วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2552

งานวิจัยให้คำตอบ ‘กลิ่น’ ฝังลึกความทรงจำ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
กลิ่นทำให้คนเราจดจำได้ดีกว่าภาพหรือเสียง

เอเจนซีส์ – กลิ่นคุกกี้อบใหม่หอมหวนยั่วยวนน้ำลายฝังลึกในความทรงจำพอๆ กับกลิ่นปลาเน่าเหม็นคุ้ง นักวิจัยเชื่อนี่อาจเป็นเบาะแสไปสู่วิธีการใหม่ๆ ในการบำบัดผู้ป่วยที่มีบาดแผลทางจิตใจ

นักวิจัยเชื่อว่าได้ค้นพบว่ากลิ่นจากอดีตสร้างรอยประทับเนิ่นนานในความทรงจำ ได้อย่างไร โดยจากการสแกนสมอง พบว่า ‘ความทรงจำจากกลิ่น’ ใหม่ๆ เช่น กลิ่นน้ำหอมบางกลิ่นที่ทำให้นึกถึงใครบางคน ‘ฝังลึก’ ในสมองคนเราจริงๆ และ ‘ลายเซ็น’ ของความทรงจำจากกลิ่นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากความทรงจำประเภทอื่นๆ

รู้กันมานานแล้วว่ากลิ่นเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการฟื้นอดีต การศึกษาหลายฉบับก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าความทรงจำที่ถูกเรียกคืนโดยกลิ่น มีชีวิตชีวาและความรู้สึกมากกว่าความทรงจำที่ถูกปลุกเร้าโดยเสียง ภาพ หรือคำพูด

นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์เวซแมนน์ในอิสราเอล เสริมว่ากลิ่นไม่พึงใจสร้างความประทับใจแรกได้มากที่สุด ซึ่งอาจสืบเนื่องจากกลไกทางวิวัฒนาการในการป้องกันตนเอง เนื่องจากบรรพบุรุษของมนุษย์ต้องอาศัยจมูกเพื่อหลีกเลี่ยงต้นไม้มีพิษ อาหารบูดเน่า หรือศัตรูมากกว่าคนยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี กลิ่นหอมจรุงใจฝังลึกในสมองเช่นกัน

“เราพบว่าการจับคู่หรือความเชื่อมโยงแรกระหว่างวัตถุกับกลิ่นมี ‘ลายเซ็น’ ความทรงจำที่ชัดเจนในสมอง ไม่ว่าจะในเด็กหรือผู้ใหญ่” ยารา เยชูรัน แกนนำการวิจัยที่เผยแพร่อยู่ในวารสารเคอร์เรนต์ ไบโอโลจี้ กล่าวและเสริมว่า

“กลิ่นเหม็นและกลิ่นหอมมีรอยสลักในความทรงจำของกลิ่นแรกในสมองเหมือนกัน ซึ่งหมายถึงเอกลักษณ์ของกลิ่นนั้นๆ”

เพื่อทดสอบความจำที่เกี่ยวข้องกับกลิ่น นักวิจัยนำสิ่งของต่างๆ มาให้อาสาสมัคร 16 คนดู พร้อมกับให้ดมกลิ่นที่มีทั้งน่าชื่นใจและไม่น่าดม เช่น กลิ่นลูกแพร์หรือปลาเน่า

90 นาทีต่อมา อาสาสมัครได้ดูรูปเดิมแต่เปลี่ยนกลิ่น

หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป นักวิจัยต้องการทดสอบว่าความเชื่อมโยงใดที่อาสาสมัครจำได้มากที่สุด โดยการให้อาสาสมัครดมกลิ่นที่ดมครั้งแรก โดยในการทดสอบทั้งหมด นักวิจัยใช้เครื่อง fMRI สแกนสมองอาสาสมัครไปด้วย

นักวิจัยทำซ้ำการทดลองแต่คราวนี้เปลี่ยนมาใช้เสียงแทนกลิ่น ผลปรากฏว่าโดยรวมแล้วอาสาสมัครจำกลิ่นเหม็นได้ดีกว่า กระนั้น การสแกนสมองพบว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสและอมิกดาลาถูกกระตุ้นเมื่อมีการเชื่อม โยงสิ่งของกับกลิ่นแรก แต่ไม่พบการตอบสนองแบบเดียวกันนี้เมื่ออาสาสมัครดมกลิ่นที่สองหรือฟังเสียง

นักวิจัยสำทับว่าจำเป็นต้องทำการทดลองเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการค้นพบนี้จะนำไปสู่วิธีการฟื้นความทรงจำที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น หรือกระทั่งการลบความทรงจำเลวร้ายของผู้ป่วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ