วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

บาดแผลสงคราม เด็กพิการแต่กำเนิด!! นับแสนคน ปฏิบัติการใบไม้ร่วงในเวียตนาม กับหางเลขในไทย ...

บาดแผลสงคราม เด็กพิการแต่กำเนิด!! นับแสนคน

ปฏิบัติการใบไม้ร่วงในเวียตนาม กับหางเลขในไทย ...




(ขอบคุณภาพจากอินเตอร์ เนต)

.... เด็กพิการแต่กำเนิด!! นับแสนคน บาดแผลสงคราม ปฏิบัติการใบไม้ร่วงในเวียตนาม กับหางเลขในไทย ...

มีรายงานข่าวชิ้นหนึ่งของลอสแอนเจลิสไทมส์ ประจำวันที่ 3 มค.นี้ ซึ่งกล่าวถึงพิษ ภัยจากสงครามเมื่อสี่สิบปีเศษที่ผ่านมา ซึ่งยังคงตามคุกคามชีวิตของ พลเมืองชาวเวียตนาม กับทั้ง เป็นประเด็นภยันตรายมหาศาลด้านสิ่งแวดล้อม รายงานจากเมืองดานัง อดีตฐานทัพขนาดใหญ่ของสหรัฐฯในเวียตนาม กล่าวถึงบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมของคานาดาซึ่งทำการเก็บตัวอย่างดิน รอบๆฐานทัพอากาศดานัง เพื่อตรวจดูสารตกค้าง ซึ่งเป็นผลเนื่องจากปฏิบัติการใบไม้ร่วง ในช่วงสงครามเวียตนาม



๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เอเย่นต์ออเร้นจ์ (Agent Orange) หรือสารสีส้ม เป็นชื่อเรียกปฏิบัติการใบไม้ร่วง ซึ่งกองทัพสหรัฐฯทำการโปรยยากำจัดวัชพืช และ สารทำให้ใบไม้ร่วง ในระหว่างสงครามเวียตนามเมื่อกว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา
ตามรายงานของรัฐบาล เวียตนาม คาดการว่า ประชาชนเวียตนามประมาณ 4.8 ล้านคน ได้รับผลกระทบจากเอเยนต์ออเร้นจ์ตัวนี้ ทำ ให้มีผู้เสียชีวิต และพิการกว่า 400,000 คน กับทั้งมีเด็ก ซึ่งเกิดมาพิการแต่กำเนิดอีก 500,000 คน
เอเยนต์ออเร้นจ์ มีใช้อย่างกว้างขวาง ในระหว่างปี 1961 ถึง 1971ในปฏิบัติการใบไม้ร่วงของสหรัฐฯสารสีส้มดังกล่าว มีไดออกซินปนอยู่ สารตัวนี้มีผลร้ายต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัส
ในช่วงดังกล่าว มีการโปรยสารอันตรายนี้ปริมาตรถึง 77,000,000 ลิตรในเวียตนาม โดยมีเป้าหมายลดความหนาแน่นของใบไม้ในป่าทึบ เพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังเวียตกงใช้ในการหลบซ่อน และ ทำลายพืชอาหารที่มีให้หมดสิ้น
ในปี 1963 สหรัฐฯ เริ่มกังวลถึงผลกระทบด้านลบของการโปรยสารดังกล่าว จึงเริ่มการศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพของเอเยนต์ออเร้นจ์ และในปี 1967 ก็เป็นที่ชัดเจนว่า สารเคมีสามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้ แม้ผลการศึกษาออกมาเช่นนั้น กองทัพสหรัฐฯ ยังคงใช้เอเยนต์ออเร้นจ์ต่อไปหลังจากนั้น

๐๐๐๐๐๐๐๐๐



ผลการตรวจวิเคราะห์ของ บริษัทคานาดาพบว่า ระดับของไดออกซินอันเป็นสารก่อมะเร็งมีค่าสูงกว่าระดับปลอดภัยตามกำหนดโดย หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (EPA) อย่างมาก
ทางบริษัทจึงทำการวัดค่า สารพิษดังกล่าว ในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ในดิน ตะกอนโคลนในสระน้ำ ไขมันของเป็ด และปลา จนถึง เลือด และ น้ำนมจากเต้า ในพื้นที่บริเวณที่มีการปนเปื้อน
ผลจากการวิเคราะห์พบว่า ในน้ำนมจากเต้าของหญิงคนหนึ่ง มีไดออกซินสูงถึงหกเท่าของค่าที่ถือว่าปลอดภัย หญิงผู้นี้ มีลูกอายุสองขวบซึ่งพิการแต่กำเนิดจากโรคผิดปรกติของกระดูกสันหลัง (spina bifida)



ในรายงาน ยังกล่าวถึง กรณีของชายเวียตนาม เหงียนวันดุง ซึ่งรับจ้างล้างท่อน้ำเสียที่สนามบินดานังแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 1996 ดุงไม่รู้มาก่อนว่า กองทัพสหรัฐฯ ได้เก็บสารกำจัดวัชชพืชนับแสนแกลลอนที่นี่ ในระหว่างสงคราม เขาไม่รู้ว่า สารดังกล่าวได้รั่วซึมลงไปในพื้นดิน และ มีความเข้มข้นสูงจนมีอันตรายอย่างมาก
ดุงย้ายมาอยู่ที่นี่ กับภรรยา และลูกสาวคนโตซึ่งเป็นทารกที่แข็งแรง โดยอาศัยอยู่ที่บ้านพักติดกับสนามบิน 13 ปีหลังจากนั้น ดุงและ ภรรยา ซึ่งต่างทำงานที่สนามบินแห่งนี้ มีลูกสองคนที่ต่างมีโรคร้ายแรง อันรวมถึง โรคเกี่ยวกับกระดูก ซึ่งทั้งคู่สงสัยว่าน่าจะเป็นผลจากสารตกค้างที่สนามบิน
ลูกสาวคนที่สองเสียชีวิต เมื่ออายุ 7 ขวบ และ ลูกชายวัยสิบเดือน ซึ่งเป็นโรคลักษณะเดียวกัน ต้องรับการถ่ายเลือด อันแสนเจ็บปวดทุกเดือนเพื่อจะยืดชีวิตออกไป



ความ เห็นบลอกเกอร์
ปฏิบัติการใบไม้ร่วง นับเป็น “อาชญากรรม” ของสงครามที่มีต่อพลเรือน และ กระทั่งเด็กที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่หลังจากนั้น นับแสนๆคน
คำถาม ที่ยังคงคาใจ ผู้คนอยู่จนปัจจุบัน ก็คือ ทำไมทั้งที่รู้ว่า เอเย่นต์ออเร้นจ์ มีสารปนเปื้อนไดออกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง แต่การโปรยสารดังกล่าว ก็ยังคงดำเนินต่อไป จนสงครามยุติ
หันมามองดูในเมืองไทย เมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา เคยมีกรณี ขุดพบ “เอเย่นต์ออเร้นจ์” ที่สนามบินบ่อฝ้าย ในหัวหิน
ยกบางตอน ของข้อเขียนใน http://www.greenworld.or.th/library/environment-popular/126 โดยคุณ เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์

“...ท่ามกลางความเคลือบแคลงของสังคม บวกกับแรงกดดันขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนที่ขุดคุ้ยอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดโฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยได้ออกมายอมรับกับสำนักข่าว เอพีว่า กองทัพสหรัฐฯ เคยเข้ามาปฏิบัติ การทดลองในประเทศไทยที่บริเวณค่ายทหารธนรัชต์ อำเภอปราณบุรี ในช่วงปี 2507 – 2508 ภายใต้ชื่อ โครงการปฏิบัติการทดลองใบไม้ร่วงในประเทศไทย (Thailand Defoliation Program) นอกจากนี้ ในเอกสารที่สถานทูตสหรัฐฯ ส่งให้ประเทศไทยในเวลาต่อมา ยังระบุด้วยว่า นอกจากเอเย่นต์ ออเร้นจ์แล้ว ยังมีการทดลองสารเคมีตัวอื่นๆ ด้วย เพื่อเปรียบเทียบกับสารสีส้ม เช่น สารสีม่วง สารสีชมพู เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังคงปฏิเสธว่าสารเคมีที่ขุดพบใช่เอเย่นต์ ออเร้นจ์..”

“...ภาคต่อของสงคราม เวียดนามเรื่องนี้ ปิดฉากลงด้วยการฝังกลบ กากสารพิษในบริเวณของสนามบินบ่อฝ้าย โดยเจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษชี้แจงว่า จะมีการเก็บตัวอย่างดินบริเวณใกล้เคียงมาตรวจสอบปีละ 2 ครั้ง เป็นเวลาติดต่อกัน 10 ปี แล้วถ้าหากมีการรั่วซึม ก็จะแก้ปัญหาด้วยการรื้อขึ้นมาฝังกลบใหม่...”
พิษภัยของสงคราม ยังคงตามหลอกหลอนพวกเรา มาถึงวันนี้
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พึงสนใจตรวจสอบ เพื่อไทยจะไม่ต้องโดน “หางเลข” จากสารที่มีพิษอันตรายนี้

อ้าง อิงจาก
http://www.latimes.com/news/nation-and-world/la-fg-agent-orange3-2010jan03,0,6144418.story
http://en.wikipedia.org/wiki/Agent_Orange
http://www.greenworld.or.th/library/environment-popular/126 ("เอเย่นต์ ออเร้นจ์" ที่บ่อฝ้าย มรดกพิษจากสหรัฐฯ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ