วันพฤหัสบดีที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2553

สอ เศรษฐบุตร ตำนานดิกชันนารีไทย

สอ เศรษฐบุตร ตำนานดิกชันนารีไทย

ถ้าพูดถึงดิกชันนารีไทย หรือพจนานุกรมไทย-อังกฤษ หรือพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย คนส่วนใหญ่จะนึกถึงชื่อของ สอ เสถบุตร

โดย เมื่อเร็วๆ นี้ ทางพรีมา พับบลิชชิง ร่วมกับ ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานหวนรำลึกตำนานผู้สร้าง พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เล่มแรก ของประเทศไทย กว่า 4 ทศวรรษ ของ สอ เสถบุตร



"สอ เสถบุตร" ถือเป็นบุคคลตัวอย่างของผู้ไม่ท้อถอย เปี่ยมด้วยคุณภาพที่กลั่นจากอัจฉริยภาพทางภาษา และมีความมุ่งมั่นเพียรพยายามในการสร้างสรรค์พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย อันทรงคุณค่าและมีคุณูปการต่อการศึกษาของชาติ รวมทั้งเป็นต้นแบบของพจนานุกรมในรุ่นต่อๆ มา โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นพจนานุกรมที่ยอดเยี่ยมเป็นที่นิยมสูงสุดของไทย

คน ไทยส่วนใหญ่รู้จัก สอ เสถบุตร ในฐานะผู้แต่ง พจนานุกรม (ไทย-อังกฤษ/อังกฤษ-ไทย) แต่เพียงอย่างเดียว เพราะถือเป็น "งานแห่งชีวิต" ของสอ เสถบุตร

แต่นั่นไม่ใช่งานชิ้นเดียวของท่าน

สอ เสถบุตร มีชีวิตที่แปลกและน่าศึกษา มีเพียงไม่กี่คนที่ทราบว่า บุรุษผู้นี้เป็นวิศวกร โดยการศึกษาเล่าเรียนด้วยทุนคิงสกอลาร์ชิพ เป็นเจ้ากรมเลขาธิการองคมนตรีในราชสำนักของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ หัว เป็นนักโทษการเมืองสมัยประชาธิปไตยเริ่มก่อตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยความนิยมของประชาชนชาวธนบุรี และเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักเขียน ด้วยใจรักและพรสวรรค์ในการประพันธ์


ลักษณะเด่นของ สอ เสถบุตร ไม่ได้อยู่ที่ความเจนจัดในแขนงวิชาต่างๆ หากอยู่ที่ความไม่ย่อท้อต่อพรหมลิขิต เมื่อถูกชะตากรรมเล่นงาน ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนมนุษย์และความยึดมั่นในอุดมการณ์อย่างเข้มแข็ง ทำให้ผลงานแห่งชีวิตของ สอ เสถบุตร มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการศึกษาจนถึงทุกวันนี้




สอ เสถบุตร เกิดเวลาเที่ยง ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 เป็นบุตรของ นายสวัสดิ์ กับ นางเกษร เศรษฐบุตร เริ่มหัดอ่านเขียนภาษาไทยจากแม่ครูชุ่ม และไปเรียนต่อที่โรงเรียนสุขุมมาลัยใกล้ๆ บ้าน ต่อมา พ.ศ.2458 ได้เข้าเรียนชั้นมัธยม 4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

เมื่ออายุ ได้ 15 ปี ต้องกลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว เนื่องจากบิดาเสียชีวิตจากไข้จับสั่น

สอ เศรษฐบุตร เข้าสอบชิงทุนคิงสกอลาร์ชิพ ได้เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง ไปเรียนที่ลอนดอน ในปี พ.ศ.2464

พ.ศ.2469 จึงเดินทางกลับมาพร้อมใบปริญญาเกียรตินิยม B.S.c. (HONS) ทางธรณีวิทยาและประกาศนียบัตร F.G.S. ในสาขาวิศวกรรม ศาสตร์ เป็นคนแรกของประเทศไทย

เมื่อกลับมาได้เข้ารับราชการตำแหน่งผู้ เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยา ในกรมโลหกิจและภูมิวิทยา

นอกจากนั้นยังได้ทำ หนังสือพิมพ์ "บางกอกการเมือง" และหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ

ต่อมาจาก การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้อ่านบทความของ สอ เศรษฐบุตร ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Dailymail แล้วพอพระทัย จึงให้มาถวายงานใกล้ชิด ทำหน้าที่เป็นหลวงมหาสิทธิโวหาร และขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกองราชเลขาธิการองคมนตรี ในปี พ.ศ.2473-2474

หลัง การปฏิวัติของคณะราษฎร สอ เศรษฐบุตร จึงได้ลาออกจากราชการ และถูกจับกุมในเวลาต่อมาพร้อมกับคนที่เคยทำหนังสือพิมพ์ "กรุงเทพเดลิเมล์" ในข้อหาร่วมกันเป็นตัวการพิมพ์ใบปลิวเข้าข้างพวกกบฏ (กบฏบวรเดช) และถูกตัดสินโทษให้จำคุกตลอดชีวิตในฐานกบฏ

ในระหว่างอยู่ในคุกบาง ขวาง แดน 6 ที่ห้องขังหมายเลข 38 แล้ววันหนึ่ง เขาก็รับทราบข่าวที่บั่นทอนความหวังที่จะได้รับการปล่อยตัว คือ ข่าวการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

สอ เศรษฐบุตร จึงใช้เวลาและความรู้ของเขาให้เกิดเป็นรายได้ ด้วยงานเขียน Dictionary

งานเขียนพจนานุกรมนี้ต้องแอบทำไม่ให้ผู้คุมตรวจจับได้ มารดาของ สอ เศรษฐบุตร เป็นคนจัดการหาตำรา และเครื่องเขียนต่างๆ มาให้ นักโทษการเมืองต่างให้ความร่วมมือ โดย สอ เศรษฐบุตร เป็นผู้บอกคำศัพท์จากมันสมองออกมาอย่างรวดเร็ว อีกคนมีหน้าที่จดลงสมุดด้วยดินสอ อีกฝ่ายทำการตรวจทานและคัดลอกใหม่ให้สะอาดสวยงาม พร้อมที่จะนำออกตีพิมพ์ ใต้เพดานที่ถูกเจาะเป็นช่องสำหรับเก็บของ เวลาในแต่ละวันจัดไว้อย่างดี ในตอนเช้าเริ่มงานเขียนพจนานุกรมตั้งแต่ 07.30 น. พักรับประทานอาหาร บ่ายเริ่มเขียนอีกครั้ง 14.30-17.00 น.

เมื่อเขียนมาได้ถึงตัว S วันหนึ่งมีคำสั่งให้ย้ายนักโทษทางการเมืองทั้ง 70 คน ไปที่เกาะตะรุเตา

ที่ เกาะตะรุเตาผู้คุมอนุญาตให้ปลูกกระท่อม สอ เศรษฐบุตร เลือกปลูกกระท่อมอยู่คนเดียวทำให้สะดวกขึ้นมากในการเขียนต้นฉบับพจนานุกรม ฉบับห้องสมุด เมื่อเขียนต้นฉบับนี้เสร็จจึงจ้างนักโทษการเมืองคนอื่นๆ คัดลอกลงในสมุดด้วยค่าจ้างเล่มละ 1 สลึง และลงมือเขียนฉบับตั้งโต๊ะต่อ



วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2486 นักโทษการเมืองต้องย้ายไปที่เกาะเต่า ในระหว่างการเคลื่อนย้ายนี้มีการแวะรอรถไฟที่สถานี นักโทษได้เห็นอักษรไทยที่แปลกไป อันเกิดจากแนวคิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยกเลิกพยัญชนะที่มีรากจากบาลีสันสกฤตออก

และจุดนี้ทำให้ สอ เศรษฐบุตร ได้รู้ว่า ชื่อบนปกพจนานุกรมที่พิมพ์จำหน่ายของเขาได้เปลี่ยนไปเป็น "สอ เสถบุตร"

จึง ได้ยึดชื่อนี้มาตลอดไม่ได้เปลี่ยนกลับ


จนกระทั่ง 20 ตุลาคม พ.ศ.2487 จึงได้รับการปล่อยตัว เมื่อมีการขอพระราชทานอภัยโทษ ในสมัยนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกเหนือจากพจนานุกรม สอ เสถบุตร ในระหว่างที่อยู่ในคุกบางขวางยังเขียนบทความไปลงหนังสือ "บางกอกไทมส์" หนังสือนวนิยาย "พ.ศ. 2481" บันทึกอัตประวัติ "จำเลยสารภาพ" และบทความที่เขียนไปลงเป็นประจำในหนังสือ "น้ำเงินแท้" ก็ล้วนแต่ถูกเขียนจากในคุกส่งออกมาสู่ผู้อ่าน

นอกจากนั้นยังเคยรับ ตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ "ศรีกรุง" ตามข้อเสนอของ นายมานิต วสุวัต ต่อมาร่วมกันตั้งหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษขึ้นชื่อว่า Liberty และเป็นบรรณาธิการ ต่อมายังได้ออกนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ Leader ที่มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยในฉบับเดียว โดยคอลัมน์ความยอกย้อนซ่อนเงื่อนของภาษาเป็นที่สนใจอย่างสูง เพราะ สอ เสถบุตร ตอบปัญหาให้ผู้อ่านที่สงสัยเกี่ยวกับภาษาอังกฤษ

สอ เสถบุตร เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมืองลงสมัครรับเลือกผู้แทนราษฎร จังหวัดธนบุรี ในนามพรรคก้าวหน้า ซึ่งก่อตั้งร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน์ ม.จ. สิทธิพร กฤดากร นายหลุย คีรีวัต ฯลฯ ต่อมารวมกับพรรคประชาธิปไตยแล้วใช้ชื่อว่า "พรรคประชาธิปัตย์"

เมื่อ สอ เสถบุตร อายุได้ 47 ปี จึงแก้ไขปรับปรุงพจนานุกรมของเขาและจัดพิมพ์จำหน่ายเองทั้งหมด

ใน ระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะซื้อพจนานุกรมฉบับตั้งโต๊ะของสอที่กำลังขาดตลาด

สำนัก พิมพ์หลายแห่งเมื่อทราบเข้า จึงพากันมาติดต่อขอเป็นผู้พิมพ์ สอ เสถบุตร ได้เลือกร้านวรรธนะวิบูลย์เป็นผู้จัดจำหน่าย โดยเขาเป็นผู้จัดพิมพ์เอง

ทำ ให้ได้รับเงินก้อนใหญ่มาปรับปรุงโรงพิมพ์ หนังสืออื่นที่ สอ เสถบุตร เขียนในช่วงนั้น ได้แก่ "ไปนอก" "อังกฤษสำเร็จรูป"

ในปี พ.ศ.2507 สอ เสถบุตร เขียนพจนานุกรมอีกครั้งโดยเขียนที่บ้านชายทะเล เดือนมีนาคม 2508 จึงเขียนและพิมพ์พจนานุกรม New Model Thai - English Dictionary (Library Edition) เสร็จพร้อมออกจำหน่าย และปีต่อมาพจนานุกรม New Model English - Thai Dictionary (Desk Edition) ก็ออกตามมา และได้จำหน่ายลิขสิทธิ์ทั้งหมดให้กับสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชในที่สุด

โดย สอ เสถบุตร เสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2513

นางพัชรพิมพ์ เสถบุตร ลูกสาวของ สอ เสถบุตร กล่าวว่า นอกเหนือจากพจนานุกรม อยากให้คนไทยรู้ว่า สอ เสถบุตร เป็นบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมือง เป็นตัวอย่างของบุคคลสำคัญ ในขณะที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่ไม่มีความท้อแท้หรือสิ้นหวัง กลับลุกขึ้นสู้ พร้อมใช้เวลาที่ถูกจำคุกทั้งชีวิตทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมและ ประเทศให้มากที่สุด

"คุณงามความดีและคุณูปการหรือผลงานของ สอ เสถบุตร สะท้อนความคิดทางการเมือง ประวัติศาสตร์และสังคม รวมทั้งยังเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ ดังนั้น ย่อมมีค่าและควรเก็บเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พจนานุกรมฉบับดั้งเดิมของ สอ เสถบุตร มีคุณประโยชน์ในการใช้ภาษา สามารถอธิบายความหมายของคำในรูปประโยคในบริบทของคนไทยให้เห็นภาพได้ นอกจากนั้นยังสะท้อนให้เห็นสภาพประวัติ ศาสตร์ ปรัชญา และการเมืองในสมัยนั้นไว้ได้ด้วย ดังนั้น จึงควรอนุรักษ์พจนานุกรมของ สอ เสถบุตร ในฉบับดั้งเดิม เป็นมรดกของคนไทยไว้ด้วย" นางพัชรพิมพ์กล่าวทิ้งท้าย

จวบจนทุกวันนี้ชื่อ สอ เสถบุตร ยังเป็นที่ระลึกถึงทั้งในฐานะผู้แต่งพจนานุกรมที่ดีที่สุด และในฐานะบุคคลผู้ยิ่งใหญ่เจ้าของประวัติชีวิตการต่อสู้อันเข้มข้นน่าศึกษา

อาจ มีผู้เขียนพจนานุกรมที่เชี่ยวชาญในหลักไวยากรณ์ สำนวน และวิธีการใช้คำอังกฤษ ตลอดจนรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธ รรมของชนชาตินี้นับพันนับหมื่นคน

แต่มีบุคคลเพียงหนึ่งเดียวที่มุ่ง มั่นเขียนพจนานุกรม ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานะนักโทษการ เมืองที่ไร้ทั้งอิสรภาพและความสะดวกสบาย


เขา คือ "สอ เสถบุตร"

คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ รายงาน


ที่ มา http://campus.sanook.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ