วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553

คนชื่น“ผาชัน” มหัศจรรย์เสาเฉลียงยักษ์ หลงรัก 30,000 รู

คนชื่น“ผาชัน” มหัศจรรย์เสาเฉลียงยักษ์ หลงรัก 30,000 รู ...>>>



.....

ตะวันเบิกฟ้าที่บ้านผาชัน ณ ท่ากกกระดาน
“น้ำลดตอผุด”

สำนวนไทยดั้งเดิมยังคงใช้ได้ดีมาถึงทุกวันนี้ แต่ในความเป็นจริง ในหลายสถานที่ ยามน้ำลดตอกลับไม่ผุดหากแต่มี”รูโผล่”แทน ดังเช่นที่ “บ้านผาชัน” อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ริมน้ำโขง ที่มีปรากฏการณ์"น้ำลดรูโผล่"ให้ เห็นในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งเราโชคดีมีโอกาสพบเจอโดยบังเอิญเมื่อครั้งมาเที่ยวผาแต้ม(เมื่อปลายปี 52)แล้วเกิดติดลม เที่ยวเลยเถิดมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้

แต่ครั้งนั้นเป็นการรู้จักบ้านผาชันแบบสิวๆผิวๆเท่านั้น ผิดกับครั้งนี้ที่“ตะลอนเที่ยว”มีโอกาสได้มาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของบ้านผาชัน มากขึ้น(เกินกว่าครึ่ง) ชนิดที่พูดได้ไม่อายเลยว่าบ้านผาชันมี“ดี”และมี“ดีกรี”แห่งความสุขในระดับสูงรอคอยให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสเรียนรู้กัน

หน้าผาสูงชันมีน้ำโขงหลายผ่าน เป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน
1...

แม้ชุมชนจะตั้งอยู่ริมน้ำโขง แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ไม่สามารถดูดซับกักเก็บน้ำไว้ได้ ทำให้ในช่วงปีพ.ศ. 2535-2547 บ้านผาชันประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจนเข้าขั้นวิกฤต ชนิดที่ในช่วงเดือน พ.ย.-เม.ย. เด็กๆต้องขาดเรียนในช่วงเช้าเพื่อมาช่วยครอบครัวตักน้ำจากลำโขงไปเก็บไว้ใช้ สอย

ปัญหานี้ทำให้ชาวบ้านพยายามเสาะหาลู่ทางในการนำน้ำมาใช้สอย ทั้งการขุดน้ำบาดาล(แต่ไม่พบน้ำใต้ดิน) สูบน้ำจากแม่น้ำโขง(แต่ด้วยความที่มีพื้นที่ริมโขงลาดชันมาก การสูบน้ำต้องใช้กำลังแรงสูง ทำให้เครื่องสูบน้ำพังเสียบ่อย ไม่คุ้มกับค่าไฟที่จ่ายไป) จนสุดท้ายหมดหนทางก็ต้องซื้อน้ำจากที่อื่นมากิน มาใช้

สภาพหมู่บ้านอันเรียบง่าย มีกองทุนปลาตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน
อย่าง ไรก็ตาม มนุษย์เราถ้ายอมแพ้ย่อมแพ้ตลอดไป แต่ถ้าสู้ต่อไม่ท้อถอยหนทางข้างหน้ายังคงมีหวัง พวกชาวบ้านผาชันจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ระดมสมอง หาหนทางต่างๆในการบริหารจัดการน้ำ จนสุดท้ายมาตกผลึกใน 3-4 แนวทาง การสร้างฝาย การนำน้ำธรรมชาติมาใช้ด้วยระบบประปาภูเขา การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ(ป่าชุมชน) การกักเก็บน้ำไว้ใช้ และการคิดค้นนวัตกรรม“แอร์แว”ที่ เกิดจากภูมิปัญญาอันหลักแหลมของชาวชุมชน ด้วยหลักการใช้แรงดันอากาศมาช่วยในการสูบน้ำจากแม่น้ำโขงขึ้นมาใช้ ควบคู่ไปกับการรู้จักใช้น้ำเพื่อให้ประโยชน์สูงสูดและการดูแลรักษาป่าชุมชน ต้นน้ำ ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง จนสามารถคว้ารางวัลวิจัยดีเด่นจากสกว.ในปี 50 และรางวัลชนะเลิศการบริหารจัดการน้ำในปี 51

หลังประสบความสำเร็จในเรื่องน้ำ ชาวบ้านลืมตาอ้าปากยิ้มได้ พวกเขาเริ่มหันมามองศักยภาพด้านอื่นๆของหมู่บ้าน ก่อนจะเดินหน้าต่อด้วยการจัดตั้งกลุ่มบริหารจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ขึ้นในปี 2548 และดำเนินการเรื่อยมา ซึ่งแม้จะไม่ได้เนี๊ยบนิ้งเหมือนพวกเอกชนมืออาชีพ แต่ว่าที่นี่ก็มีความเรียบง่ายในวิถีหมู่บ้าน ความเป็นกันเอง ความจริงใจของชาวบ้านเป็นสิ่งเติมเต็ม จนเป็นที่มาของการออกตะลอนเที่ยวของเราในทริปนี้

หลากลีลาอารมณ์ของนักท่องเที่ยวผู้เฝ้ารอพระอาทิตย์ขึ้น
2...

การเที่ยวบ้านผาชันที่เหมาะสมนั้น “ตะลอนเที่ยว” เห็นว่าควรมาพักค้างแบบโฮมสเตย์สัก 1คืน(และ 1 วันกว่าๆ) โดยหลังจากหลับนอนแบบสบายๆสไตล์โฮมเสตย์ในค่ำคืนแรกและคืนสุดท้ายแล้ว เราก็ตื่นแต่เช้าตรู่มุ่งหน้าสู่ท่ากกกระดาน จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นริมฝั่งโขง ที่นอกจากจะเป็นท่าขึ้น-ลง เรือของชาวบ้านแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดรับตะวันเบิกฟ้าชั้นเยี่ยมเลยทีเดียว มีลักษณะเป็นหน้าผาเตี้ยๆมีร่องน้ำโขงกั้นพรมแดนไทย-ลาวไหลพาดผ่านเลื้อยยาว ไปตามส่วนโค้งของแผ่นผา เกิดเป็นมุมเอกลักษณ์เฉพาะตัวขึ้น

ชาวบ้านออกหาปลายามเช้าเป็นกิจวัตร
ระหว่าง ที่พระอาทิตย์กำลังโผล่พ้นเหลี่ยมผาในฝั่งลาวท้องฟ้าไล่โทนจากม่วงเข้ม เหลืองทอง ไปจนถึงสาดส่องแสงแรงแดงเพลิงมลังเมลืองสะท้อนแผ่นน้ำระยิบระยับ ในลำน้ำโขงยามนี้ดูจะคึกคักไปด้วยเรือของชาวบ้านที่ออกหาปลาในวิถีพื้นบ้าน อันเป็นวิถีดั้งเดิมที่ดำรงสืบต่อกันมาช้านาน

ปลาน้ำโขงตัวโตๆชาวบ้านจับได้ไม่ขาดมือ
ปลา น้ำโขงที่นี่จะตัวใหญ่และน่ากินที่ไหนจุดที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดเห็นจะเป็น ที่กองทุนปลา ซึ่งชาวชุมชนพร้อมใจกันจัดตั้งขึ้นในปี 48 เพื่อตั้งราคามาตรฐานในการซื้อ-ขาย เพื่อไม่ให้ชาวบ้านถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ทำให้กองทุนปลาเป็นแหล่งรวมปลาน้ำโขงสารพัดชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นปลาหนังตัวโตๆ ชนิดที่เห็นแล้ว “ตะลอนเที่ยว”อดนึกถึงต้มยำ ผัดเผ็ด ลวกจิ้ม ลาบ รสแซ่บๆ จนเกิดอาการน้ำลายไหลไม่ได้

ล่องเรือในลำน้ำโขง ชมทิวทัศน์
หลังดูปลามากมายแล้ว ต่อไปก็เป็นการไปดูแหล่งที่มาของปลาในล้ำน้ำโขงกับกิจกรรม“ล่องเรือเบิ่งโขง” เริ่มตั้งแต่ท่าเรือผาชัน ที่มีลักษณะบ่งบอกถึงที่มาของชื่อหมู่บ้านได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหน้าผาสูงชัน(ลึกสุดถึง 80 เมตรเลยทีเดียว)มีสายน้ำโขงไหลผ่านไปตลอดแนวปานประหนึ่งหุบเหวแห่งสายน้ำ ยามหน้าแล้ง น้ำลด แนวผาที่นี่จะเผยลักษณะเด่นๆต่างๆนานาออกมาอวดโฉมกันอย่างเต็มที่

ผาตัวเลขบอกระดับความสูงของน้ำโขง
เริ่ม จากการล่องไปชม “ต้นหว้าน้ำ” ต้นไม้สุดแกร่งรูปร่างคล้ายบอนไซที่ขึ้นเรียงรายอยู่ทั่วไปใน 2 ฟากฝั่ง ซึ่งมันสามารถยืนหยัดต้านความแรงของสายน้ำโขง(ยามน้ำขึ้น)ได้อย่างไม่สะทก สะท้านมาเป็นเวลาชั่วนาตาปี แล้วจึงไปต่อยัง “ผาตัวเลข” ที่ ฝรั่งเศสมาทำไว้บอกระดับความสูงของแม่น้ำโขงยามนำเรือล่องผ่าน เริ่มตั้งแต่เลข 0(หมายถึงน้ำโขงขึ้นสูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร) ไล่เพิ่มทีละ 0.5 เมตรไปเรื่อยจนถึงเลข 11 ที่สูงเกือบถึงขอบตลิ่ง

สามหมื่นรู มหัศจรรย์ธรรมชาติเล็กๆริมฝั่งโขง
จาก นั้นเรือแล่นวกพาไปชม“ผาหัวช้าง”ที่เป็นหินยื่นออกมากลางแผ่นผาลักษณะคล้าย หัวช้าง(มองคล้ายวัดช้างล้อม สุโขทัย)จำนวนมาก ถัดไปเป็น“ผามาว้อ”ที่ชาวบ้านเคารพนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ แล้วพาไปต่อยังน้ำตกห้วยบอนและน้ำออก(จาก)รู ก่อนที่เรือจะแล่นไปส่งท้ายทริปกันที่ “สามหมื่นรู”(30,000 รู) ที่มีลักษณะเป็นหน้าผายาวประมาณ 100 เมตร ลึกราว 70 เมตร ตลอดแนวผาถูกน้ำกัดเซาะ ถูกกรวด-หิน ทำปฏิกริยาเป็นร่องเป็นรูมากมายทั้งที่อยู่เหนือน้ำและใต้น้ำ(ยิ่งน้ำลดก็จะ ยิ่งเห็นรูมากขึ้น)เกิดเป็นประติมากรรมนูนต่ำธรรมชาติรูปร่างแปลกตาพรุนไป ทั่วทั้งแนวผา(เกินกว่า 30,000 รู ตามชื่อเรียก) นับเป็นความมหัศจรรย์เล็กๆริมฝั่งโขงที่หาชมไม่ได้ง่ายๆเลย

3...

พูดถึงความมหัศจรรย์ธรรมชาติแล้ว บ้านผาชันค่อนข้างโชคดี เพราะนอกจากจะมีสามหมื่นรูแล้วที่นี่ยังมี “เสาเฉลียงใหญ่” เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ และเป็นจุดหมายในการเที่ยวลำดับต่อไปหลังจากการล่องเรือเสร็จสิ้น กินข้าวกินปลาเป็นที่เรียบร้อย

เสาเฉลียงใหญ่
เสา เฉลียงใหญ่ นับเป็นเสาเฉลียงขนาดใหญ่ที่สุดในเมืองไทยเกิดจากการกัดกร่อนของแดด ลม ฝน เป็นเวลานับหมื่นนับแสนปี มีขนาดใหญ่ยักษ์หลายสิบคนโอบ สูงประมาณตึก 3-4 ชั้น มีลักษณะเป็นเสาหินยักษ์คู่ มีแผ่นหินวางเทินอยู่ด้านบนแบบไม่ต้องกลัวหล่น ชาวบ้านที่นี่เชื่อว่านี่เป็นเสาหินศักดิ์สิทธิ์คอยปกปักรักษาหมู่บ้านมา ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจึงมีพิธีบวงสรวงเสาหินอยู่เป็นประจำ

ถ้ำโลงกับโลงศพโบราณพร้อมรอยลงแป้ง
จากเสาหินเราเดินตามพี่สุพิสิทธิ์ อินทร์ทองหรือ“พี่น้อย” ประธานกลุ่มท่องเที่ยวบ้านผาชัน ผู้มาขันอาสานำเที่ยวในทริปนี้ ผ่านลานหินกว้างโล่งที่เต็มไปด้วยการเรียงหินตามความเชื่อของนักท่องเที่ยว มุ่งหน้าสู่ “ถ้ำโลง” ที่มีลักษณะเป็นเพิงผา มีโลง(ศพ)อายุกว่า 2 พันปีก่อนประวัติศาสตร์

โลงหลังนี้วางทอดยาวใต้เพิงผา ทำจากไม้พยอมท่อนเดียว มีความยาวกว่า 8 ศอก ใช้บรรจุศพคนโบราณ(คน 8 ศอก)เพื่อนำศพไปเผาก่อนนำโลงกลับมาใช้งานต่อ ด้านหัวโลงทำเป็นแผ่นโค้งคล้ายเขาควายเพื่อใช้ในการจับยก ทำให้ชาวบ้านบางคนเรียกว่า “โลงเขาควาย” ด้านหน้าโลงมีบาตร ธูป เทียน มาลัย และเครื่องเซ่นสรวงที่ผู้ศรัทธามาบูชาไว้

ปลาน้ำโขงที่ชาวบ้านนำมาขายให้กองทุนปลา
“ตอนคุณมาครั้งแรก(เมื่อเกือบ 2 เดือนที่แล้ว)ที่โลงยังไม่มีแป้งเลย แต่ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวแอบมาโรยแป้งขอเลขซะแล้ว” พี่น้อยพูดยิ้มๆพร้อมชี้ชวนให้ดู

เออ จริงของแกแฮะ ที่โลงมีร่องรอยแป้งขาวพร้อมการขัดจากผู้มาเยือนอยู่หลายจุด(ชาวบ้านที่นี่ จะไม่ยุ่งกับโลงเพราะเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์) นับเป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆที่ถ้าไม่สังเกตคงไม่รู้ แต่มันจำเป็นที่กลุ่มท่องเที่ยวบ้านผาชันจะต้องระดมสมองวางแผนรองรับกับการ เปลี่ยนแปลงใหญ่ๆแรงๆเร็วๆที่จะมาพร้อมกับการท่องเที่ยวเพราะบ้านผาชันใน วันนี้ได้เปลี่ยนแปลงผ่านจากยุคบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ยุคบริหารจัดการการ ท่องเที่ยวแล้ว ถ้ามีการบริหารจัดการดี ชุมชนก็มั่นคง ยั่งยืน แถมยังมีรายได้เสริมเพิ่มเข้ามาอีก แต่ถ้าบริหารไม่ดี อนาคตข้างหน้าของบ้านผาชันจะเป็นอย่างไร? เราไม่อยากคาดเดาเลยจริงๆ

เมื่อแสงมาก็ได้เวลาออกทำมาหากินของชาวบ้าน
*****************************************

หมู่ บ้านท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ บ้านผาชัน ตั้งอยู่ที่ ต.สำโรง อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี นอกจากสิ่งน่าสนใจในเนื้อเรื่องแล้ว ที่นี่ยังมีสิ่งชวนชม อาทิ ศิลาปะการัง หินหัวพญานาค สวนหิน ถ้ำนางเข็ญฝ้าย ป่าชุมชน ซึ่งทางหมู่บ้านได้มีการจัดแพ็กเกจการท่องเที่ยวเป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ แบบมาเช้าเย็นกลับ(มีให้เลือกทั้งทางบกและทางน้ำ) แบบโฮมสเตย์ 1 คืน แบบศึกษาดูงาน โดยผู้สนใจสามารถข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 08-9720-8900,08-6261-4910 และสามารถสอบถามแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจในอุบลฯเชื่อมโยงกับบ้านผาชันได้ที่ ททท.อุบลฯ 0-4524- 3770 , 0-4525-0714

ส่วน"แอร์แว" เป็นนวัตกรรมสำคัญภูมิปัญญาชาวบ้านผาชัน โดยนายชรินทร์ อินทร์ทอง ผู้นำชุมชนบ้านผาชันได้คิดค้นระบบนี้ขึ้น ด้วยการการทดลองนำแนวคิดจากการสังเกตการทำงานของกระบอกสูบลมของเครื่องตี เหล็กมาผสมกับการพับของสายยาง นำแรงลมมาช่วยสูบน้ำ จึงมีการผลิตท่อส่งแรงดันน้ำขึ้น โดยชุมชนได้ทดลองระยะห่างของท่อลม จนได้ระดับพอดีที่จะสูบน้ำได้แรงสูงสุด และเรียกชื่อว่า "แอร์แว" ที่มาจากคำว่า "แอร์" (Air) คือ อากาศ และ "แว" คือ แวะ ซึ่งหมายถึง "อากาศมาแวะ" ในท่อแล้วทำให้เกิดแรงดันน้ำ


http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000004936

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ