วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คู่มือติดคุก เลือกอยู่คุกไหนดี ?




คำนำ

คนคุกไม่จำเป็นต้องเป็นคนไม่ดีเสมอไป คนเราอาจทำผิดพลาดกันได้
บางครั้ง.......ความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือกิเลสเพียงชั่ววูบ ก็อาจทำให้คุณ
ต้องเข้ามาอยู่ในคุกได้โดยที่คุณ นึกไม่ถึง

หนังสือเล่มนี้ มีข้อมูลหลายด้านที่ไม่เคยถูกเปิดเผยมาก่อน แต่ภายใต้
รัฐธรรมนูญฉบับ ใหม่ เราจำเป็นต้องให้คุณและโลกภายนอกได้รับรู้




คู่มือติดคุก เลือกอยู่คุกไหนดี ?



คุกไม่ใช่โรงแรม ผู้ต้องขังจึงไม่มีสิทธิ์เลือกว่าจะอยู่ที่ไหน

(ยกเว้นยื่นคำร้องขอย้ายเรือนจำด้วยเหตุผลที่เหมาะสม)


ถ้าเลือกได้ ควรเลือกเข้าวัด ดีกว่าเลือกเข้าคุก

ImageImage
ประตูวัดเปิดตลอด 24 ชั่วโมง
ไม่ค่อยมีคนเข้ายกเว้นเวลามีงานวัด
ประตูคุกปิดสนิท 4 - 5 ชั้น
ผู้คนแห่กันเข้าไปอยู่จนแน่น

สิ่งที่กำหนดว่าจะได้อยู่คุกไหนก็คือ

1. ท้องที่ที่ทำความผิด

ถูกส่งฟ้องที่ศาลไหน ก็ถูกจำคุกที่เรือนจำประจำศาลนั้น กรมราชทัณฑ์เตรียมเรือนจำไว้รองรับกว่า 130 แห่งทั่วประเทศ

2. สถานะของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี จะถูกคุมขังที่ เรือนจำพิเศษ ต่างๆ เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งจะปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง แตกต่างไปจากผู้ต้องขังที่คดีเสร็จสิ้นแล้ว (แต่ในหลายๆเรือนจำ ผู้ต้องขังเหล่านี้ก็ยังคงถูกขังปะปนกับผู้ต้องขังที่ถูกตัดสินแล้ว เนื่องจาก เรือนจำพิเศษมีไม่เพียงพอ)

ส่วนผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย ก็อาจได้รับการพิจารณาส่งตัวไปยัง ทัณฑสถานเปิด ต่างๆ เช่น ทัณฑสถานเปิดบ้านนาวง ทัณฑสถานเปิดห้วยโป่ง ทัณฑสถานเปิดหนองน้ำขุ่น เป็นต้น

3. ความรุนแรงของคดี

  • ถ้า จำคุกนาน จะถูกส่งไปยังเรือนจำความมั่นคงสูง ซึ่งได้แก่ เรือนจำกลาง ต่างๆ เช่น เรือนจำกลางบางขวาง เรือนจำกลางคลองเปรม เรือนจำกลางประจำเขต
  • ถ้า โทษไม่สูง ก็จะถูกขังที่ เรือนจำจังหวัด หรือ เรือนจำอำเภอ
  • ถ้าถูก กักขังแทนค่าปรับ จะถูกขังที่ สถานกักขัง เช่น สถานกักขังกลางจังหวัดปทุมธานี สถานกักขังกลางจังหวัดตราด

4. ประเภทของความผิด

ผู้ทำผิดคดีเสพยาเสพย์ติด จะถูกคุมขังในเรือนจำที่ทำหน้าที่บำบัดการติดยา ซึ่งได้แก่ ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ ต่างๆ เช่น ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษลำปาง (เนื่องจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษมีไม่เพียงพอ ผู้ต้องขังที่ติดยาเสพติดบางส่วนก็ยังคงถูกขังอยู่ในเรือนจำทั่วไป มีวิธีการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่เรียกว่า "ชุมชนบำบัด"

5. ลักษณะของตัวผู้ต้องขังเอง เช่น

  • อายุไม่เกิน 25 ปี จะอยู่ใน ทัณฑสถานวัยหนุ่ม
  • ผู้ต้องขังหญิงถูกส่งเข้า ทัณฑสถานหญิง
  • ผู้ ต้องขังป่วย ถูกส่งเข้า ทัณฑสถานโรงพยาบาล

ฯลฯ



เช็คอินเข้าคุกวันแรก

Image
วันแรกที่ผู้ต้องขังเข้ามาในเรือนจำ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการดังนี้.....

1. ตรวจสอบประวัติ

ประวัติของผู้ต้องขังจะถูกส่งมาที่เรือนจำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ต้องขัง ลายพิมพ์นิ้วมือ และรูปถ่าย ซึ่งจะถูกตรวจสอบโดยละเอียดพร้อมๆกับ
การสัมภาษณ์ผู้ต้องขังเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ต้องขัง เป็นคนเดียวกันกับที่ระบุไว้ในเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

2. พิมพ์ลายนิ้วมือ

เป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะนอกจากการสัมภาษณ์แล้ว การพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องขัง เพื่อตรวจสอบกับลายพิมพ์นิ้วมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะช่วยยืนยันได้แน่นอนว่าเรือนจำรับ
ผู้ต้องขังไม่ผิดตัว

3. ถ่ายรูป

บางเรือนจำอาจถ่ายรูปผู้ต้องขังในวันแรกที่เข้ามา แต่บางเรือนจำอาจรอทำในวันถัดไป

4. ทำบัญชีฝากของมีค่า

เรือนจำจะเก็บของมีค่าทั้งหมดของผู้ต้องขังไว้ และออกใบรับฝากให้ผู้ต้องขังเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อรับคืนภายหลัง

5. ตรวจสอบสิ่งของส่วนตัวที่อนุญาตให้นำติดตัวเข้าเรือนจำ

เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจสอบสิ่งของส่วนตัว เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสิ่งต้องห้ามปะปนอยู่ โดยเฉพาะยาเสพย์ติด สิ่งของที่อนุญาตให้นำเข้าเรือนจำได้แก่ ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เสื้อผ้า สบู่ แปรงและยาสีฟัน เป็นต้น

6. พิจารณาจัดหาที่ๆเหมาะสมที่จะให้ผู้ต้องขังอยู่

โดยทั่วไปแล้วผู้ต้องขังรับใหม่ทุกรายจะถูกจัดไว้ใน แดนแรกรับ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาส ปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมในเรือนจำ มีผู้ต้องขังบางรายที่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ ก็จะส่งไปพักที่สถานพยาบาลของเรือนจำ

สภาพห้องนอนของผู้ต้องขัง ที่อาสาสมัครช่วยงานใน  ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์

สภาพห้องนอนของผู้ต้อง ขัง ที่อาสาสมัครช่วยงานใน ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์




สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำในเรือนจำ

สิ่งที่ควรทำ

  1. ถ้ามีโรคประจำตัว ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทันทีที่เข้าเรือนจำ
  2. ถ้ามียาที่ต้องกิน เป็นประจำ ควรแจ้งพยาบาลประจำเรือนจำ เพื่อตรวจสอบว่ามียาดังกล่าวในสถานพยาบาลหรือไม่ ถ้าไม่มี ก็จำเป็นต้องติดต่อญาติเพื่อจัดส่งเข้ามา
  3. พยายามดูแลสุขภาพให้ดี คุณอาจอยู่ในเรือนจำเพียงไม่กี่วันหรืออาจจะต้องอยู่อีกหลายสิบปี เราอยากเห็นคุณเดินออกจากคุกในสภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์
  4. พยายามเป็น มิตรกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือผู้ต้องขังด้วยกัน คนเหล่านี้อาจช่วยคุณได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
  5. ควรใช้ชีวิตทุกๆนาที ภายในเรือนจำให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง และต่อสังคมภายนอก

สิ่งที่ไม่ควรทำ

  1. ห้ามฝ่าฝืนกฎระเบียบต่างๆของเรือนจำ เด็ดขาด มิฉะนั้น คุณจะถูกลงโทษ !!
  2. อย่าแต่งกายหรือวางตัวให้ผิดกับผู้ต้องขังคนอื่น การทำตัวเป็นคนเด่นในคุกมีผลเสียมากกว่าผลดี
  3. อย่าใช้เงินฟุ่มเฟือยจนเต็มพิกัดที่เรือนจำกำหนดทุกวัน คุณอาจถูกรีดไถหรือรังแกจากผู้ต้องขังอื่น อย่าลืมว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ไม่ใช่บอดี้การ์ดส่วนตัวของคุณ เขาไม่สามารถอยู่ปกป้องคุณได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  4. ถ้าเครียด อย่าใช้ ยาเสพติดหรือ การพนันเป็นเครื่องคลายเครียด มิฉะนั้น สถานการณ์ของคุณจะเลวร้ายลงทุกที
  5. ถ้ามีผู้มาชักชวน หรือตัวคุณเองมีความรู้สึกอยากที่จะทำผิดระเบียบของเรือนจำ ก็ขอให้ย้อนกลับไปดู ข้อ 1.ใหม่



สิทธิของผู้ต้องขัง

1. สิทธิที่จะได้รับอาหารถูกหลักโภชนาการและเพียงพอต่อความต้องการ

Image กรมราชทัณฑ์รับประกันว่าผู้ต้องขังทุกคนจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ ทุกวัน ฟรี !ตั้งแต่วันแรกที่เข้าคุกจนถึงวันสุดท้าย

2. สิทธิที่จะได้รับเครื่องนุ่งห่มที่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ

ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มักจะมีเสื้อผ้าของตนเองจากญาติที่นำมาให้ ส่วนผู้ต้องขังที่ไม่สามารถจัดหาเสื้อผ้า ผ้าห่มและของใช้ประจำตัว ทางเรือนจำจะรับผิดชอบจัดหาให้

3. สิทธิที่จะได้ที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะ

เรือนจำทุกแห่งได้พยายามจัดเรือนนอนให้ผู้ต้องขัง ได้พักอาศัยให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล
อยู่แล้ว แต่คนติดคุกมีมากเกินไป (มากกว่า 250,000 คน ! ในบางปี) ทำให้ผู้ต้องขังต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ปัจจุบัน เรือนจำเกือบทุกแห่งได้อนุญาตให้โรงเรียนต่างๆพานักเรียนเข้ามาดูสภาพความ เป็นอยู่ของผู้ต้องขังได้ เพื่อเป็นเครื่องเตือนสติว่า อย่าทำผิดกฎหมายเด็ดขาด มิฉะนั้น จะต้องมาทนลำบากอยู่ในคุก

4. สิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (0 บาท รักษาทุกโรค)

เรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาล และเจ้าหน้าทีพยาบาลคอยให้การบำบัดรักษาโรค ให้กับผู้ต้องขังตามสมควร แต่ถ้าป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล ก็จะมีการพิจารณาส่งตัวออกรับการรักษาที่โรงพยาบาลภายนอก หรือ ส่งตัวมารับการรักษาที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่กรุงเทพ

5. สิทธิที่จะได้รับการติดต่อกับญาติและทนายความ

Image ทนายความมีสิทธิ์ขอเข้าพบผู้ต้องขังได้ตามความจำเป็น ส่วนญาติก็สามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้ตามวันเวลาที่เรือนจำกำหนด ปัจจุบันนี้ เรือนจำหลายแห่ง ได้เพิ่มจำนวนวันที่ญาติสามารถมาเยี่ยมผู้ต้องขังได้มากขึ้น บางเรือนจำอนุญาตให้เยี่ยมได้ทุกวันทำการ ผู้ต้องขังที่พักรักษาตัวอยู่ ใน ทัณฑสถาน-โรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น ญาติสามารถเข้าเยี่ยมผู้ป่วยได้ถึงตัวภายในโรงพยาบาล ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถเดินออกไปเยี่ยมญาติได้ตามปกติ

6. สิทธิที่จะประกอบพิธีทางศาสนาตามความเชื่อของผู้ต้องขัง

ผู้ต้องขังที่นับถือศาสนาต่างๆ สามารถประกอบพิธีการทางศาสนาได้โดยทางเรือนจำจะมีอนุศาสนาจารย์ คอยให้คำปรึกษาแนะนำและอำนวยความสะดวก

7. สิทธิที่จะรับและส่งจดหมายติดต่อกับบุคคลภายนอก

นอกจากสิทธิที่จะรับ-ส่งจดหมายแล้ว ปัจจุบัน กรมราชทัณฑ์ได้มีนโยบายให้ผู้ต้องขังสามารถรับ-ส่ง E-mail กับญาติ และ แม้กระทั่งสามารถใช้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยกับญาติได้ ตามระเบียบที่กรมราชทัณฑ์กำหนดไว้

8. สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆ

ผู้ต้องขังมีสิทธิที่จะอ่านหนังสือและวารสารในห้องสมุดของเรือนจำ และรับชมรายการข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงต่างๆจากโทรทัศน์ที่เรือนจำจัดให้




อาหารมื้อแรกของคุณในเรือนจำ

ท่านทราบหรือไม่ว่ากรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณ ในการจัดเลี้ยงอาหารให้ผู้ต้องขังคนละกี่บาทต่อมื้อ

Image

ก. 10 บาท
ข. 12 บาท
ค. 19 บาท
ง. 22 บาท


โรงครัว ของทัณฑสถานโรงพยาบาลฯ

ปัญหาของผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำในวันแรกๆ ก็คือ ความไม่คุ้นเคยกับรสชาดของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสารที่ใช้นั้น เป็นข้าวสารกล้อง 5% ที่เรียกกันว่าข้าวแดง(ยกเว้นในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเรือนจำบางแห่งที่จะหุงข้าวขาวให้กับผู้ต้องขังซึ่งเป็นผู้ป่วย)

ในกลุ่มผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ปัญหาเรื่องอาหารก็จะยิ่งมีมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น เรือนจำทุกแห่ง จึงอนุญาตให้ผู้ต้องขัง ซื้ออาหารจากร้านค้าของเรือนจำมารับประทานได้ โดยผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีสิทธิ์ใช้เงินที่ฝากไว้ในบัญชีของตน ในการซื้ออาหาร และของใช้ประจำวันได้วันละไม่เกิน 200 บาท

ผู้ต้องขังจะได้รับอาหารวันละ 3 มื้อ โรงครัวของเรือนจำจะต้องเตรียม อาหารให้กับผู้ต้องขังทั่วไป ผู้ต้องขังที่เป็นอิสลาม และผู้ต้องขังที่เป็นชาวต่างชาติ (งบประมาณค่าอาหารเท่ากัน เพียงแต่ปรุงให้รสชาดไม่จัด และเลือกเมนูอาหารที่คิดว่าถูกปากผู้ต้องขังชาวต่างชาติ ซึ่งทำได้ยากมาก เพราะในบางเรือนจำ เช่น เรือนจำกลางคลองเปรมคุมขังผู้ต้องขังชาวต่างชาติไว้กว่า 80 ชาติ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ ปัญหาเรื่องโรคระบาดด้านทางเดินอาหาร หรือ โรคอาหารเป็นพิษ พบได้น้อยมากในเรือนจำ ทั้งนี้เพราะ อาหารในเรือนจำทุกแห่งจะถูกปรุงแล้วให้ผู้ต้องขังรับประทานทันที โดยไม่มีการเก็บค้างไว้นานๆ

คำตอบ

ผู้ต้องขังแต่ละคนได้รับงบประมาณค่าอาหาร 10 บาทกว่าๆ ต่อมื้อ (31 บาท ต่อวัน)





วิธีนอนให้สบายในคุก



แม้แต่คนที่เคยนอนหลับง่ายที่สุดก็ยังมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ เมื่อต้องเข้ามาอยู่ในเรือนจำ โดยเฉพาะในวันแรกๆ

รูปที่เห็นพร้อมกรอบข้างล่างแสดงถึงพื้นที่นอนของผู้ต้องขัง 1 คนตามมาตรฐานสากลคือ 7.5 ตารางเมตร ต่อ คน


ส่วนในประเทศ ไทยนั้น มาตรฐานขั้นต่ำของพื้นที่นอน สำหรับผู้ต้องขังที่กำหนดโดยกรมราชทัณฑ์ คือ 2.25 ตารางเมตรต่อผู้ต้องขัง 1 คน (ดังรูปข้างล่าง)ซึ่งเป็นขนาดที่พอจะยอมรับได้ ถ้าการระบายอากาศในห้องนอนอยู่ในเกณฑ์ดี


แต่ ในความเป็นจริงนั้น ผู้ต้องขังมีพื้นที่นอน น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถึง 3 เท่า !! (สถิติปี 2542)คือ เฉลี่ยแล้วผู้ต้องขังแต่ละคนจะมีพื้นที่นอนเพียง 0.85 ตารางเมตร ซึ่งหมายความว่าถ้าผู้ต้องขังมีส่วนสูง 170 เซนติเมตร ก็จะมีเนื้อที่นอนกว้างเพียง 50 เซนติเมตรเท่านั้น (ดังรูป) เพราะฉะนั้น การจะนอนให้หลับสบายจึงเป็นไปไม่ได้

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะจำนวนผู้ต้องขังถูกจับกุมเข้ามาอยู่ในเรือนจำมี มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผู้ต้องขังคดียาเสพย์ติด

การแก้ไขปัญหา โดยผู้บริหารเรือนจำ

  1. ต่อเติมเรือนนอนเพิ่ม ขึ้น เช่น ใช้ใต้ถุนเรือนนอนที่ยังว่างอยู่ หรือทำที่นอนให้เป็นสองชั้น เป็นต้น ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากกรมราชทัณฑ์ได้รับงบประมาณน้อยมาก และไม่มี งบสร้างเรือนจำเพิ่ม
  2. ลดความรู้สึกอึดอัดในเรือนนอน โดยติดตั้งพัดลมและพัดลมระบายอากาศเพิ่มขึ้น พยายามแก้ไขปัญหาเรื่องยุงหรือแมลง ที่มารบกวนซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ
  3. ทำทุกวิถีทางที่จะ ปล่อยตัวผู้ต้องขังที่มีโทษเหลือน้อย และมีความประพฤติดีออกจากเรือนจำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดความแออัดลง โดยวิธีการพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษจำคุก หรือ โอนตัวผู้ต้องขังตามสนธิสัญญาโอนตัวผู้ต้องขังต่างชาติ กลับไปจำคุกที่ประเทศของตนเอง
  4. พยายามโยกย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำ ที่แออัดมาก ไปยังเรือนจำที่มีความแออัดน้อยกว่า
  5. โยกย้ายผู้ต้องขัง คดีเสพยาเสพย์ติดที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ไปรับการบำบัดการติดยาเสพย์ติดที่ค่ายทหารต่างๆ

ข้อแนะนำสำหรับผู้ต้องขัง

  1. ถ้ามีปัญหานอนไม่หลับ พยายามออกกำลังกายหรืออาสาสมัครทำงานที่ต้องใช้แรงงาน ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้หลับง่ายขึ้น
  2. ไม่ ควรใช้ยานอนหลับช่วย เพราะจะทำให้ติดยา และต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ
  3. การ สวดมนต์ ไหว้พระ หรือนั่งสมาธิ ทำวิปัสสนา ก็อาจช่วยได้ ควรปรึกษาอนุศาสน์ของเรือนจำ
  4. ขอยืมหนังสือธรรมะจากห้องสมุดเรือนจำ มาอ่านก่อนนอน (วิธีนี้ทำให้ง่วงนอนได้เร็วมาก ไม่ว่าผู้ต้องขังจะรู้ซึ้งถึงรสพระธรรมหรือไม่ก็ตาม)


เมื่อเจ็บป่วยในเรือนจำ



ห้องผ่าตัดภายในทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์

เมื่อผู้ ต้องขังเจ็บป่วยในเรือนจำ เจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะเป็นผู้ให้การดูแลเบื้องต้น หากอาการป่วยเกินขีดความสามารถของสถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะรายงานผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อพิจารณาส่งตัวออกไปรับการรักษา ที่โรงพยาบาลภายนอก ในกรณีที่เป็นโรคเรื้อรังหรือต้องใช้เวลาในการรักษาเป็นเวลานาน ทางเรือนจำอาจพิจารณาส่งตัวผู้ป่วยมารับการรักษาที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณเรือนจำกลางคลองเปรม กทม.

การให้บริการด้านทันตกรรม แก่ผู้ต้องขังที่มีปัญหาโรคฟัน

การ รักษาผู้ต้องขังไม่ว่าจะเป็นที่สถานพยาบาลของเรือนจำ หรือที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ จะเป็นการรักษาโดยที่ผู้ต้องขังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ยกเว้นการใส่ฟันปลอมบางประเภท




วิธีออกจากคุกให้เร็วขึ้น

1. ยื่นคำร้องขอประกันตัวต่อศาล

Imageน่าจะเป็นวิธีที่เร็วที่สุดสำหรับ ผู้ต้องขัง ที่คดียังอยู่ใระหว่างการพิจารณาของศาล โดยเฉพาะคดีที่มีโทษจำคุกไม่มาก และเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพย์ติด ศาลอาจพิจารณาให้ประกันตัวในกรณีที่มีหลักทรัพย์ ค้ำประกันเพียงพอหรือมีเหตุผลอื่นในการให้ประกัน เช่น สูงอายุ เจ็บป่วยร้ายแรง

2. พยายามเลื่อนชั้นให้เร็ว และ หลีกเลี่ยงการถูกตัดชั้น

ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้ว จะได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกมากหรือน้อยตาม "ชั้น"ของผู้ต้องขัง ดังนี้

  • ชั้นเยี่ยม ได้ลดโทษ เดือนละ 5 วัน
  • ชั้นดีมาก ได้ลดโทษ เดือนละ 4 วัน
  • ชั้นดี ได้ลดโทษ เดือนละ 3 วัน

เรือนจำจะแบ่งชั้นของผู้ต้องขังออก เป็นชั้นต่างๆ 6 ชั้นคือ

ชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก ชั้นดี ชั้นกลาง ชั้นเลว และชั้นเลวมาก

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประพฤติการปฏิบัติตามระเบียบของเรือนจำ และความตั้งใจในการฝึกวิชาชีพหรือเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากพ้นโทษเร็ว ก็อย่าฝ่าฝืนระเบียบเรือนจำจนถูกตัดชั้น

3. ทูลเกล้าขอพระราชทานอภัยโทษ

ผู้ต้องขังสามารถยื่นทูลเกล้าขอพระทานอภัยโทษเป็นรายบุคคล และ อาจได้รับการพิจารณาเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันเฉลิมพระชนม์พรรษา เป็นต้น

4. อาสาสมัครออกทำงานสาธารณะ

ผู้ต้องขังที่มีความประพฤติดี และมีโทษจำคุกเหลือไม่มาก อาจได้รับการพิจารณาให้ออกมาทำงานสาธารณะนอกเรือนจำ เช่น การขุดลอกคูคลอง ท่อระบายน้ำ ซึ่งนอกจากจะได้รับเงินปันผลสูงถึง 80 % ของกำไรสุทธิจากรับจ้างงานสาธารณะแล้ว ผู้ต้องขังยังได้รับการลดโทษ เป็นจำนวนวันเท่ากับจำนวนวันที่ออกทำงานสาธารณะอีกด้วย

5. การขอพักการลงโทษ

เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำได้เร็วกว่ากำหนด โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้

  • ต้องจำคุกมาไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ของกำหนดโทษ
  • ถ้าเป็นคดีจำคุกตลอดชีวิต ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
  • ระยะเวลาของการพักโทษมีดังนี้
- ชั้นเยี่ยม ได้พักไม่เกิน 1 ใน 3 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดีมาก ได้พักไม่เกิน 1 ใน 4 ของกำหนดโทษ
- ชั้นดี ได้พักไม่เกิน 1 ใน 5 ของกำหนดโทษ
ต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ ส่วนพักการลงโทษ สำนักทัณฑปฏิบัติ
กรมราชทัณฑ์ โทร. 0-2967-3371 , 0-2967-3372 หรือสอบถามได้ที่เรือนจำทุกแห่ง



10 วิธีคลายเครียดในคุก

1. ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เรือนจำมีงบประมาณสำหรับจัดซื้ออุปกรณ์กีฬาให้ผู้ต้องขังเล่น เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเป็นการคลายเครียด Image
2. เรียนหนังสือ ผู้ต้องขังสามารถใช้เวลาว่างให้ประโยชน์ได้ โดยการเรียนหนังสือซึ่งเรือนจำจัดมีการสอนตั้งแต่ชั้นประถมไปจนถึงระดับ ปริญญา Image
3. ฝึกวิชาชีพ นอกจากจะได้รับเงินปันผลจากการฝึกวิชาชีพแล้ว ผู้ต้องขังยังอาจนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้ (ในภาพ ผู้ต้องขังของทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง กำลังฝึกเจียรไนพลอย)Image
4. หางานอดิเรกทำการปลูกผักสวนครัว นอกจากจะทำให้เพลิดเพลินแล้ว ยังสามารถนำผักที่ได้มาใช้เป็นอาหารได้อีกImageด้วย
5. ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรีโทรทัศน์เป็นสิ่งบันเทิงคลายเครียดที่มีอยู่ในทุกเรือนจำ (ในภาพ เป็นศูนย์ควบคุมทีวีวงจรปิดที่ทำหน้าที่ควบคุมการส่งข่าวสาร ภาพยนต์ รายการบันเทิงทางโทรทัศน์ ไปยังห้องผู้ป่วยทุกห้องภายในImageทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์
6. ไหว้พระ สวดมนต์ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีมากสำหรับผู้ต้องขังImage (ในภาพ ผู้ต้องขังชาวมุสลิมกำลังทำพิธีทางศาสนา)
7. เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เรือนจำจัดขึ้นImage (ในภาพ เป็นงานสงกรานต์ที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลจัดให้ผู้ต้องขัง)
8. นั่งสมาธิ การทำวิปัสนาหรือนั่งสมาธิช่วยให้ผู้ต้องขังมีจิตใจสงบและเยือกเย็น (ในภาพ คือผู้ต้องขังป่วยที่ออกมานั่งสมาธิที่สนามหญ้าในเวลาเช้า) Image
9. ติดต่อพูดคุยกับญาติ การติดต่อกับญาติไม่ว่าจะเป็นการเยี่ยมหรือพูดคุยทางโทรศัพท์ จะช่วยให้สภาพจิตใจของผู้ต้องขังดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำวันแรกๆ Image
10. ขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดความเครียด เจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ เช่นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ อนุศาสนาจารย์ อาสาสมัคร ฯลฯ อาจช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านจิตใจและให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์(ในภาพ เป็นอาสาสมัครจากกลุ่ม NGO ที่เข้ามาพูดคุยเป็นกำลังใจ
Image
ให้กับผู้ต้องขังในทัณฑสถานโรงพยาบาล)


ภัยมืดในเรือนจำ Image

วัณโรคคร่าชีวิตผู้ต้องขังไปปีละหลายสิบรายป้องกันได้ยาก

เหตุผล :

  1. เชื้อวัณโรคมากับอากาศ
  2. ผู้ต้องขังอยู่ รวมกันอย่างแออัด
  3. ผู้ต้องขังมีเกณฑ์สุขภาพต่ำกว่าประชากรทั่วไป เพราะ มีผู้ติดยาเสพย์ติดและติดเชื้อเอดส์มาก

วิธีเอาตัวรอด :

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
2. งดบุหรี่และยาเสพติด
3. แจ้งเจ้าหน้าที่พยาบาลทราบเมื่อมีอาการที่ส่อว่า อาจเป็นวัณโรค เช่น

  • ไอ เรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ หรือ ไอเป็นเลือด
  • มีไข้เรื้อรัง
  • น้ำหนัก ลด

4. เมื่อถูกตรวจพบว่าเป็นวัณโรค ต้องกินยาให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์สั่ง การรักษาวัณโรคภายในเรือนจำมีประสิทธิภาพสูง เนื่องจาก เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเฝ้าดูการกินยาของผู้ป่วยทุกวัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยได้กลืนยาลงไปจริง (ชนิดของยา วิธีกิน และการเฝ้าดูผู้ป่วยกินยา เป็นไปตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วโลก) เพื่อความปลอดภัยของทุกคน ผู้ต้องขังไม่ควรหลีกเลี่ยงการกินยา

เจ้าหน้าที่ของทัณฑสถาน โรงพยาบาลฯ ต้องเฝ้าดูผู้ป่วย  รับประทานยาต้านวัณโรคต่อหน้าทุกๆวัน

5. ในผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอดส์ แพทย์จะพิจารณาให้ยาป้องกันวัณโรค เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อเอดส์ ที่มีวัณโรคแทรกซ้อนนั้นสูงมาก 6. ในกรณีที่ผู้ต้องขังย้ายเรือนจำหรือพ้นโทษก่อนที่การรักษาจะสิ้นสุด ก็จำเป็นต้องติดตามรักษาต่อจนครบกำหนดโดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะทำหนังสือเพื่อ ส่งตัวไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลของเรือนจำที่ผู้ต้องขังถูกย้ายไป หรือที่โรงพยาบาลภายนอกในกรณีที่พ้นโทษ


ติดคุกก็ใช้ E-mail ได้


Imageทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้นำ E-mail มาใช้เป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้ต้องขังป่วย และญาติมาหลายปีแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมผู้ต้องขังป่วยได้สะดวก การใช้ E-mail จะช่วยให้ประหยัดค่าส่งจดหมายระหว่างประเทศลงได้มาก

นอกจากนี้ ภาพถ่ายดิจิตอลของผู้ต้องขังป่วยที่ส่งฝากไปกับ E-mail ให้ญาตินั้น ช่วยทำให้ญาติผู้ป่วยได้เข้าใจ และรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่และอาการป่วยของผู้ต้องขังได้ดี
ปัจจุบันนี้ กรมราชทัณฑ์ได้อนุญาตให้เรือนจำทุกแห่งรับ-ส่ง E-mail ให้กับผู้ต้องขังได้เรือนจำหลายแห่ง เช่น เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำกลางคลองเปรม ฯลฯ ได้ดำเนินการไปแล้ว

ส่วน E-mail address ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ที่ญาติสามารถ ติดต่อได้คือ staff@hosdoc.comอีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

กติกา :

  1. อนุญาตให้รับส่ง E-mail ได้ไม่เกินสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ยกเว้นในกรณีที่ฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น
  2. ผู้ต้องขังเขียนจดหมายส่ง ให้กับเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รับผิดชอบได้ไม่เกิน1 หน้ากระดาษ A4
  3. เนื้อหา ในจดหมายต้องมีความเหมาะสม ไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น
  4. ทัณฑสถาน โรงพยาบาลจะ Scan จดหมายของผู้ต้องขังแล้วส่งให้ญาติในรูปของ Graphic file เพื่อประหยัดเวลาพิมพ์ และเพื่อให้ญาติเห็นเป็นลายมือของผู้ต้องขังเอง ส่วนญาติจะส่งมาเป็น Text file หรือ Graphic file ก็ได้
การฝึกวิชาชีพ



ผู้ต้องขังที่ฝึกวิชาชีพ  จำเป็นต้อมีเครื่องป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเรือนจำแต่ละแห่งจะมีการฝึกวิชาชีพ ที่แตกต่างกัน เช่น ช่างไม้ ช่างสี ช่างโลหะ ช่างจักสาน เกษตรกรรม เป็นต้น คณะกรรมการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังของเรือนจำ จะเป็นผู้กำหนดการฝึกวิชาชีพให้เหมาะกับ อายุ อาชีพเดิมและตามความต้องการของตัวผู้ต้องขังเอง

การฝึกวิชาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้นั้น เรือนจำจะแบ่งเงินปันผลให้ผู้ต้องขัง 50% ของรายได้สุทธิ

ข้อ ควรปฏิบัติในการฝึกวิชาชีพ

  • เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่ อาจเกิดจากการฝึกวิชาชีพ ผู้ต้องขังต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของครูฝึกอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เครื่องป้องกันต่างๆ

ผู้ต้องขังที่ฝึกวิชาชีพ  จำเป็นต้อมีเครื่องป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

  • ผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยสามารถ หยุดงานได้ ตามความเห็นของแพทย์และพยาบาลประจำ เรือนจำ
  • ในขณะที่ กินยาแก้หวัดหรือยาอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการง่วงนอน ไม่ควรทำงานเกี่ยวกับ เครื่องจักรหรือปีนขึ้นที่สูง
  • แอลกอฮอล์ที่ใช้ในโรงงานช่างไม้ นั้นเป็นแอลกอฮอล์ที่กินไม่ได้ การแอบขโมยไปกิน อาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้
  • ห้ามลักลอบนำทินเนอร์ที่ใช้ในการ ฝึกวิชาชีพช่างสีไปสูดดม เพราะนอกจากจะทำให้ เสพติดเป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษตามระเบียบฯ
  • ผู้ ต้องขังที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคลมบ้าหมู โรคภูมิแพ้ สายตาผิดปกติ ฯลฯ ซึ่งไม่เหมาะสำหรับการฝึกวิชาชีพบางประเภท แพทย์หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลของเรือนจำ จะแจ้งเรือนจำเพื่อขอเปลี่ยนงานให้

http://www.hosdoc.com/index.php?option=com_content&view=article&id=48%3Afor-medical-insurance-cards&catid=2%3Aguide-prison&Itemid=14

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ12 สิงหาคม 2553 เวลา 01:53

    อยากรู้ชื่อของผู้ต้องขังที่จะถูกปล่อยตัวจะต้องเข้าไปดูที่ไหนค่ะ

    ตอบลบ
  2. เวลาผู้ต้องขังเขียนจดหมายหาญาติ จะระบุหรือไม่ว่าจดหมายออกมาจากเรือนจำ

    ตอบลบ
  3. ถ้าจัดฟันอยู่ล่ะครับจะต้องถอดเครื่องมือก่อนเข้าคุกหรือปล่าว

    ตอบลบ

อารายเหรอ