วันอังคารที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ตำนานวงดนตรีของไทย "มีใครรู้จักบ้าง"

พิ้งค์แพนเตอร์



สมาชิก: วิชัย ปุญญะยันต์ (6 ส.ค. 2493)/โสรยา สิรินันท์ (19 ก.ค. 2500)/
ณรงค์ อับดุลราฮิม/อดุลย์ วงษ์แก้ว/กรองทอง ทัศนพันธ์/ปนิตา ทัศนพันธ์/
ประมาณ บุษกร/ประจวบ สินเทศ/มนู ทองดีมีชัย/เจน เฉลยกาย/ธนะศักดิ์ ไวอาสา


ย้อนหลังไปสัก 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ในยุคนั้นมีวงดนตรีหรือนักร้องเดี่ยวเกิดขึ้นมากมายราว
กับ ดอกเห็ด ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับยุคนี้มากมายนักจะแตกต่างกันเพียงแค่แนวดนตรี

ท่ามกลางการเกิดขึ้นของวงดนตรีชั้นนำมากมายในขณะนั้น มีวงดนตรีวงหนึ่งซึ่ง
ใช้ลีลาการ ประสานเสียงร้อง และการประสานเสียง
เครื่องดนตรีอันอ่อนหวาน นุ่มละมุน ค่อยๆ ดังแทรกแหวก

วงการเพลงออกมาอย่างสง่าผ่าเผย
“ รักที่แสนหวาน รักที่แสนหวาน รักฉันนั้นเพื่อเธอ”
คงไม่มีใครในยุคนั้นจะไม่รู้จักเพลงๆนี้
ซึ่งวงนั้นก็คือ “วง พิงค์แพนเตอร์”
เจ้าของฉายา “เสือสีชมพู” แห่งวงการเพลงนั่นเอง

พิ้งค์แพนเตอร์ ออกผลงานชุด สายชล ในปี 2525
แต่เพลงที่เข้าวินคือ "รักฉันนั้นเพื่อเธอ"
แต่งโดย ชรัส เฟื่องอารมย์ นำทำนองมาจากเพลงญี่ปุ่น
ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อชุดในภายหลัง เมื่อพิมพ์ปกใหม่
จัดได้ว่าเป็นงานม้ามืดที่ทาง EMI ต้นสังกัดคาดไม่ถึงว่าจะทำยอดขาย
ได้เกินหกหลัก

วิชัย ปุญญะยันต์ (ต๋อย) อดีตสมาชิกวงซิลเวอร์แซนด์ตัวเต็งคว้าแชมป์สตริงคอมโบชิงถ้วย
พระราชทานในปีแรก (2512) แต่พลาดให้ดิอิมไปอย่างเฉียดฉิว ตอนนั้นซิลเวอร์แซนด์เล่นออก
แจ๊ซ แต่ดิอิมเน้นการร้องเสียงประสานทำให้ชนะใจกรรมการไปหวุดหวิด แต่วิชัยได้รางวัล
ตำแหน่งกีต้าร์คอร์ดยอดเยี่ยมจากการแข่งขันครั้งนี้ และได้รับพระราชทานรางวัลจากพระหัตถ์ในหลวง

เมื่อซิลเวอร์แซนด์ยุบวงวิชัยก็ทำงานอยู่ในวงการด้วยการรับเรียบเรียงเสียงประสาน
ร้องไกด์ ในห้องอัด ทำงานดนตรีให้กับ Wee Gee, วินัย พันธุรักษ์, อรวรรณ วิเศษพงศ์,
ธีระศักดิ์ อัจจิมานนท์, จันทนีย์ อุนากูล, สุชาติ ชวางกูร และ ชาตรี (ชุดภาษาเงิน) เป็นต้น

ในช่วงเวลานั้นก็ได้ฟอร์มวงพิ้งค์แพนเตอร์ขึ้นมาเล่นแบ็คอัพและเล่นในห้องอัดไปด้วย
ภายหลัง EMI มองว่าพิ้งค์น่าจะทำผลงานของวงออกมาจึงเป็นที่มาของงานชุดแรก
ดนตรีของพิ้งค์มักจะใช้เสียงออร์เคสตร้าเข้าเสริมบทเพลงทำใ
ห้เป็นกลายเอกลักษณ์ของวง การแสดงสดจึงต้องใช้กลุ่มเครื่องสายเข้ามาเสริมหลายชิ้น
ทำให้การแสดงสดของวงน่าติดตามยิ่งนัก

ไกลเกินฝัน ออกตามในปีต่อมาโดยได้ โสรยา สิรินันท์ (ป้อม) เข้ามาเป็นนักร้องเสริม
เธอได้ฝากผลงานเพลงที่ไพเราะฟังได้มาจนถึงทุกวันนี้คือ "รอยเท้าบนผืนทราย" งานของพิ้งค์
ขณะที่ออกในสังกัด EMI เป็นงานน่าฟังทุกชุด และเป็นช่วงที่ทางวงโด่งดังมากที่สุด

ภายหลังทางวงมาสังกัดกับมิวสิคไลน์และนิธิทัศน์ ต่อมาวิชัยได้ดูแลงานผลิตให้กับ
ซีรีส์สุนทราภรณ์ ของแกรมมี่โกลด์


จุดเด่นของวงนี้ คงจะเป็นเรื่องของการแสดงดนตรีของทั้งวง
ทุกครั้งจะเห็นความพร้อมเพรียงของนักดนตรี การให้เกียรติแก่ผู้ชม
ผู้ฟังและเหล่าแฟนเพลง กล่าวคือ การแต่งกายจะแต่งชุดสูท
หรือชุดสากลเหมือนกันทั้งวง อาจแตกต่างในเรื่องของสีสันบ้างเท่านั้น

เราจะไม่มีทางได้เห็น การแต่งกายแบบขอไปทีหรือขอเป็นอาชีพ เสื้อขาด
กางเกงแหก รองเท้าแยกเขี้ยว เหมือนในสมัยนี้ ที่บางทีนึกว่า

นักดนตรี เพิ่งเดินลงมาจากที่นอนแล้วก็มาร้องมาเล่นดนตรีให้เราฟังกัน
ไม่ว่าจะแสดงคอนเสิร์ต เล็กใหญ่ ถ่ายทอดออกโทรทัศน์หรือแค่งาน
การกุศลเล็กๆ รับเชิญร่วม แสดงในคอนเสิร์ตกับวงอื่นๆนักร้องอื่นๆ
อีกมากมาย ทำให้บางครั้ง อาจได้เล่นเพียงเพลงเดียวหรือสองเพลงเท่านั้น
แต่ เราจะได้เห็นได้พบกับการแสดง การเตรียมพร้อมที่เต็มร้อยทุกครั้ง

บ่อยครั้งเราจะพบว่า มีการนำวงออเคสตร้ามาร่วมบรรเลงประสานไปด้วย
ในผลงานหลายๆชิ้นที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าความสามารถในการเรียบเรียงเสียง ประสาน
ของคุณวิชัย นั้นเยี่ยมจริงๆ เพลงทุกเพลงที่ถ่ายทอดออกมา
จึงทั้งหวาน ทั้งนุ่ม ฟังสบาย เสียเหลือเกิน อีกทั้งสิ่งหนึ่งที่ประทับใจ
แม้บางคนอาจมองว่าเป็นแค่เรื่องเล็กน้อย

แต่กับบางคน เป็นเรื่องปลาบปลื้มเหลือเกินก็คือไม่ว่าทางวงจะนำผลงานการแต่งเพลง
หรือแต่งทำนองของผู้แต่งท่านใดไปแสดง จะมีการกล่าวประกาศให้ผู้ชมผู้ฟังทราบด้วยเสมอ
สิ่งนี้ถือเป็นการให้เกียรติแก่เจ้าของ ผลงานการประพันธ์เหล่า





ดิ อิมพอสสิเบิ้ล



ถอยเวลาย้อนไปในอดีตเมื่อ 44 ปี ที่ผ่านมา
วงการเพลงไทยในยุคนั้นถูกแบ่งส่วนกันครอบครอง
โดยศิลปิน 3 แนวทาง กลุ่มเพลงไทยสากลที่มี สุเทพ วงษ์กำแหง,
ชรินทร์ นันทนาคร, นริศ อารีย์, สวลี ผกาพันธุ์ ฯลฯ เป็นดาวเด่น
กลุ่มเพลงไทยสากลบิ๊กแบนด์ที่มี สุนทราภรณ์ เป็นหัวหอก และ กลุ่มของศิลปินเพลงลูกทุ่ง

กระแสดนตรีใหม่เริ่มซึมแทรกเข้ามาในวงจำกัด นั่นคือดนตรี ร็อคแอนด์โรลล์ ที่ทำให้คนหนุ่ม
จับกีตาร์ไฟฟ้าและวางท่าเลียนแบบ เอลวิส เพรสลี่ย์ และ คลิฟฟ์ ริชาร์ด เด็กหนุ่มในเมืองใหญ่เริ่ม
จับกลุ่มกันตั้งวงดนตรี แต่ที่มีชื่อยอมรับกันว่าเป็นผู้บุกเบิกเต็มรูปคือ หลุยส์กีตาร์ บลูส์ ภายใต้
การจัดการของ หลุยส์ ธุระวณิชย์

การจัดประกวดดนตรีที่เรียกกันแบบไทย ๆ ว่า 'วงชาโดว์'
(เรียกตามชื่อวงแบ็คอัพของ คลิฟฟ์ ริชาร์ด) และ
ซิลเวอร์แซนด์ คว้าถ้วยรางวัลไปครอบครองในปี 2506 ทำให้กระแสดนตรีสมัยใหม่
แพร่ลามออกไปไกลขึ้น แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางหลัก ๆ ที่อยู่ในแวดวงดนตรีไทยได้
จนกระทั่งการมาถึงของ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล และเพลงไทยในลักษณ์ใหม่ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นมา

เส้นทางของนักดนตรีไม่ว่ายุคสมัยใดมักมีการ รวม แยก รวม เป็นปกติวิสัย พ.ศ. 2509
วินัย พันธุรักษ์ นักดนตรีหนุ่มจากวง พี.เอ็ม. พ็อคเก็ท มิวสิค ได้รวบรวมวงดนตรีเพื่อเล่นประจำ
ใน บาร์ฮอลิเดย์การ์เดน ถนนเพชรบุรี ประกอบด้วย พิชัย ทองเนียม (เบส),
อนุสรณ์ พัฒนกุล (กลอง), สุเมธ แมนสรวง (ออร์แกน) และตัวเขาเองเล่นกีตาร์ ในนามวงว่า Holiday J-3

พวกเขาต้องการใครอีกคนที่สามารถเป็นผู้นำวงและยืนอยู่ข้างหน้าให้ความบันเทิงกับผู้ฟังได้ดี
และ เศรษฐา ศิระฉายา คือใครคนนั้นที่พวกเขาต้องการ


เศรษฐา ศิระฉายา เป็นมือกีตาร์และนักร้องที่มีประสบการณ์โชกโชน
เขาเคยตระเวนเล่นจากอุบลราชธานีถึงหาดใหญ่ เคยเล่นในวงดนตรีลูกทุ่ง
และก็เคยร่วมวงกับคิงสตาร์ของ
จีระศักดิ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

เมื่อเศรษฐาเข้ามาร่วม พวกเขาก็ซ้อมกันอย่างหนักเพื่อพัฒนาฝีมือของตน
บ่อยครั้งที่เล่นงานประจำเสร็จ พวกเขาก็ซ้อมกันต่อตั้งแต่ตี 1 ถึง ตี 5
ไม่เพียงแต่คุณภาพของวงถูกปรับเปลี่ยนให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น พวกเขายังเปลี่ยนชื่อวงเป็น
Joint Reaction และในที่สุดเป็น ดิ อิมพอสสิเบิ้ล โดยเศรษฐา
เป็นผู้คิดขึ้นมา เป็นชื่อที่เอามาจากหนังการ์ตูนยอดนิยมเรื่องหนึ่งทางโทรทัศน์ในยุคนั้น

ทุกคนเห็นพ้องต้องกันกับชื่อใหม่ เพราะอย่างน้อยที่สุด
ก็เป็นชื่อที่เรียกง่ายกว่า Holiday J-3 หรือ Joint Reaction สำหรับคนไทย

ปี พ.ศ. 2509 - 2512เล่นที่ Holiday Garden ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (Holiday J-3)
เล่นที่ Washington Bar ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (Joint Reaction)
เล่นที่ Progress Bar ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ (ดิ อิมพอสสิเบิ้ล)




สมาชิก (พ.ศ. 2509-2512)

เศรษฐา ศิระฉายา (ต้อย)
เกิด 6 พ.ย. 2487 จบมัธยมปลายจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศเริ่มเล่นดนตรีขณะเรียนหนังสือ
หลังจบ ม.8 ก็เริ่มเล่นอาชีพอย่างเต็มตัว ด้วยการเป็นนักดนตรีรับจ้างตามต่างจังหวัด
และมาลงเอยกับ Holiday J-3
หลังจาก ดิ อิม ยุบวง เศรษฐาได้ก้าวเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัว
เป็นทั้ง นักแสดง พิธีกร ผู้จัดละคร

วินัย พันธุรักษ์ (ต๋อย)
เกิดปี 2490 ที่อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี จบการศึกษาจากวิทยาลัยพาณิชยการพระนคร
เริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่อายุ 14 ปี โดยเป็นนักร้องเด็กในวงพยงค์ มุกดา
วินัยทำหน้าที่เป็นคนแกะเพลงของวงในยุคต้นก่อนที่ ปราจีน ทรงเผ่า
จะเข้ามารับหน้าที่แทน หลังจาก ดิ อิม สลายตัว เขาได้ร่วมกับ เรวัต พุทธินันท์
ก่อตั้งวง The Oriental Funk เดินทางไปเล่นในแถบสแกนดิเนเวีย
จากนั้นออกผลงานเดี่ยวและได้รับความนิยมจากเพลง
สิ้นกลิ่นดิน ว.ค.รอรัก ชู้ทางใจ เป็นต้น

พิชัย ทองเนียม (แดง)
เกิด 22 พ.ย. 2487 จบมัธยมปลายจากโรงเรียวัดบวรนิเวศในปี 2504
เล่นดนตรีครั้งแรกกับวงมิตรา เริ่มเล่นอาชีพกับวงหลุยส์กีตาร์บอยส์
จากนั้นก็ร่วมวง Holiday J-3 ได้รับเหรียญพระราชทาน เบสกีตาร์ยอดเยี่ยม
จากการเข้าประกวดชิงถ้วยพระราชทาน ในยุค 80 ตั้งวง
Subaru มีผลงานออกมา 1-2 ชุด

สุเมธ แมนสรวง (ชื่อจริง สุเมธ อินทรสูต)
จบการศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เริ่มเล่นดนตรีโดยเป็นนักร้องนำวง
Sandpipers ร่วมกับสิทธิพรและอนุสรณ์ ลาออกจาก ดิ อิม
หลังชนะเลิศการประกวดสตริงคอมโบครั้งแรก

อนุสรณ์ พัฒนกุล (แตง)
เกิด 8 ธ.ค. 2492 จบมัธยมปลายจากโรงเรียนโยธินบูรณะ
เคยเป็นมือกลองให้กับ Sandpipers และได้รับการชวนจากเศรษฐาให้มาร่วมวง
Holiday J-3 ได้รับเหรียญพระราชทานในตำแหน่ง
มือกลองยอดเยี่ยม จากการแข่งขันครั้งแรก จาก ดิ อิม
ก็ได้ร่วมวง Fantasy และในปลายยุค 80 ได้ร่วมงานกับวงเพื่อน

ชื่อเสียงของ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เริ่มแพร่กระจายไปในหมู่นักฟังเพลงและนักเที่ยวแบบปากต่อปาก
เมื่อสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยริเริ่มจัดประกวดสตริงคอมโบชิงชนะเลิศครั้งแรกในปี 2512
นริศร์ ทรัพย์ประภา ครูเพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเห็นฝีมือของเด็กหนุ่มกลุ่มนี้ จึงได้ชักชวนให้พวก
เขาเข้าประกวดวงดนตรีครั้งนี้ด้วย

ถ้วยรางวัลชนะเลิศปีแรกตกเป็นของ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ในประเภทวงดนตรีอาชีพ อย่างไม่มีข้อกังขา
ความสำเร็จครั้งนี้ได้นำ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก้าวข้ามไปสู่วงการหนังด้วย เมื่อ เปี๊ยก โปสเตอร์ อดีต
นักวาดใบปิดหนังอันดับ 1 ตัดสินใจที่จะพลิกตัวเองสู่การเป็นผู้กำกับหนัง ด้วยผลงานเรื่องแรก
โทน เปี๊ยก โปสเตอร์ ทาบทาบให้ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ทำเพลงประกอบซึ่งเป็นอีกช่วงตอนของ
ความเปลี่ยนแปลง

หลังการประกวด ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เข้าเล่นประจำที่ ไฟร์ แคร็คเกอร์ คลับ โรงแรมเฟิร์สต์
ถนนเพชรบุรี สุเมธ แมนสรวง ขอแยกตัวออกไปด้วยเหตุผลที่ วินัยเล่าว่า
"คงเบื่อและตามกันไม่ทัน เพราะตอนนั้นวงคำนึงถึงคุณภาพและพัฒนาทางด้านวิชาการมากขึ้น"

สิทธิพร อมรพันธุ์ มือกีตาร์จากวงฟลาวเวอร์ส ถูกสวมเข้าแทน ในช่วงเวลาไม่นานนัก
ปราจีน ทรงเผ่า ก็ถูกดึงมาช่วย ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ในการเรียบเรียงเพลงให้กับ โทน ปราจีน
เป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกับ เศรษฐามาก่อน ช่วงระหว่างปี 2506-07 เคยร่วมวงด้วยกัน ก่อนที่จะ
ถูกดึงตัวมาช่วยวง ปราจีน เล่นดนตรีอยู่กับวง เวชสวรรค์

เพลงจากหนังเรื่อง โทน ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง สร้างแนวทางใหม่ของเพลงไทย
ขึ้นมาด้วยการใช้โครงสร้างดนตรีแบบตะวันตกเต็มรูปสอดประสานไปกับลีลาการเขียนบทเพลง
ในลีลาของถ้อยคำที่อิสระมากขึ้น

นี่คือการเปิดโฉมหน้าใหม่ของวงการเพลงไทยอย่างแท้จริง

ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ยังถูกเลือกให้ทำเพลงประกอบหนังอีกหลายเรื่อง อย่าง หนึ่งนุช, สวนสน,
จันทร์เพ็ญ และกระทั่งทำเพลงภาคภาษาไทยให้กับหนังอินโดนีเซียเรื่อง โอ้รัก นอกจากนี้
พวกเขายังมีโอกาสได้แสดงร่วมในหนังบางเรื่องด้วย

ปี 2513 ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เข้าประกวดสตริงคอมโบเป็นครั้งที่ 2 ก่อนหน้าที่จะเข้าประกวด
ปราจีน ทรงเผ่า ได้เข้าเป็นสมาชิกเต็มตัว และผลของการประกวดปรากฏว่า ดิ อิมพอสสิเบิ้ล
คว้ารางวัลชนะเลิศอีกครั้ง

ปี 2514 การประกวดต้องงดเว้นไป 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนทางการเมือง
จนกระทั่ง จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นและหัวหน้าพรรคสหประชาไทย
ได้ทำการปฏิวัติตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก็ยังคงเป็นวงดนตรีที่มี
แฟนเพลงจำนวนมาก พวกเข้าเล่นประจำอยู่ที่ อิมพอสสิเบิ้ล คาเฟ่ ในบริเวณเพลินจิต อาเขต
ถือเป็นบันเทิงสถานที่โด่งดังที่สุดในยุค

ถัดมาอีกปี การประกวดสตริงคอมโบ้ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ นักทรัมเป็ทหนุ่มจากอยุธยา
ยงยุทธ มีแสง ถูกดึงเข้ามาร่วมงานก่อนการเข้าประกวดโดย ปราจีน ทรงเผ่า คนบ้านเดียวกัน
เหตุผลหนึ่งที่ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เพิ่มจำนวนสมาชิกก็คือ พวกเขาได้ปรับแนวดนตรีให้ซับซ้อนขึ้น
ไปอีกด้วยการเล่นเพลงของวงสไตล์แจ็ซซ์-ร็อค อย่าง Chicago, Tower of Power, War
และ Blood Sweat and Tears

รางวัลชนะเลิศสตริงคอมโบแห่งประเทศไทยตกเป็นของ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล อีกครั้ง
ซึ่งตอนนั้นตำแหน่งของวงได้แก่
เศรษฐา ศิระฉายา ร้องนำ, วินัย พันธุรักษ์ แซ็กโซโฟน/กีตาร์,
สิทธิพร อมรพันธ์ กีตาร์, อนุสรณ์ พัฒนกุล กลอง, พิชัย ทองเนียม เบส,
ยงยุทธ มีแสง ทรัมเป็ท และ ปราจีน ทรงเผ่า คีย์บอร์ด/ทรอมโบน

หลังการประกวดครั้งสุดท้าย ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ได้รับการติดต่อให้เดินทางไปเล่นที่
ฮาวายเอี้ยนฮัทของ อะลาโมน่าโฮเต็ล ในรัฐฮาวาย ไม่เพียงแต่ได้รับการต้อนรับจากคนที่นั่นอย่างดี ดิ อิมพอส
สิเบิ้ล ยังเป็นวงดนตรีที่ได้รับค่าจ้างแพงสุดในฮาวาย

ระหว่างปี 2515-16 เป็นหนึ่งปีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงเริ่มจากการลาออกของ
พิชัย ทองเนียม ในปี 2516 ขัดแย้งส่วนตัวกับ แตง (อนุสรณ์) ปราจีน เล่าความหลัง
"ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็สะสมทีละเล็กละน้อย ผมจำได้ว่ามาขาดกันตอนต่อเพลง Shaft
ของ ไอแส็ค เฮย์ส ตอนนั้นแดง (พิชัย) ยังตามไม่ทัน"

ปัญหาเฉพาะหน้าถูกแก้ไขด้วยการที่ เศรษฐา รับหน้าที่เล่นเบสแทน
จากนั้นก็มีการเรียกตัว เรวัต พุทธินันท์ บินจากเมืองไทยไปเสริมในตำแหน่งร้องนำ
และเล่นคีย์บอร์ด เรวัต ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เพราะเขาเคยเป็นผู้นำวง เ
ดอะ แธงค์ส ที่เคยเล่นคู่กับ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ที่ อิมพอสสิเบิ้ล คาเฟ่

กลางปี 2516 ดิ อิมพอสสิเบิ้ล หมดสัญญาที่ฮาวาย บินกลับสู่ประเทศไทย
พวกเขาขึ้นเล่นคอนเสิร์ตครั้งแรกที่เวทีหอประชุมในสวนลุมพินี โดยเล่นประกบกับ
วี.ไอ.พี. วงฮาร์ดร็อค ที่โด่งดังที่สุดในสมัยนั้น ภายใต้การนำของ รุ่งศักดิ์ อิสราภรณ์
หรือ แหลม มอริสัน ราคาบัตร 30 บาท วันนั้นนับเป็นราคาบัตรที่แพงที่สุด
เพราะราคาเฉลี่ยของบัตรดูคอนเสิร์ตยังอยู่ที่ 15-20 บาทต่อจำนวน 10 วง

ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เปิดการแสดงอีก 20 กว่าครั้งในกรุงเทพฯ ก่อนจะเข้าเล่นประจำที่
คลับ เดอะ เดน โรงแรมอินทรา การเข้าเล่นที่ เดอะ เดน ของพวกเขาเปลี่ยนจากระบบจ้างนักดนตรีเล่นประจำเป็น
การแบ่งเปอร์เซ็นต์ระหว่างนักดนตรีกับเจ้าของสถานที่มี จรัล นันทสุนานนท์ เป็นผู้จัดการวง

ช่วงนี้ ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เปลี่ยนแปลงสมาชิกอีกครั้ง สมชาย กฤษณเศรณี มือเบสอดีตสมาชิก
ไดนามิคส์ เข้ามาเสริมแทนเพื่อให้ เศรษฐา ได้ร้องนำเต็มที่ สมชาย เข้าวงโดยการแนะนำของ
เรวัต พุทธินันทน์ อดีตเพื่อนร่วมสถาบันธรรมศาสตร์และร่วมวงไดนามิคส์ (ก่อน เรวัต ตั้งวง แธงค์ส)

ไม่นานนัก อนุสรณ์ พัฒนกุล มือกลองก็แยกตัวออกไป ได้ ปรีดิ์เทพ มาลากุล ณ อยุธยา
เข้ามาแทน ปรีดิ์เทพ เดิมเป็นมือกลองวง สตรีท ซึ่งเคยเล่นที่ฮาวายต่อจาก ดิ อิมพอสสิเบิ้ล
หลังจากเล่นที่ฮาวายได้ไม่นาน สตรีท ก็แตกวง

หลังจากเปลี่ยนแปลงจนลงตัวแล้ว ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก็บินไปเล่นในยุโรปครั้งแรกระหว่างปลายปี
2517-18 ทัวร์ในละแวกสแกนดิเนเวีย เช่น สวีเดน นอร์เวย์ และ ฟินแลนด์

กลับจากยุโรปลงเล่นที่ คลับ แอน-แอน โรงแรมมณเฑียรได้ระยะหนึ่ง ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก็ย้อนไป
เล่นที่ยุโรปครั้งที่ 2 คราวนี้ สมชาย กฤษณเศรณี ลาออกจากวง ได้มือเบสใหม
ไพฑูรย์ วาทยะกร นักดนตรีจากพัทยาเข้ามาเสริมแทน

การทัวร์ยุโรปครั้งที่ 2 ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ได้มีโอกาสเข้าห้องบันทึกเสียงผลิตอัลบั้มเพลงสากล
หนึ่งชุด ให้ชื่อว่า Hot Pepper

"ตอนแรกก็พยายามนึกชื่ออัลบั้มให้รู้ว่าเป็นไทย ๆ"
ปราจีน บอกที่ว่า "คิดว่าจะเอา Chilli แต่กลัวว่าฝรั่งจะไม่คุ้น มีอยู่วันนั่งกินอะไรกัน
ในห้องอาหารของโรงแรมที่เล่น เห็นขวดพริกไทย ก็เอานี่แหละ Hot Pepper"

เพลงส่วนหนึ่งในอัลบั้มเป็นเพลงที่มีผู้บันทึกเสียงมาแล้ว สังกัดที่สวีเดนเป็นผู้จ่ายค่าลิขสิทธิ์
อีกส่วนแต่งไปจากเมืองไทย โรเบิร์ท นิวตัน นักแต่งเพลงโฆษณาที่ทำมาหากินอยู่ในเมืองไทย
เป็นผู้เขียนคำร้อง

การทัวร์ยุโรปครั้งนี้กว้างขวางขึ้นไปอีก นอกจากแถบสวีเดนที่เคยเล่นแล้ว ยังลงไปถึง
สวิตเซอร์แลนด์

ดิ อิมพอสสิเบิ้ล กลับเมืองไทยในปี 2519 พักเหนื่อยไม่นานก็ได้รับการติดต่อให้ไปเล่นที่
มาเจสติค ไนต์คลับ โรงแรมมาเจสติคในไต้หวัน การเดินทางครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย
เพราะสภาพของวงตอนนั้นมาถึงจุดอิ่มตัวเต็มที่ เศรษฐา ศิระฉายา เริ่มเล่นหนังมากขึ้น
และประสบความสำเร็จถึงขั้นได้รับตุ๊กตาทองจากหนังเรื่องฝ้ายแกมแพร

"แต่ละคนเริ่มมองอนาคต" วินัย พันธุรักษ์ กล่าว "เราเล่นดนตรีกันมานาน และสำหรับ ดิ อิมพอส
สิเบิ้ล ก็เก้าปีเข้าไปแล้ว เริ่มมองหาหนทางที่มั่นคงต่อชีวิตและครอบครัว จะไปตะเวนเหมือนตอน
หนุ่ม ๆ คงไม่ไหวแล้ว"

เป็นความเห็นที่สอดคล้องกับ เศรษฐา ที่ว่า "ที่เลิกกันไม่ได้มีอะไรขัดแย้ง มันถึงเวลาแล้ว
ผมก็อายุมากแล้วนะตอนนั้น คือผมมีความคิดที่จะลาออกอยู่ ก็คุยกัน
แต่ละคนเขาก็มีความคิดที่จะทำอะไรของตัวเองอยู่พอดี เลยยุบวงไป
ช่วงหลังเล่นหนังเยอะด้วย เลยคิดจะออกมาเล่นหนัง จนมาถึงตอนนี้ผมก็ไม่ได้กลับไปร้องเพลงอีก"




ปี 2520 ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ปิดฉากลง
ทิ้งตำนานยิ่งใหญ่ไว้ให้เล่าขาน และการสร้างสรรค์ผลงาน
เพลงไทยในแนวทางใหม่ของพวกเขา คือประตูที่เปิดกว้างสำหรับศิลปินและนักดนตรีรุ่นหลัง ๆ
ขณะที่เส้นทางของแต่ละคนก็แยกไปคนละสาย

ปี 2524 พวกเขากลับมารวมกันเล่นอีกครั้งในคอนเสิร์ต แฮนด์ อิน แฮนด์ ร่วมกับ อลิซ วงดนตรี
ชื่อดังของญี่ปุ่นที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกครั้งในปี 2534 โดยร้องกับ
วง บางกอก ซิมโฟนี ออร์เคสตร้า ที่หอประชุมศูนย์วัฒนธรรม ถนนรัชดาภิเษก

ดิ อิมพอสสิเบิ้ล เคยพูดคุยกันในเรื่องของการกลับมารวมวงใหม่ในปี 2531 เพราะสมาชิกที่แยก
ย้ายกันไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศ ได้กลับมาครบ มีการเตรียมตัวสำหรับการ
ออกอัลบั้มใหม่ในสังกัดแกรมมี่ที่ เรวัต พุทธินันท์ เป็นหนึ่งในผู้บริหารสำคัญ แต่หลังจากที่พูด
คุยกันอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในแง่ของการโปรโมทโครงการชุดนี้ก็เลยพับไป

แต่ในที่สุด ดิ อิมพอสสิเบิ้ล ก็ได้ออกอัลบั้มอีกครั้งในปี 2535 เป็นการนำเพลงเก่ามาเล่นและ
ร้องกันใหม่ ผนวกเข้ากับเพลงใหม่ที่เป็นชื่ออัลบั้ม 'กลับมาแล้ว' อีก 1 เพลง ออกในสังกัดนิธิทัศน์
แม้ว่าการโปรโมทไม่มากนัก แต่ยอดขายก็ไปได้ดีพอสมควร จากแฟนเพลงเก่าและใหม่




The Oriental Funk



ธันวาคม 2519
ณ แมนฮัตตันคลับ สุขุมวิท ซอย 15

ขอพาทุกท่านย้อนอดีตไปฟังพี่เต๋อซึ่งในขณะนั้นเป็นหัวหน้าวง The Oriental Funk ให้สัมภาษณ์
นิตยสารซุปเปอร์โซนิค

ด้วยเนื้อตัวสูงแข็งแรงอย่างผู้ชาย หัวหน้าวงอย่างเรวัตโฉบเฉี่ยวด้วยทรงผมนิโกร มีห่วงทองเล็ก ๆ ประดับที่ติ่งหูข้างขวา

"ตุ้มหูนี่ผมได้จากสวีเดน รูหูนี่ก็เจาะที่นั่น ไม่มีเหตุผลอื่นใดนอกจากคิดว่ามันสวยดี"

เขาบอกอย่างคนมั่นใจในตัวเอง

สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ท่าพระจันทร์รุ่นปี 14 บางทีอาจไม่แปลกใจ เพราะสมัยที่เรียนอยู่
ผู้ชายชื่อ เต๋อ คนนี้เคยไว้ผมยาวสลวยประบ่าให้สาว ๆ อิจฉา อยู่มาวันหนึ่งเขาก็แอบเอา
ผมยาวนั้นไปเป็นชู้กับคมกรรไกร จนแม่ค้าข้าวแกงที่มหาวิทยาลัยงุนงง

"ครับ ผมมีครอบครัวมาแล้ว 3 ปี แต่งงานตอนที่อิม (ดิ อิมพอสสิเบิ้ล)
กลับจากฮาวาย ได้ลูกสาวมาแล้วคนหนึ่ง ขวบหนึ่งกับ 7 เดือนแล้วครับกำลังน่ารัก
และผมก็รักเด็ก แต่ก็เห็นด้วยกับการคุมกำเนิด"

สีหน้าโฉบเฉี่ยวและยิ้มแย้มนั้น เปลี่ยนเป็นครุ่นคิด เจ้าตัวยกนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ข้างซ้ายขึ้นลูบแผงจนบนริมฝีปาก

"ปัญหาเศรษฐกิจมันจะโยงไปสู่ปัญหาอื่นเป็นลูกโซ่ ถ้าเกิดมามาก ๆ แล้วลำบากลำบน
เราก็ควรจำกัดเพื่อให้อยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควร"

ไรหนวดเข้มข้มนั้นรับกันสนิทกับคิ้วดกหนามองใกล้ ๆ เกือบจะเป็นคิ้วต่อ ไฝเม็ดเล็ก ๆ
ที่หางตาข้างขวาเป็นเสน่ห์แฝงเร้นอย่างที่มองในระยะไกลจะต้องเสียดายที่ไม่ได้เห็น

"ดนตรีนี่เป็นทูตนะครับ"

เรวัตเอนตัวพิงพนักเก้าอี้ กิริยานั้นทำให้แลเห็นเข็มขัดหนังงู ที่สอดตัวอยู่ระหว่างหูกางเกงมีจีบ
เป็นหนังชนิดเดียวกับรองเท้าหัวแหลมที่ชายกางเกงขากว้างเปิดให้เห็น

"ฝรั่งฟังเพลงไทย คนไทยก็ฟังเพลงฝรั่งบางทีถึงไม่เข้าใจตลอดแต่ก็ได้รับรส"

"กว่า 4 ปีก่อนจาก ดิอิม ถึง Oriental Funk นี้ สุดปรารถนาเวลาอยู่บนเวทีก็คืออยากให้
เสียงที่ดังออกไปมีอานุภาพ ดึงอารมณจากคนฟังไว้ให้มากที่สุด แต่หัวใจสำคัญตอนร้องเพลงก็คือ"

เขาเว้นจังหวะให้เห็นว่าสำคัญ ก่อนที่น้ำเสียงแหบนิด ๆ อย่างมีประจุไฟในสำเนียงนั้นจะดำเนินต่อ

"คนร้องต้องทะลุเนื้อและความหมาย อันนี้คือเราต้องแก้ปัญหาเรื่องภาษา"




สมาชิก: อวยชัย วิทศลัดดา/เรวัต พุทธินันทน์/เทวัญ ทรัพย์แสนยากร/โตโต้ อากีลาร์
ศรายุทธ สุปัญโญ/วินัย พันธุรักษ์/ไพฑูรย์ วาทยะกร




2524 มีพี่ป้อม (อัสนี) และ คุณปราจีน ร่วมเป็นสมาชิก
เล่นประจำที่มณเฑียรทอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ