วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อาการ ‘ผีอำขณะเคลิ้มหลับ’


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์


เชื่อได้เลยว่า หลายบ้านคงต้องมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเคยเกิดอาการ “ผีอำ” กันมาบ้างแล้ว ด้วยอาการสากลที่มักพบได้บ่อย นั่นคือ ขยับแขนขาไม่ได้ ลืมตาไม่ได้ พูดไม่ได้ หรือหายใจลึกๆ ไม่ได้ ในขณะที่รู้สึกว่าตนเองตื่นอยู่ ทำให้มีลักษณะเหมือนเป็นอัมพาตทั้งตัว รวมไปถึงบางคนอาจเห็นภาพหลอน หรือได้ยินเสียงหลอน และฝันร้ายร่วมด้วย ทำให้ตกใจกลัว เพราะเคลื่อนไหวหรือต่อสู้ไม่ได้

เพื่อให้ทุกบ้าน เข้าใจลักษณะอาการผีอำที่เกิดขึ้น ทีมงาน Life and Family ได้สอบถามไปยัง “พล.อ.ดร.นพ.โยธิน ชินวลัญญ์” อายุรแพทย์ระบบประสาท ประจำศูนย์สมอง และระบบประสาท รพ.กรุงเทพ ซึ่งได้รับความรู้ที่น่าสนใจว่า อาการผีอำ เกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป อาจจะเจออย่างน้อยเดือนละครั้ง สองครั้ง หรือบางครั้งอาการผีอำ มักเกิดขึ้นกับคนที่มีโรคประจำตัวที่จำเป็นต้องกินยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้ง่าย

*** ผีอำ…ภาวะผีกดทับ หรือแค่อาการชนิดหนึ่ง?

สำหรับภาวะผีอำนั้น คุณหมอบอกว่า เป็นอาการของจิตแบบหนึ่ง เกิดขึ้นขณะกำลังเคลิ้มหลับ หรือช่วงใกล้ตื่นนอน ในขณะนั้นสภาพจิตใจเริ่มรู้ต้วขึ้นบ้าง แต่ยังไม่รู้เต็มที่ อาจรับรู้ทางหู หรือทางตาได้ แต่ทั้งนี้อาจแปลเสียง หรือภาพไปในทางที่น่ากลัว ซึ่งภาวะผีอำ มักเกิดจากความเหนื่อยล้า โดยเฉพาะหลังจากทำงาน ดูหนังสือ หรือแม้กระทั่งดูโทรทัศน์ ส่งผลให้เมื่อล้มตัวนอนด้วยความล้า จึงเกิดการประสานกันระหว่างสารเคมี กับสภาพชีวเคมีของร่างกาย เกิดอาการทั้งกดทั้งค้าง ทำให้ขยับเขยื้อนตัวเองไม่ได้

ดัง นั้น อาการผีอำ จึงเกิดจากการที่กล้ามเนื้อของร่างกายเข้าสู่ภาวะการหลับ ที่เรียกว่า REM (Rapid Eye Movement) แต่สมองส่วนที่เป็นจิตสำนึกยังตื่นอยู่ อาการผีอำเป็นอาการที่ร่างกายกับจิตสำนึกหลับไม่พร้อมกัน หรือตื่นขึ้นมาไม่พร้อมกัน ส่งผลให้ร่างกายไม่สารมารถขยับตัวเองได้ ทั้งๆ ที่พยายามขยับตัวให้หลุดออกจากภาวะดังกล่าว ซึ่งจะเป็นเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นไปเอง

*** ผีอำ สัมพันธ์กับการนอน และสถานการณ์ประจำวัน

อาการผีอำ มักจะเกี่ยวข้องกับการนอน และสัมพันธ์กับสถานการณ์ ในชีวิตประจำวัน เช่น สถานการณ์ที่ทำให้เขากังวล ตื่นเต้น พูดได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะถูกผีอำได้ ไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตใจ เป็นเพียงตะกอนความคิดที่เกิดจากชีวิตประจำวัน ซึ่งบางคนหาทางออกไม่ได้ ก็ไปออกในช่วงตอนนอน เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนคนนั้นเริ่มมีภาวะความเครียด ไม่ถือเป็นโรค ไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะมันจะหายได้เอง


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

และคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ถูกผีอำส่วนใหญ่ จะนอนอยู่บนเตียง มีเป็นส่วนน้อยที่จะโดนอำในท่านั่งหลับบนเก้าอี้ หรือท่าที่ไม่น่าจะสบายนัก และมักจะเกิดกับคนที่นอนหงายมากที่สุด ระยะเวลานานตั้งแต่ 2-3 วินาที จนถึง 10 นาที โดยจะหายไปเอง หรือไม่ก็ผู้ที่ถูกผีอำพยายามเอาชนะอาการเอง หรือมีคนมาช่วยสะกิดปลุกให้ตื่นขึ้น

ทั้งนี้ อาจมีอาการหลอนทางประสาทร่วมด้วย ได้แก่ หลอนว่าตัวลอย หรือบินได้ หรือเหมือนกำลังออกจากร่าง หมุนเคว้ง หลอนทางสัมผัสกาย เช่น มีใครมากดทับหน้าอก หรือ มีใครมาสัมผัสตัว หรือ ดึงตัวเอาไว้กับเตียง บางทีก็รู้สึกว่าผ้าคลุมเตียงเคลื่อนไหว

บางคนก็โดนเขย่าตัว หรือ มีความเจ็บปวดเกิดขึ้น หลอนทางการได้ยิน เช่น ได้ยินเสียงย่างเท้า เสียงเคาะประตู เสียงหายใจ เสียงคุย เสียงกระซิบ เสียงฮัม เสียงหึหึ หลอนทางการมองเห็น เช่น เห็นหมอกควัน หรือ ความมืดคลึ้ม เห็นร่างคน สัตว์ หรือ อสูรกาย บางทีก็มีการโต้ตอบทั้งทางกายหรือวาจากับสิ่งที่เห็นนั้น อย่างเป็นเรื่องเป็นราว หลอนทางการได้กลิ่น เช่น ได้กลิ่นเครื่องหอม กลิ่นสาบ

*** ‘ผีอำ’ ป้องกัน-แก้ไขได้ โดยไม่ต้องใช้คาถา

สำหรับวิธีการลดอาการผีอำขณะเคลิ้มหลับ หรือช่วงใกล้ตื่นนอนนั้น สามารถทำได้ง่าย ซึ่งคุณหมอแนะนำว่า ควรจัดตารางการนอนให้ดี ไม่ควรอดหลับ อดนอนจนเกิดภาวะสะสม นอกจากนี้ การออกกำลังกาย จะช่วยลดความเครียดได้ดี อย่างไรก็ดี การผ่อนคลายความเครียด ควรก่อนนอนสัก 1-2 ชั่วโมง ไม่ทำอะไรที่ตื่นเต้น เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นเกมส์ หรืออาจจะอาบน้ำอุ่น หรือดื่มนมอุ่นๆ โดยเฉพาะนมถั่วเหลือง จะทำให้หลับสบายขึ้น

และเมื่อรู้สึกว่าโดนผีอำ ให้รีบตั้งสติทันที อย่าตกใจ โดยการออกจากผีอำจะได้ผลดีที่สุดเมื่อรีบทำตั้งแต่มันเกิด พยายามขยับกล้ามเนื้อตา กล้ามเนื้อนิ้ว อะไรที่เล็กๆ ก่อน เพราะหากขยับได้ จะทำให้หลุดออกได้ในทันที


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

*** ผีอำบ่อยๆ ไม่ดี เสี่ยงเป็นโรค Narcolepsy

ถ้ามีลักษณะอาการผีอำ ร่วมกับอาการง่วงตอนกลางวัน คุณหมอบอกว่า อาจเป็นสัญญาญเตือนสู่ตัวโรคง่วงมากผิดปกติ หรือ Narcolepsy ซึ่งจะพบได้ทุกวัย ตั้งแต่ช่วงอายุ 20-50 ปี เนื่องจากอดนอน หรือนอนไม่พอสะสมมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลา ส่งผลให้บางคนทำงาน หรือกำลังขับรถอยู่ เกิดอาการวูบหลับในทันทีได้

ดัง นั้น ถ้าสมาชิกในบ้านคนใด มีลักษณะอาการผีอำบ่อยๆ จนผิดปกติ บวกกับมีอาการง่วงกว่าปกติในตอนกลางวัน อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรค Narcolepsy ได้ ซึ่งถ้าไม่รีบเข้าไปพบแพทย์ อันตรายต่อการใช้ชีวิตได้ จะมีโอกาสเกิดได้สูง เช่น วูบหลับโดยที่ไม่รู้ตัวขณะขับรถ หรือวูบหลับ ขณะทำงานในหน่วยงานที่ต้องใช้ความเสี่ยงสูง เป็นต้น

////////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

อาการทั่วๆไปของ NARCOLEPSY มีคล้ายๆ กันอยู่ 4 ประการ คือ

1. อาการที่ง่วงนอนฉับพลันจะเกิดขึ้นวันละ หลายครั้ง บางคนเป็นติดๆกันวันละ 10 ครั้ง หรือกว่านั้นก็ยังมี

2. ตอนที่เริ่มหลับกะทันหัน มีฝันแน่ชัดกระจ่าง บางคนฝันร้ายและละเมอก็มี พอตื่นขึ้นจะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่อีกประเดี๋ยวเดียวก็กลับหลับไปอีก

3. เวลาหลับด้วยโรคนี้ หรือแม้แต่บางทีตอนกลางคืนขณะหลับตามธรรมดา จะมีอาการที่เรียกว่า CATAPLEXY หรือถ้าเรียกแบบภาษาชาวบ้าน ก็เรียกว่า SLEEP PARALYSIS คือกล้ามเนื้อตามร่างกายขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ เหมือนเป็นอัมพาต ทั้งๆที่บางครั้งรู้ตัวอยู่ แต่ก็พูดไม่ได้และเคลื่อนไหวไม่ได้ อย่าเพ่อตกใจ อาการอย่างนี้ไม่มีอันตราย เป็นอยู่เดี๋ยวเดียวก็หายไป

4. มีอาการสมองมึนชา ซึ่งไม่เกี่ยวกับการหลับ หมายความว่า สมองมึนชาขณะยังตื่นอยู่ บางทีจำอะไรไม่ได้ แต่อาการมึนชาหรืออาการเกี่ยวกับสมองนี้ มักจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ ก่อนจะเกิดอาการหลับกะทันหัน ผู้ป่วยมักจะมีอารมณ์รุนแรง เช่น โกรธอย่างชนิดระงับอารมณ์ไม่อยู่ หรือแม้แต่ เกิดรู้สึกสนุกขบขัน หัวเราะอยู่ได้นานๆ หัวเราะไม่หยุด นอกจากจะเกิดอาการสมองมึนชาแล้ว ถึงเวลาหลับแบบ NARCOLEPSY ก็จะหลับบ่อยๆ และมากครั้งต่อวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ