วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

หยุดโลกร้อน ด้วยเยื่อ...ใย “อีโคไฟเบอร์” กระดาษผู้ช่วยโลก

หยุดโลกร้อน ด้วยเยื่อ...ใย “อีโคไฟเบอร์” กระดาษผู้ช่วยโลก

อย่าง ที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว ว่าตลอดทั้งปีที่ผ่านมาคนไทย และคนทั่วโลกต่าง ร่วมมือร่วมใจกันป้องกัน และหาวิธีลดปัญหาโลกร้อน กันมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นปี ในการเยียวยาโลกใบนี้ก่อนที่จะสายเกินไป
และสิ้นปีนี้ เราก็มีอีกหนึ่งวิธีในการสร้างเยื่อ..ใย เป็นเกราะป้องกันโลกใบนี้ จากความร้อน
ด้วยเยื่อ...ใย “อีโคไฟเบอร์” (eco-fiber) กระดาษผู้ช่วยโลก "ลดโลกร้อน"

สำหรับใครหลายๆ คน อาจมองว่าการใช้ “กระดาษ” เป็นตัวสร้างมลพิษ และทำลายป่า
เพราะกระดาษผลิตจากต้นไม้ ไหนจะต้องใช้พลังงานมหาศาลในการย่อย และบดต้นไม้ ใช้ความร้อนในการต้ม ใช้สารเคมี และอื่นๆ อีกมากมาย กว่าจะมาเป็นกระดาษขาวสะอาดให้เราใช้ ยิ่งพวกปฏิทิน หนังสือรายงานประจำปี และเอกสารบาง อย่างที่มีอายุใช้งานเพียงปีเดียว ทำให้เกิดคำถามว่า
เราใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่า หรือยัง และหนึ่งในความพยายามที่จะช่วยหยุดโลกร้อนคือ “อีโคไฟเบอร์”
นวัตกรรมล่าสุดในการผลิตกระดาษที่ช่วยลดโลกร้อน และมลพิษ

“อีโคไฟเบอร์” เยื่อ...ใย เพื่อสิ่งแวดล้อม (eco-fiber) ทำได้จากวัตถุดิบได้หลายชนิด ทั้งจากกระดาษใช้แล้ว ที่เรามักขายทิ้งให้รถซาเล้งนำมาต้มทำเยื่อใหม่เรียกว่า recycled fiber และจากผลผลิตทางการเกษตรซึ่งประเทศไทยมีอยู่มาก เช่น กากอ้อยจากอุตสาหกรรมน้ำตาล ฟางข้าว มันสำปะหลัง
ที่นำมาผ่านกระบวนการทำความสะอาด และผลิตเป็นเยื่อเรียกว่า Agro Waste fiber

เมื่อนำเยื่อทั้งสองชนิดนี้มาผสมกัน และนำไปผ่านกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงก็จะได้
อีโคไฟเบอร์ (eco-fiber) ที่สะอาด มีคุณภาพ

การผลิตอีโคไฟเบอร์ ต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง เนื่องจากวัสดุใช้แล้ว และวัสดุทางการเกษตร
ย่อมมีการปนเปื้อน ทั้งหมึกพิมพ์หรือเขียน ฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ต้องมีการกำจัดสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกให้หมด เพื่อให้อีโคไฟเบอร์ที่ได้มีความขาวสะอาดไม่ต่างจากเยื่อใหม่ ไม่เหมือนกระดาษ
รีไซเคิลยุคแรกที่มักเป็นกระดาษสีน้ำตาล ยุ่ย ๆ เนื้อไม่เรียบเนียน พิมพ์แล้วซึมเลอะอีกต่อไป

นอกจากนี้จะต้องใช้เทคโน โลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพเยื่อให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อีโคไฟเบอร์
มีความเหนียว คงทน สามารถดูดซับหมึกพิมพ์ได้ดี ไม่เลอะ และมีคุณภาพตามต้องการ

การผลิตเยื่อกระดาษใหม่จากวัสดุเหลือทิ้ง หรือใช้แล้วนั้น เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพทางหนึ่ง และให้ประโยชน์ต่อโลกใน หลาย ๆ ด้าน ถ้านับให้ดี เราจะเห็นประโยชน์ คือ การนำกระดาษใช้แล้วมารีไซเคิล ช่วยลดปริมาณขยะ และ มลพิษ เคยมีการศึกษาว่า กระดาษที่เราทิ้งในสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องอาศัยเวลา 2-5 เดือนจึงจะย่อยสลายได้ แต่เมื่อเรานำมาทำเยื่อรีไซเคิล ปริมาณกระดาษหรือขยะที่ถูกปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติ หรือถูกเผาก็จะลดน้อยลง ขณะเดียวกันเศษจากผลผลิตทางการเกษตร เมื่อนำมาใช้ผลิตอีโคไฟเบอร์ ก็ช่วยลดขยะได้มากเช่นกัน

สิ่งสำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อมคือ คือ ช่วยรักษาต้นไม้ เพราะเยื่อกระดาษอีโคไฟเบอร์ 1 ตัน ช่วยเรารักษาต้นไม้ได้ถึง 5 ตัน แม้จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกขึ้นเพื่อทำกระดาษโดยเฉพาะ ไม่ใช่ต้นไม้จากป่าที่เป็นต้นน้ำก็ตาม ต้นไม้ที่ถูกรักษาไว้นี้จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซที่ ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ขณะเดียวกัน ต้นไม้ก็เพิ่มออกซิเจน รักษาความชื้น ความสมดุลและระบบนิเวศตามธรรมชาติได้อีกด้วย

นอกจากนี้ การผลิตกระดาษจากเยื่อรีไซเคิล เราสามารถลดพลังงาน และทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตได้มาก ทั้งกระแสไฟฟ้าซึ่งจะลดลงได้ประมาณ 1,000 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง ขณะที่การทำเยื่อใหม่ใช้ไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 4,100 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง

เนื่องจากขั้นตอนในการผลิตจะลดลงเพียงนำกระดาษรีไซเคิลมาต้มด้วยความร้อนที่ ไม่ต้องสูง
หรือไม่ต้องต้มนานเหมือนตอนต้มต้นไม้ใหม่ เราจึงสามารถลดปริมาณน้ำมันเตา ลดการใช้น้ำ
ลดปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารฟอกสี ทั้งยังช่วยลดการนำเข้ากระดาษ
จากต่างประเทศ ลดขยะกระดาษ และลดค่ากำจัดขยะได้อีกมาก

แน่นอนว่า การผลิตอีโคไฟเบอร์ ย่อมต้องมีต้นทุนที่สูงกว่าการผลิตกระดาษปกติ เนื่องจากเทคโนโลยีที่ใช้มีความก้าวหน้ากว่า แต่นั่นก็เป็นแค่ต้นทุนในแง่ของตัวเลข หากเราจะพิจารณาต้นทุนในเชิงสังคม
สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบ จะพบว่าคุ้มค่ากว่าในระยะยาว

เชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจกระดาษ เครือซีเมนต์ไทย (เอสซีจี เปเปอร์) บริษัทผู้ผลิตกระดาษรายใหญ่ และเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตกระดาษจากเยื่ออีโคไฟเบอร์กล่าวว่า “อยากให้คนหันมาใช้กระดาษรีไซเคิลเยอะ ๆ และไม่ได้มองเพียงว่านี่คือสินค้าประเภท “กรีน” อย่างหนึ่ง แต่เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนมุมมองโดยคำนึงถึง Green Process มากขึ้น คือต้องพิจารณาว่า กระดาษรีไซเคิลที่พวกเขาเลือกซื้อมาจากไหน ในแต่ละขั้นตอนการผลิต กระดาษรีไซเคิลทำประโยชน์ให้กับส่วนไหนของสังคม
สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของไทยบ้าง”

เพียงแค่นี้ เราทุกคนก็มีส่วนร่วมในการชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนลงได้ และถ้าทุกคนตระหนักว่าทุกการกระทำของเราล้วนมีผลต่อสิ่งแวดล้อม หันมาเริ่มต้นเปลี่ยนพฤติกรรมจากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การใช้หรือทิ้งกระดาษด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โลกของเราก็จะยังคงน่าอยู่ต่อไปได้อีก.

แหล่งที่มา:
http://www.dailynews.co.th/web/html/popup_news/Default.aspx?Newsid=185792&NewsType=1&Template=1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ