วันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตำรวจ ปี2020เป็นอย่างไร

สรุป สาระสำคัญการประชุม

International Policing Conference

ระหว่าง วันที่19-21 พฤศจิกายน 2550

ณ กรุงแคนเบอร์ร่า เครือรัฐออสเตรเลีย



สรุป โดย พ.ต.อ. อภิชาติ สุริบุญญา

รอง ผู้บังคับการ กองการต่างประเทศ (ตร.สากล)

1. ห้วงเวลาแห่ง การปฏิวัติ (Revolutionary Times)

กล่าวถึงการคิดใหม่สำหรับตัวเองและ อนาคตที่กำลังจะเกิด ขึ้น การคิดเปรียบเหมือนการเตรียมตัวรับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สถานการณ์ในอนาคตสามารถอยู่ในความควบคุมให้ได้มากที่สุด หลายคนอาจมองอนาคตเพียงแค่วิสัยทัศน์เดียว แต่ ณ ปัจจุบันควรมองอนาคตไว้หลายทางเลือกและหลายวิสัยทัศน์

ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาควรมองย้อนดูอย่างวิเคราะห์ต่อเหตุการณ์ของโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถวิเคราะห์และสร้างภาพจำลองของโลกในอนาคตได้ เช่น การเติบโตของจีนและอินเดียในปัจจุบันจะส่งผลอะไรในอนาคตของโลกและภูมิภาคใน อีก 30-40 ปีข้างหน้า การรวมตัวของกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่เลียนแบบการการรวมตัวของกลุ่ม ประเทศยุโรป ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในปี 2015 และส่งผล ให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการปกครองขึ้นมาใหม่ในลักษณะรัฐบาลแห่ง ภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบกฎหมายที่จะมีกฎบัตรอาเซียนเกิดขึ้นซึ่งเปรียบ เสมือนรัฐธรรมนูญกลางของภูมิภาคที่ประเทศสมาชิกต้องถือปฏิบัติและกลับไป เปลี่ยนแปลงกฎหมายภายในของตัวเองให้มีความสอดคล้อง การพยายามกลับมามีอำนาจและบทบาทอีกครั้งหนึ่งของรัสเซียต่อโลก สงครามภายในประเทศอิรักที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ของโลกจากภาพปิระ มิดเป็นภาพที่มีลักษณะแบนหรือ Flat World การติดต่อ สื่อสารระหว่างปัจเจกบุคคลที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในลักษณะของ Peer 2 Peer หรือ P2P ซึ่งได้ปฏิวัติ การ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างมหัศจรรย์ การวิจัยเรื่องพันธุ กรรม หรือ Gnome ที่มีค่าใช้จ่ายถูกอย่างต่อเนื่องอาจจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติและค่านิยมของความ เชื่อของมนุษย์ในอนาคต

นอกจากนี้ การกลับมาให้ความสนใจในเรื่องของสภาวะจิตก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่าง ยิ่งและอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและอากาศที่ส่งกระทบอย่างต่อเนื่องต่อมวล มนุษย์ การกำลังจะสิ้นสุดของพลังงานน้ำมัน ในทางการเมืองโลกเช่น การลดอิทธิพลลงของประเทศญี่ปุ่นในด้านเศรษฐกิจ การลดลงของอำนาจการต่อรองของสหรัฐอเมริกา เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่น่าศึกษาและติดตามเป็นอย่างยิ่ง

ความท้าทาย ของโลกในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้นและเป็นประเด็นหลักที่ ควรต้องคิดตามได้แก่ การลดความเข้มข้นลงของความเป็นชาติรัฐ การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากรโลกที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัฒ น์ ทรัพยากรธรรมชาติของโลกที่กำลังจะหมดและเหลือน้อยทุกขณะ และดูเหมือนจะไม่พอเพียงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในลักษณะสวนทางกัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของชีวิตมนุษย์ ภาวะการเป็นผู้นำในโลกแห่งอนาคต

ความท้าทายที่กล่าวมาทั้งหมดจนถึงท้ายที่สุดแล้ว จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐทั้งระดับมหภาคและอนุภาค ซึ่งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรวจควรต้องศึกษาและเรียนรู้ติดตามการเปลี่ยนแปลงที่จะ เกิดขึ้นนี้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนนโยบายและการปฏิบัติงานให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่ เปลี่ยนแปลงไป

2. ธรรมาภิบาลระหว่างประเทศ (International Governance)

ซึ่ง สรุปสาระสำคัญได้ว่า ปัจจุบัน เหลือเวลาอีก 13 ปีที่จะถึงปี 2020 แต่ เมื่อมองย้อนกลับถอยหลังไป 13 ปีหรือมากกว่านั้น เราจะเห็นว่า มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอย่างมากมายในโลก ไม่ว่าจะเป็นการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดของสองประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ได้แก่ จีน และอินเดีย การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และ การสิ้นสุดยุคสงครามเย็น เป็นต้น การเข้าสู่อำนาจทาง เศรษฐกิจ ของสองประเทศคือ จีน และ อินเดีย นั้น ทำให้โลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และเรียกสถานการณ์นี้ว่า “Chindia” (China + India)

ประเทศจีนใน อนาคตอีกไม่นานจะเป็นประเทศที่มีคนพูดภาษาอังกฤษมากที่ สุด เนื่องจากจำนวนประชากรในประเทศนี้มีมากที่สุดในโลก ปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากในสหราชอาณาจักรทำงานในภัตตาคารอาหารอินเดียมากกว่าที่จะไปทำ งานอุตสาหกรรมหนัก อย่างเหล็กหรือถ่านหินเหมือนแต่ก่อน ปรากฎการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาคุณภาพของชาวอินเดีย และการยอมรับสถานภาพของคนอินเดียที่อยู่ในประเทศสหราชอาณาจักรว่าไม่ใช่พวก ใช้แรงงานอีกต่อไป เกี่ยวกับเรื่องโครงสร้างพันธุกรรม หรือ DNA ของมนุษย์ในอนาคต จะถูกถอดรหัสเพียงใช้ตัวอย่างจากน้ำลายของมนุษย์เท่านั้น

สถานการณ์สำคัญของภูมิภาคเอเชียในห้วงปี 1989-2001 ที่ผ่านมา จะเห็นว่า จีนเริ่มมีบทบาทในภูมิภาคนี้มากขึ้น เบียดแซงสหรัฐอเมริกาที่เคยมีบทบาทมากที่สุดในภูมิภาคนี้มาก่อน จนกระทั่งนำไปสู่ความตึงเครียดระหว่างประเทศทั้งสองในแถบทะเลจีนใต้เหนือ หมู่เกาะสแปรดลี่ นอกจากนี้ ยังมีความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานบนคาบสมุทรเกาหลี การ เกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 1997 และการเกิด ความร่วมมือเชิงพหุภาคีย่านเอเชียแปซิฟิคอย่างเช่น กลุ่มความร่วมมือ APEC

ในห้วงปี 2001-2007 มี ความ เคลื่อนไหวของกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม JI (ในประเทศอินโดนีเซีย) สงครามต่อต้านการก่อการร้ายในอิรัก และโรคระบาดซาร์ในปี 2003 การเกิด วิกฤติการณ์สึนามิในปี 2004 แต่ก็ยังมีข่าวดีเกี่ยว กับข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสันติภาพระหว่างอินเดียและปากีสถาน และความขัดแย้งเหนือเกาะใต้หวัน ในส่วนที่กระทบต่อสหรัฐอเมริกานั้น แม้ว่าจะมีการต่อต้านสหรัฐอเมริกาในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และ จีน มากขึ้นก็ตาม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาที่มีต่ออินเดียและปากีสถานก็สามารถถ่วง ดุลย์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปแล้ว จีนก็ยังมีความกังวลต่อการเพิ่มกำลังทหารของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชีย กลาง สำหรับญี่ปุ่นยังคงแสดงความกังวลอย่างเห็นได้ชัดจากการเติบโตแบบก้าวกระโดด ของจีน

สถานการณ์โลกสำคัญที่น่า จะเกิดขึ้นในปี 2020 มี ดังนี้

1.1 การเรืองอำนาจของจีนและอินเดีย ในขณะที่อำนาจของสหรัฐอเมริกาจะ

ลดลงไป

1.2 สงครามในประเทศอิรักยังคง เกิดขึ้น อย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเด็กจะ

กลาย เป็น ตัวจักรสำคัญในการต่อสู้ และเข้าสู่สงครามมากขึ้น

1.3 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการควบคุม การสั่งการในองค์กรต่างๆ จะมี

ลักษณะ เป็นแบบการติดต่อประสานงานโดยตรงระหว่างบุคคลโดยผ่านระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น (peer-to-peer) ซึ่ง จะเป็นการปฏิวัติการบริหารงานในระบบเดิม อันได้แก่ การควบคุมสั่งการจากระดับบนลงมาสู่ล่าง

1.4 การพัฒนาของเมืองใหญ่ต่างๆ จะมีลักษณะโปร่งใสและต้องมีการ

ตรวจสอบ คุมเข้มมากยิ่งขึ้น

1.5 การเรียนรู้เกี่ยวกับยีนที่ส่งผลต่อความเป็นไปในร่างกายมนุษย์จะมีมาก

ขึ้น ควบคู่ไปกับข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงซึ่งทำให้คนหลงเชื่อก็จะมีมากขึ้นตามไป ด้วย

1.6 การแก้ไขปัญหาต่างๆ ขององค์กร จะมุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาจาก

สภาพจิต ใจของบุคลากรในองค์กรมากขึ้น

1.7 สังคมทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะกลายเป็นสังคม

ของคน สูง อายุที่มีอายุเฉลี่ยมากกว่า 65 ปีขึ้นไป เนื่องจากขาดแคลนการเกิดของพลเมือง

1.8 จะเกิดการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เช่น น้ำมัน น้ำ นอกจากนี้จะเกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้นด้วย

1.9 ระบบการเงินและพลังงานจะอยู่ในรูปบัตรเครดิตมากขึ้น

3. อำนาจแห่งยุคดิจิตอล (Power of the Digital Age)

ในอนาคต คนจะพึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น เหตุผลหนึ่งได้แก่ ราคาคอมพิวเตอร์ที่ถูกลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งคนในประเทศที่กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา รวมไปถึงผู้คนที่อยู่ในชนบทอันแสนไกลไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลกก็จะสามารถใช้ คอมพิวเตอร์ในชีวิตได้ง่าย เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะเปลี่ยนทัศนคติของคน และทำให้คนปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกนี้สำหรับชีวิตของพวกเขา ความก้าวหน้าทาง เทคโนโลยีด้านชีวภาพ หรือที่เรียกกันว่า Biotechnology จะทำให้เกิดความใส่ใจในการเกษตร โดยคำนึงระบบสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ส่วนความก้าวหน้าทางด้าน ดิจิตอลจะพัฒนาการเรียนรู้ และนำไปสู่การปฏิวัติการเรียนรู้แบบใหม่

มีสถิติ ว่า คนทั่วไปไม่รู้ตัวเองว่า ปัจจุบัน พวกเขาหาข้อมูลโดยพึ่งพาเว็บไซต์ที่มาจากการสืบค้นจาก Google Search Engine สูงถึง 80% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคอมพิวเตอร์และระบบอินเทอร์เน็ตจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษย์ได้ อย่างมากมายมหาศาล แต่ในขณะเดียวกัน มันก็นำมาซึ่งโอกาสให้กับคนร้ายในการกระทำความผิดได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดเกี่ยวกับการเอาประโยชน์ทางเพศจากเด็กอายุระหว่าง 10 – 16 ปี ซึ่งผู้แทนตำรวจจากสห ราชอาณาจักรให้ทัศนะว่า ถึงเวลาแล้วที่ตำรวจทุกประเทศต้องคิดว่า จะปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้อย่างไร โดยในประเทศสหราช อาณาจักรมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเข้มแข็งในเรื่องนี้ ซึ่งเด็กที่ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าไปในเว็บไซต์และทราบถึงวิธีการของคน ร้ายได้ วิธีการนี้จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการป้องกันอาชญากรรมประเภทนี้

ไม่ เพียงแต่ความผิดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางเพศเท่านั้น ที่คอมพิวเตอร์หรือระบบอินเทอร์เน็ตสามารถอำนวยความสะดวกให้ง่ายต่อการกระทำ ความผิด แต่ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ได้กลายเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีส่วนร่วมในการกระทำผิดมากยิ่งขึ้นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ในการปลอมแปลงเอกสารประจำตัว การปลอมแปลงบัตรเครดิต การละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทาง ปัญญาที่ทวีความรุนแรงและยากที่จะแก้ไขในปัจุบัน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดได้แก่ การทำซ้ำภาพยนตร์และดนตรีโดยเพียง download จากเว็บไซต์โดยใช้เวลาไม่กี่นาที แล้วนำไปจำหน่ายหรือให้เช่าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ การใช้ระบบอินเทอร์เน็ตสื่อสารเพื่ออำนวยความสะดวกในการกระทำผิด รวมไปถึงการสามารถปล่อยไวรัส หรือ spyware เข้า ทำลายระบบฐานข้อมูลสำคัญของประเทศ หน่วยงานทางราชการต่างๆ หรือหน่วยงานเอกชน เพื่อสร้างการต่อรอง หรือขู่เพื่อรีดเอาทรัพย์ เหล่านี้ล้วนเป็นอาชญากรรมที่ยากต่อการป้องกัน และ การสืบสวนสอบสวนเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยหนึ่งก็คือ การที่หน่วยงานการบังคับใช้กฎหมายไม่มีความรู้และไม่สามารถก้าวทันต่อการ เปลี่ยนแปลงและความล้ำหน้าของเทคโนโลยีนั่นเอง

4. วิทยาศาสตร์ในอนาคต (Science Futures)

DNA จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญมากอย่างยิ่ง สำหรับการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในอนาคต ซึ่งตำรวจทุกประเทศควรจะต้องเรียนรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้นด้วย การพัฒนาเกี่ยวกับด้านชีววิทยาและนาโนเทคโนโลยีแม้ว่าจะสร้างความ ก้าวหน้าอย่างมากต่อมวลมนุษย์ แต่ตัวมันเองก็จะสร้างปัญหาด้านจริยธรรมด้วยเช่นกัน เช่น การโคลนมนุษย์ (การใช้เนื้อเยื่อของมนุษย์สร้างมนุษย์คนนั้นขึ้นมาใหม่ แล้วอาจใช้อวัยวะภายในของนุษย์ที่เกิดขึ้นใหม่นั้น มารักษามนุษย์ที่เจ็บป่วย หรืออาจจะเลยเถิดไปถึงการนำอวัยวะมนุษย์ออกจำหน่าย หรือการดำเนินการในทางธุรกิจอื่นๆ)

ในปี 1998 ซึ่งเป็นปีที่ มนุษย์สามารถแยกเซลเนื้อเยื่อจากทารกที่สามารถนำมาโคลนเป็นมนุษย์คนใหม่ได้ นั้น นับว่าเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่มากหลังจากที่มนุษย์ได้มีการคิดค้นกระบวนการ แยกตัวของนิวเคลียร์ แต่แล้วคำถามก็เกิดขึ้นทันทีว่า เราจะใช้เซลเนื้อเยื่อนี้หรือไม่ และถ้าจะใช้ จะใช้อย่างไร เพราะหากนำมาใช้จะมีปัญหาทางด้านจริยธรรมและศีลธรรม รวมไปถึงปัญหาทางศาสนา ปัญหาทางการแพทย์ และปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นตามมาอย่างทันทีเช่นเดียวกัน

แต่ มนุษย์ทั่วไปจะไว้วางใจได้อย่างไรว่า จะไม่มีมนุษย์คนหนึ่งคนใดหรือกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดนำนวัตกรรมนี้ไปใช้ในทางที่ เอาประโยชน์ทางธุรกิจ เพราะเมื่อมนุษย์คนใหม่ที่เกิดจากการโคลนเกิดขึ้นแล้ว อวัยวะภายในทุกอย่างย่อมเหมือนกับมนุษย์คนแรกเริ่ม ที่สำคัญเป็นอวัยวะที่ใหม่และสด ปราศจากการใช้งานหนัก ซึ่งจะ กลายเป็นที่ต้องการของคนป่วยที่มีทรัพย์และไม่ต้องการนอนรอความตาย จึงทำให้เกิดธุรกิจที่ผิดกฎหมายและผิดศีลธรรมเกิดขึ้นนั่นคือ การลักลอบการค้าซิ้นส่วนมนุษย์ หรือ Trafficking in Human Organs

ธุรกิจนี้เริ่มมีการดำเนินการเป็น เครือข่ายแล้วใน ประเทศจีน ซึ่งเคยมีกระแสข่าวว่า มีการประมูลและขายอวัยวะภายในของนักโทษที่เพิ่งถูกประหารชีวิต เช่น ไต และ ปอด เป็นต้น ยิ่งในอนาคต อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ล้ำหน้ามากยิ่งขึ้น ประกอบกับจริยธรรมและศีลธรรมที่เสื่อมลง อาจมีบริษัทหนึ่งรับผลิตมนุษย์ หรือโคลนมนุษย์ เพื่อขายอวัยวะให้กับผู้ป่วยที่ต้องการอวัยวะทดแทน โดยได้รับการยินยอมจากผู้ป่วยรายนั้นได้นำเนื้อเยื่อของเขาเองไปโคลนมนุษย์ คนใหม่ขึ้น เพื่อต้องการอวัยวะใหม่ทดแทนของเดิมของเขาที่ชำรุด เรื่องในลักษณะเช่นนี้ ฟังดูเบื้องต้นอาจเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าหากเกิดขึ้นในอนาคต ตำรวจจะเตรียมการอย่างไรในการแก้ปัญหานี้ โดยเฉพาะปัญหาโครงสร้างของกฎหมาย ที่อาจจะไม่ครอบคลุมถึงพฤติการณ์นี้ หรืออีกกรณีหนึ่ง ที่มนุษย์ผู้แข็งแรงคนหนึ่งได้ขายเนื้อเยื่อให้กับบริษัท หรือกลุ่มคน หรือคนใดคนหนึ่ง เพื่อนำไปโคลนมนุษย์ตัวใหม่แล้วเลี้ยงดูจนอวัยวะภายในแข็งแรง จาก นั้นทำให้เสียชีวิตเสีย เพื่อนำอวัยวะภายในไปใช้ประโยชน์ ลักษณะเช่นนี้ มนุษย์ที่ขายเนื้อเยื่อคนนั้นจะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร

5. การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวด ล้อม (Environment Change)

มีการ ประเมินกันอยู่เสมอถึงความเป็นไปได้ในการเกิดสงคราม โลกครั้งที่ 3 ซึ่งคำตอบก็คือ มีความเป็นไปได้ต่ำ แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบต่อโลกสูงมาก แต่สำหรับผลการประเมินเรื่องผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น คำตอบที่ได้รับคือ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นสูงมาก และผลกระทบต่อโลกก็สูงมากด้วย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ปัจจุบันเป็นวาระการประชุมระหว่างประเทศเกือบทุกการประชุม ซึ่งดูผิวเผินแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับกิจการตำรวจ แต่ที่จริงแล้ว ส่งผลในทางอ้อมซึ่งทำให้ผู้นำหน่วยงานตำรวจทั้งหลายต้องขบคิด

การศึกษาได้ ชี้ว่า ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต อาจทำให้เกิดสงครามโลกและความไม่สงบในโลกขึ้นได้ แบบจำลองพื้นฐาน ทางวิทยาศาสตร์พบว่า ความปรวนแปรของอุณหภูมิ ทำให้กระทบกระเทือนการผลิตพืชพันธุ์ อันทำให้เกิดผลขึ้น 3 อย่าง กล่าวคือ ราคาอาหารแพงขึ้น อัตราเสี่ยงของการอดตายสูงขึ้น และความตึงเครียดทางสังคมเขม็งเกลียวขึ้น ล้วนแต่อาจนำไปสู่การขัดแย้งอย่างรุนแรง

หลายปี ที่ผ่านมา ธรรมชาติได้ส่งสัญญาณเตือนถึงมหันตภัยภัยที่จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า จากปรากฏการณ์เรือนกระจก ก๊าซเรือนกระจก ที่ส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ Climate Change แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่สำเหนียกถึงหายนภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามา ใกล้ตัว และพร้อมจะคุกคามโลก ขนาดเกิดกรณี น้ำแข็งที่ขั้ว โลกละลายและจะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น รวมถึงปรากฏการณ์อื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลทางธรรมชาติ หลายคนยังฟังเพียง ผ่านๆ และคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่ยิ่งนานวันผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศจากสภาวะโลกร้อน ก็ยิ่งพ่นพิษรุนแรง และลุกลามเพิ่มขึ้น แม้จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่น เกิดสภาวะเย็นจัดผิดปกติ น้ำท่วมมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ความแห้งแล้งยาวนานขึ้น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วขึ้น ฤดูใบไม้ร่วงมาถึงช้าลง ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลุกลาม ฯลฯ

ความสูญเสีย ทั้งชีวิตและทรัพย์สิน จากภัยทางธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า และทุกครั้งก็เหมือนจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ คือ การยืนยัน และตอกย้ำชัดเจนจนไม่อาจปฏิเสธได้แล้วว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงกลายเป็นภัยใกล้ตัวของสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ ได้ ผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างมากมาย และเกือบจะทั่วทุกมุมโลก ทั้งเพิ่มความซับซ้อนยากต่อการทำนาย

สภาพ อากาศที่เปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ซึ่งมวลมนุษย์เคยได้รับผลนี้มาแล้วสองครั้งในศตวรรษที่ 20 ได้แก่ ฝนกรดและปัญหาของกัมมะถัน ส่วนอีกชนิดหนึ่งได้แก่ โอโซนที่กำลังจะหมดไปจากโลก สถานการณ์นี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีอุตสาหกรรมที่สะอาด โดยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และเพิ่มทางเลือกใหม่ด้านการได้มาซึ่งพลังงาน

สภาพอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงถูกมองว่าไม่แตกต่างจากอาวุธที่มีอำนาจ ทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction – WMD) และผลที่เกิดขึ้นซึ่งพอจะยกตัวอย่างได้ คือ การอพยพของผู้คนที่มีจำนวนมากขึ้นเพื่อหนีสภาพอากาศที่เลวร้ายไปอาศัยอยู่ใน สภาพอากาศที่ดีกว่า การเกิดโรคระบาด การตัดทอนประสิทธิภาพของการขนส่ง การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่อาจจส่งผลให้เมืองใหญ่ๆ หลายเมืองต้องจมอยู่ใต้ทะเลในอนาคต การสูญเสียพื้นที่ในการเกษตร เหล่านี้อาจนำมาซึ่งการสูญเสียและเกิดภัยพิบัติต่อหลายประเทศ และส่งผลให้เกิดภาวะการณ์ฉุกเฉินต่อมวลมนุษย์ ซึ่งเป็นปัจจัยเร่งให้มีการอพยพเร็วมากขึ้นไปอีก เช่น การเกิดน้ำท่วมที่ประเทศเม็กซิโก ที่ทำให้คนอพยพเข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวเขตทางทะเลของ รัฐ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธุรกิจทางทะเลด้วย เกาะบางเกาะอาจจะหายไปจากแผนที่โลกในอนาคต

การเกิด สภาวการณ์เช่นนี้ ทำให้ความมั่นใจของรัฐบาลในการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนภายใน ประเทศมีน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการประท้วง ความไร้ระเบียบ ความไม่เชื่อฟังของประชาชนภายในประเทศต่อรัฐบาลมีมากขึ้น และอาจนำไปสู่การก่อการร้ายในรูปแบบใหม่ ซึ่งได้แก่ การก่อการร้ายเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการก่อการร้ายที่มุ่งทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ประชาชนเกิดความ วุ่นวายและรัฐบาลอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถควบคุมประชาชนได้

สิ่งที่ ตำรวจทุกประเทศต้องคิดและต้องเตรียมการก็คือ

1. การเพิ่มความเข้มตามแนวชายแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวเขตชายฝั่ง

ทะเล

2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของ อาชญากรรม ที่จะมีรูปแบบใหม่เกิดขึ้น

โดย เริ่ม ต้นมาจากการอพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย

3. อาจจะต้องเตรียมการสำหรับ กฎหมายใหม่ ที่จะต้องให้ครอบคลุมถึง

อาชญากรรม ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น

4. ความไม่มีเสถียรภาพด้านการบังคับใช้ กฎหมายในระดับภูมิภาค

กล่าว โดยสรุปก็คือ ตำรวจต้องคิดกลยุทธในการป้องกันและตั้งรับมากกว่าการปฏิบัติการเชิงรุก และควรคิดทำเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดผลที่ดีที่สุด ในขณะเดียวกันต้องวางแผนเพื่อป้องกันสิ่งเลวร้ายที่สุดที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย

6. รัฐที่อ่อนแอ (Weak States)

คือ ปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดเครือข่ายของกลุ่มก่อการร้าย เพราะรัฐที่มีลักษณะเช่นนี้จะกลายเป็นแหล่งพักพิงหรือแหล่งที่หลบซ่อนตัว หรือเป็นแหล่งสำหรับซ่องสุมกำลังของกลุ่มก่อการร้ายได้ง่าย นอกจากนี้ ลักษณะของรัฐเช่นนี้ยังเป็นปัจจัยเสริมนำไปสู่การสร้างเครือข่าย ของ อาชญากรรมข้ามชาติอีกด้วย

อันที่จริงแล้ว ภาวะรัฐอ่อนแอนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่แพร่หลายมากในช่วงทศวรรษที่แล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ซึ่งทำให้เกิดรัฐที่อ่อนแอจำนวนมาก หรือรัฐที่เพิ่งจะเป็นอิสระจากการเมืองเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตกหลายชาติ ทั้งในแอฟริกา ละตินอเมริกา หรือเอเชีย ก็มีสภาพเป็นรัฐที่อ่อนแอจำนวนไม่น้อย ความไร้เสถียรภาพของรัฐที่มีสภาพอ่อนแอเหล่านี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลลบต่อตัวรัฐนั้นเองเท่านั้น แต่ส่งกระทบเชิงลบต่อภูมิภาคและชุมชนโลกด้วย ความอ่อนแอและความแข็งแกร่งของรัฐขึ้นอยู่กับความชอบธรรมทางการเมือง รัฐที่อ่อนแอมักจะมีสถาบันภายในรัฐที่อ่อนแออันไม่สามารถจะจัดการความขัด แย้งของผลประโยชน์ภายในประเทศได้

ภายหลัง จากการสิ้นสุดของสงครามเย็น ปัญหาของรัฐที่อ่อนแอและปัญหาชนกลุ่มน้อยได้กลายเป็นปัญหาสำคัญของโลกที่ยาก ต่อการแก้ไข ในขณะนั้น กลุ่มประเทศตะวันตกภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาก็มีสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จน ไม่สามารถจะนำเงินมาสนับสนุนช่วยเหลือรัฐที่อ่อนแอเหล่านี้ได้ จึงทำให้ปัญหานี้ยืดเยื้อและยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน รัฐที่อ่อนแอจะมีตัวชี้วัดดังนี้

1. ตัวชี้วัดทางด้านสังคม อันได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อจำนวนอาหารและแหล่งทรัพยากรที่มีจำกัด โดยเฉพาะที่ดินที่มีอย่างจำกัด ซึ่งทำให้เกิดความขัดแย้งในการแก่งแย่ง การเคลื่อนย้ายและอพยพของคนที่หนีความอดอยากและความขาดแคลน จำนวนคนพลัดถิ่นที่มีจำนวนมากขึ้น

2. ตัวชี้วัดทาง เศรษฐกิจ อันได้แก่ อัตราการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมกัน การชลอตัวทางเศรษฐกิจแบบกระทันหันหรือระยะยาว

3. ตัวชี้วัดทางการเมือง อันได้แก่ ความชอบธรรมทางการเมืองลดน้อยลง เกิดการคอรัปชั่น การปฏิบัติงานที่ปราศจากความโปร่งใส การถดถอยของการบริการสาธารณะ การแพร่ระบาดของการละเมิดสิทธิมนุษยชน การ เกิดวรรณะหรือสิทธิพิเศษเฉพาะคนบางกลุ่ม การเกิดกลุ่มย่อยต่างๆ ภายในรัฐ เกิดภาวะแทรกแซงจากรัฐอื่น

รัฐที่ล้ม เหลวโดยทั่วไปตามที่สังเกตได้นั้น จะเป็นรัฐที่มีหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา และหลายภาษา รวมไปถึงหลายวัฒนธรรมในประเทศเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดภาวะจำกัดอันไม่สามารถที่จะนำไปสู่สภาวะการเมืองที่มี ประสิทธิภาพได้ นอกจากนี้ การเกิดกระบวนการที่ทำให้ระบบการศึกษาซึ่งเป็นกิจการของรัฐไปสู่การเป็นเจ้า ของของภาคเอกชน (privatization of education) ระบบการดูแลปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่ ปัญหา การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ก็เป็นสัญญาณของรัฐที่กำลังจะล้มเหลวด้วยเช่นเดียวกัน

ปัจจุบัน มีการจัดการและการดำเนินการมากมายเกี่ยวกับกิจการตำรวจที่ เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติกำลังทำให้การดำเนินการเหล่านี้เป็นระบบมากขึ้น ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการส่งเสริมงานตำรวจทั้งในและระหว่างประเทศให้ดี ขึ้น ซึ่งได้แก่ ความร่วมมือกับ NGOs และภาคเอกชนต่างๆ

ที่ประชุม ยกตัวอย่างประเทศออสเตรเลียเองที่ปฏิบัติการสร้างสันติภาพ ในประเทศที่ประสบปัญหา อย่างเช่นในประเทศติมอร์ตะวันออก โดยการปฏิบัติการดังกล่าว มีความร่วมมือระหว่างตำรวจกับทหารเป็นอย่างดี การบังคับบัญชาสั่งการและการควบคุมกำลังในประเทศที่ประสบปัญหาท่ามกลางหน่วย งานที่แตกต่างกันถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น แนวทางปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจึงมีความสำคัญ เพราะการให้ความช่วยเหลือด้านสันติภาพในรัฐที่อ่อนแอนั้นมักเป็นโครงการระยะ ยาว อย่างน้อยประมาณ 10 ปีขึ้นไป ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอคือ รัฐบาลของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือมักจะตั้งความหวังไว้สูงว่า กำลังที่ส่งไปนั้นจะต้องสร้างเสถียรภาพและนำมาซึ่งธรรมาภิบาลให้กับรัฐบาล ของประเทศที่อ่อนแอได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ในทางปฏิบัติมักเกิดปัญหาว่าตำรวจ หรือกำลังที่ส่งไปนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างที่รัฐบาลตั้งไว้ จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบหลังจากที่การปฏิบัติการได้ผ่านพ้นไปแล้ว

สงคราม ในปัจจุบันไม่ใช่สงครามที่มีลักษณะและรูปแบบเหมือนที่เคยเกิด ขึ้น แต่เป็นสงครามกลางเมืองที่มักเกิดขึ้นในรัฐที่อ่อนแอ โดยอยู่ในลักษณะของสงครามแบบกองโจรมากกว่า ยุคปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นยุคที่หมดสิ้นไปแล้วสำหรับความเป็นรัฐชาติที่มีพรมแดนเป็นปัจจัย สำคัญ เพราะปัจจุบันคำว่า พรมแดน แทบจะไม่มีความสำคัญอีกต่อไป โลกาภิวัฒน์ส่งผลชัดเจนต่อ 3 สิ่งต่อไปนี้

1. ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งขับเคลื่อนโดยบรรษัทข้ามชาติ

2. ระเบียบโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ อันเกิดจากความ

ร่วมมือ ซึ่งกันและกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านหน้าที่และภารกิจต่างๆ

3. พลเมือง ซึ่งขับเคลื่อนโดยองค์กรเอกชนต่างๆ

ความมั่นคง ของมนุษย์ (Human Security) จะเป็นศัพท์ ใหม่ที่ทุกประเทศต้องให้ความคำนึงถึง ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดก็ตาม และเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ตำรวจทุกประเทศต้องคิดและเตรียมการ ต่อไป

7. การอพยพของประชากรจำนวน มากและความ มั่นคงของมนุษย์ (Mass Migration and Human Security)

จากการคาดการณ์ขององค์การ ให้ความช่วยเหลือของคริสเตียน ระบุว่า ใน 50 ปีข้างหน้า ประชากรจำนวน 1 พันล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดของประชากรโลกทั้งหมดจะถูกบีบบังคับให้อพยพเคลื่อนย้าย อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รายงานยังระบุอีกด้วยว่า ความขัดแย้งภายในประเทศ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และความเสื่อมของสภาพแวดล้อมที่กระจายตัวในวงกว้าง จะส่งกระทบเชิงลบต่อประชากรโลกในแถบทะเลทรายซาฮาร่า เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง

ปัจจุบัน ประชากรจำนวน 155 ล้านคนของโลก พลัดถิ่นไม่มีที่อยู่อาศัย เนื่องจากการอพยพหนีจากภาวะความขัดแย้งภายใน และการเกิดภัยพิบัติธรรมชาติ ตัวเลขนี้จะขยายมากขึ้นในอนาคตจากสภาวะการขาดแคลนน้ำ วิกฤติการณ์จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น และการขาดแคลนที่ดินสำหรับพักอาศัยและที่ทำกิน นอกจากนี้ สภาวะของโลกาภิวัฒน์ ที่มีความก้าวหน้าทั้งในระบบการสื่อสารและคมนาคม จะทำให้โลกมีความเสรีมากยิ่งขึ้น พรมแดนดูจะไม่ใช่ปัญหาหลักอีกต่อไป คำว่าประชาธิปไตยซึ่งส่งเสิรมความเสรีและสิทธิมนุษยชนจะทำให้มนุษย์มีความ เสรีในการเดินทางและเลือกที่อยู่ที่เหมาะสมสำหรับตัวเองมากยิ่งขึ้น นั่นหมายความว่า การอพยพของผู้คนขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างรัฐกับรัฐ

ใน ระหว่างสงครามเย็น ซึ่งเป็นการต่อสู้ทางด้านลัทธิระหว่างประชาธิปไตยเสรีนิยมและสังคมนิยมนั้น เป็นเหมือนกำแพงขนาดใหญ่ที่กั้นประชาชนโลกไม่ให้เดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีมาตรการอันเข้มแข็งระหว่างประเทศยุโรปตะวันออกและตะวันตก หรือระหว่างประเทศที่ปกครองในระบอบเสรีนิยมและระบอบสังคมนิยม แต่เมื่อหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตแล้ว ประชาชนในประเทศยุโรปตะวันออกและแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่มีความยากจนได้ อพยพเข้าสู่ประเทศยุโรปตะวันตกอย่างมหาศาล โดยหวังว่าจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่อิสระและดีขึ้น ปัจจุบันประเทศ เสรีนิยมในยุโรปหลายประเทศต้องประสบปัญหาการอพยพ ของคนจากประเทศอื่นจำนวนมากที่อพยพเข้าไปประกอบอาชีพและกลายเป็นภาระสังคม ซึ่งไม่เพียงเป็นประชาชนในแถบประเทศยุโรปตะวันออกเท่านั้น แต่เพิ่มเติมจากภูมิภาคเอเชียกลาง ประเทศจากบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน และ กลุ่มประเทศทางแอฟริกาเหนือ

การอพยพไหล เวียนของประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนและความถี่ขึ้นในลักษณะ ที่กล่าวมาเช่นนี้ ได้กลายเป็นภัยคุกคามของโลกไปแล้ว นอกจากประเทศปลายทางทั้งหลายต้องประสบปัญหากับการไม่สามารถเก็บรายได้จากผู้ อพยพแล้ว และบุคคลเหล่านี้ยังกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงในสังคมอีกด้วย นั่นคือการนำมาซึ่งการอภิปรายที่ว่าประชาธิปไตยมีความเสรีมากเกินไปจนทำให้ กระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศหรือไม่ ปัญหาอื่นที่ตามมาได้แก่ อัตราการเกิดอาชญากรรมที่มีจำนวนมากขึ้น การแข่งขันที่สูงขึ้นในการหางานระหว่างคนท้องถิ่นกับผู้อพยพที่มีจำนวนมาก ขึ้น และความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สามารถทำให้สังคมเกิดความขัดแย้งภายใน ประเทศกลายเป็นรัฐที่มีสภาพอ่อนแอได้ตลอดเวลา

สถานการณ์ ที่สำคัญส่งเสริมการอพยพของผู้คนจำนวนมากอีกเหตุการณ์ หนึ่งนอกเหนือจากการสิ้นสุดสงครามเย็น ได้แก่ การรวมตัวของประเทศในภูมิภาคยุโรปกลายเป็นสภาพยุโรปที่พยายามช่องว่างทาง เศรษฐกิจและความแตกต่างทางการเมือง สถานการณ์นี้เองทำให้ยิ่งทำให้การอพยพของประชากรมีความเสรีมากยิ่งขึ้น และกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ในปัจจุบัน

การอพยพของ ผู้คนจำนวนมหาศาลในปัจจุบันอย่างผิดปกตินี้อยู่บน สมมติฐานหลัก 4 ประการด้วยกัน กล่าวคือ

1. การอพยพเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องปกติของมนุษยชาติบนโลก การเดินทางเพื่อหนีจากสิ่งแวดล้อมหนึ่งที่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์ไปยังอีก สิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยกว่าคือสัญชาตญาณที่มีอยู่ของมนุษย์อยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์อยู่แล้ว ความเจริญก้าวหน้าทางการสื่อสารและการขนส่ง ประกอบกับสังคมที่เปิดกว้างก็ยิ่งเป็นปัจจัยเร่งให้การอพยพทวีอัตรามากขึ้น

2. การ อพยพของมนุษย์ไม่มีทางอยู่ในความควบคุมหรือ อยู่ในวงจำกัดได้ ในปี 1924 สหรัฐอเมริกาออกกฎหมาย เพื่อหยุดการอพยพของประชากรจากหลายประเทศที่เดินทางเข้ามาอยู่ในสหรัฐ อเมริกา หรือประเทศออสเตรเลียเองซึ่งในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้เพิ่มมาตรการอันเข้มแข็งในการป้องกันการอพยพของประชากรจากประเทศอื่นๆ หรือประเทศเนเธอร์แลนด์และเดนมาร์กที่ยกเลิกแบบฟอร์มการขอมีถิ่นที่อยู่ อันดูเหมือนเป็นการป้องกันการอพยพของคนจากประเทศอื่นที่รุนแรงนั้น เหตุการณ์เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกระพริบตาจากนโยบายทางการเมือง นักการเมืองเมื่อเวลาหาเสียงหรือมีความประสงค์ที่จะทำหน้าที่รัฐบาลสามารถ ออกนโยบายเพื่อจูงใจคนทั่วไปหรือระดับล่างที่มีความประสงค์ให้มีการเปิด กว้างเรื่องการอพยพเพื่อเลือกตัวเองให้เข้าสู่อำนาจได้ และเมื่อเข้าสู่อำนาจหรือทำหน้าที่รัฐบาลแล้ว นโยบายที่หาเสียงไว้ก็ต้องนำมาประกาศใช้ ในที่สุดการอพยพก็จะกลับมาเหมือนเดิม

3. เกือบทุกประเทศปลายทางในโลก ไม่สามารถปฏิเสธได้ ว่า การอพยพบางครั้งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อรัฐปลายทาง เช่น การอพยพของแรงงานไปยังประเทศที่ขาดแคลนแรงงาน หรือการอพยพของผู้ที่มีความสามารถหรือที่รู้จักกันในนาม สมองไหล เข้าไปสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับประเทศปลายทาง

4. การ อพยพคือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ใช่สิทธิพิเศษ และรัฐไม่สามารถเลือกได้ด้วยตัวเองว่า มนุษย์คนใดควรอยู่และควรไป เว้นแต่จะเป็นเหตุผลด้านความมั่นคง จะเป็นการผิดอย่างยิ่งที่รัฐมองการอพยพเป็นสิทธิพิเศษที่สามารถเกิดขึ้น เฉพาะเพียงคนบางคน หรือกลุ่มบางกลุ่มเท่านั้น การมีความคิดเช่นนี้ย่อมเป็นความคิดที่ผิดหลักต่อเสรีนิยมประชาธิปไตย

การอพยพ ของประชากรโลกจะเพิ่มมากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการที่มากกว่าคำนิยามเก่าๆ ที่ให้ไว้เดิม เช่น การอพยพ เพื่อหนีภาวะการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ซึ่งแทบจะไม่มีเหตุผลแบบนี้สำหรับการอพยพมาก่อน ปัจจุบัน การอพยพจะเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ คือ

1. การอพยพแบบสาธารณะ (Public Migration) คือ การอพยพบรรดาแรงงาน

ที่มี ความสามารถจนทำให้บางประเทศกลายเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานไปทันที

2. การอพยพที่ไม่ได้รับการรับรอง (Unacknowledged Migration) คือการ

อพยพของ แรงงานเถื่อนที่พยายามหางานทำในประเทศสหรัฐอเมริกา และ

3. การอพยพแบบผิดกฎหมาย (Illicit Migration) คือการ อพยพที่มี

อาชญากรรม ประเภทต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การค้าประเวณี และการฟอกเงิน เป็นต้น

จาก สภาวะของการอพยพที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นว่าปัญหาไม่สามารถถูกจำกัดและถูกควบคุม เนื่องจากสิ่งแวดล้อมบังคับให้มนุษย์อพยพเพื่อการอยู่รอดของชีวิตและบาง ครั้งเป็นการอพยพเพื่อหนีความตาย ปัญหาการอพยพของผู้คนจำนวนมากนี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลายประเทศปลายทางจะสร้างมาตรการป้องกันและพยายามหยุดยั้งปัญหานี้มาก เท่าใดก็ตาม ก็หาได้จำกัดและหยุดปัญหานี้ได้ ในที่สุด ปัญหานี้ก็จะนำมาซึ่งปัญหาด้านความมั่นคง และก็หนีไม่พ้นภาระหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องเข้ามาจัดการดูแลให้เกิดความ เรียบร้อย ตำรวจทุกประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นปลายทางจึงต้องคิดหามาตรการและเตรียม การเพื่อรองรับปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพว่าจะทำอย่างไรกับโลกแห่งการอพยพ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

8. วาระสังคม (The Social Agenda)

กล่าว ถึงลักษณะประชาชนในแต่ละยุค เช่น Baby Boomer ซึ่งใช้เรียกพลเมืองโลกที่เกิดในช่วง 1946 – 1961 โดยเป็นกลุ่มที่ยังคงดำเนินกิจการองค์กรต่างๆ และยังมีความยึดมั่นเกี่ยวกับรูปแบบการดำเนินธุรกิจในรูปบริษัท ใน ขณะที่คนปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนหนุ่มสาวที่เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง และขาดแคลนแรงงานนั้น จะไม่ทำงานให้กับองค์กรใดองค์หนึ่งเป็นเวลานานเหมือนแต่ก่อน ความผูกพันกับองค์กรจะน้อยลง โดยกลุ่มคนเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงการทำงานไปเรื่อยๆ ยิ่งคนที่มีความรู้ความสามารถด้วยแล้ว ยากที่จะค้นหาและรักษาไว้ ที่สำคัญ คนเหล่านี้จะไม่นิยมที่จะทำงานในองค์กรตำรวจ

ระบบงาน ตำรวจที่ดีดูได้จากความเป็นส่วนตัวของบุคคลในประเทศนั้นถูก ละเมิดหรือไม่ หากไม่ถูกละเมิดก็แสดงถึงการปฏิบัติงานของตำรวจมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า “Good privacy is good policing.” ปัจจุบันมีมุม มองอย่างหลากหลายในการตรวจสอบการทำงานของตำรวจ เช่น การตรวจสอบการสืบสวนสอบสวนของตำรวจว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่โดยการพิจารณาจาก จำนวนอาชญากรรมที่ได้รับการคลี่คลาย การพิจารณาและให้คำชี้ แนะที่ถูกต้องต่อกระบวนการการสอบสวน การพิจารณาความเป็นอิสระในการสอบสวน หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบความซื่อสัตย์ในการทำงานของตำรวจโดยการลอง เสนอสินบนแล้วดูว่ามีตำรวจกี่คนที่รับสินบนนั้น

การพัฒนา ระบบงานตำรวจให้ได้มาตรฐานนั้น ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเปรียบเทียบการปฏิบัติงานกับประเทศอื่นโดยตลอดเวลาว่า ในองค์กรของเรามีข้อบกพร่องในจุดใด แล้วปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ ตัวอย่างที่ดีประเทศหนึ่งได้แก่ การพัฒนาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแคนาดาในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงรูป แบบการปฏิบัติงาน และพัฒนาไปในทางที่ก้าวหน้า บางครั้ง ต้องกลับมาพิจารณาใหม่ว่า ระบบกล่าวหาที่ใช้ในการดำเนินคดี หรือ การพิจารณาโดยใช้ระบบลูกขุนนั้น อาจจะไม่ใช่ระบบการดำเนินคดีที่มีประสิทธิภาพในปัจจุบันก็ได้

ระบบ งานตำรวจยุคใหม่จะต้องเน้นการปฏิบัติการที่ทำให้องค์กร หรือกิจกรรมที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทั้งหลายหมดสิ้นไป ซึ่งการดำเนินการนั้น อาจไม่ได้เน้นไปที่การจับกุมผู้กระทำความผิดในระดับท้องถิ่นหรือระดับประเทศ แต่ควรเน้นไปที่การจับกุมหรือทำลายล้างเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติซึ่งจะทำ ให้มีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะปัจจุบัน อาชญากรรมเกือบทุกประเทศเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นอาชญากรรมข้ามชาติเกือบทั้ง สิ้น

9. อนาคตที่ถูกจินตนาการ (An Imagined Future) และการสร้างอนาคตของเราเอง (Shaping Our Future)

ผู้บรรยายได้กล่าวในลักษณะเชิญชวนให้ ผู้เข้าร่วมการประชุม ทุกคนกลับไปคิดถึงรูปลักษณ์ของโลกในอนาคต โดยการตั้งคำถาม เช่น อะไรคืออนาคตของชาวมุสลิมในโลกใบนี้? การบริการด้านสุขภาพของเราจะเป็นอย่างไรในอนาคต? การใส่ใจในเรื่องสภาวะทางจิตใจ เช่น การนั่งสมาธิ จะสร้างคุณค่าทางสังคมและเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการลงทุนพัฒนาด้าน เทคโนโลยีทางชีวภาพหรือไม่? เมืองสามารถสร้างทางเลือกที่ดีให้กับคนที่อาศัยอยู่ในอนาคตได้หรือไม่? ชายและหญิงมองอนาคตของโลกใบนี้แตกต่างกันอย่างไร? อะไร คือหลุมพรางหรือข้อบกพร่องที่เรายังมองไม่เห็นในยุทธศาสตร์การบริหารงานใน ปัจจุบัน? การคิดถึงอนาคตในเชิงทฤษฎี วิธีการ และกระบวนการ สามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นสถาบันในอนาคตหรือไม่? มีวิธีการอื่นใดหรือไม่ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นนอกจากการส่งเสริมด้าน ธุรกิจในปัจจุบัน?

การ ศึกษาเรื่องเกี่ยวกับอนาคต หรือการคิดถึงอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องพิจารณา 6 ประการ ดังต่อไปนี้

1. การสร้างความชัดเจนระหว่างอดีตและปัจจุบันโดยมองความเชื่อมโยง

2. การคาดการณ์อนาคตโดยการวิเคราะห์เหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น

3. ช่วง จังหวะของอนาคต โดยการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในระดับอนุภาคและมหภาค

4. เรียน รู้อนาคตเชิงลึกโดยวิธีวิเคราะห์เหตุการณ์ ตามลำดับชั้นอย่างมีระบบ

5. การ สร้างทางเลือกใหม่ให้กับอนาคตผ่านการ วิเคราะห์สถานการณ์ต่างๆ

6. การปรับเปลี่ยนปัจจุบันพร้อมกับสร้างอนาคต โดยการสร้างวิสัยทัศน์

10 บทสรุป

ประเด็นที่ควรติดตามและให้ความสนใจต่อ ไป ได้แก่ การเกิดระบบการปกครองที่กลุ่มคนร่ำรวยจะเข้ามากุมอำนาจและมีบทบาททางการ เมืองมากขึ้น (Plutocracy), ระดับของการควบคุมและการเฝ้าระวังของ รัฐที่อาจจะขยายวงเข้าสู่ความเป็นส่วนตัวของพลเมืองมากยิ่งขึ้น, การป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในภาคเอกชนและการควบคุมความ ยุติธรรมให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ, การแพร่หลายของการใช้ระบบการตรวจสอบ (Sensors) ที่ มากยิ่งขึ้น, การคอรัปชั่นที่ขยายวงกว้างมากขึ้นใน การบังคับใช้กฎหมาย, การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานส่วนบุคคลที่จะถูกใช้และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น, อาชญากรรมที่เกิดจากผู้อพยพหรือบุคคลที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสัญชาติใด และสุดท้าย การลอบสังหารผู้นำประเทศ

ส่วนประเภท ของอาชญากรรมที่ควรให้ความสนใจนับจากนี้ไปได้แก่ การก่อการร้าย การซื้อขายอวัยวะและชิ้นส่วนของมนุษย์, การขโมยใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ, การขโมยหรือเจาะฐานข้อมูลซึ่งควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นความลับ ต่างๆ, ปัญหาการขาดแคลนน้ำ, การฉ้อโกงทางระบบอินเทอร์เน็ต, การค้ากาม, การลักลอบค้าอาวุธ และการข่มขู่เพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือสิ่งที่ต้องการโดยการส่งไวรัส เข้าทำลายระบบคอมพิวเตอร์หรือฐานข้อมูลขององค์กร

จะเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการเริ่มที่จะสร้างปัญหาใหญ่ให้เกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำ 5 ประการ คือ 1. คิด ให้มากขึ้นและไกลขึ้น 2. มีความตื่นตัวในความอยาก รู้ตลอดเวลา 3. ศึกษารายละเอียดให้รู้จริงในทุกๆ เรื่อง 4. พิจารณาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากแนวความคิดที่มีอยู่ตลอดเวลา 5. หาทางแก้ไขปัญหานั้นอย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญก็คือ การคิดและจินตนาการนั้นมีความสำคัญมากกว่าความรู้ (Imagination is more important than knowledge) การตัดสินใจที่ถูกต้องมัก จะมาจากประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มา และประสบการณ์ดังกล่าวจะมาจากการที่เคยตัดสินใจผิดพลาดมาก่อน

ปัจจัย 6 ประการที่จำนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร คือ

1. ความสามารถในการมองและ วิเคราะห์ว่าอะไรกำลังจะ เกิดขึ้นในอนาคต หรืออาจกล่าวได้ว่าการมีวิสัยทัศน์ รวมถึง การวิเคราะห์ผลของการปฏิบัติการในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่อสังคมในอนาคต

2. การใช้ยุทธศาสตร์การคิดในลักษณะ การพิจารณาและ จินตนาการการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของเหตุการณ์ ว่าสิ่งใดน่าจะเกิดขึ้นและจะส่งผลอะไรบ้าง

3. การทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ต่อมุมมอง และแนวความคิดของคนอื่น หรือหน่วยงานอื่นว่าคืออะไร มีเหตุผลอย่างไรเป็นพื้นฐานของแนวความคิดนั้น

4. การ รู้อย่างถ่องแท้และรู้จริงถึงปัญหาของตัวเอง

5. การรู้เป้าหมายที่ชัดเจนของ องค์กรของตัวเองว่า กำลังเดินไปทางทิศทางใด และอยากได้อะไร

6. การ สร้างตัวชี้วัดที่เหมาะสมต่อเป้าหมายของ องค์กร วิเคราะห์และพิจารณาความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจสอบความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนร่วมในองค์กรได้อย่าง แม่นยำ

คำถามสำคัญที่ควรต้องคิด และเตรียมหาคำตอบคือ อะไรกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต อะไรคือ ความหวาดกลัวและความกังวล ที่ตามมา สมมติฐานและเหตุผลพื้นฐาน ของการคิดทำนายคืออะไร อะไรคือทางเลือกใหม่ในปี 2020 และอะไร คือวิสัยทัศน์ขององค์กรและผู้บริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการพัฒนาการปฏิบัติงานตำรวจไปสู่แนวใหม่แล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรบ้าง

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ5 ตุลาคม 2558 เวลา 00:06

    ขายไตด่วน0910285300

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ5 ตุลาคม 2558 เวลา 00:09

    เพศชาย อายุ25ปี สูง178ซม. นน.100ร่างกายแข็งแรงไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ต้องการขายไตให้ผู้ที่ต้องการไตด่วน มีความจำเป็นเรื่องเงินมากๆครับ ติดต่อ0910285300

    ตอบลบ

อารายเหรอ