วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

รวมเรื่องราวเก่าๆ เอามาเล่าสู่กันฟัง

รวมเรื่องราวเก่าๆ เอามาเล่าสู่กันฟัง




รูพญาตะเข้

ใต้พื้นโบสถ์หลังเก่าของวัดโพธิ์เอน ริมคลองบางราวนก อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรีนั้น ว่ากันว่าเดิมมี ?รู? ใหญ่อยู่รูหนึ่ง รูนี้มีน้ำขังอยู่เต็ม และลึกมาก ชาวบ้านลองเอาไม้ไผ่ยาวๆ แหย่ลงไปก็ไม่สุด ในรูมีปลาลิ้นหมาว่ายมาหายใจดังพั่บๆ ให้ผู้ที่นอนบนพื้นโบสถ์ได้ยินในตอนกลางคืน

เชื่อว่ารูนี้พญาตะเข้อันเป็นจระเข้เจ้า ที่มีวังอยู่ใต้ท้องน้ำตรงบริเวณปากคลองบางไกรต่อคลองบางกอกน้อยขุดไว้เป็น เส้นทางที่ตนจะไปยังที่ต่างๆ (พวกปลาลิ้นหมาใต้โบสถ์ก็คงว่ายจากในคลองเข้ามาตามเส้นทางนั้น) และว่ารูทำนองนี้มีหลายรู บางทีพญาตะเข้ก็ขุดลึกและไกลเสียจนไปโผล่ที่ปล่องเหลี่ยม เขตนครชัยศรีทีเดียว แต่เฉพาะรูใต้โบสถ์วัดโพธิ์เอนนี้ คราวบูรณะโบสถ์ครั้งสุดท้ายเมื่อหลายสิบปีก่อนก็ได้กลบฝังไปหมดแล้ว

เรื่องรูพญาตะเข้ก็คงเหมือนกับเรื่องเล่าอื่นๆ คือค่อยๆ เลือนไปจากความทรงจำของผู้คน พร้อมๆ กับสภาพรกร้างและปรักหักพังของโบสถ์เก่าซึ่งตั้งอยู่ข้างโบสถ์ใหม่หลังใหญ่ ที่กำลังจะมีพิธีพุทธาภิเษก ฝังลูกนิมิตร ผูกพัทธสีมาในเร็วๆ นี้

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

แกลบ จ้า?แกลบ !

ที่พนัสนิคม สมัยราวห้าสิบปีมาแล้ว ใช้เตาแกลบหุงหาอาหารกันแทบทุกบ้าน พอตกเย็น แต่ละบ้านก็จะชักชวนกันไปยังโรงสีที่พ่นแกลบ (เปลือกข้าว) ออกมากองไว้ที่ลานข้างนอก เพื่อขอซื้อแกลบไปเป็นเชื้อเพลิง เที่ยวหนึ่งเขาคิดราคาราวหนึ่งสลึง ไปเอาแกลบกันครั้งหนึ่งก็หาบมาหลายๆ เที่ยว ตุนไว้ใช้หลายๆ วัน

เมื่อไปถึงก็จะต้องไปโกยแกลบใส่กระบุงเอา เอง และเพื่อไม่ให้เสียเที่ยว คนไปหาบแกลบเที่ยวหนึ่งก็จะใช้กระบุงสี่ลูก โดยวางซ้อนกันข้างละสองใบแล้วผูกเชือกหรือเอาใส่สาแหรกโยงใส่ไม้คาน...แต่ แกลบนี้ดูไกลๆ ก็แยกจากข้าวเปลือกไม่ค่อยออก ดังที่ครั้งหนึ่งมีคนกรุงเทพฯ ขับรถผ่านมาเห็นเข้าก็อัศจรรย์ใจว่าทำไมคนพนัสฯ หาบข้าวเก่งจัง หาบได้ถึงคราวละสี่กระบุง !

พอตอนหลังมีรถเข็นใช้ ก็พากันเปลี่ยนเป็นเอากระสอบไปใส่แกลบแล้วเข็นกลับมา แต่เมื่อโรงสีใช้เครื่องพ่นแกลบให้วนกลับไปข้างในเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงของ โรงสีเอง เลยไม่มีแกลบแบ่งออกมาให้ใช้มากเท่าเมื่อก่อน กอปรกับราคาแกลบก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนก็ทยอยเลิกใช้เตาแกลบกันไปในที่สุด

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

โอ วัลตินดิบ

?เมื่อไหร่มีพลัง พลัง กำลังงาน โอวัลตินเราต้องการ เป็นยอดพลังงาน โอวัลตินบำรุงกาย พลัง

โอวัลติน ดื่มแต่โอวัลตินทุกวันฯ...?

(เพลงโฆษณาโอวัลติน ราว พ.ศ.๒๕๐๐ กว่าๆ )

ถ้าถามถึงเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพที่เด็กๆ เมื่อสามสิบกว่าปีก่อนรู้จักดี แน่นอนย่อมคือโอวัลตินในกระป๋องสีส้ม โอวัลตินนี้ปกติก็ใช้ชงกับน้ำร้อน ปรุงน้ำตาลทรายและนม ดื่มได้ง่ายๆ ทั้งแบบร้อนและเย็น แต่เด็กบางคนมีวิธีพิสดารกว่านั้น โดยตักผงโอวัลตินใส่แก้วมากๆ เทนมข้นหวานลงไปแยะๆ แล้วใส่น้ำแข็งก้อนลงไปพอประมาณ จากนั้นก็เอาช้อนเล็กค่อยๆ คนแต่เบามือ ผงโอวัลตินและนมข้นจะจับกันเป็นก้อนเหนียวหนืดๆ ตักกินเป็นคำๆ จะหอม หวาน มัน อร่อยถูกปากกว่าโอวัลตินชงแบบปกติชนิดเทียบกันไม่ติด แต่กินมากนักก็ไม่ได้ เพราะบรรดาแม่ๆ จะคอยห้าม ว่ามันจะทำให้ท้องผูก เด็กๆ ต้องคอยอาศัยทีเผลอกันเอาเอง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ซิ้ว หยุ่นผู้ถนอมย่อมเสียใจ

ราว พ.ศ.สองพันห้าร้อยสิบกว่าๆ นั้น ในหมู่นักเรียนประถมในโรงเรียนเทศบาลวัดช่างแสง ใกล้บ้านเจริญผล มีกิจกรรมนอกหลักสูตรที่นิยมกันอยู่อย่างหนึ่งคือบรรจงจดเนื้อเพลงดังราวกับ คัดไทยไว้ร้องกันยามพักกลางวันหรือปลอดครู เรียกได้ว่า ใครไม่รู้จักสุนทราภรณ์ สุเทพ - สวลี นั้น แทบจะต้องเอาปี๊บคลุมหัวกันเลยทีเดียว

สมุดจดเนื้อเพลงก็จะมีกันคนละ เล่ม ส่วนใหญ่เป็นสมุดปกแข็งหนา ๘๐ - ๑๐๐ หน้า มีเส้นบรรทัดเรียบร้อย ก็สมุดนักเรียนนั่นแหละ แต่เราถนอมกันเท่าชีวิต ถึงขนาดที่ทุกคนต้องเขียนประกาศ (โองการ) แจ้งไว้ว่า อย่างสมุดของ ซิ้วหยุ่น ก็จะมีว่า

? สมุดเล่มนี้มีเจ้าของปองสงวน

ท่านไม่ควรฉุดลากกระชากถู

แม้ขาดวิ่น ?(จำไม่ได้)?ไม่น่าดู

ซิ้วหยุ่น (หรือชื่อเจ้าของคนอื่นๆ ) ผู้ถนอมย่อมเสียใจ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------


แกง หน่อไม้สูตรยายศรี


หมี่แดง-แกงลาว ที่ชาวพนัสนิคมกล่าวกันว่าอาหารประจำถิ่นในยุคฟื้นกระแสวัฒนธรรมท้องถิ่นนี้ มีกินกันมาเนิ่นนานนัก แต่เพิ่งมาเรียกว่าแกงลาวให้คล้องกับหมี่แดงก็เมื่อคราวมีงานบุญกลางบ้าน เมื่อราวสิบปีมานี้เอง เดิมนั้นเรียกแกงชนิดนี้ว่า ?แกงหน่อไม้? หน้าตาก็คล้ายกับที่ชาวกรุงเรียกกันว่าแกงลาวหรือแกงเปอะนั่นแหละ

สมัย เมื่อราวห้าสิบปีก่อน ยังจำได้ว่าแกงหน่อไม้ที่อร่อยที่สุดนั้นคนแกงชื่อยายศรี พอสายๆ ยายศรีก็จะหาบแกงหน่อไม้ที่อยู่ในหม้อดินข้างละใบมาตามท้องถนน ใครเรียกซื้อก็จะตักใส่กระทงใบตองแล้วมีไม้จิ้มคล้ายไม้จิ้มฟันแต่ยาวกว่า ให้ลูกค้าได้ลิ้มรสแกงอันหอมกรุ่น ราคากระทงละสลึง

สูตรแกงของยายศรี นั้นไม่ซับซ้อน ใช้หน่อไม้มาต้มเทน้ำทิ้ง แล้วใส่น้ำเถาวัลย์ (น้ำคั้นใบย่านาง) ต้มต่อจนเดือดจึงใส่ของสำคัญคือไตปลานัวๆ (ไม่ใส่ปลาร้าเด็ดขาด) จากนั้นใส่เครื่องแกงที่ประกอบด้วยหอมแดง พริกขี้หนู ตะไคร้ กะปินิดหน่อย (บางคนก็ไม่ใส่) โขลกให้เข้ากัน หากชอบฟักทองก็หั่นเป็นชิ้นๆ ใส่ลงไปด้วยเพราะกินเข้ากันได้ดี แต่ที่จะขาดไม่ได้ก็คือใบแมงลัก และน้ำแป้งข้าวเจ้าในตอนท้าย พอให้น้ำแกงข้น

แต่หากเมื่อไหร่ได้หน่อไม้ที่เพิ่งแตกหน่ออ่อนๆ มา ก็จะไม่ต้องต้มน้ำทิ้ง ความหวานสดของหน่อไม้บวกกับรสขื่นนิดๆ ก็จะอร่อยไปอีกแบบหนึ่ง แกงแบบนี้จะเรียกกันว่า ?แกงเลย?
----------------------------------------------------------------------------------------------------------

ทำ แก้วจากขวด

เมืองไทยสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา มีทหารญี่ปุ่นเต็มไปหมดตามเมืองสำคัญและจุดยุทธศาสตร์ ที่แถบบางกอกน้อย อันเป็นที่มาของตำนานโกโบริ ? อังศุมาลิน ในนวนิยาย ?คู่กรรม? อันลือลั่นก็เช่นกัน คนเฒ่าคนแก่ยังจำได้ว่าทหารญี่ปุ่นมาอยู่ที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย และก็เที่ยวเพ่นพ่านไปตามละแวกถิ่นฐานตรอกซอกซอย ถึงขนาดมาตกกุ้งกันที่หน้าวัดช่างเหล็ก เขตตลิ่งชันก็มี ตอนนั้นไม่มีใครกล้าห้าม เพราะว่าเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลัง ?มีฤทธิ์? และถึงแม้สนามรบไม่ได้เกิดในเมืองไทยโดยตรง แต่ก็ทำให้เกิดภาวะสินค้าขาดตลาด อาหารการกินฝืดเคืองเป็นอันมาก เสื้อผ้าหายาก ไม้ขีดไฟยิ่งไม่ต้องพูดถึง (ต้องใช้หินเหล็กไฟแทน) จนชั้นแต่แก้วก็ยังไม่มีจะใส่น้ำกิน แต่ก็มีวิธีทำแก้วอย่างง่ายๆ พอแก้ขัดไปได้ โดยดัด/ตัดลวดหรือเหล็กให้โค้งรอบเป็นวงพอดีกับขนาดตัวขวด เอาไปเผาไฟจนร้อนแดง ค่อยๆ ยกมาสวมครอบขวดตรงตำแหน่งที่หมายจะให้เป็นปากแก้ว แล้วสาดด้วยน้ำเย็น มันจะขาดตามรอยทันที แถมยังเรียบสนิท แค่ลบรอยตัดอีกหน่อยเดียวก็ใช้ได้ทันที
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
จรวด สำโรง

สำโรงเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ฝักอ้วนทรงกลมรี เมื่อแก่จัดจนเป็นสีน้ำตาลเข้มจะเผยออ้าออก เผยให้เห็นเมล็ดเรียงรายติดอยู่กับเปลือกด้านใน เด็กๆ ในชนบทมักเลือกเก็บเมล็ดแก่ที่ร่วงบนดินมาตัดส่วนขั้วออกสักหน่อย เอาไม้เล็กๆ หรือลวด, เข็มกลัด ฯลฯ ล้วงขูดเอาเนื้อเมล็ดออกให้หมด แล้วหักหัวไม้ขีดไฟยัดเข้าไปมากเท่าที่จะมากได้ (ที่มีไม้ขีดไฟให้หักหัวใช้ได้ไม่อั้น ก็เพราะแต่ก่อนไม้ขีดไฟเป็นของถวายพระที่จำเป็นมาก พระเณรต้องใช้จุดเทียนไข ตะเกียง ด้วยยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ครั้นญาติโยมถวายมากๆ เข้าก็เหลือ เด็กวัดเลยแอบเอามาใช้งานบ้าง) เมื่อทำจนพอควรแก่การแล้ว ก็ถึงคราวสนุกกัน

ตอน นี้จะต้องไปหากาบกล้วย หรือรางท่ออะไรก็ได้ที่ยาวๆ มาวางพาดเฉียง หยิบลูกสำโรงที่ทำไว้นั้นมาวางโดยหันให้ด้านขั้วไม้ขีดชี้ลงดิน แล้วก็จุดไฟจ่อที่ขั้ว เท่านี้มันก็จะพุ่งขึ้นไปอย่างกับจรวดน้อยๆ เด็กๆ จะแข่งกันว่าของใครจะพุ่งไปได้ไกลกว่า

?แค่นี้ก็สนุกแล้ว? เด็กคนหนึ่งที่ตอนนี้โตเป็นหนุ่มใหญ่ รำลึกความหลังเมื่อสี่สิบกว่าปีก่อนไว้ด้วยประโยคนี้
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

นา ร่องสวน

พื้นที่แถบแม่กลอง ? อัมพวาสมัยก่อนที่จะกลายสภาพเป็นสวนอย่างที่เห็นในปัจจุบันนั้น เคยเป็นนาปลูกข้าวได้ผลผลิตดีมาก่อน แต่ต่อๆ มา เมื่อสภาพดินและน้ำเริ่มเปลี่ยนไป ทำนาแปลงใหญ่ๆ ชักจะไม่ใคร่ได้ผล ก็เปลี่ยนมาเป็นสวนผักผลไม้ ชาวนากลายเป็นชาวสวน แต่ถึงอย่างนั้น ในร่องน้ำของสวนยกร่องนี้ก็ยังลงปลูกข้าวนาปรังในช่วงก่อนตรุษจีน พอได้ข้าวกินไม่อดอยาก

มาเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่เริ่มมีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำหลายแห่งในเขตภาคตะวันตกและภาคกลางตอนบน นาร่องสวนนี้ก็เป็นอันทำไม่ได้ เพราะในหน้าน้ำเขื่อนเหล่านี้จะเก็บกักน้ำไว้จนไม่มีพอปล่อยลงมายันน้ำเค็ม ที่เขตปลายน้ำ ดังนั้นอย่าว่าแต่นาเลย ลำพังสวนเองก็ประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนจนพืชผักผลไม้เสียหายล้มตายอยู่เป็น ประจำ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
เคยเล่นอ๊ะป่าว ? ทัวร์ปลากะโห้

สมัยก่อน ในคลองบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ยังมีปลากะโห้มาก ตัวมันโต เป็นปลาขนาดใหญ่เอาการ เมื่อจับได้ ตอนที่มันยังไม่ตายนั้น บางทีพวกพรานปลาก็จะเอามาให้ลูกเล่นก่อน โดยผูกเชือกเข้ากับกระโดงของมันให้แน่น ปลายเชือกอีกด้านก็เอามาผูกหัวเรือไว้ ให้มัน "พาไปเที่ยว" ความที่แรงมันมาก ก็จะลากเรือไปได้ไกลไม่น้อย พอได้สนุกกันทีเดียว
--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปลาหมอตายเพราะ ป า ก

สมัยก่อน พอถึงหน้าน้ำ พื้นที่นาแถบเชียงราก ปทุมธานีก็กลายเป็นทุ่งบึงน้ำขนาดใหญ่ มีปลาเยอะแยะ โดยเฉพาะที่อร่อย มีมันมาก ก็คือปลาหมอ วิธีจับก็ไม่ยากอะไร เพียงออกหาเหยื่อคือกุ้งฝอยและแมลงปอมาเกี่ยวเบ็ดถือเตรียมไว้ แล้วไปเดินดูตามตลิ่ง ปลาหมอมันจะชอบมาอ้าปากผลุบๆๆ ตรงผิวน้ำให้สังเกตได้ง่ายๆ พอเราเห็นปุ๊บก็โยนเบ็ดลงไป มันจะฮุบปั๊บทันที

..เรียกว่า "ตายเพราะปาก" แท้ๆ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------

เก็บ เห็ดโคนยังไงดี ?

ถึงหน้าฝน บ้านใครมีที่ดินที่เหมาะแก่การงอกของเห็ดโคน เช่นว่ามีเชื้อ (สปอร์) เห็ด มีปลวกมาทำรังอยู่ใต้ดิน ก็แน่นอนว่าได้กินเห็ดโคนอร่อยๆ แน่ (เพราะเห็ดโคนจะขึ้นบริเวณรังปลวก โบราณถึงกับเรียก "เห็ดปลวก" ก็มี) ให้คอยดูดีๆ ก็แล้วกัน แต่ถึงอย่างนั้นคนเฒ่าคนแก่ก็ยังสอนว่า เวลาเก็บเห็ดอย่าใช้มีด หรือของมีคมที่เป็นโลหะตัดโคนเห็ดเป็นอันขาด เพราะถ้าทำอย่างนั้น ในปีต่อๆ ไป เห็ดจะไม่งอกมาให้เรากินอีกเลย ท่านว่าให้ใช้ไม้ไผ่ที่ผ่าเป็นซีกบางๆ ค่อนข้างคม ค่อยๆ ตัดเฉือนแทนมีด อย่างนี้จะมีเห็ดโคนกินทุกปี ไม่มีวันหมด
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

'ก่อง ข้าวน้อย' คงไม่รู้จัก... คาถาหม่าข้าว


อุอะมุมะมูนมา

มูน มาดั่งขวยตู่น

จูนพูนดังขวยหนู

อุ๊ซุดั่งทรายไหลแล้ง

เสมอ แก้งไหลเลย

กินอย่าให้หมด

จกอย่าให้ลง

ให้ได้กินได้ ทาน...

แม่ตู้ฮวด ปาละเสริฐ อายุ ๘๔ ปี ชาวเขมราฐ เมืองอุบลฯ ท่องให้ อ.สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ ฟัง ที่วัดธรรมปทีป เมืองมัวซี ครามาแยล ประเทศฝรั่งเศส แม่ตู้ว่าคาถานี้ใช้ท่องเวลาแช่ข้าวเหนียวดีนัก ข้าวเหนียวที่หุงจะ ?ขึ้นกระติบ? จกกินยังไงก็ไม่หมดได้ง่ายๆ....
--------------------------------------------------------------------------------------------------------


ชอบ ของขม ? เปิดผ่านไปเลย ต้มมะระยังไงไม่ให้ขม ?

คนจีนรุ่นเก่าจะบอกว่า ให้ตัด/หั่นมะระเป็นชิ้นอย่างที่อยากกิน ถ้ามีหมูสับจะยัดไส้ก็จัดแจงยัดเสียให้เรียบร้อย แล้วปรุงน้ำซุปกะให้รสพอดีในหม้อใบใหญ่ เอามะระใส่ลงไป ปิดฝาให้สนิท จากนั้นยกไปตั้งไฟกลาง โดยมีเคล็ดข้อแรกว่าขณะที่ยกหม้อขึ้นตั้งนั้นให้กลั้นหายใจไว้

เมื่อหม้อมะระเดือดก็ปล่อยให้เดือดไปเรื่อยๆ เคล็ดข้อที่สองคือห้ามเปิดฝาโดยเด็ดขาด คอยคะเนเอาจากกลิ่น เวลา กะว่าน่าจะเปื่อยนุ่มดีแล้วก็ยกลง ก็จะได้ต้มมะระที่หวานอร่อย

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
ไม่ เมาเหล้าแล้วแต่เรายัง?

?เมาเห็ด?


ในอีสานหลาย พื้นที่และในประเทศลาว คนเก่าเล่าให้ฟังตรงกันว่า หากมีใครกินเห็ดพิษแล้วเมา จะขุดหลุมดิน แล้วฝังคนเมาเห็ดพิษนั้นลงไป ให้โผล่แค่คอและหัว เพื่อให้ดินดูดซึมพิษออกจากตัว จนกว่าจะหายเมา บางทีก็ฝังสักสองสามชั่วโมง บางทีข้ามคืนไปเลย แล้วแต่จะหายเมาเร็วหรือช้า บางพื้นที่ยังบอกอีกว่า กรณีคนเมาเหล้าหนัก ๆ ก็ใช้วิธีฝังอย่างนี้ด้วยเหมือนกัน ขี้เมาหากโดนอย่างนี้คงเข็ดไปอีกนานเหมือนกัน

นอกจากนี้ คนในประเทศลาวยังเล่าให้ฟังอีกว่าหากใครจมน้ำ ยังมีการแก้ด้วยวิธี "หนีบน้ำ" คือ เอาทรายกลบตัวผู้ที่จมน้ำ เพื่อให้ "หนีบน้ำ" ออกจากตัวคนจมน้ำอีกด้วย เป็นการปฐมพยาบาลในแบบของเขา

--------------------------------------------------------------------------------------------------------
รถ หลอดด้าย

พวกแม่ๆ สมัยก่อนมักต้องเย็บปักถักร้อยและทำงานปะชุนซ่อมผ้ากันเองในครัวเรือน จึงมักมีหลอดด้ายเหลืออยู่มาก หลอดด้ายนี้ ตอนแรกๆ มักกลึงด้วยไม้เนื้ออ่อน แต่ภายหลังก็เห็นเปลี่ยนเป็นพลาสติกหมด พวกลูกๆ (ผู้ชาย) มักเอาหลอดที่ทิ้งแล้วนี้มาทำเป็นรถวิ่งเล่นกัน โดยตอกตะปูตัวเล็กไว้บนด้านหนึ่ง (หัวหรือท้ายก็ได้) ของหลอด หาหนังยางวงใหญ่มาสักสองสามวง แท่งไม้ขนาดใหญ่กว่าไม้ลูกชิ้นหนึ่งแท่ง ยาวราวครึ่งคืบ

จากนั้น เอาฝาน้ำอัดลมมาวางหงาย ค่อยๆ หยดน้ำตาเทียนลงไปให้เต็ม รอให้เย็นจนแข็งตัว แล้วแคะออกมา จะได้แท่งเทียนทรงกระบอกแบนๆ ไม่หนามากนัก ให้เอาเหล็กแหลมเผาไฟจนร้อนจี้ตรงกลางให้ละลายเป็นรูโบ๋พอสอดหนังยางเข้าไป ได้

ทีนี้ก็สอดปลายหนังยางผ่านรูหลอดด้ายด้านที่ไม่ได้ตอกตะปูให้ลอดไปคล้องกับ ตะปูไว้ ปลายด้านที่เหลือที่ยังคารูอยู่นั้นก็ให้สอดลอดผ่านรูแท่งเทียน แล้วมัดติดกับปลายแท่งไม้ด้านหนึ่งให้แน่น เมื่อจะเล่น ก็หมุนปลายอีกด้านของแท่งไม้เหมือนเราหมุนเข็มนาฬิกาไปจนรู้สึกว่าหนังยาง ชักจะขมวดตัวตึงๆ ก็วาง ?รถหลอดด้าย? นี้ลงบนพื้น มันจะวิ่งช้าๆ ตามแรงคลายตัวของหนังยางที่ถ่ายจากปลายไม้ลงสู่พื้น พอได้สนุกกันทีเดียว

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
สมัย ตะก่อนมีวิธีการซักมุ้งด้วยการต้ม

เนื่องจากมุ้งนั้น นาน ๆ จะได้ฤกษ์ซักเสียทีหนึ่ง พอนึกขึ้นได้ว่าควรจะซัก มุ้งก็ดำมะเมื่อมฝุ่นผงจับเป็นคราบแล้ว

เวลานำมาซักต้องเลือกวันแดด ดี ซึ่งมักเป็นหน้าร้อน ตั้งกะละมังบนเตาไฟใส่น้ำ เตาไฟนั้นสมัยตะก่อนถ้าไม่ใช้ถ่านก็ฟืนไปเลย ใส่มุ้งซึ่งมักเต็มไปด้วยฝุ่นดำเกาะแน่นลงไป ต้มให้ร้อน แล้วจึงใส่ผงซักฟอกหรือสบู่ซักผ้า ซึ่งโดยมากจะเป็นยี่ห้อซันไลต์ ใช้ไม้แกว่งไปมาให้คราบฝุ่นดำหลุดออก ใช้มือขยี้ไม่ได้เพราะน้ำร้อนเกินไป แล้วจึงเอาขึ้นมาตากให้แห้ง

เท่านี้ก็ได้มุ้งซักสะอาด มีกลิ่นหอมใหม่ !
---------------------------------------------------------------------------------------------------------

ปูน แดงกับเครื่องจักสาน

เครื่องจักสานบางชิ้น สานจากไม้ไผ่หรือตอกที่ยังสดๆ ใหม่ๆ อยู่ พอนำไปใช้หรือซื้อไปเก็บไว้นานหน่อยมักมีปัญหาแมลงกินเนื้อไม้ ยุ่ยเปื่อย ผุผัง ให้เสียดายและรำคาญใจ เครื่องจักสานในบางถิ่นเช่นทางลาวใต้จึงนิยมรมควันไฟเพื่อความคงทนก่อนนำมา ใช้หรือขาย

ที่อำเภอพนัสนิคม เมืองแห่ง ?จักสานดี? นั้น มีวิธีป้องกันแมลงกินเนื้อไม้ของเครื่องจักสานอยู่ว่า ให้เอาปูนแดงที่ใช้กินกับหมากนั่นแหละ มาละลายน้ำ แล้วชุบเช็ดเคลือบเครื่องจักสานนั้นไว้ทั้งใบ ผึ่งแดดให้แห้ง แค่นี้ก็จะชะลอความเสื่อมสลาย ให้ได้ใช้กระบุงตะกร้าไม้ไผ่กันนานๆ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ไม้ กวาดหญ้าขัดมอน

ไม้กวาดลานบ้านในสมัยแต่ก่อนนั้น แถว ๆ บ้านของผู้เล่าใช้ต้นหญ้าขัดมอนใบยาว ( Sida acuta Burm. f. MALVACEAE) ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยมาทำไม้กวาด เนื่องจากทรงพุ่มของต้นไม้ชนิดนี้มีกิ่งก้านแผ่กระจายกว้าง ก้านเยอะและเหนียวดี เก็บได้นานไม่แตกเปราะ ถอนต้นที่เหมาะ ๆ มาสักตันหรือมัดรวมกันสองต้น มัดโคนเข้ากับด้ามไม้ รอให้แห้งจนใบหลุดหมด ก็จะได้ไม้กวาดเอาไว้กวาดลานบ้าน ซึ่งใช้ไปได้นานทีเดียว

หญ้าขัดมอน ใบยาวพบเห็นได้ทั่วไป ขึ้นในที่รกร้าง ดอกสีเหลือง ลองประหยัดค่าไม้กวาดทางมะพร้าว แล้วถอนต้นที่ว่านี้มาทำไม้กวาดดู
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
มะพร้าว เผาอร่อยหลังฝน

ของกินบางอย่างถ้าอยากกินให้อร่อยต้องรู้จักฤดู กาล หากอยากกินน้ำตาลสดแท้ๆ ใหม่ๆ หอมๆ รอสักช่วงเดือนพฤศจิกายนมาถึงเดือนมีนาคมจะรับประกันได้มากกว่าเดือนอื่นๆ

ส่วน ถ้าอยากกินมะพร้าวเผาอย่างที่เห็นขายกันอยู่มากมายหลายสิบร้านริมทางระหว่าง แปดริ้ว - กทม. ก็ต้องรอหลังฝนตกสักสองเดือนไปจนถึงตรุษจีน (ตกอยู่ราวเดือน กรกฎาคม ? กุมภาพันธ์) จะได้มะพร้าวที่อร่อย เนื้อบาง อ่อน และราคาถูก

หลัง จากตรุษจีนไปแล้วมะพร้าวมักจะวาย หายาก เนื้อแข็ง แก่ ให้ลองสังเกตรถที่บรรทุกมะพร้าวจากสวนดูก็ได้ ถ้าคันไหนมีปลาติดอยู่กระบะท้ายรถ นั่นหมายถึงว่ามะพร้าวหายากเต็มที น้ำในร่องสวนแห้งลงขนาดที่เรียกว่ามีปลาให้จับกันได้ง่ายๆ หรือบางแห่งเป็นช่วงวิดร่องน้ำกันเลยทีเดียว

แต่บอกกันก่อนนะว่า มะพร้าวเผาสมัยนี้ส่วนใหญ่เขาต้มก่อนเอามาเผาทั้งนั้น จะหามะพร้าวเผาล้วนๆ ทั้งกระบวนการแบบแต่ก่อนนั้นยากเย็นเต็มที เพราะไม่คุ้มกับค่าฟืนและเวลา






"หมูรวน" และ "กากหมู"

แต่ก่อนไม่มีตู้เย็น ได้หมูมาพูดหนึ่งก็ต้องถนอมอาหารไว้ หากไม่อยากทำแห้ง ก็สามารถทำหมูรวนเอาไว้กินเป็นเดือนๆ ได้ โดยการหั่นหมูเป็นชิ้น ๆ ผัดกับน้ำมันกึ่งสุกกึ่งดิบ ใส่กระเทียม แล้วเก็บไว้ในฝาชี ผิดฝาให้ดี ๆ น้ำมันต้องท่วมเนื้อหมู ใส่ใบมะกรูดลงไปเพื่อดับกลิ่น เก็บไว้กินได้เป็นเดือน ๆ เป็นวิธีการถนอมอาหารแบบหนึ่ง

เวลากินก็ตักแบ่งมาเท่าที่จะกินเอามา ผัดกับผัก ปรุงรสเพิ่มเติม หรือทำอย่างอื่นกินก็ได้ แล้วแต่จะชอบ

ส่วน ใหญ่มักจะใช้หมูมารวน เนื้ออื่น ๆ ไม่ค่อยเห็น สมัยนี้มีตู้เย็นแล้ว เวลาพูดถึงหมูรวนบางคนจึงนึกถึงหมูรวนเค็ม

ส่วนกากหมูนั้น ในสมัยตะก่อนไม่มีน้ำมันพืชขาย เวลาจะใช้น้ำมันต้องซื้อมันหมูมาเจียวเอาน้ำมันไว้ผัด กากหมูที่เจียวได้จะหอมมัน กินกับข้าวสวยร้อน ๆ น้ำปลา พริกผงก็อร่อยเหาะ เอาผสมกับไข่ เจียวกินก็อร่อย


ชาว เขมรสุรินทร์มีตำไก่ย่าง

ซึ่งใช้ไก่ย่างมาตำเป็นน้ำพริก โดยตำใส่มะม่วงสับ พริก ตะไคร้ หัวหอม บางคนใส่กะปิ บางคนใส่ปลาร้าลาว บางคนใส่ปลาร้าเขมร บางคนใส่ปลาทูเค็ม เพื่อให้ได้รสหอมกลมกล่อม(ภาษาอีสานว่า นัว)

ไก่ย่างนั้นต้องนำมาสับให้ละเอียดก่อนตำ ซึ่งเดิมนั้น ชาวบ้านเล่าว่าใช้เนื้อนก โดยจับนกหรือนกน้ำมาได้ก็จะเอามาย่างก่อน แล้วจึงนำมาสับแล้วตำกับเครื่องอีกทีหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้หานกยาก เลยประยุกต์ใช้ไก่ย่างแทน ซึ่งก็ดีเพราะมีเนื้อเยอะกว่าเดิม แถมไม่ทำลายสัตว์ตามธรรมชาติอีกต่างหาก

ตำไก่ย่างจะมีรสหอมของ เนื้อที่ถูกย่าง กินกับผักจิ้มนานาชนิด หากเจอคนสุรินทร์ลองถามดูว่ารู้จักตำไก่ย่างที่ว่านี้ไหม


ลืม ต้ น

ผลไม้เมื่อแรกเก็บมาใหม่ๆ โดยเฉพาะพวกที่มีเปลือก อย่างมังคุด เงาะ มะม่วง ลำไย ส้มชนิดต่างๆ นั้น ชาวบ้านมักจะยังไม่เอามากินทันที เขาว่ามันยังไม่ "ลืมต้น" รสชาติยังเปรี้ยวไปบ้าง ฝาดไปบ้าง ยังไม่กลมกล่อม ต้องทิ้งให้ลืมต้นก่อนสักหลายๆ วัน จนสังเกตเห็นจุกเริ่มเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล นั่นแสดงว่าใช้ได้

ส้มจะหวานแหลม มะม่วงก็จะลดความเปรี้ยวลงไป กินอร่อยขึ้นกว่าเดิม


กิน อ้อยตรงปลายว่ายน้ำเป็น?

ชลบุรีมีโรงน้ำตาลทรายมาก และแน่ล่ะ ไร่อ้อยก็ย่อมมีมหาศาล หนุ่มสาวที่ฟันฟางยังดีอยู่ พอเห็นลำอ้อยอวบอั้นสองข้างทาง ก็ยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทางและตะโกนบอกกล่าวเจ้าของว่าขออ้อยกินสักลำ ว่าแล้วก็เข้าตัด หักเอา ใช้ฟันอันแข็งแรงกระชากเปลือกออก จนถึงเนื้อนวลๆ ก่อนกัดกินให้น้ำอ้อยหวานๆ ชำแรกแทรกผ่านลิ้น อร่อยนัก!

เด็กเจ็ดแปดขวบเห็นแล้วน้ำลายสอ ขอกินบ้างผู้ใหญ่ก็ยื่น "ปลายอ้อย"มาให้ทุกครั้ง" ไม่เห็นจะรู้รสหวานอร่อยเหมือนที่ผู้ใหญ่ว่า พอขอกิน "ส่วนโคน" บ้าง ผู้ใหญ่ก็ว่า เป็นเด็กเป็นเล็กกินปลายน่ะดีแล้ว "กินโคนว่ายน้ำตาย กินปลายว่ายน้ำเป็น" นะ ...

เด็ก บางคน กินปลายอ้อยมาจนโตก็ยังสงสัยอยู่จนเดี๋ยวนี้ว่าทำไมไม่เห็นจะว่ายน้ำเป็นสัก ที


กิน มะเขือทั้งขั้วกันปอบ

มะเขือยาวสีม่วง ลูกสั้นๆ คล้ายหยดน้ำ หลายคนเห็นรูปร่างแล้วก็เรียกต่างกันออกไป อย่างสุนทรภู่ท่านก็เรียกว่ามะเขือคางแพะ บางถิ่นเรียกเป็นชื่อ "คุณนั่น" (กรุณานึกถึงคำสองพยางค์) ของลิงบ้าง แพะบ้าง สาวน้อยสาวใหญ่หลายคนไม่กล้าเรียกให้ใครต่อใครได้ยินเต็มปากในที่สาธารณ์ มะเขือแบบนี้เอามาลวกแล้วจิ้มน้ำพริกก็อร่อยนัก

แต่หากต้องเลี้ยงพระเลี้ยงคนจำนวนมาก พอลวกมะเขือเสร็จแล้วต้องมาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำ ส่วนใหญ่แม่ครัวจะไม่ตัดจุกออกหมด เพียงแต่ตัดให้เสมอมะเขือเหลือกลีบขั้วไว้ ด้วยเอาเร็วเข้าว่า หรือด้วยความขยันน้อยก็สุดแท้แต่ แต่คำอธิบายอย่างขำๆ ของแม่ครัวก็คือ "คนเฒ่าเขาว่า กินมะเขือทั้งขั้วนั่นแหละ กันปอบ"


ขนมดอก โสน

คนพนมเปญเล่าว่า ก่อนที่เขมรจะแตกในปี ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘) นั้น เดิมชาวบ้านอยู่กันอย่างเรียบง่ายมีความสุข บ้านเรือนจะอยู่ริมน้ำ มีต้นโสนขึ้นทั่วไป ออกดอกสีเหลืองสวยงาม คนจะนิยมพายเรือเที่ยว สาวๆ จะทำขนมดอกโสน โดยเตรียมแป้งเอาไว้ก่อน ตั้งเตาตั้งกระทะลงเรือ แล้วพายไปตามริมน้ำที่มีต้นโสน วิธีทำก็คือโน้มกิ่งโสนลงมาเอาดอกโสนชุบแป้ง แล้วจุ่มลงกระทะร้อน ทอดอีกทีหนึ่ง โดยไม่เด็ดพวงดอกโสนจากต้น เมื่อสุกได้ที่แล้วก็ปล่อยให้คาต้นอยู่อย่างนั้น หนุ่มๆ จะพายเรือจีบตามหลังแล้วเด็ดขนมพวงโสนจากต้นกิน จากนั้นก็ร้องเพลงจีบกันไปจีบกันมา ฟังดูน่าโรแมนติก

ทุกวันนี้ไม่มี แล้ว เหลือเพียงเรื่องเล่าให้ลูกหลานฟัง คนที่เคยได้กินขนมดอกโสนตอนนี้ล้วนแล้วแต่ผมหงอกกันทั้งนั้น


เรือ บินด้วง...

เด็กบางคนพอจับด้วง (แมงกว่าง) ตัวผู้โตๆ เขาโง้งได้ จะมีวิธีเล่นพิสดารแทบไม่น่าเชื่อ ขั้นแรกคือเตรียม "เรือบิน" โดยตัดเฉือนกาบมะพร้าวให้เป็นรูปเรือทรงเรียวๆ ตัดใบจากเสียบสองข้างต่างปีก ปักแท่งไม้เล็กๆ ไว้ที่ตรงท้าย แล้วแขวนห้อยรอไว้

เอาดินเหนียวดีๆ เนื้อละเอียดมานวดขึ้นรูปเป็นแท่งทรงกระบอก แล้วเอาเขาด้วงทั้งคู่เสียบเข้าไปให้แน่นดี ทีนี้ก็คอยหมุนๆ แท่งนั้นพร้อมทั้งเป่าตูดด้วงไปด้วย สักพักมันจะกางปีกออกพยายามจะบิน ให้รีบเอาแท่งดินนี้ไปเสียบไม้ตรงท้ายเรือบินนั้น แรงลมจากปีกด้วงจะส่งให้เรือบินบินวนเป็นวงกลมไปได้พักใหญ่ๆ พอได้สนุกกันทีเดียว


ยา คางคก

ให้เอาคางคกมาลอกหนัง ควักเครื่องในออกให้หมด แล้วยัดพริกไทยเม็ดเข้าไปแทน จากนั้นย่างให้แห้ง แล้วเอาไปตากแดดอีกให้แห้งจริงๆ พอจะใช้ ก็ตำให้ละเอียด เคล้าน้ำผึ้งปั้นให้เป็นลูกกลอน กินแก้โรคบุรุษชะงัดดีนัก ;D


เล่น กับตา

เด็กนักเรียนหญิงสมัยก่อนมีวิธี "เล่นตา" อยู่สองอย่าง อย่างหนึ่งคือไปเด็ดเอายอดใบอ่อนสุดของต้นชบามาหลายๆ ใบ มันมียางเหนียวยืดย้อยซึ่งพวกหล่อนจะบรรจงเอาไปติดห้อยกับปลายขนตา ครั้นเมื่อหันมาอีกทีก็เลยเหมือนสัตว์ประหลาดที่มีตุ้งติ้งสีเขียวห้อยขนตา อยู่ข้างละไม่น้อย เวลากะพริบตาถี่ๆ ดูน่าตื่นเต้นดี ส่วนอีกอย่างหนึ่งเล่นง่ายกว่านั้น คือปลิ้นเอาเปลือกตาพับขึ้นไปทบหนึ่ง

แค่นี้ก็กลายเป็นปีศาจตาแดงอันน่าสะพรึงกลัว !!!



เล่น ขายของ


เด็กนักเรียนหญิงสมัยสองสามทศวรรษก่อนมักชอบ "เล่นขายของ" สมมุติตัวเองกับเพื่อนเป็นแม่ค้าลูกค้าข้าวแกงขนมหวาน แล้วก็สารพัดจะหยิบฉวยเอาวัตถุใกล้มือมาใช้ตี๊ต่างได้อย่างน่าทึ่ง เป็นต้นว่าเปลือกส้มโอ เอาเฉพาะส่วนที่เป็นปุยขาวๆ แน่นๆ หั่นฝอย ขยำในน้ำผสมปูนแดงที่กินกับหมากนั่นแหละ เดี๋ยวเดียวก็แข็งกลายเป็นวุ้นสีสวย, ใบและดอกชบา/พู่ระหง หั่นใส่ในน้ำ กวนๆ สักครู่ กลายเป็นน้ำมันหมู ? ราดหน้า, ผักบุ้งหั่นผ่ากลางตามยาว แช่น้ำ มันจะงอนโค้ง กลายเป็นปลาหมึก, หรือเอาดินเหนียวมาละลายน้ำพอข้นๆ หยอดเตาหลุมกลายเป็นขนมครก ฯลฯ ถึงขนาดบางคนเคยไปช้อนเอาปลาสอดตัวสีส้มๆ ในตู้ปลาของพ่อมาขอดเกล็ดบั้ง แล้วเอาลงทอดในกระทะเด็กเล่นชุดเล็กๆ นั้นไปจริงๆ ก็มี


เรื่อง หมีๆ

ชาวเขมรในกัมพูชาเรียกหมีว่า "คลา คมุม" แปลตรงตัวว่า "เสือ ผึ้ง" เนื่องจากหมีชอบล่ารังผึ้งเอาน้ำผึ้งมาเป็นอาหารนั่นเอง

ชาวเขมรมีเรื่องสนุกเล่าให้ฟังว่า เวลาหมีปีนขึ้นต้นไม้ไปกินรังผึ้งนั้น หมีจะปิดตาเนื่องจากตาเป็นจุดเดียวที่ผึ้งสามารถต่อยได้ นอกนั้นตามร่างกายจะปกคลุมด้วยขนหนาซึ่งผึ้งไม่สามารถทำอะไรหมีได้เลย

ดังนั้นพอหมีปิดตาจะไม่เห็นอะไรเลย คนเขมรจึงเล่าให้ฟังสนุกๆ ว่าหากหมีกำลังกินรังผึ้ง ให้ปีนตามไปแล้วเอามือสะกิดหลังหมี หมีจะยื่นรังผึ้งแบ่งให้กินเพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกัน และไม่สามารถเปิดตาดูได้ว่าใครมาสะกิด

จะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือไม่ ไม่อาจทราบได้ แต่ที่แน่ ๆ คนสะกิดอาจโดนผึ้งต่อยก่อนหมี เพราะคนไม่มีขนหนาเหมือนหมี


ผี ยายหวานตลิ่งชัน

เมื่อราวสามสิบกว่าปีมาแล้ว ตั้งแต่ถนนในละแวกวัดตลิ่งชันยังเป็นลูกรัง มีเรื่องราวอันน่าสะพรึงกลัวของทั้งเด็กและผู้ใหญ่อยู่เรื่องหนึ่งซึ่งขึ้น ชื่อลือชาเป็นที่รู้จักดี คือเรื่องของ ?ยายหวาน?

หลังจากที่ยายหวานตายท้องกลม (บ้างว่าผูกคอตาย บ้างว่าถูกสามีฆ่าตาย) ก็มักจะมาปรากฏกายหลอกหลอนผู้คนที่เดินทางผ่านไปมา ให้ใครต่อใครได้เห็นในสารพัดรูปแบบ บางคนพบเจอว่ามาแขวนคอห้อยหัวหลอกอยู่ที่ต้นไม้หน้าวัดตลิ่งชัน บ้างก็ว่ามายืนเรียกแท็กซี่หรือตุ๊กตุ๊ก แล้วพอขึ้นไปนั่งได้สักพัก เมื่อรถแล่นออกนอกเขตชุมชนมาหน่อย ยายหวานก็จะหายตัวไป

เรื่องนี้ เป็นที่หวาดผวาของชาวบ้านในละแวกนั้น รวมถึงบรรดาแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก และรถรับจ้าง ว่ากันว่าพอตกค่ำก็ไม่มีใครอยากเฉียดมาแถวนี้ หรือถ้าใครเรียกรถให้เข้ามาส่งแถวนี้ ก็มักจะไม่มีใครยอมมาส่งให้

จน เมื่อมีการตั้งศาลและทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ยายหวานก็หายตัวไป ไม่มาปรากฏให้เห็นอีก

เรื่องนี้คุณยายวัย ๘๒ ปี ที่อยู่บ้านใกล้วัดช่างเหล็กมาช้านาน ยังจำได้อีกด้วยว่า หลวงพ่อช่วง (พระครูอรรถกิจจาทร-อดีตเจ้าอาวาส) วัดจำปา ได้นำลูกของยายหวานไปดองไว้


ศาลา กลางบ้านที่บ้านปูน

แต่ก่อนนี้ชุมชนหลายๆ แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่อยู่ไกลวัดสักหน่อย มักจะมีศาลากลางบ้านตั้งอยู่กลางชุมชนเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแทน วัด เช่นนิมนต์พระมาฉัน หรือเป็นที่ให้อุบกสกอุบาสิกามาค้างคืนถือศีลในวันพระ บางแห่งก็อาจจะใช้เป็นที่เรียนหนังสือของเด็กๆ ด้วย หน้าตาของศาลานี้มักจะเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง มีห้องโล่งๆ อยู่เหมือนศาลาวัด ส่วนสิ่งที่แตกต่างจากวัดก็คือไม่มีพระมาอยู่ประจำ จะนิมนต์มาเฉพาะเวลามีงานบุญเท่านั้น

ศาลากลางบ้านในกรุงเทพฯ นั้น ค่อยๆ หมดไป บางคนยังจำได้ว่าเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ยังพอมีอยู่ ๗ แห่ง แต่ที่ไหนบ้างก็นับได้ไม่ครบ คนอายุราว ๖๐ - ๗๐ ปี ยังเล่าว่าเท่าที่เคยเห็นเองก็มีอยู่แถวช่องนนทรี แถวกรมอู่ทหารเรือ และตรอกมะตูม

เดี๋ยวนี้ในกรุงเทพฯ เหลือศาลากลางบ้านอยู่ที่ ?บ้านปูน? เชิงสะพานพระรามแปด ฝั่งธนบุรี เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แม้จะไม่มีงานบุญคึกคักเหมือนเมื่อกาลก่อน แต่ทุกหนึ่งหรือสองเดือน ก็ยังคงนิมนต์พระมาเทศน์และฉันกันอยู่เสมอ


แบ๊งค์ บุหรี่

ย้อนกลับไปราวห้าสิบกว่าปี...

สมัยที่บุหรี่แบบฝรั่ง (และ "บุหรี่ฝรั่ง" จริงๆ) ยังเป็นของโก้เก๋ หายาก เด็กๆ ชาวหัวหินมักเก็บสะสมตัวซองบุหรี่เหล่านี้ และเอามา "เล่นติ๊ต่าง" ว่าเป็นเงินธนบัตร โดยกำหนดกันว่าถ้าเป็นยี่ห้อดีๆ อย่างเช่น salem ก็จะเป็นแบ๊งค์ราคาสูง ส่วนพวกที่ราคาถูกๆ ก็มีอัตราแลกเปลี่ยนลดหลั่นกันลงมา

แบ๊งค์บุหรี่พวกนี้ ในตัวมันเองไม่ได้มีส่วนร่วมหรือตำแหน่งแห่งที่ในเกมของเด็กๆ แต่อย่างใด มีหน้าที่เป็นเงิน (ปลอม) ที่ต้องควักจ่ายให้กันเวลาเสียพนันไพ่บ้าง ล้อต๊อกบ้าง ทอยเส้นบ้างเท่านั้น

และถ้าเกิดหมดไป ก็ต้องไปเสาะหามาใหม่ หรือใช้สตางค์ (จริง) ซื้อเอาจากเพื่อนที่เขามีมากๆ มาเล่นต่อ


ข้าว เบือตากบ

อันว่าข้าวเบือนั้น เราๆ ท่านๆ ก็รู้จัก ว่าได้จากการที่เอาข้าวสาร (ข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียวก็ได้) แช่น้ำจนเมล็ดข้าวบาน แล้วเอาไปโขลกในครกให้ละเอียด ไว้ละลายใส่ในแกงประเภทที่ต้องการให้น้ำแกงข้นๆ เช่น แกงลาว แกงป่าบางสกุล หรือต้มโคล้งบางสำนัก แต่ก็มีเล่ากันเหมือนกันว่า บางทีถ้าเกิดจะใช้ข้าวเบือขึ้นมา ก็อาศัยช้อนเอาข้าวที่กำลังหุงต้มอยู่จนเป็น "ตากบ" แล้วนั้น (คือผิวนอกเริ่มใสๆ แล้ว แต่ข้างในเมล็ดยังเป็นไตขาวอยู่) ใส่ครกตำไปตามขั้นตอนปกติ อย่างนี้ก็จะได้ข้าวเบือเหมือนกัน แถมตำง่ายกว่าด้วยเพราะว่าข้าวเริ่มนิ่มแล้ว


คาถา เป่าเด็ก

เด็กเกิดใหม่บางคนที่อายุยังไม่ถึงหนึ่งขวบ มักร้องไห้งอแงในเวลากลางคืน คนเขมรสุรินทร์สมัยก่อนจะมีคาถาเป่าให้เด็กหยุดร้องจนหายเป็นปกติ คาถานั้นมีว่า

"นะศูนย์ สารพัดพิษทั้งมูล ศูนย์โดยนะโมพุทธายะ

โมศูนย์ สารพัดพิษทั้งมูล ศูนย์โดยนะโมพุทธายะ

ยะศูนย์ สารพัดพิษทั้งมูล ศูนย์โดยนะโมพุทธายะ"

แล้วก็เป่าตั้งแต่ศีรษะเด็กลงมาทางด้านข้างจนถึงเท้า ทำอย่างนี้สามครั้ง

ถ้าเด็กนั้นเป็นตานขโมย คือผอมแห้งแรงน้อย ก็จะเอารากส้มโมง (ชะมวง) ตัดสั้นๆ แล้วผูกเอวเด็กไว้ อาการจะค่อยทุเลาลงจนหายไปในที่สุด

คาถาเป่าเด็กข้างต้นนั้น เอาไปเป่าแก้สัตว์มีพิษ เช่นผึ้ง ต่อ แตนต่อย หรือถูกปลาดุก ปลาขแยงยักเอาก็ได้ โดยตั้งนโมก่อนสามจบ แล้วเอามือคลึงๆ ตรงที่ถูกต่อย ว่าคาถาเสร็จแล้วก็เป่าลงไปตรงนั้น

ทำสามครั้งเช่นกัน


เรื่อง ?สมัยก่อน? ที่ บางระมาด

เรื่องเก่าเรื่องก่อนบางเรื่องนี่ นิยามยากว่าเกิดขึ้นเมื่อไรแน่ บ้างก็ว่าเรื่องเก่าของเก่าก็ต้องยุคก่อนประวัติศาสตร์ บ้างว่าแค่สมัยอยุธยาสามสี่ร้อยปีนี่ก็เก่ามากแล้ว หรืออย่างคุณเอนก นาวิกมูล ก็เห็นว่า ?เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า?

ส่วนหลวงพ่อที่วัด จำปาเล่าถึง ?สมัยก่อน? ในช่วงที่ท่านเป็นเด็กๆ หรือเมื่อสักสามสี่สิบปีก่อนว่า

"สมัยอาตมาเล็กๆ พอค่ำๆ ก็ไปฟังผู้ใหญ่ตอนเขาเหลาไม้กวาด บางทีเขาก็แหล่ให้ฟังบ้าง เล่าเรื่องพระเจ้าอู่ทองบ้าง สมัยก่อนแถวนี้เป็นชาวนาถิ่นทุรกันดาร เดี๋ยวก็ได้ยินว่า ?ทองลุก? ที่นั่นที่นี่ แถวนี้ทำนาทั้งนั้น มีแต่ที่นี่ที่เป็นสวน ถัดไปทางวัดโพธิ์ก็เป็นนา พุทธมณฑลสาย ๑ นี่เดิมเป็นนาหมด อาตมายังทันรอยตะเข็บตรงนั้น เคยไปวิ่งเล่น กินอะไรที่ทุ่งนา แถวสาย ๒ เพราะแต่ก่อนโยมมีที่อยู่ตรงนั้น

"อย่าง ถนนดำนี่เพิ่งเข้าถึงวัดไม่นาน สมัยก่อนคนจะเดินตามทางไปสวน ไปถึงสาย ๒ จากวัดโพธิ์เดินไปกลางทุ่งนาจะเห็นเจดีย์วัดศรีประวัติ จังหวัดนนทบุรี อยู่แถวนี้ถ้าขึ้นต้นตาลจะเห็นภูเขาทองและสนามหลวง อาตมายังทันยุคไม่มีไฟฟ้า ใช้พัดกาบหมาก ตะเกียงกระป๋อง รวยจนใช้เหมือนกัน มาจนราวปี พ.ศ.๒๕๑๕ ถึงมีไฟฟ้าใช้

"เมื่ออาตมาเป็นเด็กเล็กๆ เป็นยุคที่เรือรุ่งเรืองที่สุด แถวนี้ก็เจริญ เรือวิ่งทั้งวัน สองสามทุ่มก็วิ่ง กลับลำเรือแถววัดมะกอก อุปมาเหมือนเป็นคลองที่ไม่หลับ พอๆ กับวิถีชีวิตของคนเมือง ใครไปอยู่ทางวัดโพธิ์นั่นอีกคลองหนึ่ง แสดงว่าเป็นคนบ้านนอก เป็นคนท้องนา ใครอยู่แถวนี้ได้รับอารยธรรม อยากกินขนมอะไรเดี๋ยวก็มีเรือพายมาให้กิน?

(พระครูสุนทรจริยาภิรม (สยาม ปัญญปชโนโต) เจ้าอาวาสวัดจำปา เขตตลิ่งชัน)


เรา เช็ดปากครกด้วย...

เ นี ย น


เวลาตำพริกแกง น้ำพริกจิ้มผัก หรือจะกวนห่อหมกในอ่างดินเผาก็ตาม มันมักจะมีคราบเลอะติดขอบภาชนะบ่อยๆ ก็ต้องคอยหมั่นเช็ด หมั่นกวาดให้กลับลงครกลงอ่างไป ทีนี้จะใช้อะไร ? ครั้นจะใช้สากใช้ช้อนมันก็ไม่สะดวก จะเอานิ้วปาดๆ หรือเดี๋ยวก็จะเผลอเอามาป้ายหูป้ายตาพาให้แสบร้อนไปอีก

คนโบราณจะตัดกาบของจั่นมะพร้าว หรือกาบหมากแห้งชนิดที่เรารับประทานผลของมันกับใบพลูนั่นแหละให้เป็นรูปสาม เหลี่ยมขนาดประมาณฝ่ามือ เรียกว่า "เนียน" คนที่เคยใช้บอกว่าเนียนนี้ใช้ปาดคราบ ฯลฯ ได้ "เนียน" จริงๆ พอใช้เสร็จก็แค่เอาไปแกว่งๆ น้ำให้หมดคราบ ผึ่งให้แห้ง

ใช้ได้นานทีเดียว


บาป ย้อนหลัง ?

เมื่อเด็กๆ เล่นด้วง


อากาศสามสิบกว่าปีก่อนต้องมีอะไรต่างจากปัจจุบันนี้แน่ๆ ถึงได้ยังมีตัวด้วง (แมงกว่าง ที่คนเหนือชอบเอามาขวิดชนสู้กันเป็นการเล่นยอดฮิต) มาบินเล่นไฟบ้านไฟถนนตอนค่ำคืน แล้วก็เที่ยวเกาะอยู่ตามต้นหางนกยูง ขี้เหล็ก หรือก้ามปูริมเสาไฟ ให้เราเด็กๆ ออกไปเดินหาจับในตอนเช้ามืด

เราจะตื่นแต่เช้า แอบออกจากบ้านไปเงียบๆ พร้อมกับไม้สอยอันหนึ่ง เที่ยวได้เดินไปด้อมๆ มองๆ ตามต้นไม้ใหญ่และพงหญ้าโคนเสาไฟ ด้วงจะเกาะอยู่ตามนั้น ก็สอยเอาบ้าง บุกลุยเข้าไปจับมาบ้าง เลือกเอาตัวผู้ตัวใหญ่ๆ เขางามๆ ด้วงพวกนี้เวลาถูกจับจะร้องกรี๊ๆๆ ส่วนมากหัวจะดำสนิท แต่ตรงปีกจะสีออกน้ำตาลแดงเข้มๆ ถ้าหากดำปลอดทั้งตัวจะเรียก "ด้วงสะแก" เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นพันธุ์ดี ใครหามาได้ก็ยืดไปได้หลายวัน

เด็กคนไหนชอบบู๊หน่อย ก็จะเอาไปท้าขวิดชนกับของเพื่อน แต่ก็ไม่เห็นใครเล่นจริงจังแบบคนเหนือ ส่วนมากจะเอามาผูกเชือกฟางที่เขาอันบนของมัน แล้วเหวี่ยงหมุนๆๆๆ ให้มันมึนงง โดนเข้าอย่างนี้มันจะบิน เราก็คอยถือปลายเชือกโดยปล่อยผ่อนไปยาวๆ แล้วก็วิ่งตามให้มันบินนำไปตามถนนหรือสนามกว้างๆ แค่นี้ก็สนุกแล้ว(ฟังดูค่อนข้างโหด)

แต่ถ้าใจบุญหน่อย ก็แค่เอามันมาเกาะอยู่บนท่อนอ้อย หรือผลกล้วยน้ำว้าที่ปอกเปลือกสักครึ่งหนึ่ง เพียงเท่านี้มันก็จะหมกมุ่นอยู่กับการดูดกินน้ำอ้อยเศษกล้วยนั้นอยู่กับเรา ได้หลายๆ วัน เหมือนมันเป็นสัตว์เลี้ยงของเราตัวหนึ่ง แถมบางทีถ้าเราเอาตัวเมียมาเกาะท่อนอ้อย ไม่แน่ วันรุ่งขึ้นเราก็อาจได้เจ้าหนุ่มเขางามหรืออ้ายสะแกดุๆ มาโดยไม่ต้องออกไปเดินหาเลยก็ได้

ไม่น่าเชื่อว่า เผลอแป๊บเดียว เรื่องแบบนี้ก็กลายเป็น "เรื่องเก่าเล่าสู่" ไปได้


ยิงแย้ยังไงให้ถูก
แย้นับเป็นสัตว์อาหารที่ชาวบ้านป่าบ้านทุ่งสมัยก่อนเสาะหามาปรุงเป็นจาน เด็ดอยู่เสมอเมื่อมีโอกาส ตัวมันก็เหมือนกิ้งก่า แต่หัวมนๆ ไม่เหลี่ยมจัด แล้วก็ไม่มีเหนียง ปิ้งไฟแล้วหอมมาก เอามาสับทั้งกระดูกผัดเผ็ดผัดใบกะเพราป่า หรือจะตากแดด แล้วฉีกจิ้มน้ำปลากินก็อร่อยแล้ว เดี๋ยวนี้บางตลาดยังเห็นมีขายทั้งใส่กระบุงมาอย่างที่ยังเป็นๆ กับถลกหนังเรียบร้อยแล้วก็มี

แย้เป็นนักวิ่งฝีเท้าจัด ยากที่จะจับเป็น ดังนั้นถ้าเราไม่ได้ทำเครื่องมือดักจับโดยเฉพาะ ก็ต้องอาศัยยิงด้วยลูกกระสุนดินจากไม้ง่ามหนังสติ๊ก ซึ่งไม่ง่าย แต่ก็มีเคล็ดอยู่ว่า อันแย้นั้นเวลามันวิ่งจะวิ่งเป็นรูปวงโค้ง เราต้องสังเกตว่าเมื่อมันเริ่มวิ่ง หัวมันเบนโค้งไปทางไหน เราก็รีบวิ่งอ้อมไปดักมันทางนั้นก่อน พอมันวิ่งมาถึงระยะหวังผลยิง ก็ให้ผิวปากวี๊ดขึ้นทีหนึ่ง แย้จะหยุดชะงัก มองหาต้นเสียง

และจังหวะเพียงชั่วเสี้ยววินาทีนั้นก็เพียงพอแล้ว สำหรับเซียนหนังสติ๊กมือฉมัง


เสือหิว !

คนเก่าๆ เล่าว่า สมัยที่ปลาซิวในแม่น้ำลำคลองยังชุมๆ อยู่นั้น มีวิธีจับมากินที่สุดแสนพิสดารเหลือเชื่ออยู่วิธีหนึ่ง เรียกกันว่า "เสือหิว" คือให้ไปตัดไม้ไผ่ลำใหญ่ๆ มา โดยตัดให้มีปล้องอยู่ตรงกลางหนึ่งปล้อง ลำด้านหนึ่งเหลาเสี้ยมให้เหลือเป็นซี่แหลมยาว ส่วนอีกด้านเจาะรูกลมๆ คล้ายโพรงนกหนึ่งรูตรงใกล้ๆ ปล้อง

เวลาจะใช้งาน ก็หาทำเลเหมาะๆ ตามริมตลิ่ง เจอแล้วก็เอาด้านแหลมปักลงไปให้มั่นคง โดยให้ระดับน้ำท่วมพ้นรูกลมไปจนส่วนปลายอีกด้านหนึ่งอยู่ปริ่มๆ น้ำ จากนั้นเอารำข้าวผสมน้ำพอเหนียวๆ ปั้นเป็นก้อนหย่อนลงไปไว้ที่ก้นปล้อง แล้วหาถุงพลาสติคใหญ่ๆ มาสวมครอบมัดปลายที่ปริ่มน้ำนั้นให้แน่น

ปลาซิวตัวเขื่องๆ จะทยอยเข้ามากินรำข้าวทางรูกลมนั้น แล้วมันจะทะลึ่งพรวดขึ้นด้านบนจนหลุดจากลำไม้ไผ่เข้าไปในถุงพลาสติค แบบนี้ชั่วพักเดียวก็ได้มาครึ่งค่อนถุงแล้ว






http://www.trytodream.com/topic/670

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ