ชราโอเกะ ต่ำกว่า 50 ห้ามเข้า
กรุงเทพมหานครมุ่งส่งเสริมพื้นที่เล่นกีฬา และสนามเด็กเล่นให้กับเยาวชน
โดยลืมไปว่ายังมีคนอีกวัยหนึ่ง ต้องการพื้นที่ส่วนตัว
ทำให้พวกเขาต้องมองหาและเนรมิตมันขึ้นมาเอง ดูทรงดูฐานแล้ว เราเรียกมันว่า "ชราโอเกะ"
ชมรมคนรักเสียงเพลงชั้นใต้ดินของบิ๊กซี ดิสเคาน์สโตร์ ย่านลาดพร้าว ดูผิวเผินเหมือนจะเป็น
ที่สอนเต้นรำลีลาศมากกว่าร้านคาราโอเกะ
มองผ่านกระจกเข้าไปในร้านเห็นมีเวทีขนาดเล็กเกาะอยู่ตรงมุมห้อง มีโต๊ะนั่งดริ๊งค์ราว 10 โต๊ะเห็นจะได้
หน้าเวทีมีลานโล่ง สำหรับวาดลวดลายโชว์สเต็ปแดนซ์
เหนือขึ้นไปมีลูกกลมๆ เหมือนดิสโก้เธคส่องแสงวาววับ
อายุอานามของนักร้อง และขาแดนซ์ลูกค้าของชมรมคนรักเสียงเพลงคาราโอเกะต้องบอกว่า "โก๋หลังวัง" ล้วนๆ ท่าน สว. หรือผู้สูงวัยทั้งชายหญิงคือแฟนพันธุ์แท้ของเพ็ญศรี พุ่มชูศรี, ชรินทร์ นันทนาคร, ผ่องศรี วรนุช, เอลวิส เพรสลีย์ และเดอะ บีทเทิลส์ จะ ไม่มีแบบเลดี้ กาก้า
, บอย พีซเมกเกอร์ หรือ แคลอรี่ส์ บลา บลา
คุณสมบัติของลูกค้าขาประจำพอแยกเป็นข้อๆ ได้ ดังนี้
1. อายุเกิน 50
2. ร้องเพลงสุนทราภรณ์เป็น
3. ถ้าไม่ร้องสุนทราภรณ์ ก็จะร้องเพลงลูกทุ่งหรือเพลงฝรั่งเก่าๆ
4.เต้นลีลาศได้ในทุกเพลง ทุกจังหวะ
มีเพียง "หนูแหม่ม" อภิญญา สโมสร หญิงสาววัย 23 ผิวขาวราวหยวกกล้วย หน้าตาออกแนวลูกครึ่งตะวันตกสมชื่อเท่านั้นที่อายุน้อยสุด เธอมีหน้าที่รับคิว เก็บสตางค์ เสิร์ฟเครื่องดื่มที่มีตั้งแต่น้ำเปล่า ยัน น้ำยอดข้าว
"ลูกค้าส่วนใหญ่ 50 อัพ เกษียณกันแล้วค่ะ หรือไม่ก็เป็นเจ้าของธุรกิจมีลูกหลานดูแลแทนเพราะอายุเยอะแล้ว " แหม่มบอกภาพรวมวัยวุฒิของลูกค้า
ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเป็นลูกค้าขาประจำชนิดมารอกันตั้งแต่ยังไม่เปิด ร้านแทบทุกวัน ทั้งที่เปิดเที่ยง แต่มาออกันตั้งแต่สิบโมงเช้าตามเวลาห้างเปิด ด้วยพนักงานที่นี่ดูแลลูกค้าทุกคนอย่างเป็นกันเองราวกับ “ญาติผู้ใหญ่” ทุกคนที่เข้ามาล้วนรู้จักหน้าค่าตากันหมด ทันทีที่เดินเข้าประตูมาจะยกมือไหว้ทักทายกันอย่างคุ้นเคย
"เป็นไง ถูกหวยหรือเปล่างวดนี้ " เสียงทักดังมาจากโต๊ะใหญ่กลางห้องพร้อมเสียงหัวเราะ
บทสนทนาทักทายสลับเสียงหัวเราะเอิ้กอ้ากดังแทรกไปกับเสียงเพลง " Let It Be " ของเดอะ บีทเทิลส์ ซึ่งเป็นที่ประทับใจคอเพลงรุ่นเก่าหลายคน ...ต่อด้วยเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง ได้บรรยากาศย้อนยุคแนว retrospective
ราคาค่าบริการคาราโอเกะที่นี่คิดเพลงละ 10 บาท ซึ่งเป็นราคาเดียวกับเครื่องดื่ม
"ร้านเราคิดราคานี้มาหลายปีแล้วไม่เคยคิดที่เพิ่มอะไร เอาแค่พออยู่ได้ จ่ายค่าเช่าพื้นที่เดือนละ 17,000 บาทก็พอแล้ว"
เดิมแหม่มเคยทำงานเป็นช่างทำผมมาก่อน วันดีคืนดี ไก่ หรือชื่อเต็มตามบัตรประชาชนคือ สนิท เดี้ยมบุตร แฟนหนุ่มวัยเดียวกัน เกิดไอเดียตั้ง "ชมรมคนรักเสียงเพลง" ในฐานะที่เป็นนักดนตรีที่เข้าใจโลก (คนแก่) ชวนมาช่วยดูแลลูกค้า เริ่มต้นจากรับร้องคู่ให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการคิดราคาเพลง 10 บาท เพราะบางคนมาคนเดียวไม่มีคู่ แต่อยากร้องเพลงคู่ เช่น นกเขาคูรัก , หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ หรือ พ่อแง่แม่งอน จนลูกค้าติดใจ เป็นเหตุให้เธอต้องเลิกจากงานช่างผมมาดูแลชราโอเกะไปโดยปริยาย
เธอบอกว่าตัวเองค่อนข้างเป็นคนใจเย็น เลยอยู่กับคุณลุงคุณป้าได้ไม่มีปัญหา แม้บางครั้งลูกค้าวัยรุ่น (เดอะ) จะอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ตามความผันผวนของฮอร์โมน ความที่ทำมา 3-4 ปีแล้วเลยเริ่มรู้ใจกันว่า ต้องทำตัวอย่างไร
หลายคนมาที่นี่ทุกวันเพราะไม่รู้จะไปไหน โดยเฉพาะช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ ลูกหลานไปทำงาน ลูกค้าจะหนาแน่นเป็นพิเศษ เกือบเต็มร้านประมาณ 50 คน ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จำนวนจะลดลง เพราะจะอยู่กับครอบครัว ลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ 4-5 ชั่วโมงก็กลับ แบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกเที่ยงถึงสี่โมงเย็น อีกกลุ่มหนึ่งมารอบสองเริ่มตั้งแต่ห้าโมงเย็นจนถึงสองทุ่ม
โดยเฉลี่ยลูกค้าคนหนึ่งร้องกัน 4-5 เพลง สูงสุด 10 เพลง นั่นหมายความว่า
พวกเขาอยู่กันตั้งแต่เช้ายันปิดร้าน
"ลูกค้า บางคนแหม่มรู้จักกันตั้งแต่ยังเดินเหินได้ปกติจนถึงลาโลก บางรายมาใช้บริการแล้วเกิดพบรักกันก็มีอยู่หลายคู่ ถึงขึ้นไปอยู่ด้วยกันเป็นเรื่องราวกลายเป็นตำนานรักของที่นี่ " เอ็นเตอร์เทนเนอร์ประจำร้านเล่าพร้อมกับอมยิ้ม
รักเราไม่เคยแก่
อาอู๋ -ชูศักดิ์ เจริญทรัพย์ ลูกค้าขาประจำ วัย 75 ปี เล่าว่า คนที่มาที่นี่ส่วนใหญ่อายุเยอะแล้ว ไม่ต้องทำงานมีเวลาว่างเลยมาร้องเพลงคลายเหงา ดีกว่าอยู่บ้านสมองจะได้ไม่เสื่อม เพราะมีเพื่อนคุย เพื่อนร้องเพลง มีหลายคนที่พบรักกันที่นี่
"จำได้ว่ามีอยู่คู่หนึ่งผู้ชายอายุ 64 ปี หน้าตายังดูดีอยู่ ผิวออกคล้ำๆ หน่อย ส่วนผู้หญิงอายุมากกว่าประมาณ 70 ปีได้ แก่กว่าผู้ชายมาร้องเพลง ไปๆ มาๆ อีท่าไหนไม่รู้ตกลงไปอยู่ด้วยกันเพราะต่างคนก็เป็นม่าย ลูกเต้าก็โตกันไปหมดแล้ว ไม่ต้องห่วงอะไร " อาอู๋ เล่าไปหัวเราะไปอย่างมีความสุข
อาอู๋ บอกว่าช่วงแรกชวนภรรยามาเป็นเพื่อน แต่ตอนหลังภรรยาขอบาย ด้วยสุขภาพไม่ดี นักเดินทางลำบาก เธอจึงเลือกคลายเหงาด้วยการไปเฝ้าร้านให้น้องชายแทน อีกเหตุผลก็คือเธอร้องเพลงไม่เป็นขี้เกียจนั่งรอสามีทุกวัน สู้กลับไปกินข้าวเย็นด้วยกันดีกว่า
“ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไรเลยมาร้องเพลง หาเพื่อนคุยที่นี่แทบทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ตั้งแต่เที่ยงพอ 4-5 โมงเย็นก็นั่งรถเมล์ฟรีกลับบ้าน ผมอยู่แถวสุขาภิบาล 3 ค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 200-300 บาท เป็นค่าอาหารการกิน รวมทั้งร้องเพลง และเลี้ยงเพื่อนฝูงบ้างบางครั้ง”
ไม่น่าเชื่อว่า 10 กว่าปีก่อน อาอู๋จะร้องเพลงไม่เป็นเลย แต่พออายุมากขึ้นไม่ต้องทำงานแล้วเขาถึงเริ่มหัดร้องเพลงครั้งแรกที่สวนลุม หลังจากเดินออกกำลังกาย ต่อมาพรรคพวกชวนมาชมรมคนรักเสียงเพลงเพราะใกล้กว่าไม่ต้องเดินทางไกล
เพลงประจำตัวของอาอู๋ คือ ดวงใจในฝัน ของสุเทพ วงศ์กำแหง ความรักในจินตนาการ ของทูน ทองใจ และขวัญใจคนจน ของสุเทพ วงศ์กำแหง
ทุกวันนี้ อาอู๋ มีสุขภาพดี จะมีอยู่เรื่องเดียวที่เป็นปัญหาคืออาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาอู๋ ใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการไม่ดื่มน้ำเวลาที่เดินทางออกจากบ้าน จะได้ไม่ปวดปัสสาวะระหว่างเดินทางมาร้องคาราโอเกะที่นี่
สมชาย อนุเคราะห์ธนาพงษ์ หรือ "ไมโคร" ฉายาขาประจำวัย 50 อดีตเขาเคยเป็นนายท่า ขสมก. แต่ช่วงหลังประสบปัญหาสุขภาพ เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว หลังจากผ่าตัดสุขภาพดีขึ้นเลยหันมาสนใจเรื่องร้องเพลง
สมชาย ไมโคร เล่าว่าสมัยก่อนชอบร้องเพลงเป็นงานอดิเรก เพราะได้รับคำแนะนำจากหมอว่า เพลงมีประโยชน์ ช่วยให้ปอดเราขยายและหัวใจเต้นดี ถือเป็นการพักผ่อนชนิดหนึ่งเหมือนการออกกำลังกาย
“ว่างๆ พี่ก็เลยมาร้องเพลง ค่อยรู้จักคนโน้นคนนี้จนสนิทกัน เพราะมาร้องเพลงที่นี่ อาทิตย์ละ 3 วัน แล้วแต่ว่าง ถ้าวันไหนมีงานกับครอบครัวก็มาไม่ได้ ถ้าว่างก็จะมา พอ 4-5 โมงเย็นก็กลับบ้านเหมือนเลิกงาน” พี่ไมโครเริ่มพูดคุยนับญาติด้วย
ทุกคนที่บ้านรู้ว่า เขามาร้องเพลงที่นี่ เพื่อนส่วนใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไป เขาบอกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิก อยู่ในวัยหลังเกษียณและพอมีสตางค์ แต่ละก๊วนที่เข้ามาร้องเพลงมีประมาณ 15 คนขึ้นไป ต่างคนต่างมา รวมๆ แล้ววันหนึ่ง 50 คนขึ้นไป
“สมาชิก ที่นี่เราขอร้องกันอยู่เรื่องหนึ่งคือ ไม่พูดเรื่องการเมือง เพราะเดี๋ยวทะเลาะกัน แบ่งแยกแบ่งสี ห้ามคุยเรื่องการเมืองเลยนะ ใครจะเหลืองจะแดงก็แล้วแต่คุณ แต่ว่าเรามาที่นี่เรามาสนุกกัน ไม่ได้มาทะเลาะกัน”
สมชาย ยังเล่าถึงธรรมเนียมของที่นี่ว่า เพื่อนในก๊วนจะจดกันเอาไว้ว่าใครเกิดวันไหน เดือนอะไร พอถึงวันเกิดใครก็จะช่วยกันจัดงานวันเกิดให้ คนที่เกิดวันนั้นจะไม่ต้องจ่ายเงิน ถือเป็นการสังสรรค์กัน ถ้าใครเสียชีวิตถ้ารู้ถึงหูก็จะไปช่วยเหลือกัน คล้ายกับเป็นครอบครัวเดียวกัน
“แต่ละครั้งพี่มาร้องเพลงใช้เงินไม่เกิน 60 บาท ค่ากินก็ตีไป 40 บาทขึ้นรถเมล์ฟรี เฉลี่ยวันละ 100 บาท วันหนึ่งไม่ได้ใช้อะไรมากมายหรอก พอเย็นก็กลับไปกินข้าวบ้าน”
พี่สมชายไมโครร้องได้ทุกแนวทั้งเพลงสากล เพลงไทยทั้งลูกทุ่ง ลูกกรุง ยกเว้นเพลงสตริงยุคนี้ไม่ต้องพูดถึง ทุกคนไม่มีใครร้องเป็น ส่วนมากเพลงที่ร้องจะเป็นย้อนยุค เพราะคนที่เข้ามาในร้าน 50 ขึ้นไป วัยรุ่นแทบไม่มีหลงเข้ามาเลย ส่วนที่เห็นเต้นลีลาศ ทุกคนต่างคนต่างเต้นเป็นกันมาอยู่แล้วไม่ใช่เพิ่งมาฝึกเต้น
"ใครเต้นเป็นก็มาเต้นโชว์กัน แต่ที่มันค่อนข้างจำกัด มันน้อยไปหน่อย ถ้าเทียบกับที่อื่น แต่คิวยาว ไม่สนุกเหมือนมาที่นี่ พี่เคยไปนะแต่เบื่อตรงรอคิวนานกว่าจะได้ร้องเพลงรอนาน เกือบ 2 ชั่วโมง ไม่ไหว ปกติคนหนึ่งจะร้องหลายเพลง ใครจะไปรอเสียเวลา ไม่คุ้มค่าเดินทาง"
สำหรับผู้มีดนตรีในหัวใจแล้ว สมชายบอกว่า มักจะมีอารมณ์อ่อนไหว ไม่ชอบรออะไรนานๆ ยิ่งคนที่ชอบร้องเพลง ไปถึงก็อยากจะร้องทันที จะให้ไปนั่งรอเป็นวันคงไม่ไหว...นี่ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่งสำหรับร้านที่ อยากเปิดให้บริการผู้สูงอายุ
เดิมชมรมคนรักเสียงเพลงเปิดให้บริการอยู่บริเวณศูนย์อาหาร ตอนหลังย้ายมาอยู่หัวมุมด้านหน้าชั้นใต้ดินแทน สมาชิกบางคนมองว่ามันดูเป็นส่วนตัวมากเกินไป โอกาสดึงคนกลุ่มใหม่มาร่วมจอยเลยน้อยลง
"สำหรับ ส.ว.อย่างพวกเราไม่รู้จะไปไหนก็มาเจอกัน เสียดายพอมาเป็นร้านแบบนี้มันดูส่วนตัวไปนิดหนึ่ง คนไม่รู้เขาไม่กล้าเข้ามาแจม นึกว่า จัดเลี้ยงอะไรกันทุกวัน ความจริงสมัยก่อน พื้นที่กว้างกว่านี้ เพราะเป็นเวทีในฟู้ด คอร์ด คนที่มากินอาหารจะได้ฟังเพลงไปด้วย คนก็มีกำลังใจ" สมชายทิ้งท้ายก่อนขอตัวไปขึ้นเวทีวาดลวดลายต่อ ก่อนถึงเวลากลับบ้านคงจะได้อีกสักเพลงสองเพลง
สำหรับบรรยากาศในร้านชราโอเกะกระเดียดไปในแนวแหล่งพบปะเพื่อนฝูงเสียมากกว่า แข่งกันร้องเพลงกันแบบเอาเป็นเอาตาย ส่วนแหม่มทำหน้าที่เหมือนลูกหลานของพวกเขาที่คอยดูแล เลือกเพลง เป็นคู่เต้นรำ ร้องเพลงคู่ ฯลฯ สุดแล้วแต่บรรดาท่าน ส.ว. (ร้อง)ขอ และยามที่สาวน้อยของพวกเขาให้บริการไม่ทัน พวกเขาก็พร้อมทำหน้าที่ self-service อย่างเป็นกันเองทั้งเสิร์ฟน้ำ จดคิวคนขอร้องเพลงในแต่ละโต๊ะ หรือคอยต้อนรับแขกหน้าใหม่
เผื่อใครอยากเข้ามาประลองสเต็ปหรือเส้นเสียง จะได้ทั้งความสนุกและสุขใจกลับไป
ข้อดีอีกอย่าง ที่นี่ไม่ตรวจบัตรประชาชนก่อนเข้าร้านด้วย...
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
อารายเหรอ