วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เหตุ??? ทำไมหมอฆ่าเมีย

เหตุ??? ทำไมหมอฆ่าเมีย

ในสังคมโดยทั่วไป คนส่วนมากมักจะยกย่องนับถือ ไว้วางใจ และบางครั้งก็ให้สิทธิพิเศษกับคนเก่ง คนที่มีความสามารถ สังคมปัจจุบันนี้มีการแข่งขันแก่งแย่งกันอยู่ตลอดเวลา ค่านิยมหนึ่งซึ่งเป็นที่ยอมรับกันคือ คนเก่งจะประสบความสำเร็จในสังคม คนเก่งในที่นี้ก็คือ คนที่มี IQ สูง ตามความหมายแล้ว IQ (Intelligent Quotient) คือ ตัวบ่งชี้ระดับความสามารถทางสติปัญญา ถ้ามี IQ สูง จะเป็นคนที่ฉลาด มีความคิดอ่านที่ปราดเปรื่อง แต่คนเราจะมีเพียง IQ อย่างเดียว แล้วจะได้รับการประกันว่าประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้ เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก ต่างคนต่างก็มีความคิด ความรู้สึกแตกต่างกันออกไป ในบางครั้งอาจมีการกระทบกระทั่งบ้าง คนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี มักจะประสบความสำเร็จในการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ๆ สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกบุคลิกภาพและนิสัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม อารมณ์นั่นก็คือ EQ (Emotional Quotient) หรือ วุฒิภาวะทางอารมณ์


นักจิตวิทยาหลายท่านได้นิยามความหมาย ของ EQ ไว้แตกต่างกัน แต่โดยสรุปแล้ว EQ คือ ความสามารถควบคุมอารมณ์และตอบสนองความต้องการของตนเองได้อย่างเหมาะสม รู้จักขจัดความเครียด อุปสรรคต่าง ๆ ได้ ในขณะที่เข้าใจอารมณ์ของตัวเองและของผู้อื่นด้วย คนที่มีทักษะทางด้าน EQ นั้น จะเป็นคนที่รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความอดทนและมุ่งมั่นในการกระทำการต่างๆ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะแข่งขันกับตัวเอง ไม่ไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น พยายามพัฒนาทักษะของตัวเองให้มากที่สุด นอกจาก EQ แล้ว สิ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำว่า บุคคลโดยทั่วไปควรมีและพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสังคมที่น่าอยู่นั้น ก็ได้แก่ AQ (Adversity Quotient) คือการ มีความอดทน สามารถต่อสู้อยู่ในสังคมได้ และ MQ (Morality Quotient) คือ การมีศีลธรรม จริยธรรม แต่ถ้าหากเราขาดส่วนที่เป็น EQ ไป เสีย บุคคลจะขาดการควบคุมอารมณ์และยั้งคิด จนไม่สามารถแสดงความอดทนหรือคำนึงถึงศีลธรรมได้ ไม่ว่าจะ AQ หรือ MQ ก็ ตาม ซึ่งเป็นส่วนที่ควรเสริมต่อจากการพัฒนา EQ อีกต่อหนึ่ง


ความสามารถในการควบคุมอารมณ์นี้เป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุกคนที่ยัง ต้องการมีสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพที่ต้องพบปะผู้คนตลอดทั้งวัน อีกทั้งคนเหล่านั้นป่วยไข้ และหวังที่จะมาพึ่งพาให้รักษา อาชีพดังกล่าวก็คือ แพทย์


เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า บุคคลที่จะเป็นแพทย์นั้น จะต้องมีระดับสติปัญญาอยู่ในขั้นสูง สมองดีเป็นเลิศ ดูจากคะแนนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในทุก ๆ ปี คณะแพทยศาสตร์ของทุกมหาวิทยาลัยจะมีคนทำคะแนนสูงถึงสูงมาก แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่มีใครบอกได้ว่ากลุ่มคนที่มี IQ สูง อย่างแพทย์นั้น มี EQ สูงด้วยหรือไม่


หลายต่อหลายครั้ง ที่สังคมไทยได้รับข่าวสารเกี่ยวกับคดีสะเทือนขวัญที่เกิดจากแพทย์เป็นผู้ กระทำ ถึงแม้จะมีจำนวนไม่มากเท่ากับบุคคลในอาชีพอื่น ๆ แต่ทุกคดีต่างก็เป็นคดีที่กระทบความรู้สึกของคนในสังคม เนื่องมาจากมีความคาดหวังและความเคารพยกย่องคนที่มีอาชีพแพทย์ว่าจะต้องมี คุณธรรมและวุฒิภาวะสูงกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดีความที่แพทย์เป็นอาชญากร และส่วนมากมักมีสาเหตุมาจากการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้


ไม่ว่าจะเป็นคดี "นวลฉวี" หรือคดี "ศยามล" ที่ถูกฆาตกรรมโดยสามีซึ่งเป็นแพทย์ เพราะต้องการมีสัมพันธ์รักกับหญิงคนใหม่ คดี "เสริม สาครราษฎร์" ฆ่าหั่นศพสาวคนรักเพราะความหึงหวง และคดี "น.พ.ศรชาติ ศิริโชติ" ฆ่าแล้วเผาสาวคนรัก "พญ.พัทธนันท์ ไชยวงศ์" ซึ่งเป็นคดีล่าสุด ต่างก็เป็นคดีเกี่ยวกับความรัก ความใคร่ ตัณหา และอารมณ์แทบทั้งสิ้น และยังมีอีกหลายคดีซึ่งเป็นคดีที่ไม่ถึงแก่ชีวิต แต่ก็รุนแรงและ เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม และการควบคุมอารมณ์ของแพทย์ เช่น คดีแพทย์ทำร้ายร่างการคนไข้ คดีแพทย์ข่มขืนกระทำอนาจารเด็กสาวที่มาสมัครงาน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ จะไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากมีผู้กระทำการควบคุมอารมณ์ที่ดี อย่างน้อยก็ได้ยั้งคิดว่าไม่เหมาะไม่ควร หรือดังที่หลังจากคดีฆาตกรรม "พญ.พัทธนันท์" ได้ปิดลง นพ.ศรชาติ ผู้ต้องหาได้กล่าวว่า ถึงพญ.พัทธนันท์ได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่ตนก็ยังรักและอยากจะดูแลครอบครัวของเธอให้ดีที่สุด นั่นแสดงว่าเขาทำไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ และสุดท้ายก็ได้แต่เสียใจ จะมีประโยชน์อะไรที่จะมานั่งเสียใจภายหลัง ถ้าหากมีการควบคุมอารมณ์ตั้งแต่แรกเรื่องก็คงไม่จบลงเช่นนี้


ในปัจจุบันที่มีคดีความของแพทย์ทำให้ผู้คนเสียขวัญอยู่เป็นระยะๆ อะไรเป็นสิ่งที่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่า คนไข้คนหนึ่งสามารถฝากชีวิต พึ่งพิงกับแพทย์คนหนึ่งได้ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว นักศึกษาแพทย์ในสถาบันต่าง ๆ ต้องเรียนวิชาจรรยาบรรณแพทย์หรือจริยธรรมตามแต่จะเรียก แพทย์ทุกคนต่างก็รู้ดีว่ามีหลักประพฤติ 10 ประการ นั่นคือ


1. มีเมตตาจิตกับคนไข้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ


2. ไม่โลภเห็นแก่ลาภของคนไข้แต่ฝ่ายเดียว


3. ไม่โอ้อวดวิชาความรู้ของตนให้คนไข้หลงเชื่อ


4. ไม่หวงกีดกันหมออื่นซึ่งมีความรู้ดีกว่า


5. ไม่ลุแก่อำนาจอคติ 4 คือ ฉันทาคติ โมหาคติ โทสาคติ และภยาคติ


6. ไม่รู้สึกหวั่นไหวต่อสิ่งที่เป็นโลกธรรม 8


7. มีความละอายต่อบาป


8. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน มักง่าย


9. มีความละเอียดสุขุม มีสติใคร่ครวญเหตุผล


10. ไม่ชอบการมัวเมาในหมู่อบายมุข


แต่เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับแพทย์บางคนที่ขาดการควบคุมอารมณ์ก็มีออกมาเรื่อย ๆ หรือความใส่ใจกับศีลธรรมจรรยาแพทย์ จะหลงเหลือแค่เพียง ความใส่ใจในวิชาเรียนวิชาหนึ่งเท่านั้น ผ่านไปแล้วได้เกรดแล้วก็จบกัน หลักประพฤติดังกล่าวไม่ใช่หลักประพฤติที่สามารถปฏิบัติกันได้ง่าย ๆ แพทย์นั้นก็เป็นปุถุชนธรรมดา ซึ่งอาจมีโอกาสพลั้งเผลอหรือละเลยหลักบางข้อไปบ้าง แต่หลักปฏิบัติเหล่านี้ก็เป็นหลักที่ใช้พัฒนา EQ AQ และ MQ ดังเช่นข้อ 5 ที่กล่าวว่า ไม่ลุแก่อำนาจอคติ 4 คือ ฉันทาคติ โมหาคติ โทสาคติ และภยาคติ ซึ่งนำหลักธรรมมาเป็นหลักปฏิบัติชัดเจน (อย่างเช่น โลกธรรม 8 นั้น บางคนก็ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นธรรมที่ต้องปฏิบัติอย่างไร) ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะแพทย์ บุคคลทั่วไปก็ควรได้รับการพัฒนาให้มีสิ่งเหล่านี้


ปัจจัยที่ส่งผลให้บุคคลแต่ละคนมีความสามารถทางด้านศีลธรรมและ อารมณ์แตกต่างกันออกไปก็มีอยู่ด้วยกันหลายประการ นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคง หัวหน้ากลุ่มจิตเวช โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ กล่าวว่าสามารถเริ่มได้ตั้งแต่การปลูกฝังความคิดเมื่อเยาว์วัย โดยเฉพาะ EQ นั้น สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ช่วงที่แม่ตั้งครรภ์ อารมณ์ของแม่จะต้องดีและไม่มีความเครียดหรือภาวะกดดัน และเมื่อถึงวัยที่เริ่มเรียนรู้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรสอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจสภาพอารมณ์ของตนเอง รวมถึงการแสดงออกได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้น สภาพแวดล้อมก็มีผลจะทำให้ความสามารถเหล่านี้เปลี่ยนไปได้ เนื่องมาจากว่าบุคคลที่จะเข้ามาปฏิสัมพันธ์กันในแต่ละวันนั้นมีสภาพร่างกาย และจิตใจรวมถึงนิสัยใจคอแตกต่างกันออกไป ผลที่จะกระทบจิตใจของบุคคลจนทำให้ EQ หรือ อื่นๆ เปลี่ยนไปก็จะมีระดับสูงต่ำต่างกัน ถ้าหากว่าเป็นอาชีพแพทย์ที่ต้องทำงานหนักและพบกับภาพที่ไม่น่าอภิรมย์มา ตั้งแต่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยไปจนกว่าจะเลิกทำอาชีพนี้ ก็อาจเป็นไปได้ว่า สภาพเช่นนี้ที่ทำให้เกิดความชินชา และตามมาด้วยการมี EQ ลดต่ำ ลง


ได้ยินกันหนาหู หลังจากคดีสะเทือนขวัญทุกๆครั้งว่าจะมีการปรับปรุงการคัดเลือกนักศึกษาที่จะ เข้ามาเรียนแพทย์ นอกจากการสอบวัดระดับสติปัญญาแล้ว จะมีการสอบแบบอื่นๆอีก เท่าที่พบในปัจจุบัน ก็มีเพียงแค่การสอบสัมภาษณ์ มาตรฐานการคัดเลือกผู้สมัครสอบเข้าเรียนในแต่ละสถาบันมีการวัดบุคลิกภาพและ อารมณ์ด้วยการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ แต่นั่นจะเพียงพอหรือไม่ และมีมาตรฐานเพียงใด นพ.วัลลภ ไทยเหนือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสนอว่า การเรียนการสอนแพทย์ในอนาคต มีนโยบายที่จะให้ผู้ที่มีผลการเรียนดีได้ศึกษาต่อในโรงเรียนแพทย์ เพื่อให้เป็นอาจารย์แพทย์ และจะมีการเพิ่มเติมด้าน EQ อีกส่วนหนึ่งจะรับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์ที่ทำงาน แล้วมาเรียนต่อแพทย์ เนื่องจากว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ระดับหนึ่งว่าจะมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จากการที่เขาผู้นั้นทำงานมาแล้ว อาจจะเคยมีการปรับตัวกับผู้อื่นทั้งในสถานภาพนักศึกษาและบุคคลที่ทำงาน การทำงานร่วมกับบุคคลอื่นก็เป็นการฝึกพัฒนา EQ ได้บ้าง พบว่ามีแบบทดสอบ EQ ออกมาให้ทดลองทำกันมากมาย แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงแบบทดสอบที่มีเกณฑ์วัดว่าจะมีแนวโน้มว่ามีอาการทางจิตหรือไม่เท่า นั้น สำหรับแบบทดสอบ EQ ที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันทั่วโลก นายแพทย์เทอดศักดิ์ เดชคงกล่าวว่า ยังไม่พบว่ามีชัดเจน


อันที่จริงแล้ว นอกจากพื้นฐานทางอารมณ์ สมอง และการเลี้ยงดูแล้ว สิ่งแวดล้อมรอบข้างที่เปลี่ยนไปก็มีผลทำให้ EQ เปลี่ยน แปลงได้เช่นกัน ก่อนจะได้รับหรือหลังจากที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมแล้ว จะมีการวัดผลอีกหรือไม่ คำตอบของคำถามเหล่านี้คงเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากรับรู้ เพื่อความสบายใจในการไปพบกับแพทย์คนหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้น คนเราเองก็อาจจะคาดหวังกับคนที่มีอาชีพแพทย์เกินไปว่าจะต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และวุฒิภาวะสูงกว่าคนทั่วไปจนลืมไปว่า แพทย์ก็เป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีเลือดเนื้อ จิตใจ มีความรู้สึก รัก โลภ โกรธ หลง กันทุกคน ดังนั้น ไม่ใช่แค่แพทย์เท่านั้นที่ควรจะคำนึงถึงEQหรือ วุฒิภาวะทางอารมณ์ของตน แต่เป็นทุก ๆ คนต่างหากที่ควร พัฒนาการมี EQ ด้วย ตนเอง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก่อนที่จะสายเกินไป




http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=muforensic&month=02-2010&date=08&group=12&gblog=14

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 ตุลาคม 2555 เวลา 21:10

    บางกรณีต้องหาสาเหตุว่าทำไม ? ซึ่งแต่ละกรณีก็แตกต่างกันไป ประเด็นที่เรามองเห็นก็คือ แรงกดดันที่มีอยู่สะสมจากตัวผู้เป็นฆาตกร เช่น โดนกดขี่ทางความคิดและการแสดงออก คือ ภรรยากุมบังเหียน ,ตรวจสอบทุกอย่าง ขี้หึงจนน่ารำคาญ , การฉีกหน้าในที่สาธารณะ , ตามประกบแจ แม้กระทั่งที่ทำงาน ทำให้ไม่มีสมาธิในการปฏิบัติหน้าที่และอับอายเพื่อนร่วมงานและทำให้ผู้ใต้บังคับขาดความนับถือ และแถมส่งเสียงประจานเมื่อการโต้เถียงรุนแรง เช่นกรณีของ นวลฉวี ผู้หญิงบางคน ไม่ได้ด่าแบบรุนแรง นุ่ม ๆ แต่เชือดเฉือนความรู้สึก ทำให้เกิดการขาดสติและนำมาซึ่งการฆาตกรรม ฆาตกร จะได้รับการประณามแน่นอน...แต่ก็ต้องดูมูลเหตุด้วยว่าผู้หญิงบางครั้งน่ารำคาญและน่าเบื่อขนาดไหน...ขอบอกเราเป็นผู้หญิง ก็เลยรู้ประเภทของพวกเราเป็นอย่างดี..นี่ไม่ได้หมายความว่าเข้าข้างผู้ชายนะ แต่ให้คิดแบบกลาง ๆ

    ตอบลบ

อารายเหรอ