วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อีตันเณรน้อยที่ด่านซ้าย

อีตันเณรน้อยที่ด่านซ้าย



คนมีความฝัน พระก็มี...เรื่องที่จะเล่าวันนี้ เป็นความฝันของพระศรีญาณโสภณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสแห่งวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก


ที่ฝันอยากสร้างวิทยาลัยศาสนทายาท จัดตั้งโรงเรียนสาธิตมหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชสักการะพิเศษเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยจะทรงเจริญพระชนมพรรษา 82 พรรษา และน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในมหามงคลสมัยทรงมีพระชันษา 96 ปี




พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักร สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขแห่งศาสนจักร โครงการสาธิตมหามกุฏราชวิทยาลัยนี้จึงมีความหมายเชิงสัญลักษณ์แห่งคู่บุญ บารมี อันหมายถึงพระธรรมค้ำแผ่นดินที่จะยั่งยืนสืบต่อ รากแก้วแห่งแผ่นดินที่จะปลูกหน่อต่อยอด และสยายคุณงามแห่งธรรมไปทั่วแผ่นดิน ด้วยโรงเรียนที่ไม่ใช่แค่โรงเรียน แต่จะเทียบชั้นเป็นถึงวิทยาลัยอีตัน (Eton College) เป็นสถานศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาด้านพุทธศาสนาของเณรหลายพันหลาย หมื่นรูปในประเทศ

ณ กลางหุบเขาอันไกลโพ้น

“เณรมีเสน่ห์ของเณร มีความบริสุทธิ์ มีความใสงาม อาตมาเป็นคนรักเณร เพราะตัวเองก็เป็นเณรมาตั้งแต่ 11 ขวบ สามเณรเป็นเสน่ห์ของพุทธศาสนา เณรนี่เองที่เปลี่ยนพระเจ้าอโศกให้ทิ้งศาสตราวุธ หันมาใช้ธรรมาวุธ ไม่มีนิโครธสามเณรก็ไม่มีพระเจ้าอโศกผู้ทรงธรรม และไม่มีเสาอโศก 84,000 ต้น ที่หยั่งรากลึกทั่วอินเดีย” พระศรีญาณโสภณ กล่าว





ท่านเล่าว่า ตัวท่านเองอยู่ป่าดอยมาแต่เด็ก ถึงจุดหนึ่งมีพละพลังความสามารถ ก็อยากคืนกำไรให้แผ่นดิน ถือว่าใครคืนได้ก็คืนกันมาด้วยสิ่งที่มี มีกำลังคืนกำลัง มีเงินคืนเงิน มีปัญญาคืนปัญญา ด้วยเหตุนี้โรงเรียนอีตันของเณรจึงค่อยๆ เกิดขึ้น โครงการฯ รับบริจาคที่ดิน 500 ไร่ ณ หุบลึบกลางภูเรือ ด่านซ้าย จ.เลย ใจกลางเงื้อมเงาแห่งทะเลภูอันกว้างใหญ่สลับซับซ้อน ที่ที่ตามองไปไกลจากโลก พุทธะคอลเลจสมบูรณ์แบบที่ตั้งอยู่ราวกับอีกโลกหนึ่ง

ไม่เหมือนใคร และจะไม่มีใครเหมือน ที่นี่จะเป็นที่สำหรับเด็กด้อยโอกาส บวชเรียนเพื่อพัฒนาสู่ความเป็นเลิศทั้งทางโลกและทางธรรม โอกาสทางการศึกษา (ที่ได้มาตรฐาน) สำหรับเด็กยากไร้ เด็กมีปัญหา และเด็กที่ตกหล่นทางสังคม ที่นี่ไม่ใช่โรงเรียนสอนศีลธรรม แต่จะเป็นทั้งโรงเรียนที่มีศีลและธรรมครอบอยู่ ผู้เรียนต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนสุดยอดคอมพิวเตอร์ที่มีเซฟเวอร์สำหรับเก็บข้อมูล มีซอฟต์แวร์มีดาต้าเบส เป็นตัวสมาธิ มีแอนตี้ไวรัส คือตัวศีล และมีตัวฟอร์แมตข้อมูลที่เป็นตัวปัญญา หมายถึงความสามารถในการแก้ปัญหา

อีตันของน้องเณร

ไทยเข้มแข็งที่แท้จริงคือจุดนี้ใช่หรือไม่ ชนบทต้องมั่นคงและเท่าเทียม บุคคลในชนบทต้องได้รับการศึกษา ปลูกสติ ปลูกปัญญา อีตันน้องเณรจะนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ วางศิลาฤกษ์วันที่ 9 ธ.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ได้เริ่มดำเนินการมาระยะหนึ่ง คณะบุกเบิกได้แก่ เณรน้อย 60 รูป พระ (ครู) 5 รูป และโยมครู 10 คน ที่นี่สอนระบบไตรลิงกัว 3 ภาษา ไทย-จีน-อังกฤษ การเรียนการสอนถนัดอยู่แถวๆ แนวต้นไม้ มีอาคารบ้านดินมุงจาก 1 หลังน้อย แต่ก็ไม่เหมาะนัก เนื่องจากเณรซึ่งยังเป็นเด็กย่อมซนเป็นลิง มักเขียนขีดฝาดิน คุ้ยแคะแกะเกาเล่น วันๆ ข่วนเอาดินตะกุยออกมาเป็นแถบๆ

อีตันเณรไทยอยู่ไกลปืนเที่ยงที่กลางหุบ ตื่นขึ้นมาอากาศหนาวเย็นเจี๊ยบ แต่น้องเณรก็ยังพยายามยิงฟันยิ้มให้กัน ประคับประคองกันพออยู่ไป วันหนึ่งเณรน้อยเขียนจดหมายตัวโย้เย้ไปหาโยมแม่ “แม่ครับ ผมอยู่ที่นี่ ผมรอดแล้วครับ” โยมแม่ดูแล้วน้ำตาร่วงผล็อย เอามาให้พระศรีญาณโสภณดู หลวงพี่สารภาพว่าน้ำตาหลวงพี่ก็จะร่วงเสียให้ได้




อีตัน...ทำไมถึงต้องอีตัน อีตันคือโรงเรียนดีสำหรับเด็กรวยอังกฤษ แต่อีตันที่ด่านซ้ายคือโรงเรียนดีสำหรับเด็กไทยจนๆ คำตอบอาจเพราะรากฐานการศึกษาของผู้ก่อตั้ง พระศรีญาณโสภณ นั้นบวชเป็นสามเณรเมื่ออายุ 12 ปีที่อุดรธานี และย้ายมาศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ทรงเป็นพระอุปัชาย์ จบปริญญาโทศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากนั้นได้รับพระมหากรุณาธิคุณทุนการศึกษาในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปศึกษาต่อที่ School of Oriental and African Studies (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ การศึกษาที่เป็นระบบท่านมองว่าไทยก็ทำได้

“ปัญหาการศึกษาบ้านเรา คือ คนมีโอกาส ยิ่งได้โอกาส คนด้อยโอกาส ยิ่งหมดโอกาส ในต่างประเทศการศึกษาเจริญมากเพราะวางระบบดี สำหรับประเทศไทย หากทำอย่างเป็นระบบ จะทำได้” พระศรีญาณโสภณ กล่าว ปัจจุบันเณรมีจำนวน 3.5 หมื่นรูป โครงการฯ หวังขยายการศึกษาให้ครอบคลุมอย่างน้อยใน 5 จุดทั่วประเทศ


เณรน้อย...รอยยิ้ม




และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งมหัศจรรย์อีกอย่าง ใครไปไหว้พระวัดพระราม ๙ วันที่ 5-31 ธ.ค.นี้ จะพบการรวมตัวของศิลปินช่างภาพที่ฝีมือเหนือฝีมือ ช่างภาพอิสระและอีโก้ส่วนตัวที่นัดมาประชุมพร้อมกันเพื่อศิลปะ ศรัทธาและศาสนาเป็นครั้งแรกของไทย ทุกคนบริจาคภาพถ่ายเพื่อสมทบกองทุนปลูกรากแก้วศาสนทายาท ปลูกรากแก้วเพาะเมล็ดพันธุ์เพื่อการเติบโตแห่งพุทธศาสน์
“อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง” หนึ่งในช่างภาพที่ร่วมนิทรรศการ กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังคือแรงกระเพื่อม ที่สังคมจะได้หันมามอง และให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเติบโต ปัญหาของสังคมไทยคือเราแทบจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ดีที่เข้ามาอยู่ในวงการพุทธ ศาสนาเลย ในชั้นเชิงของศิลปะ คือความท้าทายที่จะสะท้อนให้เห็นที่เป็นอยู่ของเมล็ดพันธุ์น้อยๆ เหล่านี้

“พลังเล็กๆ เหมือนเมล็ดต้อยติ่ง พลังเล็กๆ ที่รอจะระเบิดออกมา กระเด็นกระดอนไปไม่รู้จบ เจอเหตุปัจจัยดี เขาก็เติบโตต่อได้ งอกงามต่อได้” อนุชัย กล่าว คนในสังคม สนใจแค่ไหนหรือไม่อย่างไร กับเมล็ดพันธุ์น้อยๆ ที่ต่อไปจะคือผู้สืบทอดศาสนา ในฐานะของศิลปินคือการทำให้เห็นแง่มุม ทะลุทะลวงสู่ความคิดความเข้าใจ ก่อนจะบรรจบที่จุดมุ่งหมายเดียวกันนั่นคือความสำคัญของการบ่มเพาะเมล็ด พันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ ระหว่างวันที่ 5-31 ธ.ค.นี้ เชิญชมนิทรรศการภาพถ่าย “เณรน้อย...รอยยิ้ม” (The Smile of the Novice) พบภาพถ่ายและจิตแห่งศรัทธาที่ร่วมแสดง 84 ภาพ จาก 25 ช่างภาพระดับชาติ เช่น อนุชัย ศรีจรูญพู่ทอง, ดร.ชวาล คูร์พิพัฒน์, ต่อ สันติศิริ, เอนกวงศ์ ไพฑูรย์ปิยะ ศ.ยาโรสลาฟ พอนซาร์, กิจจา ปรัชญาธรรมกร, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ธีรภาพ โลหิตกุล ฯลฯ จัดแสดงที่วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก สอบถาม โทร. 02-318-5926-7







[url=http://www.posttoday.com/lifestyle.php?id=78535]

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ