วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553

อัศจรรย์อสัญวาร หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา

อัศจรรย์อสัญวาร หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา





อัศจรรย์อสัญวาร หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา


ชีวิตฉันอยู่อย่างธรรมดามาก มีเวลาว่างฉันก็ช่วยการกุศล ช่วยด้วยแรงและอยากช่วยจริงๆ มีรายได้ก็จากบ้านเช่า และทรัพย์สินเก่า บำเหน็จบำนาญจากเสด็จพระองค์อาทิตย์ฯก็ไม่มี เพราะท่านสิ้นตั้งแต่ยังหนุ่ม ฉันต้องขายบ้านเก่าที่รักมาก แต่ฉันก็พอใจ คนเราจะดิ้นรนไปทำไมกันหนักหนา ความสุขตอนนี้ นอกจากได้ทำบุญทำกุศลแล้ว ฉันกำลังรวบรวมเรื่องเก่าๆมาเขียน อย่างน้อยก็เป็นประสบการณ์ที่ฉันได้ผ่านมาถึง 5 รัชกาลแล้วนะ"



ถือเป็นการปิดฉาก ตำนานสุดท้ายของกุลสตรี 5 แผ่นดิน "หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา" นางพระกำนัล ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 และชายาสุดรักของ พลเรือโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ฯ ที่แม้จะจากโลกนี้ไปลับอย่างไม่มีวันกลับ ขณะมีอายุย่าง 101 ปี เมื่อค่ำวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา แต่ชีวิตมากสีสันดุจเทพนิยายของ "หม่อมกอบแก้ว" ยังคงได้รับการเล่าขานไปอีกนานแสนนาน โดย เฉพาะบทบาทในฐานะ "สาวสองพันปี" แห่งแวดวงสังคมไทย ที่ยังสาวเสมอ และสวยปิ๊งเสมอ เหนือกาลเวลา


สำหรับประวัติของหม่อมกอบแก้ว ชื่อและนามสกุลเดิมคือ กอบแก้ว วิเศษกุล เกิดเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2451 ถึงแก่อสัญกรรมวันที่ 19 พ.ค. 51 รวมสิริอายุได้ 101 ปี เป็นธิดาของพระยาสุรินทราชา สยามราชภักดี พิริยะพาหะ (นกยูง วิเศษกุล) และคุณหญิงเนื่อง สุรินทราชา มีพี่น้อง 4 คน หม่อมกอบแก้ว เป็นคนสุดท้อง สำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรระดับต้นและระดับสูงจากมหาวิทยาลัย เคมบริคจ์

ได้รับพระราชทานสมรสกับพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระโอรสพระองค์แรกในพระเจ้าบรมวงศ์ เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ที่ประสูติแด่พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อปี 2472 และเป็นม่าย เนื่องจากพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคมะเร็ง ปี 2489

หม่อมกอบแก้ว ในอดีตเคยเป็นนางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เป็นนายกสมาคมสตรีไทย เป็นประธานหารายได้ให้แก่สภากาชาดไทยอย่างต่อเนื่องมากกว่า 21 ปี ได้รับเชิญจากองค์การยูนิเซฟไปเป็นผู้บรรยายพิเศษ เรื่องยูนิเซฟในประเทศสหรัฐอเมริกา รวม 9 รัฐ ร่วมประชุมในการประชุมสภากาชาดสากลในประเทศอิหร่าน ออสเตรีย ตุรกี อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ปี 2499-2520 เป็นประธานมูลนิธิกองทุนการกุศลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ปี 2528-ปัจจุบัน

เป็นประธานมูลนิธิโรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นที่ปรึกษาสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานหาทุนมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เป็นประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพลโท,พลเรือโท,พลอากาศโทพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532-ปัจจุบัน



"หม่อมกอบ แก้ว" เคยเปิดใจให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือเกร็ดชีวิตส่วนตัว ถึงเคล็ดลับการดำเนินชีวิตอย่าง อมตะ ทำให้เป็น "สาวสองพันปี" มาได้จนถึงยุคปัจจุบันว่า เคล็ดลับสำคัญประการแรกคือ ต้องรู้กฎของธรรมชาติ โดย "หม่อมกอบแก้ว" อธิบายว่า ความแก่เป็นสัจธรรม เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีแก่, เจ็บไข้ได้ป่วย และในที่สุดก็ต้องตาย ไม่มีใครสามารถจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ ท่านจึงมีความเชื่อว่า คนเรานี้จะต้องเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลาด้วยกฎของธรรมชาติ แต่ขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็ให้ความเป็นธรรมแก่มนุษย์ ถ้าเราพยายามรักษาสุขภาพ รักษาร่างกายให้อยู่ในสภาพที่คงทนอยู่ได้ ธรรมชาติก็ช่วยให้ร่างกายของเราเสื่อมโทรมช้าลง

ส่วนเคล็ดลับประการที่สองได้แก่ ต้องมีงานอดิเรกและเล่นกีฬาเป็นประจำ งานอดิเรกและกีฬาที่ "หม่อมกอบแก้ว" นิยมเล่นมีหลายประเภท อาทิ ขี่ม้า, เทนนิส, ว่ายน้ำ และกอล์ฟ..."งานอดิเรกและกีฬาขี่ม้า เริ่มมาจากการที่เสด็จองค์อาทิตย์ฯโปรดขี่ม้ามาก ในวังมีม้าเลี้ยงไว้ถึง 13 ตัว พอวันหยุดหรือวันอาทิตย์ก็ขี่ม้าออกเที่ยวไปกับพวกฝรั่ง ที่เป็นสมาชิกโปโลคลับและพวกทหารม้า โดยปกติจะขี่ม้าไปเมืองนนท์ ขากลับก็ลงเรือที่ส่งไปคอย ทหารม้าที่ไปด้วยก็เอาม้ากลับกรุงเทพฯ ฉันขี่ม้าได้อย่างชำนาญจนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็นทหารม้ายศ พันโท ยังเคยคิดว่า ถ้าเมื่อใดมีการสวนสนามทหารม้า ตั้งใจว่าจะไปสวนสนามด้วยสักครั้ง ก็พอดีเสด็จองค์อาทิตย์ฯ ทรงลาออกจากราชการเสียก่อน"

อย่างไรก็ดี สำหรับ "หม่อมกอบแก้ว" แล้ว กีฬาที่ชอบมากที่สุดในชีวิตคือกีฬาสมัยใหม่ เช่นกอล์ฟ ..."ฉันได้เป็นแชมเปียนสตรี และเป็นประธานสโมสรกอล์ฟด้วย แต่ก่อนจะเล่นกอล์ฟ หลังอาหารกลางวันทุกวัน ถ้าไม่ได้เล่นจะรู้สึกหงุดหงิด ปกติจะเล่นกอล์ฟประจำที่สนามสปอร์ตคลับกับดุสิตคลับ ฉันตีได้ 200 สบายๆอย่างผู้ชาย แต่เดี๋ยวนี้เลิกแล้ว เพิ่งจะเลิกเล่นกอล์ฟเมื่อไม่นานนี้เอง เพราะตาต้องใส่เลนส์"

หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2551 เวลา 20.30 น.ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด รวมอายุ 101 ปี ซึ่งในวันนี้ (วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2551) เมื่อเวลา 16.00 น.ได้มีพิธีประทานน้ำหลวงอาบศพ ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม


ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมศพ หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 ณ ศาลาบัณณรศภาค วัดเบญจมบพิตร ดุสิตวนาราม

เนื่องจากหม่อมกอบแก้ว เป็นสตรีไทยที่รูปโฉมงดงาม และได้รับการยกย่องให้เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการ ปกครองปี 2475 อันเป็นสตรีที่มีความรู้และความทันสมัยในแบบของสาวตะวันตกที่แต่งตัวสวยเก๋ ออกงานสังคมเคียงบ่าเคียงไหล่พระสวามี แต่ก็เพียบพร้อมด้วยความเป็นกุลสตรีไทยที่งามสง่า จนกระทั่งได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้สวมมงกุฎและสายสะพายให้แก่นางสาวไทยทุกคน ในยุคก่อนๆ

นอกจากนี้ ท่านเป็นต้นแบบของสาวสังคมในยุคเมื่อ 60 ปีก่อน ที่ทำงานเพื่อสังคมโดยแท้ เพราะท่านมักจะออกงานสังคมสงเคราะห์หรืองานการกุศลต่างๆ เพื่อหาเงินช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคมอยู่เป็นประจำ จนกลายเป็นภาพคุ้นตาของคนทั่วไป

หม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต หลังป่วยเป็นโรคปอดอักเสบนอนรักษาตัวที่ รพ. จุฬาลงกรณ์มาตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.ปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 19 พ.ค. โดยเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ก็คือเป็นวันเดียวกับที่ครอบครัวของหม่อม กอบแก้วเสียชีวิตลงทั้ง 3 คน ตั้งแต่ พระยาสุรินทราชา สยามราชภักดี พิริยะพาหะ บิดาหม่อมกอบแก้ว พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สามีหม่อมกอบแก้ว พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ บิดาของสามีหม่อมกอบแก้ว



พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา

(ประสูติ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 - สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489) ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงเป็นพระโอรสพระองค์แรกใน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ประสูติแต่ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

เมื่อประสูติ ทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อพระมารดาทรงน้อยพระทัยพระบิดา และปลงชีพพระองค์เอง เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2451 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับพระองค์ไปเลี้ยงดู ทรงเอ็นดูเป็นพิเศษและโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา โดยพระองค์อาทิตย์ฯ อภิเษกสมรสกับ หม่อมกอบแก้ว นางพระกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2472


บิดาของหม่อมกอบแก้ว นายพลโทพระยาสุรินทราชา

เดิมชื่อ นายนกยูง วิเศษกุล เป็นต้นสกุล วิเศษกุล เกิดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านเป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนารถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ต่อมาท่านได้เข้ารับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับตำแหน่งเป็นหลวงอภิรักษ์ราชฤทธิ์ เมื่อพ.ศ. 2441 ทำหน้าที่สอนหนังสือในโรงเรียนมหาดเล็ก วิชา ภูมิศาสตร์สากล และสุขวิทยา และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนราชินีสอนวิชาภูมิศาสตร์ หลังจากนั้นได้เลื่อนยศเป็นพระวิสูตรเกษตรศิลป์ รับตำแหน่งเจ้ากรมเพาะปลูก กระทรวงเกษตราธิการ ในพ.ศ.2454 ซึ่งท่านได้ออกตรวจการทำไร่ยาสูบที่เกาะสุมาตรา และการทำสวนยาง สวนมะพร้าวและเหมืองแร่ ที่ปีนังและกัวลาลัมเปอร์ เป็นระยะเวลา 2 ปี

ในปี พ.ศ.2547 ท่านได้รับตำแหน่งพระยาอจิรการประสิทธิ์ ทำหน้าที่เป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากนั้นได้เลื่อนยศเป็นพระยาสุรินทราชา เมื่อ พ.ศ. 2463 ท่านทำหน้าที่สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ท่านได้พบหาดและตั้งชื่อว่า หาดสุรินทร์

ท่านมีผลงานสำคัญในขณะดำรงตำแหน่งพระยาสุรินทราชา คือ การแปลนวนิยายเป็นภาษาไทยเรื่องแรก โดยให้ชื่อว่า "ความพยาบาท" แปลจากเรื่อง Vendetta, or the Story of One Forgetten ของ มารี คอเรียลลิ ซึ่งเป็นผลให้เกิดการเขียนรูปแบบใหม่คือนวนิยายขึ้นในประเทศไทย นอกจากนี้ ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 สิริอายุได้ 62 ปี



พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

พระนามเดิม พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ทรงเป็นต้นราชสกุล "อาภากร" ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 28 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาโหมด ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้บัญชาการทหารเรือวังหลวง ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2423 ทรงเป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือ ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" หรือ "หมอพร" และ "พระบิดาแห่งกองทัพเรือไทย" ต่อมาในปี 2536 มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "พระบิดาของกองทัพเรือไทย" และในปี 2544 แก้ไขเป็น "องค์บิดาของทหารเรือไทย"

เมื่อพ.ศ. 2466 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เสด็จในกรมฯ ทรงดำรงตำแหน่ง เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ต่อจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งได้ไม่นานก็ได้กราบบังคมลาออกจากราชการ เพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ที่จังหวัดชุมพร ทรงถูกฝนประชวรเป็นพระโรคหวัดใหญ่ สิ้นพระชนม์ที่ ตำบลทรายรี ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 สิริพระชนมายุได้ 44 พรรษา โดยกองทัพเรือไทยถือเอาวันที่ 19 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"


ทรงอภิเษกสมรสกับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทิพยสัมพันธ์ พระธิดาจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ กรุณาพระราชทานน้ำสังข์ในพิธีอภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง มีพระโอรส 3 พระองค์ คือ

1.หม่อมเจ้าเกียรติ อาภากร ประสูติและถึงชีพิตักษัยในวันเดียวกัน ประมาณปี พ.ศ. 2446

2.พลโท พลเรือโท พลอากาศโท พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา (ประสูติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 สิ้นพระชนม์ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2489)

3.พลอากาศโท หม่อมเจ้ารังษิยากร อาภากร (ประสูติเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2449 ถึงชีพิตักษัย 30 ธันวาคม พ.ศ. 2508) (ประสูติแต่หม่อม)


ทั้งนี้จัดเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์อย่างที่ บุคคลสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยของไทยทั้ง 4 คน มิหนำซ้ำยังเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน ได้เสียชีวิตลงในวันและเดือน เดียวกัน







....นี่คืออีกหนึ่งแง่มุม ชีวิตอันงดงามและน่าจดจำของ "หม่อมกอบแก้ว" หญิงไทย 5 แผ่นดิน



ลิงค์ หัวข้อ: http://www.trytodream.com/topic/9973






1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ26 กรกฎาคม 2554 เวลา 16:22

    ยังจำงานวันเกิดของคุณยายกอบแก้วได้สมัยเด็กๆๆ ของกินเยอะมากก เรายังเด็กมากน่าจะไม่เกิน10ปี จำๆได้ว่าวิ่งเล่นกับญาติๆๆตลอดทั้งงานเลย

    ตอบลบ

อารายเหรอ