วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

นิทรรรศการ 'ภาพ(ตก)ข่าว'

นิทรรรศการ 'ภาพ(ตก)ข่าว'
โดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

เมื่อช่างภาพสมัครเล่นจากปลายขวาน บันทึกภาพอย่างเอาจริงเอาจัง ด้วยเชื่อว่าภาพไม่มืออาชีพเหล่านี้ เล่าเรื่องจริงที่สื่อกระแสหลักกวาดทิ้งลงถัง


เด็กๆ สนุกสนานกับการแสดง บางคนติดหนวด
-------------------------------------

โปรดลบภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เคยเห็น ได้ยิน ออกไปให้หมด แล้วปล่อยสมองให้โล่ง พบกับความจริง เบื้องหลังชีวิต ที่ไม่ดราม่า ไม่โศกเศร้า พวกเขาไม่ต้องการความสงสาร หรือคาราวานน้ำใจใดๆ ทั้งนั้น

แค่ลบความคิดเก่าๆ ออกไป ส่วนเรื่องราวใหม่ๆ พวกเขาจะเล่าให้ฟังเอง



ก๊ะนะ ช่างภาพไฟแรงวัย52จากตากใบ
-------------------------------------


ช่างภาพจากตากใบ

ใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลาของ "ก๊ะนะ" หรือ แยนะ สะแลแม สุภาพสตรีร่างท้วม ผู้เป็นแม่ของลูกทั้ง 8 ภูมิใจกับผลงานหลายใบที่ได้มาร่วมแสดงในงานนิทรรศการภาพถ่าย "เบื้องหลังชีวิต" ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนที่ผ่านมา


ที่นราธิวาส คุณแม่วัย 52 คนนี้ เป็นที่รักและรู้จักไปทั่วหมู่บ้าน ในฐานะ "ช่างภาพ"


เปล่า...เธอไม่ใช่ช่างภาพมืออาชีพ มือรางวัล หรือ รักการถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ หากแต่พกกล้องติดตัวไว้ตลอด เธอแค่ต้องการถ่ายรูปที่เธอเห็น แต่คนอื่นไม่เห็น และเธอต้องการให้เห็น

ไม่ใช่ภาพลึกลับซับซ้อนอะไร มิหนำซ้ำกลับเป็นภาพธรรมดาๆ อย่าง เด็กๆ มีความสุขกับการแสดงปีใหม่ในตาดีกา (โรงเรียนสอนศาสนาสำหรับเด็กเล็ก) หรือ ภาพหญิงมุสลิมกำลังดำนา ...ถ้าให้ส่งเข้าประกวดก็คงตกรอบแรก


ก๊ะนะไม่สนใจรางวี่รางวัลอะไร เรื่องราวของภาพต่างหากที่เธอโฟกัสมันเต็มที่


"ทุกปีใหม่อิสลามของเราก็จัดงาน กลางวันเล่นกีฬา กลางคืนมีการแสดง ให้เด็กเค้าได้สนุกสนาน ก๊ะนะอยากบอกว่า บางคนที่ได้รับผลกระทบ เขาก็ไม่ได้โศกเศร้าทุกคน หลายคนกล้าแสดงออก ช่างเล่านิทาน ชอบเล่นกีฬ่า รายที่ชอบการแสดง เขาก็แต่งตัว ติดหนวดของเขาเองนะ ไม่มีใครบังคับ เขาอยากเล่นเป็นคนแก่ ออกมาคนดูก็ขำ เขาเองก็หัวเราะ มีความสุขกัน" ช่างภาพไฟแรงให้คำบรรยายใต้ภาพ

นอกจากความสนุกสนาน หลังงานรื่นเริง กะน๊ะและคุณครูตาดีกา จัดให้มีพิธี "แงแป๊ะ" แปลเป็นภาษาไทยว่า บ่น และคนที่จะบ่นคือ เด็ก

"เรากับคุณครูจะดูว่าในชุมชนมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วเอามาเขียนบทให้เด็กๆ ช่วยบ่น เช่น เรื่อง วันๆ เอาแต่เล่นนก (นกกรงหัวจุก,นกเขา) หรือ ผู้ชายชอบอยู่ร้านน้ำชาจนดึกดื่น ไม่ยอมกลับบ้าน ส่วนวัยรุ่นหญิงชายก็ชอบเล่นโทรศัพท์ดึกๆ ดื่นๆ บนถนน ฯลฯ"


ได้ผล คนฟังหัวเราะกับท่าทางไร้เดียงสากับเนื้อหาซีเรียส หลังจากนั้นคือการเอากลับไปคิดและลดละพฤติกรรมเหล่านั้น เพราะอายที่ต้องให้เด็กมาบ่น

ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ก๊ะนะเป็นเพียงแม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ จะมีงานใช้แรงบ้างก็คือ ทำนา

แถวอำเภอตากใบที่เธออยู่ เพื่อนบ้านรอบข้างต่างปลูกข้าวกินกันทั้งนั้น ไม่เน้นค้าขาย เพราะขายไปก็ไม่ได้ราคา

"บางบ้านสมาชิกเยอะก็ต้องปลูกข้าวกินเอง ซื้อเขากินไม่ไหว" เหตุผลมากกว่านั้นคือข้าวพันธุ์ที่คนตากใบปลูก เม็ดค่อนข้างแข็ง ไม่มีกลิ่น ชื่อพันธุ์อะไร ก๊ะนะจำไม่ได้

"ข้าวที่นี่เขาเรียกชื่อตามคนที่แบ่งให้" ก๊ะนะบอกยิ้มๆ และว่า คนแถวสามจังหวัดปลูกข้าวกินกันเองมานานแล้ว แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ เลยถ่ายรูปมาร่วมโชว์ในนิทรรศการเสียเลย

ทุกคำที่เล่า แม่บ้านจากตากใบมีรอยยิ้มสลับเสียงหัวเราะตลอด ทั้งๆ ที่เพิ่งตกพุ่มหม้ายมาได้ 3 ปี เพราะสามีจากไปในเหตุการณ์ความไม่สงบ ตอนนั้น ก๊ะนะเพิ่งจะทดลองจับกล้อง เพื่อนบ้านเริ่มรู้ว่าก๊ะนะจะตามเก็บภาพคนที่ได้รับผลกระทบในแง่มุมต่างๆ แต่สุดท้ายก็ต้องมาหยุดงานกลางคัน


ถามเธอว่า "ตอนนั้น มีกำลังใจถ่ายรูปไหม" คนตอบยิ้มเช่นเคย พร้อมเล่าต่อว่าตอน "อาแบ" หรือสามีเสียใหม่ๆ เธออยู่บ้านตลอด 40 วันไม่ออกไปไหนตามหลักศาสนาอิสลาม

ส่วนความรู้สึกข้างในนั้น...

"ก๊ะนะอดทน ไม่เคยร้องไห้เลย ไม่เสียใจ คิดว่าดีแล้วที่เขาไป ถึงเวลาของเขา ถ้าคิดแล้วเราจะไปทำอะไรได้ ทุกคนที่ถาม ก๊ะนะก็ตอบว่า อย่าไปคิดว่าเขาถูกยิง แต่อัลลอฮ์ประทานให้เป็นอย่างนี้ คิดอย่างนี้เราก็สบายใจ การจากไปของอาแบ ทำให้เราได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น" ทุกวันนี้ก๊ะนะไม่เพียงถ่ายรูป แต่ยังทำงานเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในนาม "กลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย"



บัด - บัดดรียะห์ ณ รือเสาะ สาว มอ. ตาคม
----------------------------------



ภาพที่ไม่เป็นข่าว

นักศึกษาหนุ่มสาวจากรั้วมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อย่าง บัง-สุไลมาน บือราเฮง และ บัด-บัดดรียะห์ ณ รือเสาะ ก็ร่วมกดชัตเตอร์ ส่งภาพถ่ายมาแปะไว้ในนิทรรศการด้วย


เริ่มต้นที่สุภาพสตรี บัด-บัดดรียะห์ ส่งภาพผู้หญิงมุสลิมรวมกลุ่มทำอาชีพเสริม เช่น ปักผ้า เย็บผ้า หลังจากเสร็จงานกรีดยางในช่วงเช้า


ในฐานะลูกสาวที่ต้องสูญเสียพ่อซึ่งเป็นครูสอนศาสนาไปเมื่อ 2 ปีก่อน บัดต้องการบอกว่า ผู้หญิงต้องมาเป็นเสาหลักของบ้าน เพราะผู้ชายหายไปด้วยหลายเหตุ ทั้งจากตายและจากเป็น

"บางคนต้องเซฟตัวเอง หนีไปทำงานที่มาเลย์ ผู้หญิงต้องขึ้นมาทำหน้าที่แทนทุกอย่าง ต้องเข้มแข็ง และเรายังอยู่ได้ เพราะได้กำลังใจจากเพื่อน อาจารย์ คนรอบข้าง" สาวนัยน์ตาคม บอกเล่า


ส่วนชายหนุ่มรุ่นน้องอย่าง "บัง" มาพร้อมภาพ "ชายชรากับสามล้อ - จะถีบสามล้อต่อไปจนกว่าจะสิ้นแรง"

บังบรรยายใต้ภาพให้ฟังว่า เป็นคุณตาที่เพิ่งกลับจากละหมาดตอนเช้า แกจะไปไหนหรือทำอะไร เป็นต้องใช้สามล้อคู่ใจเสมอ ซึ่งพาหนะชนิดนี้ แทบไม่เหลือแล้วในปลายขวาน 2010

"ผมต้องการนำเสนอเรื่องวัฒนธรรม วิถีคนไทยมุสลิมในสามจังหวัด ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็น ชัดเจนแต่ภาพความรุนแรง ยิงกัน หรืออย่างความเป็นอยู่ รู้หรือไม่ว่า คนบ้านผม แต่ละหลังทำกับข้าวแค่วันละมื้อเดียว แต่ทำให้เยอะๆ พอถึงเวลากินข้าวก็แบ่งกัน มี 5 หลังก็ได้แค่ 5 อย่างแล้ว มันอาจจะเหมือนกับบางพื้นที่ แต่เราอยากจะบอกว่าเราก็เป็นอย่างนี้ เป็นสิ่งดีที่ๆ ผมอยากเสนอ ติดแค่ว่าเราเป็นคนตัวเล็ก" ชายหนุ่มพูดอย่างมีอารมณ์

แม้จะเป็นเพียงกระบอกเสียงเล็กๆ แต่เขาก็ตั้งความหวัง และอย่างน้อยมันเริ่มมีแววบ้างแล้ว ในสถาบันอุดมศึกษาของเขาที่ตอนนี้จำนวน "น้องใหม่" เพิ่มเข้ามามากขึ้นจนน่าดีใจ ส่วนใหญ่มาจากภาคใต้ตอนบน

"รุ่นน้องหลากหลายมากขึ้นครับ" บังพูดในฐานะพี่ปี4 บ่อยครั้งเขารับน้องด้วยการพูดความจริงผสมกับการทำความเข้าใจในสังคม "พหุวัฒนธรรม" ที่เขาใช้แทนคำว่าแตกต่าง


ที่สามจังหวัดทำนา กินกันเอง
-----------------------------



ปัตตานี ที่นี่ยังมีความสุข


เป็นไทยพุทธเพียงคนเดียวในวงสนทนาแต่ อีฟ-สุรีรัตน์ โสภิณ สาวโคกโพธิ์ ปัตตานี ก็ร่วมส่งภาพถ่ายพร้อมคำบรรยายชนิดที่คนถ่ายทอดแทบไม่อยากตัดออกสักประโยค


"พฤษภา 49 พ่อโดนไปสองนัด (ยิ้ม)" ท่อนแรกของเธอ


พ่ออีฟเป็นช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ประจำหมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อีฟบอกว่า คละกันระหว่างไทยพุทธและไทยมุสลิม อยู่แบบแบ่งกับข้าวกินกัน แต่พอเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ ขึ้นมา...

"แรกๆ เราก็ระแวงนะ แต่ด้วยความที่เราเกิดและโตมา เรารู้ข่าว เรารู้ว่าใครเป็นใคร เราพอแบ่งแยกได้ว่าอะไรเป็นอะไร อาจจะมีตะหงิดๆ บ้างนิดหน่อย แต่ไม่เป็นไร ยังพอคุยกันได้ พอเคลียร์กันได้อยู่ ยังเข้าใจกัน"

อีฟจากโคกโพธิ์มาเรียนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้หลายปีแล้ว แต่พอเกิด "ข่าวร้าย" ในชุมชนทีไร เธอจะไม่ตั้งคำถามว่าทำไม เพราะภูมิหลังแน่นและเข้มแข็งพอ

"ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ต่างก็สอนเรื่องทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว พื้นฐานเราคล้ายกัน เข้าใจว่าคนที่มาทำร้ายเขาเป็นคนไม่ดี เป็นเรื่องส่วนบุคคล เรื่องของเขา แต่คนอื่นยังดีกับเราอยู่นี่ ฉะนั้นคนที่เข้ามาไม่ดี ไม่ใช่คนบ้านเรา"

สาว ม.ราม ส่งภาพงานปีใหม่ในหมู่บ้านเข้าร่วมประกวด ทั้งกีฬา รำรองเง็ง ลิเกฮูลู

"ภูมิใจนำเสนอมาก" เธอลากเสียงยาว "ปกติข่าวจะต้องแรงเพื่อขายข่าวใชไหม แต่เขาไม่ได้นำเสนอจุดที่สวยที่สุดของเรา จุดที่น่าจะขายได้ของเราเขาไม่นำเสนอ"

โดยเฉพาะภาพแข่งกีฬาที่เจ้าตัวสุดแสนจะภูมิใจ อีฟแค่ต้องการจะบอกว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งรวมถึงเธอด้วย ก็ยังมีความสุข

"เราก็เฮ เราก็ฮา เราก็ยังสนุกนะ เราไม่ได้นั่งร้องไห้ เราไม่ได้ทนไม่ได้หรือทนไม่ไหว แต่เรายังใช้ชีวิตต่อไป เรายังเข้มแข็ง ต่อให้ระเบิดมาวางอยู่ข้างๆ เราก็ยังเฮฮาอยู่ (ยิ้ม) โอเค แรกๆ เราอาจเสียใจ ร้องไห้ แต่พอเวลาผ่านไป ใครจะมานั่งร้องไห้อยู่ได้ เราโตแล้ว ยังมีอีกหลายคนที่เราต้องดูแล"


มัง ชายหนุ่มคนเดียวในวง เสริมขึ้นมาว่า เราอาจจะเศร้าแต่เรายังมองเห็นทางเดินซึ่งไม่ใช่ทางตัน


"ต่อให้ไม่ใช่โคกโพธิ์ ที่อื่นอีฟก็เชื่อว่าเป็นอย่างนี้ เขาอยู่กันมาอย่างนี้ตั้งแต่ไหนแต่ไร อาจมีบ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่สั่นเราได้ แต่คนมันอยู่ใกล้กัน ก็แค่ เฮ้ย ไม่ต้องห่วงนะ ดีๆ กันไว้ ไม่เป็นไรนะ คำพูดพวกนี้ที่ทำให้พวกเราพวกเขาอยู่กันมาได้" ลูกโคกโพธิ์ ยืนยัน


ทหารกับชาวบ้าน ในวันธรรมดา

..............................................................................




ถึงตอนนี้ นิทรรศการเบื้องหลังชีวิตปิดไปแล้ว ภาพถ่ายพร้อมใจความของเขาและเธอ เปลี่ยนแปลงหรือทำลายกำแพงในใจของคนไทยด้วยกันได้หรือไม่

บางที ..."น้ำใจ" ไม่ต้องแสดงผ่านการให้อย่างเดียวก็ได้

..............................................................................................

(หมายเหตุ : ขอบคุณข้อมูลและภาพถ่ายจากนิทรรศการ "เบื้องหลังชีวิต" โดยมูลนิธิ Friedrich Ebert , กลุ่มเพื่อนครอบครัวผู้สูญเสีย , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มูลนิธิเพื่อนหญิง)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ