วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

“ดาวอังคาร" เพื่อนบ้านดวงสีแดง




“ดาวอังคาร" เพื่อนบ้านดวงสีแดง






หลุมวิกตอเรีย บันทึกในลักษณะพานอรามาโดยยานสำรวจออปพอร์จูนิตี เห็นสภาพภูมิทัศน์บนพื้นผิวของดาวแดง (NASA/JPL-Cornell)



ช่วง นี้หากใครมองดวงดาวบนท้องฟ้า อาจจะสังเกตเห็นดาวสีแดงดวงโตสว่างสุกใส ดาวดวงนั้นคือ "ดาวอังคาร" เพื่อนบ้านของโลกเรานี่เอง แต่ที่เห็นชัดเจนในช่วงนี้ เพราะดาวเคราะห์ลำดับที่ 4 ของระบบสุริยะโคจรเข้ามาใกล้โลกในทุกๆ 26 เดือน จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะได้สังเกตเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด



โลกและดาวอังคารเปรียบเทียบให้เห็นทั้งขนาดและพื้นผิวของดาวสีน้ำเงิน กับดาวแดง (NASA)


วันที่ดาวอังคารจะเข้าใกล้โลกมากที่สุด คือช่วงเช้าของวันที่ 28 ม.ค.53 นี้ ที่ระยะทาง 99,331,411 กิโลเมตร โดยขนาดปรากฏบนท้องฟ้าคือ 14.11 ฟิลิปดา เมื่อเทียบกับดวงจันทร์ที่มีขนาดปรากฏ 30 ลิปดาแล้ว การเข้าใกล้ของดาวอังคารครั้งนี้ มีขนาดปรากฏประมาณหลุมดวงจันทร์เล็กๆ เท่านั้นเอง โดย 1 ลิปดา มีค่าเท่ากับ 60 ฟิลิปดา

ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ให้ข้อมูลไว้ว่าในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.53 เราจะเห็นดาวอังคารบนท้องฟ้าได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวอังคารใกล้โลกเกิดขึ้นทุกๆ 26 เดือน และในวันที่ 30 ม.ค. ดาวอังคารจะอยู่ในตำแหน่งตรงกันข้ามกับดวงอาทิตย์ ทำให้เราเห็นดาวอังคารในวันนั้นได้ตั้งแต่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า และเห็นชัดเจนตลอดทั้งคืนจนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าในตอนเช้า และช่วงนี้หากใช้กล้องโทรทรรศน์เราจะสังเกตเห็นพื้นผิวและปรากฏการณ์ฟ้าหลัว (Haze) บนดาวอังคารได้ชัดเจนกว่าปกติ

สำหรับปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารใกล้โลกมากที่สุดนั้น เกิดขึ้นเมื่อ 28 ส.ค.46 ซึ่งครั้งนั้นดาวอังคารมีขนาดปรากฏถึง 25 ฟิลิปดา ทางด้านองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ระบุว่าเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 60,000 ปี ทั้งนี้เนื่องจากดาวอังคารมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ที่ค่อนข้างเป็นวงรีมากกว่าโลก และโลกจะโคจรรอบดวงอาทิตย์เร็วกว่าดาวอังคาร 2 เท่า ดังนั้นจึงมีโอกาสที่โลกกับดาวอังคารจะอยู่ไกลกันมาก และมีช่วงเวลาที่โลกกับดาวอังคารอยู่ใกล้กันมากเช่นกัน แต่สถิติเมื่อ 7 ปีก่อนจะถูกทำลาย เมื่อดาวอังคารเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2830




ขั้วโลกเหนือของดาวอังคารเป็นน้ำแข็ง ในยามใกล้โลกแค่กล้องมือสมัครเล่นก็อาจจะเห็นได้


เพื่อนบ้านลำดับที่ 4 มีอะไรคล้ายโลก

ดาว อังคารเป็นดาวเคราะห์หิน โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะเป็นตำแหน่งที่ 4 ด้วยระยะห่าง 228.5 ล้านกิโลเมตร ด้วยความเร็ว 23.3 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่าโลก 6.4 กิโลเมตรต่อวินาที โดยรอบปีหรือคาบโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวอังคารคือ 687 วัน แต่มีความยาวของวัน หรือเวลาในการหมุนรอบตัวเองใกล้เคียงกับโลก คือ 24 ชั่วโมง 37 นาที มีแรงโน้มถ่วงเพียง 0.375 ของแรงโน้มถ่วงโลก และรัศมีในแนวเส้นศูนย์สูตร 3,396 กิโลเมตร จึงมีขนาดเล็กกว่าโลกกว่าครึ่ง




สันทรายและฝุ่นที่เรียงกันเป็นแนวเช่นนี้ พบได้ทั่วไปตามหลุมต่างๆ ของดาวแดง
(NASA/JPL-Caltech)


นา ซาระบุว่า ดาวอังคารมีหลายสิ่งหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับโลก มีระบบหลายอย่างบนดาวอังคารที่มีลักษณะคล้ายกับโลก บนดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศ ที่ประกอบไปด้วยชั้นแอทโมสเฟียร์ (atmosphere) ชั้นไฮโดรสเฟียร์ (hydrosphere) ชั้นไครโอสเฟียร์ (cryosphere) และชั้นลิโธสเฟียร์ (lithosphere)

หรือกล่าวได้ว่าบนดาวอังคารมีทั้งระบบอากาศ น้ำ น้ำแข็งและธรณีวิทยา ซึ่งมีปฏิกิริยาต่อกันกลายเป็นสภาพแวดล้อมของดาวแดง

ชั้นบรรยากาศของดาวอังคารประกอบไปด้วยก๊าซหลายชนิด แต่หลักๆ คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีถึง 95.72% รองลงมาได้แก่ก๊าซไนโตรเจน 2.7% ส่วนออกซิเจนมีเพียง 0.2% ที่เหลือเป็นก๊าซอื่นๆ ได้แก่ อาร์กอน คาร์บอนมอนอกไซด์ ไอน้ำ ไนตริคออกไซด์ นีออน คริปตอน ฟอร์มัลดีไฮด์ ซีนอน โอโซน และมีเทน

โลกมีดวงจันทร์เป็นบริวารเพียงหนึ่งเดียว แต่ดาวอังคารมีดวงจันทร์บริวารอยู่ 2 ดวงเล็กๆ ได้แก่ ดวงจันทร์โฟโบส (Phobos) และดวงจันทร์ไดมอส (Deimos) ซึ่งชื่อของดวงจันทร์ทั้งสองหมายถึง "ความหวาดกลัว" และ ความหวั่นวิตก" ตามลำดับ และเป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อม้าศึกของ "เอเรส" (Ares) เทพเจ้าแห่งสงครามตามความชื่อของกรีก ซึ่งเป็นองค์เดียวกับ "มาร์ส" (Mars) เทพเจ้าแห่งสงครามตามความเชื่อโรมัน

ทั้งโฟโบสและไดมอสถูกค้นพบเมื่อปี 2420 โดยอาสาฟ ฮอลล์ (Asaph Hall) นักดาราศาสตร์อเมริกัน แต่เนื่องจากพื้นผิวของดวงจันทร์ทั้งสองดูคล้ายกับดาวเคราะห์น้อยทั่วไป ที่เห็นอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี จึงทำให้นักดาราศาสตร์หลายๆ คนเข้าใจว่า เป็นดาวเคราะห์น้อยที่ถูกดึงดูดไว้ เหมือนดาวเคราะห์น้อย 5261 ยูเรกา (5261 Eureka)


จากตำนานเทพเจ้าแห่งสงคราม สู่การเดินทางสำรวจ

ด้วย สีแดงคล้ายเลือดของดาวอังคาร เนื่องจากองค์ประกอบของดาวที่เต็มไปด้วยธาตุเหล็ก ทำให้ยามปรากฏบนท้องฟ้าถูกแปลความหมายเป็นสงครามและการรุกราน ความเชื่อนี้คงอยู่ยาวนานหลายพันปี (แม้ปัจจุบันที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ก็ยังคงความเชื่อเช่นนั้น)

นอกจากนี้มนุษย์ยังมีจินตนาการต่อดาวเพื่อนบ้านว่า บนดาวอังคารมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญายิ่งกว่ามนุษย์อาศัยอยู่ และเมื่อมีนักสำรวจส่องกล้องสังเกตดาวอังคารเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน และพบร่องรอยคล้ายคลองที่สร้างขึ้นจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทำให้เกิดความกลัวและหวั่นวิตกว่า สักวันชาวดาวอังคารที่ชื่นชอบสงครามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จะบุกรุกโลก




รูปปั้นของเทพเอเรสหรือมาร์สในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอิตาลีที่กรุงโรม


ทุก วันนี้เราทราบว่า ไม่มีอารยธรรมของสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาบนดาวอังคาร หากแต่การสำรวจดาวอังคารยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความหวังว่าดาวอังคารจะเป็นที่ตั้งรกรากใหม่ของมนุษย์ และถึงแม้ไม่พบสิ่งมีชีวิตทรงปัญญา แต่เราก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า ดาวอังคารจะพัฒนาขึ้นไปสู่ดาวที่มีสิ่งแวดล้อมให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ หรือไม่ หรือมีชั้นบรรยากาศเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอยู่หรือไม่

ปัจจุบันมียานอวกาศที่ยังทำงานโคจรรอบดาวอังคารอยู่ 3 ลำ ได้แก่ มาร์ส โอดิสซีย์ (Mars Odyssey) มาร์ส เอกซ์เพรส (Mars Express) และมาร์ส เรคอนเนสซองซ์ ออร์บิเตอร์ (Mars Reconnaissance Orbiter) ส่วนยานอวกาศที่ลงจอดบนดาวอังคารและกำลังสำรวจพื้นผิวดาวอังคารอยู่คือยาน สำรวจ มาร์ส เอกซ์พลอเรชัน โรเวอร์ (Mars Exploration Rover) 2 ลำ ได้แก่ ยานสปิริต (Spirit) และยานออปพอร์จูนิตี (Opportunity) ซึ่งทั้งหมดเป็นยานสำรวจของนาซา ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวในการทำงาน และก่อนหน้านั้นมีการส่งยานไปสำรวจดาวอังคารหลายครั้ง

นาซายังมีกำหนดส่งยานมาร์สไซน์แลบอราทอรี (Mars Science Laboratory: MSL) หรือเอ็มเอสแอลไปสำรวจดาวอังคารในปี 2554 ด้วย ซึ่งเอ็มเอสแอลนี้มีเทคโนโลยีตรวจหาจุลินทรีย์ ที่น่าจะมีอยู่บนดาวแดง และเทคโนโลยีที่สามารถปรับการบินระหว่างลงจอดผ่านชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร อีกทั้งยังได้รับการออกแบบเชิงวิศวกรรมให้ขับเคลื่อนไปบนพื้นผิวหยาบๆ ของดาวอังคารได้มากกว่ายานสำรวจก่อนหน้านี้ รวมถึงแบกรับน้ำหนักเครื่องมือมากกว่ายานคู่แฝดสปิริตและยานออปพอร์จูนิตี รวมกันถึง 10 เท่า

การสำรวจดาวอังคารนั้นนาซาตั้งเป้าหมายไว้ 4 เป้าหมาย ทั้งนี้ เพื่อเป็นกุญแจสู่ความเข้าใจศักยภาพทั้งในอดีต ปัจจุบันและ อนาคตของดาวอังคาร ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต ได้แก่ เป้าหมายแรกคือการประเมินว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่บนดาวอังคารหรือไม่ เป้าหมายที่ 2 คือการศึกษาลักษณะของภูมิอากาศบนดาวอังคาร เป้าหมายที่ 3 คือศึกษาลักษณะทางธรณีบนดาวอังคาร และเป้าหมายสุดท้ายคือการเตรียมพร้อมสำหรับส่งคนไปสำรวจดาวอังคาร


สภาพสุดขั้วแบบดาวอังคารบนโลก

สภาพ แวดล้อมบนดาวอังคารเป็นสภาพแวดล้อมที่สุดขั้ว มีแต่ความแห้งแล้ง เต็มไปด้วยหิน หนาวเหน็บและปราศจากสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ แม้แต่คนที่ชอบกีฬาเอกซ์ตรีมยังต้องล่าถอยกับสภาพของดาวแดง ซึ่งมีภูเขาไฟขนาดใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ มีหุบเขาที่ลึกที่สุด มีสภาพอากาศและอุณหภูมิที่เลวร้าย มีอุณหภูมิเฉลี่ย -46 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิต่ำสุดอยู่ที่ -87 องศาเซลเซียส และสูงสุดอยู่ที่ -5 องศาเซลเซียส

อย่างไรก็ดี มีสภาพแวดล้อมบนโลกที่ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมบนดาวอังคาร (แม้จะไม่เลวร้ายเท่าก็ตาม) อย่างหลุมอุกกาบาตในเขตขั้วโลกเหนือของแคนาดา มีสภาพแห้งแล้งคล้ายกับพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งนาซาใช้เป็นสถานที่ทดสอบชุดอวกาศสำหรับใช้สำรวจดาวอังคาร และยังมีพื้นที่อื่นๆ อาทิ หุบเขาแห่งความตาย (Death Valley) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่มีปล่องภูเขาไฟและหุบเขาเหมือนบนดาวอังคาร ทะเลสาบโมโนเลค (Mono Lake) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ซึ่งน้ำได้ระเหยไปนานกว่า 700,000 ปี เหมือนแอ่งน้ำบางแห่งบนดาวอังคาร เป็นต้น

แม้จากการสำรวจที่ผ่านมาจะชี้ให้เห็นว่าดาวอังคารเพื่อนบ้านที่อยู่ถัดไป จากโลกนั้นไม่มีสิ่งมีชีวิตที่ทรงปัญญากว่าหรือมีปัญญาใกล้เคียงกับมนุษย์ อาศัยอยู่ แต่ประเทศทั้งหลายทั้งสหรัฐฯ รัสเซียและญี่ปุ่น ที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศต่างแสดงความสนใจที่จะไปสำรวจดาว อังคาร โดยมีเป้าหมายอันใกล้กว่าคือส่งคนไปเยือนดวงจันทร์ให้ได้ภายในปี 2563

อย่างไรก็ดี นโยบายของ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เน้นให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่า และไม่ได้ให้สัญญากับนาซาว่าจะสนับสนุนให้ใช้เงินมหาศาลไปกับการสำรวจดวง จันทร์และดาวอังคาร ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของโลก

อย่างไรก็ดี วันนี้เราอาจยังเดินทางไปไม่ถึงดาวอังคาร แต่ดาวอังคารก็โคจรมาใกล้กับโลกให้เราสังเกตเพื่อนบ้านได้ชัดๆ และจะเป็นอยู่อย่างนี้ตามปกติของการโคจรของดวงดาวต่างๆ ในระบบสุริยะ

****************


FWD : จริงหรือเปล่า "ดาวอังคาร" สว่างเท่า "ดวงจันทร์"





หลาย คนคงเคยได้รับฟอร์เวิร์ดเมล ที่มีข้อความระบุถึงปรากฏการณ์ “ดาวอังคารใกล้โลก” ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง (ซึ่งถูกแก้ไขให้ทันสมัยอยู่ตลอด) ว่าในยามค่ำคืนนั้น จะเห็นดาวอังคารส่องแสงชัดเจนที่สุด ด้วยรูปทรงขนาดใหญ่ประดุจดังพระจันทร์เต็มดวง

ปรากฏการณ์ที่ดาวอังคารจะส่องสว่างเท่าดวงจันทร์นั้น ไม่มีทางเป็นไปได้

ดาวอังคารมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่าโลกประมาณ 1 เท่า และใหญ่กว่าดวงจันทร์ประมาณ 1 เท่า และแม้ว่าดาวอังคารจะมีโอกาสเข้าใกล้โลกได้มากที่สุด แต่ก็ไม่มีทางสว่างเท่าดวงจันทร์ได้ เพราะดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกเฉลี่ยเพียง 380,000 กิโลเมตรเท่านั้น

อีกทั้ง ดาวอังคารในช่วงที่เดินทางเข้าใกล้โลกมากที่สุด ก็จะสว่างได้เทียบเท่ากับดาวพฤหัสเท่านั้น


ที่มา โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ