วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เปิดโผ 10 ที่สุดในจักรวาล

เปิดโผ 10 ที่สุดในจักรวาล

โดย ผู้จัดการออนไลน์

หลังจากรัสเซียประกาศความเป็นเจ้าแห่งอวกาศไปเมื่อ 50 ปีก่อน ด้วยการส่งดาวเทียมดวงแรก “สปุตนิก” (Sputnik) ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2500 แล้วการสำรวจอวกาศในอดีตที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่ถูกบันทึกสถิติไว้ว่าเป็นที่สุดในจักรวาล ผู้จัดการวิทยาศาสตร์จึงถือโอกาสนี้นำมารายงานให้ทราบ 10 อย่างด้วยกัน

เซอร์เก คริคายอฟ (ภาพจาก en.wikipedia.org)


1. นักบินที่มีชั่วโมงทำการในอวกาศนานที่สุด

“เซอร์เก คริคายอฟ” (Sergei Krikalyov) นักบินอวกาศรัสเซีย วัย 49 ปี เจ้าของสถิตินักบินที่อยู่ในอวกาศนานที่สุด ซึ่งบันทึกไว้เมื่อวันอังคารที่ 16 ส.ค.เวลา 13.02 น.ตามเวลาประเทศไทย ด้วยเวลาในอวกาศรวม 747 วัน 14 ชั่วโมงและ 11 นาที แต่หากรวมทั้งสิ้นจนถึงปัจจุบัน คริคายอฟ ปฏิบัติภารกิจในอวกาศมาแล้ว 803 วัน 9 ชั่วโมง กับอีก 39 นาที นักบินคนไหนคิดจะทำลายสถิติ เห็นทีจะไม่ง่ายเสียแล้ว

สุนิตา วิลเลียมส์ (ภาพจาก นาซา)


2. นักบินหญิงที่มีชั่วโมงทำการในอวกาศนานที่สุด

แชมป์ฝ่ายหญิงจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก "สุนิตา วิลเลียมส์" (Sunita Williams) นักบินหญิงเชื้อสายอินเดียของนาซา วัย 42 ปี ที่เหมาตำแหน่งแชมป์ฝ่ายหญิงไปคนเดียวรวด 3 รายการ ภายในปีเดียวกัน (2550) ทั้งนักบินหญิงที่อยู่ในอวกาศนานที่สุด 195 วัน นักบินหญิงที่ออกเดินอวกาศมากครั้งที่สุด รวม 4 ครั้ง และนักบินหญิงที่มีชั่วโมงเดินอวกาศนานที่สุด 29 ชั่วโมง 17 นาที

ภาพจำลองยาน นิว โฮไรซอนส์ (New Horizons)

3. ยานอวกาศที่บินด้วยความเร็วสูงสุด

ยานอวกาศไร้มนุษย์ "นิว โฮไรซอนส์" (New Horizons) ของนาซาที่ออกเดินทางจากโลกไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2549 (ตามเวลาประเทศไทย) สามารถเดินทางในอวกาศด้วยความเร็ว 75,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นับเป็นความเร็วสูงสุดของยานสำรวจอวกาศเท่าที่เคยมีมา ซึ่งความเร็วในระดับนี้ทำให้การเดินทางสู่ดวงจันทร์ใช้เวลาเพียง 9 ชั่วโมงเท่านั้น แต่ นิว โฮไรซอนส์ ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 10 ปี กว่าจะถึงจุดหมายที่แท้จริง คือดาวพลูโต และวัตถุอื่นๆ ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt)

ภาพจำลอง ดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ (IPSTAR)

4. ดาวเทียมที่ใหญ่ที่สุด

หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า ดาวเทียมไทยคม 4 หรือ ไอพีสตาร์ (IPSTAR) ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) เป็นดาวเทียมสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนักถึง 6,486.48 กิโลกรัม สร้างโดยบริษัทสเปซ ซิสเต็มส์ ลอเรล (Space System / Loral - SS/L) ถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2548 จากฐานปล่อยจรวดในประเทศฝรั่งเศส และโคจรอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรที่ระดับความสูง 35,880.7 กิโลเมตร

ดาวอีริส (Eris) เจ้าแห่งดาวเคราะห์แคระ

5. ดาวเคราะห์แคระที่ใหญ่ที่สุด

ดาวอีริส (Eris) คือเจ้าของตำแหน่งดาวเคราะห์แคระ (dwarf planet) ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะ อยู่ในแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt) ค้นพบโดยไมเคิล บราวน์ (Michael Brown) จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (California Institute of Technology : Caltech) สหรัฐฯ ดาวอีรีสมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 2,400 - 3,000 กิโลเมตร ขณะที่พลูโตที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2,390 กิโลเมตร และมีมวลมากกว่าพลูโต 27% ซึ่งหลังจากอีริสถูกค้นพบ ดาวพลูโตก็ถูกลดสถานภาพจากดาวเคราะห์เป็นแค่ดาวเคราะห์แคระไปอย่างน่าเสียดาย

ดาวเคราะห์ก๊าซ ทีอาร์อีเอส-4 (TrES-4) ขนาดใหญ่กว่าโลก 20 เท่า

6. ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่ใหญ่ที่สุด

ดาวเคราะห์ทีอาร์อีเอส-4 (TrES-4) เป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบ อยู่ในกลุ่มดาวเฮอร์คิวลีส (Hercules) ห่างจากโลกราว 1,400 ปีแสง ซึ่งนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวโลเวล (Lowell Observatory) รัฐอริโซนา สหรัฐฯ สามารถจับภาพดาวเคราะห์ดวงนี้ได้ครั้งแรกในปี 2549 ลักษณะเป็นดาวเคราะห์ก๊าซเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี แต่มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่าถึง 1.7 เท่า หรือใหญ่กว่าโลกถึง 20 เท่า และมีความหนาแน่นเพียง 0.24 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตรเท่านั้น ซึ่งทางทฤษฎีแล้วสามารถลอยน้ำได้

ดาวเคราะห์โอจีแอลอี-ทีอาร์-56บี โคจรอยู่ใกล้กับดาวฤกษ์แม่ โอจีแอลอี-ทีอาร์-56 (ภาพจาก David A. Aguilar, Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics)

7. ดาวเคราะห์ที่โคจรใกล้ดาวแม่มากที่สุด

ปี 2545 นักดาราศาสตร์พบดาวเคราะห์ "โอจีแอลอี-ทีอาร์-56บี" (OGLE-TR-56b) ที่อยู่ห่างออกไปราว 5,000 ปีแสง จากการโคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์โอจีแอลอี-ทีอาร์-56 (OGLE-TR-56 ) ในกลุ่มดาวคนยิงธนู (Sagittarius) ทั้งยังมีวงโคจรห่างจากดาวแม่น้อยที่สุดเท่าที่เคยพบ เพียงแค่ 0.02 หน่วยดาราศาสตร์เท่านั้น (1 หน่วยดาราศาสตร์ เท่ากับ ระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก ประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร) หรือโคจรครบ 1 รอบในเวลาแค่ 29 วัน

ดาวสีแดงสว่างที่อยู่กลางภาพคือ ดาว "พร็อกซิมา เซนทอรี" (ภาพจาก นาซา)

8. ดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุด

ดาว "พร็อกซิมา เซนทอรี" (Proxima Centauri) ดาวแคระสีแดง (red dwarf star) เป็นดาวฤกษ์ขนาดเล็กในกลุ่มดาวคนครึ่งม้า (Centaurus) อยู่ห่างจากโลกประมาณ 4.2 ปีแสง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 ใน 7 ของดวงอาทิตย์ นับว่าเป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดนอกจากดวงอาทิตย์

กลุ่มดาวหมีใหญ่ (ภาพจาก en.wikipedia.org)

9. ดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลที่สุด

ดาว PC0832/676 เป็นดาวฤกษ์ในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa major) หรือกลุ่มดาวจระเข้นั่นเอง โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 60,000 ปีแสง

กาแล็กซี เอเบลล์ 1835 ไออาร์ 1916 ที่อยู่ไกลจากโลกกว่าหมื่นล้านปี (ภาพจาก ESO)

10. กาแล็กซีที่ไกลที่สุด

ทีมนักดาราศาสตร์ของหอดูดาวยุโรปใต้ (European Southern Observatory: ESO) ในประเทศชิลี สำรวจพบกาแล็กซี เอเบลล์ 1835 ไออาร์1916 (Abell 1835 IR1916) ได้เมื่อปี 2547 อยู่ห่างออกไปถึง 13,200 ล้านปีแสง เป็นกาแล็กซีที่อยู่ไกลจากกาแล็กซีทางช้างเผือกมากที่สุดเท่าที่เคยสังเกตได้ อยู่หลังกระจุกกาแล็กซี เอเบลล์ 1835 (Abell 1835) ในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo) ซึ่งนักดาราศาสตร์เชื่อว่ากาแล็กซีเอเบลล์ 1835 ไออาร์ 1916 นี้ เกิดขึ้นหลังกำเนิดของจักรวาลเพียง 460 ล้านปีเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

อารายเหรอ