วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

วันมาฆบูชา ไปกราบ ส า ม ส ห า ย ธ ร ร ม แห่งสวนโมกข์ ...


วันมาฆบูชา ไปกราบ ส า ม ส ห า ย ธ ร ร ม แห่งสวนโมกข์ ...


สามสหายธรรมในที่นี้ คือ

พระธรรมโกศาจารย์ -พุทธทาส ปราชญ์โลก (พี่ใหญ่)
พระราชญาณกวี -บุญชวน เขมาภิรโต กวีเอก (น้องกลาง)
พระพรหมมังคลาจารย์ -ปัญญานันท แม่ทัพโลก (น้องเล็ก)


ทั้งสามท่าน มาจำพรรษาร่วมกัน ณ สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ในปี 2479
นั่นจึงเป็นที่มาของคำ ว่า "สามสหายธรรม" ซึ่งต่างนับถือเป็นพี่น้องกัน
โดยท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นพี่ใหญ่ พระราชญาณกวี เป็นพี่รอง และพระพรหมมังคลาจารย์ เป็นน้องเล็ก
ต่างยึดปณิธานแห่งชีวิต ตรงกัน แล้วแยกกันปฏิบัติศาสนกิจ พร้อมกับเผยแผ่พระธรรมของพระพุทธองค์ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
สามสหายธรรมต่างอุทิศกายใจ ฝากผลงานการประกาศธรรมและค้ำจุนพระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็งไว้ให้ลูกหลานได้ กล่าวขวัญด้วยความชื่นชม



ข้อเขียนของท่านพุทธทาส ใต้รูป “สามสหายธรรม” มีความดังนี้

" ข้อตกลงอันไม่ตาย ของสามสหายธรรม "

ข้อตกลงที่กระทำไว้ระหว่างเราสามคน เมื่อจำพรรษาที่สวนโมกข์พุมเรียงนั้น
ยังอยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมเลือน คือ



เจตนาที่จำรักษาเกียรติ ของประเทศไทยเมืองพุทธต้องไม่น้อยกว่าประเทศใด ในการมีพระพุทธศาสนา
แม้ว่าความรู้สึกอันนี้ จะเป็นชาตินิยมเจือกิเลสอยู่บ้าง แต่ก็เหมาะสำหรับจะต่อสู้กับกิเลสของมหาชนที่เฉยเมยต่อความเป็นปึกแผ่น และรุ่งเรืองของพระศาสนาเอง
ร่างกายแตกสลายไป
แต่คุณค่าของชีวิต ยังเหลืออยู่อย่างไม่ต้องสลายตามไปด้วย คือ “อยู่คู่ศาสนา” และอยู่ในจิตใจของผู้ได้รับผลประโยชน์ จากกิจกรรมที่ได้ทำไว้ในการเผยแผ่ธรรมะ ที่ใช้ดับทุกข์ได้จริง และใช้เป็นตัวอย่างได้ด้วย
สุขภาพอนามัยไม่เท่ากัน มันต้องแยกกันอยู่ แยกกันไปเช่นนี้เอง แต่สิ่งที่ไม่อาจแยกกันตลอดกาลนั้น คือ
ผลงานที่ทำไว้เพื่อพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นั้นเอง



บรรดาท่านที่ถือว่าเราทั้งสามเป็นที่เคารพรัก ใคร่ทุกคนจงได้รับรู้ และสนับสนุนงานที่ค้างอยู่ให้ก้าวหน้าต่อไป เสมือนหนึ่งว่าไม่มีใครได้จากไปนั่นแหละคือ ศิษยานุศิษย์มิตรสหายที่แท้จริง มิได้เป็นสักแต่ปากว่า
เราเห็นว่า ไม่ต้องอ้างคุณศักดิ์สิทธิ์ใด มาดลบันดาลให้วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไปสู่สันติสุคติภพ เพราะงานที่ทำไว้แล้วนั้นศักดิ์สิทธิ์พอที่จะจัดการกับตัวมันเอง และ น้องชายของเราไม่ต้องการภพชนิดไหนอีกต่อไปด้วย

พุทธทาส อินทปญโญ
๙ มีนาคม ๒๕๓๒



สิ่งสอนใจ ที่ผู้เขียนเรียนรู้ จากข้อเขียนของท่านพุทธทาส และ พฤติปฏิบัติ ของสามสหายธรรม
ก็คือความสำคัญของปณิธาน ในการดำเนินชีวิต

ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนไม่น้อยดำรงค์ตน และ ดำเนินชีวิต อย่างล่องลอย ตามยถากรรม มากกว่า จะมีปณิธานที่ตั้งมั่น แน่วแน่
การดำเนินชีวิตดังกล่าว นี้ ย่อมปราศจากแก่นสำหรับยึดเหนี่ยวจิตใจ และมักถูกอิทธิพลของสังคม และสิ่งยั่วเย้าภายนอก ชักนำให้ไขว้เขว
ผู้คนจำนวนไม่น้อย จึงถูกเผาให้ร้อนระอุ ด้วยไฟกิเลศ และ ตัณห
และ มีชีวิตที่ไม่มีเป้าหมาย ปราศจากคุณค่า

การดำเนินชีวิตเช่นว่านี้ ย่อมยาก ที่จะมีความสุข และ เกิดความสงบของจิตใจ

แบบอย่างของสามสหายธรรม ซึ่งกำหนดเป็นปณิธานภายหลังบวชเรียน ที่จะเผยแผ่คำสอนแห่งพุทธศาสนา เพื่อความสุขสงบ ของชาวไทย โดยทั้งสามท่าน ได้ดำรงค์ตน และ ดำเนินชีวิต ตามปณิธานนั้น
กระทั่งสิ้นอายุขัย

หากพวกเรา ที่เป็นฆราวาส จะยึดถือเป็นแบบอย่าง สำหรับกำหนดปณิธาน ของแต่ละท่าน
เพื่อดำเนินชีวิต ให้มีเป้าหมาย และ เกิดคุณค่า แก่ผู้คนรอบข้าง และ สังคมโดยส่วนรวม
เมื่อวาระแห่งชีวิตมาถึง เราอาจจะรำลึกได้อย่างภูมิใจว่า
“...งานที่ทำไว้แล้วนั้นศักดิ์สิทธิ์พอที่จะ จัดการกับตัวมันเอง ...” โดย “.. ไม่ต้องอ้างคุณศักดิ์สิทธิ์ใด มาดลบันดาลให้วิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ไปสู่สันติสุคติภพ...”

สวัสดีและ ขอให้มีความเย็นฉ่ำ และ เปี่ยมสุข จากรสพระธรรมคำสั่งสอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ