วันศุกร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2553

ไป ดูโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯ

ไป ดูโลหะปราสาท วัดราชนัดดาฯ


เมื่อก่อนตอนยังเล็กผ่านแถวโรงหนังเฉลิมไทย นอกจากตัวโรงหนังแล้วที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือภูเขาทอง จนต่อมาเมื่อเขาทุบโรงหนังทิ้ง พุทธสถานที่งดงามก็ได้เปิดเผยตัวออกมาให้ใครๆ ได้เห็น จริงอยู่ที่ของเขามีมาแต่ไหนแต่ไร แต่ก็ไม่มีใครสนใจแลเห็น ถึงแม้ทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีใครสนใจอีกหรือไม่ หรือจะมีแต่นักท่องเที่ยวกระมัง


โลหะปราสาทมองจากลานพลับพลามหาเจษฎา บดินทร์

วัด ราชนัดดารามวรวิหาร เป็นอารามหลวงชั้นตรี สร้างขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานแก่พระราชนัดดา (หลาน) คือ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้า โสมนัสวัฒนาวดี ด้วยพระองค์เห็นว่ากำพร้าบิดาตั้งแต่ยังเล็ก จึงให้ความเอ็นดูยิ่งนัก ต่อมาพระนางโสมนัสวัฒนาวดีทรงขึ้นเป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว แต่ก็บุญน้อยนัก สิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง ๑๙ พรรษา

ศาสนา สถานที่โดดเด่นที่สุดของวัดราชนัดดาก็คือ โลหะปราสาท ที่ปัจจุบันเหลือที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก

โลหะ ปราสาทคืออะไร? สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ความหมายไว้ว่า “ตึกที่มียอดเป็นโลหะ” ตามประวัติศาสตร์เล่าว่ามีการสร้างโลหะปราสาาทขึ้นมาเพียง ๒ หลังเท่านั้น (ที่วัดราชนัดดานี้เป็นหลังที่สาม) หลังแรกสร้างในสมัยพุทธกาล ที่ประเทศอินเดีย บริเวณทิศตะวันออกของเมืองสาวัตถีในสมัยก่อน มีเรื่องเล่าว่า นางวิสาขา อุบาสิกาคนสำคัญในพุทธศาสนา ครั้งหนึ่งนางไปฟังธรรมตามปรกติแล้วลืมทิ้งเครื่องประดับอันมีค่าไว้ ปรากฏว่า พระอานนท์ พบเข้าและเก็บรักษาไว้ให้ เมื่อนางวิสาขาทราบความจึงหมายใจจะมอบเครื่องประดับนั้นถวายเป็นพุทธบูชา แต่นั่นเป็นการผิดวินัยสงฆ์ นางจึงออกอุบายขายเครื่องประดับนั้นแต่ด้วยความที่มีราคามหาศาลถึง ๙ โกฏิ (๑ โกฏิ เท่ากับ ๑๐ ล้าน) นางจึงซื้อไว้เสียเองและนำเงินไปสร้างพระอารามขึ้น ให้ชื่อว่า บุพ พาราม เล่าว่า พระโมคคัลานะ เป็นผู้ควบคุมการก่อ สร้าง ทำเป็นโลหะปราสาทสองชั้น มีจำนวนถึง ๑,๐๐๐ ห้อง ใช้เวลาทั้งสิ้น ๙ เดือนจึงแล้วเสร็จ นับเป็นโลหะปราสาทหลังแรกของโลก ภายหลังโลหะปราสาทหลังนี้ได้ชื่อว่า มิคารมาตุปราสาท ตามชื่อของบิดาของสามี เนื่องจากนางเป็นผู้ชักชวนให้มิคารเศรษฐีหันมานับถือพุทธศาสนาด้วยใจจริง


บริเวณชั้นล่างทำเป็นซุ้ม แต่เข้าไม่ได้ทุกซุ้มนะ เขาทำเหล็กดัดติดไว้


มุมนี้มองจากพระอุโบสถ ตอนกลางคืนเขาจะเปิดไฟสวยงามมาก

โลหะ ปราสาทหลังที่สองสร้างขึ้นที่อนุราธปุระ หรือเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา สร้างขึ้นในสมัยของ พระเจ้าทุฏคามนี ราวพุทธศักราช ๓๘๒ มีขนาดใหญ่โตไม่แพ้หลังแรก มีความสูงถึง ๙ ชั้น มีห้องจำนวน ๑,๐๐๐ ห้องเท่ากัน ประดับด้วยงาช้างและอัญมณีงดงามยิ่งนัก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ซึ่งท่านก็คงพอจะนึกว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้น ปัจจุบันเหลือเพียงซากเสานับพันต้นเป็นอนุสรณ์

สำหรับ โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดานี้ เริ่มสร้างในรัชสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เล่ากันว่าพระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยหวังจะให้แทนเจดีย์ต่างๆ ที่สร้างกันอย่างดาษดื่น เหมือนอย่างที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือสำเภาที่วัดยานนาวา แต่ขึ้นเพียงโครงสร้างเท่านั้นก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน จากนั้นก็สร้างต่อเติมมาเรื่อย แต่กว่าจะเสร็จสมบูรณ์งดงามก็มาสำเร็จเอาในรัชกาลปัจจุบันนี้เอง องค์ปราสาททำเป็นตัวตึกสูง ๗ ชั้น ยอดเป็นทรงปราสาทมีทั้งสิ้น ๓๗ ยอด แทนความหมายถึง โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ หมายถึง ธรรมะแห่งการตรัสรู้ ยอดปราสาทชั้นบนสุดประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ


บนยอดสุด ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนขึ้นไปบูชา
แต่ที่ออกจะแคบมากๆ นั่งได้เต็มที่ซักสองคน
วันไหนคนเยอะๆ ก็คงต้องเข้าคิวกันยาว


บทสวดบูชาพระบรมสารีริกธาตุ มีติดไว้ให้สวดบูชากัน

ช่วง นี้ทางวัดเขากำลังทำการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ (มาก) กำแพงวัดโดยรอบถูกกระเทาะออกจากสิ้นและทำการฉาบและทำลายปูนปั้นใหม่ ส่วนตัวปราสาทเองก็ยังคงมีการเจาะพื้นโดยรอบ คาดว่าเป็นการเดินสายไฟใหม่หมด ใครไปช่วงนี้คงต้องทำใจนิดหน่อย เพราะพื้นที่อาจจะไม่งดงามเท่าใดนัก คาดว่าเมื่อปฏิสังขรณ์แล้วเสร็จก็คงจะงดงามอย่างแน่นอน

ติดกับ วัดราชนัดดา ตรงที่ตั้งของโรงหนังเฉลิมไทยเก่านั้น ทางกรุงเทพมหานครจัดสร้างเป็น ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นลานกว้างประดับไปด้วยแมกไม้ต่างๆ เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสรัางวัดราชนัดดารามและโลหะปราสาท มีพลับพลาที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ต้อนรับพระราชอาคันตุกะหรือประมุขจากต่างแดนเพื่อให้สมพระเกียรติ และบริเวณโดยรอบก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปใช้เป็นที่พักผ่อน


พระเสฏฐตมมุนี พระประธานในพระอุโบสถ


มุมหนึ่งของวัด มีซุ้มเปิดบริการดูหมอ ลูกค้าเยอะพอสมควรทีเดียว


ภูเขาทอง มองจากยอดโลหะปราสาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ