Ikoflex ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพแบบเลนส์คู่(Twin Lens Reflex) Lens Zeiss Opton Tessar 1:3:5 F.75 mm. No.637288 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กล้องเมื่อปี พ.ศ.2494 เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก จึงทรงใช้กล้องนี้อยู่นาน ทรงมีพระราชดำรัสว่าใช้ง่าย เลนส์ดี ได้ภาพสวยคมชัดดีมาก



บริษัท Zeiss ikon ผู้ผลิตเลนส์มีชื่อเสียงมากของเยอรมนี และผลิตเลนส์ให้กับกล้องชั้นดีต่าง ๆมากมาย ได้ออกกล้อง Contax-s เป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว SLR(single lens Reflex) หลังจากนั้นปรับปรุงเป็น Contax II ในปี พ.ศ.2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้กล้อง Contax II ใช้เลนส์Zeiss-opton No.821255 กับ Zeiss-opton No.885584 Sonar 1:2 f.50 mm. เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก เพราะเป็นกล้องที่นำสมัยในสมัยนั้น สามารเปลี่ยนเลนส์ได้ทั้งยังมีเครื่องวัดแสงในตัวด้วย เสด็จฯ ณ ที่ใดจะทรงใช้อยู่เป็นประจำ ปัจจุบันทรงพระราชทานไว้ที่สวนหลวง ร.9

ใน ช่วงที่ Contax II กำลังเป็นที่ชื่นชอบของนักถ่ายภาพ บริษัท E.Leitz Wetzlar ของเยอรมนีอีกเช่นกัน ได้ออก Leica เป็นระบบ M แบบใหม่ และมีชื่อเสียงพอสมควร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีกล้องรุ่นนี้เป็นกล้องมือสองและทดลองใช้ อยู่ระยะหนึ่ง








กล้อง Super ikonta ของบริษัท Zeiss ikon ใช้ฟิล์มเบอร์ 120 ได้ภาพ 6x9 ซม. 8 ภาพ หรือสามารถแบ่งเป็นภาพ 6x4.5 ซม. 16 ภาพ พระองค์ทรงใช้อยู่ระยะหนึ่งแต่มีข้อเสียคือฟิล์มหมดม้วนเร็วเกินไป จึงได้พระราชทานให้หัวหน้าช่างภาพประจำพระองค์ในสมัยนั้น (นายอาณัติ บุนนาค) ใช้ในงานราชการต่อไป
ในขณะนั้นกล้องถ่ายภาพในเครือบริษัท Robot ได้ออกกล้อง Robot Royal No.G 125721 Mod 111 Lens : Schneider-Kreuznach Xenon 1.1.9/3542375 เป็นกล้องที่ใช้ฟิล์มเบอร์ 135 ภาพที่ได้เป็นสีเหลี่ยมจตุรัส ลักษณะกล้องป้อมกะทัดรัด เหมาะพระหัตถ์ เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก



เมื่อครั้งประเทศไทยได้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2596 ที่สวนลุมพินี สถานฑูตรัสเซียมาเปิดร้าน เจ้าหน้าที่ได้ทูลเกล้าฯถวาย กล้องยี่ห้อ Kiev ซึ่งเป็นกล้องที่คล้ายกับ Zeiss ikon ขนาด 6x9 ซม.ทรงรับไว้และทดลองใช้จนเข้าพระทัยทุกขั้นตอน

ใน ระยะหลังๆ กล้องที่ผลิตจากญี่ปุ่นเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงใช้กล้องญี่ปุ่นดูบ้าง อย่าง Canon-7 แบบเล็งระดับตา แต่ไม่สามารถทำงานได้ตามพระราชประสงค์เท่าใดนัก เพราะไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้ ต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นรุ่น Canon A-1 ซึ่งเป็นกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวSLR(Single Lens Reflex) สามารถใช้งานได้สองระบบคือระบบ Manual และ Auto








พระองค์ทรงมีกล้องรุ่นนี้อยู่สองกล้องคือ กล้องแรก Canon A1/2097120 FD 1:1.4/50 mm. 2052111 เลนส์มาตรฐาน อีกกล้องหนึ่งคือ Canon A1/2307372 Lens RMC Tokina Zoom 35-105 mm. 1:3.5-4.3 ต่อมาทรงมีกล้องรุ่นใหม่ๆ แบบอัตโนมัติคือ กล้อง Canon 35 Autofocus Lens f=38 mm เป็นกล้องขนาดเล็ก น้ำหนักเบา พระองค์ทรงใช้อยู่พักหนึ่งทรงปรารภว่าใช้ง่ายเกินไปและไม่ค่อยเหมาะกับพระ หัตถ์มาก



กล้องญี่ปุ่นที่ตีคู่มาก็คือ Nikon กล้องรุ่น F3 ของ Nikon ได้รับความนิยมมากเพราะรูปทรงแปลกใหม่ นำสมัยใช้วัสดุแกร่งแข็งแรง พระบาทสมเด็จทรงใช้กล้องรุ่นนี้พร้อมเลนส์มาตรฐานและเลนส์ซูมขนาด 35-105 mm. อยู่พักหนึ่ง เมื่อคราวเสด็จฯ รอบโลกทรงใช้กล้อง Nikon รุ่น F3 นี้บันทึกภาพเป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก แต่หากมีน้ำหนักมาไปนิด จึงพระราชทานให้เป็นสมบัติของช่างภาพส่วนพระองค์มาจนกระทั่งทุกวันนี้




ในช่วง เวลาที่กล้องถ่ายภาพประเภททำงานด้วยอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์เริ่มเข้า มามีบทบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้กลุ่ม Canon EOS โดยเริ่มตั้งแต่ EOS 650 และต่อมาก็ทรงทดลองใช้รุ่น EOS 620 อีกรุ่นหนึ่ง ขณะเดียวกัน ทางค่าย Nikon ก็ออกรุ่น F401s เป็นรุ่นที่มีแฟลชในตัวซึ่งมี Image Master Comtrol สามารถใช้เลนส์ปรับระยะชัดอัตโนมัติได้ ใช้เลนส์35-105 mm. f3.5-4.5
อีกยี่ห้อหนึ่งที่ออกมาสร้างความแปลกใหม่ ให้กับวงการถ่ายภาพคือ Minolta Dynax 5000i สร้างความสะดวกสบายและถ่ายภาพได้ผลเที่ยงตรง ออกแบบได้แปลกใหม่และเพิ่มการสร้างสรรค์ผลงานด้วยระบบการ์ด(Creative Expansion Card System) มีหลายแบบ อาทิ ถ่ายภาพกีฬา ถ่ายภาพบุคคล เป็นต้น

กล้อง รุ่นใหม่สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เหล่านี้พระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวทรงทดลองใช้เพื่อศึกษาความก้าวหน้าของกล้องถ่ายภาพ ใช้ในขณะเดียวกันพระองค์ทรงทดลองใช้กล้องคอมแพ็คแบบต่างๆ หลายรุ่น อาทิเช่น Canon-HIS Lens Canon Zoom EF28-80mm. , Canon Autoboy Tele 6 Lens 35-60 mm. f/3.5-5.6. , Canon Zoom Xl Lens Zoom 39-85 mm
f/3.6-7.3 , Ricoh FF-9D Lens 35 mm f/3.5 , Pantax AF Zoom 35-70 mm. กับ Minolta Weather Matic 35DL และ Nikon TW Zoom
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจับสลากได้ รางวัลกล้อง RICOH EF-9D LENS 35 mm. f 1:35 พอในปีต่อมา จึงทรงพระราชทานเป็นของขวัญจับสลาก
กล้องรุ่นล่าสุดที่พระองค์ท่าใช้ ถ่ายรูปประชาชนเมื่อเสด็จกลับจากรพ.ศิริราช คือรุ่น canon EOS 30D






จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้กล้องถ่ายภาพอย่างมากมาย บางชนิดพระองค์จะทรงซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง และไม่ได้เจาะจงว่าใช้กล้องใหม่อยู่เสมอ พอมาระยะหลังหลายบริษัทนำกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพขึ้นทูลเกล้าถวายเนื่องใน วโรกาสต่างๆ พระองค์ทรงทดลองใช้แล้วบางกล้องจะทรงเก็บเอาไว้เป็นกล้องคู่พระหัตถ์ ส่วนกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพอย่างดีที่เหลือก็ได้โปรดพระราชทานได้บุคคลและ หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ทางการถ่ายภาพต่อไป
" ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ" ได้รวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตต์ในระหว่างการเสด็จยังสถานที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีความตอนหนึ่งเป็นข้อคิดข้อเตือนใจสำหรับ คนรักการถ่ายภาพดังนี้
" เกี่ยวก้บกล้องถ่ายภาพคู่พระหัตถ์ เคยมีผู้สนใจในวงการถ่ายภาพสงสัยกันอยู่ว่า ทำไมจึงไม่ทรงใช้กล้องถ่ายภาพชนิดเยี่ยมยอดที่มีราคาแพงที่นักถ่ายภาพบางคน เขาใช้กัน เพราะตามความเป็นจริงการที่จะทรงใช้กล้องดีมีคุณภาพสูงเพียงใดก็ย่อมได้ แต่กลับทรงใช้กล้องถ่ายภาพแบบธรรมดาที่ใคร ๆ หาซื้อขายได้ทั่วไปในท้องตลาด ซึ่งพระราชจริยวัตรนี้ มีผู้ใหญ่ในวงการถ่ายภาพอธิบายเป็นการเทิดพระเกียรติว่า ประเทศไทยเราผลิตกล้องและอุปกรณ์ถ่ายภาพไม่ได้เลย เราต้องเสียดุลย์การค้าให้กับต่างประเทศเป็นอันมาก จึงควรสังวรณ์ระวังการใช้จ่ายในเรื่องนี้ให้ดีแต่พอเหมาะพอควร ส่วนผู้ที่ทำธุรกิจทางการถ่ายภาพต้องการผลิตงานคุณภาพดี ต้องใช้ของดีราคาแพงนี่เป็นเรื่องธรรมดา ดังนั้น ผู้ที่ถ่ายภาพกันโดยทั่วไปเพียงแต่ใช้กล้องถ่ายภาพระดับมาตรฐานทำงานได้ อย่างถูกต้องก็เหมาะดีที่สุดแล้ว ความสำคัญเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงเป็นแบบอย่างที่วิเศษที่สุด สมควรที่วงการถ่ายภาพทั้งหลายจักได้บำเพ็ญตนเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท เพื่อเป็นศักดิ์สิริมงคลให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้





พระปรีชาสามารถด้านการถ่ายภาพของพระองค์ มิได้เป็นแต่เพียงการบันทึกภาพเพื่อดูกันในหมู่ผู้ใกล้ชิดเท่านั้น หากแต่ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ ยังเคยปรากฎอยู่ในหน้านิตยสารสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตรอีกด้วย จะสังเกตเห็นได้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปยังสถานที่แห่งใด นอกจากสมุดจดและปากกาในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว ยังมีกล้องถ่ายรูปคล้องพระศอไปด้วยเสมอ ซึ่งแม้ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลไปเพียงใด พระองค์ยังทรงโปรดใช้กล้องถ่ายรูปแบบมาตรฐานเป็นกล้องคู่พระหัตถ์อยู่เสมอ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเชี่ยวชาญแม้กระทั่งการ ล้างฟิล์ม การอัดขยายภาพทั้งภาพขาวดำ และภาพสี (Dark Room) ขึ้นในบริเวณชั้นล่างของตึกที่ทำการสถานีวิทยุ อ.ส. ด้วยพระราชประสงค์ที่จะทรง "สร้างภาพ" ให้เป็นศิลปะถูกต้องและรวดเร็วด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ทรงคิดค้นหาเทคนิคใหม่ ๆ มาใช้ในการถ่ายภาพอยู่เสมอ ๆ จนทำให้ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์เป็นผลงานศิลปะที่ล้ำยุค ด้วยความที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการถ่ายภาพ และทรงถ่ายภาพต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เคยไปปรากฏตามหน้านิตยสาร เมื่อราวปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระองค์ได้ปรากฏอยู่ในนิตยสารแสตนดาร์ดของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร ทรงมีพระราชดำรัสด้วยพระอารมณ์ขันแก่ผู้ใกล้ชิดผู้หนึ่งถึงการเป็นช่างภาพ อาชีพของพระองค์ว่า "ฉันเป็นกษัตริย์ก็จริง แต่ฉันก็ยังมีอาชีพเป็นช่างภาพของหนังสือพิมพ์แสตนดาร์ด ได้เงินเดือนละ ๑๐๐ บาท ตั้งหลายปีมาแล้วจนบัดนี้ก็ยังไม่เห็นเขาขึ้นเงินเดือนให้สักที เขาก็คงถวายเดือนละ ๑๐๐ บาท อยู่เรื่อยมา"
พระองค์ทรงศึกษาและเรียนรู้การถ่ายภาพจนมีพระปรีชาสามารถ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติจากโรงเรียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เชี่ยวชาญทั้งถ่ายรูปและล้างรูปด้วยพระองค์เอง ทรงจัดห้องมืดขึ้นที่ชั้นล่างของตึกสถานีวิทยุ อ.ส. จึงปรากฏภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นจำนวนมาก มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ที่ทรงถ่ายงดงามหลายภาพ เช่น ภาพ Winter Time, Peace เป็นต้น



๑. ภาพแนวจิตรศิลป์
คือภาพที่เน้นศิลปะ การถ่ายภาพเป็นสำคัญ เป็นภาพที่สะท้อนความประทับใจของผู้ถ่ายภาพต่อสิ่งที่ปรากฏต่อหน้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพแนวจิตรศิลป์ไว้มาก ดังเช่นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบันทึกไว้ว่า

“ข้าพเจ้า ได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงถ่ายภาพ และเห็นภาพฝีพระหัตถ์ในสมุดเก็บภาพถ่าย ซึ่งจะทรงจัดภาพโดยมีหมายเลขประจำภาพ ในตอนแรกจะทรงทำด้วยพระองค์เอง ภายหลังจึงทรงสอนให้มหาดเล็กทำถวาย ภาพในสมุดมีหลายอย่าง เช่น ภาพลูก ๆ ตั้งแต่แรกเกิดจนโตขึ้นเป็นระยะๆ ตัวข้าพเจ้าเองมีรับสั่งว่าถ่ายภาพได้ยากมาก เพราะว่าซุกซน อยู่ไม่สุข นอกจากนั้นยังมีภาพสิ่งที่น่าสนใจ เช่น พระราชพิธีภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ภาพทิวทัศน์หรือสิ่งที่ทรงพบ เห็นในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในที่ต่าง ๆ มีทั้งภาพสถานที่ ภาพราษฎรที่มาเฝ้า ภาพธรรมชาติที่งดงาม”



ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์แนวนี้มีทั้งภาพบุคคล ภาพแนวเทียบนามธรรม และภาพความคิดสร้างสรรค์

ภาพบุคคล ได้แก่ ภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในพระอิริยาบถต่าง ๆ และเมื่อเสด็จไปเยี่ยมพสกนิกรในท้องถิ่นต่าง ๆ ก็ทรงถ่ายภาพบุคคลที่พบระหว่างทาง เช่น ภาพเด็ก ภาพคนชรา เป็นต้น


ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ทรงใช้เพื่อประกอบการทรงงาน ของพระองค์ จะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไป ทรงเยี่ยมราษฎร ณ จังหวัดใด ก็จะทรงมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปด้วยเสมอ โปรดถ่ายภาพสถานที่ทุกแห่งเพื่อทรงเก็บไว้เป็นหลักฐานประกอบงานที่ได้ทรง ปฏิบัติ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เหล่านี้ จึงมักเป็นภาพถ่ายแบบฉับพลัน ทันเหตุการณ์ ซึ่งถ่ายได้ครั้งเดียวด้วยไหวพริบ ไม่มีเวลาจ้องหาแง่มุม แต่ด้วยพระปรีชาสามารถเราจึงได้เห็นภาพฝีพระหัตถ์อันคมชัดและมีศิลปะในการ จัดองค์ประกอบของภาพ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในระยะหลัง ๆ นี้ ทรงใช้เป็นหลักฐานในการวางแผนปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วทันใจและสามารถแก้ไขเหตุการณ์ของบ้านเมืองได้ทันท่วงที เช่น เมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้ทรงถ่ายภาพจุดสำคัญ ๆ ไว้เป็นหลักฐานการวางแผนป้องกันน้ำท่วมทางเฮลิคอปเตอร์ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ทั้งหลายล้วนแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิ ได้ทรงถ่ายภาพเพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว เพราะแต่ละภาพทรงไว้ซึ่งคุณค่าทางศิลปะและวิชาการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศชาติบ้านเมือง และนำความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยได้อย่างดีอีกด้วย
พระองค์ทรงนำการถ่ายภาพมุมกว้าง โดยพระองค์นั้นจะทรงนำกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปทุกครั้ง โปรดการถ่ายภาพบันทึกความก้าวหน้าของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอยู่ เนืองๆ และบันทึกเหตุการณ์ณ์สำคัญ ทรงสนับสนุนให้ใช้ภาพถ่ายเป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคม ไม่ใช่เพียงเพื่อบันทึกความงาม หรือเพียงเพื่อความรื่นเริงใจ ดังความในพระราชดำรัสว่า
“ศิลปะ เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาประเทศได้อีกทางหนึ่ง”

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งมีจำนวนมากมาย สามารถจำแนกได้เป็น ๒ ประเภท คือ ภาพแนวจิตรศิลป์ และภาพแสดงพระปณิธานในการพัฒนาประเทศ

ดั่งโค้งสำคัญ


พระฉายาลักษณ์อันเป็นพระราชประวัติครั้งสำคัญส่วน หนึ่งของทั้งสองพระองค์ ที่ทรงบันทึกภาพไว้อย่างประณีตบรรจงด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว
ภาพแรก พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาคนโตของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (ม.จ. นักขัตมงคล กิติยากร) เมื่อครั้งทรงเป็นอัครราชทูตประจำกรุงปารีส
เมื่อ ๒๐ เมษายน ๒๔๙๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ ทรงเยี่ยมที่สถานทูต และได้ทรงถ่ายภาพ ม.ร.ว.สิริกิติ์ กำลังยิ้มแย้มสดชื่นในรถยนต์พระที่นั่ง ครั้นถึงวันที่ ๒๘ เมษายน ในปีเดียวกัน ก็ถึงวันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และต่อมาถึงวันที่ ๕ พฤษภาคม ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศกระแสพระบรมราชโองการ สถาปนาสมเด็จพระราชินีให้ดำรงราช-ฐานันดรศักดิ์เป็นสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ


แสง นวลนุ่ม


พระ ฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถชุดหนึ่งที่มีแสงนุ่มนวล เป็นศิลปะที่งามซึ้งตรึงตาตรึงใจ และแสดงเอกลักษณ์ศิลปะการถ่ายภาพส่วนพระองค์ที่ทรงมีอย่างเยี่ยมยอดวิธี หนึ่ง ทรงใช้แสงถ่ายภาพอย่างภาษาทางวิชาการเรียกว่า แสงตามสภาพ (Available light, existing light) คือวิธีที่ทรงถ่ายภาพในแสงสว่างเท่าที่มีอยู่ในที่แห่งนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด หรือแสงไฟภายในพระตำหนักหรือในพระที่นั่ง จะทรงใช้แสงและเงาให้ได้ส่วนสัมพันธ์กันอย่างพอเหมาะพอดีทุกที่ไป ภายในเครื่องบินพระที่นั่ง แสงสว่างจากภายนอกทรงใช้เป็นแสงหลัก (Main light) แสงนวลส่องสว่างที่พระพักตร์พอเรือง ๆ ดูที่ขอบหน้าต่างมีแถบสีเข้มสลับกับแสงสว่าง ที่พระมาลา ด้านหน้าอ่อนด้านหลังสีดำ สลับสีอ่อนเข้มของฉากหลัง ตรงนี้มีจังหวะน่าสนุก แล้วมองเลยมาที่ฉากหน้า เป็นแสงเหมือนจะช่วยหนุนให้ภาพนุ่มและลอยเด่น ทั้งให้ความรู้สึกหนาวเย็น บางเบา คล้ายกำลังประทับอยู่ในไอละอองของความฝัน


สงบ


แสงเงานุ่มนวลจับตากำลังพอดี เป็นภาพบันไดสีแก่ (low key) อีกภาพหนึ่ง ซึ่งได้ลักษณะถูกต้องตามหลักการให้แสงแบบคลาสสิคที่เรียกว่า lighting of Rembrandtพระพักตร์ได้แสงสว่างแต่พอเลือนราง ตรงแสงนั้นได้เห็นพระอารมณ์ที่ทรงแย้มพระสรวลน้อยๆ ภาพให้อารมณ์อ่อนหวานนุ่มนวล แต่หนักแน่นลึกซึ้ง ที่ฉากหลังบริเวณพื้นโดยรอบทำให้หนักเล็กน้อย พอถึงตรงกลางเว้นให้สว่างขึ้นหน่อย ลักษณะพื้นภาพแบบนี้เป็นการช่วยเน้นจุดเด่นให้ชัด เน้นให้เห็นพระอารมณ์ในภาพและเน้นให้เห็นบรรยากาศอันทึมเทาเลือนราง คล้ายกำลังประทับอยู่ในสถานที่อันวิเวก อิ่มเอิบพระราชหฤทัย..ในแดนแห่งความสงบ


เมื่อหน้าหนาว


ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถในฉลองพระองค์กันหนาวชุดสีเข้ม ทรงยืนอยู่ด้วยพระอารมณ์สดชื่นแจ่มใส ในขณะที่ทรงเป็นแบบสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงฉายพระฉายาลักษณ์ ทรงใช้ห้องบนพระตำหนักจิตรลดา ฯ เป็นฉากสำหรับทรงถ่ายภาพ ทรงใช้แสงหลัก (main light) ตรงด้านหน้า วงพระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถจึงแจ่มจรัสสดใส ทางด้านข้างทรงใช้แสงลดเงา (fill-in light) เงาที่ข้างพระพักตร์จึงนุ่มนวลอย่างพอเหมาะพอดี นอกจากนี้ยังมีแสงพิเศษส่องเป็นเส้นสว่างใสที่พระเกศา แล้วเลยมาที่พระหณุและพระศอ ภาษาการถ่ายภาพบุคคลเรียกแสงนี้ว่า แสงส่องผม (hair light) ช่วยทำหน้าที่ให้ภาพเกิดระยะใกล้ไกล ภาพได้มิติ ไม่ทึบตันและทำให้ได้บรรยากาศกระจ่างชัดดีขึ้นอีกด้วย ที่ควรดูพิเศษอีกแห่งหนึ่งคือ ฉากหลังตรงที่เห็นสีอ่อนใสตรงกับพระอังสาตลอดแนวไปถึงพระพาหา เห็นฉากหลังที่ช่วยหนุนเน้นให้พระวรกายลอยเด่นห่างจากฉากหลังได้ ลักษณะนี้ภาษาศิลปะเรียกกันว่า “ ภาพมีอากาศ ” (spacing) พระฉายาลักษณ์ “เมื่อหน้าหนาว” เป็นประเภทภาพบันไดสีแก่ (low key) ภาพให้บรรยากาศสุขสงบ วรรณะของภาพได้ระดับสีเข้มทั้งเป็นภาพที่แสดงรายละเอียดของสีขาวเทา
และ ดำอย่างครบถ้วนถูกต้องตามศิลปะทุกประการ

แม่ของชาติ


สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกอดสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารีแนบไว้กับ พระอุระ ลักษณะที่ทูลกระหม่อมเล็กกำลังซุกพระอุระสมเด็จพระราชมารดาอยู่นี้ เห็นแล้วรู้สึกเป็นสุข อบอุ่นอย่างที่สุด ความสุขของลูก ความสุขของแม่ ของครอบครัว เป็นความสุขอันสุดประเสริฐ จึงเป็นการสมพระเกียรติยิ่งนักที่บรรดาพสกนิกรทั้งหลายต่างถวายพระราชสมัญญา ว่า “พระแม่เจ้าของชาติ” เป็นภาพที่มีเส้นโครงสร้าง (structure) สวย และให้อารมณ์แสดงออก (expression) ได้แสงเหมือนภาพชีวิต ที่เรียกว่าเส้นโครงสร้างคือเส้นนำสายตาไปหาจุดเด่นในภาพนี้ โดยเริ่มต้นที่พระพักตร์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วมองลงมาทางขวาโค้งไปหาพระพักตร์ทูลกระหม่อมเล็ก ตรงนี้เส้นจะม้วนเป็นก้นหอย (Spiral Curve) ปลายเส้นคือจุดเด่นของภาพ ภาพนี้มีดีเป็นพิเศษอยู่ตรงจุด จะเริ่มต้นที่เส้นบนหรือล่างของภาพก่อนได้ทั้งนั้น และดูต่อไป ให้ดูที่อารมณ์พระเนตรของทูลกระหม่อมเล็ก ฉายให้เห็นว่าทรงอบอุ่นเป็นสุข ความสุขของลูกอยู่ที่ได้อบอุ่นในอกแม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉายพระฉายาลักษณ์นี้ไว้ก็ด้วยจะทรงบันทึกเป็น พระราชประวัติส่วนพระองค์ และเพื่อโปรดให้เป็นแบบอย่างความสุขของครอบครัว หากประชาชนเป็นสุข ประเทศชาติเจริญ

จ้อง


คราวเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักไกลกังวลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ บ่ายวันหนึ่งทรงขับรถพระที่นั่งด้วยพระองค์เอง เพื่อจะได้ทอดพระเนตรชีวิต
ความ เป็นอยู่อันแท้จริงของพสกนิกรทั้งหลายในละแวกนั้น
ระหว่างทางที่เสด็จฯ ผ่านไปตามถนนในชนบทชายป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาวบ้านสองคน เด็กทั้งคู่ไม่ได้สวมเสื้อ เด็กผู้ชายเอามือเท้าสะเอวมองจ้องมา ฝ่ายหญิงกำลังกินขนมยืนจ้องนิ้วจุกปากด้วยความสงสัย เป็นที่สนพระราชหฤทัยอย่างยิ่ง จึงทรงถ่ายภาพไว้ทันที เป็นศิลปะภาพถ่ายประเภทที่เรียกว่า ภาพชีวิต (Human interest) มีชีวิตจริง ๆ มองทีไรจะเห็นสายตาเด็กจ้อง นิ้วจุกปากอยู่ร่ำไป ยังไม่ได้เคลื่อนไหวและยังไม่ได้กินขนมต่อสักที นอกจากมีศิลปะดียิ่งแล้ว ผู้ชมภาพทุกคนต่างซาบซึ้งในพระเมตตาบารมีที่ทรงสนพระราชหฤทัยต่อความเป็น อยู่ของพสกนิกรของพระองค์อย่างทั่วถึง โดยมิได้ทรงเว้นแม้กระทั่งเด็กชาวบ้านชนบท


ในอ้อมพระกร


๑๒ กันยายน ๒๕๐๕ ณ สถานทูตไทย ประเทศออสเตรเลียมีพสกนิกรชาวไทยไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นจำนวนมากในขณะ ที่มีพระราชปฏิสันถารกับบรรดาผู้ที่เฝ้าอยู่ใกล้เบื้องพระยุคลบาท ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยืนรอบข้างพระองค์แล้วจึงทรงใช้กล้องถ่ายภาพมุมกว้างแบบหนึ่งที่ใหม่และ ล้ำสมัยมากทดลองถ่ายภาพมุมแปลกๆไว้ วิธีที่ทรงถ่ายภาพ ได้ทรงนำกล้องมาวางหงายบนโต๊ะแล้วจึงทรงถ่ายภาพ เพราะกล้องอยู่ ใกล้พระองค์ และเลนส์ที่ทรงใช้เป็นเลนส์มุมกว้างพิเศษที่เรียกว่า เลนส์ตาปลา (fish-eye) จึงเห็นมุมกว้างแม้กระทั่งพระหัตถ์ทั้งสอง ภาพนี้นอกจากจะเป็นมุมศิลปะนำสมัยแล้ว ยังมีความหมายสอดคล้องต้องกับพระราชภาระกิจอันยิ่งใหญ่ที่ทรงโอบอุ้มพสกนิกร ทั้งหลายไว้ในอ้อมพระกร


เย็นนี้ที่ดอยปุย


เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒ ระหว่างที่แปรพระราชฐานไปยังภูพิงคราชนิเวศน์จังหวัดเชียงใหม่ คราวหนึ่งที่ทรงว่างเว้นพระราชกรณียกิจได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพักผ่อนพระ ราชอิริยาบถที่ดอยปุย ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้ค่ำ ดวงอาทิตย์ทอแสงสีเหลืองแดงได้บรรยากาศเป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงโปรดให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถประทับนั่งบังแสงอาทิตย์ ให้เห็นแต่ท้องฟ้าตอนใกล้ค่ำเป็นฉากหลังเพราะท้องฟ้าเวลานั้นมีแสงสีเร้าใจ ให้อารมณ์ดียิ่ง

การถ่ายภาพแบบย้อนแสงโดยทั่วไป ภาพที่ได้มักจะเห็นเป็นแต่เงาทึบดำ ไม่แสดงรายละเอียดภายในเงาแต่อย่างใดเลย แต่พระฉายาลักษณ์นี้มีรายละเอียดอยู่ภายในเงาเด่นชัดตลอดทั้งภาพ แม้กระทั่งพื้นดิน ต้นหญ้า ท้องฟ้า และแสงอาทิตย์ ก็แสดงแสงสีได้ครบถ้วนสมบูรณ์ ภาพนี้จึงแสดงถึงพระปรีชาสามารถอันเจนจัดเฉียบขาด เป็นศิลปะประทับใจเกิดพลังอารมณ์แรง ยากนักที่ใครอื่นจะทำ “เย็นนี้ที่ดอยปุย” ได้

ในฉลอง พระองค์ชุดสีแสด


ทรงชุดสีแสดทั้งฉลองพระองค์และพระมาลา ฉากด้านหน้าจะเห็นดอกสีเหลืองวูบวาว
คล้ายฝีแปรงระบายสีของจิตรกร ที่เห็นดอกไม้มัวพร่าแบบนี้เป็นวิธีพิเศษที่ทรงใช้ดอกไม้อยู่
ใกล้กล้อง ทั้งทางขวาและซ้าย ที่ฉากหลังไกล ๆ ก็วูบวาบรับฉากหน้า

จากนั้นทรง เน้นให้เด่นชัดเฉพาะพระพักตร์และดอกไม้ที่ใกล้พระวรกายเพียงดอกเดียว
ที นี้จะเห็นสีส่วนรวม (Tonality) ทั้งภาพ เป็นสีออกน้ำตาล แสด ส้มและเหลือง เรียกตามวิชา
ศิลปะว่า ภาพวรรณะสีสดใส (Warm tone)

พระอารมณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถสดชื่น ทรงแย้มพระสรวล
อย่างเบิก บานพระทัย สายพระเนตรนั้นฉายแสงพระเมตตาปกเกล้าปกกระหม่อมบรรดาผู้ที่จงรักภักดี และชื่นชมพระฉายาลักษณ์นี้อย่างพ้นประมาณ


เย็นวันนี้ที่อยุธยา


เมื่อธันวาคม ๒๕๒๔ เสด็จพระราชดำเนินเมืองเก่า จังหวัด พระนครศรีอยุธยา พอได้เวลาเย็นจึงเสด็จฯ ไปที่เจดีย์วัดภูเขาทอง ขณะที่ทั้งสามพระองค์กำลังประทับอยู่บริเวณฐานประทักษิณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นว่าเป็นมุมภาพที่งามมาก เพราะมองเห็นดวงอาทิตย์จวนจะลับแสง มีทั้งท้องฟ้าและทิวไม้ด้วย แต่ตรงทิศทางที่ประทับนั้นเป็นทางด้านย้อนแสง (Silhouette) พระพักตร์ของทั้งสามพระองค์จึงทรงอยู่ในเงาดำ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถอันว่องไวฉับพลัน จึงทรงใช้ไฟแฟลชร่วมกับแสงแดด (Synchro-sunlight) ในเวลานั้นให้ภาพได้แสงพอดี
ภาพสามพระองค์ที่ทรงฉาย ไว้ มีพระพักตร์สดใส แววพระเนตรแจ่มจรัส และที่เป็นศิลปะอย่างสำคัญก็ตรงที่แสงสีของภาพกำลังพอดี สดสวยงดงามตลอดทั้งภาพ

เทพธิดาขมิ้น ป่า


โดยพระราชอัธยาศัยแล้วสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงสนพระทัยเรื่องพืชพันธุ์ไม้ ทั้งไม้ดอกไม้ประดับและสมุนไพรเป็นประจำอยู่แล้ว คราวหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๕ ขณะที่แปรพระราชฐานไปประทับ ณ ภูพิงคราชนิเวศน์ ในปีนั้นทางสวนดอกไม้ภูพิงค์ได้ไม้พันธุ์ดีมาอีกอย่างหนึ่งชื่อว่าขมิ้นต้น หรือขมิ้นป่า ลักษณะเป็นต้นสูงท่วมศีรษะ ใบใหญ่มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ฤดูออกดอกอยู่ในตอนต้นฤดูร้อนราวเดือนกุมภาพันธ์ ดอกเป็นช่อยาวสีเหลืองสวยเหมือนขมิ้นทอง ปีหนึ่งจะออกดอกเพียงหนเดียว

พอ ดีกับเวลาที่ขมิ้นต้นกำลังออกดอกบานเต็มที่ ทูลกระหม่อมสมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ กำลังทรงชื่นชมด้วยความสนพระทัยอยู่ใต้พุ่มขมิ้นต้น ก็พอดีกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงกล้องถ่ายภาพอยู่ใกล้ ๆ ทูลกระหม่อมเงยพระพักตร์ขึ้นทอดพระเนตร แสงแดดส่องมาต้องพระพักตร์ด้านข้างพอดี ตรงนั้นมีใบไม้เป็นฉากหน้า ดอกขมิ้นป่าแวดล้อมอยู่รอบข้าง พอแย้มพระสรวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงลั่นชัตเตอร์ถ่ายภาพไว้อย่างฉับพลัน

สี พระพักตร์ของทูลกระหม่อมสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ กำลังสดชื่นแจ่มใสอยู่ท่ามกลางมวลไม้และดอกขมิ้นต้น “เทพธิดาขมิ้นป่า” จึงเป็นภาพที่เล่าเรื่องและแสดงอารมณ์ของภาพ ซึ่งได้แสงชัดแจ้งดีมาก ดูภาพนี้เมื่อใด เมื่อนั้นจะทำให้รู้สึกเสมือนว่ากำลังเข้าเฝ้าอยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทอย่าง ชื่นชมและสำนึกในพระเมตตาเป็นที่ยิ่ง

วังเวงใจ

อาทิตย์ลับยอดดอยอินทนนท์ไปแล้ว แต่ท้องฟ้ายังมีสีสวยซึ้งงดงามน่าชม ต้นไม้ต้นหนึ่งใบร่วงโกร๋น แต่ถ้ามองไปจะเห็นกิ่งก้านเป็นเส้นไขว่คว้า คล้ายกับกำลังแสวงหาความอยู่รอด
ดวง ตะวันจวนจะสิ้นแสงอยู่รอนๆ มองดูต้นไม้แล้วรู้สึกใจหาย ยืนต้นเปล่าเปลี่ยว แต่กิ่งก้านยังแสดงท่าทีดิ้นรนต่อสู้อยู่ต่อไป มีค่ำก็ต้องมีเช้า จงสู้ต่อไป จนวันใหม่จะมาถึง



เหมือนฝัน

ดอกไม้ไฟชื่อว่าพลุนั้น นอกจากจะได้ยินเสียงปึงปังฟังชัดแล้ว แสงสียังสว่างกระจ่างตาเจิดจ้า พราวพราย ใครได้เห็นเป็นต้องชอบจะเรียกว่าเป็นความนิยมระดับนานาชาติก็ว่าได้ จุดพลุที่ไหนสวยที่นั่น สูงสง่าท้าทาย เร้าใจผู้ชม เป็นที่ชื่นชอบของนักศิลปะและนักถ่ายภาพมาก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยในการถ่ายภาพพลุอยู่เสมอ ภาพที่ทรงถ่ายไว้ได้จะมีความแปลกใหม่เป็นพิเศษ อย่างภาพชุดนี้ ทรงเลือกเวลาถ่ายตอนโพล้เพล้ใกล้ค่ำท้องฟ้ายังมีแสงเรืองๆ จึงช่วยให้เห็นทิวทัศน์เป็นส่วนประกอบได้อย่างสวยงาม พอพลุดังปึงปังแสงก็สว่างจ้าเป็นดาวดวงใหญ่อยู่กลางท้องฟ้า จึงดูสวยสง่าจับตาซึ้งใจ
บางครั้งทรงถ่ายให้เป็นลวดลายสวยเต็มท้องฟ้า ล้วนแต่มีเส้นแรงมีแสงสีสารพัด ดูเมื่อใดก็ยังจะทำให้ผู้ดูรู้สึกอยู่เสมอว่าพลุยังมีเสียงดังปึงปังก้องฟ้า อยู่เมื่อนั้น แสงสียังสว่างจ้าเต็มตาสมใจนึก แต่พลุจริงๆ นั้นดับแสงไปนานแล้ว เพราะเพียงระเบิดปังก็เกิดแสงสว่างอยู่ชั่วพริบตาแล้วหายไป คล้ายกับความฝัน แต่ภาพพลุฝีพระหัตถ์ชุดนี้ดูครั้งใดยังตราตรึงซึ้งใจเกิดจินตนาการ ได้ยินเสียงอยู่ในหัวใจ เห็นแสงสีสีสวยซึ้งติดตาอยู่อย่างมิรู้ลืม


แตรหลวง

หมายถึงปากแตรกว้างใหญ่กว่าแตรใดทั้งหมด แตรใหญ่ แตรยักษ์ จึงต้องเรียกว่า “แตรหลวง”
ทรงใช้วิธีถ่ายภาพด้วยพระองค์เอง โดยทรงตั้งกล้องคู่พระหัตถ์บนสามขา แล้วทรงใช้ปุ่มลั่นชัตเตอร์ที่ Self-timer ทรงกะเวลาให้กล้องลั่นชัตเตอร์ ถ่ายภาพพระองค์เองได้อย่างพอเหมาะพอดีกับขณะที่ทรงเป่าแตรอย่างดัง
ที่ เป็นศิลปะมากก็ตรงที่ทรงใช้เลนส์มุมกว้างพิเศษชนิดเลนส์ตาปลา (Fisheye lens) จึงทำให้เห็นปากแตรกว้างใหญ่ มองทีไรเป็นต้องรับสายตาอยู่ก่อนสิ่งอื่น ตรงปากแตรนี้แหละที่นำสายตาไปหาจุดเด่นของภาพ คือองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังทรงเป่าแตร
เส้นศิลปะอีกกลุ่ม หนึ่งได้แก่ เส้นโค้งรายรอบคล้ายกรอบของภาพคือ เส้นขอบซ้ายขวา ช่วยเน้นให้ภาพเด่นมากขึ้น เครื่องอุปกรณ์ที่วางทับโน้ตเพลงก็เหมือนกัน ทุกอันต่างชี้ไปหาจุดกลางเส้นเหล่านี้ จึงเป็นเส้นเสริมให้ภาพเกิดพลังยิ่งขึ้น ภาพนี้จึงเล่าเรื่องได้แจ่มแจ้ง มีแสงสดใสในตัว ทั้งมีเสียงแตรในความนึกคิดของผู้ชมภาพจึงเป็นภาพที่มีชีวิต น่าชมอย่างยิ่ง


เงาพิศวง


ดูที่พื้นน้ำและเงานั้น จะเห็นพริ้วพรายกระเพื่อมไหวเป็นลายริ้วอย่างน่าประหลาด เงา...เงาบนผิวน้ำแน่ ๆ แต่แปลกตากว่าที่เคยเห็น ทำไมจึงมีเงาซ้อนเงา แสงซ้อนแสงรวมอยู่ด้วยกัน น่าพิศวงแท้ ๆ นี่คือศิลปะของเงาสวยอันเป็นความสวยพิเศษของภาพนี้
คราวที่เสด็จพระราช ดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักไกลกังวล หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะที่ทรงพระดำเนินขึ้นจากบ่อสรงน้ำ เวลานั้นอากาศแจ่มแจ้ง แสงแดดกำลังส่องจ้า ทอดพระเนตรเห็นเงาของพระองค์เองกับเงาของต้นไม้ทอดลงไปในผิวน้ำ พริ้วน้ำกำลังเต้นระริกด้วยแรงลม ทำให้เกิดลวดลายผสมประสานกันอย่างประหลาด เพราะในแสงสว่างยังมีแสงซ้อนกันเป็นริ้ว ๆ ในเงาก็ยังมีเงาเป็นลวดลายสีหนักสีเบาสลับกัน
ด้วยความสนพระราชหฤทัย จึงทรงถ่ายภาพไว้ทันที แต่ตรงที่ทรงยืนอยู่นั้นทรงถ่ายภาพไม่ถนัดนัก ถึงกระนั้นด้วยพระราชอุตสาหะอย่างแรงกล้า จึงทรงใช้พระหัตถ์ซ้ายจับต้นปาล์มไว้ส่วนพระหัตถ์ขวาทรงจับกล้องถ่ายภาพและ ทรงลั่นชัตเตอร์ได้ อย่างแน่พระทัย...."ศิลป์เงาสวย” อันล้ำค่าจึงได้ปรากฎขึ้น

๔ หัวใจ

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ คราวเสด็จแปรพระราชฐานไปยังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ วันหนึ่งได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่หมู่บ้านชาวเขาบนดอยปุย ขณะที่ทรงพระดำเนินไปบนยอดเขาสักพักใหญ่ๆ ทรงเหลียวมาปรากฎว่าไม่มีใครตามเสด็จได้ทันจึงประทับพักผ่อนพระราชอิริยาบถ อยู่ ณ บริเวณนั้น

ขณะนั้นเป็นเวลาบ่ายมากแล้ว ลมเย็นบนยอดเขาพัดมารวยรื่น พระอาทิตย์ทอแสงมารำไร ระหว่างที่ทอดสายพระเนตรไปรอบ ๆ บริเวณ ก็ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ต้นหนึ่งใบร่วงโกร๋น แต่กิ่งหนึ่งยังมีใบเหลือค้างอยู่ ๔ ใบ แสงแดดส่องจ้ามาตรงนั้นพอดี ทอดพระเนตรแล้วเป็นที่สนพระราชหฤทัยยิ่งนัก จึงทรงถ่ายภาพในมุมต่าง ๆ ไว้ได้หลายภาพ มีอยู่ภาพหนึ่งที่พระราชทานอรรถาธิบายไว้เป็นความว่า

๑. ใบไม้กิ่งนี้มี ๔ ใบ สมมติได้ว่าเป็นหัวใจของคน ๔ คน
๒. ใบไม้ ๓ ใบแรกเรียงตรงเป็นแถวดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงามดี เมื่อเปรียบไปก็จะคล้ายกับคนทำดีย่อมมีแต่ความเจริญก้าวหน้า ส่วนใบที่ ๔ พลิกตะแคงไม่เหมือนใคร เมื่อดูไปจะคล้ายกับคนที่ประพฤติปฏิบัติออกนอกลู่นอกทาง จึงต้องดิ้นรนผจญชีวิตไปด้วยความไม่แน่นอน
๓. ใบไม้ ๓ ใบที่เห็นเรียบร้อยดีนั้น ถ้าลองพิจารณากันให้ใกล้ชิดอีกที ก็จะเห็นได้ว่าแต่ละใบยังมีริ้วรอยขีดข่วนด่างพร้อยอยู่บ้าง ทั้งนี้ก็ย่อมเกิดได้จากสิ่งแวดล้อมบันดาลให้เป็นไป ซึ่งจะมากน้อยประการใดก็เปรียบได้ดังหัวใจคนที่มีอันต้องผันแปรไปบ้างนั้น เรื่องนี้จึงเป็นข้อคติที่ควรคิด
๔. ภาพนี้จะเห็นใบไม้ทั้ง ๔ ใบได้ชัดเจนมาก แต่พอมองไกลไปที่ฉากหลังจะพบแต่ความมัวพร่า ซึ่งพอจะเปรียบได้ว่าอนาคตย่อมเป็นอนิจจัง จะเอาความเที่ยงแท้แน่นอนอะไรไม่ได้
หัวข้อสำคัญ ๔ ประการจากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์นี้ เป็นพระราชอรรถาธิบายที่ทรงไว้ซึ่งคุณประโยชน์อันล้ำค่า สมควรที่จะนำมาใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิตได้ดียิ่ง

หลวงปู่ยังอยู่ กับเรา


๑๖ มกราคม ๒๕๒๕ เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการหลวงปู่แหวน วัดดอยแม่ปั๋ง จังหวัดเชียงใหม่ เวลาที่มีพระราชปฏิสันถารอยู่กับหลวงปู่อยู่นั้น มักทรงเตรียมกล้องถ่ายภาพกับไฟแฟลชพร้อมไว้เสมอ พอทรงเห็นหลวงปู่ทำท่าทีได้เหมาะดี จะทรงถ่ายภาพไว้โดยมิต้องทรงนิมนต์หลวงปู่ให้รู้ตัว
การถ่ายภาพผู้ใดโดย มิต้องบอกให้ผู้ถูกถ่ายเตรียมตัวหรือจัดท่าทางไว้ก่อนนั้น เรียกกันว่า การถ่ายภาพทีเผลอ (Candid Photography) การถ่ายภาพแบบนี้ทรงถนัดจัดเจนมานักต่อนักแล้ว ด้วยเหตุนี้ภาพที่ทรงถ่ายไว้จึงดูคล้ายมีชีวิต รู้สึกเหมือนเคลื่อนไหวได้ ทั้งสวยงามและถูกต้องตามหลักศิลปะด้วย
ภาพหลวงปู่แหวนประพรมน้ำพระพุทธ มนต์และสวดมนต์ถวายพระพร ทั้งสองภาพนี้ดูไปแล้วจะรู้สึกเหมือนกับว่าหลวงปู่ยังมีชีวิต “หลวงปู่ยังอยู่กับเรา” ดูภาพหลวงปู่เมื่อใดก็เท่ากับได้กราบขอพรและรับน้ำมนต์จากหลวงปู่เมื่อนั้น


มุมนี้มีภาพเดียว

๑๖ ตุลาคม ๒๕๓๐ พระราชพิธีกฐินหลวง ณ วัดอรุณราชวรราม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับในกัญญาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ระหว่างที่เรือพายไปใกล้จะถึงหน้าที่วัดอรุณ พอทอดพระเนตรเห็นว่าภาพเฉพาะพระพักตร์ข้างหน้านั้น ได้เส้นดีมีสีสวยและมีความหมายได้เรื่องดีมาก จึงทรงบันทึกภาพไว้
จุด สำคัญคือ พระปรางค์วัดอรุณ จะมีพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินที่นั่น ต่อจากนั้นเห็นพื้นน้ำเจ้าพระยาบอกระยะทางว่าอีกไม่ช้าเรือพระที่นั่งก็จะ ถึงท่าวัดอรุณแล้ว ม่านกัญญาสีหนักเข้มใช้เป็นฉากด้านหน้า ช่วยบังคับสายตาให้เห็นปรางค์วัดอรุณเป็นจุดเด่นอยู่แต่ไกล พลพายชูใบพายเรียงเป็นเส้นเฉียงขนานกับม่านได้เส้นได้สีสวยมาก เลยมาทางซ้าย พลเส้ากระทุ้งจังหวะฝีพายถือไม้เส้าเป็นเส้นตั้งฉาก จะช่วยหยุดสายตาระหว่างเส้นเฉียงกับเส้นตรงให้ความรู้สึกแสงสง่าและเฉียบ ขาด... ภาพเล่าเรื่องได้อย่างครบถ้วน ทั้งเป็นภาพแปลกใหม่ยังไม่เคยปรากฎ ภาพนี้จึงมีความพิเศษและมีเพียงภาพเดียว


ยิ้มรับเสด็จ


เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวไทยอิสลาม ณ อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ระหว่างทางที่ทรงพระดำเนินกลับ ผ่านชาวบ้านผู้หนึ่งในระยะใกล้ๆ แสดงความดีใจที่ได้เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างใกล้ชิด จึงกระหยิ่มยิ้มย่องอย่างเต็มที่ การยิ้มแย้มแจ่มใสนี้เป็นที่ต้องพระราชหฤทัยยิ่งนัก
ใน ทันทีทันใด ทรงใช้กล้องคู่พระหัตถ์เตรียมถ่ายภาพไว้ แต่เนื่องด้วยขณะนั้นเป็นเวลาใกล้ค่ำมากแล้ว ตรงที่ชาวบ้านคนนี้ยืนอยู่จึงมีแสงสว่างอ่อนสลัวทำให้ลำบากที่จะทรงถ่ายภาพ ด้วยเหตุนี้จึงทรงใช้วิธีพิเศษด้วยการทรงตั้งชัตเตอร์ที่ B และขณะที่ทรงกดชัตเตอร์ค้างไว้ก็โปรดให้ช่างภาพส่วนพระองค์ที่ตามเสด็จอย่าง ใกล้ชิด กดไฟแฟลชช่วย พอแสงแฟลชสว่างแวบก็เป็นอันเรียบร้อย ทรงได้ภาพอย่างแจ่มชัดสดใสและเป็นภาพรอยยิ้มอย่างมีชีวิตเหมือนที่เห็นอยู่ นี้
อันเทคนิควิธีที่ทรงใช้ไฟแฟลชเปิดแสงนอกกล้องแบบนี้ตามภาษาทาง วิชาการเรียกว่า Open flash เป็นศิลปะการถ่ายภาพระดับสูง ซึ่งน้อยคนจะรู้จักและถ่ายทำกันได้
นอกจากรอยยิ้มอย่างมีชีวิตแล้ว ขอให้ดูกันให้ละเอียดต่อไปอีกว่า ชาวบ้านผู้นี้เป็นคนดำ ถ้าอยู่กับฉากดำตัวคนก็จะจมมืด แต่บังเอิญเขาใส่เสื้อสีชมพูอ่อนผ้าโพกศีรษะขาว พอได้แสงไฟแฟลชจึงเหมือนยืนอยู่กลางแดดจ้าในฉากหลังสีดำมืด ภาพจึงดูเด่น ทั้งดำทั้งเด่นเหมือนจะมีชีวิตและเดินออกมาพูดคุยกันได้ ยิ้มยอดจริงๆ



พระ บารมีปกเกล้าปกกระหม่อม


วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๒๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณวัดทรายทอง อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในครั้งนั้นมีประชาชนมารอรับเสด็จฯ เป็นจำนวนมากทั้งสองพระองค์จึงต้องทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอยู่จนกระทั่งพลบ ค่ำ

ขณะ ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงบันทึกเรื่องราวจากปากคำของชาวบ้านผู้เฒ่าที่ได้เข้าเฝ้า อยู่แทบเบื้องพระยุคลบาทนั้น เป็นเวลาที่แสงสว่างขมุกขมัวมากแล้ว ช่างภาพสื่อมวลชนในที่นั้นเห็นว่าแสงมัวมืดเช่นนี้คงต้องทรงเพ่งสายพระเนตร มากในการทรงบันทึกเรื่องราวด้วยลายพระหัตถ์ จึงได้รีบเปิดไฟส่องถวายและใช้บันทึกภาพข่าวที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจใน ครั้งนี้ด้วย

ในฉับพลันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรเห็นด้านมุมตรงข้ามทางด้านย้อนแสง พอดีกับที่ทรงมีฟิล์มสีรุ่นใหม่แบบล่าสุด ชนิดที่มีอัตราความไวแสง ISO ๑,๖๐๐ จึงได้ทรงบันทึกภาพไว้ได้โดยไม่ต้องทรงใช้ไฟแฟลชอย่างภาพธรรมดา

พระ ฉายาลักษณ์แห่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในลักษณะเช่นนี้ ทางศิลปะภาพถ่ายเรียกว่า ภาพด้านข้าง (Profile) มีแสงเน้นเป็นเส้นที่พระเกศาและพระพักตร์ เป็นพระฉายาลักษณ์ที่มีมุมแปลกและใหม่ในแสงและในเงาที่แสดงให้เห็นบรรยากาศ มืดค่ำ เวลาเช่นนี้ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถยังมีพระราชอุตสาหะทรงปฏิบัติพระราชกิจ เพราะทรงพระเมตตาล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่เหล่าพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้


ใน อ้อมอกแม่


๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงมีพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ ตั้งแต่นั้นมา สมเด็จพระอัยกาธิราชจะทรงถ่ายภาพไว้อย่างสม่ำเสมอ ภาพส่วนใหญ่จะทรงใช้ฟิล์มไวแสงมากๆ เพื่อทรงให้พอเหมาะกับสภาพของแสงส่วนรวม ที่ใช้อยู่ในพระตำหนักตามปกติแสงในภาพจึงดูนุ่มนวลเป็นธรรมชาติดียิ่ง

พระ เจ้าหลานเธอกำลังทรงซุกพระองค์อยู่ในพระอุระของพระมารดาอย่างที่เรียกว่า “ในอ้อมอกแม่” ภาพนี้ใครได้เห็นเป็นต้องรู้สึกน่ารักน่าเอ็นดู อบอุ่นเป็นสุขใจ ครอบครัวใดที่กำลังมีลูกหลานเล็กๆ กำลังน่ารักเช่นนี้พอเห็นภาพก็รับรองได้ว่าจะต้องเกิดความซาบซึ้งประทับใจ อยากจะได้กอดลูกอุ้มหลานแนบไว้กับอก...ความสุขในบ้านความอบอุ่นของครอบครัว

ศิลปะ ของภาพถ่าย เป็นการประกอบภาพแบบคลาสสิคใช้โครงสร้างเส้นก้นหอย (Spiral Line) เส้นที่เริ่มต้นจากพระพักตร์ทูลกระหม่อมพระมารดา เป็นเส้นโค้งลงไปถึงพระศอ พระอังสาเลยไปถึงพระพาหา แล้วม้วนเป็นก้นหอยปลายเส้นไปสุดที่พระเจ้าหลานเธอซึ่งเป็นจุดเด่นของภาพนี้





๒. ภาพแสดงพระราชปณิธานในการพัฒนาประเทศ


คือ ภาพที่ทรงบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ สภาพบุคคล สิ่งของ ภูมิประเทศ อาคารสถาปัตยกรรม และเหตุการณ์ เช่น น้ำท่วม จราจรติดขัด ภาพเขื่อน ฯลฯ เพื่อทรงใช้เป็นข้อมูลประกอบพระราชดำริในการพัฒนาด้านการเกษตร การคมนาคม การชลประทาน ฯลฯ ภาพถ่ายเหล่านี้ทรงถ่ายในระหว่างเสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ และทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทั่วราชอาณาจักร ส่วนมากเป็นภาพถ่ายแบบฉับพลันถ่ายได้ครั้งเดียว แต่ด้วยพระปรีชาสามารถในด้านการถ่ายภาพของพระองค์ ทำให้ภาพเหล่านั้นมีความคมชัดและงดงาม ดังนั้นแม้จะเป็นภาพที่ทรงถ่ายเพื่อนำมาใช้ในงานพัฒนาก็ตาม ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ประเภทนี้มีการจัดองค์ประกอบทางศิลปะอย่างสมบูรณ์ ทรงจัดแสง สี เส้น ลวดลาย พื้นผิว และรูปทรง ทำให้ภาพเด่น มีระยะ มีมิติ มีมุมมองที่แปลกตา ทรงใช้เทคนิคถ่ายภาพหลายแบบตามความเหมาะสม เช่น การถ่ายภาพแบบนำสายตา หรือทัศนมิติ (perspective) การถ่ายภาพแบบมีกรอบภาพ (frame) การถ่ายภาพแบบเงาสะท้อน (reflection) การถ่ายภาพย้อนแสงเพื่อให้ได้ภาพเงาทึบ (silhouette) เป็นต้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสถึงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ประเภทนี้ว่า

“ใน งานด้านพัฒนา ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์เป็นส่วนสำคัญยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น ภูมิประเทศในบริเวณที่น่าสนใจ พื้นที่ที่เหมาะจะสร้างเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ บริเวณหมู่บ้าน เส้นทางคมนาคม ทั้งที่ถ่ายจากพื้นราบ และถ่ายขณะประทับอยู่ในเครื่องบิน หรือเฮลิคอปเตอร์ ภาพเหล่านี้สามารถใช้ประกอบพระราชดำริในการพัฒนาได้ เมื่อสร้างโครงสร้างเสร็จแล้ว บางทีก็ทรงถ่ายเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบกับผลงานของเขาเอาไว้ด้วย ภาพอีกหลายๆภาพแสดงความคิด ปรัชญาที่น่าสนใจ แต่ละภาพจะแสดงเทคนิคหลายอย่าง ในการถ่ายภาพ เป็นที่ทราบกันดีถึงพระปรีชาสามารถในด้านเทคนิคการถ่ายภาพ นอกจากจะทรงถ่ายภาพด้วยพระองค์เองแล้ว ยังทรงรับเชิญเป็นผู้ตัดสินภาพถ่ายในการประกวดบางครั้ง”

ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ประเภทนี้มีเป็นจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัวมิได้ทรงถ่ายภาพเพื่อศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่ภาพถ่ายของพระองค์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของ ประชาชน แก้ไขปัญหาของประเทศ และพัฒนาบ้านเมืองเพื่อความผาสุกร่มเย็น และทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีสุขสมดังพระราชปณิธานของพระองค์อีกด้วย



เป็นภาพประวัติศาสตร์ของเมืองไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เลิกใหม่ ๆ ทรงฉายเมื่อ
วันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๘๙ ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านสะพานพระรามหกที่ชำรุดเพราะถูกระเบิดทำลาย
เมื่อ สงครามโลกครั้งที่ ๒ สะพานพระรามที่ ๖ ได้ถูกระเบิดทำลายเสียหายจนใช้การไม่ได้ พอสงครามสงบ รัฐบาลจึงดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วน โดยจัดสร้างทางเบี่ยงขนานกับแนวสะพานเดิม เพื่อให้ยวดยานผ่านไปมา ซึ่งพอจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ลงได้บ้าง
๕ มีนาคม ๒๔๘๙ เสด็จพระราชดำเนินผ่านไปบนสะพานเบี่ยง พอได้ทอดพระเนตรเห็นซากสะพานจึงทรงบันทึกภาพไว้ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ที่ทรงไว้นี้ กลายเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ เพราะต่อไปเมื่อสะพานซ่อมสร้างเรียบร้อยแล้ว หากมีใครอยากรู้ว่าสะพานพระรามที่ ๖ เมื่อครั้งถูกทำลาย มีสภาพเป็นอย่างไร ก็จะดูได้จากภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ภาพนี้


๒ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ทรงถ่ายภาพทางอากาศเพื่อบันทึกบริเวณอ่างเก็บน้ำ ที่อำเภอวัฒนานคร
จังหวัด ปราจีนบุรี



วงล้อโพงน้ำแบบประหยัด ใช้วัสดุอุปกรณ์เท่าที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาใช้ โพงน้ำเข้าพื้นที่เกษตรได้ พื้นที่ตรงไหนมีทางน้ำไหล วงล้อโพงน้ำนี้จะใช้งานได้ทันที






ทรงถ่ายภาพทางอากาศในเขตพื้นที่จังหวัดสกลนคร


๘ ตุลาคม ๒๕๒๖ ทรงถ่ายภาพทางอากาศ เมื่อคราวเสด็จ ฯ ทอดพระเนตรพื้นที่น้ำท่วมทุ่งลาดพร้าว อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เพื่อทรงใช้เป็นหลักฐานในการแก้ไขสถานการณ์ต่อไป



ทรงพระราชอุตสาหะวิริยะเป็นล้นพ้นที่จะทรงบันทึกภาพ พื้นที่น้ำท่วม เพื่อทรงใช้เป็นหลักฐานในการแก้ไขสถานการณ์ให้น้ำลดลงได้อย่างทันท่วงที




๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ โครงการชลประทานในเขตพื้นที่อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

พระปรีชา สามารถด้านการถ่ายภาพได้ขจรขจายไปในวงการถ่ายภาพทั้งในประเทศและ ต่างประเทศด้วย สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยได้ทูลเกล้าฯถวายเข็มทองศิลปะการถ่ายภาพแด่ พระองค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๔ นอกจากนี้ ราชสมาคมถ่ายภาพแห่งสหราชอาณาจักร ( The Royal Photographic Society of Great Britain) ได้กราบบังคมทูลเชิญให้ดำรงตำแหน่งราชบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (Honorary Fellow)
และสหพันธ์ศิลปะการถ่ายภาพนานาชาติ ( Fediration International de l’Art Photographique ) ได้ขอพระราชทานทูลเกล้าฯถวายเกียรติบัตรสูงสุด (Honorary Excellent FIAP) ด้วย

ขอขอบคุณ
www.finansalife.com
www.supremeartist.org
www.fotoinfomag.com
หนังสือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พัฒนาประเทศ ผู้เขียน ศจ.พูน เกษจำรัส
หนังสือ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ